3 กรกฎาคม 2019
62 K

The Cloud x KBank Live

คุณเคยได้กลิ่นแล้วนึกถึงใครสักคนไหม 

กลิ่นแสดงความรู้สึกและความทรงจำ ในบรรดาประสาทสัมผัสทั้งห้าของมนุษย์ ประสาทรับกลิ่นพุ่งไปที่สมอง ส่วนรับความรู้สึกอย่างว่องไวเฉียบพลัน กลิ่นไม่ได้แค่ทำให้เกิดภาพ เกิดความรู้สึก แต่กลิ่นยังเป็นสัญชาตญาณแรกของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด ขณะทารกยังไม่ลืมตาก็จำกลิ่นของแม่ตัวเองได้ นอกจากนี้ กลิ่นยังช่วยเรื่องสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ เช่นการได้กลิ่นควันไฟ กลิ่นอาหารบูด ช่วยให้หลีกเลี่ยงอันตรายรอบตัวได้ 

นอกจากนั้น กลิ่นยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างบุคลิกของคน เพราะมนุษย์สามารถ Wear หรือตกแต่งร่างกายด้วยน้ำหอมได้เหมือนกับการใส่เสื้อผ้า 

กลิ่นสำคัญขนาดนี้ The Cloud และ KBank Live เลยชวนผู้ร่วมกิจกรรมมาเปิดจมูกเรียนรู้กลิ่น และลงมือออกแบบกลิ่นน้ำหอมของตัวเองใน The Cloud Studio 04 : Scent Designer โดยมี ก้อย-ชลิดา คุณาลัย Scent Designer มืออาชีพที่ดีไซน์กลิ่นให้สินค้าสารพัดอย่างมากว่า 20 ปี นับรวมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ซักผ้าทั่วภาคพื้นเอเชีย ไปจนถึงอาหาร สถานที่ และกิจกรรมหลากหลาย มาถ่ายทอดวิชาให้เราเรียนรู้และทำตามได้ง่ายๆ

01

ศาสตร์กลิ่นหอม

‘Perfume’ มาจากคำภาษาละติน ‘per fumare’ ที่แปลว่า ‘To smoke through’

ในสมัยโบราณ เมื่อนักบวชต้องการบูชาและติดต่อกับเทพเจ้าที่อยู่เบื้องบนจะใช้วิธีจุดกำยาน ต่อมาชนชั้นสูงและขุนนางเริ่มใช้กลิ่นหอมในโอกาสต่างๆ เช่น การเฉลิมฉลอง ยั่วยวนเพศตรงข้าม จนการใช้กลิ่นแพร่หลายกระจายสู่คนทั่วไป และกลายเป็นสิ่งที่เราใช้กันทุกวันในที่สุด

02

ส่วนผสมน้ำหอม

ส่วนผสมน้ำหอมแบ่งเป็น 2 ประเภทตามแหล่งที่มา คือ 

  1. Natural คือกลิ่นที่สกัดจากธรรมชาติ ทั้งส่วนประกอบของพืช อย่างใบ ดอก เปลือก แก่น ราก ยางไม้ เมล็ด ไปจนถึงส่วนประกอบของสัตว์ เช่นอำพันทะเลหรือขี้วาฬหัวทุย รวมถึง Civet สารสกัดจากต่อมใต้ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อทำให้น้ำหอมกลิ่นติดทนนาน กลิ่นเหล่านี้มีราคาสูงและไม่คงที่ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลและสิ่งแวดล้อม คุณภาพจึงเปลี่ยนแปลงตลอด
  2. Syntatic กลิ่นสังเคราะห์ คือกลิ่นที่มนุษย์แต่งขึ้นเพื่อเลียนแบบกลิ่นธรรมชาติ ไปจนถึงกลิ่นที่ผสมใหม่เอง เช่น กลิ่นสดชื่น กลิ่นทะเล กลิ่นแดด ราคาถูกกว่า ผลิตได้ในปริมาณมากและกลิ่นคงที่ จึงเป็นที่นิยมในการผลิตน้ำหอม

03

โครงสร้างน้ำหอม

Fragrance Pyramid หรือพีระมิดของน้ำหอม เป็นโครงสร้างที่ทำให้เราเข้าใจง่ายๆ ว่ากลิ่นที่เราดมจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา 

Top / Head Note กลิ่นระเหยเร็ว เป็นกลิ่นหอมที่จะอยู่ติดผิวเพียง 15 นาทีแรก แล้วค่อยๆ จางหายไป โมเลกุลเบา เล็ก มักเป็นกลิ่นกลุ่ม Citrus และ Aromatic

Middle / Heart Note คือกลิ่นที่คงอยู่ในลำดับต่อมา มักเป็นกลิ่นกลุ่ม Floral Green Fruity และ Spice

Base / Bottom Note เป็นกลิ่นที่อยู่ติดทนนานที่สุด อาจเป็นหลายชั่วโมงหรือทั้งวัน โมเลกุลหนัก มักเป็นกลิ่นกลุ่ม Wood และ Balsamic

เข้าคลาส Scent Designer เรียนวิชาความหอมและลงมือออกแบบกลิ่นประจำตัว
เข้าคลาส Scent Designer เรียนวิชาความหอมและลงมือออกแบบกลิ่นประจำตัว

สัดส่วนของ Base Note, Top Note หรือว่า Middle Note ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องหอม เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่มต้องมีกลิ่นที่ติดทนนาน ทำให้ต้องมี Base Note เยอะที่สุด พีระมิดน้ำหอมก็จะเป็นทรงพีระมิดฐานใหญ่ ขณะที่น้ำยาล้างจาน กลิ่นต้องฟุ้งออกมาตอนขณะล้างจาน แต่ต้องหายไปในทันทีหลังล้างเสร็จ ทำให้ต้องมี Base Note ที่น้อย พีระมิดน้ำหอมจะเป็นทรงพีระมิดหัวคว่ำ

04

ประเภทน้ำหอม

น้ำหอมกลิ่นเดียวกันอาจมีหลายราคา ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของหัวน้ำหอม แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

  • Parfume คือน้ำหอมที่มีปริมาณหัวน้ำหอมมากถึง 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ กลิ่นน้ำหอมจะอยู่ได้นานถึง 6 – 8 ชั่วโมง มีราคาที่สูง
  • Eau de Parfum คือน้ำหอมที่มีปริมาณหัวน้ำหอม 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ กลิ่นน้ำหอมจะอยู่ได้นานถึง 4 – 5 ชั่วโมง
  • Eau de Toilette คือน้ำหอมที่มีปริมาณหัวน้ำหอม 5 – 15 เปอร์เซ็นต์ กลิ่นน้ำหอมจะติดประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง
  • Eau de Cologne คือน้ำหอมที่มีปริมาณหัวน้ำหอม 2 – 4 เปอร์เซ็นต์ กลิ่นน้ำหอมจะติดประมาณ 2 ชั่วโมง
  • Eau de Fraiche คือน้ำหอมที่มีปริมาณน้ำหอม 1 – 3 เปอร์เซ็นต์ และกลิ่นน้ำหอมจะติดเพียงครู่เดียวหลังฉีดเท่านั้น

05

ศัพท์น้ำหอม

ก่อนลงมือทำน้ำหอม นี่คือคำศัพท์เกี่ยวกับกลิ่นที่น่ารู้จักไว้

Anosmia

ภาวะเสียการรับกลิ่น คือไม่ได้กลิ่นใดๆ เลย

Character

ลักษณะของกลิ่น

Layering

การฉีดน้ำหอมหลายกลิ่นบนตัว ผสมเข้าด้วยกัน ให้กลิ่นหอมบนตัวซับซ้อนน่าสนใจมากขึ้น

Longevity

ระยะการติดทนของน้ำหอม

Sillage

กลิ่นที่อบอวล ล่องลอยอยู่ในอากาศ

06

วิธีสกัดน้ำหอม

การสกัดหัวน้ำหอมขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ แบ่งเป็นประเภทต่างๆ 

Enfleurage 

การดึงกลิ่นออกมาจากธรรมชาติ วางดอกไม้บนไขมันไร้กลิ่น ให้ไขมันดูดซับกลิ่นหอมออกจากดอกไม้จนอิ่มตัว แล้วเอาไปสกัดโดยใช้แอลกอฮอล์ ออกมาเป็น Absolute 

Expression 

การบีบ ทำเองได้ง่าย มักใช้กับพวกผลไม้ตระกูลส้ม ที่มีทั้งผิว ทั้งน้ำ ออกมาเป็น Essential Oil

Stream Distillation

การใช้ไอน้ำในการดึงกลิ่นออกมาส่วนใหญ่จะใช้กับดอกกุหลาบ ลาเวนเดอร์ ด้วยการเอาไปอบไอน้ำแล้วกลั่นออกมาเป็นกลิ่นหอมๆ

Scent Designer

Solvent Extraction

การดึงกลิ่นหอมโดยใช้ Solvent ซึ่งเป็นตัวทำละลาย ใช้กับพวกที่เป็นของแข็ง อาทิ เปลือกไม้ โดยการเอาไปแช่ไว้ใน Solvent แล้วค่อยเอามาสกัดทีหลัง

Tincture and Resinoid 

การสกัดกลิ่นที่มาจากสัตว์อย่างขี้วาฬ นำมาใส่ในแอลกอฮอล์และทำให้ระเหิด

Headspace Technology

การใช้เทคโนโลยีสร้างกลิ่น โดยใส่อุปกรณ์บันทึกกลิ่นในครอบแก้ว แล้วนำไปครอบดอกไม้ต้นไม้เพื่อจับกลิ่น จากนั้นจึงนำกลิ่นที่ได้มาแยกแยะเพื่อสังเคราะห์กลิ่นเลียนแบบ วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องฆ่าพืชเพื่อให้ได้วัตถุดิบ 

07

กลิ่นตระกูลต่างๆ

ประเภทกลิ่นต่างๆ เปรียบเหมือนโน้ตดนตรีที่ต้องผสมผสานเป็นบทเพลงให้ลงตัว โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้ 

08

วิธีการทำน้ำหอม

อุปกรณ์

  • หัวน้ำหอมแบบต่างๆ 
  • บีกเกอร์
  • ขวดแก้วรูปชมพู่
  • แท่งแก้วสำหรับคน
  • แท่งไม้สำหรับเสียบกระดาษ
  • แถบกระดาษทดสอบกลิ่น (Smelling Stripe)
  • แท่งหยดกลิ่น (Dropper) 
  • แอลกอฮอล์
  • กระดาษ
  • ดินสอ / ปากกา
  • ขวดสเปรย์ขนาด 30 มล.
เข้าคลาส Scent Designer เรียนวิชาความหอมและลงมือออกแบบกลิ่นประจำตัว

วิธีทำ

  1. กำหนดโจทย์น้ำหอมที่ต้องการเป็นคำ เช่น อบอุ่น สดชื่น เคร่งขรึม เหมือนขนม ฯลฯ แล้วตีความจากคำว่าควรใช้กลิ่นอะไร 
  2. เลือกกลิ่นที่ต้องการให้มีทั้ง 3 ส่วนของพีระมิด มี Top Notes, Middle Notes และ Base Notes แล้วจดไว้
  3. ทดสอบกลิ่นหัวน้ำหอมด้วยการใช้แท่งหยดกลิ่นหยดลงหัวน้ำหอมบนแถบกระดาษ ลองดมดู
  4. นำกระดาษกลิ่นที่เลือกมารวมกัน ถ้าอยากให้กลิ่นไหนชัดเจน เอาไว้ด้านหน้า กลิ่นไหนควรจาง เอาไว้ด้านหลัง ลองดมจนถูกใจ
  5. จดบันทึกส่วนผสมและปริมาณที่ต้องการ
  6. ทดลองหยดกลิ่นที่เลือกในขวดชมพู่ กลิ่นที่ต้องการให้ชัดเจน หยดเยอะกว่ากลิ่นอื่น จนได้ทั้งหมด 10 หยด ใช้แท่งแก้วคนให้เข้ากัน 
  7. แก้ไขสัดส่วนกลิ่นที่เลือกไว้ให้ถูกใจ จากนั้นเพิ่มปริมาณหัวน้ำหอมตามสัดส่วนให้ได้ 30 หยด คนให้เข้ากัน
  8. เทหัวน้ำหอมในบีกเกอร์ และผสมแอลกอฮอล์ 30 มล. คนให้เข้ากัน 
  9. เทน้ำหอมใส่ขวดสเปรย์ เป็นอันเสร็จ จะตั้งชื่อน้ำหอมกลิ่นของเราก็ได้นะ
เข้าคลาส Scent Designer เรียนวิชาความหอมและลงมือออกแบบกลิ่นประจำตัว
เข้าคลาส Scent Designer เรียนวิชาความหอมและลงมือออกแบบกลิ่นประจำตัว

ติดตามข่าวกิจกรรมอื่นๆ หลังจากนี้ของ The Cloud และ KBank Live ได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก The Cloud และ อินสตาแกรม @kbanklive

Writer

Avatar

นิธิตา เอกปฐมศักดิ์

นักคิดนักเขียนมือสมัครเล่น ผู้สนใจงานคราฟต์ ต้นไม้และการออกแบบเป็นพิเศษ แต่สนใจหมูสามชั้นย่างเป็นพิเศษใส่ไข่

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ