11 เมษายน 2022
9 K

กลิ่นความสุข กลิ่นซากศพ กลิ่นอวกาศ กลิ่นเกิดแก่เจ็บตาย

ข้างต้นที่ว่านี้ อ่านแล้วคุณอาจขมวดคิ้วนึกกลิ่นไม่ออก แต่ทั้งหมดนี้คือกลิ่นที่โรงงานน้ำหอม ‘Scent And Sense’ เคยทำมาหมดแล้ว ซึ่งการใช้จินตนาการแปลงสิ่งนามธรรมให้ออกมาเป็นกลิ่นนั้น เป็นเพียงแค่เสี้ยวความสามารถของธุรกิจนี้

เรามีนัดคุยกับ เจ-รุจิรา ตระกูลยิ่งเจริญ กรรมการผู้จัดการ Scent And Sense บริษัทโรงงานน้ำหอมที่เป็นทั้งเจ้าของแบรนด์เครื่องหอมและผู้รับจ้างผลิตสินค้า OEM เธอเคยเป็นนักวิจัยโรคระบาด ก่อนหันมาสนใจปรุงน้ำหอมอย่างจริงจัง จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกลิ่น (Scent Expert) และอยู่เบื้องหลังแบรนด์ชั้นนำมากมาย 

ความฝันของเธอคือการได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบกลิ่น ที่ไม่เพียงสร้างธุรกิจได้จริง แต่ยังได้ช่วยกลุ่มเกษตรกรไทย ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้และเหลือใช้แล้วอีกด้วย 

Scent And Sense โรงงานน้ำหอมที่ใช้จินตนาการสร้างแบรนด์และช่วยเหลือเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน

ถึงตรงนี้คุณคงจะนึกถึงกลิ่นนวดแผนไทยหรือตะไคร้ใบมะกรูด ต้องขอบอกก่อนว่าทุกกลิ่นที่รังสรรค์จากที่นี่ มีความร่วมสมัยและตอบโจทย์ของลูกค้าได้ด้วย

เปิดโสตประสาทของคุณไว้ให้ดี และรับชมเรื่องราวของกลิ่นหอมต่อไปนี้ได้เลย

Scent And Sense โรงงานน้ำหอมที่ใช้จินตนาการสร้างแบรนด์และช่วยเหลือเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน

จากนักวิจัยโรคระบาดสู่วงการน้ำหอม

เจและ แบงค์-รัชพล ตันติประภากุล กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งร่วม เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์และเป็นสายรหัสกันสมัยมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบต่างแยกย้ายไปทำงานคนละสาย เจเป็นนักวิจัยเรื่องโรคระบาด ออกพื้นที่ดูแลควบคุมโรคระบาดให้กับชาวเขาเผ่าอาข่าที่เชียงราย ส่วนแบงค์ทำงานตรวจสอบคุณภาพและแก้ปัญหาไลน์ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นตัวแทนจำหน่ายยาที่ดูแลโซนภาคเหนือเหมือนกัน  

“สิ่งที่เราทั้งสองคนเจอเหมือนกันคือ ทางเหนือหรือบนดอยต่าง ๆ มีแต่คนแก่กับเด็กเล็ก ลูกหลานวัยทำงานเข้าไปในเมืองหมด เพราะที่บ้านไม่มีงานรองรับ เราจึงมานั่งคุยกันว่า มันน่าจะดีถ้าเราใช้ความรู้ที่มี พาธุรกิจ พางาน กลับเข้าไปที่บ้านเกิดเขาได้ และทำให้อาชีพดั้งเดิมอย่างการเกษตรแข็งแรงขึ้น”

พื้นฐานทางด้านชีววิทยาของเจที่รวมถึงความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ ช่วยให้การศึกษาเรื่องน้ำหอมนั้นง่ายขึ้นและตอบโจทย์ที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะการนำพืชมาสกัดเป็นน้ำหอมสามารถเพิ่มมูลค่าให้ผลิตผลทางการเกษตรของชาวบ้าน รวมถึงในหลาย ๆ ครั้งก็ช่วยลดของเสียที่ไม่ใช้แล้วได้ด้วย 

ตัวอย่างเช่น กลุ่มสวนมะนาวที่นอกจากคั้นน้ำไปขายเพิ่มมูลค่าแล้ว เปลือกมะนาวยังนำมาทำ Essential Oil หรือน้ำมันหอมระเหยสกัดได้ราคาสูงถึงกิโลละ 7,000 บาท เป็นต้น

Scent And Sense โรงงานน้ำหอมที่ใช้จินตนาการสร้างแบรนด์และช่วยเหลือเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน

ปรับโทนกลิ่นของสมุนไพรให้เข้ากับยุคสมัย

แบรนด์ Scent And Sense จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2014 โดยเริ่มทำสบู่จากสารสกัดสมุนไพรหรือผงสมุนไพรเป็นตัวชูโรง และมีน้ำหอมเป็นผลิตภัณฑ์เสริม 

สิ่งที่ลูกค้าพูดถึงและจดจำได้กลับไม่ใช่สรรพคุณของสบู่ แต่เป็นกลิ่นต่างหาก 

“ยุคนั้นเราไม่ชอบผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่กลิ่นดูผู้ใหญ่จนใช้ยาก เราจึงปรับมาเป็นโทนกลิ่นมีความร่วมสมัยควบคู่ไปกับการใช้สมุนไพร ทำให้เจออินไซต์ว่าคนชอบกลิ่นที่เราทำค่อนข้างเยอะ เป็นกลิ่นที่ใช้สมุนไพรไทย แต่กลุ่มอายุไหนก็ใช้ได้ เราเลยเข้ามาขยายงานส่วนนี้เพิ่ม จนกลายมาเป็นสินค้าหลักในปัจจุบัน”

การผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ

น้ำหอมถือเป็นงานที่รวมสิ่งที่เจรักทุกอย่างเข้าด้วยกัน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะในคราวเดียว 

“เจเป็นคนชอบศิลปะ วาดรูป เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก งานกลิ่นทำให้ได้ใช้จินตนาการเต็มที่ เป็นประสาทสัมผัสที่ทรงพลังในแง่การสื่อสาร เหมือนการวาดภาพที่เลยขอบเขตของตาออกไปอีก เพราะมันเข้าไปปลุกความทรงจำเฉพาะคนได้ สำหรับเรา นี่คือมนต์เสน่ห์ของน้ำหอม พอเราฝึกทดลองเองจนรู้ระดับหนึ่ง ก็ไปเรียนเพิ่มจนได้ใบประกาศนียบัตรมาเป็น Perfumer หรือนักปรุงน้ำหอม”

Scent And Sense โรงงานน้ำหอมที่ใช้จินตนาการสร้างแบรนด์และช่วยเหลือเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน
Scent And Sense โรงงานน้ำหอมที่ใช้จินตนาการสร้างแบรนด์และช่วยเหลือเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน

สิ่งที่ทำให้ Scent And Sense แตกต่าง

เราสงสัยว่าในปัจจุบันมีคนทำธุรกิจในลักษณะนี้มากน้อยแค่ไหน ทำไมลูกค้าถึงต้องมาเลือกใช้บริการปรุงกลิ่นกับ Scent And Sense 

เจตอบเราว่าในประเทศไทยตอนนี้ยังมีไม่เยอะมาก ซึ่งแต่ละที่ก็จะมีเอกลักษณ์หรือลายเซ็นเฉพาะตัวในการออกแบบกลิ่น ไม่แพ้นักวาดการ์ตูนหรือศิลปิน

“วรรณกรรมที่เราโตขึ้นมาด้วยอย่าง Harry Potter หรือชาร์ลีกับโรงงานช็อกโกแลตของ Roald Dahl ทำให้เราใช้จินตนาการแฟนตาซี บวกกับเทคนิคการปรุงที่เน้นใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของไทย แต่ว่ากลิ่นที่ออกมาต้องมีความร่วมสมัย มีเอกลักษณ์ แต่คงความเข้าถึงง่าย เราอยากเล่าโดยใช้จินตนาการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่อยู่บนฐานที่ว่าต้องหอมและใช้งานจริงได้ด้วย”

ขั้นตอนการสร้างกลิ่น

ปัจจุบัน Scent And Sense ให้คำปรึกษาด้านกลิ่นครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบ ดูแลให้คำปรึกษาตั้งแต่คอนเซ็ปต์การสร้างกลิ่น ไปจนถึงแพ็กเกจจิ้งพร้อมผลิตในโรงงานที่ได้รับมาตรฐาน GHP (Good Hygiene Practices)

ใน 1 ปีมีการร่วมงานกับกว่า 90 แบรนด์ มีกลิ่นที่สร้างไม่ต่ำกว่า 300 กลิ่น ซึ่งหลายคนเข้าใจว่ากลิ่นเป็นเรื่องของน้ำหอมอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วมีรายละเอียดซับซ้อนกว่าที่คิดไว้

“เราดูแลตั้งแต่งาน OEM น้ำหอมที่เป็นแบรนด์ทั้ง Niche และแฟชั่น เครื่องหอมอโรม่า กลิ่นของสถานที่ก็มี อย่างโรงแรมหรือห้างต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ใช้ในบ้าน อย่างกลิ่นที่ใช้ในทิชชูเปียก ผงซักฟอก หรืออะไรก็ตามที่มีกลิ่นหอมทั้งหมด 

“เวลาจะสร้างกลิ่นขึ้นมา เราเริ่มที่ตัวตนของแบรนด์ เน้นให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โฟกัสที่ผู้บริโภคของแต่ละรายว่าเป็นใคร ซึ่งความหอมเหม็นของแต่ละทาร์เก็ตเป็นเรื่องเฉพาะมาก ๆ อย่างเช่น เอากลิ่น Luxury ไปใช้ตลาดแมส หลายคนอาจจะมองว่าเป็นไอเดียที่ดี แต่หลาย ๆ ครั้งตลาดแมสไม่เข้าใจ เพราะมันไม่ได้หอมในมุมของเขา เราเลยต้องโฟกัสไปที่ผู้บริโภคของแบรนด์นั้น แล้วเอาอินไซต์จากผู้บริโภคมารวมกับตัวตนของแบรนด์ที่จะถ่ายทอด วิธีนี้จะช่วยให้การสื่อสารและการออกสินค้าแม่นยำขึ้น ลดความเสี่ยงของลูกค้าไปในตัวด้วย”

เจบอกว่างานหลังบ้านก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะกลิ่นหอมเป็นงานที่ต้องค้นคว้าและพัฒนาเยอะ เช่น น้ำหอมแบบไหนเหมาะกับภูมิอากาศร้อนอย่างบ้านเรา ที่เมื่อผ่านเวลาและผสมกลิ่นเหงื่อเข้าไปแล้วจะไม่เพี้ยน หรือทำไมจุดเทียนหอมแล้วไม่หอมเหมือนตอนดมแรก ๆ มันมีเรื่องทางเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้องว่า เมื่อกลิ่นเข้าไปอยู่ในสินค้า จะทำยังไงให้ประสิทธิภาพออกมาอย่างเต็มที่ หรือมีความฟุ้งกระจายและอยู่ได้นานตามชั่วโมงที่เคลมไว้จริง 

“ถ้าลูกค้ามาหาเรา เขาสามารถโฟกัสไปที่การขายของเขาได้เต็มที่ เพราะหลังบ้านที่เหลือจนเสร็จเป็น Finishing Product เราเป็นคนดูแลให้ทั้งหมด”

โรงงานน้ำหอมที่เคยผลิตทั้งกลิ่นความสุข กลิ่นซากศพ กลิ่นอวกาศ กลิ่นเกิดแก่เจ็บตาย

ทิศทางที่เปลี่ยนไปของธุรกิจกลิ่น

ในขณะที่สถานการณ์ของโรคระบาดยังไม่จบสิ้น และหลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ซบเซาลง แต่ธุรกิจกลิ่นหอมกลับได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ตั้งแต่ล็อกดาวน์ครั้งแรก จากที่ชีวิตเราค่อนข้างเร่งรีบ อยู่ในห้องหรือบ้านน้อยมาก พอมีการ Work from Home ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องหอมที่ใช้ในบ้านเติบโต ก้านหอมเติบโต กลุ่มเทียนในไทยโตขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

“เมื่อก่อนคนไม่ค่อยกล้าจุดเทียนเพราะกลัวไฟไหม้ ตลาดเทียนเมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้ว ของเราส่งออกไปยุโรปอย่างเดียวนะ ในไทยเองก็เกิดกลุ่มคนที่รักน้ำหอมฉีดตัวมากขึ้น 2 ปีที่ผ่านมาเลยคึกคัก เติบโตค่อนข้างชัดเจน รวมถึงโรคซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นอาการที่คนเป็นกันเยอะ ผลิตภัณฑ์อโรม่าในหมวด Stress Relief, Office Syndrome Relief ช่วยให้หลับง่ายจึงเติบโตตามขึ้นด้วย”

ส่วนเทรนด์ของน้ำหอมที่ใช้กับร่างกาย เริ่มมีแนวโน้มเปลี่ยนไปในรูปแบบ Unisex ไม่นำเสนอเพศผ่านกลิ่น แต่บอกเล่าถึงตัวตนและบุคลิกแทน อย่างแบรนด์ Jo Malone หรือ Byredo รวมถึงเน้นความโปร่งสบายของกลิ่น แต่ก็ต้องติดทนนานด้วย

“แต่ก่อนตลาดน้ำหอม ลูกค้าจะชอบกลิ่นที่ฉุนชัด ฉีดแล้วต้องรู้สึกได้เลยว่ากลิ่นเต็ม แน่น แต่ว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงกลิ่นหอมจะมีความเป็น Skin Scent มากขึ้น มีความโปร่งเบาเหมือนการแต่งหน้าแบบ No Make Up ให้ความรู้สึกที่ดูเป็นคนเข้าถึงง่าย ดูดีแบบไม่ได้ตั้งใจมากจนเกินไป แต่ตลาดรวมของบ้านเราก็ยังชอบจำนวนชั่วโมงที่อยู่ได้นาน ยังมองว่าชั่วโมงที่นานสะท้อนถึงคุณภาพของกลิ่นเช่นเดิม”

โรงงานน้ำหอมที่เคยผลิตทั้งกลิ่นความสุข กลิ่นซากศพ กลิ่นอวกาศ กลิ่นเกิดแก่เจ็บตาย
โรงงานน้ำหอมที่เคยผลิตทั้งกลิ่นความสุข กลิ่นซากศพ กลิ่นอวกาศ กลิ่นเกิดแก่เจ็บตาย

การร่วมพาร์ตเนอร์กับแบรนด์ต่าง ๆ 

อีกเหตุผลหลักที่ทำให้การทำแบรนด์ Scent And Sense สนุก เป็นเพราะในทุกครั้งที่ได้เริ่มงานใหม่กับลูกค้า เหมือนได้เดินเข้าไปในโลกใบใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา 

“ในการทำงานกลิ่นกับทุก ๆ บริษัท โดยเฉพาะรูปแบบองค์กรใหญ่ก็จะจริงจังในเรื่องที่ต่างกัน อย่างแบรนด์แฟชั่นที่เราร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็น Dapper หรือ Greyhound ก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับ Creative Director และ CEO เองเลย ได้เห็นวิธีการมองแบรนด์ มองสินค้าของเขาในหลาย ๆ ด้าน เช่น Emotional, Functional หรือ User Experience มีข้อมูลและมีการใส่ใจรายละเอียดในตัวตนของแบรนด์ค่อนข้างสูง รวมถึงความเคารพในความชอบของลูกค้าของแบรนด์สูงมาก 

“หรืออย่างงานกับ LUFFALA วิสาหกิจชุมชนในเครือ PTT Global Chemical เราเข้าไปดูแลการออกแบบกลิ่นและพัฒนาสูตรสำหรับนวัตกรรมใหม่ของเขา เป็นประสบการณ์ที่ได้ไปอยู่กับทีมนักวิทยาศาสตร์ร่วมวิจัยพัฒนา และได้เห็นอีกฟากของวิสาหกิจชุมชน ที่เขาตั้งใจผลักดันให้ปลูกพืชท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กับการสร้างมูลค่าด้วย”

โรงงานน้ำหอมที่เคยผลิตทั้งกลิ่นความสุข กลิ่นซากศพ กลิ่นอวกาศ กลิ่นเกิดแก่เจ็บตาย
โรงงานน้ำหอมที่เคยผลิตทั้งกลิ่นความสุข กลิ่นซากศพ กลิ่นอวกาศ กลิ่นเกิดแก่เจ็บตาย

ทุกประสบการณ์ถูกเล่าผ่านกลิ่นได้

เราเอ่ยถามว่าแล้วมีงานอะไรที่แปลกออกไปบ้างไหม เจรีบตอบทันทีว่าหนึ่งในงานที่รักที่สุด คือการทำกลิ่นให้ตัวละครในนิยายชุด ถั่วงอกและหัวไฟ ของ ทรงศีล ทิวสมบุญ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ชื่นชอบเป็นพิเศษอยู่แล้ว

“ตัวละครคือ Lady Black Dress เราต้องเข้าไปนั่งค้นชีวิต ดูปูมหลัง ยุคที่เขาอยู่ เสื้อผ้าที่เขาใส่ พฤติกรรม ของชอบของเกลียดที่ทำให้เขากลายมาเป็นคนที่ดุดันอะไรอย่างนี้ รู้สึกเหมือนเราได้ชุบชีวิตให้ตัวละครออกมาจริง ๆ ได้ใช้กลิ่นคาวเลือด กลิ่นไม้ กลิ่นใบยาสูบที่ตัวละครชอบ”

เธอเล่าต่อว่า งานกลิ่นเป็นงานที่ทำให้ได้รับฟังเรื่องราวใหม่ ๆ อย่างกลิ่นตัวคน กลิ่นอวกาศ กลิ่นแมงดา กลิ่นซากศพ กลิ่นเกิดแก่เจ็บตาย ก็เคยทำมาแล้วทั้งนั้น

“เราอยากให้ Scent And Sense เป็นโลกอีกใบที่ทุกประสบการณ์ถูกเล่าผ่านกลิ่นได้ จึงพยายามบอกลูกค้าทุกครั้งว่า เวลาคุยงานกัน อย่าเพิ่งรีบปิดกั้นตัวเอง บางคนคิดไว้แฟนซีมาก แต่กลัวว่าจะเป็นกลิ่นไม่ได้ เราก็จะบอกว่าจริง ๆ มันเหมือนการวาดภาพ เป็นไปได้หมดแหละ อยู่ที่ว่าเราอยากเล่าแบบไหนมากกว่า”

อนาคตของ Scent And Sense

เป้าหมายหลักในอนาคตของแบรนด์ เจอยากเป็นเบื้องหลังการสร้างแบรนด์ที่แข็งแรงให้กับลูกค้า ไม่มีการขาดตลาดของสินค้า รวมถึงได้กลับไปสานต่อเจตนารมณ์ดั้งเดิมที่อยากช่วยเหลือเกษตรกรไทยให้มีรายได้มั่นคงยิ่งขึ้น 

“ในทุก ๆ ปีเราจะคาดการณ์ว่าของช่วงนี้ใกล้หมด ต้องเริ่มกักตุนให้ลูกค้า เพื่อที่เขาจะได้มีวัตถุดิบในการผลิตอยู่ตลอด เพราะยุคนี้ผู้บริโภครอไม่ได้ 

“นอกจากนี้ เราอยากขยายจำนวนพืชและจำนวนกลุ่มเกษตรกรชุมชนตามความตั้งใจแรกด้วย การสกัดเกิดขึ้นที่หน้าฟาร์มเพื่อให้ได้กลิ่นที่ดีที่สุด และบทบาทของธุรกิจเราคือการรวบรวม Demand ที่มากพอ เพื่อให้ในฝั่งของการสกัดทำงานได้จริง ๆ เมื่อทำออกมาแล้วต้องมีคนเอาไปใช้ต่อ ไม่งั้นเขาก็จะจมและไม่สามารถลงทุนต่อได้ เหมือนกับว่าเราเป็นตัวกลางกระจายของ นำมาใช้เพื่อให้เกิดเป็น Volume ใหญ่ ปีหนึ่งเราเลยรับงานแมสค่อนข้างเยอะ เพื่อที่จะบาลานซ์ปริมาณการใช้งานวัตถุดิบเหล่านี้ เพราะอยากให้ชุมชนเติบโตไปพร้อม ๆ กัน โดยหวังว่าทุกโอกาสที่เราได้มาจะส่งต่อกลับไปให้กับชุมชนด้วย”

โรงงานน้ำหอมที่เคยผลิตทั้งกลิ่นความสุข กลิ่นซากศพ กลิ่นอวกาศ กลิ่นเกิดแก่เจ็บตาย

Lessons Learned

  • การทำธุรกิจให้ยืดหยุ่นและปรับตัวได้ตลอดเวลาเป็นเรื่องสำคัญ อย่ายึดถือว่าสินค้าหลักควรเป็นอย่างเดิมอย่างเดียวตลอดไป
  • อย่ายัดเยียดสิ่งที่คิดว่าดีกว่าให้กลุ่มเป้าหมายโดยขาดการศึกษาก่อน เพราะอาจกลายเป็นผลเสียได้มากกว่าผลดี
  • มองหาความสนุกในการทำงานให้เจอ แล้วการทำธุรกิจจะกลายเป็นความท้าทายที่น่าตื่นเต้นอยู่เสมอ
  • การนำความชอบส่วนตัวมาเป็นพื้นฐานในการธุรกิจ จะช่วยให้งานของคุณมีเอกลักษณ์และไม่มีใครเหมือน

Writer

Avatar

ณิชากร เอื้อสุนทรวัฒนา

อดีตนักเรียนโฆษณาที่มาเอาดีทางด้านอาหาร แต่หลงใหลการสัมภาษณ์และงานเขียน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ