ทุกครั้งที่นั่งรถไฟ สายตามักจับจ้องอยู่นอกหน้าต่างรถไฟ และเมื่อไหร่ที่รถไฟเข้าโค้ง ก็มักจะดึงความสนใจให้มองออกไปเพื่อแค่จะดูรถไฟขบวนยาวเข้าโค้ง มีหัวรถจักรอยู่ข้างหน้า แล้วตามมาด้วยรถพ่วงอีกหลายสิบคัน ภูมิประเทศแปลกตาเมื่อไม่ได้มองเห็นรถไฟเป็นเส้นตรงพุ่งไปข้างหน้า พร้อมสนุกไปกับการนับตู้รถไฟทั้งขบวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ามีกี่ตู้ ใช้สายตามองผ่านกล้องแล้วบันทึกภาพลงไป 

แม้ว่าการนั่งรถไฟเป็นร้อยเป็นพันครั้งในปีหนึ่งจะผ่านโค้งต่าง ๆ ซ้ำไปซ้ำมา แต่โค้งที่ตั้งอยู่ที่เดิมมักมีอะไรไม่เหมือนเดิมสักครั้ง ตั้งแต่หัวรถจักรที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาลากรถไฟขบวนยาว สีของต้นไม้ใบหญ้าที่แตกต่างกันในแต่ละฤดู หรือแม้แต่ท้องฟ้าที่บางครั้งใส บางครั้งเต็มไปด้วยเมฆ หรือบางครั้งจะมีสายฝนเทกระหน่ำ

ทั้งหมดที่คุณกำลังจะได้อ่านต่อไปนี้ คือโค้งที่สวยสำหรับเราหลากหลายที่บนเส้นทางรถไฟในประเทศไทย ที่เราอยากชวนคุณไปดูไปเห็นโค้งเหล่านี้บ้าง

พร้อมแล้วก็ตีตั๋วขึ้นรถไฟไปพร้อมกันได้เลย

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

รายรอบกรุง

บ้านโพ-บางปะอิน

เป็นเพราะว่าทางส่วนใหญ่ในภาคกลางและรายรอบกรุงเทพฯ นั้นเป็นพื้นที่ราบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทางตรง โค้งส่วนใหญ่เลยเป็นโค้งที่ค่อนข้างกว้าง ไม่ได้เห็นหัวรถได้ชัดมาก แต่ถ้าเป็นโค้งที่เราชอบจะอยู่ระหว่างสถานีบ้านโพกับบางปะอิน ต้องเป็นเฉพาะรถขาเข้ากรุงเทพฯ ช่วงเย็นเท่านั้น เพราะแสงสีทองของพระอาทิตย์ใกล้อัสดงจะทาบลงบนตัวตู้รถไฟจนสีสันของรถไฟถูกขับออกมา ตัดกับสีของต้นไม้ใบหญ้าบนทางรถไฟนั้น 

และถ้าให้ดีที่สุด รถที่อยู่บนนั้นต้องเป็นขบวนรถนำเที่ยวรถจักรไอน้ำที่กำลังกลับกรุงเทพฯ ด้วย

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

บางปะกง

ย้ายไปทางทิศตะวันออกกันบ้าง ทางรถไฟสายตะวันออกส่วนใหญ่เป็นทางตรงค่อนข้างเยอะมาก โค้งสวย ๆ ก็เลยหายากตาม แต่สำหรับสายตะวันออกนั้น ถ้าเป็นโค้งที่ควรตั้งตารอจริง ๆ ต้องนั่งรถไฟเข้าไปในสายที่มุ่งหน้าไปพัทยา เมื่อเลยจากสถานีชุมทางฉะเชิงเทรามาไม่มากนัก ทางรถไฟจะยกตัวขึ้นเป็นสะพานสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเลยหลังคาตึก 

ใช่แล้ว นี่คือสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำบางปะกงซึ่งทอดตัวอยู่เหนือเมืองฉะเชิงเทรา มองไปรอบ ๆ คือบ้านเรือน ไกล ๆ จะเห็นวัดหลวงพ่อโสธร โรงพยาบาล โรงเรียน เจดีย์ และแม่น้ำบางปะกง สายเลือดใหญ่ของเมืองแปดริ้ว และบนสะพานนั่นเองรถไฟค่อย ๆ เทโค้งผ่านเหนือเมืองไป ตรงนี้เรียกได้ว่าเป็นทางรถไฟยกระดับเหนือเมืองสายแรก ๆ ของไทยเลยด้วยซ้ำ

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

ถ้ำกระแซ

ทางรถไฟสายกาญจนบุรีที่เลื่องชื่อลือนามไปไกลทั่วโลก เส้นทางรถไฟที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านสงครามมาหลายสิบปี ในวันนี้มันกลายเป็นทางรถไฟสายท่องเที่ยวที่โด่งดังสายหนึ่งของโลก

สะพานถ้ำกระแซเป็นสะพานตอม่อไม้ที่ตวัดโค้งไปมา ฝั่งหนึ่งเป็นแม่น้ำแควน้อย อีกฝั่งหนึ่งเป็นหน้าผา เวลาอยู่บนรถไฟนั้นเราจะเห็นเจ้างูเหล็กค่อย ๆ เคลื่อนผ่านไปอย่างช้า ๆ มุมที่ดีที่สุดคือด้านซ้ายมือของรถไฟสำหรับเที่ยวไป และขวามือของขบวนรถสำหรับเที่ยวกลับ วินาทีที่รถไฟเคลื่อนผ่านสะพาน ทั้งมือ หัว และกล้อง โผล่ออกมานอกหน้าต่างอย่างไม่ได้นัดหมาย และโค้งที่สวยที่สุดก็อยู่ทั้งปลายสะพานทั้งสองฝั่ง 

สำหรับตรงนี้ไม่มีขบวนไหนเป็นพิเศษ เพราะความพิเศษมันเกิดขึ้นกับทุกขบวน

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม
พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

ขึ้นเหนือ

ปางต้นผึ้ง-ห้วยไร่

เราพาขึ้นเหนือกันบ้าง 

จากกรุงเทพฯ ถึงศิลาอาสน์เป็นที่ราบมาเรื่อย ๆ โค้งสวย ๆ ก็พอมีอยู่บ้าง แต่ความน่าประทับใจไปอัดกันอยู่ตอนเหนือของเส้นทางมากกว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่ภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยเนินและภูเขา โค้งตั้งแต่ศิลาอาสน์เป็นต้นไปจนถึงลำพูนจึงเป็นโค้งแคบ ๆ ซะเป็นส่วนใหญ่

หลังจากผ่านสถานีปางต้นผึ้งมาระยะหนึ่ง รถไฟที่นั่งจะลอดอุโมงค์ปางตูบขอบ และไม่กี่โค้งจากอุโมงค์ด้านซ้ายมือของขบวนรถขาไป (ด้านขวาของขบวนขากลับ) เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ลึกเข้าไปกลางหุบเข้า รถไฟทั้งขบวนเข้าโค้งอยู่เหนือหมู่บ้านนั้น

ในช่วงหน้าแล้ง ความเขียวขจีอาจจะหายไป แต่ถ้าปลายฝนต้นหนาว ความเขียวของต้นไม้จะขับกับสีขาวจาง ๆ ของหมอกที่จับอยู่บนยอดเขา หมู่บ้านนี้ชื่อว่าหนองน้ำเขียว อยู่ระหว่างสถานีปางต้นผึ้งกับห้วยไร่ 

โค้งที่สองเป็นระยะสั้น ๆ ก่อนที่รถไฟจะเข้าสู่อุโมงค์เขาพลึง วาร์ปไปถึงสถานีห้วยไร่ ซึ่งสถานีห้วยไร่ฝั่งทิศเหนือเป็นทางโค้งที่รถไฟหันข้างเข้าหาทิศตะวันออกพอดี สำหรับรถไฟเที่ยวเช้า แดดแรกของวันจะส่องเข้าเต็ม ๆ ดูสวยงามไปอีกแบบ

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม
พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

แก่งหลวง

แก่งหลวงจริง ๆ แล้วเป็นโค้งยอดนิยมของคนนั่งสายเหนือมาก ๆ โดยเฉพาะกับขบวน 51 แต่จริง ๆ แล้วโค้งนี้ถ่ายสวยได้ทั้งขาไปและขากลับ ถ้าขาไปก็ต้องเป็นรถเช้า ส่วนขากลับก็ต้องรถเช้าเหมือนกัน และที่สวยที่สุดคือรถเร็ว 102 เชียงใหม่-กรุงเทพฯ และรถท้องถิ่น 407 นครสวรรค์-เชียงใหม่ ที่จะมาถึงแก่งหลวงในช่วงราว ๆ 10 โมงเช้าทั้งคู่

จุดที่สวยที่สุดอยู่ตรงโค้งเกือบจะเกือกม้าก่อนถึงสถานีแก่งหลวงประมาณ 2 กิโลเมตร

ถ้ารถเที่ยวไป ขบวนยาว ๆ จะเห็นภูเขารูปสามเหลี่ยมอยู่ในฉากภาพด้วย แต่ถ้าหากเป็นรถเที่ยวกลับจะเห็นโตรกเขา ต้นไม้ และแม่น้ำยม เป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์มาก

ไม่น่าเชื่อว่าโค้งเดียวกัน แค่ปรับมุมมองก็ทำให้ภาพที่เห็นเปลี่ยนอารมณ์ได้จริง ๆ 

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม
พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม
พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

ห้วยแม่ลาน-ผาคัน

ห้วยแม่ลานคือชื่ออุโมงค์ที่ 3 นับตั้งแต่อุโมงค์แรกของสาย 

ผาคัน คือชื่อสถานีรถไฟที่อยู่ไม่ไกลจากอุโมงค์นี้

ถ้ามาจากกรุงเทพฯ เราจะถึงห้วยแม่ลานก่อน แต่ถ้ามาจากเชียงใหม่เราจะถึงผาคันก่อน ทั้งสองโค้งมีความต่างกันในอารมณ์ โค้งหนึ่งเป็นโค้งเข้าอุโมงค์ ส่วนอีกโค้งอยู่ในเขตสถานีที่มีต้นไม้ใหญ่เป็นองค์ประกอบในภาพ

โค้งห้วยแม่ลานนั้นหากมาจากกรุงเทพฯ ต้องลอดอุโมงค์เสียก่อน เมื่อโผล่ออกมาแล้วและเราอยู่ด้านท้ายจะเห็นหัวรถจักรตวัดขบวนโค้งขวาไปแบบหักศอกก็ว่าได้ แต่ถ้าเป็นรถขากลับกรุงเทพฯ และอยู่ท้ายขบวน โค้งนี้จะสร้างภาพของรถไฟขบวนยาวที่วิ่งเข้าอุโมงค์เล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในภูเขาด้านหน้า

มาถึงโค้งผาคันกันบ้าง มันเป็นโค้งรัศมีแคบมาก ๆ ตั้งอยู่ในสถานีผาคันเลย ตัวโค้งนั้นแคบชนิดที่ถ้าเราอยู่ตู้ท้ายของขบวนที่ยาวมาก ๆ จะมองไม่เห็นหัวรถจักร มันเป็นโค้งพิเศษที่ไม่ว่าเราจะมุ่งหน้าไปเชียงใหม่หรือมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ก็สวยงามเหมือนกันทั้งสองฝั่ง

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม
พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

แม่ตานน้อย

สถานีแม่ตานน้อยเป็นจุดสตาร์ทก่อนขึ้นทางลาดชันบนอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล ลักษณะเด่นของสถานีนี้คือการถูกจัดวางลงบนทางรถไฟโค้งรูปตัว S โดยมีอาคารสถานีอยู่ตรงกลางพอดิบพอดี 

การโผล่หัวออกไปนอกหน้าต่างตอนรถไฟกำลังเข้าสถานีจะมองเห็นทางรถไฟโค้งไปมา มีสถานีเล็ก ๆ โอบล้อมด้วยธรรมชาติตั้งอยู่ ปกติแล้วรถขึ้นเหนือช่วงเช้าจะมาถึงในเวลาที่พอเหมาะ แสงไม่แข็งจนเกินไป 

ถ้าเราโชคดี มีการรอหลีกที่สถานีนี้ ก็เป็นจุดที่สวยงามในการลงไปเดินเล่นบนชานชาลาเพื่อถ่ายรูปรถไฟที่โค้งตวัดซ้ายขวาโดยมีฉากหลังเป็นป่าเขียว

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม
พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

ทาชมภู

โค้งที่ไม่ควรพลาดที่สุดของสายเหนือ และเป็นโค้งสุดท้ายของเส้นทางสายเหนือของบทความนี้ ทำเลที่ดีที่สุดคือด้านขวาของขบวนรถเที่ยวไปเชียงใหม่ ส่วนเที่ยวขาเข้ากรุงเทพฯ นั้นถ่ายรูปสวยน้อยกว่า โอกาสเดียวที่จะถ่ายรูปได้ก็คือการนั่งรถไฟขึ้นไปเชียงใหม่เท่านั้น

จากสถานีขุนตานไปไม่เกิน 15 นาที เมื่อแมกไม้สองข้างทางเริ่มเบาบาง เสียงหวีดรถไฟดังขึ้นถี่ ๆ เป็นสัญญาณว่ารถไฟกำลังจะถึงตีนดอย ซึ่งมีสะพานทาชมภูตั้งอยู่ตรงนั้น สุดปลายตาตรงโค้งนั้นคือสะพานโครงคอนกรีตสีขาวสะอาดตัดกับสีของต้นไม้ ท้องฟ้า และภูเขา 

เรามีเวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการลั่นชัตเตอร์ภาพนั้น ก่อนรถไฟทั้งขบวนจะข้ามสะพานและห้อตะบึงต่อไปจนถึงปลายทางเชียงใหม่

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม
พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

ล่องใต้

หลังสวน

จากเหนือแล้วเราไปล่องใต้กันบ้าง ส่วนใหญ่แล้วรถไฟสายใต้จะวิ่งในเวลากลางคืนและบางขบวนก็จะเริ่มทักทายแสงอาทิตย์ยามเช้าแถว ๆ ชุมพร

โค้งแรกที่เราไม่ปล่อยให้หลุดสายตาไปคือโค้งสถานีหลังสวน โค้งนี้ตั้งอยู่ปลายสุดชานชาลาของสถานีหลังสวน จังหวัดชุมพร ไม่ว่าจะเป็นรถล่องใต้ หรือขึ้นกรุงเทพฯ ก็จะถ่ายภาพโค้งนี้ได้สวยทั้งนั้น 

เมื่อรถไฟขาล่องใต้จอดที่สถานีหลังสวน เบื้องหน้ารถจักรนั้นเราก็จะเห็นโค้งยาวไปทางซ้าย มีสัญญาณไฟเขียวไฟแดงอยู่ตรงปลายโค้งนั้น เมื่อสิ้นเสียงหวีดสัญญาณว่ารถไฟจะเคลื่อนออก เสียงคำรามของรถจักรค่อย ๆ ดังขึ้น พร้อมรถไฟขบวนยาวค่อย ๆ บิดตัวไปตามโค้งซ้ายโดยมีฉากหลังเป็นภูเขา ต้นไม้ และตึกแถว ถือได้ว่าเป็นน้ำจิ้มของทางรถไฟสายใต้ตอนล่างที่เราจะเจอโค้งสุดสวยถัดไปในอีกประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ๆ

พา ‘เข้าโค้ง’ ชมสารพัดโค้งตามเส้นทางรถไฟในไทยที่แฟนพันธุ์แท้คัดมาให้แล้วว่าต้องไปชม

สุราษฎร์ธานี

สถานีสุราษฎร์ธานีตั้งอยู่ในอำเภอพุนพิน ริมแม่น้ำตาปีที่มีควนมีเนินมากมายอยู่ในตัวอำเภอนั้น 

เพราะมีควนและแม่น้ำ ทางรถไฟเลยตัดตรง ๆ ไม่ได้ มีโค้งทั้งขาเข้าและขาออกสถานีจนถ้ามองผ่าน Google Maps จะพบว่ามันบิดโค้งไปมาซะเป็นตัว S หลายตลบ

โค้งแรกอยู่ทางทิศเหนือของสถานีสุราษฎร์ธานี เมื่อรถไฟข้ามสะพานจุลจอมเกล้าแล้ว เส้นทางจะบิดตัวไปทางขวา เสียงล้อเบียดรางดังเอี๊ยดอ๊าดพร้อมหักโค้งเข้าสู่สถานี ด้วยฉากหลังเป็นบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนควน (เนินเขา)

ยัง ยังไม่จบ ใครที่ไม่ได้ลงสถานีสุราษฎร์ธานีก็ขอยินดีด้วย เมื่อออกจากสถานีทางรถไฟต้องเบี่ยงหลบเนินเขาเตี้ย ๆ เลยทำให้มีโค้งอีก 2 – 3 โค้งใหญ่ ๆ ตวัดไปตวัดมาซ้ายทีขวาที จากฉากเมืองก่อนต้นไม้ของภาคใต้จะค่อย ๆ กลืนเมืองให้หายไปเหลือแต่ความเขียวชอุ่มของป่า

โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน
โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน
โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน

อุโมงค์ช่องเขา

จากทุ่งสงไปถึงเขาชุมทอง มีเทือกเขานครศรีธรรมราชกั้นไว้อยู่ แน่นอนว่าเมื่อมีเขาก็ต้องมีโค้ง แถมให้เลยว่าหลายโค้งแน่นอน โดยเฉพาะตั้งแต่ออกจากสถานีช่องเขาไป ทางรถไฟจะลัดเลาะไปตามไหล่เขา หากนั่งรถมุ่งหน้าลงใต้ก็จะเห็นถนนเส้นใหญ่คดเคี้ยวไปมาอยู่ด้านล่างด้วยเช่นกัน

แต่มุมสวยจริง ๆ มันไม่ใช่เที่ยวล่องใต้ แต่เป็นเที่ยวขึ้นมากรุงเทพฯ มากกว่า 

โค้งที่สวยที่สุดมีอยู่ 2 ช่วง

ช่วงแรกคือจากสถานีร่อนพิบูลย์ เมื่อขึ้นเขามาเล็กน้อยจะมีโค้งที่เลาะสวนยางไปเรื่อย ๆ กับอีกที่หนึ่งคือโค้งสุดท้ายก่อนเข้าอุโมงค์ช่องเขา โค้งนี้เป็นโค้งที่สวยที่สุดของเส้นทางเลยก็ว่าได้ เรียกได้ว่าถ้าใครนั่งรถไฟผ่านอุโมงค์นี้ต้องไม่พลาดถ่ายรูปเลยจริง ๆ 

โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน
โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน

เขาชุมทอง

โค้งมุมนี้ถ่ายได้จากฝั่งเดียวเท่านั้น คือขาออกจากสถานีนครศรีธรรมราช และขบวนที่ถ่ายได้สวยที่สุดคือรถด่วน 86 นครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ เท่านั้น

ทางรถไฟเข้าตัวเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเส้นทางแยกไม่ใช่ทางหลัก มันแยกจากเส้นทางสายใต้ที่สถานีชุมทางเขาชุมทอง ซึ่งตั้งชื่อตามภูเขาลูกหนึ่งที่ตระหง่านโดดเด่นอยู่ไม่ไกลจากสถานี

ถ้าเรานั่งรถไฟออกจากนครศรีธรรมราชมุ่งหน้าไปทางสถานีชุมทางเขาชุมทอง ก่อนถึงสถานีเพียงอึดใจเดียวรถไฟจะชะลอตัวเพื่อเลี้ยวโค้งเข้าสถานี และภาพข้างหน้านั้นก็คือรถไฟขบวนยาวที่มีเขาชุมทองตั้งตระหง่านอยู่ในเฟรม

โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน

สะพานข้ามแม่น้ำสายบุรี

เราพากันลงมาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กันบ้าง 

โค้งนี้อยู่ระหว่างรอยต่อของจังหวัดยะลาและนราธิวาส มันเป็นทางโค้งยาว ๆ ที่มีสะพานคั่นอยู่ สะพานนั้นเป็นสะพานเหล็กสีดำขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำสายบุรี ไม่ว่าจะนั่งจากฝั่งสุไหงโกลกไปหาดใหญ่ หรือนั่งจากหาดใหญ่ลงไปโค้งที่มีสะพานอยู่ตรงกลางก็สวยสดงดงาม 

อีกหนึ่งความสวยงามของโค้งนี้คงเป็นเพราะมีแมกไม้ประดับอยู่เต็มก็ได้ 

ถ้าว่ากันตามตรงเราว่าโค้งนี้แอบถ่ายยาก เพราะคนที่ไม่ชินเส้นทางจะไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหน ให้ตั้งหลักง่าย ๆ ว่า เมื่อรถไฟออกจากสถานีบาลอ (จากฝั่งหาดใหญ่) และรือเสาะ (จากฝั่งสุไหงโกลก) ให้เตรียมตัวได้เลย สะพานนี้อยู่ตรงกลางระหว่างสองสถานี

โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน
โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน

ไปอีสาน

เขื่อนป่าสัก

จากใต้เราไปโผล่อีสาน ขอพาไปเส้นที่เรียกได้ว่าน่าจะเป็นหนึ่งในทางรถไฟที่สวยที่สุดในประเทศไทย นั่นคือเส้นทางสายแก่งคอย-บัวใหญ่ ช่วงผ่านเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

จากสถานีแก่งเสือเต้นไปโคกสลุง มีสะพานเหนืออ่างเก็บน้ำอยู่ด้วยกัน 5 สะพาน เป็นสะพานโค้งเกือบหมดยกเว้นสะพานที่ 2 และสะพานที่ 5 ซึ่งเป็นทางตรง 

จุดโค้งที่สวยที่สุดคือสะพานที่ 3 และ 4 โดยสะพานที่ 3 เป็นจุดชมวิวของขบวนรถไฟนำเที่ยวรถไฟลอยน้ำ ส่วนสะพานที่ 4 อยู่ห่างกันไปนิดเดียว จุดเด่นของทั้งสองสะพานคือการโค้งไปในทิศทางที่ไม่มีเสาโทรเลขมาบดบัง แถมโค้งไปแนวเดียวกับความเวิ้งว้างของอ่างเก็บน้ำอีกด้วย ภาพที่เห็นจากหน้าต่างคือรถไฟขบวนยาวที่วิ่งไปบนท้องน้ำเหมือนกับรถไฟที่วิ่งลอยอยู่บนน้ำ

ขบวนไหนที่ผ่านทางช่วงนี้ในช่วงพระอาทิตย์ส่องแสงตั้งแต่เช้ายันเย็นก็สวยเหมือนกันทั้งนั้น โกงเป็นบ้า

โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน
โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน

ช่องสำราญ-บ้านวะตะแบก

เรายังคงอยู่ในเส้นทางสายแก่งคอย-บัวใหญ่ ตามมาถึงทางรถไฟในช่วงที่ผ่านจังหวัดชัยภูมิ

หลังออกจากสถานีโคกคลีมาแล้ว ทางรถไฟจะไต่ขึ้นเขาที่เป็นกำแพงผาตั้งระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ถ้ามองออกไปนอกหน้าต่างผ่านทิวไม้จะมองเห็นเมืองโคกคลีค่อย ๆ ลดต่ำลง ทางรถไฟค่อย ๆ สูงขึ้นจนอยู่ ๆ ทางก็หักโค้งเข้าไปในถ้ำเขาพังเหย ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคอีสานของทางรถไฟ

เมื่อออกจากอุโมงค์ไม่นาน เราจะผ่านสถานีชื่อช่องสำราญ อันเป็นสถานีแรกของจังหวัดชัยภูมิ

อะไรคือความพิเศษ ช่วงทางจากช่องสำราญไปถึงสถานีบ้านวะตะแบก เป็นทางโค้งที่ถ้ามองออกไปนอกหน้าต่าง จะเห็นกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ตั้งกระจายอยู่บนเขา เป็นฉากประกอบให้กับโค้งรถไฟของเรา 

นับตั้งแต่ออกจากสถานีช่องสำราญเราก็จะเจอโค้งรูปตัว S ที่มีคันทางสูงลิ่วข้ามเขาจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง รถไฟค่อย ๆ ไต่ระดับเขาไปเรื่อย ๆ ระหว่างทางก็ปรากฏกังหันลมใหญ่แบบบึ้ม ๆ ให้เห็นเป็นระยะ ๆ จนไปถึงสถานีบ้านวะตะแบก

โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน
โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน

โรงปูนหินลับ

โค้งสุดประทับใจของเราจะมีโค้งโรงปูนหินลับอยู่ในลิสต์เสมอ

ทุกครั้งเวลานั่งรถไฟขากลับจากอีสานเข้ากรุงเทพฯ เมื่อเคลื่อนขบวนออกจากสถานีหินลับ สถานีเล็ก ๆ กลางเขาที่มีโรงปูนซีเมนต์ตั้งอยู่ ทางรถไฟที่คดไปเคี้ยวมาขนานกันไปเรื่อย ๆ สามทางวิ่งจากสถานีหินลับยาวไปจนถึงโรงปูน และที่สุดปลายทางนั้นภาพของโรงปูนขนาดใหญ่ที่ซุกตัวอยู่กลางเขาก็ปรากฏตัวขึ้นจากมุมเหลี่ยมของเขา

บ้างก็ว่าเหมือนรถไฟวิ่งเข้าแท่นจรวด

บ้างก็ว่าเหมือนรถไฟวิ่งไปฮอกวอตส์

ก็แล้วแต่คนจะจินตนาการเอาเลย

โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน

มวกเหล็ก

โค้งสุดท้ายของบทความนี้กันแล้ว และนี่คือโค้งที่กำลังจะกลายเป็นเพียงแค่ความทรงจำ นั่นคือโค้งตัว U ระหว่างสถานีมวกเหล็กกับสถานีกลางดง

ตามกายภาพแล้วมวกเหล็กเป็นแอ่งกระทะกลางหุบเขา ทางรถไฟวิ่งลงจากเขาที่หินลับลงมาที่ก้นแอ่งอันเป็นที่ตั้งของสถานีมวกเหล็ก ก่อนจะค่อยๆ ไต่ขึ้นไปบนขอบกระทะอีกฝั่งหนึ่ง ไอ้การที่ขอบทั้งสองมันมีความชันมากการไต่ระดับจึงต้องค่อย ๆ สไลด์โค้งขึ้นไปจนโค้งนั้นกลายเป็นรูปตัว U เมื่อมองมาจากอากาศ

เมื่อโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ถนนจิระ สร้างแล้วเสร็จ รถไฟที่วิ่งสู่ภาคอีสานจะใช้เส้นทางใหม่ที่เป็นสะพานสูงลัดข้ามเมืองมวกเหล็ก ไม่ต้องผ่านเส้นทางเก่าแล้ว นั่นหมายความว่ารถไฟส่วนใหญ่จะไม่ได้ผ่านโค้งนี้อีก ซึ่งมันจะประหยัดเวลาในการเดินทางไปได้มากโข แต่ก็ต้องแลกมากับวิวโค้งอันทรงคุณค่าที่หายไป

โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน
โดดขึ้นรถไฟ ตามแฟนพันธุ์แท้ไปชม ‘โค้ง’ ทั่วประเทศไทยที่ควรค่าแก่การไปเยือน

นี่คือโค้งที่สวยที่สุดสำหรับเรา แล้วคุณล่ะมีโค้งในดวงใจเวลานั่งรถไฟไหม

ถ้ายัง ก็ตีตั๋วไปนั่งรถไฟแล้วเก็บภาพโค้งสวย ๆ กันครับ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ