คอลัมน์ทายาทรุ่นสองตอนนี้ เป็นตอนที่เรารอคอยเป็นพิเศษ 

เพราะสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวในวงการแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนมาตลอด รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนเสมอยามเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่สวนทางกับคุณภาพชีวิตของคนในอุตสาหกรรมและปัญหาสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลล่าสุดจาก sustainyourstyle.org บอกว่า ในแต่ละปี มีของเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งโลกมากถึง 8 หมื่นล้านตันต่อปี

โกรธจนอยากลงนามสนธิสัญญาเลิกซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดปี 

ก่อนความคิดจะเตลิดไปไกลกว่านี้ เราพบธุรกิจโรงงานปั่นด้ายสัญชาติไทย ที่รับซื้อเศษของเสียจากกระบวนการปลูกฝ้าย ปั่นด้าย ทอ ฟอก ย้อม ของอุตสาหกรรมมานานกว่า 50 ปี มาก่อนที่โลกจะมีคำว่า Sustainable Fashion

จุดเริ่มต้นจากคู่รักที่ทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอเจ้าใหญ่ เห็นโอกาสจากเศษด้ายเล็กๆ ในโรงงาน จึงรับซื้อเศษของเสียทั้งหมดนี้แล้วส่งออกไปต่างประเทศ ทำรายได้ให้ครอบครัวมหาศาล จากซื้อมาขายไป ต่อมาเปิดโรงงานปั่นด้ายรีไซเคิลจากเศษผ้าแล้วส่งต่อกันมาถึง 3 รุ่น 

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

The Cloud พบกับ วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND ทายาทรุ่นสามของโรงงานปั่นด้ายที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิลเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี พูดคุยกันเรื่องการต่อยอดและโอกาสในธุรกิจสิ่งทอ ที่ใครต่อใครต่างบอกว่าอยู่ในช่วงขาลง วัธใช้เวลาเพียง 2 ปีสร้างแบรนด์ให้ธุรกิจครอบครัว เปลี่ยนจากผู้ผลิตและจำหน่ายด้ายรีไซเคิล เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมแฟชั่นยั่งยืนที่ทั่วโลกกำลังเคลื่อนตาม

ในเวลาสั้นๆ วัธพาธุรกิจของเขาไปเจอตลาดที่พูดจาภาษาเดียวกัน มีแบรนด์แฟชั่นจากต่างประเทศมากมายติดต่อเข้ามา ขอให้ช่วยพัฒนาเส้นด้ายใหม่ๆ 

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ วัธก็เหมือนทายาทธุรกิจทุกคนที่ต้องพิสูจน์ความสามารถของตัวเองมากมาย ไม่ต่างจากเส้นด้ายที่กำลังม้วนตัวเป็นระเบียบตามจังหวะเครื่องปั่น ตามไปฟังเรื่องราวของเขาและ SC GRAND พร้อมกัน

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

ธุรกิจ : บริษัท บางปะกอกการฝ้าย จำกัด (พ.ศ. 2508), บริษัท แสงเจริญการฝ้าย จำกัด และ บริษัท อุตสาหกรรมคลองสวนการฝ้าย จำกัด (พ.ศ. 2530) ปัจจุบันควบรวมและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด

ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2508

อายุ :  55 ปี

ประเภท : โรงงานปั่นด้ายและธุรกิจซื้อมาขายไปของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ทายาทรุ่นสาม : จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ และ สรรพัชญ์ พจนาวราพันธุ์

ธุรกิจขายเศษผ้า เริ่มจากการขายส่งเป็นก้อนก่อนทอเป็นเส้น

แสงเจริญ เป็นชื่อที่เพื่อนๆ คุณตาตั้งให้ ซึ่งมาจากชื่อจริงคือ สว่าง 

เริ่มต้นจากคุณตามีประสบการณ์ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดใหญ่มาก่อน ในสมัยนั้น มีการนำเข้าฝ้ายจากต่างประเทศมาทอเป็นผืนก่อนตัดเย็บไปเป็นเสื้อผ้า คุณยายซึ่งช่วยงานอยู่ข้างกายเห็นโอกาสจากเศษเหล่านี้ จึงร่วมกันก่อตั้งโรงงานล้างฝ้ายใน พ.ศ. 2508 รับซื้อเศษทุกอย่างที่เกิดในกระบวนการ เศษฝ้าย เศษด้าย เศษผ้า แล้วมัดเป็นก้อนส่งออกไปขายในต่างประเทศ และมีลูกค้าคือโรงงานรีไซเคิล

“เริ่มจากนำฝ้ายมาผ่านกระบวนการให้สะอาด มีคนมารับซื้อกากไปเพาะเห็ดฟาง ส่วนฝ้ายไปปั่นด้าย หรือไปผสมนุ่นใช้ยัดหมอนและที่นอนเพื่อลดต้นทุน ธุรกิจเราเล็กมากนะ เราเป็นโรงงานรับซื้อของที่เขาไม่ใช้แล้วจากทุกโรงงานเลย แต่เดี๋ยวนี้ทำไม่ได้แล้ว ยากขึ้น ต้องมีการประมูลจริงจัง” ชนินทร์ วูวนิช ผู้เป็นลูกชายคนที่ 3 และทายาทรุ่นสอง เล่า 

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

ผลจากการวางตำแหน่งทายาทตามบุคลิกของคุณยาย ที่มอบหมายให้แม่ ผู้ชอบเข้าสังคมและใช้ภาษาอังกฤษเก่ง ดูแลงานส่วนนำเข้าและส่งออก มอบหมายให้น้าคนแรกซึ่งเป็นคนขยันชอบเจอลูกค้า ทำหน้าที่ฝ่ายขาย และมอบหมายให้น้าคนที่ 2 ผู้รักสงบ ดูแลการเงินและฝ่ายผลิต จนธุรกิจเติบโต

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

ต่อมา ผลประกอบการเศษผ้ามัดก้อนที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คุณยายเห็นโอกาสต่อยอดธุรกิจอีกขั้น จึงส่งลูกชายหรือคุณน้าเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ จนพบว่าปลายทางของเศษผ้าเหล่านี้ ใช้นำไปทำเส้นด้ายใหม่ได้ จึงเป็นที่มาของโรงงานปั่นด้ายในยุคทายาทรุ่นสอง ซึ่งเส้นด้ายเกิดใหม่เหล่านี้เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงงานทำไม้ถูพื้น โรงงานผลิตสายสิญจน์ หรือแม้แต่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

“จำได้ว่าขายดีมากๆ พ.ศ. 2528 ถือเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมสิ่งทอเลย ใครทำอะไรก็รวยหมด เมื่อก่อนมีโรงงานปั่นด้ายเป็นร้อยโรงงาน เดี๋ยวนี้เหลือไม่ถึงยี่สิบโรงงานแล้ว” นอกจากขายเส้นด้ายรีไซเคิลแล้ว ที่นี่ยังรับซื้อเศษผ้ามาแยกสีก่อนส่งออกไปขายอีกที

ความยากของงานนี้ คือโรงงานไม่สามารถรู้ล่วงหน้าว่าวัตถุดิบที่เข้ามาจะเป็นแบบไหน เฉดสีไหน ทั้งหมดต้องใช้ประสบการณ์

“โดยทั่วไปโรงงานปั่นด้ายเจ้าใหญ่จะย้อมด้ายเป็นสีอะไรก็ได้ แต่เราทำไม่ได้ เราต้องเอาผ้าเก่ามาคัดแยกสี ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก ไม่มีโรงงานไหนอยากทำ และเราก็ไม่รู้ว่าผ้าจากต้นทางมีส่วนผสมอะไรบ้าง หรือฝ้ายมาจากที่ไหน แบบไหนยาว แบบไหนสั้น เราต้องใช้ประสบการณ์ปรับเครื่องจักรของเรา” ทายาทรุ่นสองเล่า

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

ช่องว่างระหว่างทายาท

หลังเรียนจบด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วัธเห็นว่าธุรกิจครอบครัวมีความเสี่ยงสูง แม้สินค้าจะขายดีมาก แต่การพึ่งพาลูกค้าเพียงไม่กี่เจ้า ไม่มีทีมขาย มีเพียงน้าชายคนเดียวที่ดูแลด้านนี้ และไม่มีระบบเป็นเรื่องที่ควรแก้ไข ความยากที่ทายาททุกคนเจอคือ ช่องว่างระหว่างวัย

ทำไมต้องเปลี่ยน ทำไมต้องเสียเงินทำระบบแพงๆ ทำไมต้องพัฒนาสินค้า ทำไมต้องโฆษณา ทำไมต้องทำแบรนด์ สำหรับวัธตอนนั้นเป็นคำถามที่ยากจะตอบในเวลาสั้นๆ

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี
ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

“ใครๆ ก็รู้ว่า การจะทำให้ผู้ใหญ่รับฟังความเห็นจากเราที่เพิ่งเรียนจบเป็นเรื่องยากมาก สิบปีก่อนเราบอกครอบครัวว่า อนาคตธุรกิจเราจะลำบากหากไม่เปลี่ยน เพราะลูกค้ารายใหญ่ของเรามีสัดส่วนเกือบห้าสิบเปอร์เซ็นต์ของจำนวนการผลิตทั้งหมด จนวันหนึ่งที่ลูกค้าเจ้านั้นหันไปสั่งสินค้าจากที่อื่นมาขายแข่งกับเรา” วัธเล่าบรรยากาศทำงานกับครอบครัวในช่วงแรก ซึ่งอาศัยการค่อยๆ ซึมเข้าไป เช่น เดิมสินค้าของบริษัทมีเพียง 2 สี คือสีขาวและสีครีม วัธก็เสนอว่า สีเทากำลังเป็นที่ต้องการในตลาด แต่เมื่อไม่มีใครเชื่อ เขาจึงพิสูจน์ด้วยการนำเข้ามาทำตลาดด้วยตัวเอง ก่อนที่โรงงานจะยอมผลิตในเวลาต่อมา

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

หรือไปเริ่มใหม่ง่ายกว่า?

แทนที่จะเข้ามาทำงานเต็มตัวอย่างที่ตั้งใจ วัธตัดสินใจช่วยงานครอบครัวอยู่ห่างๆ พร้อมกับเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง

“สมัยนั้น ยอมรับว่าคิดทำธุรกิจจากที่เห็นว่าใครทำแล้วดี เราก็ลงทุนทำบ้าง อะไรฮิต อะไรเพื่อนว่าดี เราก็กระโดดลงไป เช่น ธุรกิจแรก ผมหุ้นกับเพื่อนห้าหกคนขายเสื้อผ้าที่สวนลุมไนท์บาซาร์ ธุรกิจที่สอง ทำรองเท้าแบรนด์ Mango Mojito โดยเริ่มจากร้านรองเท้าเล็กๆ จนเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าได้ตั้งแต่หกเดือนแรก แล้วเปิดร้านตัวเองที่สยาม ธุรกิจที่สาม ลงทุนร่วมกับเพื่อนชาวต่างชาติทำระบบติดตามในรถยนต์ เพื่อช่วยค้นหาหากรถถูกโจรกรรมหรือเกิดอุบัติเหตุ และมีช่วงหนึ่งเรียนรู้เรื่องการซื้อขายหลักทรัพย์ มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว หากย้อนเวลากลับไปได้คงไม่ทำอย่างนั้น คงจะคิดก่อนว่าธุรกิจที่มีหรือสิ่งที่มีในมือเราทำได้ดีแล้วหรือยัง มีทรัพยากรเพียงพอไหม ทีมพร้อมไหม เวลามีพอแค่ไหน ตอนนั้นคิดแค่ว่าเราทำได้ก็ทำดู” วัธเล่าย้อนบทเรียนจากธุรกิจที่ผ่านมา

มีครั้งหนึ่ง วัธเล่าว่าเขาทำธุรกิจไม้ถูพื้นแบรนด์ SUPERCAT เพียงเพื่ออยากพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่า เขาทำให้เส้นด้ายในโรงงานเข้าไปขายอยู่ในห้างค้าปลีกเจ้าใหญ่ได้ 

คำตอบเดียวของวัธในตอนนั้น คือเขาจะทำไม้ถูพื้นราคาถูกที่สุดในตลาด ไม้ถูพื้นที่ทำจากเส้นด้ายรีไซเคิลในโรงงาน

“มารู้ตอนนี้ว่าการคิดแบบนั้นอันตรายมาก เมื่อไหร่ที่เราคิดว่าตัวเองใหญ่สุดหรือถูกสุด เมื่อนั้นธุรกิจกำลังอยู่ในอันตราย เราไม่ได้วางแผนการเงินในระยะยาว เราแค่คิดจะตีตลาดตอนนี้ บทเรียนครั้งนั้นสอนว่า ต้องคิดรอบคอบ มองระยะยาว ศึกษาคู่แข่ง มองภาพใหญ่ มองข้อดี-ข้อเสีย รู้จักหาทางเลือกให้มากกว่านี้ ยังดีที่ตอนนี้ไม่ได้ขาดทุนแล้วนะ เพียงแต่ยังไม่คืนทุน” วัธเล่า

ใครที่เคยคิดว่าออกไปเริ่มต้นธุรกิจตัวเองง่ายกว่ารับช่วงต่อที่บ้าน คงต้องคิดดูใหม่

สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่าถ้ามีแค่เงินแล้วทำธุรกิจได้ คนอื่นก็ทำได้เช่นกัน

คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด

จุดเปลี่ยนที่กลับมารับช่วงต่อธุรกิจเต็มตัว คือปัญหาจากคนที่ครอบครัวเคยไว้ใจที่สุด

“เขาเป็นมือขวาคุณยาย ทำงานมามากกว่ายี่สิบห้าปี รู้ทุกอย่างในบริษัท ก่อนหน้านี้ยังเคยแอบคิดว่า ถ้าเขาทำอะไรขึ้นมา บริษัทได้รับผลกระทบหนักแน่ แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ”

หลังจากเหตุการณ์นั้น ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดี เป็นช่วงขาลงของอุตสาหกรรมสิ่งทอ วัธตัดสินใจเริ่มต้นใหม่ เขาศึกษาทุกเรื่องของวงการผ้า โดยลงเรียนลัดด้วยการเดินทางเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและงานสัมมนาใหญ่ในต่างประเทศ เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ สำหรับธุรกิจใน 10 ปีข้างหน้า จากเทรนด์และแนวโน้มของอุตสาหกรรม หาวิธีปรับตัวเพื่อรักษาจุดแข็งของธุรกิจ นั่นคือความเชี่ยวชาญในการรีไซเคิลเศษผ้าจากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีมายาวนาน 50 ปี

ทบทวนคุณค่าที่ธุรกิจเรานี้จะมีต่อโลก

โชคดีที่วัธไม่ถอดใจขายโรงงานไปทำธุรกิจด้านไฟแนนซ์อย่างที่คิด และการตัดสินใจครั้งนี้ ทำให้ทายาทรุ่นสามของ SC GRAND พบโอกาสต่อยอดมากมาย

“ช่วงที่ผ่านมา โลกกำลังสนใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Fashion) ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับที่มาที่ไป และสนใจว่าตัวเขาได้มีส่วนช่วยโลกเท่าไหร่ ธุรกิจของเรามีองค์ความรู้เรื่องรีไซเคิลและดำเนินการอยู่ในแนวทางนี้มาตลอด เส้นด้ายของเราทำจากผ้าเก่าไม่เคยผ่านการย้อมสี เสื้อผ้าเก่าสีอะไรก็ทำด้ายสีนั้น” วัธเล่าเหตุผลข้อแรก

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี
ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

สอง วัธเห็นว่าบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเองก็ทำและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“ช่วงที่เริ่มทำเว็บไซต์ใหม่ มีคนติดต่อเข้ามาทั้งที่เรายังไม่ได้ทำโฆษณาใดๆ โดยลูกค้าเป็นแบรนด์แฟชั่นระดับโลกทั้งจากญี่ปุ่นและสวีเดน ซึ่งติดต่อผ่านตัวแทน ขอให้ทำเราลองทำเส้นด้ายจากเศษผ้าหรือเสื้อผ้าที่ไม่ผ่าน QC ในโรงงานเขา” วัธตัดสินใจตั้งทีมสำหรับแผนกใหม่ พร้อมขอเวลาพิสูจน์ตัวเอง 3 ปี

แทนที่จะผลิตเส้นด้ายรีไซเคิลขายลูกค้าซึ่งเป็นโรงงานทอผ้าในตลาดเดิม ที่นับวันก็ยิ่งยากจะเข้าใจว่า ทำไมเส้นด้ายรีไซเคิลมีราคาสูงกว่าหรือมีคุณภาพดีกว่า ทั้งๆ ที่ควบคุมสีของเส้นด้ายได้ยาก 

SC GRAND จัดตั้งแผนกที่ทำงานกับร่วมกับแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี
ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

“เราทำตัวอย่างงานที่ทำร่วมกับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำขึ้นมา เช่น กางเกงยีนส์จากเส้นด้ายของเรา เพื่อบอกว่า SC GRAND ไม่ได้กำลังขายเส้นด้ายนะ แต่ขายวัตถุดิบรีไซเคิลไม่ว่าจะเป็นเส้นด้ายหรือผ้า และสินค้ารีไซเคิลขายได้ เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและตลาด” นอกจากขายวัตถุดิบที่ผลิตตามความต้องการลูกค้าแบรนด์แล้ว ยังรับจ้างผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปด้วย

สุดท้ายเมื่อตลาดเข้าใจ ผู้บริโภคเข้าใจ ก็จะเรียกร้องกลับไปที่ร้านขายผ้าเอง

สาม วัธเห็นโอกาสจากทำเลที่ตั้งโรงงาน ซึ่งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของโรงงานสิ่งทอในภูมิภาค สามารถรับของเสียจากโรงงานสิ่งทอทั้งในเมียนมา ลาว และกัมพูชา

หมดยุคที่จะผลิตเพื่อขายให้ได้กำไรเยอะๆ อีกต่อไป

สินค้าและบริการของ SC GRAND ในมือทายาทรุ่นสาม เปลี่ยนไปจากเดิมที่ขายเพียงเส้นด้ายรีไซเคิล

หนึ่ง ทำเรื่องระบบหมุนเวียน เปลี่ยนขยะให้เป็นของมีมูลค่า

สอง ขายเส้นด้ายสั่งผลิต (Made to Order) ตามความต้องการของลูกค้า

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี
ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

“หมดยุคที่จะผลิตเพื่อขายให้ได้กำไรเยอะๆ อีกต่อไป ลูกค้าสั่งได้ว่าอยากได้สีไหน มีรีไซเคิลโพลีเอสเตอร์ผสมเท่าไหร่ รีไซเคิลคอตตอนกี่เปอร์เซ็นต์ หรือผสมเส้นด้ายรีไซเคิลจากเสื้อเก่าของแบรนด์เท่าไหร่ ตอนนี้เริ่มทำแล้วกับแบรนด์แฟชั่นจากต่างประเทศ”

สาม ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบรีไซเคิลจากโรงงาน SC GRAND

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

“เรื่องการผลิตเสื้อผ้าเราใช้วิธีหาผู้ผลิต เพราะอยากทำและทุ่มเทให้สิ่งที่เราถนัด อย่างการเปลี่ยนและเพิ่มมูลค่าให้ของเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ

“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าบริษัทต้องทำกำไรตั้งแต่วันแรกๆ เรายอมลงทุนกับ R&D ก่อน ยอมทดลองทำจำนวนน้อยก่อน ไม่ว่าจะเอา Waste มาแบบไหน เรายินดีเปลี่ยนให้เป็นเส้นใยเพื่อใช้งานต่อได้ตามคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งถ้าเป็นที่อื่นเขาคงไม่ทำ เช่น โรงงานรีไซเคิลยีนส์ส่งอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือรีไซเคิลเพื่อทำไม้ถูพื้นก็จะทำเนื้อแบบเดียว หรือไม่ก็รีไซเคิลเพื่อส่งออกอย่างเดียว แต่เราทำทุกอย่างครบวงจร อย่างมีระบบ ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร และติดตามงานทุกกระบวนการ เป็นเหตุผลที่หลายๆ บริษัทอยากทำงานกับเรา เพราะเราเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิล” วัธเล่าหลักการทำงาน ซึ่งมาจากคำสอนของคุณยาย ที่บอกเสมอว่าให้ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม หมั่นศึกษาหาความรู้ ขยัน อดทน และกตัญญู

สิ่งที่วัธทำและพิสูจน์ เปลี่ยนท่าทีหรือบรรยากาศธุรกิจครอบครัวอย่างไร เราถาม

“ในอดีต ธุรกิจนี้ในมือของแม่และน้าๆ ก็เคยซื้อขายกับโรงงานในญี่ปุ่น แต่พวกเขาไม่เคยมีโอกาสเข้าไปเดินในโรงงานที่ญี่ปุ่นเลย ขณะที่ผมกับน้องชายได้เข้าไปดูงานทุกส่วน เมื่อก่อนลูกค้าไม่เคยมองเราด้วยซ้ำ เพราะคุยกันคนละภาษา ไม่ได้หมายถึงภาษาญี่ปุ่นหรือไทยนะ แต่หมายถึงความเข้าใจที่มีต่องาน นั่นทำให้เขาไม่เคยมีโอกาสตีกอล์ฟหรือสังสรรค์กับคู่ค้า ขณะที่เราทำได้” วัธเล่า

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

ถ้ารุ่นแรกคือบุกเบิก รุ่นสองคือสานต่อ ทายาทรุ่นสามของ SC GRAND อยากให้คนจดจำธุรกิจนี้อย่างไร เราถาม

“เอาความเชี่ยวชาญที่มีมาปรับใช้ให้เข้ากับปัจจุบัน” วัธตอบในทันที

“สานต่อเป็นสิ่งที่ทายาทควรทำ แต่ก็ไม่เสมอไปนะ ถ้าประเมินธุรกิจแล้วไม่พบโอกาสจริงๆ ก็ไม่ควรดื้อสานต่อ สำคัญคือต้องไม่ลืมว่าคุณได้เปรียบกว่าคนอื่นเยอะมาก คุณมีรากฐานที่ดี ธุรกิจก็ไปได้ สิ่งที่ท้าทายคือ การสร้างให้ธุรกิจนี้ยิ่งใหญ่และมั่นคงมากกว่าที่ยายกับแม่เคยสร้างมา” วัธทิ้งท้าย

ทายาทรุ่นสาม SC GRAND โรงงานปั่นด้ายที่รีไซเคิลจากเศษของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอมา 55 ปี

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล