“เป็นชาวบ้านธรรมดาครับ” นี่คือคำตอบแรกของพ่อสวาท เมื่อเราถามว่าเขาเป็นใคร

แต่หากลองเสิร์ชชื่อ สวาท อุปฮาด บนอินเทอร์เน็ตเพียงแค่ไม่กี่วินาที ก็คงทราบแล้วว่าเกษตรกรจากขอนแก่นผู้นี้ ‘ทำหลายอย่าง’ และแต่ละอย่างก็ไม่ธรรมดาทั้งนั้น

สวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง ขอความมั่นคงทางอาหารจงเกิดแก่อีสาน

ชีวิตพ่อสวาทคือการทำงานเพื่อสังคม เขาขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิของพี่น้องประชาชนหลายประเด็น ทั้งเรื่องปัญหาความยากจน การพัฒนาชุมชน หรือเรื่องการเรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ. เหล้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ซึ่งก็สำเร็จและมีการออก พ.ร.บ. จดแจ้งเหล้าพื้นบ้านใน พ.ศ. 2547

คอลัมน์ Little Big People คราวนี้ เราจะมาคุยกับพ่อสวาทในประเด็น ‘ภูมิปัญญาชาวบ้าน’ จากหลากหลายพื้นที่ของแดนอีสาน ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง แต่ยังนำไปสู่การแก้ปัญหาปากท้อง สร้างความมั่นคงทางอาหาร และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านให้ดีขึ้นด้วย

สวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง ขอความมั่นคงทางอาหารจงเกิดแก่อีสาน

พ่อสวาทจะเล่าถึงการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายพี่น้องเกษตรกรอินทรีย์ ที่เชื่อมโยงกับผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งลูกหลานอีสานที่สนใจ ชาวบ้าน-กลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ และเชฟไทย-เทศ ในการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ที่สำคัญคือแลกเปลี่ยนมิตรไมตรี ส่งเสริมกันและกันไปในทางที่ดี และเต็มไปด้วยรอยยิ้ม

คนจนคือพี่น้อง

“ผมเกิดที่อำเภอสีชมพูครับ เป็นพื้นที่บนเขาบนภู แต่ว่าช่วงหลังมาอยู่ที่อำเภอน้ำพอง ตำบลมะขาม จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มของลำน้ำพอง” ชายวัยกลางคนท่าทางพูดเก่ง ร่ายประวัติถิ่นที่อยู่ของตัวเอง เขาเป็นคนอีสานขนานแท้

ครอบครัวของพ่อสวาทเป็นเกษตรกรมาแต่ไหนแต่ไร พ่อสวาทก็เลยยึดอาชีพของครอบครัวไปโดยอัตโนมัติ เขาทำนาทำไร่เช่นเดียวกับบรรพบุรุษ หากแต่เปลี่ยนวิธีคิดและการลงมือทำ จากเดิมที่ใช้เคมีทำการเกษตร ก็เปลี่ยนกระบวนการผลิตให้ธรรมชาติขึ้น จากเดิมที่เป็นเกษตรกรทั่วไป ทำงานเพาะปลูกตามระบบ ก็คิดหาหนทางมากยิ่งขึ้น ว่าจะทำยังไงให้พี่น้องเกษตรกรมีกินมีใช้ สมกับงานหนักที่ทำ

สวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง ขอความมั่นคงทางอาหารจงเกิดแก่อีสาน

“ชาวบ้านดั้งเดิมทำมาหากินตามวิถีวัฒนธรรม โดยพึ่งพาทรัพยากรในท้องถิ่นมาโดยตลอด” เมื่อเราถามเรื่องความยากจนของชาวบ้าน พ่อสวาทก็เข้าเรื่องที่มาที่ไปของความอัตคัด

“ส่วนใหญ่เมื่อก่อนก็ไม่ได้เดือดร้อนนะ แต่ตอนหลัง หลาย ๆ นโยบายทำให้เกิดการแย่งชิงฐานทรัพยากร อย่างดิน น้ำ ป่า ระบบการผลิตที่เคยทำแบบพออยู่พอกิน ก็กลับกลายเป็นการทำเพื่อการค้า ยิ่งทำเพื่อการค้าก็ทำให้รายได้ผลผลิตลดลง แล้วก็กำหนดราคาไม่ได้ สุดท้ายพี่น้องก็กลับมาอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้ พอเป็นหนี้ ถ้าจะยืนโดยลำพังแล้วก็หาอยู่หากินตามวิถีดั้งเดิมไม่ได้ ก็ลำบากมากขึ้น”

เมื่อพึ่งพาฐานทรัพยากรไม่ได้ ราคาผลผลิตก็ต่ำจนไม่คุ้มที่จะลงทุน เกษตรกรรุ่นใหม่-รุ่นกลางส่วนหนึ่งก็ออกจากถิ่นกำเนิดไปค้าแรงงานในระบบอุตสาหกรรม อีกส่วนหนึ่งก็ไม่มีทางเลือก จำยอมทำเกษตรทั้ง ๆ ที่รายได้ไม่เพียงพอ

ปัญญาชาวบ้าน

เนื่องด้วยประเด็น ‘สิทธิชุมชนในการฟื้นฟูอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชาวบ้าน’ เป็นสิ่งที่พ่อสวาทขับเคลื่อนมาโดยตลอด เราคิดว่าเป็นโอกาสดีถ้าได้ชวนปราชญ์อีสานผู้นี้จับเข่าคุยถึงมุมมองที่มีต่อคำว่า ‘ภูมิปัญญาบ้าน’ รวมไปถึงความเชื่อมโยงระหว่างภูมิปัญญา การทำการเกษตร และปากท้องของชาวบ้านที่ได้คุยกันไปในตอนแรก

“สังคมสมัยใหม่พึ่งพาระบบอุตสาหกรรมเป็นหลัก สิ่งหนึ่งที่หายไปเป็นเรื่องการถ่ายทอดภูมิปัญญาองค์ความรู้ของชุมชน” พ่อสวาทให้ความเห็น สำหรับภาคอีสาน ก็มีภูมิปัญญาหลายด้าน และเต็มไปด้วยองค์ความรู้ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นถิ่น

สวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง ขอความมั่นคงทางอาหารจงเกิดแก่อีสาน

“ยกตัวอย่างเรื่องอาหารการกิน มีอาหารลาว อาหารภูไท อาหารชนเผ่า เยอะแยะไปหมด ซึ่งองค์ประกอบและรสชาติก็เป็นเรื่องของแต่ละท้องถิ่น” พ่อสวาทแจกแจงให้ฟัง เราซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่เคยนึกไปถึงเรื่องความหลากหลายของอาหารอีสาน เมื่อได้ยินดังนี้ก็สนใจอยากลองชิมเมนูแปลกใหม่ขึ้นมาทันที

“แต่ช่วงหลังมานี้ มีตลาดอาหารใหม่ซึ่งเป็นตลาดสำเร็จ ทำให้ผู้คนทั่วไปหรือแม้แต่คนอีสานเอง บริโภคอาหารใกล้เคียงกันมากขึ้น ไม่รู้วิถีดั้งเดิม ไม่รู้ว่าอาหารดั้งเดิมหายไป องค์ความรู้พวกนี้ส่วนหนึ่งก็หายไปด้วย” 

พ่อสวาทว่าภูมิปัญญาต่าง ๆ ของชาวบ้านมีประโยชน์หลายประการ ควรจะสืบสาน ถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ซึ่ง ‘เหล้าพื้นบ้าน’ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่เขาสนใจและขับเคลื่อนมายาวนาน

สวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง ขอความมั่นคงทางอาหารจงเกิดแก่อีสาน

เหล้ายาปลาปิ้ง

“ปกติเหล้าก็กินกันได้ทั้งวันล่ะฮะ” พ่อสวาทเปรยด้วยอารมณ์ดี

คนอีสานดื่มเหล้าทั้งในชีวิตประจำวัน ทั้งดื่มตามประเพณี อย่างในงานบุญบั้งไฟ หรือเทศกาลบุญเดือน 6 ที่ชาวบ้านจะแห่เหล้ามากองรวมกัน เพื่อดื่มร่วมกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล

“ผมมีโอกาสวิจัยเรื่องเหล้าพื้นบ้านในช่วงปี 46 – 47 ศึกษาไปเพียงเสี้ยวเดียวของอีสาน แต่ได้สูตรลูกแป้งมา 80 สูตร” เนื่องด้วยอีสานมีความหลากหลายเรื่องทรัพยากรสมุนไพรตามท้องถิ่น สูตร ‘ลูกแป้ง’ หรือกล้าเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ทำเหล้าก็หลากหลายตามไปด้วย โดยแต่ละพื้นที่ก็พยายามใช้สมุนไพรให้ได้มากที่สุด ด้วยความเชื่อว่าสมุนไพรมีประโยชน์ต่อสุขภาพและร่างกาย เหล้าที่ออกมาจะมีรสชาติและสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป ต่อมา 80 สูตรลูกแป้งนี้ พ่อสวาทได้นำไปรวมรวมไว้ในเล่มวิจัยหนากว่า 200 หน้า แล้วแจกจ่ายให้ผู้ที่สนใจเหล้าพื้นบ้านเหมือนกันได้ใช้ประโยชน์

สวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง ขอความมั่นคงทางอาหารจงเกิดแก่อีสาน
สวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง ขอความมั่นคงทางอาหารจงเกิดแก่อีสาน

“แค่ทำความเข้าใจอย่างจริงจังกับเรื่องเหล้าเรื่องเดียว ก็ฟื้นสังคม ฟื้นแผ่นดิน ฟื้นโรคได้แล้ว” ปราชญ์ชาวบ้านยืนยัน ว่าหากได้ศึกษาเกี่ยวกับเหล้า จะรู้ว่าสมุนไพรชนิดไหนใช้รักษาอะไร หากนำมาทำเหล้าแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร

“แล้วพอคนที่อยู่ในพื้นถิ่นนั้นเห็นแล้วว่าตรงนั้นก็เป็นยา ตรงนี้ก็เป็นยา ก็จะเก็บรักษาไม่ให้สูญพันธุ์ เป็นการรักษาสมดุลธรรมชาติผ่านการทำเหล้า

“เราอยากผลักดันเรื่องนี้ให้คนอีสานรุ่นหลังได้เรียนรู้ สมุนไพรบางตัวเปราะบางมาก แค่ถูกถ่ายโอนย้ายข้ามถิ่นข้ามพื้นที่ก็อยู่ไม่ได้แล้ว สมุนไพรต้องอยู่ในที่ของเขาจริง ๆ”

ถัดจากเรื่องรื้อฟื้นองค์ความรู้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่ได้กล่าวไป เขาก็ชี้เราให้เห็นเหล้าในมิติเศรษฐกิจ

“เราหนีจากเรื่องพวกนี้ไม่ได้หรอก แทบทุกหลังคาเรือนบริโภคเหล้า มันเป็นวิถีและวัฒนธรรมหนึ่งที่อยู่คู่กับสังคมมาช้านาน แต่เหล้าที่บริโภคนี้มาจากไหนล่ะ ใครเป็นเจ้าของ” พ่อสวาทตั้งคำถามสำคัญ

“รายได้จากเหล้าในไทยไม่ได้เป็นหมื่นล้านนะครับ เป็นแสนล้าน เป็นล้านล้าน เพียงแต่ว่าคนที่ได้ประโยชน์จริง ๆ ไม่ใช่ชาวบ้าน ไม่ใช่สังคมไทย” พ่อสวาทให้ความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรที่เอามาหมักดองทำเหล้าได้หลากหลาย ถ้าผลักดันในอนาคต เหล้าของชาวบ้านจะพัฒนาเป็นสินค้าระดับพื้นถิ่นได้ มากไปกว่านั้น เป็นสินค้าระดับโลกได้ จะเกิดการกระจายรายได้ให้คนในสังคมอย่างมหาศาล

สวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง ขอความมั่นคงทางอาหารจงเกิดแก่อีสาน

แล้วพ่อสวาทก็ยกตัวอย่างถึงปลาร้า

“ปลาร้านี่ภูมิปัญญานะครับ ผมคิดว่าทุกภูมิภาคมีปลาร้า เพียงแต่เรียกคนละอย่างกัน ทางเหนือก็จะเรียกว่า ปลาฮ้า ทางใต้เรียก บูดู ทางอีสานก็ปลาแจ่ว ปลาร้า ซึ่งแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด”

ปลาร้าเป็นของอร่อย ทำอาหารได้หลากหลาย หรือจะกินสดก็ย่อมได้ พ่อสวาทเชื่อว่าคนในประเทศไทย ไม่ว่าจะภาคไหน เกิน 60 เปอร์เซ็นต์กินปลาร้าเป็น

“ฝรั่งมังค่าก็บริโภคครับ มาบ้านผมเนี่ย ฝรั่งอยากกินปลาร้าอีสานบ่อย ๆ ผมก็ทำให้กิน ผมเลยคิดว่าเราทำให้มันเป็นสินค้าระดับประเทศ มีมาตรฐานที่ดี ส่งออกนอกได้”

สวาท อุปฮาด ปราชญ์ชาวบ้านผู้ขับเคลื่อนเรื่องปากท้อง ขอความมั่นคงทางอาหารจงเกิดแก่อีสาน

แต่ปัญหาก็เช่นเดียวกับเหล้าพื้นบ้าน ช่วงที่ผ่านมา คนที่มีอำนาจจัดการผลประโยชน์ได้ออกนโยบายควบคุมปลาร้า โดยที่พี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของปลาร้า ไม่มีส่วนในการคิดหรือการจัดการ ซึ่งตรงนี้พ่อสวาทมองว่าเป็นการตัดแขนตัดขาวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้าน

“สิ่งสำคัญนะครับ ปลาร้าไม่ได้ทำได้ทุกที่ ต้องเป็นแหล่งที่มีปลาในลุ่มน้ำ เราควรให้พี่น้องในพื้นที่ที่เขามีฐานทรัพยากร มีความรู้ มีภูมิปัญญา ได้โอกาสในการผลิตมากกว่า” ไม่ต่างจากกรณีของเหล้าพื้นบ้านมากนัก หากมีการส่งเสริมการผลิตปลาร้าจากท้องถิ่นให้ดี ก็จะมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง คนที่อยู่ในพื้นที่ก็จะได้ใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า ทั้งยังถ่ายทอดภูมิปัญญาให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปอย่างภูมิใจด้วย

การรวมตัวของนักลงมือทำ

สำหรับปัญหาอุตสาหกรรมเข้ามายึดครองตลาดอาหาร ซึ่งส่งผลต่อฐานทรัพยากรและภูมิปัญญา นอกจากเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านอย่างที่ได้เล่าไปตอนแรก พ่อสวาทก็เริ่มต้นเคลื่อนไหวด้วยการรวมตัวเป็นเครือข่ายเล็ก ๆ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ทั้งช่วยเรื่องระบบการผลิต ส่งต่อ และถ่ายทอดองค์ความรู้

ในส่วนระบบการผลิต เครือข่ายได้ช่วยเกษตรกรปรับจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชผสมผสาน ช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตให้เป็นอินทรีย์ และส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่น

“ถ้าใช้พื้นถิ่นที่มีทรัพยากรเป็นฐานการผลิต ไม่ต้องไปใช้ปัจจัยหรือทุนในการที่จะให้มันเจริญเติบโตมากมาย เราแค่ต้องแลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันให้คนบนเขาได้บริโภคพืชผักของข้างล่าง คนข้างล่างได้บริโภคพืชผักของคนบนเขา ต้องสร้างกลไกในการจัดการให้ระบบการบริโภคถึงกัน”

คุยกับเกษตรกรแดนอีสาน ถึงการรวมกลุ่มจัดการเกษตรท้องถิ่นและภูมิปัญญาด้านการกิน ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

พ่อสวาทบอกว่า ปัจจุบันคนไทยเจ็บป่วยมากมายจากการกินอาหารปนเปื้อนที่มาจากระบบอุตสาหกรรม เกษตรกรอย่างเขาจึงอยากให้ผู้คนบริโภคอาหารดี ทำจากวัตถุดิบที่ปลูกในพื้นที่ ไม่มีพิษภัย และไม่ได้ผ่านการผลิตที่ก่อมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม

ในขั้นตอนการส่งต่อ ก็มีการเพิ่มพื้นที่ตลาดให้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั้งในเมืองและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งโครงการหนึ่งชื่อ ‘ตลาดเขียว’ หรือ Green Market ก็เป็นตลาดผลผลิตอินทรีย์ที่พ่อสวาท ลูกสาว และเพื่อนเกษตรกรกำลังช่วยกันปั้นอย่างตั้งใจ

“ส่วนเรื่องภูมิปัญญา เราก็จะสอนกันครับ เราสอนกันทุกเรื่อง” พ่อสวาทบอก 

“เรื่องการจัดการอาหาร การถนอมอาหาร ก็เป็นเรื่องสำคัญ พอคนส่วนหนึ่งไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจของเมืองแล้วกลับมาบ้านเกิด ผักดองก็ทำไม่เป็น ปลาร้าก็ทำไม่เป็น แม้บ้านจะมีทรัพยากรมากมาย แต่เก็บรักษาไม่ได้ ก็ทำให้คุณค่าหรือการใช้ประโยชน์ไม่คุ้มกับสิ่งที่มี” ตรงนี้พ่อสวาทมองว่า หากสอนให้ผู้คนรู้จักวิธีการจัดการอาหาร ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมากมาย

“ไม่ใช่ว่าเรามีความรู้ทุกเรื่องนะ เราเปิดเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน ให้ครูหรือคนที่มีความชำนาญในเรื่องนั้นมาสอน ทางภูไทก็มีการสอนจัดการอาหารแบบภูไท มีคนที่ชำนาญเรื่องปลา ทำปลาได้ทุกประเภท อย่างพวกที่ทำเนื้อก็ทำเนื้อได้ทุกรูปแบบ คนที่ทำเรื่องของผัก เขาก็ทำได้สารพัดผัก”

ไม่ทันไร พื้นที่แลกเปลี่ยนนี้ก็กลายเป็นแหล่งรวมตัวกันอย่างคึกคักของผู้คนหลากหลายที่มาที่สนใจด้านอาหาร รวมถึงเหล่าเชฟทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เริ่มตามกันมาจากสารคดีอาหารหลายตัวที่พ่อสวาทเข้าไปมีส่วนร่วม

คุยกับเกษตรกรแดนอีสาน ถึงการรวมกลุ่มจัดการเกษตรท้องถิ่นและภูมิปัญญาด้านการกิน ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

“เราเริ่มจากการเสนอเป็นวัตถุดิบอินทรีย์หรือวัตถุดิบจากธรรมชาติให้กับเชฟ เรารู้ว่าแต่ละที่แต่ละถิ่นเขามีทรัพยากรมีวัตถุดิบอะไรบ้าง” พ่อสวาทเป็นนักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เรื่องของสิทธิป่าไม้ เรื่องที่ดิน มายาวนาน 30 – 40 ปี ทำให้มีเพื่อนพี่น้องอยู่แทบทุกลุ่มน้ำ ทุกภูเขาในอีสาน และมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรและวัฒนธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ มากมาย

“ทรัพยากรหรือวัตถุดิบหลายตัว เชฟจะต้องทดสอบ ทดลองร่วมกับพวกเราในพื้นที่ ก่อนนำไปใช้ในงานของเขา นำไปดัดแปลงเป็นอาหารที่สร้างสรรค์” ตัวกลางอย่างพ่อสวาทเล่ากระบวนการ ซึ่งข้อสำคัญคือวัตถุดิบจะต้องมาจากการผลิตที่ไม่ทำร้ายทรัพยากร และไม่สร้างมลภาวะให้กับแผ่นดิน

นอกจากนี้ วัตถุดิบมาจากตามฤดูกาล ไม่ได้จัดการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ แต่เป็นการจัดการให้เหมาะสมกับช่วงเวลาตามธรรมชาติ ซึ่งทางเครือข่ายของพ่อสวาทก็จะแจ้งว่าตอนนี้มีวัตถุดิบอะไรที่พร้อมส่งต่อ หรือถ้ารู้ล่วงหน้า ทางเชฟก็กำหนดได้ว่าตอนไหนจะออเดอร์อะไรบ้าง

คุยกับเกษตรกรแดนอีสาน ถึงการรวมกลุ่มจัดการเกษตรท้องถิ่นและภูมิปัญญาด้านการกิน ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

“เราแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันกับเชฟ เดือนเว้นเดือน เว้น 2 เดือน หรืออาจจะเดือนละ 2 – 3 ครั้ง” เล่ามาถึงตรงนี้ เราเริ่มเห็นภาพคอมมูนิตี้บรรยากาศสนุกสนานที่ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้นอย่างชัดเจน “เขาก็จะถามว่าอาหารที่ปรุงแบบนี้ รสชาติแบบนี้ เป็นของที่ไหน ชนเผ่าไหน เราก็จะบอกได้และพาเขาไป ซึ่งจะนำไปสู่การดัดแปลงอาหาร เขาจะไปออกแบบเองเมื่อได้ชิมรสชาติ และเห็นวิธีการทำแบบพื้นถิ่น”

เชฟต่างชาติเขารู้จักอาหารอีสานลึก ๆ แบบนี้ด้วยเหรอ-เราแปลกใจ

“รู้ครับ บางคนเก่งมากเลยนะ” ปราชญ์ชาวบ้านเอ่ยชมอย่างจริงใจ “เขาสนใจแล้วจะศึกษาเรียนรู้โดยตรง บางคนก็เก่งอาหารอีสาน บางคนก็เก่งอาหารของเขมร บางคนก็เก่งอาหารของภูไท” 

การพูดคุยแลกเปลี่ยนแบบนี้มีประโยชน์กับทุกฝ่าย ด้านพ่อสวาทเองก็ได้ความรู้ใหม่ ๆ จากเหล่าเชฟหลายอย่างเหมือนกัน อย่างเรื่องการหมักเนื้อด้วยยีสต์ที่พ่อสวาทไม่เคยรู้ ก็ได้รู้และทดลองนำมาปรับใช้กับการทำอาหารของตัวเองในคราวนี้

ความมั่นคงทางอาหาร

“ยังมีคนเข้าใจอาหารอีสานผิดอยู่” พ่อสวาทเอ่ย 

“เขาบอกว่าไม่สะอาด เป็นพิษ บางทีก็ว่าไม่มีโรงงาน ไม่มีมาตรฐาน ก็มีข้อกล่าวอ้างมาโดยตลอด แล้วข้อกล่าวอ้างนี้ ก็ไม่มีหลักฐานอะไรยืนยันมากมายว่าไม่สะอาดยังไง ไม่มีมาตรฐานยังไง เป็นเพียงแต่การพูดขึ้นมาเรื่อย ๆ” พ่อสวาทว่าอย่างเหล้าพื้นบ้านนั้นก็มีที่มา อธิบายได้ทั้งหมดว่าเป็นสูตรสมุนไพรอะไร ผลไม้ชนิดไหน หมักอยู่ที่ไหน อย่างไร และตรวจสอบได้ ในขณะที่ของอุตสาหกรรม ไม่มีใครทราบว่าระบบการผลิตเป็นยังไง ใช้อะไรบ้าง

“ผมคิดว่าปัญหาโรคระบาดทำให้ในช่วง 2 ปีนี้ มีคนหลายคน เมืองหลายเมือง เข้าไม่ถึงอาหาร มีปัญหาเรื่องการจัดการอาหาร ในอนาคตถ้ามีภัยพิบัติหรือโรคระบาดรุนแรงขึ้นอีก เราจะลำบาก ควรมีนโยบายให้พื้นที่ต่าง ๆ มีฐานการผลิตอาหารของตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในชนบทหรือในเมือง”

สิ่งที่พ่อสวาททำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแสดงความคิดเห็น หรือการรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายเกษตรกร กลุ่มผู้มีความสนใจในความเจ๋งของภูมิปัญญาชาวบ้าน กลุ่มเชฟที่สนใจวัฒนธรรมการกินจากหลากหลายพื้นที่ หรือรวมกลุ่มจัดตั้งตลาดเขียว ปลายทางที่พ่อสวาทอยากเห็นก็คือ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’

แม้ว่าการรวมกลุ่มที่ว่านี้จะยังไปไม่ถึงวงกว้างของสังคม แต่ผู้คนในเครือข่ายเล็ก ๆ นี้ก็กำลังสร้างโมเดลหนึ่งที่อาจเป็นทางเลือกใหม่ ๆ หรือเป็นแรงบันดาลใจที่มีพลังให้กับใคร ๆ อีกมากมาย

คุยกับเกษตรกรแดนอีสาน ถึงการรวมกลุ่มจัดการเกษตรท้องถิ่นและภูมิปัญญาด้านการกิน ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

นักเรียนวารสารศาสตร์จากมอน้ำชี ที่เชื่อว่าชีวิตต้องผ่านน้ำ เบื่อการเรียนออนไลน์ อยากเรียนจบแล้ว รักใครรักจริง