พ.ศ. 2533 สวัสดิ์ อัศดารณ เป็นบัณฑิตเต็มตัวจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เขาทำงานแรกในชีวิตที่ IBM ประเทศไทย ในตำแหน่ง Financial Analyst ซึ่งก็ไม่หนีห่างจากสาขาบัญชีที่เรียนจบมา

แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นของทางอาชีพในองค์กรแห่งนี้ เพราะหลังจากนั้น สวัสดิ์ หรือ พี่โอ๋ ที่ชาวไอบีเอ็มเรียกกัน ได้ลองทำงานตำแหน่งใหม่ ๆ ทั้งที่คุ้นเคยดีอยู่แล้ว จนถึงหน้าที่ที่ไม่เคยทำมาก่อน

เขาเป็นคนชอบเรียนรู้ และพร้อม ‘ลุย’ เสมอ ทำให้ผู้บริหารเห็นข้อดีในตัวจนมอบโอกาสดี ๆ ให้มากมาย และเขาไม่เคยปฏิเสธ

จากที่ปรึกษาการเงิน เขาได้เป็นฝ่ายขาย จากฝ่ายขายมาดูแลมาร์เกตติ้ง จากมาร์เกตติ้งย้ายมาเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ ผ่านการทำงานกับผู้บริหารเก่ง ๆ หลายท่าน โดยสิ่งที่เขาให้ความสำคัญที่สุดในการบริหารธุรกิจคือ คน

คนในที่นี้เป็นทั้งลูกค้า คู่ค้า เพื่อนร่วมงาน และพนักงาน

พ.ศ. 2565 เขารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ IBM ประเทศไทย ด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะบริหารงานแบบธุรกิจยั่งยืน ทั้งสำหรับองค์กรและลูกค้า เดินหน้าให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลง พร้อมพัฒนาและรักษาคนไว้ให้มากที่สุด

ผู้บริหารอารมณ์ดีคนนี้เรียกตัวเองว่า ‘พี่’ พร้อมย้ำเรื่อง ‘คน’ ตลอดบทสนทนา และพยายามสุดความสามารถในการอธิบายเรื่องยากให้เราเข้าใจได้ง่ายโดยทันที

การดูแลคนอย่างยั่งยืนตามแบบฉบับของ สวัสดิ์ อัศดารณ Managing Director คนใหม่ของ IBM

คุณทำงานมาเกือบทุกแผนกใน IBM สิ่งนี้เป็นข้อได้เปรียบในการรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (Managing Director) มากน้อยแค่ไหน

ตอนเข้ามาทำงาน ในช่วงสิบกว่าปีแรกของชีวิตการทำงาน เราโชคดีที่ได้ พี่แต๋ม-ศุภจี สุธรรมพันธุ์ เป็นเมนเทอร์เพราะอยู่แผนกเดียวกันในเวลานั้น และท่านก็เป็นคนช่วยดู Career Path ให้ต่อจากนั้นมา แม้จะไม่ได้เรียนแต่ละด้านมาโดยตรง แต่ได้ลองทำงานหลาย ๆ อย่าง มันทำให้เราเห็นองค์กรในทุก ๆ จุด เข้าใจคนในทุก ๆ จุด โดยเฉพาะเรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญ

พอเคยเข้าไปทำงานในหลาย ๆ ส่วน ก็ทำให้เข้าใจ KPI (Key Performance Indicator) ของคนในแผนกนั้น ๆ เพราะบางครั้งความขัดแย้งในองค์กรเกิดจากการที่ KPI ของแต่ละหน่วยไม่สอดคล้องกัน เมื่อเราเข้าใจแบบนี้ก็ช่วยสร้างกลไกให้การทำงานเดินต่อไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น การอยู่กับ IBM มายาวนานจึงเป็นจุดแข็งหนึ่งของเรา

แต่ถามว่ามีความท้าทายไหม มี

ความท้าทายของเราคือยังไม่เคยออกไปข้างนอก ซึ่งเราใช้ประสบการณ์การทำงานกับลูกค้าหลายอุตสาหกรรมมาเสริม มันอาจจะเป็นความท้าทาย แต่ไม่ใช่ปัญหา ขึ้นอยู่กับ Mindset ของเราเอง

หลายคนเลือกเติบโตไปในสายงานเดิม คุณสมบัติอะไรในตัวคุณที่ทำให้ผู้บริหารเสนอให้ลองทำงานด้านใหม่ ๆ ตลอด

เราจบสาขาบัญชี แม้คาแรกเตอร์จะไม่ใช่นักบัญชีเท่าไหร่ ตอนเรียนศิลป์-คำนวณ เพื่อนก็แซวว่าน่าจะเป็นศิลป์-บันเทิง เราเป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ชอบทำกิจกรรม แล้วก็ไม่รู้ว่าท่าไหนถึงได้ไปอยู่ใน IBM Club ซึ่งทำให้รู้จักคนมากมายในองค์กร

ขณะเดียวกัน ถ้ามองย้อนกลับไป หลาย ๆ เหตุการณ์ก็ช่วยเราเรื่องความเป็นผู้นำ อย่างตอนทำ Pricing ทำได้ 2 – 3 ปี ลดราคาเยอะไปหน่อย ผู้บริหารเลยบอกว่าย้ายเถอะ เดี๋ยวบริษัทขาดทุน พูดเล่นนะ (หัวเราะ) 

ที่จะบอกคือ การลดราคาให้ลูกค้ากว่าจะทำได้มันยากมาก แต่หลายสถานการณ์ เราก็คุยกับโกลบอลถึงเหตุผลที่จำเป็นต้องตั้งราคาแบบนี้ได้ ใช้ Networking ที่มีมาช่วยทำงาน ซึ่งค่อนข้างห่างไกลจากสิ่งที่ตัวเองเรียนมา
เราได้ความรู้พื้นฐานของธุรกิจจากการเรียนบัญชี สามารถวิเคราะห์ แยะแยะ ซึ่งช่วยการตัดสินใจมาก ๆ แต่ข้อเสียเปรียบของเราคือเรื่องเทคนิค ตอนทำตำแหน่งเซลส์กดดันสุด ๆ แต่ก่อนจะมีห้องสมุด IBM อยู่ชั้น 13 เวลาเรากลับจากพบลูกค้าก็มาค้นคว้าต่อที่ห้องสมุดนี้ คำนี้แปลว่าอะไร บางเรื่องอ่านให้ตาย หลับคาหนังสือเท่าไหร่ก็ยังไม่เข้าใจ ก็ได้เครือข่ายคนรู้จักจาก IBM Club ช่วยไว้ คนนั้นอยู่ฝ่ายโน้น คนโน้นอยู่ฝ่ายนี้ เขาก็ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจในเวลาสั้น ๆ 

ถามว่าคุณสมบัติอะไรทำให้เราเป็นคนทำงานแบบนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่เราสามารถเรียนรู้ได้ในทุกที่ จังหวะของการเรียนรู้มันเร็วทวีคูณขึ้นทุกวัน เราต้องเปิดใจ มีทัศนคติเชื่อในความเป็นไปได้

มันคือการถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อเดินต่ออีกสิบก้าว

ว่ากันว่าเมนเทอร์คนแรกมักเป็นคนสำคัญในการหล่อหลอมคนคนหนึ่ง บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากคุณศุภจีคืออะไร

พี่แต๋มเป็นทั้งครูและพี่ สมัยนั้นชอบแซวว่าแกชื่อ ซูเปอร์ จี เพราะเป็นผู้หญิงที่ทำได้ทุกอย่าง รวดเร็ว และเก่งมาก ๆ 3 เดือนแรกที่เราเข้ามาทำงาน ยังคิดอยู่เลยว่าจะไหวไหม (หัวเราะ)

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับแกคือ การเอาใจใส่เรื่องคน เราดูจากตัวเองเป็นหลัก ตอนเปลี่ยนตำแหน่งไปทำงานด้านอื่น ๆ ก็ได้พี่แต๋มที่ให้โอกาส พออิ่มตัวอยากเปลี่ยน Role แกก็สนับสนุน ครั้งหนึ่งให้ย้ายไปแทนตำแหน่งแกเลย คือดูแลงาน Global Financing 

นั่นคือสิ่งที่พี่แต๋มทำมาตลอด แกขยัน ทำงานหนักสุด ๆ เป็นคนเก่ง ฉลาด ที่สำคัญคือดีกับคนอื่นมาก ๆ ไม่รู้เล่าไปแกจะว่าอะไรเปล่านะ คงไม่หรอกเนอะ (ยิ้ม)

IBM ในสมัยของคุณจะเป็นแบบไหน

องค์กรเรามี Core Value และวัฒนธรรมของตัวเองอยู่แล้ว เรื่องแรกคือ Dedicated for Client Success สอง Innovation และสามคือ Integrity เรายึดสิ่งเหล่านี้ในทุก ๆ ตารางเมตร ทุก ๆ การคิด ทุก ๆ การทำงาน 

สิ่งที่เราจะทำคือตอกย้ำคุณค่าเหล่านี้ 

หนึ่ง สื่อสารภายในให้คนในองค์กรเข้าใจ 3 คุณค่าหลัก ยุคนี้เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง แกนคุณค่าหลักของเราไม่ได้เปลี่ยนก็จริง แต่บริบทมันเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น เราอยากจะ Dedicated for Client Success ในอดีตเราอาจจะขายเซิร์ฟเวอร์เพื่อพัฒนาระบบลูกค้าให้ดีขึ้น แต่วันนี้ไม่ใช่แบบนั้น เราต้องดูตั้งแต่ Business Model ต้องมีพาร์ตเนอร์ใหม่ Journey ของธุรกิจเขาก็เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ธนาคารทุกวันนี้ เมื่อก่อนลูกค้าต้องไปสาขาเพื่อเปิดบัญชี ตอนนี้ก่อนจะเดินไป อาจจะมีอีก 2 สเต็ปที่ทำกับบริษัทอสังหาฯ หรือการแพทย์เพิ่มเข้ามา กลายเป็น Ecosystem ใหม่

หรืออย่าง Integrity เราต้องสร้างความไว้ใจในองค์กร ระหว่างพาร์ตเนอร์ นักลงทุน หรือแม้กระทั่งธุรกิจอื่น ๆ ยุคนี้ไม่มีแล้วที่จะเป็นคู่แข่งกันไปตลอดชีวิต ในบางมุมเราเป็นหุ้นส่วน ยิ่งเป็นยุคโซเชียลมีเดียยิ่งซับซ้อน พนักงาน IBM ต้องเข้าใจเรื่อง BCG (Business Conduct Guidelines) ยุคก่อนเอกสารเป็นเปเปอร์เก็บใส่ตู้ล็อกไว้ก็ปลอดภัยแล้ว ไม่เหมือนยุคนี้ที่เอกสารอยู่ในระบบ หลุดรอดออกไปจะเกิดความเสียหายต่อองค์กรแน่นอน

มาสู่เรื่องที่ 2 คือพาร์ตเนอร์และลูกค้า เราตั้งใจจะขยายตลาดออกไป IBM Consulting ถึงมีบทบาทสำคัญมาก การเปลี่ยนระบบเป็นดิจิทัลไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้อย่างเดียว ยกตัวอย่างแบบนี้ สมมติคุณเอา AI มาใช้ แต่ไม่มีการปรับขั้นตอนที่ต้องเซ็นอนุมัติ 5 คน ก็ไม่มีประโยชน์หรอก ซึ่งสิ่งนี้เราจะ Challenge กันในองค์กร สมมติทีมบอกว่าเราต้องทำสิ่งนี้เพราะเขาว่ามา เราก็จะถามกลับว่า เขาว่ามาคือใครว่ามา อีกเรื่องที่คลาสสิกมากคือ เซ็นดิจิทัลเลยได้ไหม ก็เป็นเรื่องที่เขาว่ากันมาเหมือนกัน เราจึงมีทีม IBM Consulting เข้ามาช่วย นอกจากนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้ง AI Platform หรือ Hybrid Cloud เรามีหมด แต่ลูกค้าจะนำไปใช้ยังไงให้ประสบความสำเร็จสูงสุด เราต้องคิดเผื่อเขา

สุดท้าย คือ Talent ในตลาด IBM จึงมีโปรแกรมมากมายที่ช่วยเสริมเรื่องการเรียนรู้ เรามีไปพาร์ตเนอร์กับมหาวิทยาลัย เข้าไปอยู่ในหลักสูตรของเขา ทุกคนที่เรียนต้องทำข้อสอบจริงถึงจะได้รับใบประกาศ ก็ช่วยเพิ่มทักษะของ Talent ในตลาด มี Use Case ให้ลองปฏิบัติ 

บทบาทในตำแหน่งผู้บริหารวันนี้กับ 5 – 10 ปีที่แล้ว แตกต่างกันอย่างไร

เราว่าเหนื่อยขึ้น (ยิ้ม) ตอนนี้เราต้องลงมือมากขึ้น เพราะองค์กร Lean มากขึ้น มันมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเต็มไปหมด เร็วขึ้น พึ่งตัวเองมากขึ้น เราต้องเรียนรู้ให้เร็วเพื่อทำงานกับ Digital Native อย่างเด็กใหม่ ๆ เขาฉึบ ๆ ๆ เราลงตารางเอง จองตารางเอง ส่งเอง มันเป็นความท้าทาย ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการเรียนรู้

คาแรกเตอร์เราเป็นมนุษย์ปรับตัวเร็ว เรียนรู้เร็ว อยู่แล้วเลยไม่ค่อยมีปัญหา เต็มที่ก็ให้ลูกช่วยสอน สอนหน่อย ๆ มีครั้งหนึ่งเขาเห็นเราพยายามสแกนเอกสารยื่นภาษี เขาบอก ‘ป๊า ใช้กล้องมือถือก็ได้นะ’ โอ้โห ชีวิตหลังจากนั้นดีไปเลย (หัวเราะ) เพราะเป็นเครื่องมือรอบตัวที่เป็นประโยชน์ ถ้าเราเรียนรู้กับมัน หรือทีมสื่อสารก็มักจะบอกให้เราเล่นโซเชียล ให้ออกข่าว เราเป็นคนแบบนั้นแต่เด็ก เวลาทำรายงานจะเป็นคนทำ แล้วให้คนอื่นพรีเซนต์ 

หลายปีมานี้ แวดวงธุรกิจให้ความสำคัญกับ ‘ธุรกิจยั่งยืน’ เป็นอย่างมาก ธุรกิจยั่งยืนสำหรับ IBM คืออะไร

แบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็น หนึ่ง ธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Business) และสอง ความยั่งยืน (Sustainability)

ธุรกิจยั่งยืน คือ ทำยังไงให้ IBM ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีระบบนิเวศ มีสิทธิส่วนบุคคล มีเทคโนโลยียั่งยืน 

หลายคนบอกว่าแค่เอาเทคโนโลยีมาใช้ก็ทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้แล้ว แต่ถ้าหากไม่ได้คนที่ใช่ หรือทิศทางองค์กรที่ใช่ มาสนับสนุน ก็คงไม่สำเร็จเช่นเดียวกัน แล้วทั้งหมดต้องควบคุมด้วยความโปร่งใส ซึ่งเป็นคุณค่าหลักของ IBM

การที่ IBM ประเทศไทยอยู่มาได้ถึง 70 ปีเป็นเรื่องสำคัญ เราอาจจะไม่ได้เติบโตสูงที่สุด ชนะทุกดีล วินทุกเรื่อง แต่เราปลูกฝังให้คนข้างในมีจรรยาบรรณ รักษาคำพูด ทำให้เกิดความยั่งยืนในการเติบโตของธุรกิจ แล้วถามต่อว่าที่ผ่านมามันไม่ยั่งยืนเหรอ เรามองว่ามันเหมือน S Curve ที่ต่อ ๆ กันต่อเนื่อง 70 ปี เราผ่านมาหลาย Curve ยุคนี้เป็นยุคใหม่ เราก็ต้องหา Curve ใหม่ ผลิตภัณฑ์บ้างตัวอาจจะไม่เหมาะกับการทำงานในยุคนี้ ก็ต้องหาตัวใหม่เข้ามา ถ้าเราคิดว่าทุกวันนี้ธุรกิจเรายั่งยืนแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีก นั่นคือจุดจบ ในขณะเดียวกัน ทุกโซลูชันที่เรานำเสนอลูกค้าก็ต้องตอบโจทย์การเป็นธุรกิจยั่งยืนของเขาได้เช่นกัน

อีกเรื่องคือความยั่งยืน Sustainability เป็นคำใหญ่ที่ตอนนี้ทุกองค์กรทุกสื่อพูดถึงหมด มันเกี่ยวเนื่องไปถึงเรื่อง ESG (Environment, Social and Governance) ซึ่ง IBM ทำเรื่องนี้มานานมาก เรามี Environmental Report มา 30 ปีแล้ว แต่อย่าเพิ่งคุยกันเรื่องนี้ เรื่องนี้คุยได้อีกรอบหนึ่งเลย (หัวเราะ)

‘ธุรกิจยั่งยืน’ สำหรับคุณต้องเป็นแบบไหน

ข้อแรก ลูกค้าประสบความสำเร็จ

ข้อสอง พนักงานต้องมีความสุข

ข้อสาม ผู้ถือหุ้นต้องพึงพอใจ

นั่นแปลว่าทุกฝ่ายแฮปปี้กับการทำธุรกิจของเรา อย่างเรื่องคน โดยเฉพาะองค์กรที่อยู่นาน ๆ มักจะเป็นแบบไฮบริด คือมีคนรุ่นเรา ขณะเดียวกันก็มีเด็กเจนใหม่เข้ามาทำงานทุกปี โจทย์คือจะทำยังไงให้ 2 กลุ่มนี้ทำงานด้วยกันได้

เจนใหม่ เราว่าง่ายกว่าเจนเก่า องค์กรเราทำงานเรื่องเทคโนโลยี เขามีทักษะอยู่แล้ว ถ้าเราวาง Career Path ให้ถูกต้อง เขาก็เติบโตได้ ในทางกลับกัน คนเจนเก่า เรื่องเทคโนโลยีอาจไม่สู้เด็กใหม่ แต่เขามีองค์ความรู้และทักษะที่ทำให้ธุรกิจดำเนินมาจนถึงวันนี้ ถ้าเลือกดี ๆ เขาจะเป็นเพชรขององค์กร สำคัญคือเราจะสร้าง Inclusive Culture สร้างสะพานให้ทั้งสองอยู่ร่วมกันได้ยังไง

คนเป็นความท้าทายใหญ่ในการบริหาร มันไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้าง แต่จะรักษายังไงให้เขาอยู่กับเรา

การดูแลรักษาคนจึงเป็นการสร้างความยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่ง

ถูกต้อง สำหรับ IBM เริ่มตั้งแต่กระบวนการของฝ่ายบุคคล ขั้นแรกเวลาเรารับคนเข้ามา เราต้องดูเลยว่าใครจะเข้ามาทำงาน ถ้าเขาเข้ามา เขาจะทำอะไร ต้องมี Career Framework คนนี้อยู่เส้นทางไหน ถ้าอยู่ในเส้นทางฝ่ายขาย ก็จะบอกเลยว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง ต้องพัฒนาตัวเองยังไง

อย่างทางขายก็แยกไปอีกว่ามีประเภทไหนบ้าง พอได้เส้นทางตำแหน่งอาชีพก็ต้องดูว่าต้องอัปสกิลล์อะไรบ้าง เราปรับปรุงให้ทันสมัยทุกปี เพื่อพัฒนาให้เขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เราจะเน้นให้โอกาสทีมทำงานเต็มที่ แสดงฝีมือเต็มที่ รับในผลลัพธ์หรือความไม่สมบูรณ์แบบในช่วงแรก ๆ สิ่งนี้จะทำให้คนโตเร็ว เก่งเร็ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องคัดเลือกคนที่ถูกต้องสำหรับงานนั้น ๆ

ต่อมาเป็นเรื่องค่าตอบแทนที่ต้องเหมาะสมกับงานที่ทำ พอเขาทำงานไปสักพัก เราก็ต้องหาวิธีรักษาเขาไว้ให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ ซึ่งมันมีหลายปัจจัยนะ เช่น จะทำยังไงให้เขาเข้าใจคุณค่าหลักขององค์กรอย่างแท้จริง ให้รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่ 

โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากคือการมีส่วนร่วมของพนักงาน ทำกิจกรรมเล็ก ๆ ให้เกิดความร่วมมือบ่อย ๆ มันเป็นอะไรที่เล็กน้อยแต่ส่งผลยิ่งใหญ่ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง

การรักษาคนให้อยู่กับองค์กรนาน ๆ ยากขึ้นไหมในยุคนี้

ยากขึ้น แต่เราทำได้ดี IBM มี Turnover Rate ค่อนข้างต่ำ แม้จะมีบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ดึงตัวไปได้ อย่างธนาคารใหญ่ ๆ หรือสตาร์ทอัพต่าง ๆ มากมายก็ตาม

สิ่งหนึ่งที่เราทำมาตลอดคือ แบบสอบถามความคิดเห็นพนักงาน

สมัยยุค 90 ทำปีละหน นั่งปิดห้องเลยเพราะเป็นความลับ ทำบนกระดาษ ฝนคำตอบเหมือนข้อสอบเลย มายุคนี้เปลี่ยนเป็นออนไลน์แล้ว และเพิ่มจากปีละหนเป็น 2 หน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็ว

ในแบบทดสอบ พนักงานต้องให้คะแนนหัวหน้า ให้คะแนนผู้จัดการ ถ้าคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ถือว่าไม่ผ่าน KPI ต่อให้ขายของเก่งแค่ไหน นั่นทำให้พนักงานเราที่อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการขึ้นไปให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานมาก เขาจะมีจัดกิจกรรม ส่งของขวัญไปเซอร์ไพรส์ที่บ้าน มันอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ได้ใจคน 

อย่างวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เราเพิ่งเรียกพนักงานใหม่เข้ามาเจอกันที่ออฟฟิศ พอได้พบปะพูดคุยกัน เราก็ถามเขาได้ว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ถ้าอยู่ที่นี่เขาจะมีโอกาสด้านไหนบ้าง ความสำเร็จสำหรับเขาคืออะไร พร้อมแสดงคุณค่าและจุดยืนขององค์ให้เขาได้เห็น

วิสัยทัศน์เรื่องธุรกิจยั่งยืนของ สวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของ IBM ประเทศไทย

ในช่วงโควิด-19 หลายธุรกิจพยายามปรับตัวเองให้เท่าทันเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อความอยู่รอด แต่นั่นไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน คำถามสำคัญที่ผู้ประกอบการควรตอบตัวเองให้ได้ก่อนนำเทคโนโลยีมาใช้คืออะไร

สมมติเขาอยากทำเรื่องดาต้า เครื่องมือสำหรับเรื่องนี้มีเต็มไปหมดในตลาด มีมากมายหลายยี่ห้อ IBM ก็มีเหมือนกัน เก่งด้วยนะ (หัวเราะ)

แต่ประเด็นสำคัญคือ คุณรู้หรือยังว่าดาต้าของคุณคืออะไร และดาต้านั้นสามารถเอาไปทำอะไรต่อได้ ที่บอกว่าอยากเข้าใจพฤติกรรมคน คุณอยากเข้าใจพฤติกรรมใคร ถ้าตอบคำถามนั้นได้ก็จะเลือกเครื่องมือที่เหมาะได้ และยังส่งผลไปถึงการเลือกคนที่เหมาะได้ด้วย 

คนรุ่นใหม่อาจไม่น่าห่วง แต่อะไรจะทำให้คนรุ่นก่อนพร้อมเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

คนที่ทำงานนานขนาดนั้นน่าจะต้องเป็นตำแหน่งผู้นำระดับหนึ่ง อาจจะเป็น Manager ไม่ก็ Senior Executive ในฐานะผู้นำก็ต้องเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยน ถ้าคุณบอกว่าฉันเคยอยู่บนเรือสำราญ แต่วันนี้เป็นเรืออะไรไม่รู้ ไม่เอา ไม่แฮปปี้ ฉันยังอยากอยู่บนเรือสำราญต่อ แบบนั้นไม่ได้แล้ว
บริษัทต้องสื่อสารให้เขารู้ว่า เรือในวันนี้เปลี่ยนไปแค่ไหน เรือเป็นแบบสะเทินน้ำสะเทินบกแล้วนะ ไม่มีเรือสำราญอีกต่อไป

แต่เมื่อไหร่ที่กรองคนมาได้แล้ว เขาจะมี Mindset พร้อมเรียนรู้ ก็ต้องรักษาเขาไว้ให้ดี แล้วหาเครื่องมือ หา Learning Platform มาช่วยเขา อย่างที่ IBM เรามีการวัดผล KPI ในด้านต่าง ๆ เช่น ธุรกิจ นวัตกรรม ความรับผิดชอบต่อผู้อื่น และสกิลล์ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าคุณขายของให้เรา ทำยอดเติบโต 120 เปอร์เซ็นต์ก็พอแล้ว มันต้องมีองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น คุณต้องเรียนอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อปี เพื่อจะได้พัฒนาตนเองอยู่เสมอ

องค์กรจึงต้องมองให้ออกว่าใครพร้อมจะเดินไปด้วยกัน อย่าเหมาเด็ดขาด แล้วหลังจากนั้นก็สนับสนุนให้เขาทำให้ได้

ในฐานะ Managing Director คนใหม่ของ IBM ประเทศไทย สิ้นปีนี้ คุณจะใช้ KPI อะไรวัดผลทำงานของตัวเอง

ข้อแรก เราจะสร้างฐานลูกค้าให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น เราจะสรรหาโซลูชันใหม่ ๆ อย่างน้อย 2 – 3 อย่างมานำเสนอให้ลูกค้า ที่ผ่านมาเราเป็นผู้บุกเบิกในหลายเรื่อง เช่น เรื่อง Blockchain เราก็คุยกับธนาคารตั้งแต่ปี 2015 ที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก จนวันนี้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การวัดผลของเรา แต่เป็นการวัดผลของทีม ทีมต้องคิดเหมือนกันด้วย

ข้อสอง เราตั้งใจจะพัฒนาและสร้างคนทั้งสำหรับองค์กร ลูกค้า และคอมมูนิตี้ ทุกวันนี้เราเข้าไปช่วยออกแบบ Journey เขาตั้งแต่การทำ Design Thinking ร่วมกัน ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ส่วน KPI นี้จะสำเร็จไหม สิ้นปีมารอลุ้นกัน (หัวเราะ)

หลักการบริหารที่คุณยึดถือไว้ตลอดคืออะไร

เราต้องเป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม มีคนมากมายเขียนหนังสือเรื่องการเป็นผู้นำที่ดี แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงการเป็นผู้ตามที่ดีเลย

เวลาเราได้รับมอบหมายงาน เราไม่เคยตั้งคำถามว่า ‘เงินเดือนจะขึ้นไหมครับ’ แต่เขาให้โอกาสเราทำ เราก็คว้าไว้ บางครั้งเขาให้ไปวิ่งในทางที่ไม่เคยเข้าไปมาก่อน ไม่เป็นไร ลุย ซึ่งเราได้อะไรจากเส้นทางใหม่ ๆ เยอะมาก เยอะกว่าการอยู่แต่ในพื้นที่เดิม ๆ 

การอยู่ในพื้นที่เก่าก็เหมือนลอยตามลม เป็นลมใต้ปีก

วันนี้เราเป็น MD ของ IBM ก็ยังหนีไม่พ้นการเป็นผู้ตาม เรามีคนที่อยู่เหนือองค์กรเรา มีระดับ Asia Pacific มีระดับโกลบอล การเป็นผู้ตามที่ดีคืออะไร ยกตัวอย่างว่า ปีนี้โกลบอลมีกลยุทธ์แบบนี้ หน้าที่ของเราคือต้องเอามาแนะนำตลาดในไทย ถ้าเราไม่ใช่ผู้ตามที่ดี เราจะต่อต้าน จะตั้งคำถามที่ไม่ต้องถาม ในทางกลับกัน ผู้ตามที่ดีจะฟัง ฟังให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ต้องถาม

Questions answered by Managing Director, IBM Thailand

1. ตำแหน่งงานที่ท้าทายที่สุดใน IBM

ทุกตำแหน่ง เพราะมันคือการเปลี่ยนสายงาน แต่ถ้าต้องเลือก ตำแหน่ง Consultant ท้าทายที่สุด เพราะเกี่ยวกับคนเยอะ เราต้องเข้าใจธุรกิจลูกค้า เพื่อที่จะหาโซลูชันให้แก้ปัญหาให้เขา

2. หนังที่ดูเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อ

เราไม่ค่อยดูหนัง แต่ชอบดูกีฬา ดูหมดตั้งแต่ NFL American Football ไปจนถึงกอล์ฟ เราชอบดูเพราะมันสอนอะไรบางอย่าง อย่างอเมริกันฟุตบอลก็สอนเรื่องการเป็นผู้นำ-ผู้ตามที่เล่าไปแล้ว

3. วิธีให้กำลังใจคนในแบบฉบับของคุณ

เราเป็นคนตรง ๆ ฟีดแบ็กตรง ๆ การให้กำลังใจสำหรับเรามันคือการยอมรับ (Recognition) เดินไปตบไหล่ ชวนไปกินข้าว แล้วชื่นชมเขาในเรื่องที่เป็นบวก

ใน IBM เรามี Appreciation Tools ที่ให้คะแนนได้ วันดีคืนดีเราก็ให้คะแนนเขา ให้กำลังใจข้ามแผนก ถ้าเราแสดงออกอย่างจริงใจ ให้ฟีดแบ็กอย่างตรงไปตรงมา เขาจะไว้ใจ ถ้าเราเอะอะชม เขาก็เอะอะรับ เวลาเราชมใครเขาจะรู้สึกดีมาก เพราะเราปากหนัก (หัวเราะ)

4. คำชมที่ภูมิใจที่สุด

เขาบอกว่าเราเป็นคนสร้างคน มันเป็นแรงผลักดันให้เราทำให้เขาเยอะขึ้นอีก ซึ่งเราก็เรียนรู้เรื่องนี้จากพี่ ๆ ของเราก่อนหน้านี้ 

5. หัวข้อที่จะไปแข่งแฟนพันธุ์แท้

ไม่น่าแท้สักอัน (หัวเราะ) เราสนใจหลายอย่างแต่อาจไม่ถึงกับเชี่ยวชาญ เป็นคนรู้รอบด้าน แต่ไม่น่าจะมีเรื่องไหนที่จะตอบคำถามถูกได้ทุกข้อ

6. แอปพลิเคชันที่ใช้บ่อยที่สุด

Line

7. สิ่งที่เรียนรู้จากการตีกอล์ฟแล้วนำมาใช้ในการทำงาน

การเห็นนิสัยคน บางคนหลุมแรกก็ทุบไม้แล้ว (หัวเราะ) บางคนประนีประนอม บางคนน่ารักมาก ๆ มันทำให้เราดูคนออก

อีกอย่างคือมันเป็นกีฬาที่ยั่งยืน เราเล่นมากว่า 20 ปีแล้ว และคิดว่ามันจะอยู่กับเราไปจน 70 จากที่เคยเดินตี ตอนนี้อาจจะมีนั่งรถบ้าง แต่เราจะยังเล่นได้เรื่อย ๆ เช่นเดียวกับการวิ่ง เราชอบวิ่งเหมือนกัน ชอบดูคนระหว่างวิ่ง อายุมากขึ้นค่อย ๆ วิ่งช้าลง มันเป็นกีฬาง่ายมาก แค่ใส่รองเท้าออกจากบ้าน 

8. เทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21

AI แต่เป็น AI ที่ต้องดูแลมากขึ้น ที่เขาเรียกว่า Trustworthy AI ที่มาที่ไปของสิ่งที่ AI แนะนำ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องชัดเจนว่าข้อมูลที่ได้เป็นขององค์กรนั้น ๆ เท่านั้น อีกอย่างที่จะเป็นเทรนด์อนาคตคือ Quantum Computing เมื่อก่อนเรามีเครื่องคิดเลข มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ประมวลผล แต่ควอนตัมมีไว้สำหรับโจทย์ยาก ๆ ในอนาคต ที่คอมพิวเตอร์ธรรมดาไม่สามารถแก้ได้

9. คนดัง 3 คนที่อยากนั่งดื่มกาแฟด้วย

คนแรก Thomas J. Watson ผู้ก่อตั้ง IBM ด้วยความที่เราทำงานกับองค์กรนี้มาตลอด จึงอยากคุยกับเขาว่าอะไรทำให้เขาตัดสินใจตั้งบริษัทนี้ ที่ปัจจุบันอยู่มาได้กว่า 100 ปีแล้ว 

คนที่สอง อยากคุยกับน้องนักกอล์ฟดัง ๆ อย่าง จีโน่-อาฒยา ฐิติกุล หรือ เม-เอรียา จุฑานุกาล สำหรับเราเขาเป็นอัจฉริยะ ทำให้บ้านเรามีชื่อเสียงเทียบเท่ากับประเทศระดับโลก อยากรู้ว่าเขาซ้อมยังไง คิดยังไง ทัศนคติเป็นยังไง ทำไมเก่งจัง

ส่วนคนที่สาม ยังคิดไม่ออก ขอติดไว้ก่อน

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล