1 กันยายน คือวันที่บทสนทนานี้เกิดขึ้น

30 สิงหาคม คือวันที่เธอขึ้นเครื่องบินจากฝรั่งเศสกลับบ้านนานเกือบ 20 ชั่วโมง

28 สิงหาคม คือวันที่เธอพิชิตการแข่งขันวิ่งเทรล UTMB-PTL 2022 ในฐานะผู้หญิงคนแรกของประวัติศาสตร์ไทย

22 สิงหาคม คือวันที่เธอก้าวขาออกจากจุดสตาร์ท 

เธอวิ่งไปทั้งหมด 6 วันครึ่ง ใช้เวลา 152 ชั่วโมง 30 นาที ผ่าน 3 ประเทศ ไกล 300 กิโลเมตร ความชันรวมมากกว่า 27,000 เมตร บนเทือกเขาแอลป์ โดยปราศจากป้ายบอกทาง

เรากำลังพูดถึง ซึง-สว่างจิต แซ่โง้ว นักวิ่งเทรลหญิงหนึ่งเดียวในทีม True South Thailand ทีมไทยแรกที่เอาชนะสนามวิ่งอัลตร้ายากสุดในโลก พร้อม เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ แอลวิน-สุภัทร บุญเจือ เพื่อนร่วมทีมสุดทรหด

ซึง-สว่างจิต แซ่โง้ว ทีม True South Thailand พร้อม เอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ แอลวิน-สุภัทร บุญเจือ

เราต่อสายถึงเธอผ่านอินเทอร์เน็ตแทนการพบหน้า เพื่อให้ซึงได้พักผ่อนจากความเมื่อยล้า คาดคิดว่าเธอคงมีเค้าของนักวิ่งสาวจอมพลังที่เหน็ดเหนื่อยอยู่บ้าง แต่เปล่าเลย ซึงตอบทุกคำถามด้วยรอยยิ้ม เปล่งปลั่ง เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ

โอกาสดีอย่างนี้ จะชวนซึงคุยถึงประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ เพียงอย่างเดียวก็กระไรอยู่ เราชวนเธอย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ตั้งแต่วันที่เธอยังเป็นเด็กสาวแก่นเซี้ยว ความกลัวในใจที่ยังคงข้ามผ่านไม่ได้ จนถึงฝันน้อย ๆ ของซึงในวัยใกล้ฝั่ง 

ถ้าไม่ติดว่าในช่วงท้ายของการสนทนา ผู้หญิงที่วิ่ง 300 กิโลเมตรสำเร็จใน 6 วัน จะถามเรากลับด้วยคำถามที่ทำเอาคนฟังส่ายหน้า

“ปกติออกกำลังกายบ้างรึเปล่าคะ”

ในนามตัวแทนของผู้หญิงที่เดินขึ้นบันไดยังเหนื่อย เราคิดว่าอย่างน้อยก็ควรจะมีรองเท้าวิ่งดี ๆ ประดับบ้านไว้สักคู่

ชีวิตอึดถึกทนของ ซึง สว่างจิต นักวิ่งเทรลหญิงผู้พิชิตสนาม PTL ยากสุดในโลกคนแรกของไทย

“หนูต้องอดทน”

แม้ภายนอกซึงจะดูเป็นนักกีฬาแอดเวนเจอร์เต็มเหนี่ยว แต่ความจริงแล้วเธอประกอบอาชีพเป็นคุณครู และเรียนจบปริญญาเอก

เธอเริ่มเป็นครูมาตั้งแต่เรียนปริญญาตรี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่เป็นครูสอนวิชาว่ายน้ำประจำโรงเรียนนานาชาติ ไบรท์ตัน คอลเลจ กรุงเทพ สอนเด็ก ๆ วัยอนุบาลจนถึงพี่ ๆ มัธยมปลาย ซึงเล่าว่าอดีตนักกีฬาทีมชาติมักจะแปลงร่างมาเป็นครูซะเยอะ ที่นี่เองที่ทำให้เธอได้มีเพื่อนเป็นนักกีฬา ชาวต่างชาติ และเริ่มออกวิ่งระยะยาวเพราะแค่อยากเข้าสังคมเท่านั้น

น่าสงสัยว่างานสอนว่ายน้ำดูไม่ค่อยผาดโผนเท่าไร แตกต่างจากกิจกรรมยามว่างของเธอมากพอดู ซึงบอกว่าอย่างน้อยมันก็เป็นงานที่ไม่อยู่กับที่ 

“ถ้าเห็นเด็กเหนื่อย เราก็บอกว่าไม่ได้นะ หนูต้องอดทน ต้องสู้ต่อไปอีก พอเวลาเราเหนื่อย ก็จะนึกถึงตอนที่เราบอกเด็ก ๆ ว่าเราจะท้อไม่ได้” ครูซึงกล่าว

“ไม่เคยกลัวที่สูง”

พูดถึงเด็ก ซึงพาเราย้อนกลับไปวัยเด็กด้วยการเล่าว่า เธอเติบโตมาในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว มีการละเล่นเหมือนเด็กกรุงเทพฯ ทั่วไป เช่น บอลลูนตบเพี้ยะ กระโดดหนังยาง ไม่มีอะไรแปลกประหลาดพิสดาร รู้แค่ว่าเป็นเด็กที่แอคทีฟตลอดเวลา ไม่เคยอยู่นิ่ง และมีกีฬาอยู่ในทุกช่วงของชีวิต

เข้าวัยประถม ซึงก็เริ่มฉายแววนักกีฬาด้วยการเป็นนักวอลเลย์บอลของโรงเรียน พอมัธยมซึงก็ขยับไปเป็นนักบาสเกตบอลของโรงเรียนอีกเช่นกัน ใช้เป็นโควต้าให้เธอเข้าเรียนในคณะพลศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เท่านั้นไม่พอ เธอยังเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาโทที่คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกลับมาเรียนปริญญาเอกที่ มศว อีกครั้งในคณะเดิม ควบคู่กับการเป็นครูสอนว่ายน้ำไปด้วย 

เราถามซึงว่า เธอเคยวิ่งออกนอกลู่นอกทางไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกีฬาบ้างไหม ซึงใช้เวลาคิดไม่นาน เพื่อตอบว่านอกจากออกจากกีฬาชนิดนี้ ไปเข้ากีฬาชนิดใหม่ เธอก็ไม่เคยทำอย่างอื่นเลย

“สมัยเรียน ป.ตรี มีให้กระโดดน้ำ 10 เมตร เป็นการทดสอบจิตใจ (หัวเราะ) เราเป็นเด็กเรียน อยากได้คะแนนดี ๆ เพื่อนให้เรายืนท่าตอกตะปู ซึงก็ลงท่านั้น สนุกมาก ชอบมาก แต่ให้กระโดดอีกก็ไม่เอาแล้ว แค่อยากรู้ว่ามันเป็นยังไง

“นิสัยส่วนตัวเป็นคนชอบความท้าทาย ตื่นเต้นหวาดเสียว เราชอบชูแขนเวลาเล่นไวกิ้ง ไม่เคยกลัวที่สูง”

ชีวิตอึดถึกทนของ ซึง สว่างจิต นักวิ่งเทรลหญิงผู้พิชิตสนาม PTL ยากสุดในโลกคนแรกของไทย
ชีวิตอึดถึกทนของ ซึง สว่างจิต นักวิ่งเทรลหญิงผู้พิชิตสนาม PTL ยากสุดในโลกคนแรกของไทย

“มันเปลืองแฟ้บ”

เวลาว่างของคนอื่นอาจใช้ไปกับการวาดรูป อ่านหนังสือ นอนหลับพักผ่อน แต่เวลาว่างของซึงใน 10 ปีหลังนี้ คือการรีดเหงื่อออกจากร่างกาย เลยเถิดไปถึงขั้นลงแข่งไตรกีฬา

“ถ้าในกลุ่มเพื่อนฝรั่งที่วิ่งด้วยกันซึงถือว่าช้าที่สุดในกลุ่มนะ พอมาปั่นจักรยาน เพื่อนก็เป็นเยาวชนทีมชาติมาก่อน หรือเป็นคนที่เกือบติดทีมชาติ ซึงก็ปั่นช้าที่สุด กระทั่งว่ายน้ำ ซึงก็ว่ายไม่ทันเขา แต่พอซึงมาแข่งคนเดียว ผลงานมันอยู่ในระดับต้น”

จุดแข็งของซึงจึงเป็นความอดทนที่ใครยากจะโค่นล้มนอกจากใจตัวเอง ต่อให้ความเร็วจะสู้ไม่ได้ แต่ในเรื่องความอึดเธอขอสู้ตาย ทุกกีฬาที่ไปเรื่อย ๆ อยู่ได้ยาว ๆ อย่างการแข่งขันไตรกีฬา Ironman Triathlon ระยะวิ่ง 100 – 200 กิโลเมตรเธอก็ผ่านมาได้สบาย

คำถามง่าย ๆ เกิดขึ้นตามมาว่า เธอค้นพบพลังอึดของตัวเองได้ยังไง

“ตอนวิ่งแข่ง 100 กิโลเมตร ถ้าไม่ลงก็ไม่รู้” ซึงเปิดเผยความลับ 

“เราลง 50 กิโลเมตรของ The North Face ครั้งแรก แล้วรู้สึกแรงหมดพอดี พอมาลงแข่งรอบสองรู้สึกว่าแรงมันยังเหลือ เลยลองไปลงวิ่งแข่ง 100 กิโลเมตรดู ก็ได้ที่หนึ่งของผู้หญิง เพิ่งรู้ตัวว่าอึด เราวิ่งสนุกมาก วิ่งเพลิน ๆ วิ่งไปเรื่อย ๆ แล้วก็แทบไม่ลงมาวิ่งระยะสั้นอีกเลย เราว่ามันเร็วไป แบบเฮ้ย ยังไม่ทันได้คูลดาวน์เลยจบแล้วเหรอ ถ้าเป็นเพื่อน ๆ กันเขาจะแซวว่าวิ่ง 20 กิโล มันเปลืองแฟ้บ”

ไม่รอให้เราได้เอ่ยปากถามถึงสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับจุดแข็ง ปลายสายก็ดักทางขึ้นมาเสียก่อนราวกับอยากระบายให้ฟังว่า “อยากถามจุดอ่อนไหม เราเกลียดการขึ้นเขามาก”

“มีขึ้นเดี๋ยวก็มีลง”

ซึงคงเป็นคนที่โดนพูดใส่ว่า เกลียดอะไรขอให้ได้อย่างนั้นมากที่สุดคนหนึ่ง 

แม้ความอึดถึกทนของซึงจะเป็นผล เมื่อ เอก ธนาธร นึกถึงเธอเป็นคนแรก ๆ ในการออกเดินทางครั้งใหญ่ แต่สนาม UTMB-PTL อาจเรียกได้ว่าไปแข่งปีน มากกว่าไปแข่งวิ่งด้วยซ้ำไป 

และเผื่อใครไม่รู้ นี่คือการไปพิชิตเทือกเขาครั้งที่สองของพวกเขา ด้วยเหตุผลหลายประการจึงทำให้ครั้งแรกพลาดไปอย่างน่าเจ็บใจ 

ถามว่าสนามนี้สำคัญยังไงถึงต้องกลับไปอีกครั้ง 

UTMB หรือ Ultra-Trail du Mont-Blanc ถือว่าเป็นสนามสวยสุดในโลกที่นักวิ่งเทรลทุกคนใฝ่ฝั่นอยากไปสักครั้งในชีวิต ถึงขนาดถูกขนานนามว่าเป็นโอลิมปิกของกีฬาวิ่งเทรล เพราะวิ่งบนเทือกเขาแอลป์ ผ่าน 3 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี และวิ่งกลับมาที่ฝรั่งเศส เรื่องวิวระหว่างทางคงเกินจะจินตนาการถึง

แบ่งออกเป็น 7 ระยะ ซึ่ง PTL ถือเป็นระยะที่ยากสุดในโลก รับสมัครแค่ปีละ 300 คน เพราะมีกติกามหาโหด คือต้องวิ่งระยะทางรวม 300 กิโลเมตร ความชันรวม 27,000 กิโลเมตร ข้ามยอดเขาที่มีความสูงถึง 2,500 เมตรมากกว่า 30 ลูก ให้สำเร็จภายในเวลา 152 ชั่วโมง 30 นาที ท่ามกลางสภาพอากาศหนาวจัด ไปจนถึงร้อนหูดับตับไหม้ โดยปราศจากป้ายบอกทาง ต้องวางแผนเส้นทางด้วยตัวเอง และต้องสมัครแบบทีมเท่านั้น ทักษะที่ผู้เข้าแข่งขันจำเป็นต้องมี จึงไม่ใช่แค่การวิ่งเป็น แต่รวมถึงสกิลล์การเอาตัวรอด กับหัวใจที่กล้าแกร่งยิ่งกว่าหินบนหน้าผา 

ชีวิตอึดถึกทนของ ซึง สว่างจิต นักวิ่งเทรลหญิงผู้พิชิตสนาม PTL ยากสุดในโลกคนแรกของไทย
ชีวิตอึดถึกทนของ ซึง สว่างจิต นักวิ่งเทรลหญิงผู้พิชิตสนาม PTL ยากสุดในโลกคนแรกของไทย

การสมัครก็ใช่ว่าใครจะได้ไปกันง่าย ๆ ผู้สมัครต้องมีพอยต์การวิ่งระยะยาวสะสมให้ถึงเกณฑ์ แล้วยังต้องลุ้นผลการจับสลากร่วมกับผู้สมัครทั่วโลกว่าจะได้ไปหรือไม่ แต่ซึงบอกว่า PTL ยากในระดับที่ใครสมัครก็รับหมด ขอแค่ผ่านทุกข้อบังคับ (ที่เยอะและรัดกุมมาก) เพราะคนสมัครน้อย อย่างในปีนี้ก็มีแค่ 101 ทีมเท่านั้นเอง

“ตอนเริ่ม PTL ซึงเคานต์ดาวน์ทุกกิโลเมตรเลย เหลือ 300 เหลือ 250 เหลือ 170 เหลือ 2 วัน เหลือคืนสุดท้าย พอเจอเขาสูงชัน ซึงก้มมองพื้นอย่างเดียว เพราะสูงแค่ไหนก็อยู่ใต้เท้าเราอยู่ดี พยายามข้ามเขาไปทีละลูก คิดแค่ว่า มีขึ้นเดี๋ยวก็มีลง”

UTMB-PTL 2022
“ถ้าตกก็คือร่วง”

การกลับมาลงแข่งครั้งนี้สำคัญกับคุณยังไง

เป็นความท้าทายมาก เพราะปีที่แล้วซึงวิ่งไม่จบ เราเคยเข้าใจว่าเทรลคือวิ่ง ๆ ไปอย่างเดียว แต่พอไปเจอหน้างานคือมันปีนเยอะมาก ปีนทั้งวัน ใช้สองขาสองมือ ไม้โพลพับเก็บไปได้เลย 

PTL ในความคิดซึงไม่ใช่แค่วิ่งเทรล มันเลยกรอบการวิ่งเทรลไปแล้ว มันรวมการปีนเขา การแคมป์ปิ้ง เป้แต่ละคนหนักเฉลี่ย 7 โล ของเพื่อนน่าจะ 8 – 9 โล ขึ้นอยู่กับอาหาร น้ำ ถ้าแค่อุปกรณ์บังคับน้ำหนักของเป้ก็ประมาณ 5.8 กิโล บวกอุปกรณ์ทีมพวกผ้าใบ ถุงนอน เฟิร์สเอด เตา หม้อ แล้วต้องแบก 6 วัน 6 คืน เราพอมีประสบการณ์จากปีที่แล้ว ปีนี้เลยตั้งใจจะกลับมาเอาชนะให้ได้ โชคดีที่อากาศดีมากเลยช่วยได้เยอะ ถ้าฝนตกที่ PTL นี่ก็หนังชีวิตเหมือนกันนะ

ถือว่าซ้อมหนักกว่ารอบที่แล้วไหม 

ซ้อมข้ามปีเลย ตั้งแต่วิ่งเทรลที่เกาะช้าง 100 กิโลเมตร วิ่งเทรลที่เบตง 100 กิโลเมตร วิ่งเทรลที่เกาะยาวใหญ่ 100 กิโลเมตร วิ่งสนาม Eiger Ultra Trail อีก 250 กิโลเมตร หลังจากนั้นก็ไปขึ้นยอดเขา Monch ความสูง 4,107 เมตร ยอดเขา Jungfrau ความสูง 4,158 เมตร และยอดเขา Bishorn ความสูง 4,153 เมตร เป็นการปรับที่สูง บางทีก็มีพายุลมแรง ทางก็ชันมาก อาการเราออกเลย หายใจแผ่ว ไม่มีอากาศ หัวใจเต้นรัว ตื่นเช้ามามึนหัว แต่ก็เป็นการซ้อมเพื่อเข้าเส้นชัย

เราต้องขึ้นเขาให้ไวขึ้น แต่งตัวให้เร็วขึ้น เตรียมอาหารให้เพียงพอ พลังงานที่ PTL กินไม่เหมือนพวกวิ่งเทรลเลย ต้องเป็นอาหารหนัก ๆ ที่อยู่ยาว ๆ ไม่ใช่เจล มาม่า 2 ห่อ โจ๊กห่อหนึ่งก็พอแล้ว อยู่เมืองหนาวกินต้มยำแซ่บ ๆ ก็รู้สึกตื่นดี ถ้าเจอทีมซัพพอร์ตก็จะบอกเขาว่าขอข้าว ขอสเต๊ก แทบจะเดินกินตลอดเลย

หลังจากที่ซ้อมมาอย่างดี มันเพียงพอให้คุณพร้อมตั้งรับทุกสถานการณ์จริงไหม

อย่างน้อยก็ได้ความมั่นใจระดับหนึ่ง เวลาแข่งเราก็รู้สึกว่ามันคือการขึ้นลงเขาทั้งวันกับปีนทั้งวัน ซึ่งเราเตรียมใจมาเรียบร้อยแล้ว แค่ได้กิน ได้นอนก็ยังดี เพราะปีที่แล้วได้นอนวันละชั่วโมง ปีนี้ได้นอนวันละ 2 ชั่วโมง 

ชีวิตอึดถึกทนของ ซึง สว่างจิต นักวิ่งเทรลหญิงผู้พิชิตสนาม PTL ยากสุดในโลกคนแรกของไทย
ชีวิตอึดถึกทนของ ซึง สว่างจิต นักวิ่งเทรลหญิงผู้พิชิตสนาม PTL ยากสุดในโลกคนแรกของไทย

นอกจากทักษะการวิ่งและปีนผา นักวิ่งเทรลต้องฝึกฝนอะไรอีก

ต้องสู้กับการอดหลับอดนอน สู้กับตัวเอง ทรมานมากนะ อยากนอนก็ไม่ได้นอน ด้วยวันที่ยาวนานก็ต้องอดทน แล้วคืนที่ 3 เหมือนมีภาพหลอน เราเพลียมาก แอลก็เป็น ตาลาย เห็นกิ่งไม้เล็ก ๆ มันกระดึ๊บได้เหมือนหนอน เห็นบ้านที่มีลวดลายอยู่หน้าบ้าน แอลหันมาถามว่าพี่ซึงเห็นคนนั่งคุยกันหน้าบ้านไหม เราบอกว่าเห็นเหมือนกันเลย (หัวเราะ) แต่เป็นแค่คืนเดียว เราต้องการพักผ่อน เป็นปกติมากของการวิ่งเทรล 

คุณเอาชนะความอ่อนเพลียของตัวเองยังไง

นักวิ่งเทรลเขาจะเรียกว่า ออโตไพลอต (Autopilot) คือเดินกึ่งหลับกึ่งตื่นเหมือนซอมบี้ ทีมจะรู้เลย เพราะเราจะเริ่มห่างจากเขาสัก 30 เมตร แล้วก็จะจ็อกกิ้งไปหา แล้วก็ทิ้งห่าง จนมีจุดหนึ่งที่อันตราย เขาหันมาบอกว่าตรงนี้ห้ามออโตไพลอตนะครับ ทีมก็เตือนกัน เขาดูกันออก

กิโลเมตรที่เท่าไหร่ที่รู้สึกเหนื่อยมากที่สุด 

วันที่ 2 เหนื่อยมากที่สุดเลย เพราะมันเป็นหินลอย เดินบนหินลอยเป็นชั่วโมงยังไม่ถึง 1 กิโล แค่ทางขึ้นวันนั้นทั้งวันน่าจะได้แค่เขาลูกเดียว ตอนลงก็ไม่ได้ลงแค่กิโลเมตรเดียว น่าจะประมาณ 4 กิโลได้ แล้วหินลอยขามันต้องเบรกตลอดเวลา เราเมื่อยมาก ต้องนั่งยืดขากันเลย ขาต้องแข็งแรง ใจต้องกล้า 

ถามว่าทางโหดไหม ก้มมองลงไปมันก็โหดมากจริง ๆ แต่พอเงยหน้าขึ้นมาเห็นเขา เห็นวิว มันก็หายเหนื่อยไปนิดหนึ่ง พอพ้นวันนี้ไปรู้สึกว่าเขาอื่นก็ง่ายกว่าเขาลูกนี้ไปแล้ว

Cr Supat Bunjuar

โพสต์โดย Sawangjit Seung Saengow เมื่อ วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2022

ดูเหมือนเป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยการตัดสินใจเฉพาะหน้า 

ใช่ จะทำอะไรต้องลุย บางทีเพื่อนปีนทางขวา เรารู้สึกซ้ายง่ายกว่า เราก็ไปทางซ้าย พี่เอกกับแอลวินก็ไปกันคนละทาง บางทีก็แล้วแต่ดวง เขาปีนอาจจะง่ายเราปีนอาจจะยาก แต่ละคนมีสไตล์เป็นของตัวเอง แต่เป้าหมายเดียวกันคือเส้นชัย ทุกคนไม่มีใครยอมแพ้เลย คิดแต่จะไปข้างหน้าอย่างเดียว

มีกติกาว่าคนในทีมวิ่งห่างกันได้ไม่เกิน 15 นาที ต้องไปด้วยกัน แต่เวลาปีนเขาแนวดิ่งต้องอยู่ห่างกัน เพราะเหยียบหินกลิ้งลงมาใส่เพื่อนก็มีนะ ซึงเคยเจอหินร่วงมาใหญ่กว่าหัว ต้องรีบหลบให้ทัน 

ทีมก็มีหลง ทางมันให้ขึ้นไปแล้วขึ้นต่อได้อีก แต่เราไม่รู้ เราขึ้นแล้วก็ลง ติดอยู่ตรงนั้นน่าจะ 4 – 5 ชั่วโมง แต่ชอบทีมมากตรงที่เขาไม่โวยวายว่า หลงเพราะใคร เราไม่เป็นไร ไปต่อ ๆ แค่ต้องทันคัตออฟสุดท้าย จากวิ่งชิลล์ ๆ กลายเป็นต้องวิ่งหนีคัตออฟ 

มีความตลกตรงที่ปลุกพี่เอกไม่ตื่น (หัวเราะ) คัตออฟมันต้องออก 03.00 น. แล้วเขาดูเวลาจากที่มีคนมี GPS บวกลบได้ 10 นาที ถ้ายังไม่ออกวิ่งก็ต้องออกจากการแข่งขัน ตอนนั้น 02.55 น. ปลุกพี่เอกแล้วเขาบอกขอนอนต่อ ซึงเลยถามว่า GPS อยู่ที่แอลใช่ไหม งั้นให้แอลออกไปรอข้างนอก แต่รอแค่ 5 นาที พี่เอกก็ออกมาแล้ว 

ตี 3 อากาศหนาวมาก ยิ่งสูงยิ่งหนาว ลมแรงจนสั่นกันหมด รีบเก็บของแล้วต้องรีบเดินต่อเลย มีคนมาถามว่าเวลาหนาวมากต้องทำยังไง เราบอกแค่อดทนอย่างเดียว และต้องขยับร่างกายตลอดเวลา

PTL เป็นสนามที่ต้องวิ่งผ่านทั้งภูเขา น้ำตก ทุ่งหญ้า ปีนหน้าผา ฯลฯ อะไรที่อันตรายที่สุด

ปีนหน้าผา Via Ferrata ถ้าตกก็คือร่วง มีแบบนี้หลายจุดมาก ปีที่แล้วระยะ PTL เคยมีผู้เข้าแข่งขันเสียชีวิตไปคนหนึ่ง เขาน่าจะวิ่งไปถึงตอนกลางคืน แต่ทีมซึงไปถึงตอนที่พระอาทิตย์กำลังจะตกเลยยังพอเห็นทาง

การปีนเขาเป็นอย่างเดียวที่ซึงช้ากว่าผู้ชาย ขาเขายาวกว่าซึง ยกขาสูง ดึงได้ไกล แต่ทีมนี้มั่นใจในตัวซึงมาก เวลาปีนหรือผ่านอะไรหวาดเสียวไม่มีใครหันหลังมาดู เคยถามแอลวินว่า น้องถามจริง มองพี่เป็นผู้หญิงกันบ้างไหม เขาตอบคำเดียวว่าไม่ครับ แล้วก็หันไป (หัวเราะ)

Via Ferrata . . . . คอร์ นิวทริชั่น Energy for…

โพสต์โดย Sawangjit Seung Saengow เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม 2022

จุดไหนที่คุณรู้สึกกลัว

ที่กลัวเลยคือยอดสุดท้าย ทีมกลัวจะไม่ทันเวลาเข้าเส้นชัย จุดนั้นน่าจะใส่หมวกป้องกัน แอลวิลหันมาถามว่าต้องใส่อุปกรณ์ไหมครับ พี่เอกบอกว่าเวลาไม่ทันแล้ว ซึงพับไม้เก็บเลย อย่างน้อยมีสองมือดีกว่ามือเดียว ต้องค่อย ๆ ปีน บางจุดก็คลาน ต้องเอาให้ชัวร์ มันไม่ยาก แต่สูง ลมแรง เป้หนัก หวาดเสียวมาก 

ตั้งแต่วิ่งมา เคยพลาดบ้างไหม

ยัง เพราะรู้ว่าจะพลาด มีจุดหนึ่งแทนที่จะวิ่งไปตามรูต เขาตัดผ่าเขาลงมาเป็นทางลัด ตอนแอลวิ่งลงก็มีวูบเหมือนกัน ส่วนพี่เอกแกโยนไม้ลงไปก่อนแล้วค่อยปีนลง แต่พอซึงจะปีนลง ซึงรู้เลยว่าเราทำไม่ได้ กลัวลื่นแล้วหลุดไป เราเลยตัดสินใจปีนกลับขึ้นไปวิ่งตามรูต 

อีกอันหนึ่งตอนข้ามน้ำตก เรามองท่าเพื่อนก็รู้แล้วมันยากหรือง่าย เราดูท่าพี่เอก แม่งดูยากว่ะ แอลเลยหาทางอื่นที่ดูง่ายขึ้น แต่พอถามแล้วน้องบอกไม่ง่ายครับ เท่านั้นแหละ เหมือนเจอยากกับยาก แต่ก็ตัดสินใจข้ามตามไป 

ชีวิตสุดโหดของ ‘ซึง สว่างจิต’ นักวิ่งเทรลหญิงคนแรกของไทย พิชิตสนาม PTL ไกล 300 กิโล ชัน 27,000 เมตร บนเทือกเขาแอลป์ใน 6 วัน

เล่าวินาทีที่ถึงเส้นชัยให้ฟังหน่อย

3 กิโลเมตรสุดท้ายวิ่งเหนื่อยมาก ทีมเอาแรงมาจากไหนกันก็ไม่รู้ จู่ ๆ มาวิ่งหน้าตั้ง ทางที่วิ่งหินก็เยอะมาก ถ้าสะดุดหัวทิ่มแน่นอน แต่ซึงรู้ว่าที่เส้นชัยจะเจอทีมซัพพอร์ต รู้ว่าเขาเตรียมชาเขียว สเต๊ก ไว้ให้ เราก็คิดว่าจะได้กินแล้วอีกหน่อยหนึ่ง

คนปรบมือเยอะมาก ตื่นเต้นมาก ดีใจมาก เพื่อน ๆ น้ำตาคลอกันเยอะเลย รู้สึกว่าในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ จบสักที อีกวันหนึ่งก็ไปรับเหรียญรางวัล เป็นกระดิ่งวัวกับเสื้อ Finisher (ซึงอวดความภาคภูมิใจของเธอให้เราดูผ่านจอ) เพื่อนก็แซวกันว่าเสื้อตัวนี้มีแค่ 3 ตัวในประเทศไทย

ถามว่าเรารู้สึกระบมที่เท้าบ้างไหม ก็มีนะบลิสเตอร์ วิ่งจนมันแตก แล้วขึ้นใหม่ แล้วก็แตก สภาพเท้าแต่ละคนพี่เอกน่าจะเป็นหนักสุด ซึงถือว่าเบาสุดแล้ว คนก็ถามว่าทำไมซึงดูดีจัง ซึงทาครีมกันแดดค่ะ อีก 2 คนเขาไม่ได้ทา

กิจกรรมแรกหลังจากเข้าเส้นชัยของคุณคืออะไร

นอนแล้วก็กิน (หัวเราะ)

ชีวิตสุดโหดของ ‘ซึง สว่างจิต’ นักวิ่งเทรลหญิงคนแรกของไทย พิชิตสนาม PTL ไกล 300 กิโล ชัน 27,000 เมตร บนเทือกเขาแอลป์ใน 6 วัน
ชีวิตสุดโหดของ ‘ซึง สว่างจิต’ นักวิ่งเทรลหญิงคนแรกของไทย พิชิตสนาม PTL ไกล 300 กิโล ชัน 27,000 เมตร บนเทือกเขาแอลป์ใน 6 วัน

“เพราะเราเป็นผู้หญิงเอเชีย”

สมัยที่ซึงเข้าวงการวิ่งเทรล เธอบอกว่าตอนนั้นอุปกรณ์บังคับยังมีแค่เป้น้ำกับรองเท้านักวิ่ง 

อีก 10 ปีต่อมา True South Thailand เป็น 1 ใน 47 ทีมที่วิ่งสนาม PTL จบ จาก 47 ทีมที่วิ่งจบ มีผู้หญิงเพียง 6 คน และไม่เคยมีสาวไทยคนไหนทำได้นอกจากซึง

“ตอนแรกไม่รู้เลยว่าทำไมพี่เอกถึงเลือกซึงเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ไปแข่ง” เธอรำลึกความหลัง 

พอเข้าเส้นชัยมาแล้วถึงได้เข้าใจว่าสิ่งที่เธอทำนั้นยิ่งใหญ่ขนาดไหน คงเพราะที่ผ่านมาเธอไม่เคยมองว่าเพศสภาพเป็นอุปสรรคในการเล่นกีฬา และการวิ่งเทรลก็ไม่มีข้อกำจัดอะไรที่จะหยุดความสามารถของผู้หญิง 

“มีผู้ชายชื่อเอริคเข้ามากอดซึง กอดพี่เอก กอดแอลวิน แล้วก็กลับมากอดเราอีกรอบ เขามองตาเราแล้วก็น้ำตาไหลด้วยความภูมิใจ อาจจะเพราะเราเป็นผู้หญิงเอเชีย เขารู้สึกดีใจกับเรามาก ๆ

“มีเพื่อนต่างชาติอีกคนที่เคยวิ่ง 50 กิโลมาด้วยกัน เขานึกถึงสมัย 10 ปีที่แล้วที่ซึงยังง้องแง้ง ไม่อยากวิ่งขึ้นเขา ลูกชายเขาเห็นว่าซึงเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬาก็อยากเป็นเหมือนเรา ลูกสาวเขารู้ว่าเราเล่นไตรกีฬาก็อยากหัดเล่นเหมือนเรา เขาบอกว่าคุณไม่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แค่ผู้หญิงนะ แต่คุณเป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราด้วย”

ชีวิตสุดโหดของ ‘ซึง สว่างจิต’ นักวิ่งเทรลหญิงคนแรกของไทย พิชิตสนาม PTL ไกล 300 กิโล ชัน 27,000 เมตร บนเทือกเขาแอลป์ใน 6 วัน

“ซึงไม่เคยเห็นด้วยเลย ที่คนชอบบอกว่ามีกีฬาหรืองานบางชนิดสงวนไว้สำหรับผู้ชาย เราไม่ได้คิดอะไรตรงนั้น ไม่สนใจด้วย เพราะมั่นใจว่าเราทำได้

“PTL เป็นการวิ่งที่พักบ้าง ลุยบ้าง เหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง ล้มบ้าง ลุกบ้างตลอดทาง ซึงวิ่งตามผู้ชายมาหลายงานมาก เราบอกตัวเองว่างานนี้จะเป็นงานสุดท้ายที่เราจะวิ่งตามสองคนนี้” 

เชื่อเหลือเกินว่าคำพูดของซึงคงทำให้ใครหลายคนมีคำตอบในใจว่า ทำไมเอกถึงเลือกเธอ

“ต้องดูสาวยันแก่”

คีย์เวิร์ดจากซึงที่เราชอบมากคือคำว่า ง้องแง้ง 

เพราะนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าซึงที่เคย ง้องแง้ง เป็นยังไง

ซึงอธิบายด้วยการยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีก่อน เช่น การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนปกติจะอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง 55 นาที ก่อนแข่งแต่ละคนจะมาถามกันว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร บางคนก็ท้าทายตัวเองมาก แต่เธอขอแค่เข้าเส้นชัยให้ได้ก็พอ

ส่วนความปราดเปรียวไม่ต้องพูดถึง ซึงบอกว่าเธอน่าจะวิ่งเร็วกว่าตอนนี้มากนัก แต่พอถามว่าซึงคนนั้นจะพิชิตสนาม PTL ได้ไหม เธอตอบว่า “ไม่ ล้านเปอร์เซ็นต์” เพราะซึงเมื่อ 10 ปีก่อนขึ้นเขาไม่เก่ง ถนัดทางลาด ที่สำคัญคือเธอยังง้องแง้ง

ไม่แปลกเลยที่ซึงจะเป็นนักกีฬาประเภทที่ไม่ต้องการทำลายสถิติตัวเอง ไม่มีรายการไหนค้างคาใจ หรือคิดไม่ตกว่าน่าจะทำดีกว่านี้ได้ 

“เราเข้าใจความรู้สึกของคนที่วิ่งช้า คนที่เหนื่อย คนที่ตามเพื่อนอยู่ข้างหลัง เพราะเราผ่านทุกอย่างมาหมดแล้ว แล้วเราก็ยินดีที่จะเดินไปกับคนที่วิ่งช้า”

สำหรับซึง เธอมองว่าการวิ่งเปรียบได้กับการใช้ชีวิต มีขึ้น มีลง มีทางให้เลือก มีอุปสรรคให้ข้าม มีปัญหาให้แก้ไขเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย ขณะเดียวกัน ก็เป็นกีฬาที่ทำให้เธอได้ใช้เวลาอยู่กับความคิดตัวเอง และเป็นอิสระจากพันธนาการทางสังคม 

“เรามีความสุขที่ชีวิตเราวุ่นวายนิดหนึ่งแต่ไม่ได้วุ่นวายมากเกินไป ทำงานอาจจะเครียด แต่พอเครียดเดี๋ยวก็ไปออกกำลังกาย ออกกำลังกายเหนื่อยเดี๋ยวเราก็กิน เวลาพักก็พักจริง เวลาทำงานก็ตั้งใจ เราต้องบาลานซ์ชีวิต”

ชีวิตสุดโหดของ ‘ซึง สว่างจิต’ นักวิ่งเทรลหญิงคนแรกของไทย พิชิตสนาม PTL ไกล 300 กิโล ชัน 27,000 เมตร บนเทือกเขาแอลป์ใน 6 วัน
ชีวิตสุดโหดของ ‘ซึง สว่างจิต’ นักวิ่งเทรลหญิงคนแรกของไทย พิชิตสนาม PTL ไกล 300 กิโล ชัน 27,000 เมตร บนเทือกเขาแอลป์ใน 6 วัน

สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปจาก 10 ปีก่อน คือเส้นชัยที่ยังคงเป็นเป้าหมายเดียวของเธอเสมอ ขอแค่สนุกและมีบรรยากาศสวยงามตลอดทาง โดยเฉพาะตอนพระอาทิตย์ขึ้นในรุ่งสาง ทำให้รู้สึกว่าทุกวันมีความหมาย 

ถ้าไม่ใช่การเกิดก็คงเป็นการตาย ที่สอนให้ชีวิตได้รู้ซึ้งถึงอะไรบางอย่าง ในวัย 37 ปี เราเชื่อว่า การวิ่งนำพาบททดสอบมาให้เธอฟันฝ่านับครั้งไม่ถ้วน ส่วนประสบการณ์เฉียดตายก็คงเป็นยิ่งกว่าครูคนไหนที่ผ่านมา แม้เธอจะยังไม่มีภาพของตัวเองในอนาคตอันไกล แต่สิ่งที่จริงแท้แน่นอนคือเธอจะยังอยู่บนลู่วิ่ง

“ตอนซึงอายุ 60 ก็จะวิ่งอยู่ ไม่ต้องถึง 100 กิโลเมตรหรอก แค่ 10 โลก็ยังดี แต่มั่นใจมากว่าจะต้องดูสาวยันแก่” 

คิดว่าอะไรที่ทำให้คุณยังคงวิ่งต่อ – เราถาม

ถามว่ามีเหตุผลอะไรที่จะทำให้ซึงหยุดวิ่งดีกว่า – ซึงตอบ 

พร้อมกับยืนยันว่าการวิ่งเป็นกีฬาที่ง่ายที่สุด เพราะอาศัยแค่รองเท้าผ้าใบคู่เดียว

บอกตามตรง เราที่มีภาวะวิตกกังวลติดตัว และพยายามถอยห่างจากการเที่ยวผจญภัย แค่ฟังเรื่องเล่าจากต่างแดนของซึงยังใจสั่น เธอบอกว่าความกล้าเท่านั้นที่จะเอาชนะความกลัวได้ เป็นทักษะที่เราคงต้องใช้เวลาฝึกฝนนานเท่านานกว่าจะได้สักครึ่งหนึ่งของเธอ

หลังผ่านความยาก ความโหด ความหิน ด้วยความอึด ความถึก ความทน จนเกือบเอาตัวไม่รอดในสนาม PTL ที่ไม่ต่างกับสมรภูมิ สุดเส้นทางไม่มีการยืนบนแท่นอันดับ 1 2 3 ขอเพียงวิ่งจนจบได้ก็วิเศษเกินพอ เพราะสิ่งที่รออยู่หลังเส้นชัยคือรางวัลของผู้ชนะหัวใจตัวเอง

ใครต่อใครต่างบอกว่า หากผ่านสนามนี้ไปได้ ชีวิตก็ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกแล้ว

ถ้าอย่างนั้น เราขอถามซึงเป็นคำถามสุดท้าย 

“คุณยังกลัวอะไรอยู่บ้างไหม”

นักวิ่งหญิงแกร่งหัวเราะให้กับเรื่องเดียวที่ยังพิชิตไม่ได้

“แมลงสาบค่ะ”

ชีวิตสุดโหดของ ‘ซึง สว่างจิต’ นักวิ่งเทรลหญิงคนแรกของไทย พิชิตสนาม PTL ไกล 300 กิโล ชัน 27,000 เมตร บนเทือกเขาแอลป์ใน 6 วัน

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว