สว่าง ทองดี คือชายผู้ทำอาชีพอิสระ (เขานิยามตนเองแบบนั้น) และใช้เวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาไปกับการเดินทางรอบโลกโดยมีจักรยานเป็นเพื่อนคู่ใจ

เขาเป็นทั้งนักเดินทาง นักเขียน นักแปลเอกสาร ผู้ประสานงานไกด์ทัวร์ และเมื่อ 7 ปีก่อน สว่างได้ริเริ่มอีกหนึ่งอาชีพใหม่ คือการเป็นคนขายกาแฟ-อาชีพที่ตั้งต้นจากความอินของตนเองล้วน ๆ 

เมื่อว่างจากการเดินทาง เขาจะเปิดร้าน ‘Nomad’ รถจักรยานพ่วงร้านกาแฟขนาดจิ๋ว ปั่นไปชงกาแฟขายตามจุดต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ แต่ “รู้หนึ่ง ไม่รู้สิบ” สว่างบอกแบบนั้น เพราะนอกจากความชอบในรสชาติและกลิ่นกาแฟหอมกรุ่นแล้ว กาแฟแต่ละชนิดยังมีเรื่องราวให้เขาเรียนรู้อีกมากมาย และนั่นคือจุดเริ่มต้นให้สว่างออกเดินทางอีกครั้ง โดยมีจักรยานเป็นเพื่อนคู่ใจและมีกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของทริป

ไหน ๆ ปีนี้ Thailand Coffee Fest 2021 ก็จะจัดขึ้นในธีม ‘Coffee People’ เราเลยถือโอกาสชวนสว่างที่เพิ่งกลับจากทริปฝึกงานที่โรงงานกาแฟในอเมริกามาหมาด ๆ มานั่งคุยกันถึงประสบการณ์การท่องเที่ยวตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และเรื่องราวในฐานะ ‘คนกาแฟ’ ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเครื่องดื่มนี้มาได้พักใหญ่

กาแฟร้อนจากเมล็ดพันธุ์เคนยาของสว่างมาเสิร์ฟแล้ว

เครื่องดื่มของเราก็มาแล้ว

จิบกาแฟให้สบายใจ แล้วออกเดินทางไปพร้อมกับสว่างกัน

สว่าง ทองดี นักเดินทางที่เรียนรู้กาแฟในไร่ทั่วโลกมาแล้ว 7 ปี และยังไม่หยุดเดินทาง

ตอนไหนที่คุณคิดว่าต้องออกเดินทางท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

ผมคิดว่าตัวเองมีเชื้อเรื่องการเดินทางตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ แล้ว เพราะตอนประถมเคยฝันว่าอยากเป็นกระเป๋ารถเมล์ อยากเดินทางไปเรื่อย ๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เดินทางในประเทศบ่อย โบกรถ โบกเรือเที่ยวไปเรื่อย สไตล์ Low Budget จนได้ออกนอกประเทศจริงจังตอนเริ่มทำงาน 

ตอนเรียนจบ ผมทำงานเป็นครูอยู่เก้าปี มีช่วงปิดเทอมที่มีเวลาว่างอยู่สองสามเดือน เราก็ใช้เวลาตอนนั้นไปเที่ยว แต่พอทำงานไปเรื่อย ๆ เราเริ่มคิดว่างานครูเป็นงานที่ต้องอยู่ในระบบมาก มีความเป็นมนุษย์เงินเดือนสูง แล้วคนเป็นครูก็ค่อนข้างถูกคาดหวังให้ต้องมีระบบระเบียบ ทำไปนาน ๆ เลยเริ่มรู้สึกอิ่มตัว ไม่อยากอยู่ในระบบนี้แล้ว จนคิดว่าพอแล้วล่ะ ลาออกแล้วไปเที่ยวอย่างเดียวดีกว่า

พอลาออกแล้วคุณก็เก็บกระเป๋าไปเที่ยวเลยหรอ

ใช่ ตอนนั้นมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่งเลยตัดสินใจไปอินเดียสิบเดือน กลับมาก็ถังแตกเลย (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นอายุยังน้อยอยู่ เลยกลับมานั่งคิดว่า เรายังมีแรงแล้วก็ไม่ได้ขี้เกียจนี่นา เลยเริ่มหางานฟรีแลนซ์ทำ เขียนบทความ ปรับตัวทำนู่นทำนี่ไป ใช้เวลาอยู่สองถึงสามปี ก็เริ่มจัดการเรื่องรายได้ เวลา ตารางการเดินทางได้ คือเริ่มรู้แล้วว่าทำยังไงถึงจะไม่กดดันตัวเอง ยังรับผิดชอบตัวเองได้ แล้วก็ได้ทำในสิ่งที่ชอบไปพร้อม ๆ กันด้วย

นับจากวันนั้นคุณเดินทางมานานเท่าไหร่แล้ว

จะยี่สิบปีแล้ว ไลฟ์สไตล์ก็ประมาณทำงาน เก็บเงิน เดินทาง ปีหนึ่งจะไปเที่ยวประมาณห้าเดือน แล้วก็กลับมาทำงานต่อ หนักหน่อยบางปีไม่ทำงานเลยก็มี คือเอาเวลาไปใช้กับการเดินทางหมด

เรารู้ว่าทุกปีเราต้องเดินทาง แล้วก็พอจะมีแพลนอยู่แล้วว่าอยากไปไหน เพราะฉะนั้น เราก็จะดูว่าตอนนี้งานในเมืองไทยมีให้ทำมากน้อยแค่ไหน เงินเก็บเรามีพอไหม หรือตอนเดินทางมันพอจะมีอะไรให้ทำหรือเปล่า บางทีระหว่างไปเที่ยวเราก็ส่งงานเขียนมาลงที่ไทย หรือช่วงหลัง ๆ ที่ไปเรียนรู้เรื่องกาแฟ เราก็เอากาแฟกลับมาขายที่ไทยด้วย บางทีไปฝึกงานตามโรงงานกาแฟก็ได้เงินอยู่บ้าง เรามองหาลู่ทางไปเรื่อย ๆ เพราะเราเชื่อว่ามีหลายอย่างที่ตัวเองทำได้ แต่ถามว่ารวยไหม ไม่แน่นอน (หัวเราะ)

สว่าง ทองดี นักเดินทางที่เรียนรู้กาแฟในไร่ทั่วโลกมาแล้ว 7 ปี และยังไม่หยุดเดินทาง
สว่าง ทองดี นักเดินทางที่เรียนรู้กาแฟในไร่ทั่วโลกมาแล้ว 7 ปี และยังไม่หยุดเดินทาง
สว่าง ทองดี นักเดินทางที่เรียนรู้กาแฟในไร่ทั่วโลกมาแล้ว 7 ปี และยังไม่หยุดเดินทาง

อย่างนี้ยังเรียกเมืองไทยว่าบ้านได้ไหม

ทุกที่ก็เป็นบ้าน แต่เมืองไทยเป็นพื้นที่สบาย เรารู้ว่ากลับมาจะมีร้านอาหารอร่อยถูกปาก มีร้านนวดราคาถูก มีเพื่อน มีครอบครัว มันเป็นที่ที่คุ้นเคย เวลากลับมาเลยเหมือนมาทำงาน เจอคน กลับมาวางแผนตัวเองเพื่อการเดินทางรอบต่อไปมากกว่า

แต่คุณเคยบอกว่าจะหยุดแล้วลงหลักปักฐานตอนอายุสามสิบไม่ใช่เหรอ

สรุปก็ไม่ได้หยุดนี่ไง (หัวเราะ) ปีหน้าจะห้าสิบอยู่แล้ว ก็คิดว่าโอบรับมันเลยแล้วกัน มึงเปลี่ยนไม่ได้หรอก คือรู้สึกว่าถ้าในจุดหนึ่งการเดินทางมันไม่สนุกแบบนี้ มันไม่มีความหมายกับเราแล้ว เราก็คงหยุดของเราเอง แต่ตราบใดที่เราอยู่บ้านแล้วยังคิดถึงการเดินทาง รู้สึกลงแดงอยากออกไปเรียนรู้ มันก็ไม่มีประโยชน์ที่เราจะพยายามกดดันตัวเองให้อยู่เหมือนชาวบ้านเขานะ

เวลาเห็นคนรอบตัวประสบความสำเร็จ ไม่อยากเป็นแบบนั้นบ้างเหรอ

เขาก็ประสบความสำเร็จกันไปนานแล้วนะ คือเพื่อนมีลูกมีอะไรกันหมดแล้ว เพื่อนที่มหาวิทยาลัยก็เป็น ผศ. อะไรพวกนี้กันหมดแล้ว ผมว่าก็ดีนะ มันเป็นความก้าวหน้าในอาชีพของเพื่อน แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งนั้นมันดึงดูดเรา อย่างตอนที่ไปอเมริกา ประเทศเขาก็ทุนนิยมมากเลย เขามีบ้านหลังใหญ่ สระว่ายน้ำสวย ๆ 

แต่สำหรับตัวเอง เราคิดว่ามันเป็นภาระ อาจเป็นเพราะเราชินกับการเดินทางด้วยจักรยานมาตลอด มันแบกของเยอะไม่ได้ เราอยู่อย่างนี้มาเป็นสิบปี ก็คงชินกับอะไรน้อย ๆ แบบนี้แล้วแหละ สมัยนี้เขาเรียกว่ามินิมอล หรือ Declutter อะไรแบบนั้นใช่ไหม คือไม่ได้มีเยอะก็มีความสุขได้

สำหรับอาชีพนักเดินทาง ไม่มีเป้าหมายสูงสุดแบบนั้นบ้างเหรอ

ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกอาชีพนี้ว่านักเดินทางได้ไหมนะ เพราะถ้าเรียกว่าเป็นนักเดินทาง มันควรจะเป็นเหมือนน้องมินต์ เหมือน Go Went Gone ไหม ที่เขาสามารถสร้างรายได้จากการเดินทางน่ะ แต่ของผมมันไม่มีรายได้แบบนั้นไง การเดินทางอย่างเดียวเลี้ยงดูเราไม่ได้ แต่ที่เรายังทำอยู่เพราะเรายังอินกับมันมาก ๆ เท่านั้นเอง 

อย่างนี้คุณนิยามตัวเองว่าทำอะไร

อาชีพอิสระ (หัวเราะ) เพราะเราทำอะไรอย่างเดียวไม่ได้ แม้กระทั่งกาแฟที่เราอินมาก ๆ ให้ขายกาแฟอย่างเดียวก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า คืออยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ หากาแฟมาขายเสร็จ รับออเดอร์ ได้เงินมา เราก็อยากไปเข้าสวนกาแฟ ไปตัดหญ้า ไปทำอย่างอื่นแล้ว คือชีวิตมันต้องเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ น่ะ อย่างในอนาคตก็มีโปรเจกต์เพิ่มอีกว่า อยากเอาเสื้อมือสองมาสกรีนใหม่แล้วขาย 

แล้วทำไมเจ็ดปีที่แล้ว อยู่ ๆ คุณถึงอยากขายกาแฟขึ้นมา

ผมชอบกินกาแฟแล้วก็ชอบกลิ่นกาแฟมาก ๆ เหมือนตื่นเช้ามาเป็น Ritual ว่าต้องดมกลิ่นกาแฟ เลยคิดว่างั้นขายกาแฟดีกว่า ก็เอาจักรยานมาพ่วงทำรถกาแฟปั่นขาย ตั้งชื่อร้านว่า Nomad ทำเอาสนุกแหละ ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมทำอะไร ผมเอาความอินความชอบเป็นตัวตั้งตลอด เรื่องเงินรองลงมา มันเลยถูไถมาได้จนถึงวันนี้

สว่าง ทองดี นักเดินทางที่เรียนรู้กาแฟในไร่ทั่วโลกมาแล้ว 7 ปี และยังไม่หยุดเดินทาง

เก่งมากเลยนะที่เอาความอินมาเป็นตัวตั้งได้

ไม่รู้สิ ผมว่ามันจะมีคนที่ใช้ชีวิตตามตรรกะกับคนที่ใช้ชีวิตตามอารมณ์ ผมอาจจะเป็นอย่างหลัง อย่างตอนเปิด Nomad แรก ๆ เราก็ไม่รู้อะไรเลย คือเอากาแฟคั่วเข้มมาชงให้ชาวบ้านกินไปทั่ว (หัวเราะ) จนมันค่อย ๆ ถลำลึกลงไป พอชงกาแฟเป็นก็เริ่มอยากรู้ว่าต้นกาแฟอยู่ไหน ลูกกาแฟเป็นยังไง แปรรูปยังไง กาแฟมีสายพันธุ์อะไรบ้าง อะไรคือกาแฟที่ดี เหมือนเรารู้แค่หนึ่งแต่มีสิ่งที่ไม่รู้เป็นสิบเลย ไม่รู้จนยอมไม่ได้แล้ว เลยคิดว่าต้องออกเดินทางไปรู้เรื่องพวกนี้แล้วล่ะ

ทริปแรกที่ไปเรียนรู้เรื่องกาแฟของคุณเป็นยังไงบ้าง

ทริปแรกที่ไปคือเอธิโอเปีย ซึ่งไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ เราก็ยังขี่จักรยานผจญภัยไปเรื่อย ๆ แต่มีเรื่องกาแฟเพิ่มเข้ามา เหมือนไร่กาแฟที่นั่นจะห่างจากเมืองหลวงเจ็ดร้อยกิโลเมตร เราก็ปั่นจักรยานไปเรื่อย ๆ อาทิตย์หนึ่ง แค่จากแต่ก่อนเราอาจจะเน้นไปตามเมือง ไปจุดท่องเที่ยว นอนโฮสเทล หาอะไรกินระหว่างทาง คราวนี้เราก็ไปแช่อยู่ในไร่กาแฟสองสามอาทิตย์แทน

แล้วร้าน Nomad ของคุณล่ะ 

ด้วยความที่เป็นจักรยานพ่วง เราก็ทำแบบเปิด ๆ ปิด ๆ อยู่ประมาณสามปี ช่วงปีที่สองถึงสามเราเริ่มไปเรียนรู้เรื่องกาแฟ เลยเริ่มไปหาเมล็ดกาแฟมาคั่วขายด้วย แล้วก็เปิดเพจออนไลน์เอา จนปีที่สี่ เราไปอเมริกาใต้ทั้งปีก็ไม่ได้ขายเลย จนมาเจอโควิด ล็อกดาวน์ ก็ขายไม่ได้อีก เลยไปซื้อสวนกาแฟมาทำไร่ซะเลย ถือเป็นการลงทุนเล็ก ๆ เพราะฉะนั้น ตอนนี้นอกจากเที่ยวแล้ว ผมก็มีไร่และโรงคั่วกาแฟเล็ก ๆ หุ้นกับน้องชายแล้วก็รุ่นพี่อีกคนหนึ่ง ผมออกเดินทางไปหากาแฟเพิ่มเติม ส่วนคนที่เหลือเขาก็ดูแลเรื่องการผลิต การขายอยู่ที่ไทย

จากเอธิโอเปีย ตอนนี้กาแฟพาคุณไปกี่ที่แล้ว

ไปเอธิโอเปีย แล้วก็ไปพม่า ไปดูกาแฟที่รัฐฉาน แหล่งกาแฟเก่าแต่ตั้งแต่สมัยอังกฤษ ทริปนั้นเราได้ไปเรียนรู้เรื่องการต่อสู้ระหว่างชนเผ่ากับรัฐบาลทหารด้วย แล้วก็ไปเวียดนาม อินโดฯ อเมริกาใต้ แล้วก็ล่าสุด อเมริกา ไปเรียนรู้เรื่องปลายทางของกาแฟ ประมาณนี้ เดี๋ยวปีหน้าก็มีแพลนอีก

สว่าง ทองดี นักเดินทางที่เรียนรู้กาแฟในไร่ทั่วโลกมาแล้ว 7 ปี และยังไม่หยุดเดินทาง

งั้นทุกวันนี้คุณเที่ยวเพื่อไปหากาแฟ หรือเพราะกาแฟเลยทำให้เที่ยว

เที่ยวแล้วให้กาแฟเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง มันเหมือนเรามีเป้าหมายเพิ่มขึ้นมากกว่า คือถ้าไม่ได้อินเรื่องกาแฟ เป้าหมายก็อาจจะเป็นอย่างอื่นและเราก็คงยังเดินทางอยู่ดี เพราะยังมีเรื่องสนุก ๆ ที่เราไม่รู้อยู่อีกเยอะ ส่วนตอนนี้กาแฟทำให้ทริปของเรามีสีสันขึ้น แล้วเราก็หวังว่ามันจะเป็นพอร์ตโฟลิโอของเราในอนาคตด้วย

ทริปเกี่ยวกับกาแฟที่จริงจังที่สุดของคุณคือที่ไหน

น่าจะอเมริกาใต้นะ เพราะไปเป็นปีเลย แต่พอบอกว่ากาแฟเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง มันก็เหมือนเราเจียดเวลาไปทำอะไรเกี่ยวกับกาแฟบ้างแค่นั้นเอง อย่างตอนนั้นเราไปเริ่มที่อาร์เจนตินา เขาไม่มีกาแฟ เราก็เที่ยวปกติ จนไปเข้าโบลิเวียที่เป็นแหล่งปลูกกาแฟระดับโลก ก่อนไปเลยกูเกิลดูว่าที่นั่นมีอะไรเกี่ยวกับกาแฟที่น่าสนใจบ้าง ก็ไปเจอบริษัทกาแฟ เลยติดต่อขอเข้าไปฝึกงาน ไปเรียนรู้เพิ่มเติม

หรือย่างตอนไปเปรูที่เป็นแหล่งกาแฟหลักของโลก เราก็ทำเหมือนเดิม กูเกิลจนไปเจอว่าที่นั่นมีเกษตรกรที่เป็นแชมป์กาแฟที่ซีแอตเทิล แล้วครอบครัวเขาอยู่ในโซนที่เราจะไปพอดี ก็ปั่นจักรยานไปหาเลย ถามคนแถวนั้นเอาว่าเขาอยู่ไหน

ถ้าไปแล้วไม่เจอล่ะ

ไม่เจอก็ไม่เป็นไร เหมือนที่หนังสือเรื่อง The Alchemist ของเปาโลบอกไง เขาบอกว่าถ้าคุณต้องการอะไรมาก ๆ พลังจักรวาลมันจะช่วยให้คุณได้ในสิ่งที่คุณต้องการ คือเราบอกว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่เราเชื่อว่าลึก ๆ ถ้าเราต้องการสิ่งนี้มาก ๆ เราก็จะหาทางทำให้ได้อยู่ดี

ที่บอกว่าไปฝึกงาน คุณไปทำอะไรบ้าง

อย่างตอนไปปานามา เราก็เขียนอีเมลไปบอกเขาว่าเราเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่ แล้วอยากมาเรียนรู้เรื่องอะไร เขาก็ให้เราเข้าไปฝึกการเรียกตัวอย่างกาแฟคั่วมาดมกลิ่น ทำ Cupping เพื่อดูว่ากาแฟตัวนี้มีจุดดีหรือจุดเสียอะไรบ้าง เพื่อจะได้ตั้งราคาขายได้ ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ เสร็จก็ล้างแก้ว มาดมใหม่ (หัวเราะ)

ตอนไปอเมริกาก็ไปอยู่ในโรงคั่วที่ซีแอตเทิล เพราะโรงคั่วตรงนั้นเขารับผลิตกาแฟให้บริษัทที่ฮ่องกง เราเลยได้เรียนรู้โปรดักชันกาแฟที่ใหญ่ขึ้น ได้รู้กระบวนการส่งกาแฟระหว่างประเทศ เขาคั่ว เบลนด์ แพ็กยังไง คือเขาก็ไม่ได้สอนเราตรง ๆ ทั้งหมดหรอก หลายอย่างเราก็ต้องสังเกตและเรียนรู้ด้วยตัวเอง

สว่าง ทองดี นักเดินทางที่เรียนรู้กาแฟในไร่ทั่วโลกมาแล้ว 7 ปี และยังไม่หยุดเดินทาง
บทสนทนาเหนือโต๊ะกาแฟกับเจ้าของ Nomad ชายผู้ปั่นจักรยานเดินทางรอบโลกเพื่อเรียนรู้กาแฟและชีวิต
บทสนทนาเหนือโต๊ะกาแฟกับเจ้าของ Nomad ชายผู้ปั่นจักรยานเดินทางรอบโลกเพื่อเรียนรู้กาแฟและชีวิต

สิ่งเหล่านี้มันเป็นประโยชน์กับการขายกาแฟที่ไทยของคุณยังไง

ผมทำ Direct Contract กับเกษตรกรอยู่สามสี่คน ก็ต้องรู้หน่อยว่าเกษตรกรคนนี้ผลิตกาแฟให้แล้วคุณภาพสม่ำเสมอไหม การรู้เรื่อง QC เรื่องกระบวนการผลิตมันช่วยคุณได้เยอะเลย ถึงเราจะเป็นคนขายกาแฟตัวเล็กมาก ๆ แต่เล็กในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพมันควรจะเล็กด้วยนะ การคั่ว การเบลนด์กาแฟทุกล็อตเราต้องทำให้สม่ำเสมอ แล้วผมว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่คนทำกาแฟทุกคนควรรู้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนขาย คนปลูก หรือคนแปรรูป หลายคนอาจจะรู้จากการไปเทคคอร์ส ไปเรียนด้วยวิธีอื่นก็ได้ ส่วนผมเลือกที่จะเรียนรู้ด้วยการเดินทาง

เดินทางมาตั้งเจ็ดปี คุณว่าเทรนด์กาแฟโลกตอนนี้มันเป็นยังไง

ผมคิดว่ากาแฟคั่วอ่อน ราคาสูง ที่มาจากแหล่งผลิตต่าง ๆ ก็ยังเป็นสิ่งที่เฉพาะกลุ่มอยู่นะ โดยทั่วไปคนก็ยังกินกาแฟแมสอยู่ ตอนไปอเมริกานี่เห็นชัดเลย เขากินกาแฟคั่วกลาง คั่วเข้มใส่นมกับน้ำตาลกัน หรือพวกเอสเปรสโซ่ ลาเต้ ม็อคค่า คือชงง่ายหน่อย ในขณะที่กาแฟดริป หรือกาแฟที่ใช้เวลาชงนานกลุ่มคนที่กินยังน้อยอยู่ ถ้าเทียบส่วนแบ่งการตลาดพวกเขาอาจจะมีแค่ห้าเปอร์เซ็นต์

อย่างในอนาคตผมวางแผนว่า อยากทำรถพ่วงกาแฟอีกครั้ง แต่คราวนี้จะทำเป็นรถตู้ขับไปทั่วอาเซียน เราก็คงต้องดูเมนูที่คนกินเยอะ ๆ ไว้ด้วย ไม่ใช่จะมาอินดี้ ดริปกาแฟอย่างเดียว หรือตอนนี้ผมคั่วแค่กาแฟอ่อนขาย พอได้เห็นแบบนี้มันก็ได้ย้อนมามองเหมือนกันนะว่า เราตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าอื่น ๆ หรือยัง

เราเห็นว่าวงการกาแฟเดี๋ยวนี้มีเรื่องสิ่งแวดล้อมและแรงงานด้วย ผู้ผลิตเขาปรับตัวเรื่องนี้กันบ้างไหม

(คิดนาน) แล้วแต่คนที่ทำกาแฟมากกว่า มันไม่ใช่การปรับเป็นภาพใหญ่ เพราะต่างคนก็ต่างมีนโยบายธุรกิจของตัวเอง ถ้าเขาอยู่ในระบบทุนนิยมเต็มตัว เขาก็อาจจะต้องปลูกกาแฟในที่โล่ง เพื่อฉีดยาฆ่าแมลงให้ได้ผลผลิตเยอะ จะได้มีเงินไปเลี้ยงพนักงานอีกร้อยคน ปรัชญาชีวิตคนเรามันต่างกันแหละ แต่ถ้าเขาคิดเยอะกว่านั้นได้หน่อยก็ดี (หัวเราะ) หรืออย่างที่เอธิโอเปีย ประเทศต้นกำเนิดกาแฟ คนปลูกก็ยังลำบากกันมาก กาแฟเอธิโอเปียขายแก้วละสองร้อย แต่คนที่นู่นทำงานทั้งวันยังไม่ได้เงินเท่านั้นเลย ปัญหาความเหลื่อมล้ำตรงนี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่

ส่วนตัวผมเลยคิดว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับเรื่องไหน ก็ทำเรื่องนั้นให้ดีแค่นั้นเอง อย่างผมทำสัญญากับเกษตรกรใช่ไหม เกษตรกรของผมเขาทำอินทรีย์ ปลูกในป่า ไม่ใส่สารเคมีเลย ถึงผลผลิตจะน้อยกว่าแบบเคมีถึง 3 เท่าก็ไม่เป็นไร เราได้เรื่องสิ่งแวดล้อม แล้วเราก็พยายามขายในราคาที่แฟร์ที่สุด ทั้งต่อคนกิน ต่อเกษตรกรและต่อเราด้วย มันอาจจะเปลี่ยนระบบไม่ได้หมด แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำจะอิมแพคต่อคนอื่นไม่มากก็น้อย

กาแฟที่ดีสำหรับคุณคืออะไร

กาแฟที่คุณชอบคือกาแฟที่ดี อะไรก็ได้ที่คุณจิบแล้วคุณจะเอ็นจอยกับมันจริง ๆ จะเป็นกาแฟโบราณกินกับไข่ลวก กาแฟกระป๋อง หรือกาแฟอะไรก็ตาม อย่างผมชอบกาแฟดริปที่รสเปรี้ยวหน่อย ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ดีสำหรับคนอื่นก็ได้ แต่ผมว่าคำว่าดีมันไม่มีนิยามตายตัวนะ

บทสนทนาเหนือโต๊ะกาแฟกับเจ้าของ Nomad ชายผู้ปั่นจักรยานเดินทางรอบโลกเพื่อเรียนรู้กาแฟและชีวิต
บทสนทนาเหนือโต๊ะกาแฟกับเจ้าของ Nomad ชายผู้ปั่นจักรยานเดินทางรอบโลกเพื่อเรียนรู้กาแฟและชีวิต

แล้วในแง่สิ่งแวดล้อมหรือแรงงาน มีคำนิยามกาแฟที่ดีไหม

ผมว่ามันคือกาแฟที่สื่อสารได้ ไม่ใช่แค่เรื่องรสชาติเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงที่มาที่ไปของมันด้วย เอาเข้าจริงหลายบริษัทก็พยายามบอกคนกินนะว่ากาแฟที่เขาขายมาจากไหน มันช่วยพัฒนาชีวิตของคนต้นทางยังไงบ้าง ป่าที่เขาปลูกเป็นยังไง แต่หลายครั้งมันก็เป็นแค่เครื่องมือทางการตลาด ดังนั้น กาแฟที่ดีผมว่ามันควรสื่อสารรสชาติที่ดีและเบื้องหลังที่จริงใจด้วย ไม่ใช่ทำเพื่อมาร์เก็ตติ้งอย่างเดียว

คุณว่าในอนาคตวงการกาแฟโลกจะเป็นยังไง

ผมว่าปีสองปีนี้มีเทรนด์เรื่องการแปรรูปกาแฟเยอะขึ้นนะ เช่น เอากาแฟมาบ่มในถังไวน์ข้ามปี หรือกาแฟแบบ Anaerobic ก็อาจจะเป็นเทรนด์ในตอนนี้ แต่ส่วนตัวผมค่อนข้างเป็นสาย Conservative คือกาแฟส่วนใหญ่รสชาติค่อนข้างมาตรฐานอยู่แล้ว เลยชอบแบบนั้นมากกว่า แต่สองสามปีนี้พอวิธีการแปรรูปเปลี่ยนไป บางทีมันก็ทำให้กลิ่นกับรสชาติกาแฟชัดมากเกินไปด้วย แต่ก็แล้วแต่ชอบนั่นแหละ แล้วผมก็ไม่รู้หรอกว่าเทรนด์นี้จะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน หรือในอนาคตมันจะเปลี่ยนเป็นอะไร หลัก ๆ ผมเลยมองว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังอยู่กับการกินคาปูชิโน่ ลาเต้ เอสเพรสโซ่อยู่ดี เทรนด์นี้ไม่หายแน่ ๆ 

คุณออกไปเรียนรู้และเที่ยวเยอะขนาดนี้ เคยคิดอยากลองกลับมาเปิดร้านกาแฟสบาย ๆ บ้างไหม

ไม่นะ ไม่เคยมีภาพนั้นเลย เหมือนอย่างที่บอกว่า ถ้าวันหนึ่งผมอยากใช้กาแฟสร้างรายได้จริงจัง กาแฟก็ยังต้องทำให้เราเที่ยวได้ด้วย เลยคิดว่าอย่างมากที่สุดก็อาจจะเป็นรถตู้กาแฟอย่างที่บอก เพราะยังไงการเดินทางก็ต้องมาก่อน 

อีกอย่างคือเรามีปรัชญาชีวิตของตัวเองว่าไม่ต้องใหญ่ คือเอาแค่ไม่เดือดร้อนใคร ไม่เป็นภาระใครเท่านั้นพอ เพราะถ้าเรายิ่งทำใหญ่ มันเลี่ยงไม่ได้เลยที่ไลฟ์สไตล์เราจะไปเบียดเบียนคนอื่น เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ขนาดเราทำเล็กแค่นี้ก็ยังมีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งรอบข้างเลย ดังนั้นเราพอใจเท่านี้ดีกว่า หรือถ้าคิดแบบยาว ๆ เลยนะ ใหญ่แล้วไง เราไม่ได้อยู่บนโลกนี้นานซะหน่อย ท้ายที่สุดเราก็เอาอะไรไปไม่ได้อยู่ดี สรุปไม่รู้คิดยาวหรือคิดสั้น เดินทางเยอะ คงเพี้ยนไปแล้วมั้ง (หัวเราะ) 

บทสนทนาเหนือโต๊ะกาแฟกับเจ้าของ Nomad ชายผู้ปั่นจักรยานเดินทางรอบโลกเพื่อเรียนรู้กาแฟและชีวิต

แล้วไม่เคยรู้สึกเหนื่อยบ้างเหรอกับการต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ

ทุกวันนี้การเดินทางเหมือนโรงเรียนที่สอนเรานะ คิดว่าถึงจะแก่แค่ไหนเราก็คงหยุดเรียนรู้ไม่ได้หรอก หลายคนพอมีอายุระดับหนึ่งเขาก็อาจจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่สำหรับตัวเองยังรู้สึกว่าเรายังงี่เง่าอยู่หลายเรื่อง ยังมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ เหมือนยังไม่บรรลุน่ะ เลยคิดว่าก็คงต้องเรียนรู้ไปตลอดนั้นแหละ หลายเรื่องเรียนรู้แล้วก็อาจจะต้องเรียนซ้ำอีก เอาจริง ๆ นะ มันคงไม่มีวันจบหรอก

ถ้าหยุดไม่ได้ งั้นแพลนต่อไปคุณจะไปทำอะไร อยู่ที่ไหน

เดินทางแน่ ๆ ตอนนี้ก็กำลังเก็บเงินเดินทางอยู่ ที่กลับมาไทยนี่ก็เพื่อมาดูกาแฟของเรา เพราะเกษตรกรที่เราทำงานด้วยเขากำลังเริ่มเก็บเกี่ยวแปรรูป เลยว่าจะขึ้นไปหาเขาสักหน่อย ให้รู้ว่าเรายังทำงานกับเขาอยู่นะ คร่าว ๆ น่าจะหมดฤดูเก็บเกี่ยวตอนมีนาคม เตรียมขายเสร็จก็คงพร้อมไปเที่ยวพอดี

 แพลนของปีหน้าจะไปอเมริกากลาง ไปประเทศที่ผลิตกาแฟ เช่น กัวเตมาลา ฮอนดูรัส เม็กซิโก และเอลซัลวาดอร์ ที่นี่คือต้นกำเนิดของกาแฟสายพันธุ์ Pacamara แล้วก็จะไปนิการากัว ถ้ามีโอกาสก็อยากไปจาไมกาด้วย เพราะมี Blue Mountain เป็นภูเขาที่ดังเรื่องการปลูกกาแฟมาก ๆ คือแต่ละประเทศมันมีรายละเอียดแตกต่างกันเยอะมากเลย แล้วก็คิดว่าน่าจะไปสักครึ่งปีเป็นอย่างน้อย ผมอยากผจญภัยไปเรื่อย ๆ ก่อน สะสมความรู้ให้ได้มากที่สุดจากทริปนี้ หลังจากนี้จะทำอะไร ค่อยว่ากันทีหลังแล้วกัน

บทสนทนาเหนือโต๊ะกาแฟกับ ‘สว่าง ทองดี’ ชายผู้ปั่นจักรยานเดินทางรอบโลกเพื่อเรียนรู้กาแฟและชีวิต

ภาพ : สว่าง ทองดี

ขอบคุณสถานที่ : Factory Coffee – Bangkok

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนกาแฟแบบไหน เราขอชวนมาพบกันที่งาน ‘Thailand Coffee Fest 2021 : Coffee People คนกาแฟ’ พร้อมให้ทุกคนได้มาทำความรู้จักและหลงรักกาแฟยิ่งกว่าเดิม พบกันวันที่ 23 – 26 ธันวาคมนี้ เวลา 10.00 – 20.00 น. ที่ IMPACT EXHIBITION HALL 5 – 7 เมืองทองธานี

Writer

Avatar

เอม มฤคทัต

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ที่อยากจะลองทำงานเขียน หลงรักทุกอย่างที่เป็นสีพีชและภาพยนตร์จิบลิ มีความสามารถพิเศษในการกินข้าววันละ 5 มื้อ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล