ผู้คนเชียงใหม่กับต้นไม้ผูกพันกันมาอย่างช้านาน…

700 กว่าปีก่อน พญามังราย กำลังพิจารณาก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ ต้นนิโครธ (ผักเฮือด-ภาษาเหนือ) คือต้นไม้ที่มีหนูเผือกขนาดใหญ่วิ่งมุดเข้าไป เป็นหนึ่งใน 7 ประการชัยยะมงคลที่ทำให้ตัดสินใจสร้างเมือง ณ ตำแหน่งนี้

นอกจากต้นไม้จะมีความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งเมือง ยังผูกพันกับวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่อยู่ทุกๆ ปี อย่างปีใหม่เมือง (สงกรานต์) เชียงใหม่จะมีการประกาศหนังสือปีใหม่เมืองออกมา เนื้อหาระบุว่าผีเสื้อ พญาไม้ และพญาดอกคืออะไร ปีนี้ ‘ผีเสื้อ’ ได้อารักษ์อยู่ที่ไม้สะเลียม (ต้นสะเดา) หมายความว่าปีนี้ชาวเหนือห้ามตัดไม้สะเลียมโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะเกิดเรื่องไม่ดี

ส่วนพญาไม้ปีนี้คือ ไม้พานแข (ต้นปันแถ) ชาวเชียงใหม่จะนำไม้ที่เป็นพญาไม้มาผูกติดกับเสาเอกขณะสร้างเรือน เชื่อกันว่าจะทำให้เกิดความเจริญ และพญาดอกปีนี้ คือ ดอกบุนนาค ดอกไม้ประจำปีที่ชาวเชียงใหม่นำมาเสียบผมเพื่อเสริมขวัญ เป็นสิริมงคลและนำมาถวายพระด้วย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่)

200 กว่าปีก่อน พระเจ้ากาวิละ ทรงตัดสินใจฟื้นฟูเชียงใหม่ที่ร้างมานานให้กลับมาเป็นเมืองอีกครั้ง โดยการปลูกต้นยางนาคู่กับเสาอินทขิลเพื่อเป็นมงคลแก่เมือง ทำให้ต้นยางนามีศักดิ์เป็นไม้หมายเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันยังคงยืนต้นอยู่คู่กับเสาอินทขิลภายในบริเวณวัดเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ถึงทุกวันนี้

แต่ต้นยางนาที่พระเจ้ากาวิละทรงปลูกไว้เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว วันนี้กำลังจะตาย

โชคดีที่ อาจารย์ป้อง-วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์ภูมิสถาปัตย์ของคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ่วงตำแหน่งรุกขกร (หมอต้นไม้) มาเห็นเข้าพอดี ในขณะที่เขากำลังลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทำวิจัยเกี่ยวต้นไม้ที่มีบทบาทกับวัฒนธรรมของเชียงใหม่เพื่อนำเสนอต่อ UNESCO ให้พิจารณาเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก ซึ่งเชียงใหม่เป็นเมืองแรกของโลกที่นำ ‘ต้นไม้’ ที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมมานำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลให้ UNSECO พิจารณาอนุมัติ

เมื่อตรวจสุขภาพของต้นยางนาแล้ว ผลที่ได้ทำให้อาจารย์ป้องไม่อาจรีรอไปได้นานกว่านี้ เขาเชิญชวนพรรคพวกมาร่วมกันรักษาไม้หมายเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ จนเกิดโปรเจกต์ ‘Save ยางนา ฮักษาอินทขิล‘ ขึ้นมา

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

“ประมาณเดือนกันยายนปีที่แล้ว เชียงใหม่อยู่ในช่วงปลายฤดูฝน ผมพบว่าใบของต้นยางนาอินทขิลร่วงและมีกิ่งแห้ง ซึ่งมันไม่ควรมีอาการแบบนั้นในช่วงฤดูนี้ ต้นยางนามีอาการผิดปกติ ทีนี้คำถามถัดมาคือเพราะอะไร

“ถ้าน้ำมากพอก็ไม่น่าจะทิ้งใบ แปลว่ามันดูดน้ำไม่พอหรือดูดน้ำไม่ได้ ซึ่งปัญหาน่าจะอยู่ที่ราก รากอาจจะเน่า ผุ หรือขาด ผมเลยมาดูที่โคนต้น พบว่ามีการล้อมปูนรอบโคนต้น พื้นบริเวณโดยรอบก็มีการเทซีเมนต์ปูเป็นพื้น ผมสังเกตเห็นรอยแตกของปูน พอลองแงะรอยก็พบรากฝอยเต็มไปหมด แสดงว่าต้นยางนากำลังพยายามมีชีวิตรอดด้วยการไปหาน้ำ แสดงว่าพื้นปูนล้อมรอบโคนต้นเป็นปัญหาแล้ว” อาจารย์ป้องลงจากต้นยางนามาอธิบายโปรเจกต์ที่เกิดขึ้น

อาจารย์ป้องขอคำปรึกษาจาก อาจารย์กอล์ฟ-รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ อดีตคณะบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะกรรมการเชียงใหม่เมืองมรดกโลกและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมล้านนา รวมถึงอิ๋ว-ลักขณา ศรีหงส์ กลุ่ม เขียว สวย หอม เครือข่ายประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมและการรักษาต้นไม้ในเมือง

“ผมบอกอาจารย์กอล์ฟว่า ต้นยางกำลังจะตาย อาจารย์กอล์ฟสวนมาทันทีว่า มันตายไม่ได้นะ”

อาจารย์ป้องและอาจารย์กอล์ฟตัดสินใจกันเข้าไปคุยกับเจ้าของพื้นที่ นั่นก็คือเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง ทั้งสองช่วยกันทำสไลด์นำเสนอต่อคณะสงฆ์จนทุกท่านเข้าใจ และอนุญาตให้เข้ามาทำการรักษาต้นยางนาได้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ตรงนี้ยังได้รับการดูแลโดยกรมศิลปากร พวกเขาจึงต้องทำเรื่องขออนุมัติต่อ เมื่ออธิบายเหตุผลให้ฟัง กรมศิลปากรก็เข้าใจเป็นอย่างดี และเป็นครั้งแรกที่กรมศิลปากรอนุญาตให้มีการเข้าไปทุบ รื้อ เพื่อรักษาต้นไม้ที่ยืนคู่โบราณสถาน

เมื่อได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง อาจารย์ป้องชักชวนพรรคพวกที่เชี่ยวชาญงานด้านการรักษาต้นไม้มาร่วมแรงกัน ตั้งแต่ทีมวิศวกรดูแลเรื่องการรื้อถอนพื้นปูนและที่ล้อมรอบต้นยาง ทีมนักปฐพีวิทยาดูแลเรื่องความสมบูรณ์ของดินรอบบริเวณต้นยางนา ทีมนักวิทยาศาสตร์เข้ามาเก็บตัวอย่างจุลินทรีย์บนยอดต้นยางนาเพื่อดูผลการรักษา 

ทีมรุกขกรระดับประเทศที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการปีนขึ้นรักษาบนยอดต้นยางนา ทีมผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปูพื้นหญ้า ทีมนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของเชียงใหม่ อาทิ เขียว สวย หอม, สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นต้น จนเกิดเป็นทีมรักษาต้นยางนาอินทขิล ไม้หมายเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ ในนามกลุ่ม ‘Save ยางนา ฮักษาอินทขิล’

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

ความสำคัญของ ต้นยางนาอินทขิล ไม้หมายเมืองจังหวัดเชียงใหม่

“ต้นยางนาต้นนี้เป็นไม้หมายเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีอายุมากกว่าสองร้อยปี ตำนานเรื่องไม้หมายเมืองแบ่งออกได้เป็นสองยุค ยุคแรก คือ ต้นนิโครธ มีหนูเผือกวิ่งมุดลงไปที่ถูกนำมาผนวกเป็นชัยมงคลในการตั้งเมือง 

“จนพม่ายึดครองเมืองเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองร้างนับร้อยปี พระเจ้ากาวิละทรงรวบรวมพรรคพวกเข้ายึดเชียงใหม่คืน และฟื้นเมืองขึ้นอีกครั้ง กวาดต้อนผู้คนย้ายมาอยู่ในเมือง เรียกว่ายุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง และวันที่ย้ายเข้ามาก็มีการปลูกต้นยางนาต้นนี้ให้เป็นไม้หมายเมืองเมื่อ พ.ศ. 2339 กลางช่วงรัชกาลที่หนึ่ง นี่คือตำนานที่หนึ่ง

“ตำนานที่สอง ตอนกวาดต้อนผู้คนเข้ามาอยู่ในเชียงใหม่ ยังไม่ได้ปลูกทันที จนย้ายเสาอินทขิลจากวัดสะดือเมืองมาอยู่ใจกลางเมืองที่วัดเจดีย์หลวง ก็เลยปลูกต้นยางให้คู่กับเสาอินทขิลตามตำนานว่า เสาอินทขิลคู่กับต้นยางใหญ่ อันนี้ พ.ศ. 2341 ห่างกันสามปีจากตำนานแรก เราเลยสันนิษฐานกันว่าต้นยางนานี้มีอายุมากกว่าสองร้อยปี”

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

ต้นยางนาอินทขิลนี้มีความสำคัญยืนคู่กับวัฒนธรรมเชียงใหม่มาแต่โบราณ 

ในอดีต ต้นยางนี้ยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สำหรับบอกผู้สัญจรได้อีกว่า คุณมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว

“ระยะเวลาจากพระเจ้ากาวิละมาถึงวันนี้ ช่วงปลูกได้ประมาณยี่สิบปีแรกเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่า และอีกครั้งตอน พ.ศ. 2536 ในยุคเราก็มีเหตุการณ์ที่กิ่งหักลงมา คนเชียงใหม่เชื่อกันว่าเป็นสัญญาณบอกว่าจะเกิดอาเพศ 

“ตอนนี้ทีมรุกขกรขึ้นไปจัดการกิ่งผุ ตัดแต่งให้เรียบร้อย และนำเอาอาเพศลงมาหมดแล้ว” อาจารย์ป้องหัวเราะอารมณ์ดีก่อนเสริมว่า “ถ้ายังไม่เอาพื้นคอนกรีตที่ล้อมโคนต้นออก เรานี่แหละที่ทำให้เกิดอาเพศซะเอง

“ต้นไม้จะตายนะ”

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่
วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

ปฏิบัติการฮักษายางนา

ทีม Save ยางนาฯ เริ่มต้นปฏิบัติการวันแรกในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564 ถือเป็นวันดีตามความเชื่อล้านนา เมื่อต้นยางนาผูกโยงเข้ากับพิธีกรรมและวัฒนธรรมของเชียงใหม่มาช้านาน ทางทีมจึงต้องปฏิบัติการอย่างถูกหลักดั้งเดิมด้วยเช่นกัน โดยทุกคนร่วมกันบวงสรวงต่อหน้าเสาอินทขิลและเทพที่ปกปักรักษาเสาอินทขิลกับต้นยางนาต้นนี้ 

เมื่อบวงสรวงก็เริ่มต้นงานโดยทันที เนื่องจากมีระยะเวลาในการจัดการเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

“เรามีเงื่อนไขเดียว คือต้องทำก่อนหน้าฝน ช่วงฝนตกต้นยางนาจะแตกใบ ถ้าเราไปตัดเขาช่วงนั้น ก็เหมือนปล้นเอาของที่เขากำลังรวบรวมไว้ แต่ช่วงไม่มีฝน ทุนเขามีเต็มตัว อาหารเต็มไปหมดแล้ว เขาไม่แตกใบแล้ว ตอนนี้แหละที่เราเข้าไปจัดการได้ เราไปจัดการต้นไม้ไม่ได้ตลอดทั้งปีนะครับ แต่ที่เราเห็นมีการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ช่วงหน้าฝน ก็เพราะปีของรอบงบประมาณมันไปตรงช่วงนั้น ซึ่งไม่เหมาะสมเลย จากระยะเวลาที่เรามีในมือจึงลงเอยที่หกสัปดาห์ 

“ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมจนถึงช่วงต้นเมษายน เพราะเดือนเมษายนเป็นช่วงประเพณีปีใหม่เมือง ชาวเชียงใหม่จะเข้ามาสักการะเสาอินทขิลและต้นยางนาจำนวนมาก ดังนั้น เราจึงมีเวลาแค่ช่วงนี้เท่านั้นเพื่อเข้าไปรักษาต้นยาง”

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่
วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

ตามแผนการของทีมระยะเวลา 6 สัปดาห์นี้ พวกเขาต้องทำงานตามที่วางกันไว้ นั่นคือรื้อเอาพื้นที่ล้อมต้นยางออก ตัดแต่งกิ่งข้างบน ปรับปรุงคุณภาพราก เปลี่ยนจากซีเมนต์เป็นการปูหญ้า และทำระบบระบายน้ำใต้ดิน

หลังบวงสรวงปักธูปลงยังไม่ทันได้มอดดี ทางทีม Save ยางนาฯ ก็เริ่มต้นประชุมคุยงานกันทันที แต่ละฝ่ายต่างรู้หน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดี และมีการจัดวางคิวเข้าทำงานโดยไม่รบกวนกันอย่างเป็นระบบด้วยความรวดเร็ว

ปฏิบัติการตามหารากต้นยางและข่าวดี

ปฏิบัติการแรกของพวกเขาคือ การทุบ รื้อพื้นซีเมนต์รอบต้นยาง เพื่อค้นหาแนวรากใหญ่ของต้นยางนา

การรักษาต้นไม้ใหญ่ สิ่งที่สำคัญอย่างมากคือ แนวรากใหญ่ นี่คือส่วนสำคัญที่ช่วยยึดต้นไม้ไม่ให้ล้ม

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

“ความน่ากลัวของต้นไม้ใหญ่คือการล้ม บางทีไม่ตายก็ล้มได้ เพราะแนวรากใหญ่พังหมดแล้ว การอนุรักษ์ต้นไม้ที่แท้จริงไม่ใช่แค่การถือกรรไกรตัดแต่งกิ่งให้สวย ข้างล่างที่เรามองไม่เห็นต่างหากสำคัญ รากและคุณภาพดิน

“รากใหญ่ของต้นยางยื่นเข้าไปในดินประมาณสามเมตร แล้วก็มุดหายลงไปเลย แต่ถ้ารากใหญ่ยื่นเข้าไปในดินสามเมตรแล้วย้อนกลับมา กลายเป็นรากแห้งและตาย นั่นจะเป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดีเลย” อาจารย์ป้องเปรียบ

หลังทุบพื้นคอนกรีตออกจนหมดและทีมเสียมลมเป่าดินออกเพื่อค้นหาแนวรากใหญ่โดยไม่ทำร้ายราก 

เมื่อหน้าดินถูกเปิดพวกเขาก็พบกับสิ่งที่ตามหา… “ทีมของเราพบข่าวดีครับ” 

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่
วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

“เราเจอแนวรากใหญ่ที่ยังคงมีชีวิตอยู่และอยู่ในรูปทรงที่โอเค ถ้าต้นยางนาไม่โอเค การรื้อดินออกขนาดนี้ ใบเขาจะร่วงและเฉา หลังจากเจอแนวรากที่ต้องการ เราก็นำกระสอบมาคลุม แล้วรดน้ำเพื่อคุมความชื้นให้เขาอยู่ได้ 

“จากนั้นให้ทีมจัดทำการวาดผังแนวราก เผื่อมีการก่อสร้างจะได้ระวังว่ามีแนวรากตรงไหนบ้าง สายไฟยังทำได้ ท่อน้ำยังทำได้ รากต้นไม้เราก็ต้องทำได้ ขณะเดียวกันก็ทำร่องรอบๆ ต้นยาง เพื่อใส่วัสดุปลูกดีๆ ลงไป ก่อนเอาดินเดิมมากลบ จ่ายอาหารเพื่อล่อให้รากขยายตามที่เราตั้งใจ ถ้ารากโตตามร่อง ก็รับรองได้ว่าแนวรากแข็งแรงแน่นอน”

หลังจากปรับปรุงคุณภาพของรากเรียบร้อย ทางทีมจะนำดินมากลบและนำหญ้ามาปูแทนซีเมนต์

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

“เราคิดกันว่าจะใช้อะไรแทนพื้นซีเมนต์ ให้น้ำซึมลงสู่รากใต้ดินของต้นไม้ได้และไม่เป็นสิ่งกีดกวางต้นยาง ถ้าเป็นอิฐ ครบสามปีก็ต้องเปลี่ยนใหม่ อีกข้อคืออิฐมันไม่เย็น เราต้องการความเย็นให้ราก เลยลงความเห็นกันว่าเป็นพื้นหญ้า และแน่นอนว่าเราต้องคำนึงถึงระบบระบายน้ำด้วย เพื่อไม่ให้หญ้าแฉะจนคนไม่สามารถเข้ามาใช้งานได้ 

“สนามหญ้าที่มีระบบระบายน้ำที่ดีไม่ใช่เรื่องใหม่เลยครับ เราโชคดีได้ทีม Grassyland ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการทำสนามหญ้ามาช่วยจัดการส่วนนี้ให้ ซึ่งเป็นระบบที่พบในสนามกอล์ฟ หลังฝนตกสามสิบนาทีหญ้าแห้งตีกอล์ฟต่อได้เลย ซึ่งเราลดขนาดมาปรับใช้กับที่นี่ และจะกลายเป็นตัวอย่างของการจัดการสนามหญ้าในพื้นที่อื่นต่อไป”

ความเชื่อบิดเบี้ยวที่ถูกทับถมมานาน

“ตอนที่เราทำการรื้อพื้นปูนออกมา เราค้นพบว่ามีการสร้างทับกันถึงหกชั้น มีความลึกหกสิบเซ็นติเมตร โดยยังไม่รวมที่ก่อขึ้นล้อมรอบโคนต้นยาง การพัฒนาวัดเราพบการก่อสร้างทับเยอะมาก โดยไม่สนใจที่จะรื้อของเก่าออก 

“เพราะรื้อแล้วก็ไม่รู้จะเอาไปไว้ไหน เอาไปไว้ที่บ้านใครก็กลัวจะเกิดเรื่องซวย ไว้ที่วัดก็รกวัดอีก ก็เลยทับมันเลย และยังมีความเชื่อเรื่องศรัทธาใหม่ ถ้าจะรื้อศรัทธาอันเก่ามันจะบาป เลยทำทับไปเลย พอจะซ่อมแซมพื้นเก่า ก็ไม่ได้อีกเดี๋ยวบุญมาไม่เต็ม เป็นบุญเก่าที่เราไปซ่อม ก็ทำทับไป ผลลัพธ์เลยออกมาเป็นแบบนี้ จากความเชื่อที่บิดเบี้ยว

“ความรู้ด้านวัฒนธรรม ศาสนา และวิทยาศาสตร์ ควรจะควบคู่กัน เป็นการจัดการร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะได้ผลลัพธ์ที่เบี้ยวๆ แบบนี้ สุดท้ายอาเพศที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากไหน แต่มาจากความหวังดีแบบผิดๆ ของเราเอง”

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

การทำงานของทีมรุกขกรบนยอดไม้

การรักษาต้นยางนาอินทขิลครั้งนี้ อาจารย์ป้องที่เป็นรุกขกรได้ชวนเพื่อนรุกขกรจากทีม Happy Tree มาช่วยกันดูแลต้นไม้หมายเมืองของเชียงใหม่ด้วยกัน โดยการจะขึ้นไปที่ยอดต้นยาง พวกเขามีการยิงเชือกนำขึ้นไปพาดบนยอดด้วยอุปกรณ์เหมือนหนังสติ๊ก จากนั้นจึงสาวเชือกนำเพื่อนำเชือกใหญ่ขึ้นไป ด้วยความที่ต้นยางนามีความสูงมาก ในปฏิบัติการครั้งนี้พวกเขาจึงตัดสินใจใช้รถเครนยกทีมรุกขกรขึ้นไปทำงานที่ยอดไม้ด้วย

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

นอกจากงานตัดแต่งกิ่งที่ผุแห้งและย้ายกาฝากออกจากยอดต้นยาง ทีมรุกขกรยังวัดความสูงของต้นยางนาอินทขิลโดยใช้เชือกห้อยลงมาจากยอด แล้วนำลงมาทาบกับตลับเมตรบนพื้น ความสูงอยู่ที่ 37.7 เมตร 

อาจารย์ป้องเล่าเรื่องเกร็ดความรู้เกี่ยวกับต้นยางนาอินทขิลให้เราฟังเรื่องหนึ่ง

“ก่อนจะย้ายเสาอินทขิลมาอยู่วัดเจดีย์หลวง เดิมทีวัดสะดือเมืองก็มีต้นยางอยู่คู่กับเสาอินทขิล และมีตำนานเล่าว่า มีชาวลั้วะนุ่งห่มขาวคอยดูแลเสาอินทขิลและต้นยางอยู่ ต่อมาเมื่อพระเจ้ากาวิละทรงย้ายเสาอินทขิลมาไว้ที่วัดเจดีย์หลวงและทรงนำต้นยางนามาปลูก พระเจ้ากาวิละก็ให้ชาวลั้วะเป็นคนปลูก แม้จะห่างจากตอนก่อสร้างเชียงใหม่ในสมัยพญามังรายหลายร้อยปี แต่พระเจ้ากาวิละก็ยังทรงเคารพประเพณีดั้งเดิมของชาวลั้วะ เพราะถือว่าเป็นคนที่อยู่เชียงใหม่มาแต่เดิม

“ทุกวันนี้ก่อนถึงประเพณีเข้าอินทขิล ผู้มีเชื้อสายลั้วะก็ยังคงมานอนที่วัดเจดีย์หลวงก่อนหนึ่งวันเพื่อเตรียมของสักการะเสาอินทขิลกับต้นยาง ในการปฏิบัติการครั้งนี้ก็มีชาวลั้วะเป็นส่วนหนึ่งของทีมรุกขกรด้วยครับ”

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่
วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

ข่าวดีที่ราก ข่าวร้ายที่ยอด

“เรานำโดรนบินตรวจสภาพบนยอดของต้นยางนาด้วยครับ พอทีมรุกขกรปีนขึ้นไปทำงานตัดแต่งกิ่งบนยอด พบว่ามีต้นไทรย้อยกับกล้วยไม้กะเรกะร่อนขึ้นอยู่บริเวณยอด ซึ่งทำการย้ายออกมาเรียบร้อยพร้อมตัดแต่งกิ่ง

“แล้วเราก็พบกับข่าวร้ายครับ” อาจารย์ป้องเงียบอยู่ครู่ก่อนเล่าว่า “เราพบว่ามีโพรงอยู่สามโพรงบนยอด ซึ่งโพรงหนึ่งมีขนาดใหญ่ กว้างสามสิบสองเซนติเมตร ถ้าเกิดมีน้ำเข้าไปในโพรงจะทำให้ต้นยางผุ เราจึงต้องอุดโพรงพวกนี้”

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

ตามทฤษฎีที่อาจารย์ป้องเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการจัดการโพรงไม้มี 2 แนวทาง คือ การอุด กับ ไม่อุด

“ตามหลักการที่ฝรั่งแนะนำ เขาบอกว่าไม่ให้อุดและปล่อยให้ต้นไม้รักษาตัวเอง แต่เราต้องทบทวนดีๆ เพราะบ้านเราอยู่ในเขตร้อนชื้น ฝนตกชุก เขาไม่ใช่ เขาไม่มีปัญหาเรื่องน้ำอย่างเรา และต้นไม้อายุขนาดนี้ที่มีโพรงบนยอดกว้างถึงสามสิบสองเซนติเมตร เขาต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาตัวเองยาวนานกว่าจะหุ้มโพรงตนเองได้จนมิด 

“แค่กิ่งมะม่วงขนาดเท่าแขนก็ต้องใช้เวลาถึงสามปีกว่าจะรักษาตัวเองจนสนิท สำหรับต้นยางนาอินทขิลเราแก่แล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะรักษาตัวเองจนเรียบร้อยได้ไหม เราไม่อยากเสี่ยงกับตรงนี้ จึงเลือกวิธีการอุดโพรงเหล่านั้น

“หลักการอุดโพรงที่ต่างประเทศเคยทำ จะใช้โฟมหรือซีเมนต์อุด เหมือนกับการเอาก้อนหินไปยัดไว้ในแผลต้นยาง เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ไม่อยากให้มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ข้างในเมื่อต้นยางหุ้มตัวเขาเองได้แล้ว เรามองไปรอบๆ บริเวณ จึงเกิดไอเดียเมื่อหันไปเห็นกอกล้วยไม้กะเรกะร่อนที่เรานำลงมาจากยอดต้นยาง”

เทคนิคการอุดโพรงไม้แบบใหม่ของโลก

“พอเราเห็นกอกล้วยไม้กะเรกะร่อนก็ปิ๊งไอเดียหนึ่งขึ้นมา กล้วยไม้กะเรกะร่อนเป็นไม้ที่เกลียดน้ำ เขาจะป้องกันไม่ให้ตนเองโดนน้ำ โดยการที่ใบของเขาจะมีความมันมากๆ และมีลักษณะเป็นร่องยาวเพื่อไม่ให้โดนน้ำ

“กล้วยไม้พันธุ์นี้ยังมีชั้นรากที่หนามาก เราเลยจะใช้ต้นกล้วยไม้นี้แหละเป็นตัวอุดโพรง ใช้ลักษณะของกล้วยไม้กะเรกะร่อนป้องกันน้ำไม่ให้เข้าโพรง แล้วอุดผสมด้วยกาวกับขี้เลื่อยของต้นยางเอง เมื่อลองสอบถามผู้เชี่ยวชาญ เราพบว่าความเป็นไปได้ จึงเลือกวิธีนี้เป็นวิธีแรก ถ้าสำเร็จ เราก็จะได้วิธีการอุดโพรงที่ไม่ใช้วัสดุแปลกปลอมจากต้นไม้ 

“แต่ถ้าไม่สำเร็จ เราก็หันกลับมาใช้วิธีอื่นที่ได้ผลกว่า”

ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับต้นไม้เก่าแก่และต้นไม้ใหม่

“เรามักรู้สึกว่าต้นไม้ใหญ่ในเมืองน่าจะมีความแข็งแรงมากกว่าต้นเล็กๆ อายุน้อยที่เพิ่งปลูกไม่นาน

“ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลยครับ ต้นไม้ใหญ่ในเมืองกับต้นไม้ใหญ่แตกต่างกันคือ พลังงานที่เขาหาได้จะอยู่ที่ใบ ถ้าใบตกลงมา ต้นไม้ในป่าก็หมุนเวียนย่อยสลายกลับไปที่ต้น แต่ต้นไม้ใหญ่ในเมือง ถ้าเรากวาดใบออก เราตัดพลังงานของเขาออกไปเรื่อยๆ อาหารเขาก็น้อยลงเรื่อยๆ สิ่งที่ต้องจัดการคือ ทำให้เขาหาอาหารหาพลังงานเองได้เรื่อยๆ

“อีกอย่างที่ต้องพูดถึงคือ มวลต้นไม้ ต้นไม้จะมีมวลอยู่สองประเภท คือ Dynamic Mass กับ Static Mass สำหรับต้นไม้อายุน้อย จะมี Dynamic Mass เยอะ นั่นคือการที่มันเติบโตและมีการทิ้งใบบ้าง เช่น ใบร่วง ตรงกันข้ามเลยกับต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุเยอะในเมือง คุณปู่ต้นไม้เหล่านี้จะมี Static Mass มากกว่า Dynamic Mass 

“ดังนั้น ส่วนที่มีชีวิตของเขาทุกส่วนนั่นสำคัญ กิ่งไม่สวยก็ต้องเก็บไว้สร้างอาหาร การตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ไม่เหมือนการตัดเล็บที่ตัดแล้วจะงอกใหม่ นี่คือการขจัดอวัยวะที่ต้นไม้จะเสียดุลการสร้างอาหาร ทุกสิ่งที่เก็บได้เราจะเก็บไว้ 

“เราอยากให้เข้าใจว่าต้นไม้ใหญ่อายุมากต้องได้รับการดูแลที่มากกว่าต้นไม้อายุน้อย ซึ่งไม่ต่างกับคนเลย”

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

ฮอมฮักฮอมแรง

นอกจากการรวมผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการรักษาต้นยางนาจนเกิดเป็นทีม ‘Save ยางนา ฮักษาอินทขิล’ แล้ว อาจารย์ป้องยังมีไอเดียจะขอแรงของชาวเชียงใหม่ทุกคน ให้มาร่วมกันช่วยดูแลต้นยางนาอินทขิลต้นนี้ร่วมกัน

“โดยพื้นแท้ที่ผมเคยเรียนเรื่องการอนุรักษ์มาจากองค์กร UNESCO และ IUCN จุดประสงค์ของการอนุรักษ์ที่สำคัญมากๆ คือ ถ้าคนไม่รู้ว่าจะอนุรักษ์ไปทำไม การอนุรักษ์นั้นจะล่มสลาย ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในอดีต

“คำว่าอนุรักษ์มันไกลตัวมนุษย์ธรรมดาทั่วไปมาก ถ้าโบราณสถานก็เป็นนักโบราณคดี ถ้าอนุรักษ์ป่าก็เป็นป่าไม้ แท้จริงแล้วใครก็อนุรักษ์ได้ จะเป็นนักเรียน พระ เณร ใครก็ได้ ผมอยากเอาคำว่าอนุรักษ์มาสร้างความเข้าใจใหม่ 

“แต่สิ่งสำคัญที่สุด คนต้องมีส่วนร่วม เราเลยระดมคนมาช่วยกัน มาช่วยกันเก็บหิน ช่วยกันปรับปรุงไม้หมายเมืองและเสาอินทขิลของเราให้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าสมัยโบราณเราก็ทำกันแบบนี้ สมมติจะสร้างวัด ในอดีตคงไม่มีการแบ่งอาชีพว่าต้องเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรถึงจะทำได้ ชาวนา ช่างซอ ช่างทอผ้า ถ้าเขาว่างเขาก็มาช่วยกัน และการมีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งสิ่งหนึ่งขึ้นมา จะทำให้เขาผูกพัน มีความทรงจำกับสถานที่นั้น และสถานที่นั้นก็มีเรื่องราวของผู้คน 

“การมีปฏิสัมพันธ์เช่นนี้จะทำให้คนรู้สึกรักสถานที่นั้น นี่คือหัวใจของการอนุรักษ์”

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่
วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

เพจ Save ยางนา ฮักษาอินทขิล จึงประกาศเชิญชวนผู้คนทุกเพศ ทุกวัย เข้ามาช่วยกันในกระบวนการทำงานเพื่อรักษาต้นยางนา ตั้งแต่เก็บเศษหิน คัดแยกวัตถุโบราณ ไปจนถึงขนดินปรับพื้นสำหรับขั้นตอนการปูพื้นหญ้าต่อไป

ตลอดการทำงานตลอด 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนมากเข้ามาช่วยเหลือ ตั้งแต่หน่วยงานต่างๆ ผู้คนทั่วไป เด็กนักเรียน พระ และเณร ทุกคนต่างมาด้วยหัวใจเดียวกัน นั่นคือความต้องการที่จะรักษาต้นไม้หมายเมืองของพวกเขา และยิ่งทำให้บรรยากาศการทำงานในไซต์งานเต็มไปด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพที่ทุกคนต่างหยิบยื่นให้แก่กัน

เมื่อมีปัญหาอะไรก็พร้อมจะมีคนเชียงใหม่ยื่นมือเข้ามาช่วย 

ต้นไม้หมายเมืองจึงกลับมาทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเชียงใหม่อีกครั้งดั่งที่เคยเป็นมา

“การฮอมแรงหรือรวมแรงมีมาแต่โบราณแล้วครับ ผมแค่เปิดโอกาสให้เขากลับมาทำเหมือนที่เคยทำ” 

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

ไม้งอกเงย ผู้คนงอกงาม

ปฏิบัติการฟื้นฟูต้นยางนาผ่านไปได้ด้วยดีทุกขั้นตอน

หลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติการรักษากลายเป็นบทเรียนด้านการรักษาต้นไม้ใหญ่ของประเทศต่อไป

วัตถุโบราณที่ถูกค้นพบทางนักโบราณคดีและกรมศิลปากรก็เข้ามาดูแลต่อ มีทั้งอิฐโบราณที่ต่อเป็นรูปทรงโดนัทโดยมีศิลาแลงรองอยู่ด้านใต้ สันนิษฐานว่าเป็นฐานของเสาวิหารเดิม รวมถึงค้นพบเครื่องถ้วยโบราณ กระเบื้องเขียนลาย วัตถุมงคลต่างๆ ซึ่งทางทีมจะนำมาจัดเป็นนิทรรศการใต้โคนไม้ เพื่อเล่าว่าต้นยางหนึ่งต้นเก็บเรื่องราวอะไรไว้บ้าง

เราได้ค้นพบวิธีการอุดโพรงต้นไม้โดยใช้วัสดุจากต้น และอาศัยลักษณะทางธรรมชาติของพันธุ์ไม้มาช่วยจัดการโพรง ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะกลายเป็นวิธีการอุดโพรงไม้ที่นำไปใช้ได้ทั่วโลก การร่วมแรงร่วมใจกันของผู้คนเชียงใหม่ทั้งหมดในการเข้ามาช่วยรักษาต้นไม้หมายเมืองของพวกเขา ได้ปลุกจิตสำนึกความมีส่วนร่วมในเมืองให้ฟื้นกลับมา 

เช่นเดียวกับความรู้เรื่องการจัดการต้นไม้ในเมือง ซึ่งเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงให้พระและเณรช่วยกันทุบซีเมนต์ล้อมโคนต้นไม้ภายในวัดออกให้หมด และนำความรู้จากการดูแลต้นยางอินทขิลมาดูแลต้นไม้ต่างๆ ภายในวัด

การรักษาต้นยางนาอินทขิลครั้งนี้ นอกจากทำให้ต้นไม้กลับมางอกเงย 

ผู้คนใต้ร่มเงาของมันก็งอกงามขึ้นเช่นกัน

วิธีรักษายางนาอายุ 200 กว่าปี ตั้งแต่ขุดรากจนบินโดรนดูยอด เพื่อ #Save ไม้หมายเมืองเชียงใหม่

ภาพ : Save ยางนา ฮักษาอินทขิล

Writer & Photographer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่