ท่ามกลางแบรนด์เสื้อผ้าทอและย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ แบรนด์ สาธุ (Satu) จากดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ คือแบรนด์เสื้อผ้าที่เตะตาเราตั้งแต่แรกเห็น จากลวดลายแสนประณีตด้านหลังเสื้อที่เกิดจากภูมิปัญญาการเขียนเทียนของชาวม้ง รูปทรงและเนื้อผ้าจากใยกัญชงและฝ้ายธรรมชาติที่ให้ความรู้สึกดิบๆ ย้อมสีหม่นๆ เนื้อผ้าที่มีรอยตะปุ่มตะป่ำแสดงให้เห็นว่า นี่เป็นการปั่นฝ้ายจากฝีมือคนซึ่งเครื่องจักรไม่อาจเลียนแบบ และที่ดูจะเด่นยิ่งกว่าเสื้อผ้า ก็คือรอยยิ้มอารมณ์ดีและบทสนทนาแสนเป็นมิตร ของ แบงค์-ศักดิ์สรัญ ดวงอินทร์ ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์สาธุ

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

เสื้อผ้าของแบรนด์สาธุเกิดจากไอเดียของแบงค์ร่วมกับการพึ่งพาภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ม้ง กะเหรี่ยงโพล่ง และปกาเกอะญอ ในจังหวัดเชียงใหม่ จนออกมาเป็นเสื้อผ้าสวยไม่เหมือนใครและช่วยส่งเสริมให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีรายได้เพิ่มขึ้นจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ตนมีอยู่แล้ว และยังพาคนรุ่นใหม่ที่ออกจากบ้านมาหาโอกาสในเมืองกลับสู่บ้านและครอบครัวอย่างมีสุข

ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากความคิดและการกระทำของหนุ่มดอยเต่าที่มีความฝันว่า ‘อยากอยู่บ้าน’

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

จากความฝันแสนเรียบง่ายพาให้แบงค์กลายเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่ทั้งอนุรักษ์ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือของประเทศไทยเอาไว้ ทั้งยังสร้างรายได้ให้ชุมชน และพาคนรุ่นใหม่กลับสู่บ้าน ตัวเขาเองก็ได้อยู่บ้านกับครอบครัว และทำให้ทุกคนมีความสุขได้ยังไง วันนี้เราจึงเดินทางขึ้นสู่ดอยเต่าไปที่บ้านของแบงค์ สถานที่อันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่ถูกถักทอขึ้นมาทั้งหมด

แบงค์ต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มกว้าง ก่อนพาเราขึ้นไปที่ชั้นสองของบ้านริมนาที่ทำจากไม้ โดยมีแบงค์เป็นผู้ออกแบบร่วมกับภูมิปัญญาของสล่า (ช่างพื้นบ้าน) ใช้วิธีการเข้าลิ่มไม้ในการก่อสร้างอย่างประณีต เราล้อมวงคุยกันตรงบริเวณเตาไฟ โดยมีแบงค์กำลังจุดไฟและชงชาให้เราดื่มพลางสนทนา

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน
สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

“ทั้งชีวิตของผมมีความฝันอยู่อย่างเดียวเลยครับ คือการได้อยู่บ้าน ไม่เคยคิดจะไปไหนเลย” แบงค์เริ่มต้นเล่าเรื่องราวของเขาด้วยแววตาใสซื่อ “มันเรียบง่ายอย่างนั้นเลยครับ ความฝันของผมคือใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ให้ได้กลับมาอยู่บ้าน แต่อยู่แล้วต้องเป็นประโยชน์กับตัวเรา ครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สี่องค์ประกอบนี้ที่เราเชื่อว่าจะทำให้เรามีความสุขถ้ามันดีทั้งหมด นี่เป็นแนวคิดการใช้ชีวิตของผมที่ผมเชื่อว่ามันดีแล้ว คำว่า สาธุ เลยกลายเป็นชื่อของแบรนด์และลูกคนแรกของผม ซึ่งมีความหมายว่า ดีแล้ว”

พอถึงช่วงวัยที่ต้องเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย แบงค์จึงเลือกศึกษาต่อในสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร

“มันเป็นสาขาที่เราเชื่อว่าถ้าเรากลับมาอยู่บ้าน จะมีประโยชน์กับคนที่บ้านและชุมชนที่เราอยู่ น่าจะเหมาะกับความฝันของเรา เพราะทำให้เรากลับมาอยู่บ้านได้”

  แต่แบงค์คิดผิด เมื่อวิชาที่เขาคิดว่าจะทำให้ความฝันอย่างการได้กลับมาอยู่บ้านและพัฒนาบ้านของเขาเป็นไปได้กลับไม่เป็นไปอย่างนั้น 

“สิ่งที่ผมได้เรียนคือ การสร้างเราเพื่อป้อนให้กับระบบอุตสาหกรรม ไม่ได้สอนให้เราพึ่งตนเอง ไม่ได้สอนให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่บ้าน ไม่ได้สอนให้ชุมชนพึ่งตนเองแล้วเติบโตงอกงาม มีอยู่มีกิน มีความสุขจากข้างใน ไม่ใช่สิ่งของภายนอก ตามความฝันของเรา เลยกลายเป็นว่าตอนนั้นผมคอยทะเลาะกับครู กับเพื่อน กับทุกคนที่คิดไม่เหมือนเรา แต่ผมมีความสุขมากๆ นะครับ เพราะถึงจะทะเลาะ แต่มันก็ทำให้เกิดความรู้ เป็นการปะทะเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อตกตะกอน หลายอย่างเราผิด เราก็ต้องเรียนรู้ ไม่ใช่ปะทะเพื่อทะเลาะเบาะแว้งอย่างเดียว จากคนที่คิดว่าตัวเองถูกต้องที่สุดในโลก สุดท้ายก็มีเรื่องที่เราผิดว่ะ เราผิดมาตลอดเลย บางอย่างมันอาจจะถูกนะ แต่มันไม่ได้ถูกสำหรับทุกที่”

เมื่อสิ่งที่เรียนไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้ความฝันของเขาสำเร็จ สิ่งที่แบงค์ทำก็คือการตามหา

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

“ผมเลือกตามหาคนที่มีองค์ความรู้ มีวิธีการอยู่บ้านในแบบที่เราชอบ ไปหา ไปอยู่ ไปดู ไปอ่านหนังสือ อ่านเรื่องราวในอินเทอร์เน็ต ไปหา โจน จันได ไปหาปราชญ์ต่างๆ ที่เขามีชีวิตอย่างที่เราฝัน”

พอเรียนจบ แบงค์ก็ตัดสินใจเก็บกองหนังสือใส่เบาะหลังมอเตอร์ไซค์ สะพายกระเป๋าหนึ่งใบ และพกความฝันที่จะกลับมาเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดี เดินทางกลับบ้านที่ดอยเต่าทันที

“ช่วงนั้นเรายังหนุ่ม ไฟความฝันของวัยรุ่นมันพลุกพล่าน เราอยากทำนู่นนี่เต็มไปหมดเลย อยากปฏิวัติทุกอย่างในหมู่บ้าน อันนี้ก็ไม่ดี อันนันก็ไม่ดี ทำไมต้องใช้ยาฆ่าแมลง ลองปลูกผักที่หลากหลายกว่านี้ได้ไหม เราทะเลาะกับคนที่บ้านเยอะมาก แล้วตอนหลังเราถึงพบว่าเรามันโคตรเด็กเลย เรามีแต่ความคิด เราไม่รู้วิธีเลยว่าจะต้องทำยังไง ขั้นตอนหนึ่ง สอง สาม สี่ คืออะไรเพื่อที่จะไปถึงตรงนั้น เราไม่เคยทำอะไรเลย เราอยู่แต่ในหนังสือ เราไม่มีพื้นที่แสดงออกว่าเวลาเราทำแล้วภาพจะออกมาเป็นยังไง เวลาเราไปพูดกับชาวบ้านก็ไม่มีใครเชื่อ เราเป็นแค่เด็กจบใหม่ที่มีแค่พลังเยอะ 

“ตอนนั้นผมมีโอกาสได้สมัครทำงานเป็นครู แล้วก็เริ่มทำงานกับกลุ่มเยาวชนเพื่อพัฒนาชุมชน แต่พอเริ่มทำเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าเราขาดความรู้อะไรบ้าง เราต้องรู้อะไรถึงจะกลับมาอย่างสง่า เราต้องการเครื่องมืออะไรบ้างเพื่อที่จะครบมือสำหรับทำสิ่งที่เราฝันได้ ก็เลยไปหาสมัครงานสายพัฒนา เป็น NGO เราอยากทำงานแบบนั้นตามความฝันของเราอยู่แล้ว”

“ช่วงที่เรากำลังหางาน โชคดีที่เรามีโอกาสได้ไปช่วยทำงานวิจัยของรุ่นพี่ที่ภาคเหนือ เป็นบุญของเรามากที่ได้ทำงานกับรุ่นพี่ที่ทำงานมาก่อนเราหลายปี เขาก็เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง พาเราให้ได้ไปเห็นพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ สภาพแวดล้อมต่างๆ วิธีคิดของคนที่ต่างออกไป หลังจากนั้นเราก็ทำงานที่มูลนิธิไทยรักป่า ทำอยู่สามถึงสี่ปี ซึ่งผมโชคดีที่ไทยรักป่าเขาเปิดคอร์สเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองทุกปี เราก็สมัครเข้าไปอบรมทุกปี เรียนรู้เครื่องไม้เครื่องมือในการจัดกิจกรรมกับชุมชน การสื่อสารอย่างสันติ การพึ่งตนเองได้ในช่วงที่ภัยธรรมชาติมา ภาวะผู้นำ การจัดการกระบวนการกลุ่ม เราไปเรียนรู้และยังนำมาใช้กับงานที่เราทำได้ เลยได้ฝึกตลอดเวลา และยังได้เดินทางไปตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้เราเห็นบ้านของเราชัดเจนขึ้นว่ามีศักยภาพอะไรบ้าง ดึงใครมาช่วยงานเราได้บ้าง 

“ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจกลับบ้านเลยครับ คราวนี้เรามีความมั่นใจมากขึ้นแล้ว สามารถตวัดกระบี่ได้อย่างเฉียบคม เราไม่ใช่แบงค์คนเดิมอีกแล้ว เราเชื่อในกำลังภายในที่เราไปร่ำเรียนมาในองค์กร มันพรั่งพรูมาก”

แบงค์นำเครื่องมือและองค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานมาก่อตั้งกลุ่มเยาวชนเพื่อพัฒนาหมู่บ้านที่ดอยเต่า ทำงานเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน ชื่อกลุ่มว่า ‘กระบือห่วงถิ่น’ โดยสมาชิกแต่ละคนจะมีโค้ดเนมนำด้วยกระบือต่อด้วยลักษณะของคนนั้น ซึ่งโค้ดเนมของแบงค์ก็คือ ‘กระบือ เสรี’ ที่เป็นชื่อเฟซบุ๊กของเขา ซึ่งเขาทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชนมาตลอด 8 ปี

นอกจากความมั่นใจในองค์ความรู้ที่กลับมาทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชน ขณะที่ทำงานอยู่ที่ไทยรักป่า แบงค์ก็เริ่มลองทำงานแฮนด์เมด ร้อยลูกปัด ทำตะข่ายดักฝัน (Dream Catcher) ไปขายที่ถนนคนเดินทุกสุดสัปดาห์ จนมีรายได้เพียงพอที่ทำให้เขามั่นใจว่าเลี้ยงดูเขากับครอบครัวให้กลับไปอยู่บ้านและทำในสิ่งที่เขาชอบได้ ซึ่งต่อมาความชอบก็ได้พาให้เขาเริ่มต้นขยับไปทำงานผ้า

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

“ช่วงที่เราไปขายของ เราจะใส่เสื้อผ้าที่แม่ตัดให้ไปด้วย คือตั้งแต่เกิดมาเราชอบไม่เหมือนคนอื่น แต่งตัว ทรงผม ถ้าเราชอบ มันจะต้องไม่เหมือนคนอื่น ถ้าใส่เสื้อแล้วเห็นคนอื่นใส่เหมือนเราจะไม่ใส่เลย เหมือนโรคจิต” แบงค์หัวเราะแซวตัวเอง “พอเข้ามหาลัย แม่ผมเขาเย็บผ้าอยู่แล้ว ก็เลยให้แม่ตัดเสื้อผ้าให้ใส่ ทีนี้ตอนขายของที่ถนนคนเดินลูกค้าก็ชอบมาถามว่าเสื้อผ้าที่เราใส่ซื้อได้ที่ไหน เราเลยเริ่มเห็นว่ามันน่าจะขายได้ จึงตัดสินใจลองทำเสื้อผ้าขาย พอเห็นว่าขายได้ผมก็เลิกทำพวกลูกปัดกับตะข่ายดักฝัน แล้วมาทำเสื้อผ้าขายอย่างเดียวเลยครับ

“เหตุผลที่เปลี่ยนมาขายเสื้อผ้าก็ง่ายมากเลยครับ การทำสร้อยลูกปัดมันเหนื่อย” แบงค์หัวเราะสนุก “คือผมทำถึงตีสามตีสี่ทุกวันเลย โคตรเหนื่อย ทำจนปากเปิกขาวหมดเลย เราตื่นมาก็ต้องเริ่มทำงานละ เหนื่อยมาก พยายามหาคนมาช่วยก็ไม่ได้ดั่งใจเรา แต่พอทำผ้ามาแขวน คนเริ่มสนใจ เริ่มซื้อ ซึ่งเราไม่ได้ทำคนเดียว มันเหนื่อยน้อยกว่า แถมยังกระจายรายได้ให้คนในชุมชนด้วย ผมก็เปลี่ยนเลยครับ” แบงค์หัวเราะปิดท้ายอีกครั้ง

ในเมื่อคนที่ไม่ชอบใส่เสื้อผ้าเหมือนใครจะทำเสื้อผ้าขายทั้งที เสื้อผ้าของเขาก็ต้องไม่เหมือนกับใครๆ และสิ่งที่แบงค์นึกขึ้นมาได้ก็คือ ประสบการณ์ช่วงที่ได้เข้าไปทำงานกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ขณะอยู่ที่ไทยรักป่า ทำให้เขารู้ว่าแต่ละชาติพันธุ์มีภูมิปัญญาเกี่ยวกับผ้าที่น่าสนใจของตนเอง และสิ่งแรกที่ทำให้แบงค์รู้สึกชอบมากที่สุด ก็คือผ้าจากใยกัญชง

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน
สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

“พูดถึงตอนนั้น ถ้าจะให้พูดหล่อๆ ที่เราเลือกใช้ใยกัญชงก็เพราะว่าเรารักธรรมชาติครับ มันทำให้สิ่งแวดล้อมดีงาม อนุรักษ์วิถี อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเอาแบบไม่หล่อเลย จริงๆ ผมเริ่มต้นจากความชอบล้วนๆ หลายอย่างในชีวิตเราเริ่มต้นจากความชอบอย่างเดียวเลย เป็นตัณหาของเรา ยิ่งเรามีตัณหาไหนหนัก เราก็จะพยายามวิ่งไปหาสิ่งนั้น เหมือนเวลาเรารักใครสักคน เรายอมขี่รถไปเป็นร้อยกิโลเพื่อไปหาเขา อันนี้ก็เหมือนกัน เรารู้ว่าอะไรมีที่ไหนเราก็ไปหามัน”

ตัณหาของแบงค์ยืนยันได้จากลายขาก้อมบนหน้าขาของเขา (การสักขาลายแบบโบราณของภาคเหนือ) ซึ่งเขาค้นพบว่ามีช่างที่สักได้อยู่ในจังหวัดตาก แบงค์จึงไม่รอช้า ขี่มอเตอร์ไซค์จากดอยเต่าไปจังหวัดตากเพื่อสักอย่างที่เขาชอบและตั้งใจ โดยใช้เวลา 3 วันเดินทางไป แถมยังหลงในป่าอยู่เป็นวันกว่าจะค้นพบสถานที่อยู่ของช่างสักที่เขาตามหา

เช่นเดียวกัน เมื่อเขาสนใจที่จะทำเสื้อผ้าจากใยกัญชงซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวม้ง และชาวม้งทำได้ดีที่สุด แบงค์ก็ไม่รอช้าเดินทางไปที่หมู่บ้านของชาวม้ง

“ตอนนั้นที่ผมเดินทางไปที่หมู่บ้านม้งบนดอยปุย เขาเลิกทำผ้าจากใยกัญชงไปแล้ว แต่ผมก็ยังคงขึ้นไปอ้อนวอนเขาประมาณสามสี่รอบ ถ้าไม่ทำให้งั้นขอเรียนได้ไหม ก็ไปเรียนทำ และได้เรียนเขียนเทียน ซึ่งเป็นอีกภูมิปัญญาของชาวม้ง เขียนจนผมอ้วกเลยครับ เพราะใช้ความอดทนและความประณีตสูงมาก แล้วสุดท้ายเขาก็ยอมกลับมาทำให้เรา ซึ่งผมเข้าใจได้นะว่าเขาไม่มั่นใจในตัวเรา ว่าเราจะทำให้เขามีอาชีพที่มั่นคงได้ เพราะถ้าเขาต้องปล่อยอาชีพที่มั่นคงอยู่แล้วหันมาทำผ้าจากใยกัญชงให้เราแล้วเขาจะอยู่ได้ไหม เขาไม่มั่นใจว่าเราจะอยู่กับเขาได้กี่วัน ไม่ใช่สั่งครั้งเดียวแล้วก็ไป จนถึงวันนี้ผมก็ยังไม่รู้เลยครับ ว่าทำไมเขาถึงยอมกลับมาทำให้จนถึงทุกวันนี้” แบงค์หัวเราะอารมณ์ดีอีกครั้ง

“ผมว่าเส้นใยกัญชงมันเท่ มันไม่เท่ากัน มันจะแข็งๆ หน่อย เราชอบ เราเห็นแล้วใช่ มันคืออารมณ์ที่เราต้องการ เช่นเดียวกัน ฝ้ายก็ต้องเป็นฝ้ายทอมือ เพื่อให้มันเกิดพื้นผิวตะปุ่มตะป่ำ คือเราต้องเป็นฝ้ายดึงมือ ไม่ใช่โรงงาน โชคดีที่แถวดอยเต่ายังมีชาวกะเหรี่ยงโพล่งปลูกฝ้ายอยู่ตามหัวไร่ปลายนาและยังคงทอผ้าอยู่ ซึ่งเป็นการทอโดยใช้กี่เอว กี่ทอผ้าแบบสมัยก่อนที่ระบบอุตสาหกรรมยังไม่เข้ามา 

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

“กี่เอวแบบนี้จะได้หน้าผ้าที่ไม่กว้างเหมือนผ้าที่เราซื้อตามตลาด ดังนั้นเราต้องเอามาต่อ เลยทำให้เกิดทรงเสื้อของภาคเหนือที่เป็นเอวลอยบ้าง เราต้องออกแบบแพตเทิร์นให้สอดคล้องกับความเป็นได้ของหน้าผ้าที่ป้าๆ ทอขึ้นมา และยังทำให้เกิดการทำตะเข็บตรงสันหลังเสื้อ กลายเป็นเอกลักษณ์ของเสื้อผ้าแบรนด์สาธุ ซึ่งเป็นตะเข็บลายดอกที่กะเหรี่ยงโพล่งดอยเต่าเท่านั้นที่ทำได้

“อีกเอกลักษณ์สำคัญของเสื้อผ้าแบรนด์สาธุก็คือลายเขียนเทียนของม้ง เหตุผลที่ผมตั้งใจไปอ้อนวอนให้เขาทำให้ถึงสี่รอบก็เพราะว่า พี่เขาเป็นคนเดียวที่วาดลายในขนาดกรอบที่เรากำหนดไว้ได้ แตกต่างจากปกติที่ชาวม้งจะวาดลายจนเต็มผ้า ผมว่านี่เป็นภูมิปัญญาที่โคตรเท่เลย และมันต้องใช้ความอดทนของผู้ทำสูงมากๆ ซึ่งปัจจุบันเหลือคนเขียนได้น้อยเต็มที โชคดีของผมจริงๆ ที่พี่ยาหยียอมทำให้”

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน
สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

พี่ยาหยียังได้แบ่งปันเรื่องราวของภูมิปัญญาการเขียนเทียนของชาวม้งให้เราได้ฟังว่า นี่เป็นภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโบราณและสืบทอดกันมาผ่านนิทานในเผ่า

“ปู่กับย่าเคยเล่าให้ฟังเป็นนิทานว่า เมื่อก่อนมีเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ผู้คนตายหมด พอสวรรค์โปรดคนให้กลับมาอีกครั้ง เผ่าอื่นก็เริ่มฟื้นขึ้นมา แต่ม้งไม่มีอะไรเหลือเลย เอกสารหนังสือต่างๆ จมไปในน้ำหมด เหลือแม่ไก่กับลูกไก่สองตัว วันหนึ่งแม่บ้านไปเห็นไก่เขี่ยๆ บนดิน ก็เลยเอามาเขียนเป็นลวดลายบนผ้า ซึ่งมีชื่อเรียกหลักๆ สี่ชื่อ แต่ในสี่ชื่อนี้ทำได้ไม่รู้กี่ร้อยลายอยู่ที่เราจะทำยังไง ซึ่งในอดีตผู้หญิงม้งทุกคนต้องปักผ้าเป็น ต้องทอผ้า ต่อเส้นใย เขียนเป็น ซึ่งในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ผู้หญิงม้งจะมีชุดสุดท้าย แต่ละคนต้องมีชุดของตัวเอง พอวันสุดท้ายเขาจะเอาชุดนั้นมาใส่ เป็นผ้ากัญชงย้อมห้อม

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน
สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

“นอกจากนั้น สมัยที่จีนเกิดสงคราม ชาวจีนไล่ตามฆ่าม้ง ในช่วงเวลานั้นผู้หญิงม้งจะเขียนลวดลายลงบน กระโปรงเป็นลายของตัวเอง เพื่อให้สามีหาเจอหากเสียชีวิต ซึ่งปกติลวดลายเหล่านี้จะเขียนลงบนผืนกระโปรง แต่ปัจจุบันก็เริ่มวาดลงที่อื่นแล้ว และมีการพัฒนาลายเพิ่มเติมจากเดิม และในทุกวันปีใหม่ ม้งทุกคนจะเอาชุดออกมาโชว์ว่าฝีมือแต่ละคนเป็นยังไง จะมีการขัดเงาผ้าเพื่อแสดงให้เห็นถึงความใหม่ และยังแสดงถึงความขยันของผู้หญิงแต่ละคนในหมู่บ้าน งานผ้าจึงสำคัญมากสำหรับเราชาวม้ง”

ผ้าใยกัญชง ลายเขียนเทียนโดยม้ง ฝ้ายทอมือโดยกะเหรี่ยงโพล่ง และการย้อมสีธรรมชาติโดยปกาเกอะญอ คือ 3 ภูมิปัญญาที่แต่ละชาติพันธุ์ถนัดที่แบงค์นำมารวมไว้ภายในเสื้อของแบรนด์สาธุให้ไม่เหมือนใคร

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

“อย่างที่ผมบอกว่าผมทำโดยเริ่มจากความชอบล้วนๆ เราอยากใส่เสื้อผ้าแบบไหนก็ทำเสื้อผ้าแบบนั้น ผมคิดโคตรง่ายเลย ผมไม่เคยคิดเรื่องการตลาด แม้แต่การคุยกับลูกค้า ผมก็ไม่ได้คิดก่อนว่าจะคุยกับคนนี้ยังไง หลายคนที่เป็นนักการตลาดเขาจะต้องนู้นนี้นั้น แต่ผมเป็นอย่างนี้ ผมทำแบบนี้ และผมเชื่อว่าด้วยความที่ผมเป็นแบบนี้ มันก็จะดึงคนที่เป็นแบบเราเข้ามาหาเรา ลูกค้าของสาธุจึงมีความเชื่อคล้ายๆ กับเรา เราก็เลยอยากคุยเล่น อยากแลกเปลี่ยนกับเขาทั้งวัน มันเป็นไปโดยธรรมชาติครับ” แบงค์พูดพร้อมรอยยิ้ม

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เสื้อผ้าของสาธุขายดีทุกครั้งที่แบงค์ทำออกมาขาย

“แบรนด์สาธุทำอะไรออกมาก็ขายดีครับ” แบงค์พูดด้วยน้ำเสียงและสีหน้าจริงจังก่อนหลุดหัวเราะก๊ากออกมา

“พูดจริงๆ ขายดีหมดเลยครับ แต่ดีในส่วนผมนะครับ คือทำออกมาขายได้ก็ดีแล้ว” แบงค์หัวเราะอารมณ์ดีอีกครั้ง “ล้อเล่นนะครับ สำหรับผม เสื้อแต่ละตัวของสาธุไม่เหมือนกันสักตัวเลย เพราะงานผ้าของเราทำด้วยมือทั้งหมด แต่ละตัวเลยมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนคน เราโชคดีที่ได้เจอลูกค้าน่ารักหลายคน บางคนคอลเลกชันหนึ่งเขาก็ซื้อเก็บทุกขนาดเลยครับ” แบงค์พูดด้วยรอยยิ้ม

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน
สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจในงานผ้าที่เขาทำ

“วันนั้นมีลูกค้าคนหนึ่งใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมเต็มตัวเลย แกหยิบเสื้อสาธุแล้วถามราคา แล้วบอกว่าทำไมถึงแพงจัง เราก็ได้แต่ยิ้มแห้งๆ ไม่ได้พูดอะไรต่อ แล้วเสื้อแบบนี้จะใส่ยังไงให้คนเขารู้ว่ามันราคาแพง ตอนนั้นเราปี๊ดมาก เป็นความคิดเชิงลบ หลังจากนั้นสักสองสามวัน เราก็คิดย้ำเรื่องคำพูดเขา มันก็กลายเป็นความเข้าใจ ทุกคนก็เป็นอย่างนี้รึเปล่า เราต่างก็ชอบอวด ผมก็ชอบอวด อวดการอยู่บ้าน อวดการพึ่งตนเอง อวดว่ามีไก่ มีไข่กินเอง มีผักปลูกกินเอง เราต่างก็อยากอวดในสิ่งที่เราให้คุณค่ากันทั้งนั้น บางคนมีเงินมากพอที่จะซื้อแบรนด์เนม เขาก็อยากอวดเรื่องนี้ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์มากเลย พอคิดได้แบบนี้เราก็เริ่มเข้าใจ แล้วตอนนั้นมีรุ่นพี่ชวนให้เราลองทำเสื้อผ้าเป็นนิทรรศการศิลปะ หนึ่งในงานที่จัดในนิทรรศการนั้นก็เลยออกมาเป็นเสื้อ แพงมาก เราปักราคา ‘ล้านสองแสน สาธุ’ ไว้บนเสื้อไปเลย เป็นงานตลกๆ เสียดสีนิดหน่อย” แบงค์หัวเราะสนุก

ด้วยความที่แบงค์เป็นคนทำเสื้อผ้าหรืออะไรก็ตามมาจากสิ่งที่เขาชอบ นั่นจึงทำให้มีรุ่นพี่ที่เขารู้จักทักว่าเขามีความคิดเหมือนศิลปินสร้างงาน เขาน่าจะทำนิทรรศการศิลปะได้ จึงเกิดเป็นนิทรรศการศิลปะครั้งแรกของเขาที่ชื่อว่า ‘สาธุนำทาง’

“ผมจบส่งเสริมการเกษตร ผมไม่มีประสบการณ์งานศิลปะเลย ไม่มีการไปชมศิลปะ การจัดแสดงศิลปะอะไรผมคือศูนย์ แต่พอรุ่นพี่ที่เรานับถือยุให้ทำ ผมก็ลองทำดู ทำมาจากความรู้สึกและความชอบของเรา จนออกมาเป็นงานที่ผมมีความสุขมากๆ เลยที่มีโอกาสได้ทำ”

นอกจากผลงาน ‘แพงมาก’ แบงค์ยังมีผลงานที่เคยแสดงเป็นนิทรรศการอีกหลายชิ้น อาทิ 

‘ภูมิ’ เป็นการนำภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สาธุทำงานด้วยมารวมไว้ในเสื้อตัวเดียว 

‘กำเนิด’ โดยแบงค์ต้องการนำเสนอว่าทุกคนล้วนเกิดมาเหมือนกันหมด ออกมาจากช่องคลอดของแม่ที่ต้องเบ่งด้วยความเจ็บปวด ความรัก ความห่วงใยต่อลูก ซึ่วแบงค์เอากางเกงมากลับหัวแล้วใช้มีดกรีดตรงเป้าให้เป็นคอเสื้อสำหรับเอาหัวทะลุออกมา ล้อการกำเนิดของมนุษย์ทุกคน

จากการลองทำเสื้อผ้ามาวางขายเพราะลูกค้าถาม ปัจจุบันแบงค์ทำแบรนด์สาธุมาถึงปีที่ 8 แล้ว และก็เป็นเพราะแบรนด์สาธุนี้เองที่ทำให้ความฝันของเขาที่จะกลับมาอยู่บ้านเป็นจริงอย่างที่เขาต้องการ

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน
สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

“แบรนด์สาธุเป็นทุกสิ่งในความฝันผมเลย จากบ้านหลังนี้ไม่มี บ้านหลังนี้มีแล้ว พูดถึงสิ่งที่เราจับต้องได้ก่อน จากลูกมีคนเดียว ตอนนี้เป็นสามคนแล้ว แล้วแม่จากที่ไม่อยากมาอยู่บ้าน แม่ก็มาอยู่ด้วยแล้ว แล้วก็มาช่วยทำงานด้วย จากคนที่บอกว่ามันบ้าแล้ว ใครจะไปเชื่อมัน ทำไม่ได้หรอก เราทำแล้ว จากที่บอกว่าเราบ้าตอนนี้ก็บอกว่า เห้ย มันมีความคิดสร้างสรรค์ คิดไม่เหมือนคนอื่น” แบงค์หยุดหัวเราะสนุก 

“ผมไม่ได้ต้องการให้ชาวบ้านกลับมาใส่เสื้อผ้าตามภูมิปัญญาของเขานะครับ ความฝันของผมคือทุกคนสามารถผลิตเส้นใย ผลิตอะไรเองได้ เป็นทักษะติดตัว จะใส่เสื้อผ้าแบบไหนก็ได้ เราอยากให้มันเป็นภูมิคุ้มกันเฉยๆ ให้ทุกคนเข้าใจว่าเราทำเองได้ แล้วมันกลับมาเรื่องของความภาคภูมิใจว่า ความรู้ของเราอันนี้มันสุดยอดว่ะ มันที่สุดแล้ว คนอื่นทำไม่ได้ แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับเรา จะใส่เสื้อผ้าอะไรก็ได้ แต่พื้นฐานคือคุณต้องภูมิใจในพื้นฐานของคุณ ในชาติพันธุ์ ในภูมิปัญญาของคุณ 

“พอเสื้อผ้าแบรนด์สาธุขายดี เขาก็จะเริ่มสงสัยครับ ว่ามันอยู่ได้เหรอ มีคนซื้อจริงๆ เหรอ และไอ้การสงสัยนี่แหละคือข้อดีที่จะนำไปสู่การหาคำตอบในหลายๆ เรื่อง ตอนนี้คนในชุมชนกำลังหาคำตอบว่ามันเกิดปรากฏการณ์อะไรในโลกที่ทำให้แบรนด์สาธุ ผลิตซ้ำ ผลิตซ้ำ ผลิตซ้ำ ได้ถึงวันนี้ เวลาไปในชุมชนก็มีคนมาถามว่าใครซื้อ แล้วไปขายที่ไหน ซึ่งผมว่ามันดีมากๆ เลย คนในชุมชนที่เลิกเขียนเทียน ลูกหลานก็เริ่มกลับมาช่วย คนที่ทำงานทอผ้า ย้อมผ้า ลูกไปอยู่ในเมือง ตอนนี้ลูกก็กลับมาอยู่ช่วยทำงานทอกับย้อมแล้ว แม่ๆ ที่เคยอยู่บ้านเฉยๆ ตอนนี้ก็มีงานได้ทำ มีเงินให้ลูกหลานได้ใช้แล้ว เขากลับมาสานต่อ มันเป็นกลไกธรรมชาติ เราไม่ต้องไปพยายาม 

“การทำงานอนุรักษ์ ถ้าเราอนุรักษ์เพราะความชอบอย่างเดียว สุดท้ายผลลัพธ์มันต่างกัน หมายความว่า เหมือนเราไปบอกคนในชุมชนว่ามันดีมากนะ เราภูมิใจที่มีสิ่งนี้ในชุมชน แต่เราภาคภูมิใจแล้วยังไง เราภาคภูมิใจเอง ไปบอกเขาแล้วยังไง เขาอยู่กับมันมาตลอดชีวิต เราต้องถามต่อว่าแล้วยังไง มันไม่ได้ทำให้เขามีข้าวกินเข้าปาก ไม่ได้มีเงินซื้อมือถือให้ลูกใช้ได้ มีเงินซื้อรถเดินทาง แต่การอนุรักษ์ที่มันเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้เขาอิ่มปากอิ่มท้อง เมื่อนั้นการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนจะมาเองโดยอัตโนมัติ ชุมชนจะเห็นค่า และทุกคนก็มีความสุขจากสิ่งที่เขามีอยู่แล้ว ดีอยู่แล้ว และอนุรักษ์ต่อไปเพราะมันตอบคุณค่าของเขา ไม่ใช่แค่ของเรา”

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

จากเด็กที่มีแต่ความฝันจะกลับมาบ้านและเปลี่ยนแปลงบ้านตัวเองให้ดีขึ้น ปัจจุบันแบงค์พูดได้เต็มปากแล้วว่าเขาประสบความสำเร็จในการกลับบ้าน มีผู้คนจำนวนมากยอมรับในผลงานของแบรนด์สาธุ และเริ่มยอมรับในสิ่งที่แบงค์อยากเปลี่ยนแปลงที่ดอยเต่า บ้านของเขา ถึงอย่างนั้นแบงค์ก็ยังคงไม่หยุดอยู่แค่นี้

“พอทำแล้ว เราก็อยากทำอีกเรื่อยๆ อยากไปต่อ หลังจากนี้เราจะทำอะไรกันต่อดี เรามีโปรเจกต์ที่คิดในหัวเยอะมากเลย นอกจากการสื่อสารและเป็นตัวอย่างเรื่องการพึ่งตัวเองด้วยแนวทางต่างๆ ถ้าพูดถึงแค่เรื่องผ้า ตอนนี้ผมอยากให้งานผ้าของสาธุกลายเป็นงานศิลปะและไปสู่ระดับโลก ขนาดเราทำแค่ในประเทศยังได้ผลแบบนี้ ถ้าเราได้ไประดับโลกล่ะ ผลมันจะขนาดไหน แน่นอนเราก็จะมีตังค์เยอะขึ้น ทีนี้เราจะทำอะไรก็ง่ายแล้ว แต่ก่อนเราทำกลุ่มเยาวชนต้องถือกล่องรับบริจาคตามหมู่บ้านตามงานต่างๆ ก็ไม่ต้องแล้ว ถ้าเรามีตังค์แค่ดีดนิ้วเท่านั้นทำได้เลย ไม่ต้องไปเขียนโครงการขอหน่วยงานให้ยุ่งยาก ถ้าเราพึ่งตัวเองได้ เราจะทำอะไร พัฒนาอะไรมันก็ง่าย ทำได้เลยทันที นั่นคือสิ่งที่ผมฝันถึง”

เราถามถึงวิธีการไปสู่ระดับโลกของเขา

“ค่อยๆ ทำเหมือนเดิมเลยครับ เราทำในสิ่งที่เราเชื่อ แล้วเราก็ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ไม่มีแผนอื่นเลย ผมเชื่อว่าขนาดเราไม่มีอะไรเลย เริ่มต้นจากเงินพันห้าร้อยบาท แบของขายกับดิน เราทำแบบที่เราเชื่อ มันมาถึงตรงนี้ได้ ถ้าเราทำในสิ่งที่เราเชื่อบ่อยๆ มันจะไปเองตามธรรมชาติ แผนการก็คือไม่มีแผนใดอื่นเลยครับ… ขอแค่ไม่หยุดทำก็พอ

“สำหรับผม ความฝันมันเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ที่มีหลายทาง เราจะต่อตรงกลางก่อนก็ได้เพื่อขยายออกมา ชีวิตของเราเวลาออกแบบ ถ้าเรามีภาพฝันแล้ว หลายคนชอบไปต่อจิ๊กซอว์ตัวที่ไม่ใช่ภาพฝัน โดยเชื่อว่ามันจะกลายเป็นภาพฝัน ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ ในการออกแบบชีวิตเราควรจะต่อจิ๊กซอว์ในภาพฝันของเรา จะทำแบบไหนก็ได้ขอแค่มันต่อออกมาเป็นภาพฝันของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมก็คือ ผมทำทุกอย่างที่มันเป็นจิ๊กซอว์ของภาพฝันผม แล้วต่อมันมาเรื่อยๆ” แบงค์พูดพร้อมยิ้มแฉ่งอย่างมีความสุข

สาธุ (Satu) แบรนด์ผ้าใยกัญชงและฝ้ายสีธรรมชาติของหนุ่มดอยเต่าที่พากลุ่มชาติพันธุ์กลับบ้าน

ติดตามและอุดหนุนผลงานของแบรนด์สาธุได้ผ่านทาง สาธุ-Satu

เข้ามาชมสินค้าและพูดคุยกับแบงค์ตัวเป็นๆ ได้ทุกช่วงเช้าของวันเสาร์-อาทิตย์ ที่จริงใจมาร์เก็ต จังหวัดเชียงใหม่ หรือตามงานแฟร์ที่แบงค์ตัดสินใจไปร่วม

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

ชัยวัฒน์ ทาสุรินทร์

โด้เป็นช่างภาพดาวรุ่งจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นที่รักของเพื่อนๆ และสาวๆ ถึงกับมีคนก่อตั้งเพจแฟนคลับให้เขา ชื่อว่า 'ไอ้โด้ FC'