The Cloud X ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

นี่คือเรื่องราวของ มูลนิธิสติ (SATI Foundation) คนกลุ่มเล็กที่ตั้งใจแก้ปัญหาสังคม ด้วยการพิจารณาที่มาของปัญหา และลงมือแก้ไขปัญหาจากรากสู่ปลายด้วยสติและความคิดนอกกรอบ

เกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ เล่าให้เราฟังถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ที่เติบโตมาในครอบครัวฐานะยากจนและเด็กๆ ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเลือกทางเดินผิดพลาด นำไปสู่การติดอยู่ในวังวนอบายมุข

เกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ

มูลนิธิสติจึงถูกก่อตั้งขึ้นด้วยภารกิจแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนที่สุด นั่นคือการเปิดประตูทางการเรียนรู้ให้พวกเขาได้รับโอกาสเลือกทางเดินชีวิตที่ถูกต้อง รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงสาธารณสุขขั้นพื้นฐานอย่างการกินที่ถูกหลักโภชนาการ และการมีน้ำสะอาดไว้ดื่มกินสำหรับเด็กๆ ด้อยโอกาสในพื้นที่ทุรกันดาร

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิสติทำงานร่วมกับอาสาสมัครนับร้อยคน นำความรู้และทักษะอาชีพไปมอบให้เด็กๆ เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่หรือชนบทที่ห่างไกล

มูลนิธิสติ
เกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ

ในห้องเรียนวิชาชีวิตที่พวกเขาได้สัมผัสความสุขและเรียนรู้ที่จะภาคภูมิใจในตัวเองอีกครั้ง 

เราไปนั่งคุยกับเกรทถึงเรื่องราวของมูลนิธิสติและการหล่อเลี้ยงมูลนิธิผ่านธุรกิจเพื่อสังคมที่เขาร่วมก่อตั้งอย่าง Broccoli Revolution ร้านอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ปันกำไรจากการขายไปแก้ปัญหาสังคม แถมยังรับเด็กด้อยโอกาสและเด็กผู้ลี้ภัยมาฝึกงานที่ร้าน ว่าแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาสังคมที่ตั้งมั่นอยู่บนสติและความคิดนอกกรอบของเขาเป็นอย่างไร 

01

สติมา ปัญญาเกิด

แม้จะเกิดและเติบโตที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เกรทก็ถูกเลี้ยงดูมาอย่างเด็กไทย เขาเข้าใจพุทธศาสนาและศึกษาพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 9 อย่างลึกซึ้ง เขาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้คนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยที่ยังใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ 

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เกรทที่ขณะนั้นเป็นนักศึกษาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เดินทางกลับมาไทย เพื่อบวชเรียนในวัดแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน หลังสึก เกรทไปร่วมเป็นอาสาสมัครของโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ พร้อมทำโครงการอาสาสมัครเล็กๆ โครงการหนึ่ง 

เมื่อการเดินทางครั้งนั้นจบลง เกรทเดินทางกลับอเมริกา พร้อมตั้งใจว่าสักวันหนึ่งในอนาคตจะกลับมาเปิดมูลนิธิเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมในประเทศไทย แต่แล้วก็เกิดจุดเปลี่ยนความคิด 

เกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ

“ตอนแรกคิดว่าจะทำงานเก็บเงินให้ตัวเองรวยก่อน แล้วค่อยมาเปิดมูลนิธิช่วยคนอื่น แต่เมื่อคิดดูดีๆ ช่วงชีวิตคนเรา เมื่อเติบโตขึ้น บริบททางชีวิตย่อมเปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้น วันหนึ่งข้างหน้าผมอาจจะอยากมีบ้าน มีรถ มีความต้องการอะไรมากขึ้นอีกเรื่อยๆ เมื่อเป็นอย่างนั้น ความตั้งใจที่อยากจะตั้งมูลนิธิช่วยแก้ปัญหาสังคมคงไม่เกิดขึ้น วันนี้ถึงไม่มีเงินแต่เรามีใจ แล้วทำไมถึงจะเริ่มลงมือทำเลยไม่ได้ ดังนั้น ทันทีที่เรียนจบ ผมก็กลับมายังประเทศไทยเพื่อทำงานเพื่อสังคม” 

เกรทอธิบายต่อว่า หัวใจของงานเพื่อสังคมในทัศนคติของเขา คือการสร้างระบบเข้าไปเติมจุดที่ขาดและปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างด้วยการแก้ปัญหารูปแบบใหม่ๆ ระบบที่มีประสิทธิภาพขยายการช่วยเหลือสังคมออกไปได้เรื่อยๆ และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มูลนิธิสติ’

“มูลนิธิสติขยับขยายมาจากโครงการเล็กๆ เน้นเรื่องการศึกษาและสาธารณสุขที่ผมทำร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งแต่ตอนยังเรียนไม่จบ เราตั้งชื่อมูลนิธิว่า ‘สติ’ เพราะตั้งใจที่จะพิจารณาถึงปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหาด้วยสติ คิดอย่างรอบคอบ โดยวิเคราะห์ตั้งแต่ต้นตอของปัญหา และสร้างระบบในการแก้ไขที่สามารถทำซ้ำเพื่อขยายผลออกไปเรื่อยๆ ”

02

ปัญหาเด็กๆ

มูลนิธิสติทำงานกับเด็ก 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เด็กขาดโอกาส หมายถึงเด็กฐานะยากจน ซึ่งมักจะเป็นเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลในชนบท กลุ่มที่สองคือ เด็กในกลุ่มเสี่ยง หมายถึงเด็กชุมชน เด็กเร่ร่อน ที่มีภาวะเสี่ยงเรื่องยาเสพติดและขายบริการทางเพศ 

ความเชื่อมโยงระหว่างเด็กทั้งสองกลุ่มนี้ คือเด็กกลุ่มแรกมีโอกาสที่จะกลายมาเป็นเด็กกลุ่มที่สอง “เด็กๆ ต่างจังหวัด เมื่อเติบโตมากับความยากจนมีความเสี่ยงที่เขาจะหนีออกมาจากบ้าน จากนั้นก็มาประกอบอาชีพค้าบริการ ค้ายาหรือกระทั่งติดยาเสพติดเอง เราจึงพยายามแก้ปัญหาจากทั้งปลายเหตุและต้นเหตุ เพราะถ้าเด็กกลุ่มที่หนึ่งได้รับโอกาส ได้รับรู้ว่าเขามีทางเลือกอื่นๆ ที่จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ ความเสี่ยงที่เขาจะกลายเป็นเด็กกลุ่มที่สองก็จะลดลงไปด้วย”

มูลนิธิสติ
มูลนิธิสติ

โดยมูลนิธิสติแบ่งการทำงานเป็น 2 ส่วน คือ การศึกษา และสุขภาพ “เด็กเหล่านี้เขาโตมาในสภาพสังคมที่พ่อติดเหล้า แม่ติดการพนัน เขาคิดว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องปกติและเขาไม่มีทางที่จะก้าวข้ามชีวิตแบบนี้ไปได้ หน้าที่หลักของเราคือ ต้องเปิดโลกให้เขาเห็นว่าชีวิตยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่าเขาอาจจะต้องพยายามมากขึ้นหลายเท่า แต่ทางเลือกสุจริตนั้นมันคุ้มค่าที่จะเลือกเดิน เราจึงให้ความสำคัญกับเวิร์กช็อปทักษะอาชีพ”

เกรทอธิบายต่อว่า มูลนิธิสติจะไปเปิดคลินิกให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพและสุขภาพจิต ที่เดอะฮับสายเด็ก พื้นที่พักพิงให้คำปรึกษาสำหรับเด็กที่มีปัญหา เด็กเร่ร่อน รวมถึงเป็นพื้นที่ในการแสดงออกและพัฒนาศักยภาพให้เด็กๆ โดยศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่หัวลำโพง ภายใต้การดูแลของมูลนิธิสายเด็ก 1387 โดย ม.ร.ว.สุพินดา จักรพันธุ์ หรือที่เด็กๆ รู้จักกันในชื่อ คุณป้าหญิงใหญ่

เดอะฮับสายเด็กมีอาหารสำหรับเด็กด้อยโอกาสวันละ 3 มื้อ ในทุกสัปดาห์จะมีทีมจากสถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ไปให้การศึกษากับเด็กๆ 2 วัน และทีมมูลนิธิสติไปช่วยรับจัดเวิร์กช็อปให้คำปรึกษาอีก 1 วัน 

“มีตั้งแต่เรื่องโรคติดต่อ เรื่องยาเสพติด ไปจนถึงเรื่องเด็กอ่อน เพราะมีเด็กวัยรุ่นที่ท้องโดยไม่ได้ป้องกันเยอะ ผมยังเคยต้องสอนน้องคนหนึ่งให้นมลูก ปัญหาเหล่านี้เมื่อมองไปยังรากของปัญหา ล้วนวนเวียนอยู่กับคำว่าโอกาสและทางเลือกในชีวิต”

03

อาสามาสอน

“เราทำงานกับเด็กผู้หญิงหลายคนที่ขายบริการทางเพศ ระหว่างทำงานร้านสะดวกซื้อทั้งวันได้เงินร้อยกว่าบาท กับหลับตาสิบนาทีก็ได้เงินมาแล้วหนึ่งพันบาท เขาเลือกอย่างหลัง เด็กๆ เหล่านี้เติบโตมากับการถูกทำร้าย ถูกมองด้วยสายตาดูแคลน ไม่เคยได้รับคำชื่นชมเพื่อสร้าง Positive Energy ไม่มี Self-esteem ไม่ได้คิดว่าคุณค่าของเรานั้นสำคัญยิ่งใหญ่ และนั่นทำให้เขาเลือกอย่างหลัง

“ความท้าทายของมูลนิธิสติคือ จะทำให้เขาเลือกทำงานที่ได้เงินน้อยกว่า แต่สุจริตและดีต่อตัวเขาในระยะยาวได้อย่างไร เราใช้เวลาทำความรู้จัก ทำความเข้าใจเด็กแต่ละคนนานเป็นเดือน เป็นปี ระหว่างนั้นก็ใส่พลังบวกให้เขา ให้คำชื่นชม ให้กำลังใจ ถ่ายรูปเก่งนะเนี่ย เลือกใช้สีดีมากเลย ทำขนมอร่อย เราเอ่ยและปฏิบัติต่อเขาด้วยความจริงใจ เพื่อดึงเขาขึ้นมาสู่จุดที่เห็นคุณค่าและภาคภูมิในตัวเองอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงมีอีกครั้ง

“ผมจะไม่พูดว่าการขายบริการของเขาผิด แต่ผมจะค่อยๆ อธิบายให้เขาฟังว่าความเสี่ยงมีอะไรบ้าง ถ้าคุณไม่ใช้ถุงยางอนามัย มันจะมีโรคอะไรบ้าง ความร้ายแรงของมันถึงระดับไหนบ้าง เมื่อเขารู้และเข้าใจถึงความเสี่ยงแล้ว เราถึงจะค่อยมาดูกันต่อว่าตัวตนของเขาสนใจด้านไหน จะเข้าเวิร์กช็อปอะไรได้บ้าง”

เกรทบอกว่า สติคือมูลนิธิที่เป็น Skilled Volunteer เพราะสมาชิกเป็นอาสาสมัครทั้งหมด มีพนักงานทำงานรับเงินเดือนในส่วน Operation อยู่เพียง 2 คน แม้แต่ผู้ก่อตั้งอย่างเขาเองก็นับเป็นอาสาสมัคร มูลนิธินี้ไม่มีออฟฟิศ ทำให้ลดต้นทุนส่วนดำเนินการเพื่อนำไปเพิ่มในส่วนของโปรแกรมพัฒนาสังคมได้

“เรามีอาสาสมัครหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ช่างภาพ นักมวย นักแสดง นักเต้น กราฟฟิตี้อาร์ติสท์ เมกอัพอาร์ติสท์ บาริสต้า อาสาสมัครแต่ละคนจะได้ใช้ทักษะที่ตัวเองมีไปสร้างประโยชน์ให้เด็กๆ ผ่านการทำเวิร์กช็อปรูปแบบต่างๆ โดยจะมีการวางแผนการสอนอย่างเป็นระบบ และวัดผลลัพธ์ได้ว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้อะไร มากน้อยแค่ไหน”

มูลนิธิสติ
มูลนิธิสติ

เกรทเล่าว่า ตั้งแต่มูลนิธิเปิดทำงานมา มีอาสาสมัครหลากหลายอาชีพมากกว่าร้อยคนแวะเวียนกันไปเวิร์กช็อปสร้างทักษะให้เด็กๆ โดยทางมูลนิธิจะพยายามแมตช์ทักษะให้เข้ากับรูปแบบปัญหาของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้แน่ใจว่าทักษะที่เด็กๆ ได้รับไป จะสร้างประโยชน์ในระยะยาวให้เด็กๆ ได้มากที่สุด 

ในการเวิร์กช็อปโดยอาสาสมัครแต่ละครั้ง เด็กๆ จะใช้เวลาอยู่กับทีมมูลนิธิสติหลายชั่วโมง “อย่างอาทิตย์ที่แล้วเรามีเวิร์กช็อปสเปรย์เสื้อยืดกับ มือบอน เรามีเวิร์กช็อปสอนแต่งหน้ากับ แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ เป็นสองสามชั่วโมงที่แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ออกไปทำเรื่องไม่ดี มีสมาธิ มีความสุข และเห็นโอกาสด้านอื่นๆ ในชีวิต 

“สิ่งที่เราคาดหวังนอกจากความสนุก คือทักษะที่ได้ต้องสร้างรายได้ให้พวกเขาได้ อาจเริ่มจากการรับจ๊อบเล็กๆ และค่อยๆ กลายไปเป็นอาชีพ” เกรทเล่าด้วยความกระตือรือร้น

04

น้ำที่ยิ่งใหญ่ คือน้ำใจที่สะอาด

ต่างจังหวัดจะเน้นเรื่องน้ำ เพราะโรงเรียนตามป่าเขาบางแห่งเข้าไม่ถึงระบบน้ำประปาหรือแหล่งน้ำสะอาด เราทำงานกับ Planet Water เป็นมูลนิธิใหญ่จากต่างประเทศที่ทำเรื่องระบบน้ำ โดยโรงเรียนแรกที่ไปทำงานด้วยกันคือที่จังหวัดเชียงราย มีผู้บริจาคเงินหลักคือคู่สามีต่างชาติภรรยาชาวไทย และหลังจากนั้นทุกปีทาง Planet Water จะบริจาคเครื่องกรองน้ำปีละ 10 เครื่อง ราคาเครื่องละหลายแสนบาท

Planet Water

เป็นระบบน้ำแบบยั่งยืนคือไม่ต้องเปลี่ยนไส้กรอง ล้างทำความสะอาดไส้กรองได้ทุกวัน เพราะปัญหาที่ทีมสติไปเจอที่ผ่านมาคือ บางโรงเรียนของบประมาณได้ หรือมีผู้บริจาคเงินสร้างแท็งก์และเครื่องกรองน้ำ แต่เมื่อสร้างเสร็จแทนที่เด็กๆ จะมีน้ำสะอาดกินดื่ม โรงเรียนกลับไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะซื้อไส้กรอง เครื่องกรองน้ำราคาเรือนแสนจึงถูกทิ้งฝุ่นจับอยู่อย่างนั้น

“Planet Water จะจัดส่งเครื่องกรองน้ำแบบล้างไส้กรองได้มาให้ทางมูลนิธิสติปีละสิบเครื่อง หน้าที่ของเราคือลงพื้นที่ไปหาโรงเรียนหรือสถานสงเคราะห์เด็กที่ขาดแคลน มีความต้องการจริงๆ จากนั้นเราก็จะเข้าไปสอนวิธีการใช้พร้อมเปิดเวิร์กช็อปทักษะอาชีพให้เด็กๆ ไปด้วยเลยในทริปเดียว” 

โครงการสร้างระบบน้ำสะอาดอย่างยั่งยืนดำเนินการมาแล้ว 3 ปี เท่ากับมีโรงเรียนและพื้นที่ในชนบทที่ห่างไกลร่วม 30 แห่ง ได้รับเครื่องกรองน้ำที่ผลิตน้ำสะอาดได้วันละ 1,000 ลิตร ไว้ดื่มกินอย่างถูกสุขอนามัย

Planet Water

“ไม่ใช่แค่เอาเครื่องกรองน้ำไปติด ถ่ายรูปพร้อมป้ายแล้วจบนะครับ (ยิ้ม) เราทำงานกับผู้บริหารโรงเรียนในเรื่องของงบประมาณด้วย เพราะสมมติว่าก่อนหน้านี้โรงเรียนต้องซื้อน้ำสะอาดใช้วันละสองร้อยบาท เท่ากับปีหนึ่งต้องเสียเงินซื้อน้ำประมาณห้าหมื่นกว่าบาท เมื่อโรงเรียนมีระบบน้ำสะอาดไว้ใช้แล้ว เงินจำนวนนั้นคุณจะเอาไปทำอะไรต่อ

“เราชวนเขาคิดแผนการบริหารเพื่อขยายการพัฒนาต่อไปด้วยเงินห้าหมื่นบาทที่ไม่ต้องเสียเป็นค่าน้ำ ผู้อำนวยการท่านที่บริหารเป็น เขาจะนำเงินไปซื้อไก่ ซื้อเมล็ดพันธุ์ปลูกผัก เพื่อมาทำสวนเกษตรในโรงเรียน เก็บผลผลิตไปขายเมื่อได้กำไรก็นำไปซ่อมแซมอาคารเรียน ซื้ออุปกรณ์การสอน สร้างประโยชน์ต่อให้นักเรียนไปได้ไม่รู้จบ”

เด็กในพื้นที่ห่างไกลไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะน้ำสะอาด แต่ยังขาดการแคลนเรื่องโภชนาการด้วย “ตอนนี้ผมเริ่มทำฟาร์มออร์แกนิกที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีทั้งผัก ไข่ไก่ และมีเชฟอาสาสมัครอย่าง เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ ขึ้นไปช่วยให้ความรู้เรื่องการกินอย่างถูกโภชนาการ ทำ Nutrition Plan รวมถึงเวิร์กช็อปสอนทำอาหาร”

เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ

เกรทเปิดภาพน้องๆ ที่ต่างจังหวัดกับผลงานชื่อ ‘ศิลปะกู้โลก’ เป็นเวิร์กช็อปที่นอกจากจะสอนทักษะศิลปะแล้ว พวกเขายังสร้างความเข้าใจเรื่องปัญหาขยะ สอนให้เด็กๆ จัดการรับผิดชอบขยะพลาสติก กระป๋อง กระดาษอย่างถูกวิธี และเรียนรู้ที่จะนำขยะมารีไซเคิลให้เกิดมูลค่า

มูลนิธิตั้งใจลงพื้นที่ไปยังจังหวัดห่างไกลเพื่อช่วยสร้างการพัฒนา มากกว่าแค่บริจาคสิ่งของ “เราจะโตไปด้วยกัน” เกรทบอกด้วยแววตามุ่งมั่น เพราะไม่ได้มองแค่วันนี้ แต่มองไปถึงอนาคต 10 ปี 20 ปี 100 ปี เพราะเชื่อว่าระบบจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ จะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นและขยายต่อไปได้เรื่อยๆ มูลนิธิสติจึงตั้งใจสอนคนให้จับปลาแทนที่จะยื่นปลาให้เท่านั้น

05

วิถีเด็กทุน

เกรทเล่าต่อถึงโครงการ Scholarship ของมูลนิธิสติ “เรามีเด็กทุนของมูลนิธิอยู่ประมาณสิบคน เป็นเด็กๆ ที่เราทำงานด้วยมานาน เห็นว่าเขามีทักษะ มีความสามารถที่จะไปต่อได้ในแต่ละสายอาชีพ เราก็มอบเงินทุนสนับสนุนการศึกษาให้ โดยพวกเขาจะจ่ายค่าตอบแทนเป็นการมาเป็นอาสาสมัครช่วยงานมูลนิธิ 

“เมื่อเขาเคยขาดและได้รับโอกาส เขาจะมีความเห็นอกเห็นใจ มีความเข้าใจ และยินดีที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือให้คนที่ขาดเหมือนกัน ในอนาคต ผมหวังให้น้องๆ เด็กทุนกลุ่มนี้เป็นผู้สานต่อความปรารถนาดี กระจายการพัฒนาออกไปให้กว้างไกลขึ้นในอนาคต

“เด็กทุนที่อายุมากที่สุด ตอนที่ผมเจอเขาครั้งแรก เขาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่สอง ที่ชุมชนบึงทองหลาง พ่อเป็นวินมอเตอร์ไซค์ แม่รับจ้างทั่วไปในชุมชน เรียนอยู่ในโรงเรียนที่พระอาจารย์ผมสอนศาสนาพุทธอยู่ เด็กคนนี้อยากเป็นเภสัชกรแต่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ เราเลยจ่ายค่าเรียนพิเศษให้ 

เกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ

“ตอนนี้เขาเรียนอยู่คณะเภสัชศาสตร์ ปีที่หก ทุกๆ ปิดเทอมเขาจะมาช่วยงานมูลนิธิ ทั้งในกรุงเทพฯ และลงพื้นที่ต่างจังหวัดไปกับเรา ช่วยสอน ช่วยเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กๆ คนอื่น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับจากเราจะมาได้ไกลอย่างน้องคนนี้ทุกคนนะครับ มันอยู่ที่ตัวเด็กเองด้วยว่าจะใช้โอกาสที่ได้รับมาอย่างคุ้มค่าที่สุดไหม เป็นความโชคดีทั้งของเขาและเรา เพราะเราเองก็ได้เรียนรู้และได้รับความช่วยเหลืออย่างตั้งใจจากน้องเขาไม่น้อย”

เกรทเล่าถึงน้องส้ม นักเรียนทุนอีกคนที่มีพรสวรรค์ด้านการถ่ายรูป และมาร่วมเวิร์กช็อปถ่ายรูปกับทางมูลนิธิหลายครั้ง มีผลงานการถ่ายภาพที่น่าสนใจหลายชิ้น จนนำมาจัดแสดงเป็น Solo Exhibition ได้ “งานในครั้งนั้นจัดที่ Case Space Revolution พื้นที่แสดงงานศิลปะด้านบนร้าน Broccoli Revolution สุขุมวิท ที่ศิลปินทุกคนจะต้องบริจาคเงินห้าเปอร์เซ็นต์ของการขายชิ้นงาน สมทบทุนช่วยเด็กด้อยโอกาสอยู่แล้ว

“ก่อนจะเริ่มงาน ส้มเขาไม่เชื่อเลยว่างานเขาจะขายได้ เขาไม่เชื่อว่าคนจะซื้อ จะชื่นชม แต่เชื่อไหม แม้เราไม่ได้เขียนบอกไว้ตรงไหนเลยว่านี่คือผลงานของเด็กในชุมชน แต่คนที่มาชม Exhibition ซื้อผลงานกลับไปหลายชิ้นเพราะชอบจริงๆ ยอมรับในฝีมือ ไม่ใช่ซื้อเพราะสงสาร” เกรทเล่าพร้อมรอยยิ้ม

06

กินยั่งยืน สังคมก็ยั่งยืน

จุดเริ่มต้นร้านอาหารที่อยากปฏิวัติรูปแบบการกินของคนเมือง มาจากผู้ก่อตั้งอย่างพี่หนู-ณยา เอียร์ลิคซ์-อาดัม ซึ่งมีเกรทและเป๋า-กรองกาญจน์ เพียรพานิชย์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สิ่งที่ทั้งสามคนสนใจร่วมกันคือเรื่องการกินเพื่อสุขภาพและประเด็นปัญหาเชิงสิ่งแวดล้อมและสังคม

“การกินที่ดี คือการกินอย่างผสมผสาน มีเนื้อสัตว์ มีผัก มีผลไม้ ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง ถ้าพูดตามหลักพุทธศาสนาก็คือทางสายกลางอีกนั่นแหละ” เกรทอธิบายยิ้มๆ

Broccoli Revolution

Broccoli Revolution คือ Socially and Environmentally Conscious Restaurant เพราะร้านอาหารเล็กๆ แห่งนี้สนใจและต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคม เครื่องดื่มทุกแก้วที่ขายได้ จะบริจาคเงิน 9 บาทเข้ามูลนิธิสติเพื่อนำไปช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและทุกในกลุ่มเสี่ยง เงินจากการขายเครื่องดื่มประเภทกาแฟ จะถูกบริจาคเงินเข้าอีกมูลนิธิที่ไปสมทบทุนช่วยเด็กชาติพันธุ์บนดอย

“แน่นอนว่ามันคือธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มันยังต้องมีเรื่องผลกำไรเพื่อประคับประคองให้ธุรกิจขยับขยายต่อไปได้ จริงๆ ในทุกธุรกิจ สมมติว่ามีผลกำไรร้อยเปอร์เซ็นต์ มันขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการเลยนะ ว่าคุณจะเอาผลกำไรไปบริหารจัดการยังไง สำหรับร้านเรา เราเลือกที่จะนำบางส่วนไปช่วยแก้ไขปัญหาสังคม

“ในขณะเดียวกันการช่วยสังคมไม่ได้หมายถึงการบริจาคเงินเท่านั้น เพราะบริจาคให้มันก็มีวันหมดไป มันต้องสร้างระบบและเครือข่ายที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างที่อธิบายไปข้างต้น อย่างวัตถุดิบทุกอย่างในร้าน เราซื้อจากเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้พวกเขามีเงินไปหมุนเวียนในไร่ของเขาต่อไป แน่นอนล่ะว่าราคาแพงกว่าซื้อจากนายทุนเจ้าใหญ่ แต่หากเราไม่อุดหนุนคนตัวเล็ก เขาก็จะล้มหายตายจากไปจนท้ายที่สุดก็ไม่มีเหลือ ความหลากหลายและทางเลือกในการจับจ่ายวัตถุดิบก็หมดไป”

Broccoli Revolution

Broccoli Revolution เป็นหนึ่งในร้านอาหารแห่งแรกๆ ที่เลือกใช้หลอดจากวัตถุดิบธรรมชาติแทนหลอดพลาสติก “เราคือผู้ประกอบการ เราต้องไม่ผลักภาระไปที่ผู้บริโภค ในเมื่อเราไม่อยากสร้างขยะพลาสติกเพิ่ม แต่เรายังต้องบริการลูกค้าให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด หลอดพลาสติกเป็นหนึ่งในอุปกรณ์เพิ่มความสะดวก ดังนั้น ทางแก้คือเราต้องหาวัสดุทดแทนมาให้ลูกค้าใช้แทน ไม่ว่าจะเป็นหลอดแก้วหรือหลอดผักบุ้ง

Broccoli Revolution

“ปัญหาในระดับใหญ่เลยเรื่องสิ่งแวดล้อมในมุมมองผม คือถ้าไม่ใช้พลาสติก มันต้องมีทางเลือกอื่นที่ราคาจับต้องได้มากกว่านี้ สำหรับพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ร้านน้ำปั่นคุณป้าข้างถนน บางทีเขาก็ไม่ได้อยากใช้หลอดพลาสติกหรอก แต่เขาไม่มีงบเพียงพอที่จะเลือกใช้หลอดกระดาษที่ราคาสูงกว่ามากได้”

Broccoli Revolution ยังร่วมมือกับ Bangkok Soap Opera นำน้ำมันรำข้าวที่ใช้ทอดอาหารในร้าน ไปทำเป็นสบู่เพื่อนำกลับมาใช้ภายในร้าน “นี่คือ Circular Economy การหมุนเวียนสิ่งต่างๆ ให้กลับมาใช้งานซ้ำได้ไม่รู้จบ ที่รัชกาลที่เก้าทรงตระหนัก คิดค้น และทำอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยังไม่เป็นเทรนด์ของโลกอย่างทุกวันนี้”

07

Love Is An Open Door

เงินหมุนเวียนในการนำไปจัดเวิร์กช็อปและให้คำปรึกษาน้องๆ ส่วนใหญ่มาจากการบริจาคของลูกค้าร้าน Broccoli Revolution “จริงๆ เราไม่เคยขึ้นป้ายบอกว่าเครื่องดื่มทุกแก้วที่คุณซื้อ ลูกค้าประจำบางคนเพิ่งทราบว่าตัวเองทำบุญต่อเนื่องให้เด็กๆ ด้อยโอกาสมาหลายปี จากการมากินอาหารที่ร้านเรา และเงินบางส่วนมาจากการขายผลิตภัณฑ์อย่างเสื้อและหมวก” เกรทเล่ายิ้มๆ

โปรเจกต์ปีหน้าของมูลนิธิสติ คือการเข้าไปทำเวิร์กช็อปกับน้องๆ ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพราะระหว่างการทำงาน มีเด็กๆ หลายคนถูกส่งตัวไปเข้าสถานพินิจ เนื่องจากกระทำผิด เกรทอธิบายว่าการทำผิดครั้งแรกจะนำไปสู่การทำผิดครั้งต่อๆ ไปได้ทันที เมื่อเขาถูกปล่อยตัวออกมาและไม่สามารถหางานสุจริตทำได้ เพราะมีประวัติไม่ดีมาก่อน ไม่มีใครอยากรับเข้าทำงาน

“เราจึงจะเข้าไปเสริมทักษะ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือเสริมคอนเนกชันให้เขา ให้เขารู้ว่าถ้าเขาอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น มีงานที่ถูกต้องทำจะต้องไปหาใคร เพราะทุกครั้งที่เราเวิร์กช็อปให้น้องๆ เราจะบอกช่องทางต่อเสมอว่าที่มีร้านไหนเปิดรับ ให้โอกาสเด็กชุมชนอย่างเขาได้เข้าไปลองทำบ้าง มันจึงเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเริ่มต้นกันทั้งสองฝ่าย ทั้งตัวน้องๆ เองและคนในสังคมที่ต้องค่อยๆ แง้มประตูให้โอกาสพวกเขา”

เกรท-เสกสรร รวยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสติ

เกรทเอ่ยทิ้งท้ายว่า “เราทำงานด้วยใจที่อยากจะเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคม แม้ว่าปัญหาจะมีมากมายเหมือนแก้ยังไงก็ไม่มีวันหมด แต่ถ้าเราตั้งความคิดได้ว่า ปัญหาเป็นธรรมชาติของชีวิต ถ้าไม่มีปัญหา ชีวิตก็ไม่ได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น มันอยู่ที่เราจะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นยังไงมากกว่า ผมพยายามทำทุกอย่างอย่างเป็นกลาง ไม่มากและไม่น้อยเกินไปจนเสียสมดุล”

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล