19 พฤศจิกายน 2021
4 K

เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความตึงเครียดในวิกฤตโควิด-19 มีแอปพลิเคชันชื่อ ‘Sati App’ เปิดตัวในเวลาพอเหมาะพอดีกับบรรยากาศในสังคม

Sati App คือแอปพลิเคชันที่วางตัวเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่เป็นใครก็ตามที่อยู่ในภาวะเครียดและต้องการหาเพื่อนพูดคุย โดยจับคู่กับอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมในการเป็นผู้ฟังมาแล้ว ซึ่งจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Social Enterprise Thailand Forum 2021 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2564 นี้ 

เราต่อสายถึง อมรเทพ สัจจะมุนีวงศ์ ที่มีหลักการทำงาน 3 ข้อ คือ Care ใส่ใจผู้ป่วย Connect ช่วยเหลือด้วยความเข้าใจ และ Communicate สื่อสารและรับฟังด้วยความเข้าใจ ทั้งหมดนี้เกิดจากประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าของตัวเอง ได้พบปัญหาที่เกิดขึ้นจากมุมมองที่คนอื่นมีต่อโรคนี้ ไปจนถึงเล็งเห็นช่องว่างด้านการช่วยเหลือและการรักษาที่ยังไม่เคยเติมเต็ม

Sati App แอปพลิเคชันเชื่อมผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกับผู้ฟังอาสาที่มีความเข้าใจจริง

เริ่มต้นจากตัวเอง

จุดเริ่มต้นของ Sati App ต้องย้อนกลับไปใน ค.ศ. 2015 อมรเทพพบว่าตัวเองเริ่มมีภาวะซึมเศร้า จนต้องเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ จากใบสั่งยาไม่กี่เม็ดกลายเป็น 16 เม็ดต่อวัน และผ่านการบำบัดด้วยไฟฟ้า 

เขาเล่าว่าตอนอยู่โรงพยาบาลก็รู้สึกปลอดภัย ไม่คิดว่าตัวเองอยู่คนเดียว เพราะแพทย์และพยาบาลรู้ว่าต้องคุยกับเขาอย่างไร แต่พอออกจากโรงพยาบาลทีไร มักได้ยินเรื่องเดิมซ้ำๆ เช่น ‘มีคนอื่นที่แย่กว่าแกอีก’ ‘คิดบวกไว้สิ’ หรือ ‘อย่าไปคิดมาก’ ‘เรายังมีรถขับ มีข้าวกิน’

“เรายิ่งรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เหมือนเป็นภาระคนอื่นไปหมด เราไม่สามารถใส่เสื้อแขนสั้นได้ เพราะมีรอยเต็มไปหมด ไม่สามารถเข้าสังคมได้ 

“ค.ศ. 2017 เราตัดสินใจจบชีวิตตัวเองรอบแรก เขียนจดหมายลาทุกอย่าง ทำลงไปแล้วโดนส่งเข้า ICU และโรงพยาบาลจิตเวชอีกครั้ง ออกมาคราวนี้แทนที่จะมีคนถามไถ่ กลับโดนต่อว่า ‘ฆ่าตัวตายเดี๋ยวต้องเกิดซ้ำอีกเจ็ดชาติ’ รู้ไหม ทำแบบนี้พ่อแม่จะเป็นยังไง’ ไม่มีใครถามเลยว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น”

หนึ่งปีถัดมา อาการของอมรเทพกลับมาอีกครั้ง เขาลองโทรไปที่ศูนย์ Suicide Prevention Hotline แต่ไม่มีใครรับสาย จึงตัดสินใจจบชีวิตตัวเองครั้งที่สอง แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป อมรเทพออกจากโรงพยาบาลพร้อมคำถามที่หนักอึ้งในใจ ว่าทำไมสังคมไทยยังไม่คุยเรื่องสุขภาพจิตกันอย่างจริงจังสักที

หากมองการรักษาโลกนี้เป็นพีระมิด จะประกอบด้วยนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และการนอนโรงพยาบาล และเขาคิดว่าฐานล่างที่สุดควรเป็นผู้รับฟัง (Peer Support) ซึ่งยังขาดในสังคมบ้านเรา

Sati App แอปพลิเคชันเชื่อมผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกับผู้ฟังอาสาที่มีความเข้าใจจริง

“ตอนแรกสร้างเพจชื่อ คุยกัน ให้เป็นพื้นที่ชวนคนมาคุยเรื่องปัญหาสุขภาพจิต แต่แค่นั้นไม่พอ อย่างตอนเรารักษา ผ่านมาแล้วทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โรงพยาบาลเอกชนแต่ละครั้งเสียค่าใช้จ่ายสูง โรงพยาบาลรัฐถูกกว่าจริง แต่ต้องเสียเวลาเป็นวันในการนัดหมายแต่ละครั้ง รอเจ็ดชั่วโมงได้เจอหมอเดี๋ยวเดียว

“แล้วกลุ่มคนที่มีปัญหาทางจิตเวชในสังคมไทยมีหลายระดับ แต่ละกลุ่มความเครียดที่แตกต่าง ส่วน Resource จิตแพทย์ก็มีไม่มากพอ เรามีจิตแพทย์อยู่หนึ่งคนต่อประชากรสองแสนห้าหมื่นคน มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประมาณหนึ่งคนต่อเยาวชนหนึ่งหมื่นคน แล้วจิตแพทย์ของประเทศส่วนมากก็อยู่ในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งหมายความว่าถ้าคุณอยู่นอกเมือง อาจจะไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้”

Sati App แอปพลิเคชันเชื่อมผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกับผู้ฟังอาสาที่มีความเข้าใจจริง

พื้นที่ปลอดภัย

Pain Point หลักที่อมรเทพเห็นในตอนนั้นมี 2 ข้อใหญ่ๆ 

หนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงเกินไป ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงคนทุกกลุ่ม

สอง สังคมยังขาด Peer Support หรือผู้ฟังเพื่อบรรเทาปัญหา ถ้ามีก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน

Sati App จึงเกิดขึ้นเพื่อมาแก้สองปัญหานี้อย่างยั่งยืน กลายเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างผู้มีปัญหา และผู้ฟังอาสาสมัครที่มีใจพร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ และที่สำคัญ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ 

Sati App แอปพลิเคชันเชื่อมผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกับผู้ฟังอาสาที่มีความเข้าใจจริง

ใครสนใจใช้งานสามารถสมัครสร้างโปรไฟล์ได้บนแอปพลิเคชัน เลือกใช้ชื่อ Username ได้หากไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน ผู้ใช้ไม่ต้องถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หากมีภาวะเศร้าซึมหรือรู้สึกตึงเครียดแล้วไม่มีที่ระบาย ก็เข้ามาใช้บริการแอปฯ นี้ได้เช่นกัน

ในส่วนของผู้ฟังอาสาสมัคร หรือ Listener หากเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาอยู่แล้วให้ส่งหลักฐาน หากไม่เคยมีประสบการณ์หรือผ่านการฝึกอบรมมาก่อน ต้องเข้าอบรมตามที่เราแนะนำ และผ่านการทดสอบ 20 ข้อเพื่อให้มีความรู้ ความเอาใจใส่ และเข้าใจจิตใจอีกฝ่ายได้

“ในอนาคต เราตั้งใจจะขอโลเคชัน เช่น คุณอยู่ภาคอีสาน เราจะพยายามแมตช์ผู้ใช้กับผู้ฟังในภูมิภาคเดียวกัน เพราะอาจจะเข้าใจและใช้ภาษาเดียวกัน ถ้าผู้ใช้อยู่ภาคใต้ ก็จะได้แมตช์กับคนที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน 

“ต่อไปถ้าเรามีข้อมูลเรื่องเพศ เราก็สามารถทำ Gender Matching ได้ ผู้หญิงบางคนอาจมีปัญหาที่อยากคุยกับผู้หญิงด้วยกันแล้วจะสบายใจกว่า หรือแม้กระทั่งภาษาก็สำคัญ ประเทศเราไม่ได้มีแค่คนไทยที่พูดภาษาไทย ยังมีคนต่างชาติที่เข้ามาทำงาน หรือบางคนอยากใช้สองภาษาก็ได้เช่นกัน”

Sati App แอปพลิเคชันเชื่อมผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกับผู้ฟังอาสาที่มีความเข้าใจจริง
แอปพลิเคชันเชื่อมผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกับผู้ฟังอาสาสมัคร ที่อยากแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน

Sati App ไม่ได้บรรเทาปัญหาของคนที่มีอาการซึมเศร้าหรือตึงเครียดอย่างเดียว ขณะเดียวกัน แอปฯ นี้ก็ให้ความรู้กับคนทั่วไป เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ หลายครั้งคนมักคิดว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องของความคิด แต่ทางชีววิทยาก็มีส่วนเกี่ยวข้อง

“เช่น คุณเครียดมาก การส่งสัญญาณของประสาทเคมีก็จะบกพร่องได้ หรืออย่างเรื่องเพศ ถ้าดูตามตัวเลข ผู้หญิงมีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายฆ่าตัวตายเยอะกว่า ความไม่สมบูรณ์ทางร่างกายก็เกี่ยว อาจทำให้เขามีความเครียดสูงกว่าคนทั่วไป สิ่งแวดล้อมก็เหมือนกัน สังคมที่อยู่เท่าเทียมแค่ไหน มีปัญหาด้านการเงินหรือเปล่า ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความเข้าใจ

“เราจึงพยายามสร้างความเข้าใจตระหนักรู้เรื่องการดูแลตัวเอง เรื่องการช่วยเหลือคนรอบข้าง ไปจนถึงแนวทางในการจัดการกับปัญหานี้ ตัวเราเองยังได้ไปพูดตามเวทีต่างๆ นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับมูลนิธิสติ (SATI Foundation) ลงพื้นที่ไปอบรมเรื่องการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น ให้ชุมชนเข้าใจกระบวนการช่วยเหลือคนคนหนึ่งให้ผ่านพ้นจากภาวะนั้นให้ได้”

ธุรกิจเพื่อสังคม

อมรเทพจดทะเบียนบริษัทเป็น 2 รูปแบบคือ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) เเละองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit Organization) โดย Sati App เป็นอย่างหลัง เพราะความตั้งใจแรกคือการให้บริการฟรี 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วอาศัยพลังจากภาคประชาชนมาสนับสนุนให้มากที่สุด

ในส่วนของกิจการเพื่อสังคมมีอยู่ 2 เรื่อง หนึ่งคือ E-learning Platform อบรมเรื่องการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นบนเว็บไซต์ เมื่ออบรมเสร็จ สามารถชำระเงินเพื่อรับใบประกาศนียบัตรเป็นหลักฐานได้ 

สองคือ พื้นที่ให้คนเข้าถึงจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยรายได้จากส่วนนี้จะส่งกลับไปพัฒนา Sati App ให้ดำเนินการต่อไปได้เรื่อยๆ ทั้งยังเป็นประตูให้เกิดความร่วมมือและโอกาสอีกมากมาย

แอปพลิเคชันเชื่อมผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกับผู้ฟังอาสาสมัคร ที่อยากแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน

“เราทำงานร่วมกับหลายองค์กร เช่น กรมสุขภาพจิต สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณ คำปรึกษา และการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติของประเทศไทย ไปจนถึงบริษัท Microsoft ที่สนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันให้เกิดขึ้นผ่านโครงการ AI for Good”

ในปีที่ผ่านมา อมรเทพยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 50 วิทยากรที่เวที The World Economic Forum Annual Meeting 2020 ที่เมืองดาโวส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย

โลกที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบันแอปพลิเคชันมีผู้ใช้งานเกือบ 5,000 ราย และมีผู้ฟังอาสาสมัครเกือบ 300 คน สิ่งที่อมรเทพอยากเห็นต่อจากนี้คือ การสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาสุขภาพจิต และความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบการดูแลรักษาสุขภาพจิต

“ประเทศเราอยู่ในกลุ่มที่มีฐานรายได้ต่ำถึงปานกลาง หมายความว่าอีกสิบปีข้างหน้า เราจะเป็นกลุ่มประเทศที่เปราะบางด้านปัญหาสุขภาพจิต และไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงการรักษาได้ การที่ประชาชนไม่ได้อยู่ในภาวะที่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เราอยากให้คนเข้าใจถึงสิ่งนี้ จะเพิ่ม Resource ที่เป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามากขึ้นได้อย่างไร”

Sati App กำลังจะเปิดตัวที่สาธารณรัฐเช็ก โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลของที่นั่น และตั้งใจขยายธุรกิจในทวีปยุโรปต่อไป อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบ AI Machine Learning 

“ถ้าเราเอาระบบนี้มาใช้ เวลาคนเข้ามาคุยในแอปฯ ระหว่างรอผู้ฟังก็จะได้คุยกับ AI ก่อน AI จะพิจารณาว่าคนคนนั้นมีความตึงเครียดมากกว่าปกติไหม เพื่อจัดลำดับสายตามอาการ หรือถ้าผู้ใช้พูดเรื่องฆ่าตัวตายหลายครั้ง ก็ส่งเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เลย ไม่ต้องผ่านการคุยกับ Listener แล้วเราเชื่อมข้อมูลกับกลุ่มของกรมสุขภาพจิต เพื่อส่งคนไปช่วยดูแลก่อนเขาจะทำอะไรลงไป ในทางกลับกัน ถ้าผู้ใช้เริ่มพูดจารุนแรงกับ Listener ระบบนี้ก็จะช่วยดูแลอาสาสมัครของเราด้วย”

แอปพลิเคชันเชื่อมผู้มีปัญหาสุขภาพจิตกับผู้ฟังอาสาสมัคร ที่อยากแก้ปัญหาสุขภาพจิตอย่างยั่งยืน

อมรเทพทิ้งท้ายว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็น Wake-up Call ที่ทำให้คนตระหนักถึงปัญหานี้เพราะมีความเครียดสูงขึ้น และแม้วันนี้สังคมอาจจะยังเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตไม่มากนัก แต่มีความต้องการที่จะเข้าใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน 

นั่นเป็นเรื่องน่าชื่นใจสำหรับเขา

Social Enterprise Thailand Forum 2021 คือฟอรั่มสำหรับทุกคนที่เชื่อว่าธุรกิจสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งยังเป็นพื้นที่รวบรวมหน่วยงานสนับสนุนมากมายเพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจ งานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2564 ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนได้ที่ https://goodsociety.network/goodsociety/Forum_SEThailand

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน