ในโลกของธุรกิจ ถึงแม้ว่าการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจะเป็นวิธีหนึ่งในการเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือการเรียนรู้ผ่านชั้นเรียนจากคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ

แน่นอนว่าการเรียนรู้ที่ดีย่อมไม่หยุดแค่เพียงการนั่งจดเลคเชอร์และฟังอาจารย์สอนในห้องเรียน และการที่สถาบันหนึ่ง จะสามารถผลิตนักธุรกิจชั้นนำได้อย่างต่อเนื่องย่อมมีอะไรมากกว่านั้น

‘สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ หรือ Sasin School of Management คือหนึ่งในสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจระดับแนวหน้า ซึ่งอยู่เบื้องหลังนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมาย เช่น คุณอาทิตย์ นันทวิทยา CEO ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ คุณ Aung Kyaw Moe ผู้ก่อตั้งบริษัทให้บริการด้าน Payment Gateway อย่าง 2C2P 

นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแห่งแรกในประเทศที่ได้รับการประกันคุณภาพการศึกษา AACSB และ EQUIS โดยเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาหลักสูตรนานาชาติมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับ Kellogg School of Management at Northwestern University และ The Wharton School of the University of Pennsylvania

40 ปีศศินทร์ รร.ธุรกิจไทยที่ไม่สร้างผู้บริหารที่รู้ทุกคำตอบ เพราะคำถามจะเปลี่ยนไปเสมอ

วันนี้ The Cloud จึงมีนัดหมายพิเศษกับ ศาสตราจารย์ ดร.เอียน เฟนวิค (Professor Ian Fenwick, Ph.D) ผู้อำนวยการ Sasin School of Management เพื่อค้นหาเคล็ดลับเบื้องหลัง 40 ปี ในการพัฒนาคนของศศินทร์

ไม่แน่ หากคุณอ่านบทความนี้จบแล้ว คุณอาจจะอยากสมัครเป็นนิสิตที่นี่เลยก็ได้

กำเนิดศศินทร์

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ศศินทร์เกิดขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ของนักธุรกิจและนักวิชาการคนไทย ที่มองเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของประเทศ ว่าจะมีความต้องการในการศึกษาต่อทางบริหารธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การสร้าง business school ในหลักสูตรนานาชาติที่มีคุณภาพขึ้นมาจากศูนย์นั้นย่อมใช้เวลานาน การหาพาร์ตเนอร์มหาวิทยาลัยในต่างประเทศอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีชื่อเสียงในด้านนี้อยู่แล้ว จะช่วยให้ก่อตั้งสถาบันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่า โดยมี Kellogg School of Management at Northwestern University และ The Wharton School of the University of Pennsylvania  ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการก่อตั้งศศินทร์ขึ้นมา

“ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  Kellogg และ Wharton มองเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของทวีปเอเชีย และศักยภาพของประเทศไทยที่เปรียบเสมือนประตูสู่เอเชีย ผมรู้จักผู้คนมากมายที่ทำงานในอินเดีย สิงคโปร์ หรือจีน แต่อาศัยในประเทศไทย บางครั้งเราอาจลืมไปเพราะเราอาศัยอยู่ที่นี่ แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าใช้ชีวิตอยู่ และนี่คือหนึ่งในจุดแข็งของเรา” ดร.เอียน เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงเริ่มต้นของการก่อตั้ง

ต่อมาใน พ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานนาม ‘ศศินทร์’ เป็นชื่อสถาบัน จาก มีความหมายว่า หัวหน้าของเหล่ากระต่าย โดยมีที่มาจากคำในภาษาสันสกฤต 2 คำ ได้แก่ ‘ศศ’ หมายถึง กระต่าย ซึ่งเป็นปีนักษัตรที่พระองค์ทรงเสด็จพระราชสมภพ และ ‘อินทร์’ ซึ่งหมายถึงหัวหน้าหรือผู้เป็นใหญ่

40 ปีศศินทร์ รร.ธุรกิจไทยที่ไม่สร้างผู้บริหารที่รู้ทุกคำตอบ เพราะคำถามจะเปลี่ยนไปเสมอ

ในช่วงเริ่มต้น หลักสูตรของศศินทร์ถือว่าเป็นหลักสูตรแรก ๆ ของโลกที่ใช้อาจารย์รับเชิญ (Visiting Faculty) 100 เปอร์เซ็นต์ในการสอน โดยหลังจากนั้นก็ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการเริ่มสรรหาคณาจารย์ประจำเพื่อให้การสนับสนุนนิสิตได้อย่างต่อเนื่อง และในปัจจุบันก็ยังคงใช้อาจารย์รับเชิญในการสอนวิชาต่าง ๆ กว่าครึ่งหนึ่ง เพื่อคงคุณภาพและความหลากหลายขององค์ความรู้

“หลังจากนั้นศศินทร์ก็เริ่มสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง โดยการให้ความสำคัญกับความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) และความยั่งยืน (Sustainability) และวางเป้าหมายของตัวเองในการสร้างแรงบันดาลใจ (inspire) เชื่อมต่อ (connect) และเปลี่ยนแปลง (transform) เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น ฉลาดขึ้น และยั่งยืนขึ้น (for a better, smarter, sustainable world)

“ความยั่งยืนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากเราต้องการสร้างชีวิตที่ดีให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป และการสร้างความยั่งยืนก็เกิดขึ้นได้ โดยการใช้ ‘ความเป็นผู้ประกอบการ’ เพื่อหาวิธีการใหม่ ๆ  หรือวิธีใหม่ในการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วเพื่อแก้ปัญหา โดยครอบคลุมทั้งในเรื่องความยั่งยืนทางการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม”

สอนจริง ใช้จริง

“หัวใจหลักของการเรียนรู้ของที่นี่คือ Action Learning” ดร.เอียน กล่าว

“เราต้องก้าวออกไปจากรูปแบบการเรียนแบบเก่าที่มีอาจารย์มายืนอยู่หน้าห้อง และมีนักเรียนมานั่งฟังเหมือนกับตลอด 100 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้น เราจึงเปลี่ยนรูปแบบสถานที่ในการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทำให้การเรียนการสอนเกิดขึ้นแบบไม่เป็นทางการมากขึ้น ใช้ได้จริงมากขึ้น ได้ลงมือทำมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า ทำให้นิสิตแก้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงได้มากขึ้น”

เมื่อปีที่ผ่านมา ศศินทร์ได้มีการปรับปรุงอาคารศศปาฐศาลาครั้งใหญ่ โดยปรับรูปแบบสถานที่เอื้อต่อการเรียนการสอน ที่อาจารย์และนิสิตมีการแลกเปลี่ยนโต้ตอบระหว่างกันและกันมากขึ้น มี Studio ใหม่เพื่อสนับสนุนการสร้างคอนเทนต์ออนไลน์ของทั้งอาจารย์และนักเรียน มี Research Center ให้ผู้ทำงานวิจัยมีสถานที่ที่เหมาะสมในการค้นคว้า แลกเปลี่ยนความรู้ ไปจนถึงการเพิ่มห้อง Meditation Room เพื่อเสริมสร้าง ‘สติ’ หรือ ‘Mindfulness’ ซึ่งเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารยุคใหม่ควรมี

40 ปีศศินทร์ รร.ธุรกิจไทยที่ไม่สร้างผู้บริหารที่รู้ทุกคำตอบ เพราะคำถามจะเปลี่ยนไปเสมอ
40 ปีศศินทร์ รร.ธุรกิจไทยที่ไม่สร้างผู้บริหารที่รู้ทุกคำตอบ เพราะคำถามจะเปลี่ยนไปเสมอ

“ภารกิจของเราไม่ใช่การหาเงิน ภารกิจของเราคือการสร้างผู้บริหาร เราอาจจะขาดทุนไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้จำเป็นต้องทำกำไรด้วยเช่นกัน”

ในอนาคต ศศินทร์ก็ยังมองไปถึงการจัดเรียนการสอนแบบผสมสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์อย่างกลมกลืนไร้รอยต่อ โดยใช้ข้อดีของการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ผนวกกับการใช้การเรียนการสอนแบบออฟไลน์สร้างปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยน ทั้งระหว่างนิสิตและอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้นิสิตถามได้ทุกเมื่อ โดยมีไมโครโฟนให้นิสิตในทุก ๆ ที่นั่ง หรือเน้นการแบ่งกลุ่มย่อย

“ความไม่เป็นทางการและความใกล้ชิด เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นิสิตและอาจารย์สามารถถาม-ตอบ และแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคณาจารย์ของเราจะส่งเสริมให้นิสิตมีการถามคำถามและโต้ตอบตลอดเวลา แต่ก็หวังว่าจะไม่มีใครที่หยิบไมโครโฟนขึ้นมาแล้วพูดอยู่คนเดียวเกิน 15 นาที” ดร.เอียน กล่าวพลางหัวเราะไปด้วย

“ณ ปัจจุบัน เราอยู่ในจุดที่หลักสูตรสำหรับผู้บริหารที่ผู้เรียนจะได้รับประกาศนียบัตรกับหลักสูตรปริญญาบัณฑิตเริ่มจะผสานกันเป็นสิ่งเดียว ในอนาคต ผู้คนคงไม่อยากจะต้องใช้เวลา 2 – 3 ปีในการเรียนอย่างเดียวเพื่อเผื่อไว้สำหรับอนาคต แต่ในทางกลับกัน เขาจะเรียนทีละเล็ก ทีละน้อย ตามความจำเป็นในช่วงเวลานั้น ๆ”

เข้มแข็งแต่ยืดหยุ่น

ไม่ใช่แค่ตัวศศินทร์เองที่พยายามปรับตัวให้เกิดความยืดหยุ่นกับความต้องการของคนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เป้าหมายของสิ่งที่ศศินทร์พยายามสร้างในตัวนิสิตที่เข้ามาเรียน ก็คือความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน

“เราไม่ได้อยากสร้างนิสิตที่รู้คำตอบทุกอย่าง เพราะคำตอบและโจทย์จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตอยู่เสมอ แต่เราอยากสร้างคนที่สามารถปรับตัวและสร้างผลงานได้ในทุก ๆ สถานการณ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม นั่นคือ Resilience”

นอกจากการเรียนการสอนแล้ว ศศินทร์ยังร่วมกับ SCG Chemicals จัดการแข่งขันแผนธุรกิจ SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin ขึ้นทุกปี เพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีมนักศึกษาจากทั่วโลกที่มีไอเดียแผนธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ในปีนี้การแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin จะครบรอบ 20 ปี ซึ่งการแข่งขันเวทีนี้เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 2002 ถือเป็นการบุกเบิกในการจัดการแข่งขันสตาร์ทอัพภาคภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษา ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

“ผมคิดว่าโลกของเรายังต้องการนักธุรกิจที่มีความเข้าอกเข้าใจมากขึ้น (Empathy) ซึ่งคือความสามารถในการเข้าไปสวมบทบาทและตัวตนของคนอื่น เพื่อเข้าใจสถานการณ์ของพวกเขา และสิ่งนี้คือหัวใจของผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งสื่อถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น เราต้องการผู้บริหารที่สามารถปรับตัวได้ (Flexible) และเปิดกว้างต่อไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการยอมรับทุกไอเดีย แต่หมายถึงการรับฟังทุกอย่างเพื่อวิเคราะห์และตัดสินใจ”

ถ้าหากผู้บริหารมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์แล้ว ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรขึ้นก็ตาม ในวิกฤตเหล่านั้นก็จะมีโอกาสเสมอ ยกตัวอย่างเช่นในรายวิชาของศศินทร์เอง ก็จะมีรายวิชา Crisis Leadership คือวิชาที่สอนวิธีการนำวิกฤตมาเปลี่ยนให้เป็นโอกาส เป็นต้น

การใช้อาจารย์รับเชิญจากหลากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก ประกอบกับวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เปิดกว้าง เกิดเป็นสังคมที่สร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมผู้คนที่มีความคิดคล้ายกันเข้าด้วยกัน และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดโลกที่ดีขึ้นได้ จึงเป็นจุดเด่นของศศินทร์ที่ยังถูกคงไว้ตลอด 40 ปี ที่ผ่านมา

“ณ ตอนนี้ประเทศไทยเปรียบเสมือนจุดหมายของโลกในด้านการท่องเที่ยว แต่ยังไม่ใช่ในด้านการศึกษา แต่เราเชื่อว่าสิ่งนั้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนไป และเราจะเป็นแนวหน้าในการเปลี่ยนแปลงนั้น โดยหวังว่าผู้คนจะเห็นศศินทร์เป็นเสมือนประตูสู่เอเชียในการศึกษาด้านธุรกิจ”

เครือข่ายศศินทร์

นอกจากการเรียนการสอนต่าง ๆ อีกหนึ่งสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นจุดแข็งและยากจะหาใครเทียบได้ก็คือเครือข่ายนิสิตเก่า โดยศศินทร์จะมีการจัดอีเวนต์สำหรับนิสิตเก่าทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการเชิญนิสิตเก่าเข้ามาบรรยายในชั้นเรียน การให้รางวัลนิสิตเก่าที่มีผลงานยอดเยี่ยมในแต่ละปี Mentorship Program ไปจนถึงการสนับสนุนธุรกิจของนิสิตเก่า

“นิสิตเก่าถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับศศินทร์ เป้าหมายของเราคือการดึงนิสิตเก่าเข้ามาในชั้นเรียน เพื่อที่พวกเขาจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมและสอนนิสิตปัจจุบัน ซึ่งช่วยเสริมสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน”

จากนี้ ศศินทร์ก็ยังคงที่จะก้าวต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง (ตามสโลแกนครบรอบ 40 ปี ‘Sasin 40forward’) เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้านบริหารธุรกิจที่ดีที่สุด สร้างผู้บริหารที่จะสร้างอิมแพคเชิงบวกให้กับโลกนี้ได้อย่างยั่งยืน 

Sasin School of Management : www.sasin.edu 

SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin : bbc.sasin.edu/2022

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ