สนามนี้สู้กันด้วยฝีมือ

ในสนามอาชีพ ศศธร เจริญพันธ์ คือนักโบราณคดีภาคสนาม วันๆ อยู่ในหลุมขุดค้น ไม่ต้องแต่งหน้า เสื้อผ้าไม่ต้องรีด ขุดดินหาวัตถุมาศึกษา บางทีถึงขั้น ‘ล้างป่าช้า’ ถ้าพื้นที่นั้นเคยเป็นที่ฝังศพมาก่อน

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

ในสนามชีวิต เธอคือสาวเหนือหน้านวลจากจังหวัดเชียงใหม่ บัณฑิตคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ 17 ปีก่อน (พ.ศ. 2546) ชะตาชีวิตส่งมาอยู่ไกลบ้านถึงอังกฤษ ต่อสู้ฝ่าฟันจนได้ทำงานที่รัก

จากชีวิตคนธรรมดาที่ไม่มีแต้มต่อใดๆ จนถึงจุดที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและลูกน้องในฐานะหัวหน้าทีมขุดค้นของ Museum of London Archaeology สร้างครอบครัวที่ลอนดอน มีเวลากลับไปเยี่ยมบ้านเกิดทุกปี และในอนาคตเธออยากทำงานสอน เพื่อส่งต่อความรู้ที่สั่งสมมา

ศศธรเล่าให้ The Cloud ฟัง พร้อมรอยยิ้มและมุกตลกที่แทรกตลอดการสนทนาว่าเธอทำทั้งหมดนั้นได้อย่างไร

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

เมื่อแยกย้ายกันขึ้นรถไฟใต้ดินตอนสิ้นวัน เราจึงเข้าใจเหตุผลที่ ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารของ The Cloud ให้ใบสั่งระบุชื่อมาว่า ‘ไปถึงลอนดอนแล้ว สัมภาษณ์คุณคนนี้มาให้พี่ด้วย’

กว่าจะได้เป็นนักโบราณคดี

“ชีวิตนี้ไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องมาทำงานเมืองนอก สำหรับพี่ มันเป็นดวง” ศศธรกล่าว “ใครคิดว่าอยู่เมืองไทย โอ้ยเบื่อ อยากมาทำงานเมืองนอกบ้าง ดูเงินเยอะ ดูชีวิตดี๊ดี บอกเลยค่ะว่าไม่ใช่”

สาวน้อยวัย 20 ต้นๆ เพิ่งจบคณะโบราณคดีจากเมืองไทย มาถึงอังกฤษแบบยังไม่มีงานทำ แต่ต้องกินต้องใช้

“ตอนนั้นปีสองพันสาม เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำพอดี คนตกงานเยอะมาก เราไม่ได้หางานมาจากไทย ตอนนั้นอยู่เมือง Lincolnshire มีบริษัททางโบราณคดี เขาบอกยังไม่ต้องการคน เรามีภาระต้องส่งเงินไปที่บ้าน ก็ต้องหางานให้ได้”

แม้อยากทำงานโบราณคดี แต่ศศธรเริ่มต้นชีวิตในอังกฤษด้วยงานร้านอาหาร

“ไปสมัครงานเสิร์ฟอาหาร เขาไม่รับ เขาบอกยู Over-qualify ไปสมัครร้านอิตาเลียนก็ไม่รับ สงสัยเพราะหน้าไม่เข้ากับคอนเซปต์ร้านเขา” ศศธรหัวเราะ “สุดท้ายได้งานที่ร้านอาหารแบบ Takeaway เล็กๆ ยุคนั้นเมือง Lincolnshire ไม่ค่อยมีคนเอเชีย ร้านอาหารจีนน้อยมาก ก็โดนเหยียดผิวบ้าง ไปยืนสับผัก ล้างหม้อล้างกระทะ ทำแป๊บเดียวเพราะเขาไม่มีเงินจ้าง”

ช่วงเดียวกันนั้น ศศธรไปช่วยงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแบบฟรีๆ เพื่อเรียนรู้งานโบราณคดีไว้ใช้ในอนาคต

“ตัดสินใจทำเพื่อ Build Resume และจะได้เรียนรู้งานโบราณคดีไปด้วย ว่าสิ่งที่เราจะต้องเจอในดินมันเป็นยังไง เพราะของที่เราขุดมันจะไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ เราอยากรู้จักของ ก็ต้องมาที่นี่ สักวันพอไปออกภาคสนาม เราต้องรู้จักของเหล่านั้น”

ไม่นานหลังจากนั้น ศศธรย้ายมาอยู่ลอนดอน ด้วยคิดว่าน่าจะมีโอกาสในการหางานมากกว่า

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

เธอเล่าว่า ชีวิตช่วงนั้นก็ยังเริ่มต้นที่ศูนย์เหมือนเดิม คือไม่หวังจะได้งานสาขาโบราณคดี เป็นงานอะไรก็ได้ ขอให้ได้เงิน

แต่เมื่อไปสมัครงานเสิร์ฟอาหารที่คิดว่ามีโอกาสได้ ก็ยังไม่ได้

“มันมาถึงจุดที่เราถามว่า ทำไม ฉันเสิร์ฟอาหารไม่ได้หรือ เรามีมือมีแขน หยิบจานได้ ภาษาอังกฤษก็พอจะรับออร์เดอร์ได้ แต่ก็เข้าใจ เพราะการแข่งขันมันสูงมาก ใครๆ ก็อยากได้งาน

“ตอนนั้นหว่าน CV (Curriculum Vitae-ประวัติการทำงาน) ไปทั่ว ไปศูนย์จัดหางาน ดูประกาศรับสมัครในหนังสือพิมพ์ ทำทุกอย่าง บางที่เขาไม่ได้ปิดประกาศว่าต้องการคน เราก็ยังเดินเข้าไปสมัคร บอกเขาว่า ‘ช่วยรับ CV ไว้ด้วยนะคะ ได้โปรดอย่าทิ้ง’ ต้องเรียกว่าหว่าน เพราะส่งไปเยอะมากจนจำไม่ได้ว่าสมัครอะไรไปบ้าง สมัครตอนไหน ไม่ใช่ส่งไปที่หนึ่งแล้วมานั่งรอว่าฟ้าฝนจะเป็นใจไหม ไม่ได้ส่งแค่หลายสิบที่ แต่เป็นร้อย” ศศธรเล่า

งานแรกที่ศศธรได้ในลอนดอน คืองาน ‘ควบคุมมหาชน’ ในสนามแข่งฟุตบอล คือเป็นเจ้าหน้าที่แผนก Crowd Control

ในปี 1985 ที่เมืองแบรดฟอร์ด (Bradford) เคยเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้สแตนด์เชียร์ในสนามแข่ง คนวิ่งหนีตายและเหยียบกัน ทำให้คนตาย 56 คน บาดเจ็บอีกหลายร้อย เจ้าหน้าที่แผนกนี้จึงถูกตั้งมาเพื่อ Control the crowd ให้ไปที่ทางออก ทางหนีไฟ คอยดูแลไม่ให้ผู้ชายเข้าห้องน้ำผู้หญิง ซึ่งศศธรเล่าว่า หลายครั้งเกือบถูกตี เพราะเวลาคนปวดท้องมากๆ เอาช้างมาฉุดก็ไม่อยู่

แต่อย่าคิดว่าทำงานนี้จะได้เชียร์บอลบิ๊กแมตช์สนุกสนาน เพราะระหว่างการแข่งขัน ต้องคอยสอดส่องพฤติกรรม ไม่ให้แฟนบอล 2 ทีมนั่งปะปนกัน หรือทะเลาะจนถึงขั้นตีกัน ทำนอง ‘เกมแพ้คนไม่แพ้’

นอกจากหาเงินแล้ว ยังวิ่งหาโอกาสตลอดเวลา

ช่วงที่ทำงานอื่นไปตามปกติ ทั้งงาน Crowd Control และงานร้านอาหาร บังเอิญเธอไปเจอประกาศรับสมัครงานของพิพิธภัณฑ์การเดินเรือแห่งชาติ (National Maritime Museum) ตำแหน่ง Gallery Assistant พอดี จึงสมัครไป

วันหนึ่งโทรศัพท์เรียกไปสัมภาษณ์ก็ดังขึ้น

“ทำไมถึงได้งานที่นี่เหรอ เราเป็นคนไทย ตอบไปยิ้มไป พี่เป็นคนที่ถ้าอายหรือพูดอะไรผิด จะยิ้มแล้วหัวเราะแหะๆ เขาอาจชอบตรงนั้นมั้ง ดูไม่ Aggressive ดี อีกอย่างเราพูดภาษาไทยได้ คนไทยมาเที่ยว Greenwich เยอะมาก งานของ Gallery Assistant คือเป็นหูเป็นตา เป็นหน้าตาให้กับพิพิธภัณฑ์ ก็ต้องแต่งตัวดี ใส่สูท มีป้ายชื่อ เราพูดภาษาไทยได้ก็จะมีธงชาติไทยเล็กๆ ติดเสื้ออยู่ด้วย”

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

งานนี้ยังเปิดโลกใหม่ จากคนขี้อาย ไม่ชอบพูดกับคนแปลกหน้า เดินหนี แต่เมื่อทำงานนี้ ศศธรต้องฝืน จนกลายเป็นไม่กลัว

“เราเป็นคนพรีเซนต์ได้สุภาพ ต้องยิ้ม ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมชม Hi, good morning. (ทำหน้ายิ้มกว้าง) Welcome to the National Maritime Museum. ซึ่งเราแบบ โอย อาย แต่ก็ต้องทำ กดปุ่มแล้วก็ต้องพูด”

งานที่พิพิธภัณฑ์การเดินเรือแห่งชาติทำให้เธอได้รู้จักเพื่อนร่วมงานดีๆ ที่มาจากหลายเชื้อชาติ ได้ฟังสำเนียงภาษาอังกฤษหลากหลายสำเนียง จากที่ฟังไม่เข้าใจ กลายเป็นเข้าใจและสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีเยี่ยม

“เพื่อนร่วมงานที่นี่ดีมาก ดีเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เลย จนทุกวันนี้ก็ยังไม่เจอเพื่อนร่วมงานที่ไหนดีเท่าที่นี่ เขาช่วยกันสอน ต้อนรับเราดีมาก ทุกคนมองโลกในแง่ดี ทำอะไรผิดก็ตลก ทำอยู่สิบเอ็ดเดือน เป็นงานที่ดีมาก และทำให้มีเงินพอเลี้ยงตัว แบบไม่ต้องทำงานอื่นคู่ไปด้วย”

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน
ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

ศศธรออกตัวว่า เป็นคนไม่มีเซนส์เกี่ยวกับเรื่องลี้ลับ แต่เมื่อทำงานที่นี่ ที่เต็มไปด้วยของเก่าแก่จากสมรภูมิรบ จึงได้เจอเหตุการณ์ชวนขนหัวลุก เช่น เมื่อเตรียมปิดห้องจัดแสดงเมื่อถึงเวลาปิดทำการ ได้ยินเสียงไม้ลั่น เห็นเงาธงโบก แต่เมื่อกลับไปตรวจดูอย่างละเอียดก็ไม่พบอะไร

หรือที่ตึก Queen’s House ที่เป็นอีกส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ จัดสร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1616 ที่นี่มีบันไดวนที่นักท่องเที่ยวชาวแคนาดาเคยถ่ายรูปเมื่อ ค.ศ. 1966 แต่เมื่อไปล้างอัดภาพออกมา กลับมีภาพเงาคนกำลังเดินขึ้นบันได ซึ่งเจ้าของภาพยืนยันว่า ก่อนถ่ายภาพได้ดูให้แน่ใจแล้วว่าปลอดคน ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า ‘คน’ ในรูปคืออะไรกันแน่

ศศธรเล่าว่า ที่ตึกนี้ เพื่อนร่วมงาน 3 คนของเธอที่ยืนอยู่ด้วยกัน เห็นผู้หญิงใส่ชุดกระโปรงสุ่มบานสีเทาเดินออกจากกำแพงด้านหนึ่งไปเข้ากำแพงอีกด้านตอนกลางวันแสกๆ

“ทุกคนมองหน้ากันแล้วแบบ เอาไงดีวะ ก็เดินหาตัวกัน แต่จะไปเจอได้ยังไง เขาไม่ได้เข้าประตู เขาเดินเข้ากำแพง นี่แหละงานพิพิธภัณฑ์ เจอกันประจำ คนที่มีเซนส์จะซวยมาก เพราะเจอบ่อย” ศศธรเล่ายิ้มๆ

งานนี้ยังทำให้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์อังกฤษ ซึ่งเอื้อกับนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนชอบเรียนรู้

“นักท่องเที่ยวเขาไม่ได้ถามแค่ห้องน้ำไปทางไหน หรือห้องนี้ไปทางไหน บางทีเขาจะถามเกี่ยวกับของที่โชว์ด้วย เราก็ต้องตอบให้ได้” ศศธรอธิบาย “เขาจะเปลี่ยนที่ให้เราทุกวัน เราก็ไม่เบื่อ แต่ละแกลเลอรี่ไม่ได้มีคนอยู่ตลอดเวลา เวลาว่างพี่ก็จะเดินอ่าน หรือบางทีจดใส่กระดาษไว้แล้วไปนั่งอ่านที่บ้าน ในห้องนอนตอนเด็กๆ จะมีกระดาษที่จดโน่นนี่เต็มไปหมด ถ้าทำไม้ขีดไฟตกก็พรึ่บ! หมดเลย เป็นคนชอบจด ชอบจำ ชอบเรียน

“อีกอย่างคือ ถ้าเราอยากทำงานโบราณคดีในอนาคต แต่เราไม่รู้ประวัติศาสตร์อังกฤษเลย มันไม่ได้ไง เราอยู่ตรงนี้ มีความรู้ให้เราฟรีๆ ก็เดินอ่านมันทุกห้องเลย ความรู้เป็นสิ่งที่พี่กระหายมากที่สุด นักโบราณคดีต้องกระหายความรู้ทุกอย่าง เพราะเราต้องเรียนรู้ชีวิตมนุษย์ ต้องคิดว่าทำไมคนสมัยก่อนทำแบบนี้”

แม้ลึกๆ จะยังอยากทำงานด้านที่ร่ำเรียนมา แต่เมื่อมองโลกแห่งความเป็นจริง ที่การแข่งขันในตลาดงานสูงมาก ศศธรจึงไม่ได้มีความหวังว่าจะได้เป็น ‘นักโบราณคดีในลอนดอน’

“ตอนนั้นมีเป้าหมายแค่ว่า สักวันฉันจะต้องได้งานที่ได้เงินดีกว่านี้ เป็นการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เรามาจากศูนย์ งานอะไรก็ได้ จะเลือกทำไม”

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

สู่งานภาคสนามในหลุมขุดค้น

โอกาสจะวิ่งเข้าหาคนที่เตรียมตัว ศศธรก็เช่นกัน ขณะทำงานพิพิธภัณฑ์ เธอยัง ‘หว่าน’ ใบสมัครงานเหมือนเคย

แล้ววันหนึ่งโอกาสก็มา

“Museum of London Archaeology โทรมาเรียกไปสัมภาษณ์ เราจำไม่ได้จริงๆ ว่าสมัครไปตอนไหน นอกจากเป็นงานที่เราชอบแล้ว เขายังเสนอเงินมากกว่าที่ได้อยู่ตอนนั้นด้วย ลงตัวพอดี” ศศธรยิ้ม

แม้จะได้งานโบราณคดีที่ชอบ แต่ใช่ว่าหลังจากนั้นชีวิตจะสวยงาม เพราะอายุสัญญาการทำงานคือ 1 เดือน

“ตอนนั้นพี่เป็น Entry Level ของทีมเลย เกรียงใหม่ ชุดใหม่ รองเท้าใหม่ หมวกใสสะอาด เขาดูก็รู้ อีนี่ไม่เคยทำอะไร (หัวเราะ) หัวหน้าวางพี่ไว้คู่กับคนเก่ง จะมีคนหนึ่งขุด คนหนึ่งตักดิน ไม่แบ่งว่าผู้หญิงผู้ชาย อาชีพนี้เพศไม่ได้มีผลมาก ถ้าคุณทำงานเก่ง” ศศธรกล่าว

นักโบราณคดีภาคสนามจะต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Dumpy Level เป็น เพื่อส่องกล้องหาความสูงของระดับพื้นดิน เป็นความรู้พื้นฐานที่สอนกันในมหาวิทยาลัย

แต่พออยู่หน้างานในมหานครลอนดอน ศศธรเดินไปยอมรับตรงๆ กับหัวหน้างานว่า ใช้เครื่องนี้ไม่เป็น

“สมัยเรียน ออกภาคสนามที เครื่อง Dumpy Level มีเครื่องเดียว เด็กยี่สิบคน พวกผู้หญิงก็ไปเก็บดอกไม้ มีแต่พวกผู้ชายไม่กี่คนที่ได้ใช้ พอมาที่นี่ เขาบอกให้ไปส่องดูซิ เราก็บอกตามตรงว่าส่องกล้องไม่เป็น ต้องดูเส้นไหน กลัวมากว่าเขาจะด่า ว่าดูไม่เป็นแล้วได้งานมาได้ยังไง เพราะมันเป็นความรู้พื้นฐานมาก กลัวไม่ผ่านทดลองงานด้วย เพราะได้สัญญามาแค่เดือนเดียว” ศศธรเล่า

“แต่ก็ต้องถาม อะไรที่ไม่รู้ พี่ถามหมดเลย จะด่าก็ยอม ให้เขาด่าตอนนี้ดีกว่าไปด่าตอนงานเสร็จแล้ว”

บังเอิญคนที่สอนงานในตอนนั้นเข้าใจ และยอมสอนเด็กใหม่คนนี้

เมื่อศศธรทำงานถึงจุดที่ต้องสอนงานคนอื่นบ้าง เธอจึงส่งต่อความรู้ให้รุ่นน้องเต็มที่

“เราเคยอยู่ตรงนั้นมาก่อน เคยเป็นคนที่ไม่รู้อะไร พอไม่มีใครช่วยเรา มันโหดร้าย พี่เลยสอนเขาหมดเลย เพราะไม่รู้เขาจะมีโอกาสไปเรียนกับคนอื่นอีกไหม” ศศธรเล่า “ถ้าพี่สอนเขา แล้ววันหนึ่งเขาไปฝึกคนอื่น เราจะได้คนเก่งเพิ่มอีก งานโบราณคดีต้องทำเป็นทีม Record ที่ได้มาต้องไปทางเดียวกัน ถ้าเราเก่งคนเดียว ยืนเหยียบซากศพคนอื่น เราเองนั่นแหละที่จะเหนื่อยต้องมาแก้งานเขา”

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

สำหรับงานโบราณคดีภาคสนาม จะรู้ได้อย่างไรว่างานที่ผลิตออกมา ‘ดีแล้ว’

ศศธรตอบว่า ความสำคัญอันดับหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่ขุดเจอของสำคัญกี่ชิ้นหรือรายงานหนากี่หน้า แต่คือชีวิตของทุกคนในทีม

“จบวัน ทุกคนต้องกลับไปแบบมีชีวิตอยู่และมีอวัยวะครบทุกส่วน (หัวเราะ) อันตรายที่อาจเกิด เช่น ตกจากที่สูง เพราะเราต้องไต่บันไดลงไปในหลุม จะมีอะไรหล่นใส่หัวเราไหม จะมีอะไรที่ฆ่าเราได้ไหม ไม่ใช่เข้าไปจะขุดอย่างเดียว ต้องเรียนรู้ที่จะป้องกัน ไม่ใช่แก้ไข ไม่ใช่ว่าโอ้โห ขุดเจอของโคตรสำคัญ แต่คนขุดตายอยู่ในหลุม คุณกลับออกมาจากหลุมให้ได้ก่อน (หัวเราะ) ต้องไม่ตาย ไม่เจ็บ ข้อมูลเป็นความสำคัญอันดับรอง ไม่ต้องเอาชีวิตไปแลก” ศศธรย้ำ

แม้แต่เธอเอง ยังเคยเจอเหตุการณ์เฉียดตาย เพราะตัวเองอยู่ในหลุมขุดค้น คนข้างบนไม่รู้ บังคับรถตักดินให้ทำงานตามปกติ หินก้อนใหญ่ไหลลงมาตามทางในหลุม เฉียดตัวศศธรไปเพียงนิดเดียว บางทีขุดๆ อยู่ ดินถล่ม จึงต้องระวังและมีสติตลอดเวลา

“เวลาจะขึ้นจากหลุม Supervisor ต้องขึ้นทีหลัง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนขึ้นมาหมด ใครจะไปห้องน้ำก็ต้องบอก ไม่ได้ขออนุญาต แต่คนอื่นจะได้รู้ว่าไปไหน ถ้าหายไปครึ่งชั่วโมงแล้ว เฮ้ย ต้องออกตามหาแล้วนะ ไม่งั้นไปตายอยู่ตรงไหน ไปเจออีกทีแขนโผล่ออกมาจากดินเพราะโดนอะไรหล่นทับ แก๊สรั่ว ทำยังไง ไม่มีทางออกจากหลุม ทำยังไง

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

“หลักทั่วไปคือ ถ้าเกิดอะไรขึ้น ห้ามอยู่ช่วยเพื่อน ไม่งั้นแทนที่จะตายคนเดียว จะเป็นตายสองคน แต่ไม่ใช่ว่าไม่ช่วยนะ เราวิ่งไปหาคนช่วย เพราะเราไม่ใช่คนที่ฝึกมาเพื่อช่วยชีวิตคน ไม่ต้องพยายามเป็นฮีโร่”

เป็นผู้หญิงเอเชีย ทำงานในเมืองฝรั่ง มีปัญหาอะไรไหม

“มีค่ะ ถูก Racist ดูถูก ไม่ให้เกียรติ แต่ตอนนี้ไม่มีใครกล้ากับพี่แล้ว (หัวเราะ) เมื่อก่อน ตอนได้เป็นซีเนียร์ใหม่ๆ เขาเห็นเราหน้าเอเชีย สมัยนั้นคนจีนที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมายชอบมาขายซีดี พี่ใส่ชุดเตรียมขุด ยังไม่ทันจะเข้าไปบอกว่าเรามาขุด เขาหันมาบอกว่า We don’t have time for this. เขาคิดว่าเรามาขายซีดี พี่บอกว่า You better have time for me. I’m from Museum of London Archaeology. อย่ามาเหยียดกัน เราเอาเขาออกจากงานได้เลยด้วยเรื่องนี้

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

“ครั้งหนึ่งขุดศพ ตอนนั้นพี่เป็นผู้หญิงคนเดียวในไซต์ มีคนแซว พูดกับหัวหน้าพี่ว่า ขุดศพแล้วจะรู้ได้ไงว่าศพนี้เป็นศพโสเภณี พี่โผล่ขึ้นมาพอดี บอกว่า บอกไม่ได้หรอก เขาว่า บอกได้สิ มันจะมีรูใหญ่ๆ ข้างล่างไง

“พี่บอกว่า ถ้าเป็นศพยู ฉันบอกได้แน่นอน เพราะรูในกะโหลกมันจะเล็ก กะโหลกหนา เขาก็ยังบอกว่า You should know better because you’re from Thailand. พี่เอาเครื่องมือขว้างใส่เลย หลุดเลย ตะโกนด่า คนพวกนี้พูดดีๆ ไม่ได้ ต้องด่า หัวหน้ามาขอบคุณพี่ที่ทำแทนเขา เพราะเขาทำไม่ได้ ต้องสุภาพ บางทีก็เจอเรื่องแบบนี้เพราะเราเป็นผู้หญิง” ศศธรเล่า

ทำงานเป็น ‘ทีม’

คนนอกวงการอาจไม่ทราบว่า งานขุดค้นทางโบราณคดีมีหลายแบบ เช่น ขุดเพื่อค้นคว้าวิจัย (Research Archaeology) เช่นที่ทำโดยนักวิจัย นักศึกษา ในสังกัดมหาวิทยาลัย มีทุน และเวลาไม่ค่อยจำกัดมาก

แต่งานที่ศศธรทำ เรียกว่า Commercial Archaeology

ที่นี่กฎหมายกำหนดว่าหากใครจะพัฒนาพื้นที่บริเวณไหน ต้องให้ทีมนักโบราณคดีเข้าไปตรวจสอบว่าพื้นที่ตรงนั้นเคยมีอะไรบ้าง และ ‘กู้ซาก’ สิ่งของที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินที่อาจมีคุณค่าทางโบราณคดี ผลผลิตจากงานแต่ละครั้งคือ รายงาน 1 เล่ม และของที่ขุดมาได้หลังจากนั้นเจ้าของที่จึงจะลงมือพัฒนาที่ดินได้

“เงินได้เยอะกว่าพวก Research Archaeology แต่เวลาจำกัด เพราะเขาอยากให้เราทำให้เสร็จเร็วๆ เสียเวลาเขา บางทีได้มาสองสัปดาห์ หกสัปดาห์ ทุกวันเป็นเงินเป็นทอง” ศศธรเล่า

ศศธรอธิบายว่า การทำงานครั้งหนึ่งของนักโบราณคดี ประกอบด้วยหลายทีม จะขาดทีมไหนไม่ได้เลย

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

“ถ้าบริษัทเราประมูลงานได้ ก็เริ่มจาก Planning Team ที่ต้องศึกษา เขาก็จะไปศึกษาใน British Library ไปหาแผนที่เก่าว่าสมัยก่อนพื้นที่ตรงนี้เคยมีอะไรจากบันทึกเก่าๆ แล้ว Survey Team จะเข้าไปดูว่า Site มันใหญ่ขนาดไหน กลับมาประเมินกันว่า ต้องใช้คนกี่คน พื้นที่แค่ไหน ต้องใช้เงิน เวลา และคนเท่าไร

ต่อไปเป็นทีมที่เข้าไปขุด คือทีมพี่ เรียกว่า Field Team ขุดแล้วจด Record หัวหน้าทีมก็จะเป็นคนจัดแจง ว่าคนไหนไป Site ไหน บ้านอยู่ใกล้อยู่ไกล คนนี้มีความเชี่ยวชาญอะไร บางคนเก่งเรื่องอ่านจารึก ภาษา ลายมือเก่าๆ บางทีขุดหลุมศพ เจอป้าย ก็ต้องอ่านว่าคนนี้ชื่ออะไร ตายเมื่อไร ปีไหน ไม่ใช่ทุกคนอ่านได้ งานของพี่คือเป็นคนทำงาน เป็นคนขุด เป็นหัวหน้าทีมขุดค้น บางทีก็เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม ก็คือเหมือนเป็น Supervisor ต้องดูทั้งงานขุด และต้องคุยกับลูกค้า แต่พี่จะดูเรื่องขุดมากเป็นพิเศษ

แล้วก็มี Post-excavation Team คือเข้ามาตรวจบันทึกที่ Field Team ทำไว้ แล้วสรุปผล นอกจากนี้ ยังมีทีมช่างภาพ ทีมนักวาดแผนผัง และทีม Find Processing คือเอาของที่ขุดได้มาล้าง มาส่องดูว่าคืออะไร ทั้งหมดนี้เราขาดทีมไหนไม่ได้เลย” ศศธรอธิบาย

นอกจากทีมนักโบราณคดีแล้ว บางครั้งยังต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขามาช่วย ซึ่งบ่อยครั้งส่งผลต่อชีวิตคนขุดทั้งทีม

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

“Planning Team ต้องดูว่าพื้นที่ตรงนี้เคยโดนระเบิดไหม ถ้าใช่ ก็ไปจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านระเบิดมา งานขุดค้นในลอนดอนก็มีระเบิดเยอะมาก เขาจะสอนให้สังเกต เจอเหล็กแปลกๆ  แบบนี้ อย่าเอาอะไรไปทุบนะ ปุ้ง! ระเบิดหมด” ศศธรกล่าว

“ส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะเป็นอดีตทหารมากประสบการณ์ ค่าจ้างแพงมาก แต่ถามแล้วได้เรื่อง เขาจะมายืนดูตลอดเวลา ตักดินเจออะไรแปลกๆ เขาดูรู้ พวกเราดูไม่รู้ ขุดเจอหางระเบิด ก็แปลว่าต้องมีหัวระเบิด ระเบิดที่ไม่ทำงาน ห้าสิบปีก่อน ไม่ได้แปลว่าวันนี้มันจะไม่ระเบิด (หัวเราะ) ระเบิดยิ่งเก่ายิ่งเซนซิทีฟ

“เพื่อนพี่ขุดเจอท่อนเหล็ก หยิบขึ้นมาถามว่ามันคืออะไร ผู้เชี่ยวชาญเห็นแล้วบอก วางลง แล้ว Evacuate ทันที เพราะหน้าตามันเหมือนตอร์ปิโดมาก มีหลักว่าขุดเจออะไรก็ตามที่น่าสงสัย ให้วางทิ้งไว้แล้วหนีไปก่อน (หัวเราะ) ถ้าตรวจสอบแล้วมันไม่อันตรายก็แล้วไป Overreaction ดีกว่ามีใครเป็นอะไรตาย”

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

นอกจากขุดเจอระเบิด ก็ยังขุดเจอโลงศพ ถ้าเป็นโลงศพตะกั่ว ศศธรระบุว่า อันตราย เพราะอาจมีสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง ต้องแจ้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะอีกทีม

แต่ถ้าเป็นโลงไม้ก็ขุดได้ บางครั้งเพื่อนที่เปิดโลงคนแรกถึงกับวิ่งไปอาเจียน เพราะศพยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก บางศพก็เหลือแต่กระดูก บางศพเหลือครึ่งๆ กลางๆ

ตามนิสัยคนไทย ขุดป่าช้าครั้งใด ศศธรจะบอกกล่าวในใจไว้ว่า มาทำงาน ไม่ได้ตั้งใจจะลบหลู่ และปฏิบัติต่อศพทุกศพด้วยความเคารพเสมอ

เรียนรู้และรู้จักใช้สิ่งที่เรียน

“ทำงานนี้ที่ชอบที่สุดคือเจอคนคอเดียวกัน คือคนชอบเรียนรู้ ไม่ได้ดูถูกอาชีพอื่นนะ แต่ในฐานะที่เคยทำอาชีพอื่นมาก่อน เป็น Reception เป็นคนเสิร์ฟอาหาร คิดว่าพวกนักโบราณคดีจะมีความรู้กว้างมาก สมมตินั่งกันอยู่สิบคน ถามเรื่องบ้าเรื่องบอ กษัตริย์เฮนรี่ที่แปดเป็นกษัตริย์ตั้งแต่ปีไหน เรือดำน้ำเยอรมันชื่อเรืออะไร จะต้องมีสักคนหนึ่งที่ตอบเราได้ ในขณะที่อาชีพอื่นอาจไม่มี พวกนักโบราณคดีจะเปี่ยมไปด้วยความรู้ทั่วไป ชอบตรงนี้” ศศธรอธิบาย

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

“งานนี้ได้เรียนรู้ทุกวัน บางทีขุดเจออะไรใหม่ โอ้ สามสิบปีในชีวิตนี่เข้าใจผิดมาตลอดเลยเหรอเนี่ย เช่น ตอนขุดศพ จะเจอ Breastplate พี่นึกว่าคือแผ่นที่เขาเขียนชื่อไว้ ชื่อเดวิด ตายวันนี้ๆ แล้ววางบนหน้าอกศพ ใส่ในโลง แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ สิ่งนี้คือป้ายที่เขาแปะอยู่บนโลงไม้ พอไม้มันผุ ป้ายนี้เลยหล่นไปอยู่บนหน้าอกศพ”

ทักษะที่เรียนรู้จากงานก่อนหน้านี้ ทั้งงาน Gallery Assistant และงาน Crowd Control ยังเป็นสิ่งที่ได้ใช้จนปัจจุบัน ที่หลายครั้งศศธรต้องรับบทหัวหน้าทีมขุดค้น ทั้งเรื่องการกล้าคุยกับคนแปลกหน้า และทักษะในการคุมคน

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

ศศธรเล่าว่า “เวลาขุดดินพี่ทำเองหมด ไม่มีการทำไม่ไหว เป็นหัวหน้าเขาเราต้องทำให้เห็น แล้วใครจะมารังแกลูกน้องเราไม่ได้นะ เราต้องปกป้องทีมของเรา ต้องสร้างผลงานที่ดี และทุกคนปลอดภัย ต้องไม่มีใครซ่าไปชวนทะเลาะกับคนนอกทีม เพราะนอกจากนักโบราณคดีที่มาขุด ก็ยังมีอาชีพอื่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างก่อสร้าง ที่เขาไม่เข้าใจงานเรา ว่ามาขุดอะไรกัน แต่เราต้องทำงานกับเขาไง เดินเข้าไซต์เราต้องสร้างบรรยากาศที่ดี ทักเขา Good morning. How are you? How was your weekend? มันไม่ได้เสียหายอะไรเลยที่จะเป็นมิตรกับผู้คน สักวันเขาอาจช่วยเราได้”

อย่าคิดแบบขาวกับดำ

ในวงการนี้ความรู้และระเบียบวิธีปฏิบัติเชิงโบราณคดีเมื่อ 20 ปีก่อนยังใช้ได้ ไม่เหมือนวงการอื่น เช่นวงการไอที ที่เพียงบัณฑิตเรียนจบ ความรู้ 4 ปีในมหาวิทยาลัยก็อาจไร้ค่า

แต่หนึ่งในปรัชญาการทำงานของนักโบราณคดีชื่อศศธรก็คือ ต้องไม่ยึดติดกับความรู้เดิมๆ

“วันหนึ่งเราอาจขุดเจอบางอย่างที่พิสูจน์องค์ความรู้เก่า การเป็นนักโบราณคดีไม่ควรยึดติด ไม่ควรมีความคิดว่าทุกอย่างต้องขาวกับดำ แต่ควรเป็นสีเทา ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ วันนี้พี่ขุดเจอสิ่งนี้ เขียนรายงานว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าอีกยี่สิบปี มีคนขุดอะไรเจอ แล้วบอกว่าสิ่งที่พี่เจอมันไม่ใช่อย่างที่คิด ก็เท่ากับว่าบทสรุปของพี่อาจจะผิด แต่ข้อมูลที่พี่เก็บมามันไม่ได้ไร้ประโยชน์ร้อยเปอร์เซ็นต์แน่นอน ไม่งั้นเขาจะต่อยอดจากอะไร เหมือนช่วยกันพิสูจน์น่ะ เพราะเราไม่ได้อายุยืนยาวไปตลอด

“ถ้ามีโอกาสกลับไปเมืองไทยก็อยากสอน การขุดค้นในไทยกับอังกฤษไม่เหมือนกัน การขุดค้นในเมืองไทยก็เหมาะสมกับสถานการณ์ของเรา ไม่ได้บอกว่าอันไหนผิดหรือถูก พี่ทำงานที่นี่มานานกว่าอยู่เมืองไทย ได้เรียนรู้อะไรมามาก ก็อยากเอาวิธีขุดของอังกฤษไปใช้ที่เมืองไทยดู ว่ามันจะใช้ได้ไหม เพราะชั้นดินทั่วโลกไม่เหมือนกัน วิธีที่เมืองไทยใช้อยู่ตอนนี้มันอาจจะดีที่สุดแล้วก็ได้”

คุณค่าของงานโบราณคดีคืออะไร

“โบราณคดีบอกเราว่า มนุษย์อยู่มาได้ยังไงโดยไม่มีเทคโนโลยี ขุดเจออุปกรณ์จับปลา อุปกรณ์ดำรงชีวิตของคนสมัยก่อน ทุกวันนี้ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต เราอยู่ยากนะ การเรียนรู้วิธีดำรงชีวิตของคนสมัยก่อนมันช่วยให้เรารู้ว่าจะอยู่ในปัจจุบันได้ยังไงถ้าเกิดอะไรบางอย่างขึ้น” ศศธรกล่าว

“โบราณคดีทำให้เรารู้จักวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ ทุกวันนี้ โลกเปิดกว้างก็จริง แต่สูญเสียเอกลักษณ์ตัวเองเยอะมาก ผสมผสาน แต่เสียความเป็นไทย ดูสิเราแต่งตัวเหมือนกันหมดเลย (มองรอบตัว) ถ้าไม่เรียนรู้เราจะสูญเสียรากเหง้า แต่หลายคนก็ไม่คิดว่ามันสำคัญ สูญเสียรากเหง้าแล้วไง ฉันยังมีเงินใช้

แต่มันมีความภูมิใจหลายๆ อย่าง มีความจรรโลงใจที่เรารู้ที่มาของตนเอง ถ้าญี่ปุ่นไม่มีวัฒนธรรมเฉพาะตัวอย่างที่เขามี ทั้งอาหาร ดนตรี การแต่งกาย เราจะอยากไปเที่ยวหรือ เพราะไปโตเกียวหรือลอนดอนก็เหมือนกัน ก็น่าสนใจว่า ทำไมคนแต่ละชาติต่างกัน ยังมีอะไรอีกมากที่เราต้องศึกษากันและกัน”

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

ชีวิตนี้พอใจแล้ว

ตลอดบทสนทนา ชัดเจนเหลือเกินว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ

“โอ้โห อยู่ที่นี่ พูดไม่ได้เลยว่า โอ๊ย ไม่มีใครมาโอ๋ฉันหน่อย ช่วยหน่อย ไม่มี มีแต่ตัวเอง ถ้าไม่ช่วยตัวเองใครจะช่วย” ศศธรกล่าว

แต่เมื่อชีวิตเดินมาถึงปีที่ 42 เธอบอกด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มว่า มีความสุขแล้ว

“ทุกวันนี้พี่มีเพื่อนร่วมงานที่ดี เงินก็พออยู่ได้ นักโบราณฯ ไม่ได้รวยนะ ได้เงินมากกว่าเมืองไทยจริง แต่ค่าครองชีพก็สูงกว่า สำหรับพี่ งานจบ กลับบ้าน แฮปปี้ พอแล้ว บางคนอยากไต่ขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้เงินเยอะๆ พี่ไม่อยาก เพราะยังอยากทำงานโบราณคดี ถ้าอยู่สูงมันจะกลายเป็นผู้บริหารแล้ว พี่ยังอยากอยู่ในหลุมขุดค้น และมีเวลาได้ทำอย่างอื่น มีเวลาให้ครอบครัว ครอบครัวสำคัญ ไม่รู้ว่าเราจะมีเวลาร่วมกันอีกนานแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องทำงานให้เป็นที่ยอมรับ”

เมื่อขอข้อคิดในการทำงานให้เป็นที่ยอมรับ นักโบราณคดีหญิงไทยหนึ่งเดียวในกรุงลอนดอนย้ำเรื่องการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

“บางทีเจอเด็กไทยบอกว่า ผมอยากเป็นอาจารย์วิชานี้ๆ แต่พี่ถามว่า คุณทำอะไรให้ตัวเองเก่งขึ้นในเรื่องนั้น ถ้าเรียนเสร็จ กลับบ้านแล้วเล่นเกม ทำการบ้าน เช้ามาไปโรงเรียนเหมือนคนอื่น ไม่ได้หาความรู้เพิ่มเลย คุณก็รู้เท่าเพื่อน แล้วจะเป็นอาจารย์เขาได้ยังไง เวลาว่างก็เข้าห้องสมุดสิ ทำอะไรที่เพิ่มพูนทักษะ ให้เราเป็นที่หนึ่งให้ได้ ทำให้คนจ้างงานปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องจ้างคนนี้

“ตอนพี่อายุสามสิบกว่า ไปเรียนคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย ไม่ค่อยเข้าหัว ก็ยังยืนคุยกับเพื่อนว่า I’m too old for this. บังเอิญมีคุณยายคนหนึ่งอายุหกสิบถึงเจ็ดสิบ ถือไม้เท้า เดินขึ้นบันไดพร้อมกระเป๋าหนังสือเพื่อไปเรียน พวกพี่หันไปมองแล้วเงียบไปเลย ไม่เอ่ยคำว่า Too old for this อีกเลย

“เหมือนที่ทุกงานในอดีตของพี่ มันช่วยให้อะไรบางอย่างกับงานปัจจุบัน ถ้าเราเรียนรู้ตลอดเวลา สักวันหนึ่งความรู้และทักษะที่ติดตัวมันจะช่วยคุณได้แน่ๆ พี่เชื่ออย่างนั้นนะ”

ศศธร เจริญพันธ์ สาวเหนือจากเชียงใหม่ สู่นักโบราณคดีภาคสนามคนไทยหนึ่งเดียวในลอนดอน

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ปรารถนา สำราญสุข

อดีตเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนา สนใจเรื่อง ผู้คน วัฒนธรรม ชนพื้นเมือง การพัฒนาชนบทและพื้นที่ชายแดน ปัจจุบันเรียนมานุษยวิทยา เพื่อกลับไปเป็นนักพัฒนาที่เข้าใจผู้คนมากกว่าเดิม