The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

เมื่อพูดถึงงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เรามักนึกถึงโครงการในผืนป่าของภาครัฐหรือองค์กรใหญ่ๆ ทำให้คนเมืองทั่วไปรู้สึกว่าโครงการเหล่านั้นแสนไกลตัว ทั้งที่จริงแล้วธรรมชาติอยู่รอบตัวเรา

คุณรู้จักนกกระเรียนไหม? เชื่อว่าหลายคนคงพยักหน้าอยู่ในใจ

แล้วรู้ไหมว่านกกระเรียนได้หายไปจากธรรมชาติในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 

นกขนาดใหญ่ที่สูงได้ถึง 1.8 เมตร มีสีเทาที่ลำตัว สีแดงที่บริเวณหัวถึงลำคอ และมีอายุยืนยาวถึง 70 – 80 ปี พวกมันเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ ว่ามีความอุดมทางแหล่งอาหารและมีความปลอดภัยของระบบนิเวศแค่ไหน นกกระเรียนหายไปจากประเทศไทยเป็นเวลาหลายสิบปีโดยที่คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลย

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณไปทำความเข้าใจ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 15 Life On Land ปฏิบัติการเพื่อลดความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ หยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเร่งด่วน โดยภายในปี พ.ศ. 2563 คุ้มครองและป้องกันความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม 

ผ่าน ‘โครงการการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ’ โครงการอนุรักษ์เล็กๆ แห่งจังหวัดบุรีรัมย์ที่ชาวบ้านในชุมชนเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของการขับเคลื่อน แถมยังต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชน ที่ทุกคนในประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมกับงานอนุรักษ์นี้ได้ด้วย

นุชจรี พืชคูณ นักอนุรักษ์แห่งองค์การสวนสัตว์ ผู้รับผิดชอบโครงการจะมาเล่าให้เราฟังถึงขั้นตอนของโครงการนี้ ตั้งแต่การเพาะพันธุ์นก การดูแลให้เติบโต การเตรียมความพร้อมให้นกออกไปใช้ชีวิตในธรรมชาติ ไปจนถึงการทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ที่นำนกกระเรียนไปปล่อย ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุด

เพราะความท้าทายของโครงการนี้ คือนกที่ปล่อยไปต้องอยู่รอดได้ด้วยตัวเองในธรรมชาติ ที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนคือพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นนาข้าว ดังนั้นชาวบ้านในชุมชนต้องเข้าใจและเต็มใจทำเกษตรกรรมไปพร้อมๆ กับการปล่อยให้นกกระเรียนได้หากินอาศัยในพื้นที่นาของตัวเอง

จากจุดเริ่มต้นโครงการ ในปี พ.ศ. 2551 โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นองค์การสวนสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทุกวันนี้โครงการประสบความสำเร็จเป็นที่น่าชื่นใจ ชาวบ้านในชุมชนเห็นความสำคัญและไม่อยากให้นกกระเรียนหายไปจากธรรมชาติอีก จึงพร้อมใจกันเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมจากเคมีไปสู่อินทรีย์ เพื่อให้นกมีถิ่นที่อยู่อันสมบูรณ์ปลอดภัย

และเป็นที่มาของ ‘ข้าวสารัช’ ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ของชาวบ้านที่ปลูกในพื้นที่อนุรักษ์นกกระเรียน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่างานอนุรักษ์นกกระเรียนไม่ใช่แค่เรื่องของคนในพื้นที่ เพราะไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน เราก็สามารถอุดหนุนผลิตภัณฑ์ข้าวสารัชที่พัฒนาคุณภาพชีวิตนกไปพร้อมกับชีวิตผู้คนได้

ธรรมชาติอยู่รอบตัว และเราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ จากสองมือเล็กๆ ของทุกคน

01

โจทย์ปราบเซียน

นุชจรีเล่าว่า “การเลือกนกกระเรียนมาอนุรักษ์เพื่อปล่อยคืนธรรมชาติเป็นความท้าทายมาก ข้อแรก เขาสูญพันธุ์ไปแล้ว มันเลยมีคำถามว่าถ้านำกลับมาสู่ธรรมชาติจะทำได้ไหม ข้อสอง นกกระเรียนเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 15 ชนิดของประเทศไทย ข้อสุดท้าย เป็นเรื่องพื้นที่ที่เขาอยู่อาศัย พื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งพื้นที่แบบนี้น้อยมากที่จะเป็นเขตอนุรักษ์ ถ้าเราก้าวข้ามข้อจำกัดทั้งสามข้อนี้ได้ การนำกระบวนการต่างๆ ไปใช้ในการอนุรักษ์สัตว์ชนิดพันธุ์ที่ความท้าทายน้อยกว่านี้ โอกาสจะสำเร็จก็น่าจะมีมากขึ้น”

นกกระเรียนไทยใช้เวลาราว 50 ปีในการค่อยๆ สูญพันธุ์หายไปจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นช่วงปีที่ประเทศไทยเร่งพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านอุตสาหกรรมและการคมนาคม เข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น บุกรุกเข้ามาล่าสัตว์มากขึ้น ทั้งเปลี่ยนสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เป็นนาข้าว ไปจนถึงการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการผลิต เพื่อจะได้ผลผลิตปริมาณมากๆ ในขณะที่ตัวนกเองปรับตัวได้ไม่ทันท่วงที จนสุดท้ายประชากรนกก็ลดลงจากการล้มตาย หรือไม่ก็กระจายอพยพย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น 

หลังจากที่นกกระเรียนหมดจากธรรมชาติไปแล้วใน พ.ศ. 2517 ก็พบว่ามีคนนำรุ่นลูกของนกพันธุ์นี้มาบริจาคให้ทางสวนสัตว์ ทางกรมอุทยานแห่งชาติก็มีนกของกลางที่จับมาได้จากการลอบเลี้ยง การเพาะพันธุ์ใหม่เลยเริ่มจากตรงนี้ จนมีประชากรเพิ่มเป็นร้อยๆ ตัว

02

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า นกพึ่งอะไร?

ก่อนสูญพันธุ์ นกกระเรียนไทยอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเหมือนกันกับในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาหรือเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารที่นุชจรีบอกว่า การมีเขาอยู่ในพื้นที่ก็เหมือนเรามีเสืออยู่ในป่า นกกระเรียนก็เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ดังกล่าวว่ามีความอุดมทางแหล่งอาหาร มีความปลอดภัยของระบบนิเวศ 

แล้วเกิดอะไรขึ้นเมื่อนกหายไป?

“ที่จริงระบบนิเวศปรับตัวของมันได้อยู่แล้ว เมื่อชนิดพันธุ์หนึ่งสูญพันธุ์ไป ชนิดพันธุ์อื่นก็เข้ามาทดแทน ถ้าถามว่าการหายไปของนกกระเรียนทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงไหม มันอาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เรารับรู้ได้ แต่เป็นเรื่องของคุณค่าทางจิตใจมากกว่า เพราะการมีเขาอยู่ การที่เรายังนำเขากลับมาได้ มันย้ำว่ายังมีชนิดพันธุ์นกขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ได้อยู่”

ก่อนหน้านี้ใน พ.ศ. 2533 เคยมีการปล่อยนกกระเรียนที่เพาะเลี้ยงไว้คืนสู่ธรรมชาติมาก่อน โดยเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว เพราะคิดว่าถ้าปล่อยนกไปในเขตอนุรักษ์ โอกาสรอดชีวิตน่าจะมีสูงกว่า แต่ต้องอย่าลืมว่านกบินได้

“นกกระเรียนเป็นสัตว์ที่ใช้พื้นที่ค่อนข้างกว้าง กินพื้นที่ราบขนาดใหญ่ ซึ่งหาพื้นที่แบบนี้ในเขตห้ามล่าสัตว์แทบไม่มีเลย ดังนั้น เวลาที่เราไปปล่อยเขาบนภูเขา สุดท้ายเขาจะบินลงมาข้างล่าง ทีนี้เราจะติดตามตัวเขายังไง สมัยนั้นข้อมูล เทคนิคเชิงวิทยาศาสตร์ ก็ยังไม่ดีพอ ปล่อยไปแล้วก็ไม่รู้เขาบินไปไหน ติดตามไม่ได้ อีกอย่างคือตอนนั้นมีคนทักท้วงเรื่องสายพันธุ์นกว่าคือสายพันธุ์เดิมกับที่มีในธรรมชาติบ้านเราหรือเปล่า เราตอบคำถามของคนทั่วไปไม่ได้ โครงการก็เลยหยุดชะงักไปตั้งแต่ตอนนั้น”

ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนั้นถูกแก้ไขเมื่อโครงการนี้เริ่มขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2551 มีการศึกษาเรื่องพันธุ์นกกระเรียนอย่างละเอียด บริเวณพื้นที่อยู่อาศัย ไปจนถึงข้อมูลทางวิชาการและเทคนิค เช่น การฝังชิปติดตามเพื่อช่วยให้นกรอดชีวิตหลังจากถูกปล่อยสู่ธรรมชาติแล้ว คราวนี้จึงเป็นหน้าที่ของ ‘คน’ ที่จะช่วยนกให้กลับสู่บ้านของเขาอีกครั้งหนึ่ง

03

พานกกลับรัง

ตั้งแต่การเตรียมตัวไปจนถึงปล่อยนกมีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน หนึ่ง การเพาะพันธุ์นกในสวนสัตว์ สอง การทำงานกับนกในธรรมชาติ และสาม การทำงานกับคนที่อยู่ในพื้นที่ 

ขั้นตอนที่หนึ่ง การเพาะพันธุ์นกในสวนสัตว์น่าจะเป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุด แต่นกที่เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์กับนกที่เลี้ยงเพื่อจะนำไปปล่อยไม่เหมือนกัน โดยมีหลักการที่แตกต่างกันเพียงข้อเดียวคือ นกที่จะนำไปปล่อยต้องไม่มีพฤติกรรมฝังใจกับคน สัตว์เลี้ยงทั่วไปจะติดเจ้าของ นกเองก็เหมือนกัน ถ้าเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่มีแต่คน นกจะคิดว่าตัวเองไม่ใช่นก ไม่สามารถไปอยู่เป็นฝูงหรือจับคู่กับนกตัวอื่นได้ เมื่อเจอคนก็จะเข้าหาคน เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย ดังนั้น ในที่เพาะเลี้ยง คนต้องใส่ชุดที่มีสีเหมือนนก ห้ามส่งเสียง ห้ามพูดคุย เพื่อป้องกันไม่ให้นกจดจำลักษณะท่าทาง สี และเสียง ต้องสอนนกเหมือนเราเป็นพ่อแม่นกเอง

ขั้นตอนถัดมาคือ การทำงานกับนกในธรรมชาติ เมื่อสุขภาพ พฤติกรรม ความสามารถในการเข้าฝูงของนกพร้อมแล้ว เขาก็พร้อมจะถูกปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยปกติแล้วจะปล่อยนกเป็นฝูงอย่างน้อย 5 ตัว ยิ่งถ้าไปรวมกับฝูงที่อยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว โอกาสรอดยิ่งสูงกว่า นกจะได้เรียนรู้จากรุ่นพี่โดยตรง อย่างเรื่องหาอาหาร เรื่องการทำรัง เขารู้โดยสัญชาตญาณอยู่แล้ว จากข้อมูลที่พบคือ รังในสวนสัตว์กับรังที่ไปทำในธรรมชาติไม่เหมือนกันเลย

ส่วนพื้นที่ปล่อย ดูจากหลักฐานที่เคยพบนกกระเรียนในอดีต จากนั้นก็ต้องศึกษาลักษณะกายภาพของพื้นที่นั้นๆ ว่าเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ลาดชัน มีน้ำลึกแค่ไหน ฝนตกเท่าไหร่ อุณหภูมิเป็นอย่างไร ไปจนถึงลักษณะทางนิเวศวิทยาของแต่ละพื้นที่ ทั้งในเรื่องอาหาร ศัตรูผู้ล่า พืชพรรณในพื้นที่ และบริเวณที่นกจะสามารถไปทำรังได้ ก่อนจะเอาข้อมูลทั้งหมดไปเทียบกับข้อมูลของนกที่อยู่ในธรรมชาติของประเทศเพื่อนบ้าน จนได้ข้อสรุปเป็นที่จังหวัดบุรีรัมย์

ขั้นตอนสุดท้าย การทำงานกับคนในพื้นที่ ซึ่งนุชจรีบอกว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุด

“ชุมชนมีบทบาทต่อความอยู่รอดของนกมาก ในช่วงแรกที่ยังไม่ได้ทำงานกับชุมชน เราพบว่าต้องสูญเสียนกไปจำนวนหนึ่งเพราะความไม่รู้ของคน มีทั้งโดนทำร้าย โดนยาฆ่าแมลง พอมาช่วงหลังเราเริ่มโฟกัสในการทำงานกับชุมชนมากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรให้เขามีใจอนุรักษ์ 

“ชุมชนก็บอกเราตรงๆ ว่าเขาไม่เชื่อในหน่วยงานราชการอยู่แล้ว เพราะเคยมีทั้งมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐเข้าไปทำงานกับเขา แต่พอทำเสร็จ ปีสองปีก็ทิ้ง ไม่มีใครทำงานต่อเนื่องเลย เขาก็มองว่าเราจะไปหลอกเก็บข้อมูลจากเขาหรือเปล่า พอทำเสร็จเดี๋ยวก็หนี แต่เราบอกว่าเราไม่ใช่ เราบอกว่าเราจะมาช่วยพัฒนา เราเลยได้ข้อสรุปว่า ถ้าจะให้คนเห็นความสำคัญเรื่องนี้ ต้องทำให้คนเขากินดีอยู่ดีก่อน แล้วเขาจะอยากมาอนุรักษ์เอง”

04

คน พึ่ง นก / นก พึ่ง คน

นกกระเรียนที่ปล่อยกลับไปคงไม่มีชีวิตรอด หากไม่ได้ความร่วมมือของคนในพื้นที่ เพราะการอนุรักษ์ไม่ได้พึ่งแค่กลุ่มคนที่ทำงานอนุรักษ์อย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทุกคน

ช่วงแรกองค์การสวนสัตว์เริ่มจากการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้านสำหรับที่นาที่นกไปทำรังจนเสียหาย ต่อมาจึงเปิดรับบริจาคจากบุคคลทั่วไปแล้วนำเงินมาช่วยตรงนี้ แต่วิธีการนี้ไม่ยั่งยืน เป็นการเกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยแก้

มันเลยกลับมาสู่คำถามเดิมว่า ‘จะทำอย่างไรให้คนมีใจอนุรักษ์’ ใจความสำคัญคือ ในขณะที่ให้เขาช่วยดูแลคุณภาพชีวิตนก ต้องมีการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไปพร้อมๆ กัน

“ในช่วงแรกคนท้องถิ่นไม่เชื่อเรื่องการอนุรักษ์ เขาบอกว่าเขายังต้องหากินอยู่ ให้มาช่วยอนุรักษ์แล้วจะได้อะไร เขาไม่เชื่อว่างานอนุรักษ์จะช่วยให้มีรายได้ จากนั้นพอเราไปเจอชาวบ้าน เราจึงไม่คุยเฉพาะเรื่องนก แต่คุยไปถึงว่าตอนนี้เขาทำอาชีพอะไร เป็นอย่างไร อย่างเช่นข้าว เขามีข้าวอยู่แล้ว เรามีนก จะทำอย่างไรให้ข้าวเขาขายได้มากขึ้น และนกอยู่ได้”

นาอินทรีย์จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่การเปลี่ยนจากการทำนาแบบใช้สารเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ องค์การสวนสัตว์ต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานตั้งแต่กรมพัฒนาที่ดิน กรมการข้าว กรมการเกษตรจังหวัด กรมการเกษตรอำเภอ และทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ดึงผู้เชี่ยวชาญมาช่วยให้ความรู้คนท้องที่ 

“เราพบว่าชาวบ้านรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เจอคือ เขาไม่รู้เรื่องของสภาพดินและการใส่ปุ๋ย หลายคนทำนาแต่ไม่รู้ว่าดินที่มีต้องใส่ปุ๋ยแบบไหน บางทีใส่ไปพืชอาจจะไม่ได้รับเลย เพราะดินเป็นดินทราย มันสูญเสียไปหมด เราเข้าไปช่วยในเชิงวิทยาศาสตร์ ช่วยตรวจดิน ช่วยตรวจน้ำ ช่วยดูว่าถ้าเขาจะปรับปรุงดินแบบนี้จะทำอย่างไร ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้และงบประมาณ”

จากเป้าหมายที่จะอนุรักษ์นกกระเรียนไทย สู่การร่วมมือกันระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและคนในท้องที่ เกิดเป็น ‘ข้าวสารัช’ โครงการที่เน้นการทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีเป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้บริเวณที่นกกระเรียนอาศัยเป็นพื้นที่ปลอดภัย และเมื่อเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์แล้ว ผลิตผลที่ได้ต้องดีขึ้น ขายได้มากขึ้น จึงมีการนำเรื่องนกมาผนวกกับข้าว แล้วเพิ่มมูลค่าข้าวจากการที่มีเรื่องอนุรักษ์เข้าไปเกี่ยวข้อง

“ชื่อสารัชมาจากชื่อของนกกระเรียน Sarus Crane ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า สารัต หรือสารัตถะ ในภาษาไทยที่แปลว่า คุณประโยชน์ ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นแล้วว่างานอนุรักษ์สร้างประโยชน์ให้เขาได้เหมือนกัน เช่น สร้างมูลค่าให้ผลิตผลของชุมชน เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว อย่างข้าวสารัช พอคนรู้ว่าเป็นข้าวที่ช่วยเรื่องอนุรักษ์เขาก็พร้อมจะสนับสนุน ที่นาในพื้นที่ก็ค่อยๆ ถูกปรับเป็นเกษตรอินทรีย์มาเรื่อยๆ โดยเริ่มจากกลุ่มหนึ่งเป็นต้นแบบก่อน พอเราเข้าไปสนับสนุน ให้ความรู้ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ขายได้ กลุ่มอื่นๆ ก็ค่อยปรับตาม จริงๆ ข้าวสารัชจะไม่ได้มีแค่ข้าวอย่างเดียวนะ เรากำลังพัฒนาให้ออกมาในรูปแบบอื่นๆ ด้วย”

ตอนนี้คนท้องถิ่นเห็นแล้วว่างานอนุรักษ์ช่วยให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นเช่นกัน พวกเขาเห็นนักอนุรักษ์เป็นลูกหลาน และเห็นนกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในชุมชน ความไว้ใจกันนี้ทำให้การอนุรักษ์ก้าวไปอีกขึ้น 

“อย่างทุกวันนี้ชาวบ้านเขาช่วยเราเก็บข้อมูล มีการถ่ายวิดีโอ มีการจดบันทึก มีอะไรก็เอามาเล่าให้เราฟัง พอเขาให้ความสำคัญ เขาก็จะเกิดความสนใจ เกิดความสงสัย ชาวบ้านน่ารัก”

05

จากใจนักอนุรักษ์

นุชจรียังจำครั้งแรกที่ปล่อยนกกระเรียนสู่ธรรมชาติได้ มีทั้งหมด 10 ตัว ซึ่งไม่เหลือรอดชีวิตเลยสักตัว จากการทำงานมาหลายปี ศึกษาพฤติกรรมทั้งของนกและคนในท้องถิ่น เก็บข้อมูลเรื่องปัญหา เรื่องโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เรียนรู้จากนกและปรับปรุงจากความเสียหายเหล่านั้น ทำให้วันนี้มีนกกระเรียนที่ปล่อยมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติ 81 ตัว จากที่ปล่อยไปทั้งหมด 115 ตัว โดยยังไม่รวมอีกจำนวนหนึ่งที่เกิดในธรรมชาติอีกราวๆ 15 ตัวได้

“เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าภายในกี่ปีต้องมีนกกระเรียนในธรรมชาติเท่าไหร่ เพราะเราควบคุมปัจจัยภายนอกอย่างสภาพภูมิอากาศไม่ได้เลย อย่างสองปีก่อนเราได้นกที่เกิดในธรรมชาติเป็นสิบตัว ปีที่ผ่านมาเหลือสามตัว ส่วนปีนี้ยังไม่มีเลย เราเลยไม่ตั้งเป้าว่าต้องมีลูกนกเกิดเท่าไหร่ แต่พยายามทำให้ลูกนกที่เกิดมามีชีวิตรอดได้มากกว่า”

นกกระเรียนเป็นเหมือนตัวอย่างของความสำเร็จอีกขั้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย ที่ตอนนี้มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลเยอะขึ้น ง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานอนุรักษ์ลุล่วงได้คือความยั่งยืนและความต่อเนื่อง เพราะการอนุรักษ์ไม่ใช่แค่เพาะพันธุ์สัตว์ ปล่อยคืนธรรมชาติ แล้วก็จบ ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนในพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ จำนวนของสัตว์ที่มี และคนนอกพื้นที่ด้วยเช่นกัน

งานอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จคืองานอนุรักษ์ที่ยั่งยืน ดังนั้นเราทุกคนต้องไม่ลืมว่าธรรมชาติทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นโครงข่ายสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 15 Life On Land สัมพันธ์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 14 Life Below Water เพราะไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ป่า สัตว์ทะเล ดิน น้ำ อากาศ ต่างเชื่อมต่อถักทอกันเป็นระบบนิเวศ หากเราอยากส่งต่อโลกงดงามใบเดิมไปให้ลูกหลานในอนาคต ทุกคนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ

แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ อย่าง ‘โครงการการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ’ นี้ที่ทุกคนสามารถอุดหนุนผลิตภัณฑ์ ‘ข้าวสารัช’ เพื่อสนับสนุนชาวบ้านในชุมชนที่เปลี่ยนวิธีเกษตรกรรมจากเคมีเป็นอินทรีย์เพื่ออนุรักษ์นกกระเรียนให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไปอีกแสนนาน

ภาพโดย โครงการการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ และองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล