11 พฤศจิกายน 2020
6 K

The Cloud X สารคดีสัญชาติไทย

ในท่ามกลางความมืดมิดของเช้าวันกลางฤดูฝน ผมจอดรถลงข้างทางถนนรอบริมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากแล้วดับไฟมืดสนิท เพื่อไม่ให้แสงจากไฟหน้ารถไปรบกวนนกกระเรียนที่จับกลุ่มยืนนอนกันในบริเวณกลางน้ำในความมืด แล้วนั่งรอเวลาที่แสงแรกจะจับขึ้นบนปลายฟ้า

บรรยากาศในวันนี้ทำให้ผมนึกหวนไปถึงเมื่อ 2 ปีก่อนที่ผมไปยืนเฝ้าคอยบันทึกภาพแสงแรกของวันกับนกกระเรียนมงกุฎแดงหรือ Red Crowned Crane ในบริเวณสะพาน Otowa Bridge ที่เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

สิ่งที่ผมจำได้ดีนอกเหนือไปจากความหนาวเหน็บในอุณหภูมิติดลบถึง 15 – 20 องศาเซลเซียส ในช่วงเช้ามืดของเดือนกุมภาพันธ์ที่มือแทบจะเป็นน้ำแข็ง ก็คือบนสะพานเล็กๆ นั้น ผู้คนจากทั่วโลกนับร้อยยืนเบียดเสียดกันแน่นจนแทบจะไม่มีที่ตั้งขากล้อง

ภาพอันงดงามของนกกระเรียนมงกุฎแดงท่ามกลางหมอกหนาทึบและแสงแรกของวันที่ดูสงบงามในเบื้องหน้า ข้างหลังภาพหลังนั้นต้องแลกมาด้วยการไปยืนหนาวเหน็บเฝ้าขาตั้งกล้องตั้งแต่ตี 4 ก่อนที่นักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่หลายสิบคนจะลงจากรถบัสและขนขาตั้งกล้องมาวางจับจองที่กันดูวุ่นวาย เพื่อหามุมภาพที่ดีที่สุดเพื่อรอบันทึกภาพความสงบงามเบื้องหน้า

เงาตะคุ่มของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์จากไทยกว่า 50 ปีในจังหวัดบุรีรัมย์
นกกระเรียนพันธุ์ไทย Sarus Crane ในขณะที่ใช้ปากกำลังจัดเรียงขนปีกให้เป็นระเบียบ

หากริมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากในวันนี้ มีผมเพียงลำพังกับความมืดมิดรอบๆ ตัวเพียงเท่านั้น เมื่อแสงแรกของวันจับปลายฟ้า พอมองเห็นเงานกกระเรียนที่ยืนหลับในน้ำตะคุ่มๆ ผมจึงค่อยๆ เปิดรถออกแล้วหยิบขาตั้งกล้องท้ายรถออก ค่อยๆ เดินขยับหามุมภาพและแสงที่ต้องการ โดยไม่ต้องรีบร้อนหรือแก่งแย่งแข่งขันกับใคร 

ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าเมื่อฝูงนกกระเรียนกว่า 20 ตัวนั้นโผบินขึ้นพร้อมๆ กัน ก่อนจะแยกย้ายกันออกไปหากินในทุ่งเบื้องหน้าในแสงแรกของวันนั้น คือสิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่เชื่อมโยงภาพสะท้อนความเหมือนที่แตกต่างกันระหว่าง 2 สายพันธุ์นกกระเรียนที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำห่างกันไปหลายพันไมล์

เงาตะคุ่มของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์จากไทยกว่า 50 ปีในจังหวัดบุรีรัมย์
นกกระเรียนมักไปยืนรวมกลุ่มนอนหลับ ในยามค่ำคืนในบริเวณแอ่งน้ำตื้นๆ เพื่อความปลอดภัยจากนักล่า
ก่อนจะตื่นนอนและแยกย้ายออกไปหากินในช่วงเช้าตรู่
เงาตะคุ่มของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์จากไทยกว่า 50 ปีในจังหวัดบุรีรัมย์
กว่า 50 ปีที่นกกระเรียนพันธุ์ไทยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติประเทศไทย
ปัจจุบันนี้เราเริ่มมีความหวังกับลูกนกกระเรียนสายพันธุ์ไทยที่เกิดขึ้นในธรรมชาติมากกว่า 15 ตัวในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นกกระเรียนพันธุ์ไทย Sarus Crane (Grus antigone sharpii) เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดของประเทศไทย เป็นหนึ่งในนกน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งที่เมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงถึง 150 – 167 เซนติเมตร หรือสูงเกือบเท่าผู้ใหญ่ที่มีความสูงเฉลี่ยของคนเอเชีย นกกระเรียนพันธุ์ไทยเคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติในเมืองไทยมานานกว่า 50 ปี โดยมีรายงานพบเห็นในธรรมชาติครั้งสุดท้ายใน พ.ศ. 2511 ในบริเวณชายแดนติดประเทศกัมพูชา 

ในอดีต จากบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับลานนกกระเรียน ระหว่างเสด็จไปตรวจราชการหัวเมืองมณฑลอุดรกับมณฑลอีสานใน พ.ศ. 2448 ทรงพบนกกระเรียนพันธุ์ไทยมาทำรังวางไข่ในบริเวณทุ่งนับพันนับหมื่นตัว ก่อนที่พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้จะกลายสภาพเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เกษตรในเชิงพาณิชย์

เมื่อประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกข้าวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก พื้นที่แหล่งอาศัยและทำรังของนกกระเรียนก็กลายสภาพมาเป็นพื้นที่ทำกิน และหลังจากนั้นนกกระเรียนพันธุ์ไทยก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย โดยยังคงมีเหลืออยู่ในธรรมชาติในบางพื้นที่ของประเทศกัมพูชาและเวียดนาม

เงาตะคุ่มของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์จากไทยกว่า 50 ปีในจังหวัดบุรีรัมย์
นกกระเรียนพันธุ์ไทย เป็นนกกระเรียนขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างหน้าตาที่งดงามชนิดหนึ่ง ด้วยสีแดงสดในบริเวณลำคอของมัน
เงาตะคุ่มของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์จากไทยกว่า 50 ปีในจังหวัดบุรีรัมย์
สายรุ้งหลังฝนทาบทอลงบนท้องทุ่งหลังฝนแรกที่พร่างพรมลงในบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก
ที่แห้งผากจนกลายสภาพเป็นท้องทุ่งในช่วงฤดูแล้ง

โครงการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 โดยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (International Crane Foundation) นำนกกระเรียนสายพันธุ์ Sarus Crane สายพันธุ์ย่อยที่พบในอินโดจีนและที่เคยพบในประเทศไทยนั้นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยแรกเริ่มนั้นนำมาเลี้ยงดูอยู่ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าบางพระจำนวน 6 ตัว

จนกระทั่งใน พ.ศ. 2540 สวนสัตว์โคราชเริ่มขยายพันธุ์แบบธรรมชาติและการผสมเทียมเป็นผลสำเร็จ จากจำนวนเริ่มต้นเพียง 26 ตัว ได้ลูกนกที่เกิดมารวม 100 ตัว ใน พ.ศ. 2552 จึงได้เริ่มโครงการทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่เพาะพันธุ์ได้คืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำในธรรมชาติใน พ.ศ. 2554 โดยปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยจำนวน 10 ตัวในบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อำเภอเมืองฯ จังหวัดบุรีรัมย์ และที่อ่างเก็บน้ำสนามบิน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีการปล่อยนกกระเรียนไทยคืนสู่ธรรมชาติแล้วถึง 105 ตัว และมีลูกนกที่เกิดในธรรมชาติแล้วไม่ต่ำกว่า 15 ตัว

ศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทยจังหวัด บุรีรัมย์ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณริมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก คือพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดแห่งหนึ่งสำหรับการติดตามศึกษา และเฝ้าบันทึกภาพนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในเมืองไทย

โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝน เป็นช่วงที่นกกระเรียนจะมารวมตัวกันเต้นรำ จับคู่ ก่อนแยกย้ายกันออกไปทำรังวางไข่ในพื้นที่ซึ่งเป็นทุ่งนาของชาวบ้าน ทางองค์การสวนสัตว์และสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกันจัดทำโครงการกระเรียนอุปถัมภ์ขึ้น เพื่อชดเชยค่าเสียหายแก่เจ้าของที่นาในช่วงระยะเวลา 6 เดือนที่นกกระเรียนเข้าไปทำรัง และเพื่อให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครดำเนินงานติดตามลูกนกกระเรียนที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ เพราะว่าลูกนกกระเรียนที่เกิดขึ้นในธรรมชาตินี้ คือตัวแปรหลักชี้วัดความยั่งยืนของสายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่จะกลับมาสู่ภูมิภาคนี้อีกครั้ง

เมื่อลูกที่เกิดจากธรรมชาติในรุ่นที่ 2 จับคู่และทำรังเองในธรรมชาติได้ ก็หมายถึงว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็ใกล้จะสัมฤทธิ์ผล และคงเหลือแต่เวลาที่จะให้จำนวนของประชากรนกกระเรียนในธรรมชาตินั้นเพิ่มจำนวนขึ้นมาเองทีละน้อย

เงาตะคุ่มของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์จากไทยกว่า 50 ปีในจังหวัดบุรีรัมย์
ในช่วงเวลาที่จับคู่ นกกระเรียนจะค่อนข้างหวงถิ่น
เงาตะคุ่มของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์จากไทยกว่า 50 ปีในจังหวัดบุรีรัมย์
นกกระเรียนบางตัวนอกจากจะมีปลอกขาแล้ว ยังติดวิทยุขนาดเล็กไว้เพื่อศึกษาวิจัย
ถึงตำแหน่ง เส้นทางการบิน และการเคลื่อนย้ายถิ่นของมัน

นอกเหนือไปจากความพยายามรักษาพื้นที่ทำรังและวางไข่ของนกกระเรียนแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ก็คือการจะทำให้นกกระเรียนที่เคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาตินั้นอยู่ร่วมกันกับชาวบ้านและชุมชนได้

นอกเหนือไปจากการทำความเข้าใจกับพื้นที่และชุมชนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนมากที่สุด ก็คือการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตข้าวจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่คนและสัตว์จะอาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ทับซ้อนกันได้อย่างยั่งยืน และนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิในชื่อ ‘ข้าวสารัช’ หรือ ‘Sarus Rice’ ที่มีนกกระเรียนพันธุ์ไทยเป็นสัญลักษณ์ นอกจากสร้างคุณค่าให้การเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากนาข้าวที่นกกระเรียนพันธุ์ไทยไปทำรัง และสร้างพื้นที่อาศัยที่ปลอดภัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทยให้คงอยู่ร่วมกันกับชุมชนได้ตลอดไป

เงาตะคุ่มของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์จากไทยกว่า 50 ปีในจังหวัดบุรีรัมย์
ช่วงต้นฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่นกกระเรียนจะเริ่มต้นจับคู่และทำรัง
เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนกกระเรียน
สารคดีสัญชาติไทย

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม