ในยุคหนึ่ง บางคนอาจมองผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ เสียเปรียบเพศชายด้านสรีระ เป็นช้างเท้าหลังซึ่งต้องปรนนิบัติพัดวีช้างเท้าหน้า เป็นสายซัพในครอบครัวที่มักโดนมองข้าม

“แต่สำหรับผม เพศหญิงเป็นเพศที่ฉลาดมาก เพราะเป็นผู้วางกลยุทธ์ในการดูแลครอบครัวให้เรียบร้อยตั้งแต่เช้าจรดเย็น คือผู้กุมอำนาจที่แท้จริงในบ้าน”

มุมมองจาก เอก-ศรัณญ อยู่คงดี ผู้ก่อตั้ง ‘SARRAN’ แบรนด์เครื่องประดับที่นำเสนอเสน่ห์หญิงไทยโบราณได้อย่างเฉียบคม เก๋ไก๋ จน อลิเชีย คีส์ (Alicia Keys) เลือกใส่ในคอนเสิร์ตเปิดห้าง ICONSIAM ผู้สร้างสรรค์ต่างหูอุบะดอกรักรุ่นต้นฉบับที่ถูกทำเลียนแบบทั่วบ้านทั่วเมือง และผู้อยู่เบื้องหลังกรรเจียกดอกพุดซ้อนชิ้นงามในมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA

สมควรแก่รางวัลนักออกแบบแห่งปี (Designer of the Year) สาขา Jewelry Design ปี 2021 อย่างไร้ข้อกังขา

ความหลักแหลมในเชิงดีไซน์ของเขามาจากการผสานเอางานฝีมือ งานดอกไม้ ไปจนถึงเครื่องหอม หยิบความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสตรีสยาม ซึ่งล้วนเป็นกลเม็ดเด็ดพรายที่ถ่ายทอดผ่านดีเอ็นเอคนไทย มาใช้กับจิวเวลรี่ดีไซน์ได้อย่างชาญฉลาด จนได้รางวัลในสายงานออกแบบดังระดับโลกมาแล้วมากมาย ทั้งจาก The Tiffany & Co. Foundation และรางวัล Craft Design Award จาก World Crafts Council แห่ง UNESCO 

วันนี้เราจึงชวนเขามานั่งลงสนทนา ย้อนสำรวจเส้นทางชีวิตที่เติบโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยวในครอบครัวช่างหัตถศิลป์ เรียนรู้บทเรียนชีวิตแต่ละบทที่หล่อหลอมให้เขาประสบความสำเร็จ รวมถึงถึงทิศทางการเติบโตในอนาคตอย่างไร้กระบวนท่าในแวดวงจิวเวลรี่ดีไซน์

SARRAN แบรนด์จิวเวลรี่ที่เล่าเรื่องหญิงไทยได้เก๋ไก๋ จนได้ไปอวดโฉมใน MV เพลง LALISA

01 การแข่งขันคือการพัฒนาตัวเอง

ศรัณญเติบโตในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากคุณพ่อหย่าร้างไปตั้งแต่เด็ก ทิ้งมรดกไว้อย่างเดียวคือนามสกุล ทำให้เขาผูกพันกับแม่เป็นพิเศษจนได้เห็นความเก่งกาจของเพศหญิง ผู้ต้องเป็นหัวเรือครอบครัวท่ามกลางวิกฤตฟองสบู่แตกโดยจำยอม ฟูมฟักเขาจนโตมาด้วยอาชีพด้านคหกรรมและหัตถกรรม

สิ่งแวดล้อมของครอบครัวปลูกฝังทักษะพื้นฐานด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ศรัณญอย่างแนบเนียน เปิดโอกาสให้เขาได้คลุกคลีตีวงอยู่กับงานหัตถศิลป์จนสนิทสนม ถึงขั้นตัดสินใจเอาดีด้านนี้ตั้งแต่เด็ก เรียนต่อโรงเรียนอาชีวะเพื่อจะได้ติดอาวุธให้ครบครัน จนได้รับทุนเข้าศึกษาต่อที่สาขาศิลปะจินตทัศน์ (Imagine Art) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

“ตอนนั้นผมรู้สึกว่าการถืองานศิลปะสวยๆ มาให้คุณแม่ดู ทำให้ท่านมีความสุขแบบจับต้องได้ มากกว่าเอกสารผลสอบที่มีแต่ตัวเลข แต่ก็อาจเป็นข้อเสียที่ผมไม่ต้องการเป็นที่หนึ่ง และเชื่อว่าเราควรมีความสุขกับสิ่งที่ทำมากกว่า

“พอคุณแม่รู้ว่าชอบทางนี้ ก็ซื้อนิตยสารพวก บ้านและสวน มายัดเข้ามือตั้งแต่เด็ก แต่นิสัยข้อหนึ่งของผมคือ ปากดี ชอบวิจารณ์ ครั้งหนึ่งไปเห็นรีสอร์ตเพื่อนคุณแม่แล้วบอกว่ามันดูหม่นเศร้า คุณน้าท่านจึงเสนอให้ผมไปช่วยดูผ้าปูเตียง ผ้าม่าน และผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ตอนนั้นเราร้อนวิชามาก กลับมาเปิดหนังสือตัดแปะภาพทำมู้ดบอร์ดตั้งแต่ ป.5 และลงมือทำจนจบโปรเจกต์ ได้เงินกินขนมมาตั้งห้าหมื่น

“สมัยเรียนผมเป็นเด็กสายประกวดเต็มตัวเลย มันสนุก ท้าทาย แถมได้เงินมาช่วยที่บ้าน และต้องการบอกว่าฉันมีตัวตน เพราะเจ็บแค้นที่คุณพ่อมาขอนามสกุลคืนช่วงตัดสินใจเรียนต่อสายอาชีวะ เนื่องจากท่านคิดว่าเด็กสายนี้ต้องเกเร แต่ความจริงคือเราแค่อยากฝึกฝนทักษะด้านศิลปะอย่างเข้มข้นเท่านั้น เลยตั้งเป้าว่าต้องทำให้เขากลับมาให้ได้ด้วยการประสบความสำเร็จ”

ศรัณญมุ่งมั่นหาประสบการณ์ลับเหลี่ยมคมอย่างสนุกโลดโผนตลอดชีวิตวัยรุ่น ขยายขอบเขตความสนใจไปสู่วงการภาพยนตร์สั้นช่วงปีท้ายๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย เฉียดกรายเข้าหาแวดวงแฟชั่นช่วงหนึ่งหลังสำเร็จการศึกษา ก่อนตอบรับงานประจำตำแหน่งนักออกแบบผลิตภัณฑ์ในบริษัทเอกชน ซึ่งกินเวลาในชีวิตกว่า 6 ปีเต็ม

SARRAN แบรนด์จิวเวลรี่ที่เล่าเรื่องหญิงไทยได้เก๋ไก๋ จนได้ไปอวดโฉมใน MV เพลง LALISA

02 นักสร้างสรรค์งานศิลปะ

บทสำคัญบทหนึ่งของชีวิต คือการทำงานที่ร้าน Fai Sor Kam (ฝ้ายซอคำ) ร้านอาหารเหนือกลางห้างพารากอน ที่เคยเป็นแหล่งจำหน่ายงานฝีมือจากแดนล้านนา เอกได้ร่วมสร้างสรรค์งานหัตถกรรมกับชุมชนอย่างเข้มข้น ได้หวนกลับมาสัมผัสเสน่ห์ท้องถิ่นและงานคราฟต์อีกครั้งนับตั้งแต่วัยเยาว์ จนทำให้เจ้าตัวรู้ว่า

“หลังจากลองทำอะไรมามากมาย การใช้ความคิดสร้างสรรค์และทำงานด้วยมือคือสิ่งที่ชอบที่สุด” เขาเฉลย

“นอกจากนั้นยังได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กชัดเจนมากขึ้น ในงานจักสาน ทอผ้า เซรามิก บรรดาบุคคลที่เราทำงานด้วย ผู้หญิงทั้งนั้นที่เป็นผู้สร้าง จนย้อนกลับมามองตัวเองว่าแม่เราก็คือหนึ่งในนั้น นี่เลยเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มให้นิยามว่าจะสื่อสารความเป็นผู้หญิงไทยผ่านงานออกแบบ เพราะผมยกย่องคุณแม่ตัวเองผู้ทำทุกอย่างด้วยมือเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงผู้หญิงคนอื่นๆ ซึ่งกำลังรับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวด้วย”

ศรัณญตัดสินใจลาออกจากงานประจำก่อนหน้าที่จะได้รับทุนจากมูลนิธิ The Japan Foundation ไปเป็นศิลปินพำนักในประเทศญี่ปุ่นไม่นาน โอกาสครั้งนี้เปิดช่องทางให้เขาได้สัมผัสวิธีการมองลงลึกไปในรายละเอียดเล็กน้อยฉบับชาวอาทิตย์อุทัย ทั้งในเชิงการใช้ชีวิต การทำงานศิลปะ และการดำเนินธุรกิจ จนเจ้าตัวตัดสินใจเปลี่ยนสถานะตัวเองจากนักออกแบบผลิตภัณฑ์เป็น ‘นักสร้างสรรค์งานศิลปะ’

SARRAN แบรนด์จิวเวลรี่ที่เล่าเรื่องหญิงไทยได้เก๋ไก๋ จนได้ไปอวดโฉมใน MV เพลง LALISA
SARRAN แบรนด์จิวเวลรี่ที่เล่าเรื่องหญิงไทยได้เก๋ไก๋ จนได้ไปอวดโฉมใน MV เพลง LALISA

“ผมเรียนรู้วิธีการทำงานหลังบ้านของบริษัทใหญ่มากในญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้บริหารและรองผู้บริหารลงมานั่งพับกล่องกันเองอย่างมีความสุข แต่มูลค่าปีหนึ่งๆ กว่าสามสิบล้านบาท เลยได้แนวทางแล้วว่า อยากให้ความสำคัญกับแรงงานและการทำมือมากกว่า และหันมาทำแบบมินิมอลมากขึ้น เห็นว่าอะไรที่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมหรือเครื่องจักรมันดูไม่มีเสน่ห์เท่า แม้การผลิตแบบอุตสาหกรรมโดยตัวมันเองไม่ใช่เรื่องผิดอะไร”

จุดเริ่มต้นครั้งใหญ่คือต่างหูดอกรัก-งานออกแบบเครื่องประดับชิ้นแรกของศรัณญ ต่างหูทรงยาวทอดตัวห้อยดิ่งลงมาคล้ายอุบะมาลัยชายเดียวด้วยดอกรัก 7 ดอก ไล่เรียงไซส์จากเล็กไปใหญ่ เดิมทีตั้งใจทำไว้แจกเป็นของที่ระลึกให้แก่ผู้สนใจผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านในบูทของเขาภายในงาน Talent Thai ที่ฝรั่งเศส

SARRAN แบรนด์จิวเวลรี่ที่เล่าเรื่องหญิงไทยได้เก๋ไก๋ จนได้ไปอวดโฉมใน MV เพลง LALISA
SARRAN แบรนด์จิวเวลรี่ที่เล่าเรื่องหญิงไทยได้เก๋ไก๋ จนได้ไปอวดโฉมใน MV เพลง LALISA
ภาพ : ศรัณญ อยู่คงดี

“ผมอยากแสดงความชาญฉลาดในเชิงงานดอกไม้อันล้ำลึกของผู้หญิง เช่น รู้เวลาว่าต้องไปเก็บดอกรักตอนเช้ามืดเพราะดอกจะยังตูม เลือกเก็บดอกแก่และใหญ่สุด ส่วนการเรียงไซส์ซึ่งเป็นเทคนิคการยิง Perspective ทางสายตา เพื่อให้มีอัตราส่วนที่สมบูรณ์ ไม่ดูทื่อแข็ง และถ้าใช้ดอกเท่ากัน พอรวบโคนอุบะก็จะฟูเกินไป

นักสร้างงานศิลปะเล่าต่อถึงไอเดียของชิ้นนี้ ว่าแนวคิดเบื้องหลังการนำดอกไม้มาทัดปอยผม ไม่ใช่เรื่องความงามอย่างเดียว แต่เป็นเทคนิคการสร้างกลิ่นหอมเย้ายวนในยุคที่ไม่มีน้ำหอม 

“ผมเอา Fabric Felt มาอัดด้วยความร้อนเพื่อให้เกิดช่องว่าง แล้ว Digital Print ลงไปในกระดาษ ก่อนนำมาต่อเป็นชิ้นๆ จากนั้นใช้กระบวนการอบร่ำอย่างคนโบราณ เพื่อให้มีกลิ่นติดไปกับเครื่องประดับ”

งานนี้ ศรัณญตั้งราคาเล่นๆ แค่ 5,000 บาทไทย ปรากฏว่ามีสุภาพสตรีท่านหนึ่งซึ่งมาคุยเรื่องราวและแนวคิดในการออกแบบและขอซื้อ แต่พอพลิกไปดูราคา เธอบอกว่าพรุ่งนี้จะมาใหม่ ช่วยตั้งราคาที่เหมาะสมไว้ด้วย ทีแรกศรัณญเข้าใจว่าแพงไป จึงบอกทีมให้แก้ตัวเลขเป็น 500 แต่ดันแก้ไปเป็น 50,000 

“วันรุ่งขึ้นเธอมาถึงสั่งสิบคู่เลย ตอนท้ายเธอถามว่า คุณตีค่าแรงบันดาลใจและวิธีการทำของคุณแค่ห้าพันบาทเองหรอ ผมอึ้งเลย เพราะคุยกับคนสายคอมเมอร์เชียลมาตลอด พอมาคุยกับคนสายอาร์ต จึงรู้สึกว่าโลกใบที่เรากำลังชื่นชอบและอยากเข้าไปมันน่าสนใจ”

ตอนท้าย ศรัณญจึงรู้ว่าสุภาพสตรีท่านนั้นคือคิวเรเตอร์ของร้านเครื่องประดับร้านหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ 

เขาค้าขายกับลูกค้าชาวฝรั่งเศสช่วงสั้นๆ ก่อนหันกลับมาตั้งหลักปักฐานในมาตุภูมิให้แข็งแรง ก่อนจะอ้าแขนผวาปีกบินเดี่ยวสู่เวทีนานาชาติ ผู้ออกแบบต่างหูดอกรักคนนี้ จึงเข้าสู่วงการประกวดในไทยอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง คล้ายกับสมัยเด็ก เพื่อลับเขี้ยวเล็บตัวเองให้คมพอ แล้วก็ได้ทั้งรางวัล Design Excellence Award, Good Design Award, และ Vogue Who’s on Next จากนิตยสาร Vogue Thailand

03 “แบรนด์เราแบรนด์เดียวเปลี่ยนโลกใบนี้ไม่ได้หรอก”

จิวเวลรี่จาก SARRAN ไม่ใช่ผลงานอาร์ตพีซซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้อย่างอึกทึก ไม่ใช่เครื่องประดับอันมีค่าอนรรฆที่แสดงข้อเรียกร้องของผู้สร้างอย่างโจ่งแจ้ง แต่เป็นประณีตศิลป์ชิ้นงามที่เล่าเรื่องราวได้กึกก้องด้วยความเงียบ ค่อยๆ สื่อสารัตถะออกมาได้อย่างหล่อเหลาคมคายโดยไม่ต้องพูดตรงๆ

“คุณค่าของ SARRAN อยู่ที่การทำงานด้วยมือ และเรื่องเล่าที่ออกมากับแต่ละคอลเลกชัน ผมจึงให้ความสำคัญแก่ Storytelling เพราะอยากทำเครื่องประดับที่สื่อสารเรื่องผู้หญิง แม้รู้ดีว่าแบรนด์เราแบรนด์เดียวเปลี่ยนโลกใบนี้ไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยถ้าเราเป็นคนหนึ่งที่เริ่มพูดออกมา คนก็จะค่อยๆ พูดต่อไปเรื่อยๆ

“เพราะผมเห็นคุณค่าของผู้หญิงสู้ชีวิตและอยู่ในจุดนั้นมาก่อน จึงเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนบนโลกซึ่งยังคงต่อสู้กับปัญหาเดิมๆ ในสังคมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่บางครั้ง พอพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ ก็มักลืมว่าร่างกายผู้หญิงอย่างไรก็แข็งแรงไม่เท่าผู้ชาย ถ้าเราไม่พยายามให้เกียรติกันและกัน ผู้หญิงก็จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไม่ได้ โดยเฉพาะเคสแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องน่าสรรเสริญด้วยซ้ำ แต่ลำพังการสรรเสริญมันไม่ได้ทำให้ชีวิตเขาสบายขึ้นไง

“ผมจึงอยากออกมาพูดเพื่อให้เกียรติคนทุกคน และมันก็เป็นหน้าที่ของผู้ชายเหมือนกันนะ”

ศรัณญจึงมุ่งมั่นสื่อสารแนวคิดนี้ผ่านงานออกแบบจิวเวลรี่ของเขาอย่างไม่ย่นย่อ ใส่สุดความสามารถในทุกคอลเลกชันไม่มีกั๊ก

“อย่างสร้อยคอชิ้นนี้” เขาเล่าพลางชี้มือชวนชม

ภาพ : ศรัณญ อยู่คงดี

“เราพัฒนาจากไอเดียการร้อยพวงมาลัย ผมทำโครงสร้างแข็งไว้รอบคอ แล้วปล่อยชายทั้งสองข้างนาบลงมาตามหน้าอก ส่วนดอกไม้ก็ไม่ใช่แค่ร้อยเข้าไปชิ้นเดียวแล้วจบ ผมใช้เทคนิคการย้อมครั่งและไล่สี เกลี่ยความเข้มให้สัมพันธ์กับสรีระ เพื่อช่วยกลบเกลื่อนบางจุดที่ผู้หญิงมักไม่มั่นใจ อย่าลืมนะครับว่าปัจจุบันเราใส่เครื่องประดับกับชุดว่ายน้ำได้ จิวเวลรี่จึงต้องสนับสนุนความมั่นใจ และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้โชว์ความภูมิใจในเรือนร่างด้วย

“ชิ้นนี้ได้รางวัล Craft Design Award จาก World Crafts Council ของ UNESCO และจาก The Tiffany & Co. Foundation ตอนเอาไปโชว์ใน MAD Museum ในอเมริกา มีคนของ บียอนเซ่ (Beyonce) และ ริฮานนา (Rihanna) มาซื้อไปด้วย” ดีไซเนอร์คู่สนทนาเล่าด้วยน้ำเสียงเปี่ยมความภูมิใจ

ภาพ : ศรัณญ อยู่คงดี

“หรืออย่างกรรเจียกที่ ก้อย-รัชวิน วงศ์วิริยะ ใส่ในงานรับพระราชทานน้ำสังข์จากสมเด็จพระสังฆราชฯ ผมต่อยอดมาจากเครื่องประดับหูของไทย เหมือนการทัดดอกไม้ในสมัยก่อน พัฒนาเรื่องน้ำหนักไม่ให้เป็นภาระ ทำโครงสร้างให้รับกับใบหู ดังนั้น ไม่ว่าจะสะบัดหรือว่ายน้ำก็ไม่หลุด เช่นเดียวกับอีกคอลเลกชันที่ อลิเชีย คีส์ ใส่ในคอนเสิร์ตเปิดห้าง ICONSIAM”

ภาพ : ศรัณญ อยู่คงดี

นักออกแบบมากฝีมือใช้แนวคิดจากพฤติกรรมของหญิงไทยอันแสนง่ายดาย แต่พัฒนาต่อยอดขึ้นด้วยความใส่ใจ เติมความละเอียดซับซ้อนลงไปนิด ใส่เทคโนโลยีทันสมัยลงไปหน่อย ได้งานจิวเวลรี่ที่เจ้าตัวนิยามว่าเป็น ‘Art-to-wear’ ชิ้นงามซึ่งเล่าเรื่องผู้หญิงได้ครบจบกระบวนความ

SARRAN ไม่ได้มุ่งเล่าเรื่องคับแคบอยู่เพียงความเป็นหญิงไทยในขนบที่ต้องนั่งพับเพียบเรียบร้อยเท่านั้น แต่ยังนำเสนอความสามารถของหญิงไทยที่โดดเด่นในระดับสากลอย่าง ลิซ่า (ลลิษา มโนบาล) สมาชิกวง BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังอีกด้วย อย่างที่ศรัณญกระซิบผ่านกรรเจียกชิ้นงาม ซึ่งปรากฏในฉากหนึ่งของมิวสิกวิดีโอเพลง Lalisa

ภาพ : LISA – ‘LALISA’ M/V – YouTube

“ผมเลือกใช้ดอกพุดซ้อน เพราะมันให้นิยามความเป็นลิซ่าได้อย่างดี ความหมายดั้งเดิมในงานดอกไม้ มันคือสัญลักษณ์ของการเจริญเติบโตและศิริมงคล คล้ายกับเส้นทางชีวิตของลิซ่า ซึ่งเดินทางเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีสิ้นสุด มีไดนามิกอยู่เสมอ ในชิ้นนี้ผมจึงทำตั้งแต่ดอกตูม ดอกบาน และดอกที่บานแก่จนเมล็ดกำลังจะผลิออกมา มีกิ่งก้านซึ่งงอกเงยต่อไป เพื่อบ่งบอกการไม่หยุดก้าวหน้า

“ผมมองว่านี่คือช่องทางที่จะบ่งบอกอัตลักษณ์ของหญิงไทยได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่หญิงไทยในไทยเท่านั้น ยังบ่งบอกความเก่งของหญิงไทยที่โตไกลในระดับสากลได้ด้วย” เขาอมยิ้มพลางเล่าเรื่องอย่างสนุกสนานส่อแววภูมิใจ กลบความเครียดและความกดดันที่ต้องสร้างสรรค์งานภายใต้ระยะเวลาเพียง 7 วันไปได้อย่างแนบเนียน

04 “งานศิลปะที่ดีจะต้องออกมาเมื่อสังคมต้องการ”

“ผมอยากเป็นแบรนด์เล็กๆ ที่เอาใจใส่ลูกค้าด้วยสองมือของเราไปเรื่อยๆ”

ศรัณญเล่าจุดหมายปลายทางที่วาดไว้ในเวลาข้างหน้าด้วยแววตาและน้ำเสียงมุ่งมั่นขันแข็ง

เขาเชื่อว่างานศิลปะไม่มีกำหนดเวลา แต่งานศิลปะที่ดีจะต้องออกมาเมื่อสังคมต้องการ เพื่อตั้งคำถามหรือตอบคำถามสิ่งที่เกิดขึ้น

“ในอนาคตเราจะไม่พูดแค่เรื่องผู้หญิงอย่างเดียว แต่จะขยายไปพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ และการยอมรับกันและกันในสังคมด้วย เพราะเราเชื่อว่าเพศหญิง ในฐานะผู้ให้กำเนิด บางครั้งอาจไม่ได้หมายถึงการให้กำเนิดลูกอย่างเดียว แต่เป็นการให้กำเนิดความหลากหลายอันงดงาม ซึ่งเป็นธรรมชาติและสาระของโลกใบนี้” 

นักออกแบบศิลปะกล่าวทิ้งท้าย

5 คำแนะนำสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่จากจิวเวลรี่ดีไซเนอร์รุ่นพี่

01 ให้ความสำคัญแก่อดีต

“อดีตนั้นสำคัญ งานศิลปะทุกยุคทุกสมัยมีบริบทและหน้าที่ของตัวเอง ถ้าเราศึกษาและเข้าใจที่ไปที่มา จะทำให้รู้ว่าปัจจุบันควรเดินไปในทิศทางไหนอย่างไร เพราะทุกอย่างคือการสั่งสมประสบการณ์ และประสบการณ์คือสิ่งจำเป็นสำหรับดีไซเนอร์”

02 ให้ความสำคัญแก่ปัจจุบัน

“ปัจจุบันคือบริบทแวดล้อมที่เราจะทำงานศิลปะหรืองานออกแบบมารองรับ อย่างในช่วงโรคระบาด จิวเวลรี่อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตเลย มันไม่ได้มีหน้าที่บอกฐานะ ศักดินา หรืออีโก้ของคนอีกแล้ว แต่มันมีหน้าที่ปลอบประโลมจิตใจและบำบัดความเครียด ความอ่อนล้า คุณจะทำงานแบบไหนออกมา มันคือเรื่องของปัจจุบันโดยตรง”

03 ให้ความสำคัญแก่อนาคต

“เรากะเกณฑ์อนาคตไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำได้แค่ดูอดีตและปัจจุบันเพื่อเดา แต่นี่แหละคือความสนุกที่ทุกแบรนด์จะมองเทรนด์ล่วงหน้า เราอาจไม่เชื่อวิธีการทำการตลาดหรือเทคนิคการผลิตแบบเดิมก็ได้ ตัววัดอย่างเดียวคืออนาคต เพียงแค่ต้องปรับตัวและทำทุกอย่างเพื่อให้เดินไปต่อได้และเจ็บน้อยที่สุดเท่านั้น”

04 ต้องรู้จักตัวเอง

“บางครั้งเราอาจหลงไปกับธุรกิจหรือความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน แต่อย่าลืมมองว่าทางที่จะเดินไปนั้นเป็นตัวเราหรือเปล่า ถ้าจะเปลี่ยน ต้องฉลาดที่จะเปลี่ยน อย่าตื่นเต้นกับความหวือหวา โดยลืมเคารพความเป็นตัวเอง”

05 ทำให้โลกทุกวันนี้น่าอยู่ขึ้น

“สุดท้าย นักออกแบบหรือนักสร้างสรรค์งานศิลปะมักโดนถามว่ามีหน้าที่อะไร ผมคิดว่าเรามีหน้าที่ทำให้โลกทุกวันนี้น่าอยู่มากขึ้น ทำให้คนซึ่งมามีส่วนร่วมกับแบรนด์เราได้มีทัศนคติแง่บวกและมีแรงใช้ชีวิตต่อไปได้ มองเห็นโอกาสและแสงสว่างในวันพรุ่งนี้ ซึ่งความจริง ก็คือวันนี้แหละ”

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน