ใครเดินเข้าร้านหนังสือบ่อย ๆ ก็คงคุ้นเคยกับสำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นอย่างดี

สำนักพิมพ์ผีเสื้อเป็นสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ที่ตั้งใจทำ ‘หนังสือดี’ นอกจากรูปเล่มสวยเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ใครเห็นก็รู้ว่าผีเสื้อแล้ว ที่สำคัญคือพวกเขาตั้งใจคัดสรรเนื้อหาจรรโลงใจมาส่งต่อเป็นอย่างดีด้วย

ที่ผ่านมา ผีเสื้อมักจะคิดหาโครงการที่ทำให้ผู้คนและเด็ก ๆ ในพื้นที่ห่างไกลได้คลุกคลีกับหนังสืออยู่ตลอด คราวนี้ก็ถึงเวลาเปิดตัว ‘ผีเสื้อเพื่อคนพิการ’ อีกสำนักพิมพ์ เพื่อเป็นพื้นที่ปล่อยของสำหรับนักสร้างสรรค์พิการ ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงหนังสือแก่คนพิการ และเพิ่มโอกาสในการเข้าใจคนพิการให้แก่คนทั่วไป

ซึ่ง พลอย-สโรชา กิตติสิริพันธุ์ บรรณาธิการฝึกหัดที่มองไม่เห็น มีผลงานเขียนกับผีเสื้อมาตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ รวมทั้งหมด 3 เล่ม ได้แก่ | จนกว่า | เด็กปิดตา | จะโต (2558), ก ไก่เดินทาง นิทานระบายสี (2559) และ เห็น (2562) ก็ได้เลื่อนขั้นเป็นบรรณาธิการตัวจริงของผีเสื้อเพื่อคนพิการในคราวนี้

ผีเสื้อเพื่อคนพิการเกิดมาจากแพสชันส่วนตัวของพลอย เธอมีความมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโลกของคนทั่วไปและคนพิการไว้ด้วยหนังสือที่เธอหลงใหล แม้จะเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่เราก็ติดต่อคุณ บ.ก. คนใหม่ไปอย่างไม่ลังเล ด้วยเชื่อว่าผีเสื้อตัวใหม่นี้จะขยับเขยื้อนวงการหนังสือได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และเป็นอีกจุดเริ่มต้นที่ดีของความเท่าเทียมในสังคม

สำนักพิมพ์นี้ทำงานอย่างไร ทำโดยใคร และทำเพื่อใครบ้าง พลอยนั่งมอเตอร์ไซค์มาจากบ้านเพื่อมาเล่าให้ทุกคนฟังแล้ว

ผีเสื้อเพื่อคนพิการ : สำนักพิมพ์ที่ บ.ก. มองไม่เห็น แต่จะพาสังคมเห็นคนพิการชัดกว่าเคย

คนพิการผู้สนใจเรื่องราวของคนพิการ 

ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เรามักจะใช้เวลาก่อนขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้านอ้อยอิ่งอยู่ในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ทดลองอ่านหนังสือหลายเล่มเพื่อค่อย ๆ ตัดสินใจว่าจะซื้อดีไหม ตามประสานิสิตที่ไม่ได้มีเงินเยอะเท่าไหร่นัก

| จนกว่า | เด็กปิดตา | จะโต เป็นหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น

เล่มนี้เป็นบันทึกประจำวันของนิสิตผู้มองไม่เห็นที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในคณะที่ตั้งอยู่บนถนนเส้นเดียวกันกับเรา ชื่อ พลอย สโรชา เธอโตกว่าและเข้าสู่วัยทำงานไปสักพักแล้ว แต่ขณะที่เขียนบันทึกนั้นเธออยู่ในวัยเรียนเช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีปัจจัยที่ทำให้เหตุการณ์ในชีวิตไม่เหมือนกันนัก หากความรู้สึกหลายอย่างในความเป็นมนุษย์อายุน้อย ก็เชื่อมเราและผู้เขียนไว้ด้วยกันได้ไม่ยาก เราใช้เวลายืนอ่านเรื่องราวของเธอในร้านหนังสืออยู่หลายวัน จนสุดท้ายก็ตัดสินใจซื้อกลับมาอ่านอย่างจริงจังที่บ้าน

หลายปีถัดมา เราก็ได้โอกาสคุยกับเธอตัวเป็น ๆ คราวนี้ไม่ได้เนื่องในฐานะที่เธอทำงานเขียนอย่างเดียว แต่เธอเป็นผู้ริเริ่มโปรเจกต์ที่เต็มไปด้วยแพสชันของตัวเอง อย่างสำนักพิมพ์ผีเสื้อเพื่อคนพิการ

ผีเสื้อเพื่อคนพิการ : สำนักพิมพ์ที่ บ.ก. มองไม่เห็น แต่จะพาสังคมเห็นคนพิการชัดกว่าเคย

พลอย สโรชา เรียนปริญญาตรีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เอกภาษาและวรรณคดีไทย เธอได้ลงเรียนวิชาเสวนาบรรณาธิการกับวิชาชีพบรรณาธิการเป็นวิชาเลือกเสรี และรู้จักกับ ครูมกุฏ-มกุฏ อรฤดี ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อมาตั้งแต่ตอนนั้น

“สนใจหนังสือมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เลย” เธอเล่า หนังสือมีอารมณ์ มีความรู้สึก และใช้ภาษาในการดำเนินเรื่องราว ไม่เหมือนกับหนังที่เล่าด้วยภาพ เธอจึงเลือกเรียนทางนี้โดยการสอบแข่งขันและยื่นผลงานเพื่อชิงทุนช้างเผือก แม้ไม่ได้รู้แน่ชัดว่าจะทำอาชีพอะไรเมื่อเรียนจบ รู้แค่ว่าจะได้อ่านหนังสือเยอะ ๆ สมใจ

พลอยมีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมที่ชื่อว่า ‘ฝึกฝนผู้ดวงตาพิการให้เขียนหนังสือ’ รวมถึงได้ช่วยครูมกุฏประชาสัมพันธ์โครงการออกไปให้เพื่อน ๆ ที่มองไม่เห็นได้มาอบรมด้วยกัน

“เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นก็ได้ ทำให้เราเห็นว่าคนตาบอดหลายคนสนใจเขียนหนังสือ” พลอยเอ่ย

ผีเสื้อเพื่อคนพิการ : สำนักพิมพ์ที่ บ.ก. มองไม่เห็น แต่จะพาสังคมเห็นคนพิการชัดกว่าเคย

หลังจากจบโครงการ พลอยก็ได้เข้ามาทำงานเป็นบรรณาธิการฝึกหัดที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อโดยที่เขียนหนังสือไปด้วย ทำงานอยู่ประมาณ 2 ปี เมื่อได้ไปเรียนต่อสาขาจิตวิทยาการปรึกษา ที่คณะจิตวิทยา จุฬาฯ และเรียนจบมาเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา ก็มีคนพิการและคนตาบอดจำนวนหนึ่งมาปรึกษาว่าหากเขาอยากเขียนหนังสือ จะทำยังไงดี บางคนก็ส่งต้นฉบับมาให้ดู

“ระหว่างที่เรียนปริญญาโท ได้เข้าร่วมการอบรมผู้นำเยาวชนพิการ ขององค์กรเลียวนาร์ด เชสเชียร์” เธอเล่าต่อ “เป็นจุดเริ่มต้นอีกอย่าง พี่ได้เจอคนพิการประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้น มีคนนั่งวีลแชร์ หูหนวก ทำให้เราสงสัยว่า คนพิการประเภทอื่นมีวิถีชีวิตยังไง”

เธอบอกกับเราว่า แม้กระทั่งคนตาบอดเองก็มีวิถีชีวิตที่หลากหลาย คนมองไม่เห็นตั้งแต่เกิดก็มีความคิดและชีวิตแบบหนึ่ง คนที่เพิ่งมองไม่เห็นตอนอายุเยอะ ๆ ก็มีชีวิตอีกแบบหนึ่ง คนที่สายตาค่อย ๆ มืดดับ ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

“พลอยสนใจเรื่องราวของคนพิการ แต่หาข้อมูลหรือเรื่องราวไม่ค่อยได้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้เราอยากทำให้คนพิการเขียนหนังสือมากขึ้น”

จากประสบการณ์ทุกอย่างที่ผ่านมา สโรชาเห็นเรื่องราวที่หลากหลายของกลุ่มคนพิการ ทั้งยังเห็นว่ามีคนพิการหลายคนที่มีทักษะการเขียน จึงเกิดความคิดขึ้นมาในหัวว่า หากมี ‘เวที’ สำหรับคนกลุ่มนี้ก็คงจะดีไม่น้อย ซึ่งเวทีที่ว่าก็คือ ‘สำนักพิมพ์ผีเสื้อเพื่อคนพิการ’ ที่ทุกคนคงจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างใน พ.ศ. 2566 ข้างหน้านี้

ผีเสื้อเพื่อคนพิการ : สำนักพิมพ์ที่ บ.ก. มองไม่เห็น แต่จะพาสังคมเห็นคนพิการชัดกว่าเคย
ผีเสื้อเพื่อคนพิการ : สำนักพิมพ์ที่ บ.ก. มองไม่เห็น แต่จะพาสังคมเห็นคนพิการชัดกว่าเคย

เพราะการทำบุญเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน

“มีภาพในใจที่เราอยากเห็น เราอยากพิสูจน์ให้คนในสังคมเห็นว่า คนพิการเขียนหนังสือได้ ทำหนังสือที่มีคุณภาพได้ แล้วเราก็อยากเห็นคนพิการกับหนังสือเชื่อมถึงกันมากขึ้นกว่านี้”

แม้จะเป็นคนชอบอ่านหนังสือมากแค่ไหน แต่พลอยไม่เคยรู้สึกตื่นเต้นเวลาเดินเข้าไปในร้านหนังสือ เหตุผลเป็นเพราะหนังสือเหล่านั้นอยู่ไกลเหมือนคนละโลก เธอมองไม่เห็นว่ามีเล่มไหนออกใหม่บ้าง หรือหนังสือที่วางอยู่มีเรื่องอะไรบ้าง

แต่ถามว่าทำไมเธอถึงไม่คิดจะเปิดเพจ ทำเป็นสื่อออนไลน์แทนที่จะทำหนังสือ พลอยบอกว่า ‘มาไวไปไวเกินไป’ โดยปกติคอนเทนต์ออนไลน์จะโผล่มาแค่ช่วงสั้น ๆ พอมีเรื่องใหม่เข้ามาก็จะถูกกลบไปในหน้าฟีด

เราคุยกันถึงเพจคนพิการที่กำลังเป็นที่รู้จักอย่าง ThisAble.me แน่นอนว่าหนังสือของผีเสื้อให้ความรู้สึกต่างไปโดยสิ้นเชิง ไม่ได้ไปถึงการพูดถึงประเด็นอ่อนไหวได้อย่างนั้น แต่พลอยก็รู้สึกชื่นชมและได้เห็นเรื่องราวของคนพิการมากมายจากสิ่งที่เพจนำเสนอ

“ตอนนี้เราเห็นจากหน้าเพจต่าง ๆ จาก YouTube ว่ามีคนพิการหลายคนที่อยากเล่าเรื่องราวของตนเอง หลายคนเขียนได้ แต่ทำยังไงให้เนื้อหาของเขาอยู่นาน เราก็เลยนึกถึงหนังสือ” เธออธิบาย

ผีเสื้อเพื่อคนพิการ : สำนักพิมพ์ที่ บ.ก. มองไม่เห็น แต่จะพาสังคมเห็นคนพิการชัดกว่าเคย

‘ผีเสื้อเพื่อคนพิการ’ อยู่ในร่มของผีเสื้อ สำนักพิมพ์ที่พลอยเชื่อมั่น ซึ่งอุดมการณ์ที่ว่าพวกเขาจะผลิตหนังสือดีให้อยู่ไป 100 ปี ก็ตอบโจทย์ความต้องการของพลอย เธออยากให้เรื่องราวของคนพิการและสิ่งที่คนพิการเขียน ถูกผลิตออกมาในรูปแบบหนังสือที่อยู่ได้นาน สวยงาม และมีคุณภาพ

“การลุกขึ้นมาทำงานเกี่ยวกับคนพิการยาก เจอกระแสหลายอย่างในสังคม อย่างหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องทำบุญ แต่ไม่รู้จะอธิบายให้เข้าใจได้ไหม” พลอยหัวเราะเบา ๆ ทำให้เราเข้าใจว่าเรื่องที่เธอจะพูดต่อไปนี้ออกจะอ่อนไหวสักหน่อย

“การทำบุญทำให้เกิดความยั่งยืนได้ยาก ฉันมีเหลือเท่านี้ ฉันก็ให้เท่านี้ วันนี้ฉันไม่เหลือ งั้นฉันไม่ให้แล้ว อ้าว! แล้วคนที่รอรับอยู่ต้องทำยังไง ส่วนคนพิการจะรู้สึกว่าฉันเป็นผู้รับตลอด ต้องรอเขาเหลือมา ความภาคภูมิใจอยู่ตรงไหน”

พลอยเชื่อในการลุกขึ้นมาสร้างอะไรเป็นของตัวเอง เธอเชื่อว่าหากคนพิการได้เห็นว่าผลงานของตัวเองมีมูลค่า และมีคนที่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ตนทำ ความรู้สึกว่าต้องรอคอยคนมาทำบุญก็จะหายไป กลับกลายเป็นความรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง

การทำบุญประเภทจัดอบรมระยะสั้นให้คนพิการ พลอยเองก็เห็นว่ามีปัญหาเช่นกัน หลายครั้งที่จบโปรเจกต์แล้วก็แยกย้ายกันไป ความรู้ก็ยังไม่พอ เวทีหรือพื้นที่แสดงผลงานก็ไม่มี เธออยากให้มีการพัฒนาคนจริง ๆ จัง ๆ และมีพื้นที่ให้ปล่อยของเมื่อถึงเวลา

“พลอยอยากให้งานหนังสือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งให้คนพิการรู้สึกว่า ถ้าเขาพยายามมากพอ เขาจะเติบโตบนเส้นทางสายนี้ได้ จะเป็นงานเขียน บรรณาธิการ วาด ออกแบบปกหรืออะไรก็ตาม”

ผีเสื้อเพื่อคนพิการ : สำนักพิมพ์ที่ บ.ก. มองไม่เห็น แต่จะพาสังคมเห็นคนพิการชัดกว่าเคย

แต่เส้นทางก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป

“มีคนพิการหลายคนเจอกับความผิดหวัง ถูกปฏิเสธ แล้วเขาเข้าใจผิดว่าความพิการเป็นปัญหาของเขา แต่ไม่ใช่ เป็นเพราะผลงานเขายังไม่ดี” พลอยเล่าอย่างระมัดระวัง “บางคนคิดว่าการอบรม เป็นหน้าที่ของคนอบรมที่จะต้องพาเขาไปต่อ แต่จริง ๆ ไม่ใช่ ไม่มีใครพาเขาไปถึงตรงนั้น ถ้าเขาไม่พยายาม สิ่งที่เราทำได้คือสนับสนุนให้เขาพยายาม และเป็นเวทีรอคอยเขา

“เพราะฉะนั้น สมมติว่าพลอยอยากอบรมวิธีเขียนให้คนพิการอีกครั้งหนึ่ง ก็มีโอกาสไม่สำเร็จและพลอยมีโอกาสถูกด่าว่า เป็นกระแสที่พลอยจะต้องโดน”

ประสบการณ์บนโลกมนุษย์เกือบสามสิบปีทำให้เธอพบว่า คนพิการเองก็มีแนวคิดหลากหลาย ตามแต่ปูมหลัง ตามแต่สิ่งที่เคยพบเจอ บางคนก็มองว่าคนพิการอย่างตนโชคร้ายมามากพอแล้ว สังคมควรจะช่วยเหลือเขาให้มาก ในขณะที่บางคนก็ชอบที่จะทำอะไรด้วยตัวเอง และไม่อยากให้ใครมาสงสาร

“ถามว่าพลอยกลัวไม่สำเร็จไหม ก็กลัว แต่ว่าต้องทำ เพราะถ้าทุกคนกลัวหมด ก็ไม่มีใครทำ เราเชื่อมั่นว่า ถ้าสำเร็จจริง จะออกมาดี ไม่มีทางที่เราจะทำงานดีโดยไม่กดดัน” ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในน้ำเสียงทำให้สัมผัสได้ทันทีว่าเธอคิดมาอย่างถี่ถ้วน

เราคิดว่าชีวิตของเธอยากกว่าคนทั่วไปอย่างน้อยก็ 1 ขั้นอยู่แล้ว เพราะทุกอย่างของประเทศนี้ หรือแม้แต่โลกนี้ เลือกที่จะอำนวยความสะดวกแก่คนที่มีร่างกายสมบูรณ์เป็นหลัก แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ใช้ชีวิตได้อย่างดี และพึ่งตัวเองได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เมื่อเธอเล่าถึงแพสชันด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น เราก็เชื่อสนิทใจ ไม่ว่าเส้นทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เธอพร้อมลุยแน่ ๆ 

คุยกับ พลอย สโรชา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อเพื่อคนพิการที่เพิ่งเปิดตัว เรื่องแนวทางการทำหนังสือที่ไม่เคยทำมาก่อน

ภารกิจต่อไปนี้

เมื่อตกตะกอนเรื่องโปรเจกต์ใหม่เรียบร้อยแล้ว สโรชาก็ไปคุยกับครูมกุฏ จากเดิมที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อมีแนวคิดว่า ‘ชาวบ้านต้องเข้าถึงหนังสือ’ ก็ได้แผ่ขยายไปเป็น ‘คนพิการต้องเข้าถึงหนังสือ’ เพราะหนังสือเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่สำคัญ และแหล่งวัฒนธรรมนั้นก็ควรจะรวมคนพิการเข้าไปด้วย

เธอได้แบ่งสิ่งที่จะต้องทำต่อไปนี้เป็น 3 ขั้นตอนหลัก

1) พัฒนาคน

พลอยพบว่ามีคนพิการมากมายที่สนใจการเขียน หากคนเหล่านั้นได้รับการพัฒนาทักษะ (ตรงนี้สำนักพิมพ์จะต้องดำเนินการ) ก็จะสร้างสรรค์งานเขียนที่ดีออกมาได้

ซึ่งทั้งงานเขียน งานบรรณาธิการ วาดรูป หรือออกแบบปก ก็ต้องการบุคลากรเช่นกัน

“พลอยเป็นคนตาบอด พลอยทำงานหนังสือคนเดียวไม่ได้” เธอชี้แจง “พลอยไม่เห็นช่องไฟ ภาพ การจัดหน้า พลอยอยากได้คนพิการอีกหลายคนมาช่วยทำส่วนที่พลอยทำไม่ได้ ถึงจะตั้งเป็นสำนักพิมพ์ และดำเนินงานได้จริง”

แม้ตอนนี้จะยังไม่เจอคนเหล่านั้น แต่พลอยเชื่อว่าต้องมี เธอนึกไปถึงคนพิการที่เรียนสาขาวิชาต่าง ๆ มา แล้วไม่รู้จะไปต่อในเส้นทางการทำงานอย่างไร ถ้าพวกเขามีอุดมการณ์เดียวกันกับเธอ ก็น่าจะมาช่วยกันปั้นสำนักพิมพ์ได้

2) หาต้นฉบับ

ต้นฉบับที่เธอมองหามีองค์ประกอบอยู่ 2 ประการ หนึ่งคือต้องเป็นงานเขียนที่ดี จรรโลงใจตามแบบฉบับผีเสื้อ สองคือต้องเกี่ยวกับคนพิการ ซึ่งในที่นี้อาจจะเป็นงานที่คนพิการเขียน โดยไม่ใช่เรื่องราวของคนพิการ หรือเป็นงานที่คนทั่วไปที่อยู่ร่วมกับคนพิการ เขียนเกี่ยวกับคนพิการก็ได้

“สมมติว่า ถ้าเขาพิการทางสติปัญญา เขาอาจเขียนเองไม่ได้ แต่คนใกล้ชิดอาจช่วยเขียนได้” ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เสริม

คุยกับ พลอย สโรชา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อเพื่อคนพิการที่เพิ่งเปิดตัว เรื่องแนวทางการทำหนังสือที่ไม่เคยทำมาก่อน

3) ผลิตหนังสือโดยคำนึงถึงคนพิการ

เป็นที่รู้กันว่าสำนักพิมพ์ผีเสื้อค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม เพราะฉะนั้น พวกเขาจึงพิมพ์แต่หนังสือเล่ม ไม่มี E-Book ไม่มี Audio Book แต่เมื่อจะทำหนังสือให้คนพิการเข้าถึง พวกเขาก็ต้องคิดถึง Media ใหม่ ๆ ขึ้นมา

ในเมื่อจะเข้าถึงผู้พิการทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น หนังสือที่ออกมาก็จะมีทั้งหนังสือเล่ม ทั้ง E-Book ทั้ง Audio Book ทั้งอักษรเบรลล์เลยเหรอ – เราถาม ยังไม่เห็นภาพปลายทาง

“พลอยว่าเป็นไปได้ยากที่จะออกมาให้ครบทุกเวอร์ชัน” พลอยค่อย ๆ อธิบายให้เราซึ่งไม่มีความรู้เรื่องนี้ฟัง “สมมติว่าเราจะทำหนังสือสำหรับคนตาบอด ถ้าเป็นหนังสือเด็กก็เหมาะจะเป็นหนังสือเบรลล์ เพราะเป็นวัยเริ่มเรียนรู้ตัวสะกด แต่ถ้าเราโตแล้ว เมื่อนึกถึงตัวสะกด ภาพตัวสะกดที่เป็นจุดเบรลล์ขึ้นมาในใจเราได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือเบรลล์ อาจเป็น Audio book ค่ะ”

นั่นเป็นกรณีของหนังสือที่ตั้งใจสื่อสารกับคนตาบอด ส่วนผู้พิการอื่น ๆ เช่น กลุ่มคนหูหนวก ก็ต้องการหนังสือที่ออกแบบโดยเฉพาะ เนื่องจากคนหูหนวกมักจะไม่ถนัดอ่านตัวหนังสือเรียงเป็นพรืด ด้วยการเรียนภาษาของเขาจะช้ากว่าคนทั่วไป เพราะไวยากรณ์ภาษามือกับไวยากรณ์ภาษาไทยนั้นเรียงไม่เหมือนกัน

แต่หากพูดถึงภาพรวมของสำนักพิมพ์แล้ว พลอยตั้งใจให้เป็นแหล่งหนังสือสำหรับผู้อ่านทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนพิการหรือคนทั่วไปก็ตาม

คุยกับ พลอย สโรชา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อเพื่อคนพิการที่เพิ่งเปิดตัว เรื่องแนวทางการทำหนังสือที่ไม่เคยทำมาก่อน

ตอนนี้ผีเสื้อเพื่อคนพิการกำลังเตรียมโปรเจกต์พัฒนาคนและโปรเจกต์ประกวดงานเขียน โดยหวังว่าโครงการเหล่านั้นจะช่วยให้คนพิการรู้จักพวกเขา และช่วยให้พวกเขารู้จักคนพิการ เราถามพลอยว่าคนพิการที่เธอกำลังหา จะได้เข้าไปทำงานประจำในสำนักพิมพ์เลยไหม เธอตอบว่า คาดหวังให้เป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้งบยังไม่พอ โปรเจกต์ก็ยังไม่ได้เริ่มดี หากอะไร ๆ เริ่มลงตัว มีปริมาณงานและงบมากพอเมื่อไหร่ก็คงได้ทำงานร่วมกัน และคงเข้าใกล้สังคม Inclusive ที่เธอหวังไว้เข้าไปอีกก้าว

“จริง ๆ แล้วการพัฒนาคนเป็นสิ่งที่สำนักพิมพ์ไม่ต้องทำ แค่พิจารณาต้นฉบับ ถ้าต้องมาเริ่มสอนเขียน อยู่กับเขา คอยกระตุ้นให้เขียน ใช้เวลานานและอาจขาดทุน” เธอหัวเราะ

คุยกับ พลอย สโรชา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อเพื่อคนพิการที่เพิ่งเปิดตัว เรื่องแนวทางการทำหนังสือที่ไม่เคยทำมาก่อน

เราได้รู้จากการอ่านหนังสือ | จนกว่า | เด็กปิดตา | จะโต ว่าพลอยเขียนบันทึกเพราะหวังให้โลกของคนทั่วไปกับผู้พิการเชื่อมต่อกลมกลืนกันมากขึ้น การทำสำนักพิมพ์นี้ก็มีเป้าหมายเดียวกัน

การได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคม ได้เรียน ได้ทำงาน ได้เล่น ได้ทำทุกอย่างที่ต้องการ ทำให้พลอยพบว่าคนอื่น ๆ ก็อยากเข้าใจคนพิการ และในทางกลับกัน คนพิการก็อยากอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ เธอจึงอยากเล่าเรื่องคนพิการออกไปให้มากขึ้น เพื่อให้สองโลกเชื่อมต่อกันอย่างกลมกลืน

“ถ้ามีหนังสือเกี่ยวกับคนพิการอยู่บนชั้น หรือแม้แต่มีหนังสือที่แทรกเบรลล์ลงไปหน้าสองหน้า คนจะคุ้นเคยและเติบโตมาโดยนึกถึงคนพิการมากขึ้น ต่อไปเขาอาจมีเพื่อนเป็นคนตาบอด เขาก็จะไม่ตกใจ ไม่กลัวว่าจะสื่อสารกับเพื่อนยังไง แต่ที่ผ่านมามีความกลัวนี้อยู่ตลอด พลอยรู้ว่าคนอื่นกลัว”

นอกจากจะต้องการกำลังใจในการทำโปรเจกต์ที่ไม่ง่ายนี้ พลอยบอกเราว่า เธอต้องการ ‘กำลังไอเดีย’ จำนวนมาก เธออยากให้มีคนมาช่วยกันออกความคิดว่าอะไรคือสิ่งที่อยากจะเห็นในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนพิการกับคนทั่วไป ตอนนี้กิจกรรมอื่น ๆ เริ่มเกิดขึ้นแล้ว วิ่งด้วยกัน ดูหนังด้วยกัน หากเป็น ‘หนังสือ’ ล่ะ จะไปด้วยกันอย่างไรได้บ้าง

“พลอยว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญที่ควรเกิดขึ้นในสังคม พลอยทำคนเดียวไม่ได้จริง ๆ”

การทำงานของผีเสื้อเพื่อคนพิการกำลังจะเข้มข้นขึ้นในปีหน้า หากคุณอ่านบทความนี้แล้วพบว่าตัวเองมีอุดมการณ์เดียวกันกับผู้ริเริ่ม และนึกสนุกอยากทำงานสร้างสรรค์ โปรดติดต่อไปที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อพลอย สโรชา ต้องการเพื่อนร่วมเดินทาง

คุยกับ พลอย สโรชา บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อเพื่อคนพิการที่เพิ่งเปิดตัว เรื่องแนวทางการทำหนังสือที่ไม่เคยทำมาก่อน

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ