ลงจากรถประจำทางสาย 539 มุ่งหน้าปลายทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สิ่งแรกที่ปะทะใบหน้าผมคือฝุ่นและควันจากรถบนถนนสายที่พลุกพล่านที่สุดสายหนึ่งในกรุงเทพฯ 

อาคารคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุดหมายของผมในวันนี้ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับจุดหมายปลายทางของรถประจำทางสายที่ว่า ผมเดินทางมาที่นี่ในโอกาสที่จะได้มาพบกับ รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ อาจารย์หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล ผู้ทำงานกับปัญหาสำคัญของเมืองที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคนอยู่ 1 เรื่องถ้วน คือเรื่องมลพิษทางอากาศ มานานกว่า 20 ปี

คุยเรื่องปัญหาฝุ่น ควัน แก๊ส มลพิษที่คนอื่นมองไม่เห็น แต่ รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ มองเห็นมา 20 ปี

อาจารย์สราวุธของนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการระบายมลพิษทางอากาศและการแพร่กระจายของมลพิษ รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของการออกมาตรการการจัดการกับมลพิษทางอากาศของประเทศ ให้เหมาะสมทั้งในเชิงวิธีการแก้ปัญหาและในเชิงความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย

สำหรับคนไทย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคงไม่มีเหตุการณ์เรื่องอากาศครั้งใดจะน่ากังวลมากไปกว่าเหตุการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ทำให้ฟ้าทุกฟ้าในเขตกรุงเทพฯ  พื้นที่ภาคเหนือโดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศมืดสลัวไปด้วยฝุ่นหนาหนักติดต่อกันตลอดหลายสัปดาห์ ของช่วงปลายปีที่แล้วกับเมื่อต้นปีที่ผ่านมา 

และคาดว่าในปีต่อๆ ไป ปัญหาเดิมเหล่านี้ก็จะถูกพัดวนเวียนกลับมาเช่นเดิม เป็นวัฏจักรของมลพิษที่ไม่มีปัญจางหายไปหากเราไม่ทำความเข้าใจ และมองหาหนทางแก้ไขร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับกับอากาศ อาจารย์สราวุธยังกล่าวว่า เหตุการณ์น่ากลัวที่เกิดขึ้นนั้นยังมีข้อดีอยู่ข้อดีหนึ่งให้เห็นอยู่บ้าง

ข้อดีนั้นคือ คนทุกคนจะได้มองเห็น สิ่งเดียวกับที่เขามองเห็นมาแสนนานเสียที

คุยเรื่องปัญหาฝุ่น ควัน แก๊ส มลพิษที่คนอื่นมองไม่เห็น แต่ รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ มองเห็นมา 20 ปี

ทำไมเรื่องอากาศจึงน่าสนใจสำหรับอาจารย์

ตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนจนแม้กระทั่งทุกวันนี้ คนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องอากาศนั้นมีน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านน้ำกัน อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศไทยมีข้อจำกัดในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ ผมก็เลยอยากจะทำอะไรที่มันไม่ค่อยมีคนอยู่ตรงนี้ 

และผมก็เห็นว่าปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่เราไม่ได้สัมผัสโดยตรง แต่เราอยู่ตรงไหนเราก็สูดอากาศนะครับ อย่างน้ำ อย่างดิน ถ้าเราไม่ไปอยู่ตรงบริเวณที่มันมีปัญหา เราก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากมายนัก

เป็นเพราะเรามองไม่เห็นอากาศ ต้องยอมรับว่าในบรรดามลพิษ สมมติเรามองแค่ 3 อันหลัก อากาศ น้ำ และขยะ ถ้าสังเกตเมื่อปีที่แล้ว ปัญหาขยะเป็นปัญหาที่ถูกชูขึ้นมาอันดับแรกๆ แต่ปัญหาอากาศเพิ่งจะถูกหยิบยกขึ้นมาแรงๆ เมื่อตอนที่เรามีปัญหา PM2.5 เมื่อปลายปีที่แล้วเอง ก่อนหน้านี้ไม่มีใครพูดถึงปัญหาอากาศเลย เป็นเพราะ PM2.5 นั้นเป็นฝุ่น ซึ่งมันมองเห็น พอเรามองเห็น คนก็เลยให้ความสนใจ 

สภาพอากาศในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ถ้ามองเมื่อเทียบกับอดีต ในเขตเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ เมื่อเทียบกับเมื่อสัก 10 ปีที่แล้วจริงๆ สถานการณ์ดีขึ้นในภาพรวมๆ ถ้าพูดถึงในเขตเมืองใหญ่ๆ มลพิษหลักๆ จะมาจากรถยนต์ ซึ่งคุณภาพน้ำมันของเราค่อนข้างดีมาก น้ำมันของเราค่อนข้างไฮโซเลยล่ะ สะอาด แต่รถเราอาจจะเก่า คือน้ำมันดีแค่ไหนแต่ถ้ารถมันไม่ดี มันก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จนักในการจัดการ

พอเป็นสิบๆ ล้านคันในกรุงเทพฯ ระบายพร้อมๆ กัน ในช่วงจังหวะที่สภาพอากาศมันไม่มีการแพร่กระจาย มันก็จะเกิดปัญหา ถ้าเรามองง่ายๆ อย่างปัญหา PM2.5 ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว มันไม่ได้เกิดขึ้นทั้งปี มันเกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ คือช่วงที่อากาศไม่สามารถจะแพร่กระจายได้ มลพิษมันไม่สามารถเจือจางได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองมิตินี้ ในต่างประเทศ เฉพาะช่วงเวลาที่สภาพอากาศมันไม่แพร่กระจาย เขาจะแก้ปัญหาด้วยการคุมจำนวนรถยนต์ที่จะเข้าในพื้นที่นั้นๆ 

เกาหลีใต้ก็มีปัญหา ลอนดอนเนี่ยมีทุกปี ปารีสมีทุกปี ปัญหาเดียวกับเราเลย แต่ว่ามันเกิดขึ้นแค่ช่วงเดียวสั้นๆ อย่างอังกฤษ เขามีการกำหนด Low-Emission Zone เฉพาะช่วงที่มีปัญหา ผมยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างพื้นที่สีลม ที่มันมีทางเลือกในการเดินทางหลายแบบ สมมติในช่วงที่สภาพอากาศมันไม่ดี เราอาจจะเสนอมาตรการเฉพาะเวลาช่วงนั้นก็ได้ว่า โอเค จำกัดจำนวนรถที่จะเข้าไปพื้นที่ ก็จะเป็นแนวทางในการจัดการปัญหาได้

ซึ่งปีนี้ปี 2019 ก็น่าจะมาอีก มาอีกแน่ๆ ตามสภาพอากาศ

คุยเรื่องปัญหาฝุ่น ควัน แก๊ส มลพิษที่คนอื่นมองไม่เห็น แต่ รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ มองเห็นมา 20 ปี

เราเตรียมรับมืออย่างไร

ตอนนี้ระบบพยากรณ์ของเราค่อนข้างพัฒนา เมื่อปีที่แล้วเราไม่ทราบ ถ้าเราทราบว่าวันพรุ่งนี้หรืออีกสองวันข้างหน้าสภาพอากาศมันจะปิด เราก็สามารถออกมาตรการได้ วิธีการหนึ่ง อย่างที่ผมพูดไปแล้วคือ ต่างประเทศเมื่อทราบว่าอากาศมันจะปิด เขาจะลดปริมาณการระบายในช่วงเวลานั้น ซึ่งประเทศไทย กำลังจะทำ มีการพูดถึงประเด็นนี้ค่อนข้างแรงๆ อยู่ ทีนี้การจะทำตรงนี้ได้ 

คือเราต้องทราบว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งระบบพยากรณ์กำลังถูกพัฒนาอยู่ และเชื่อว่าปีนี้เราจะเห็นระบบพยากรณ์นี้ออกมา เพราะฉะนั้น ประเทศไทยมีการพยายามใช้ข้อมูลวิชาการในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมค่อนข้างดีนะ จริงๆ แล้วค่อนข้างดี ประเทศไทยค่อนข้างเป็นแนวหน้าระดับหนึ่งเลยล่ะของอาเซียน 

พูดได้ไหมว่าตอนนี้ประเทศไทยอากาศเป็นปกติ

พูดไม่ได้นะ เพราะว่าปัญหามันไม่ตายตัว ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เลยนะครับ สมัยก่อนประเทศไทยเคยมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือ ปัญหาสารตะกั่วในอากาศ แล้วปัญหานี้ค่อนข้างซีเรียส เวลานั้นเมื่อจะเกิดโครงการใหญ่ๆ อย่างสร้างถนน สร้าง BTS อะไรก็ตาม เราต้องกู้เงินจากธนาคารโลก ซึ่งการกู้เงินจากธนาคารโลก ต้องประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  

ผลออกมาพบว่าตะกั่วในอากาศในกรุงเทพฯ ค่าสูงมาก แล้วตะกั่วมันมีผลต่อสมองเด็ก ต่อ EQ และอะไรต่างๆ ตอนนั้นประเทศไทยค่อนข้างกล้านะครับ เป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียเลยที่กล้าประกาศใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว น่าจะเป็นประเทศที่ 2 หรือที่ 3 เลยด้วยซ้ำ นั่นคือใน พ.ศ. 2538 แล้วพอประกาศปัญหาตะกั่วก็หายไป

PM2.5 มันเพิ่งจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูด อาจจะเป็นเพราะว่าเทคโนโลยีในการตรวจวัดตอนนี้มันดีขึ้นดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเจอผลวิชาการตัวใหม่ๆ แปลกๆ เกิดขึ้น แต่ในภาพรวมจริงๆ ถ้าถามผมจริงๆ มันก็ดีขึ้น เพราะว่าประเทศเราค่อนข้างใช้เทคโนโลยีที่ดีในการจัดการมลพิษทางอากาศ ทั้งในแง่รถยนต์และในแง่ของอุตสาหกรรม 

ปัญหามลพิษทางอากาศ นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพของคนอย่างที่เข้าใจแล้ว ส่งผลต่ออะไรอีก

ของเชียงใหม่จะเห็นค่อนข้างชัด ตอนที่เขามีปัญหาถ้าเรามองในแง่ของเศรษฐศาสตร์ เช่น จำนวนเที่ยวบินที่ไม่ได้ขึ้น หรือว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงไป มันก็ค่อนข้างชัด เพราะฉะนั้น ตัวเลขพวกนี้จะถูกยกขึ้นมาให้เห็นเสมอในแง่ของการคำนึงถึงจัดการ

เวลามีปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงต้องมองอย่างนี้ ผลกระทบหลักๆ คือผลกระทบกับสุขภาพอนามัยแน่นอน แต่นี่คือข้อจำกัดของประเทศไทย ว่าข้อมูลผลกระทบกับสุขภาพอนามัยนั้นไม่ค่อยมี ตัวระบบการจัดเก็บข้อมูลเรื่องสุขภาพอนามัยที่จะสามารถเอาไปเชื่อมโยงกับตัวมลพิษได้นั้นมีข้อจำกัดอยู่ เพราะฉะนั้น เวลาที่จะแสดงผลกระทบ เขาเลยต้องพยายามแสดงผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์แทน อีกอย่างก็คือการมีผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์มันทำให้ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้กำหนดนโยบายระดับหนึ่ง

คุยเรื่องปัญหาฝุ่น ควัน แก๊ส มลพิษที่คนอื่นมองไม่เห็น แต่ รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ มองเห็นมา 20 ปี

นอกจากฝุ่นแล้ว มีอะไรอีกที่เป็นมลพิษในอากาศ

แก๊สครับ ประเทศไทยมีการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศอยู่ ซึ่งของกรุงเทพฯ เอง ตัวที่มันเกินมาตรฐานอยู่ตอนนี้คือสารกลุ่มที่เขาเรียกว่าสาร Air Toxic1 คือสารเบนซีน เป็นสารก่อมะเร็ง มาตรฐานคือค่าเฉลี่ย 1 ปีเท่ากับ 1.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของกรุงเทพฯ ประมาณ 5 

ในระยองที่เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดประมาณ 3 แน่นอนสารตัวนี้ส่วนใหญ่ออกมาจากรถยนต์ วิธีแก้ก็คือต้องไปจัดการการระบายเบนซีนจากรถยนต์ ของไทยจริงๆ เราใช้น้ำมันยูโร 4 ซึ่งมีค่าเบนซีนค่อนข้างต่ำระดับหนึ่งแล้ว แต่ภายใต้คุณภาพน้ำมันนั้น รถต้องดีด้วย ถึงจะสามารถรองรับน้ำมันดีๆ ได้ เพราะฉะนั้นมันต้องทำไปคู่ๆ กัน

ถ้าพูดถึงวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ อย่างกำปั้นทุบดิน เราบอกว่าปลูกต้นไม้เยอะๆ ได้ไหม

ต้นไม้ช่วยได้ในบางบริบท ถ้าเรามองว่าเราเอาต้นไม้มาจัดการกับปัญหาฝุ่นละออง มันต้องเป็นฝุ่นละอองในกลุ่มที่สามารถที่จะถูกใบไม้ดูดซับได้ ก็ต้องเป็นฝุ่นในกลุ่มที่ขนาดใหญ่ระดับหนึ่ง เรียนตามตรงว่ามันคงจะไม่ได้ประสบความสำเร็จนักกับฝุ่นในกลุ่มที่เป็นขนาดเล็กมากๆ อย่าง PM2.5 แต่ในกลุ่มของฝุ่น PM10 อย่างนี้ได้ แต่ในแง่ของภาพรวมการปลูกต้นไม้แน่นอนเป็นสิ่งที่ดี นั่นยังไม่รวมถึงต้นไม้บางชนิดที่สามารถดูดซับมลพิษที่เป็นแก๊สได้

ป่าหรือสิ่งแวดล้อมนอกเมือง เหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพของอากาศที่ดีขึ้นในเมืองบ้างไหม 

นี่เป็นการจัดการที่ถูกต้อง คือในเมืองด้วยความที่พื้นที่จำกัดแล้วเราอาจจะต้องใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อจุดประสงค์อื่น  มันอาจจะลำบากในการที่จะเพิ่มสีเขียวในเมือง กลับกันเราไปปลูกต้นไม้หรือสวนสาธารณะที่อยู่นอกเมืองได้ 

ผมมองง่ายๆ อย่างนี้ว่า กรุงเทพฯ ช่วงที่มี PM2.5 เยอะๆ เราก็จะทราบว่า ส่วนหนึ่งคือฝุ่นนั้นมันนำมาจากที่อื่นด้วย เพราะฉะนั้นถ้าทิศนั้นเรามีการปลูกต้นไม้เยอะๆ จะช่วยได้ค่อนข้างเยอะ และอีกมิติหนึ่งเราต้องมองว่าต้นไม้เยอะมีมิติในเรื่องของการเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ โอกาสที่จะมีอากาศแห้งหรือไม่ว่าอะไรก็ตามมันก็จะลดน้อยลงไป 

คุยเรื่องปัญหาฝุ่น ควัน แก๊ส มลพิษที่คนอื่นมองไม่เห็น แต่ รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ มองเห็นมา 20 ปี

นอกจากเรื่องทางวิชาการ ถ้าคนทั่วไปอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา นอกจากป้องกันตัวเอง เราทำอะไรได้บ้าง

โอเค ถ้ามองต้นไม้ก่อน แน่นอนต้นไม้เป็นสิ่งที่ดี ปลูกแล้วมันก็ดีกับทั้งสิ่งแวดล้อมเองในภาพรวมและกับตัวคนที่อยู่ใน Micro Environment หรือในพื้นที่ใกล้ๆ ต้นไม้เอง ตรงนั้นก็ควรที่จะส่งเสริม 

ถ้าเรามองความสำเร็จหนึ่งของประเทศไทยช่วงสัก 3 – 4 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นมีการทำสวนแนวตั้งเพิ่มขึ้น ในหลายๆ พื้นที่ที่มีข้อจำกัดหรือตามโรงแรมใหญ่ๆ ซึ่งได้ประโยชน์จริงๆ ทั้งเรื่องการลดอุณหภูมิ ที่เป็นการประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน เป็นผลประโยชน์ทางตรงของตัวโรงแรมเองด้วย 

ในขณะเดียวกัน ถ้ามองในแง่ของมลพิษ แน่นอนมันก่อให้เกิดการระบายมลพิษต่ำลง เพราะเราใช้พลังงานในการทำเชื้อเพลิงต่ำลง แล้วก็ ในแง่ของสุนทรียภาพก็ได้ ได้ทั้งหมด ซึ่งก็เคยมีการวัดปริมาณของฝุ่น PM10 ก่อนและหลังของการทำพวกสวนทั้งหลายแหล่ พวกสวนแนวตั้งนั้นก็มีนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าฝุ่นลดลง เพราะฉะนั้น แน่นอนต้นไม้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้

ถัดมาคือ การใช้ประโยชน์ตัวทรัพยากร เราต้องใช้อย่างฉลาด ผมมองว่ามาตรการที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือมาตรการที่บอกว่า ถ้าฉันจะใช้อย่างฉลาดแล้ว ฉันจะได้อะไรจากการใช้อย่างฉลาดนั้น ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ทุกวันนี้เวลาเราซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เราจะมองหาสลากเบอร์ห้า ถามตรงๆ ว่าเวลาเราพูดถึงสลากเบอร์ห้า เราคิดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมนำหรือเปล่า ความจริงคือไม่ใช่ เราคิดถึงว่าตัวเราจะประหยัด แต่โอเค ภายใต้ความประหยัดนั้นสิ่งแวดล้อมก็ได้ประโยชน์

เพราะท้ายที่สุดทุกคนรักสิ่งแวดล้อมแหละ แต่ว่าสิ่งที่เรามองอันดับแรก เรามักจะมองสิ่งที่จะกระทบกับตัวเรามากที่สุดก่อน อย่างที่ผมบอก ปัญหาขยะจะถูกมองเป็นอันดับแรก เพราะมันใกล้ตัวเรามากที่สุด เราคงไม่ชอบให้มันมีกองขยะอยู่ข้างๆ เรานัก เราจัดการกองขยะก่อนที่เราจะจัดการอากาศที่มันมีแก๊สที่มันมองไม่เห็น

ถ้าเฉพาะเจาะจงไปที่เด็กและเยาวชน จะสามารถมีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง

ผมมองว่า ถ้าพูดแบบทั่วๆ ไปเราก็จะพูดถึงการปลูกฝังจิตสำนึก แต่ภายใต้การปลูกฝังปลูกจิตสำนึก ผมอยากให้เราปลูกให้ถูก 

อย่างทุกวันนี้ แยกขวดพลาสติกเนี่ย ทุกโรงเรียนทำ แต่เราน่าจะบอกว่าทำไปแล้วมันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาเรียนอย่างไร ผมอยากเห็นมิติที่ว่าการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นมันเกี่ยวข้องกับเขาอย่าง เช่น ทำน้ำหมักชีวภาพมันเกี่ยวข้องยังไงกับวิชาเคมี เอ๊ะ ทำไมถึงต้องใส่สารเปรี้ยวๆ สารนั้นคืออะไร ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นคืออะไร ผมอยากให้การปลูกจิตสำนึกนั้นตัวเด็กเองได้ประโยชน์ ไม่อยากให้เด็กมานั่งสับผัก ทำน้ำหมัก เพราะเป็นกิจกรรม ‘รักษ์โลก’ ของโรงเรียน โดยที่ไม่ทราบว่าทำไปทำไม

เพราะอะไร เพราะว่าถ้าเราให้การศึกษาในเชิงนี้ ท้ายที่สุดมันจะเกิดเป็นการสร้างสรรค์และต่อยอดต่อไปได้ เด็กรู้จักคิดว่าแล้วจะทำยังไงต่อให้ผลที่ได้นั้นดีขึ้น ดีกว่าที่จะถูกบอกว่า ให้ทำสิ ให้ทำสิ เพราะผมมองว่าเด็กยุคใหม่ เขามีความคิดที่เขาอยากจะทำให้มันดีกว่าเดิมอยู่แล้วล่ะ มากกว่าการที่จะบอกว่า ทำเถอะ ทำเถอะ  

ประเด็นเรื่องการตระหนักรู้ที่เกี่ยวกับสาธารณะอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องทำให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายด้วย และมันต้องไม่ตายตัว ผมมองว่าประเด็นการตระหนักรู้ที่เกี่ยวกับสาธารณะต้องจัดโดยกลุ่มคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ และต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนเลยล่ะ แล้วเลือกกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายให้มันสอดคล้องกัน

คุยเรื่องปัญหาฝุ่น ควัน แก๊ส มลพิษที่คนอื่นมองไม่เห็น แต่ รศ.ดร.สราวุธ เทพานนท์ มองเห็นมา 20 ปี

ในเดือนตุลาคม 2562 นี้ PTTEP Teenergy หรือ โครงการค่ายเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กำลังรับสมัครเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (อายุไม่เกิน 18 ปี) ทั่วประเทศ เข้าร่วม PTTEP Teenergy ปีที่ 6 ในชื่อตอน ‘AirVengers ภารกิจพิทักษ์อากาศ’ ระหว่างวันที่ 17 – 20 ตุลาคม 2562 นี้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

งานนี้อาจารย์สราวุธ เทพานนท์ ก็จะไปเป็นหนึ่งในวิทยากรให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมแก่นักอนุรักษ์รุ่นใหม่ด้วย นอกจากจะได้รับความรู้และประสบการณ์จากนักจัดการสิ่งแวดล้อมตัวจริง ยังจะได้ร่วมกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ส่องสัตว์ยามค่ำคืน รวมถึงร่วมเสนอโครงการเพื่อสังคม เพื่อชิงทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการกว่า 100,000 บาท

หากสนใจ โครงการยังเปิดรับสมัครอยู่ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ไปจนถึง 23 สิงหาคม 2562 นี้

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : PTTEP Teenergy หรือโทร 08 5816 2123

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

วรินทร์ธร บุรธัชวัฒนสิริ

ชื่อเล่น มุกขลิน จบสถาปัตย์ลาดกระบัง สาขาถ่ายภาพ เป็นช่างภาพที่ร่าเริงสดใส รักในเสียงดนตรี แต่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เอ๋อๆงงๆ