20 มิถุนายน 2019
47 K

สำหรับเรา ศรัณย์ เย็นปัญญา เป็นนักออกแบบที่เล่าเรื่องผ่านข้าวของเครื่องใช้และเฟอร์นิเจอร์

เรื่องเล่าของเขามีชีวิตอยู่ในทุกอย่าง เฟอร์นิเจอร์รูปร่างแปลกตาที่ประดับประดาอยู่ทั่วสตูดิโอในย่านเจริญกรุงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานทั้งหมดในฐานะ Creative Director และผู้ก่อตั้ง 56thStudio เอเจนซี่ที่ทำงานสร้างสรรค์และมุ่งสร้างผลงานการเล่าเรื่องในแบบที่ไม่มีใครมองเห็น

ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบ

ศรัณย์เชื้อเชิญให้เราทิ้งตัวลงนั่งบนเก้าอี้ที่ทำจากลังในแบบคล้ายๆ กัน

“ชิ้นที่คุณนั่งอยู่คืองานที่ผมทำตอนอยู่สวีเดน”  

มองเร็วๆ ก็พบว่าเก้าอี้ตัวนี้ถูกประกอบสร้างขึ้นมาบนไม้ที่แกะเป็นเกลียว ให้สัมผัสเหมือนเปียโนชั้นดีสักหลัง ส่วนพนักพิงทำมาจากลังใส่ผลไม้ที่เขายกมาจากปากคลองตลาดจริงๆ

ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบ

เมื่อเรากวาดสายตาไปทั่วสตูดิโอ เราพบว่ามันเต็มไปด้วยสิ่งคุ้นตาที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ถูกร่ายมนตร์และร้อยเรียงกลายเป็นดีไซน์ใหม่แสนเท่ ผ้าม่านสกรีนลายประตูห้องแถว เก้าอี้สีจัดจ้านที่ทำมาจากเหล็กข้ออ้อยที่ใช้ในการก่อสร้าง เบาะที่ถูกหุ้มไว้ด้วยเสื่อธรรมดาแต่เสริมความไม่ธรรมดาด้วยลายปักแบบโอเรียนทัล

ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบ
ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบ

ผลงานออกแบบทั้งหมดของศรัณย์มักหยิบสิ่งธรรมดาที่ถูกมองข้ามมาเนรมิตใส่ตัวตนบางอย่าง ที่มองเผินๆ อาจขัดแย้งในตัวเองแต่ก็ชวนให้จ้องมองแล้วคิดตามไปพร้อมกัน

ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบ

เมื่อได้คุยกับเขาถึงวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังงานทั้งหมด เราก็ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชื่อของ ศรัณย์ เย็นปัญญา จึงปรากฏอยู่ในนิตยสารและเว็บไซต์มากมายหลากหลายภาษา

ล่าสุดเขากำลังจะมีผลงานสนุกๆ ชื่อ ‘Pop Artisan’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ 101 กรีนเกินร้อย (Sustainable Fest) ที่จะมีขึ้นวันที่ 21 – 30 มิถุนายนนี้ ที่ Glass House ชั้น 3 101 True Digital Park สถานีปุณณวิถี ไม่อยากให้คุณพลาดงานนี้

เขาพร้อมแล้วที่จะเล่าเรื่องราวของเขาให้เราฟัง

ความขบถของเด็กหน้าห้อง

ศรันย์เติบโตจากครอบครัวชนชั้นกลางในนนทบุรี ที่เขาคิดเองว่าที่นี่คือบรู๊กลิน

ศรัณย์ในวัยอนุบาลคือเด็กนักเรียน ‘แพง แพง’ ที่สวมใส่กางเกงสีน้ำเงินในโรงเรียนเอกชน ก่อนชีวิตจะพลิกผันและพาเขาเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อจู่ๆ ที่บ้านประสบปัญหาทางด้านการเงิน เขาต้องย้ายโรงเรียนไปใส่กางเกงสีน้ำตาล

ณ โรงเรียนแห่งใหม่นั้นเองที่ศรัณย์ได้มองเห็นชีวิตที่มีเส้นทางอันหลากหลายเป็นครั้งแรก เขามองเห็นห้องน้ำที่เต็มไปด้วยน้ำแฉะๆ ได้รู้จักกับเพื่อนที่ขายขนมโตเกียวทุกเช้า เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตในกางเกงสีน้ำเงินเมื่อครั้งก่อนแล้ว ศรัณย์ในตอนนั้นรู้สึกว่ามันช่างแตกต่างกันจนเรียกได้ว่าหน้ามือเป็นหลังมือ

“แต่มันเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เติบโตมาแบบไม่ค่อยตัดสินอะไรไปก่อน เพราะมีเพื่อนทุกประเภท”

ศรัณย์ในโรงเรียนใหม่นับว่าเป็นเด็กหน้าห้องที่ตั้งใจเรียน แต่เขายังมีความขบถที่ส่งเสียงประท้วงอยู่ในใจมาตั้งแต่วัยเด็กเสมอ เขาไม่ชอบเข้าพิธีในสังคม เพราะเชื่อว่าตัวเองสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งหรือไม่ ถึงแม้ว่าหลายคนในสังคมจะมองว่าเลือกไม่ได้ก็ตาม  

แนวคิดแบบนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เขายังอยู่ในจังหวัดนนทบุรี คุณแม่ของศรัณย์ทำงานเป็นพยาบาลในคลินิกวางแผนชุมชน หรืออีกชื่อหนึ่งคือคลินิกวางแผนประชากร

“ที่นั่นสอนการคุมกำเนิดทุกประเภท เราเห็นถุงยางอนามัยกองเต็มบ้าน แต่ประเด็นคือคำว่าการวางแผนชุมชนนั้นมันรวมถึงการทำแท้งด้วย”

ศรัณย์ที่ต้องรอกลับบ้านกับแม่ทุกเย็นมองเห็นผู้หญิงหลากหลายรูปแบบที่หน้าห้องตรวจในคลินิก เขามองเห็นหญิงสาวให้บริการมานั่งร้องไห้ มองเห็นผู้หญิงบางคนติดเชื้อ HIV ประกอบกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมที่กล่าวถึงงานของคุณแม่ของเขาว่าเป็นงานที่ไม่ดี นั่นทำให้ศรัณย์เริ่มต้นตั้งคำถามกับตัวเองว่า แล้วสิ่งที่สังคมบอกว่าไม่ดี มันไม่ดีจริงไหม

เด็กชายคนนั้นเริ่มต้นวิเคราะห์ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขามองเห็นในหัวของตัวเอง เขาตัดสินใจเลิกฟังเสียงจากสังคมแล้วเริ่มต้นตัดสินด้วยตัวเอง ศรัณย์จึงมองย้อนกลับไปว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา เขามองเห็นความแตกต่างจากเพื่อนๆ ที่มาจากทุกสังคม เขาเคยเป็นลูกคุณหนูที่ใส่กางเกงสีน้ำเงิน และในขณะเดียวกันก็เคยเป็นเด็กชายกางเกงน้ำตาลที่มีเพื่อนห่อขนมโตเกียวขาย

ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบ

เมื่อเติบโตมาจนถึงวัยมหาวิทยาลัย ศรัณย์ได้เลือกสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเข้าไปอยู่ในโลกอีกใบที่เต็มไปด้วยเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะ หลายคนในนั้นถือกระเป๋า Harrods จนเกิดคำถามขึ้นมาในใจศรัณย์ว่า แล้วเด็ก ‘นนทบุเรี่ยน จากนนทบุรี’ อย่างเขาจะต้องถืออะไร

เด็กชายคนนั้นจึงแบ่งเงินค่าขนมไปซื้อสิ่งที่เขามองเห็นว่ามันไม่ได้จำเป็นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าแบรนด์เนม หรือแม้กระทั่งหนังสือดีไซน์ที่เขาเสียเงินไปในแบบไม่สมฐานะ

“เราเป็นเด็กที่รายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง” ศรัณย์นิยามตัวเอง

“แต่จริงๆ ไม่เคยเป็นคนหรูหราเลยนะครับ แต่เป็นคนหัวสูงมาตลอด ตอนนั้นเราไม่ฟังเพลงไทยนะ และแหล่งเสพงานพวกนี้ของเราก็ไม่ได้มีเยอะ ตอนเด็กๆ เราเลยต้องใฝ่หาเอา อย่างตอนนั้นได้ยินว่างาน MTV Video Music Awards มีการดีไซน์เวทีที่ดีมาก เราก็ไปบ้านเพื่อนแล้วเอาวิดีโอไปอัดเก็บไว้ดู”

การเจอผู้คนในหลากหลายสังคมและใฝ่รู้ในสิ่งที่อยากรู้ ยิ่งทำให้ศรัณย์สนใจเรื่องราวของลูสเซอร์ คนที่ถูกมองว่าเห่ย ไร้ค่า และถูกทิ้งไปแล้ว นับตั้งแต่นั้น ความท้าทายและความสนุกของเขาจึงเป็นการมองหาภาษา เครื่องมือ ไอเดีย ที่เขาพร้อมจะพิสูจน์คุณค่าแท้จริงผ่านเรื่องราวที่กำลังเล่าและความสวยงามที่อยู่ในนั้นเสมอ

ศรัณย์กล่าวอย่างติดตลกว่า จริงๆ ถ้าตอนเด็กที่บ้านมีกำลังจะสนับสนุน โต๊ะและเก้าอี้ที่ทำมาจากพลาสติกกับเหล็กรอบตัวเราอาจกลายเป็นโต๊ะทองเหลืองสุดหรูก็ได้

เมื่อต้องคิดทำงานวิทยานิพนธ์ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศรัณย์เลือกทำงานที่เกี่ยวกับผ้าไหมในศูนย์ศิลปาชีพ ที่เขาพบว่ามีผ้าในคลังถูกทิ้งไว้เปล่าๆ เป็นจำนวนมหาศาล ด้วยการเนรมิตรผ้าเหล่านั้นให้กลายเป็นสินค้า โดยพยายามหาวิธีการจัดการระบบแก่ผ้าเหล่านี้ไปพร้อมกัน ก่อนขายรถ ขายบ้าน และเก็บกระเป๋าไปเรียนภาษาที่มหานครนิวยอร์ก ตามด้วยเรียนหลักสูตร Storytelling ที่ประเทศสวีเดน

ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบ

การเมืองคือเรื่องใกล้ตัว

หลังเรียนจบหลักสูตรที่มีคำนิยามว่า ‘เรียนปั้นหม้อ ทอผ้า’ อย่างเอกการออกแบบอุตสาหกรรม ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมผลงานที่ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยบอกว่า “เสียดายไม้ เอาไปทำฟืนดีกว่า” ศรัณย์เริ่มต้นชีวิตบทใหม่ในประเทศสวีเดน เขาเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงแบบ ‘ดีวา’ เหมือนเช่นตั้งแต่วินาทีแรกที่เราได้คุยกัน ว่าจริงๆ แล้วเขาสอบได้ทั้งที่อังกฤษและสวีเดน แต่เขาเลือกจะเรียนวิชา Storytelling ในประเทศสวีเดน เพราะหลักสูตรนี้เปิดโอกาสให้เขาได้ตัดไม้ ทอผ้า ปั้นหม้อ ไปจนถึงทำแอนิเมชัน เปิดโอกาสให้ทดลองทำงานผ่านเครื่องมือต่างๆ

“เรารู้แค่ว่าเราอยากสื่อสาร และโปรแกรมนี้ก็อนุญาตให้เราเป็นอะไรก็ได้”

ศรัณย์กลายเป็น 1 ใน 2 ของเด็กเอเชียในชั้นเรียนที่สวีเดน และพบว่าเพื่อนเอเชียอีกคนนั้นเป็นเด็กเกาหลีที่ขยันเหลือเกิน

“เราเป็นคนชอบแข่งขัน ก็เลยเอาความถึกและวิจิตรแบบไทยเข้าสู้ ส่วนฝรั่งก็จะคิดเยอะๆ ปฏิบัติน้อยๆ งานน้อยๆ แต่ออกมาแล้วเท่จัง หลายครั้งก็คิดนะว่าทำไมเราคิดงานแบบนั้นไม่ได้บ้าง” เขาหัวเราะเสียงดัง แต่แม้จะล้อมรอบด้วยความเรียบง่ายในแบบสวีเดนและเพื่อนร่วมชั้นสายมินิมอล แต่ศรัณย์กลับไม่ได้เปลี่ยนไปเลย

และที่นั่นหล่อหลอมให้เขา ‘เถิดเทิง’ มากกว่าเดิมเสียอีก

ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบ

“เพราะเราเบื่อมาก มันเป็นประเทศที่รถเมล์มาตรงเวลา ทุกอย่างมันเป็นระบบเหลือเกิน เราเลยคิดถึงความ ‘เวรี่ไทย’ วุ่นวายๆ แบบกรุงเทพฯ”

ศรัณย์บอกว่าสวีเดนเป็นเมืองที่เท่ากัน หากเขาไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ เขาจะพบว่าทุกคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้หมด และมีช่องว่างระหว่างชนชั้นน้อยมาก

“มันเหมือนอยู่ห่างจากสิ่งที่เราเกลียดไปเลย ผมมีความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ ในแบบทั้งรักและเกลียดเพราะผมมองว่ามันเป็น ‘Beautiful Chaos’ คือผมเกลียดมันนะ แต่ผมก็รักความวุ่นวายแบบสวยงามของไทยมากด้วย

“อย่างเวลาเรียกแท็กซี่แล้วไม่ไป เรียกใกล้ไม่ไป เรียกไกลก็ไม่ไป บางทีก็อยากรู้ว่าแล้วพี่จะไปไหน มันคือเซนส์แบบนี้ คือไม่ได้บอกว่าชอบ แต่มันมีพื้นที่ของการเล่นสนุกและตีความที่ไทยทำได้ร้อยแปดพันเก้า เพราะเราไม่มีระเบียบแต่เรามีความสวยงาม เช่นสิ่งที่ซ่อนไว้ในวัฒนธรรมสตรีทฟู้ด”

สำหรับศรัณย์แล้ว เมื่อกล่าวถึงคำว่าไทย เขามองว่ามันสามารถนิยามได้เป็นภาษาอังกฤษเก๋ๆ ว่า ‘Contradiction’ หรือแปลเป็นไทยแบบเจ็บจี๊ดๆ ว่า ‘ปากว่าตาขยิบ’ เขามองเห็นว่าสังคมไทยคือสังคมดราม่า ที่เมื่อคุณเดินไปย่านสาทรคุณจะมองเห็นตึกมหานครสุดหรูที่สูงระฟ้า ทว่าเมื่อเดินถัดเข้าไปในซอย คุณจะพบว่ามันเต็มไปด้วยห้องเช่า

เช่นเดียวกับที่หากคุณเดินเข้าไปในสยามพารากอน คุณสามารถซื้อนาฬิกาโรเล็กซ์ของแท้ได้ในราคาสูงลิบ แต่ถ้าเดินถัดออกมาอีกไม่กี่ก้าวและข้ามผ่านสกายวอล์กไปยังห้าง MBK คุณจะพบกับนาฬิกาโรเล็กซ์ปลอมในราคาแค่ไม่กี่ร้อย

“ผมพบว่าประเทศไทยมีความแตกต่างที่อยู่ด้วยกันได้ในแบบของมัน และนั่นเรียกว่า Beautiful Chaos”

และที่สวีเดนนี่เอง ความวุ่นวายของกรุงเทพฯ ได้นำพาเขาให้สร้างสรรค์งานชิ้นแรกขึ้นมา เมื่อข่าวหน้าหนึ่งของประเทศสวีเดนลงภาพการประท้วงในไทยและมีภาพการเทเลือดลงบนพื้น

“งานนั้นคืองานที่คุณกำลังนั่งอยู่”

ศรัณย์พูดถึงลังใส่ผลไม้ที่มีขาตั้งเป็นไม้แกะวิจิตร

“ตอนนั้นฝรั่งเห็นเลยเดินมาถามว่าประเทศคุณมีอะไรกัน แต่ผมไม่ได้สนใจอะไร เพราะไม่ได้สนใจด้านการเมือง ก็เลยเล่าให้เขาฟังถึงเรื่องตอนนั้น เขาก็บอกกลับมาว่า นี่คือ Class War นะ”

เพื่อนฝรั่งคนนั้นเล่าเรื่องราว Class War หรือสงครามระหว่างชนชั้นในยุโรปให้ศรัณย์ได้ฟัง ณ ตอนนั้น ทุกสิ่งได้นำพาให้ศรัณย์ย้อนกลับไปสงสัยว่า แท้ที่จริงแล้วสงครามระหว่างชนชั้นที่ว่ามันคืออะไร และประเทศไทยมีสิ่งนั้นจริงหรือไม่

และเขาก็พบว่า เขาเจอ Class War ได้ในสยามพารากอน

“ข้างหลังสยามพารากอนมันมีสลัม ผมเลยพบว่าความแตกต่างระหว่างคำว่าสูงกับต่ำ แพงกับถูก ดีกับถูก มัน ‘เวรี่ไทย’ เลย และผมอยากเล่าความเป็นไทยผ่านมุมนี้”

ศรัณย์จึงขนเอาตะกร้าผลไม้จากปากคลองตลาดกลับมาด้วยราคาสูงลิบ เพื่อมาต่อกับขาแบบวิกตอเรียน สร้างสรรค์ให้กลายเป็นเก้าอี้เพื่อนำเสนอเรื่องราวของการเมืองและชนชั้น เขากำลังแสดงให้โลกเห็นถึงความไทยในแบบที่ชาวต่างชาติเองก็สัมผัสได้ ผ่านงานสุดแปลกตาที่เราไม่อาจนิยามได้ว่าเป็นงานหรูหรืองานที่ทำมาจากของถูกกันแน่ แต่มันกำลังพาเขาให้เดินทางไปยังเวทีระดับโลก

เพราะจากนั้นไม่นานผู้คนมากมายก็ได้ติดต่อศรัณย์ให้ขายเก้าอี้ตัวนี้ในราคาหลักหมื่น รวมถึงไปเข้าตานิตยสารแฟชั่นที่ทรงอิทธิพลระดับโลกอย่าง Vogue อีกทั้งยังได้เดินทางไปถึงปารีสเลยทีเดียว

Caricature as Furniture คืองานเก้าอี้ที่เขานำป๊อปคัลเจอร์ในแบบ Caricature ที่แปลว่าภาพเหมือน มาถ่ายทอดลงบนเฟอร์นิเจอร์

“ตอนนั้นเราไม่ได้อยากทำภาพเหมือนแต่เราอยากทำเฟอร์นิเจอร์” เขาอวดผลงานให้เราได้ดู ปรากฏภาพไม้ที่แกะเป็นภาพคุ้นตามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเดอะซิมป์สันที่คนมองว่าเป็นการ์ตูนสำหรับชาว Red Neck เลดี้กาก้าที่งานเพลงกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ณ ขณะนั้น หรือแม้กระทั่งแกะเป็นตัวละครจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ จนโดน 20 Century Fox ส่งเมลมา “แต่ตอนหลังเขาก็มาถามนะว่าช่วยผลิตให้หน่อยได้ไหม เพราะเขาจะมี Home Shopping Channel”

เขาได้วานให้ช่างจากบ้านถวายที่เคยแกะสลักช้างมาแกะสลักเก้าอี้นี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ศรัณย์มองว่านี่คือสิ่งสากลที่กำลังผสมกับความละเอียดแบบไทย พร้อมเสริมเรื่องราวด้วยไม้ราคาถูกที่เขานำมาพ่นสีในแบบเปียโน ให้กลายเป็นงานที่หรูบนวัสดุที่คนต่างก็ดูถูก

งานสร้างชื่อชิ้นถัดมาคือผลงานแอนิเมชันที่ทำให้เขาคว้ารางวัลจาก Adobe โดยที่เจ้าของเรื่องราวอย่างคุณแม่ของเขาไม่เคยรู้

“คลินิกแม่อยู่แถวสุขุมวิท เวลาเดินทางกลับจะผ่านนานา เห็นทัวริสต์อาร์ตพวกดอกบัว ร่ม สีนีออน รู้สึกว่าทำไมคนถึงมองว่าแขวนบ้านปุ๊บเชยปั๊บ แต่เรามองว่าถ้าเราหลุดไปในพัดอันนั้น โลกแอนิเมชันเราจะยังเชยอยู่ไหม ก็เลยเอาพวกวัสดุถูกๆ เอาผ้าถุงมาตัดทำเซ็ตดีไซน์เล็กๆ เล่าเรื่องพ่อกับแม่ที่เป็นชนชั้นล่างในสลัมที่พ่ออยู่”

ต่อรองกับความตาย

“ช่วงแรกๆ ตอนที่ยังไม่มีใครรู้จัก ผมพยายามทำงานที่ทำให้คนดูรู้สึกช็อก มันยังเป็นการหยิบเอาสิ่งที่คนดูถูกมาเปลี่ยน เพราะผมไม่เชื่อว่ามันมีรสนิยมที่ดีหรือรสนิยมที่แย่ รสนิยมมันเป็นเรื่องของคุณ นิยมแบบนั้นแบบนี้ ดีไซเนอร์ที่ดีสำหรับผมคือคนที่เปิดกว้าง รู้จักรสนิยมที่หลากหลาย และเลือกใช้กับโจทย์”

ความกล้านำพาศรัณย์ให้ก้าวเข้ามาอยู่ในจุดที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ เขาทำงานถึง 3 ที่พร้อมกัน และแทบเรียกได้ว่าไม่มีเวลาว่าง ดังนั้นสิ่งเดียวที่เขาสามารถผ่อนคลายได้คือการไปยังบาร์ และสั่งเหล้ามากินเพื่อผ่อนคลายวันเครียดๆ

ศรัณย์เคยสเก็ตช์งานบนกระดาษทิชชูและส่งให้ลูกค้า เคยแม้กระทั่งนั่งทำงานในบาร์จนภาพตัดและไม่รู้ว่าตัวเองกลับบ้านได้ยังไง จนกระทั่งวันหนึ่ง ศรัณย์ตื่นขึ้นมาและพบว่าเขาอาเจียนเป็นเลือด

ศรัณย์ยื่นหนังสือเล่มเล็กๆ สีสันฉูดฉาดมาให้พวกเรา โดยที่หน้าหนึ่งเขียนคำว่า Bargaining with Death

“เล่มนี้เป็นสูตรค็อกเทลที่ผมเขียนเป็นไดอารี่ตอนป่วย” เขากล่าวให้เราฟัง

“ตอนนั้นหมอบอกว่าผมอยู่ได้แค่ 3 เดือน”

สิ่งแรกที่เขาทำเมื่อรู้ว่าอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงแค่ 3 เดือน คือการโทรบอกคุณแม่ที่เป็นพยาบาล แล้วเริ่มต้นพยายามทำทุกวิธีให้ตัวเองหาย ตลอดเวลาที่อยู่บนเตียง เขามองเห็นภาพตัวเองกลับมาเป็นศรัณย์ที่ทำทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วตามเดิม

“เราคิดแค่ว่าเราอยากหาย”

แต่ศรัณย์คนเดิมก็ไม่กลับมา และวันนี้เขากลายเป็นศรัณย์คนใหม่แทน

“ศรัณย์คนเดิมเป็นคนโอหังมาก เรารู้สึกว่าเราทำงานเก๋เนอะ ชื่อเสียงได้มาเร็วมาก ไม่ทันเรียนจบก็ได้ลง Vogue แล้ว มันมาพร้อมกับความมั่นใจ ที่จริงๆ มันก็ไม่ผิดหรอกถ้าเรามั่นใจในเลเวลที่พอดี..

“แฟนบอกเลิกผม บอกว่าผมรักตัวเองมากเกินไปจนไม่สามารถรักคนอื่นได้ เราก็คิดว่า เอ๊ะ นี่มันเป็นคำชมหรือเปล่านะ เพราะ RuPaul ก็เคยบอกไว้ว่า If you don’t love yourself, how in the hell you gonna love somebody else? เราก็อ้าว รักมากเกินไปก็ผิดด้วยเหรอ แต่ตอนนั้น ไอ้ความรัก กระบวนการที่เราหลงใหลและหมกมุ่นมากๆ มันไม่แคร์จนคนอื่นเขาจะอะไรยังไง ผมว่าทุกคนเคยเป็นนะ เพราะความสำเร็จ เงินทอง ชื่อเสียง มันได้มาง่าย เราก็เลยรู้สึกผยอง” เขาหัวเราะก่อนเอ่ยเสริมด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลง

“จริงๆ คนใหม่นี่ไม่ได้ดีเด่อะไรนะ ก็มีความกวนเหมือนเดิม ตอนนี้ผมอยู่เงียบๆ และเชื่อในเรื่อง Law of Attraction ถ้าเราคิดดีทำดีก็จะดึงดูดคนที่คิดอะไรคล้ายๆ กัน คนที่คิดอะไรไม่ดีก็คงไม่ได้ชอบอะไรแบบที่เราชอบ ก็คิดแค่นี้ แต่เลเวลของความปากจัด กวนๆ ก็ยังเต็มที่”

แม้จะต้องปรับชีวิตใหม่ แต่ศรัณย์ก็ยังหลงใหลในงานของตัวเองตามเดิม ทุกความรักของเขาสามารถมองเห็นได้ผ่านความละเอียดทั้งในงานที่เขาทำและจากน้ำเสียงตื่นเต้นที่กำลังเล่าให้เราฟัง

“งานชิ้นนี้ เราให้บรรยากาศเป็นตัวเล่าเรื่อง” เขาปิดท้าย ก่อนพาเข้าสู่อีกหนึ่งผลงานที่ศรัณย์ไปจับมือเหล่าศิลปินมาร่วมสร้างสรรค์และตีความคำว่า ‘ความเป็นไทย’ ลงในงานซีรีส์ ‘ซุปเปอร์สยาม’ ”

เหล่าศิลปินได้สร้างสรรค์ภาพความเป็นไทยในแบบที่หลากหลาย อย่างขนมชั้น ผัดกะเพรา หรือแม้กระทั่งภาพถ่ายเบาะตุ๊กๆ และนำมาหุ้มลงบนเก้าอี้สีสันจัดจ้านจากเหล็กข้ออ้อย

“ปรากฏว่ามีสุลต่านมาเหมา!” ศรัณย์พูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

งดงามในวิถี

อีกหลายปีถัดมา ศรัณย์ก็ได้กลับมาทำงานกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพ ที่เดียวกับที่เขาเคยทำวิทยานิพนธ์สมัยเป็นนักเรียนคณะสถาปัตย์

“ผมทำกับชาวเขาเลย ก็เจอปัญหาอะไรเยอะแยะ ผมขึ้นไปบนดอย เจอปัญหาเยอะแยะมากมาย ด้วยความที่เป็นผ้าที่ทอโดยชาวเขา เขาจะบอกเราว่าเขาต้องปลูกพริกไทยก่อนนะ ขอไปเก็บลำใยก่อนนะ ทำ 2 เดือนไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า ถึงเวลาค่อยว่ากันแล้วค่อยจ่ายเงิน”

ศรัณย์ตัดสินใจใช้วิธีซื้อโปรดักต์สำเร็จจากชาวบ้านเพื่อนำมารื้อประกอบเป็นงานใหม่ เขาพบว่าวิธีการทำงานระหว่างเขากับชาวบ้านคือการสร้างความสัมพันธ์มากกว่าการบอกส่งๆ ในฐานะลูกค้ากับผู้รับเหมา

“ผมรู้สึกว่าเราต้องใช้วิธีที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน” ศรัณย์กระแอมสักครู่ ก่อนทำท่าประกอบบทสนทนาระหว่างเขากับพี่จุ๊ สุดยอดช่างทอเสื่อจันทบูรณ์ที่ศรัณย์ไปซื้อเสื่อมาทำงาน

“พี่จุ๊แกบอกว่า มันไม่มีคนทอแล้ว เด็กๆ มันก็ไปทำงานร้านสะดวกซื้อกันหมด” เรามองเห็นภาพพี่จุ๊อยู่ที่ชานเรือนพร้อมถักเสื่อไปด้วย

“ได้เงินวันละ 300 ทำงานในห้องเย็นๆ ด้วย ทอเสื่อไปก็ไม่รู้จะทำได้เท่าไหร่ นั่งก็ร้อน!” สิ่งนี้ทำให้ศรัณย์มองเห็นว่าหลากหลายผู้คนที่กำลังสานต่อลมหายใจของหัตถกรรมพื้นบ้านกำลังรอคอยที่จะสร้างคน เขาจึงเชื่อว่าทุกๆ ออเดอร์ที่เขากำลังสั่งจะสามารถสร้างคนได้

ศรัณย์เชื่อว่าหากสร้างคนได้ ชาวบ้านเองก็จะทำงานด้วยความสุข

“อย่างหมอนไหว้เจ้าที่เอามาทำงาน ผมก็ไปเจอเจ้าที่ทำมาร้อยกว่าปีแล้ว อายุรวมกันของช่างตัดเย็บน่าจะ 200 กว่าๆ จักรก็เก่ามาก เดี๋ยวนี้แม้จะมีคนไหว้เจ้า แต่เขาก็ไม่ค่อยใช้หมอนแบบนี้แล้ว” ศรัณย์พาให้เราเห็นภาพร้านเก่าๆ ที่ว่า เขาบอกว่าในบางครั้งที่เข้าไปยังร้าน ศรัณย์พบว่าบางทีเขาได้กินขนมผักกาดแทนหมอน อย่างไรก็ตาม เขามองว่านั่นคือการสร้างความสัมพันธ์ และเขาตั้งใจว่าจะไม่ทรีตเหล่าผู้สร้างงานในรูปแบบผู้รับเหมาเด็ดขาด

ศรัณย์พาเราย้อนกลับไปในงานที่เรียงร้อยจากผ้าชาวเขามากมาย

“ชิ้นนี้ได้มาตอนที่เรานั่งกินข้าวกับหัวหน้าชนเผ่า ปู่แกบอกเราว่า เงินที่ได้จากผ้านี้แกเอาไปทำทีมฟุตบอลนะ ทีมฟุตบอลของที่นี่เก่งมาก”

“ปู่เขาบอกว่าเขาทำมาหมดทุกอย่างแล้ว เคยแบกผักอยู่คลองเตยด้วย เล่าไปแกก็น้ำตาคลอไป ส่วนผมก็อิน เหมือนเป็นมิสเวิลด์” ศรัณย์หัวเราะ

“ผมบอกว่า คุณปู่ครับ! ผมจะช่วยคุณปู่เอง! แต่สุดท้ายออเดอร์ของเราก็ไม่ได้เยอะอะไรมากมาย ผมเอามันมาปักเป็นลายการ์ตูนตามปั๊มที่คนมองว่ามันถูก ส่วนผ้าก็เป็นผ้าฝ้ายที่เขาเอาไว้กี่เอวแบบชาวเขา ส่วนงานที่ทำกับศูนย์ศิลปาชีพจะเป็นผ้าเนามือ ผมทำผ้าเป็นใส้ไก่ แล้วค่อยๆ ขดเป็นสาย” ศรัณย์อธิบายงานอีกชิ้น ซึ่งเป็นงานที่หุ้มอยู่บนโซฟา

“ปัญหาคือผ้าพวกนี้มันต้องซื้อ ทุกอย่างที่ได้มาเลยไม่เหมือนคนอื่น เราจึงลองเสนอทางศูนย์ว่าลองจัดผ้าให้เป็นกลุ่มๆ ดีไหม เช่นเฉดสีน้ำตาลให้อยู่ด้วยกัน อีกหน่อยมันจะได้มีระบบ แทนที่จะนั่งเลือกคุ้ยๆ ผ้า ต่อไปเวลาทำงานพวกนี้อีก ลูกค้าจะได้บอกว่าอารมณ์จะเป็นยังไง”

เขาบอกว่าการจัดกลุ่มเช่นนี้จะทำให้ลูกค้าสามารถจินตนาการภาพงานที่ต้องการได้.. เหมือนกับกระเป๋าแบรนด์ยุโรปอย่าง Freitag

“เราไม่อยากขายฝันพวกเขาว่าถ้าเขาทำงานกับเราเขาจะมีนั่นมีนี่ แต่สิ่งที่จับต้องได้คือ ผมบอกเขาว่าผมจะมีออเดอร์มาให้เขาบ่อยๆ และมันมีมูลค่ามากพอ กับศูนย์ศิลปาชีพเองก็เหมือนกัน ต่อไปถ้าศูนย์ศิลปาชีพเจอกับดีไซเนอร์บ่อยๆ ผ้าพวกนี้ก็จะออกจากคลังได้”

เก้าอี้ก๋วยเตี๋ยว

ประสบการณ์ร่วมที่ไม่ธรรมดา

งานชิ้นหนึ่งที่โด่งดังของศรัณย์คือ งานเก้าอี้ก๋วยเตี๋ยว ที่ทำมาจากเก้าอี้ตัวยาวกับเสื่อพลาสติกที่ผสมผสานกับผ้าไหมซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่น ทั้งหมดประดับลงบนเก้าอี้ที่เขานำมาออกแบบใหม่อีกครั้ง แต่ยังทำให้คนมองเห็นว่ามันเป็นเก้าอี้ดีไซน์คุ้นตาอันเดิม

“ตอนงาน Bangkok Design Week เขาจะหาที่คูลๆ มาแสดงงานกัน ตอนนั้นผมเลือกร้านอาหารจีนชื่อนิวเฮงกี่ ชั้นสอง”

ศรัณย์จำลองเหตุการณ์ให้เราได้ดูอีกครั้ง

‘เฮีย เอาเก้าอี้เฮียออกได้ไหม แล้วผมจะเอาเก้าอี้กับโต๊ะผมมาตั้งให้ ใครอยากนั่งก็นั่งเลย ใครอยากซื้อก็ซื้อเลย’

“จากนั้น 3 วัน ปรากฏขายหมด คนเช็กอินร้านเฮียใน Instagram แบบถล่มทลาย มันตลกที่ว่าเวลาเราอยากดูงานนี้ ถ้ามีลูกค้านั่งอยู่เราจะดูไม่ได้ ต้องยืนรอจนเขากินเสร็จ พอกินเสร็จ โต๊ะก็เลอะเทอะไปหมด คนก็เลยรู้สึกว่าเป็นการแสดงงานที่สนุก เราสามารถมี Interact กับมันได้ สุดท้าย เฮียก็ซื้อไว้ชุดหนึ่งให้เป็นมิ่งขวัญของร้าน”

เก้าอี้ก๋วยเตี๋ยว

หากคุณได้ไปร้านนิวเฮงกี่ คุณจะเห็นโต๊ะเก้าอี้ฝีมือศรัณย์จัดเป็นดิสเพลย์โดยเฮียเจ้าของร้าน โดยมีรั้วกั้น ที่มุมหนึ่งจริง ๆ

และในวันนี้ พื้นที่ที่จะเอื้อให้คุณได้ดำดิ่งไปสัมผัสประสบการณ์งานศิลปะก็กลับมาอีกครั้ง นอกจากศรัณย์จะยกเก้าอี้ไปไว้ในร้านก๋วยเตี๋ยว เขาบอกเราว่างานนี้เราจะได้เห็นวัสดุที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศในประเทศไทย ตั้งแต่กระจูดจากพัทลุง เสื่อมหาสารคาม และงานผ้าจากบนดอยที่เขาไปนำมาด้วยตัวเอง ในนิทรรศการ Pop Artisan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน 101 กรีนเกินร้อย (Sustainable Fest)

“ผมเชื่อว่าคอนเซ็ปต์ของนิทรรศการนี้ จัดได้ว่าเป็นการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง ในงานนี้มันเป็นเหมือนส่วนผสมของรถซาเล้งและร้านขายของเก่า เราจะเรียงทุกอย่างบนผนังให้คุณผสมได้เอง”

เก้าอี้ก๋วยเตี๋ยว

หากคุณไปที่ Glass House ชั้น 3 101 True Digital Park ในวันที่ 21 – 30 มิถุนายนนี้ คุณจะพบศรัณย์ยืนถือสว่านเพื่อรอประกอบเก้าอี้ลายใหม่ที่เขาเรียกมันว่าเป็นการคืนวิญญาณ และคุณเองก็สามารถหยิบเก้าอี้ตัวกลมจากบ้านมาให้เขาคืนชีวิตให้มันใหม่ได้เช่นกัน

“เราไม่มีโจทย์อะไรนอกจากทำงานกับชุมชน ซึ่งเหมาะกับ Sustainable Fest ครั้งนี้เราจะพาคนดูไปรับรู้เรื่องราวผ่านประสบการณ์ร่วม ให้เขาสามารถเลือกที่จะคืนวิญญาณให้ของเก่าเองได้”

ศรัณย์จะเปลี่ยนภาพจำของศาลาสินค้าโอทอปให้กลายมาเป็นรถซาเล้งสนุกๆ และเราสามารถพูดได้ว่างานของเขาไม่เพียงแต่ ‘Sustain’ เพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมด้วยการลดขยะเท่านั้น

แต่ศรัณย์ที่มาพร้อมกับความตั้งใจ กำลังจะ ‘Sustain’ งานหัตถกรรมของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น ให้มีลมหายใจต่อไปด้วยศิลปะ

“หัตถกรรมสำหรับผมคืองานที่มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา มันคือการที่ชาวบ้านแบกแตงโมมาให้เราที่พัทลุง มันคือการที่เราสั่งกระจูดมา 2,000 บาท แต่ชาวบ้านแกจะไปเก็บกระจูดในป่าแทนที่จะปลูกเอง นี่แหละครับ มันคือเรื่องของวิถีชีวิต”

ศรัณย์ปิดท้ายพร้อมรอยยิ้ม ก่อนที่เราจะถามว่างานนี้จะมีอะไรสนุกๆ ให้ได้ชมอีกไหม

เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า

“แค่เจอผมก็สนุกแล้ว”

ศรัณย์ เย็นปัญญา นักออกแบบ

งานนี้ไม่เพียงแต่เยี่ยมชมผลงานเท่านั้น แต่ท่านยังสามารถไปจับจ่ายเฟอร์นิเจอร์ที่อยากได้ไว้ใช้สอยและเยี่ยมชมนิทรรศการ ‘Pop Artisan’ ซึ่งเป็นส่วนหน่ึงของ 101 กรีนเกินร้อย (Sustainable Fest) ได้ ตั้งแต่วันที่ 21 จนถึง 30 มิถุนายน ท่ี Glass House ชั้น 3 101 True Digital Park สถานีปุณณวิถี ตั้งแต่เวลา 10.00 – 22.00 น. ทุกวัน

แล้วมาร่วมคืนชีวิตให้เฟอร์นิเจอร์เก่าๆ กัน!

Writer

Avatar

ฐาปนี ทรัพยสาร

อดีตนักเรียนหนังสือพิมพ์ที่ก้าวเข้าสู่วงการประชาสัมพันธ์ ผู้เชื่อมั่นว่าตัวอักษรสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ หลงใหลในวัฒนธรรมและมนุษย์

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan