หากจะสืบเสาะค้นหาประวัติศาสตร์ของการฟ้อนเจิงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แทบจะมีหลักฐานทางตำราน้อยชิ้น เพราะเจิงเป็นศาสตร์และศิลป์สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมือต่อมือ ปากต่อปาก กลมกลืนดั่งวิถีชีวิตของชาวล้านนาสมัยก่อน ดังคำกล่าวว่า ‘ลูกป้อจาย ต้องมีเจิง’ ไม่ว่าจะฟ้อนเจิงด้วยมือเปล่า ร่ายรำท่วงท่าลีลาตามแม่ลายฟ้อน สลับกับตบมะผาบให้ดังตามร่างกาย ข่มขวัญ หยอกเย้าผู้ต่อสู้ ไต่ระดับขึ้นอีกขั้นเป็นเจิงอาวุธ เจิงดาบ และเจิงง้าว

วิชานักรบที่อดีตเคยใช้ปกป้องบ้านเมือง มีเกียรติและศักดิ์ศรี กลับเสื่อมความนิยมลงตามยุคสมัย สล่าเจิงล้านนาเริ่มลดหาย บ้างทำมาหากินเปลี่ยนเป็นอาชีพที่มั่นคง หาเลี้ยงตัวและครอบครัวได้ แต่เวียงเจียงใหม่แห่งนี้ยังมีป้อจายคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาสานต่อและสืบสอดวัฒนธรรมภูมิปัญญา ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนาผู้ขับเคลื่อนศิลปะแห่งตำนานให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยประสบการณ์เรียนรู้ เผยแพร่ศาสตร์และศิลป์เป็นเวลา 20 กว่าปี

ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา เชียงใหม่ ที่ปลุกลมหายใจ ‘ฟ้อนเจิง’ อีกครั้ง

ปัจจุบันครูศรัณย์เปิด ‘บ้านสล่าเจิงล้านนา’ อำเภอแม่ริม เป็นพื้นที่สอนวิชาเจิงให้แก่ผู้คนที่สนใจ และเป็นครูสอนเจิงที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา โดยปรับรูปแบบการเรียนให้เขากับยุคสมัย พัฒนาไปพร้อมกับกาลเวลา 

เพราะการพัฒนาและการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ภูมิปัญญายังมีคงมีลมหายใจ

และต่อไปนี้คือเรื่องราวทั้งหมดของ ‘ลูกป้อจาย ต้องมีเจิง’ แห่งดินแดนล้านนา 

ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา เชียงใหม่ ที่ปลุกลมหายใจ ‘ฟ้อนเจิง’ อีกครั้ง

ฮู้จักเจิง

“วิชาเจิงเป็นวิชาเกี่ยวกับความเป็นความตาย โบราณเอาไว้ใช้ต่อสู้ป้องกันตัว เพราะเมื่อก่อนเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ผู้คนอยู่กับความเสี่ยงภัย เวลาเดินทางไปมาค้าขายต่างพื้นที่ต้องข้ามพรมแดนก็อันตราย และการต่อสู้ด้วยอาวุธมีคม ปืน ผาหน้าไม้ ยังมีไม่มาก แพงและหายาก ตอนนั้นวิชาเจิงจึงได้รับความนิยมและสืบทอดเรื่อยมา”

ในยุครุ่งเรืองมีครูสอนเจิงเยอะ คนเรียนก็เยอะ โดยครูจะเสาะแสวงหาลูกศิษย์ตามหมู่บ้านไปเรื่อยๆ 7 วันทีก็ย้ายหมู่บ้านที จนฤดูทำนาถึงจะหยุด พอขายข้าวเสร็จก็เดินทางตามหาลูกศิษย์ ได้เงินค่าสอนก็เอาไปซื้อวัว แล้วก็ต้อนวัวขาย เป็นวิถีของครูฟ้อนเจิงสมัยก่อน บ้างก็เปิดสำนักใหญ่โต สร้างคนเก่งให้สืบทอดภูมิปัญญาล้านนาต่อไป

“ผู้ชายทุกคนต้องเรียนเจิงเป็นวิชาพื้นฐานติดตัว แล้วผู้หญิงเองก็รู้สึกว่า ผู้ชายที่มีเจิงปกป้องครอบครัวได้ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเลือกเป็นคู่ชีวิต ยุคก่อนเขาจะไปหาคู่ตามงานวัด เวลามีงานปอย งานสมโภชน์ จะมีการเล่นเจิง ผู้ชายก็จะฟ้อนเจิง หญิงสาวคราวรุ่นก็จะมาแอบมอง ผู้ชายเองก็อวดผู้หญิงที่หมายปองว่าตัวเองเก่งแค่ไหน

“บางคนฝึกเก่งจนเลยความคิดที่จะอวด เขาก็เอาไปใช้สอนคนต่อ ออกเดินทางผจญโลก ผจญภัยในสังเวียนชีวิต คนเก่งๆ อาจารย์ก็เรียกใช้งาน ให้ไปสอนบ้าง ให้ไปช่วยงานบ้าง ไปเป็นอารักขา ไปทำงานให้เจ้านาย”

ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา เชียงใหม่ ที่ปลุกลมหายใจ ‘ฟ้อนเจิง’ อีกครั้ง

เจิงเป็นศาสตร์วิชาที่ผู้ชายล้านนาทุกคนต้องเรียน เพราะสถานการณ์บ้านเมืองรบทัพจับศึกบ่อยครั้ง บ้างก็ใช้เพื่อป้องกันตัวเอง หากเปรียบการฟ้อนเจิงเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นชาย แล้วผู้หญิงจะฟ้อนเจิงได้ไหม 

“ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ล้านนา ไม่มีการห้ามไม่ให้ผู้หญิงฟ้อนเจิง บางทีผู้หญิงเป็นนักรบหรือผู้นำทัพด้วยซ้ำ แต่ด้วยบริบทสมัยก่อนไม่ค่อยเป็นที่นิยม ผู้ชายเรียนเยอะเพราะได้ใช้ ไปเป็นทหารบ้าง ใช้ป้องกันตัวบ้าง ปัจจุบันนี้เราก็สอนให้ผู้หญิงฟ้อนเจิงได้ เผลอๆ ผู้หญิงเรียนเยอะกว่าผู้ชายเสียอีก” ศรัณย์เล่าความเป็นมาเป็นไปของเจิง

ศรัณย์เติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมล้านนา ผ่านยุครุ่งเรืองของเจิง จวบจนเจิงได้รับความนิยมน้อยลง 

“เมื่อไม่กี่สิบปีนี้เอง เจิงถูกลดบทบาทความนิยมลง เพราะค่าความนิยมของคนเปลี่ยนไป บ้านเมืองดีขึ้น ตัวบทกฎหมายเข้มงวดขึ้น ชุมโจรอะไรต่างๆ น้อยลง ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินก็มีมากขึ้น ค่านิยมจากส่วนกลางแข็งแรงกว่าเข้ามาแทนที่ เจิงก็หมดวิถีการใช้งาน กลายเป็นของล้าหลัง ไม่ศิวิไลซ์ ไม่สมัยใหม่ คนที่เกาะกุมวิชาไว้ก็หวงแหน ไม่อยากถ่ายทอดให้ใครง่ายๆ ในฝั่งคนที่นิยมก็กลับไม่ค่อยนิยม มันเลยเกิดช่องว่างขึ้นมา” สล่าเจิงอธิบาย

ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา เชียงใหม่ ที่ปลุกลมหายใจ ‘ฟ้อนเจิง’ อีกครั้ง
ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา เชียงใหม่ ที่ปลุกลมหายใจ ‘ฟ้อนเจิง’ อีกครั้ง

เจิงดีต้องมีครู

การสืบทอดวิชาเจิงต้องมีการยกขันครู เป็นสิ่งสำคัญมากในการมอบวิชาจากครูสู่ศิษย์

“ตามฉบับโบราณจริงๆ ถ้าไม่มีขันครู คนนั้นจะสืบวิชาไม่ได้ เขาเรียกว่า มันจะเอาบ่แป้ พลังกำลังของเราจะไม่เพียงพอ ต้องใช้พลังจากครูบาอาจารย์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยโอบอุ้มองค์ความรู้เอาไว้และเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ อีกนัยก็เป็นสัญลักษณ์เตือนตัวเราเองว่า เราจะเป็นผู้ผู้สืบทอดวิชาต่อด้วยความชอบธรรม” ศรัณย์เล่า

เมื่อการเรียนเจิง ต้องฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหากับครูบาอาจารย์ จึงต้องหา ‘มื้อจั๋นวันดี’ หรือ ฤกษ์งามยามดี เพื่อขึ้นขันครู ฝากตัวเป็นศิษย์ เป็นการนับถือผีครูทางจิตวิญญาณ และสืบทอดพิธีเลี้ยงผีครูเป็นประจำทุกปี 

“เราจะเลือกวันที่ดีที่สุดแล้วไปหาครูอาจารย์ เอาส่วยดอกไม้ ธูป เทียน ไปแนะนำตัวว่าเรามาจากไหน ลูกเต้าเหล่าใคร ขอเมตตาความรู้ครูบาอาจารย์สั่งสอน ครูก็จะดูการเข้าหาของคนๆ นั้น อากัปกิริยา อุปนิสัย เบื้องต้น เบื้องลึกเป็นอย่างไง ครูสอนเจิงจะมีประสบการณ์ในการมองคน บางครั้งครูก็จะรับไว้ก่อน แล้วให้ตัววิชาคัดเลือกคนเอง

“เมื่อครูเห็นว่าเหมาะสมจะเป็นศิษย์ ครูจะให้ขึ้นขันตั้ง เป็นภาชนะอย่างหนึ่ง พานหรือขันสลุง ภายในบรรจุเครื่องไหว้สักการะ แทนสัญลักษณ์ของครูสายต่างๆ เช่น ขันสิบสอง ขันสิบหก ซึ่งหมายเลขหมายถึงจำนวนสิ่งของที่ใส่อยู่ในพาน นอกจากดอกไม้ หมากพลู ก็จะมีเหล้า ผ้าขาว ผ้าแดง หมากก้อม ข้าวเปลือกข้าวสาร มีเงินขันครู แล้วแต่กำหนด เป็นค่าตอบแทนที่ครูจะสอนวิชา เวลาทำพิธีขึ้นขันตั้ง ก็จะมีพิธีไหว้ด้วย มีเหล้าหนึ่งไห ไก่หนึ่งคู่ และผลหมากรากไม้”

ครูศรัณย์เล่าว่าการเรียนเจิงจะเรียนที 3 วัน 5 วัน 7 วัน แล้วก็พัก ค่อยกลับมาเรียนใหม่ เมื่อเรียนเสร็จครูผู้สอนจะปลดขันตั้ง เอาผลไม้แจกจ่ายกลับไปกินที่บ้าน และขันตั้ง นอกจากเป็นการแสดงถึงการเคารพสักการะ ยังเป็นเครื่องหมายของแต่ละสำนักด้วย เป็นเครื่องการันตีผู้เรียนว่าฝากตัวอยู่ในสำนักนี้แล้ว มีครูเป็นของตัวเองแล้ว 

ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา เชียงใหม่ ที่ปลุกลมหายใจ ‘ฟ้อนเจิง’ อีกครั้ง

เฮียนวิชาเจิง

ตอนเป็นเด็ก ศรัณย์เห็นศิลปะ วัฒนธรรมวิถีดั้งเดิมตลบอบอวลทั่วหมู่บ้าน ยามมีงานบุญ ทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้ชายก็ออกมาฟ้อนเจิง เด็กชายสะสมความชอบมาตั้งแต่นั้นมา แต่ใครจะรู้ว่าเด็กชายตัวเล็กๆ แถมป่วยอิดๆ ออดๆ จนได้ฉายาว่า ‘ไอ้ขี้เปี๊ยก’ จะกลายเป็นครูผู้สืบทอดศิลปะการต่อสู้ล้านนา ‘เจิง’ ที่มีน้อยคนนักในจังหวัดเชียงใหม่ 

ขันสลุง ใส่ข้าวตอก ดอกไม้ พร้อมหมากก้อม เปลือกข้าวสาร เหล้าไห ไก่ตัว ขึ้นขันครู ฝากตัวร่ำเรียนวิชา

“พออายุสิบห้า เราไปหา ครูสนั่น ธรรมธิ ครูแนะนำให้ไปเรียนกับ พ่อครูคำ พรมมา ชุมชนบ้านทาลุ เราดีใจมาก ด้วยความที่อยากเรียนมาตั้งแต่เด็ก หาเรียนที่ไหนก็ไม่ได้ ตอนนั้นครูคิดค่าเรียนพันห้า ไปขึ้นขันตั้งครู ครูสอนได้สามวัน ครูบอก จบละ เราก็ตกใจสามวันเสร็จแล้วหรอ ‘จบละ บ่มีหยังสอนละ อันนี้ตี้สอนเนี่ย เอาไปฝึก ไปหัด’”

เขากลับบ้านพร้อมแบกความสงสัยอยู่เต็มบ่า ทว่าไม่ลืมคำสอนของพ่อครูคำ กลับมาฝึกฝนด้วยตัวเองทุกวัน ทุกวัน ด้วยความเพียร ชนิดที่ว่าตบมะผาบจนขาบวม มือบวม และวนเวียนหาครูท่านอื่นเพื่อเสริมความรู้อยู่เสมอ

ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา เชียงใหม่ ที่ปลุกลมหายใจ ‘ฟ้อนเจิง’ อีกครั้ง
ศรัณย์ สุวรรณโชติ สล่าเจิงล้านนา เชียงใหม่ ที่ปลุกลมหายใจ ‘ฟ้อนเจิง’ อีกครั้ง

ศรัณย์ขวนขวาย สั่งสมประสบการณ์ผ่านการแสดงตามคุ้มขันโตกรอบเชียงใหม่ รับงานแสดงศิลปะวัฒนธรรมเพื่อส่งตัวเองเรียน จนเข้าตา รศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ล้านนา ชวนเขาไปเที่ยวงานนิทรรศการศิลปกรรม ในช่วงเปิดงานมีแสดงฟ้อนเจิงจากคนเก่งมากหน้าหลายตา ทำเอาศรัณย์ตาเป็นประกาย

“ช่วงท้ายเขาเปิดข่วงเจิงประลองฝีมือ หนึ่งในนั้นที่เราประทับใจคือ อ้ายแสบ (ธนชัย มณีวรรณ) ห่างจากผมหนึ่งรุ่น แต่อ้ายแสบเก่งมาก เจิงมือลีลาอ่อนช้อยคล่องแคล้ว เราตาค้างเลย แต่ละท่าสุดยอดทั้งนั้น บางท่าเราเคยเห็นแต่ไม่รู้ว่าต้องฟ้อนยังไง” ด้วยบรรยากาศ เสียงดนตรีก๋องซิ่งม่อง (กลอง) ฆ้องรบเร้าตามจังหวะปลุกความฮึกเหิม พร้อมเสียงเชียร์จากอาจารย์วิลักษข์ นั่นทำให้ศรัณย์ตัดสินใจก้มตัวม้วนขากางเกง ก้าวเข้าสู่สนามการประลองเจิง 

“ตอนนั้นเราถือเป็นหน้าใหม่ในวงการ คนก็มองอารมณ์ว่า เอ็งเป็นใคร มาจากไหน ท่าทางลวดลายเจิงก็ยังไม่งดงาม ฟ้อนทีก็เก้ๆ กังๆ แต่จุดขายเราคือตบมะผาบ ตบทีนี้ดังลั่นเลย” ศรัณย์เล่าปนเสียงหัวเราะถึงวัยเด็กของเขา

แต่ความเก้ๆ กังๆ ปนเสียงตบมะผาบดังลั่น นั้นดันไปสะดุดตาอ้ายแสบ 

‘อยากเรียนไหม ถ้าอยากเรียนจะสอนให้’ อ้ายแสบบอกกับศรัณย์ในวันงาน

“ตอนนั้นดีใจมาก น้ำตาคลอเบ้าเลย เพราะจะได้รู้ว่าเจิงจริงๆ เป็นยังไง และได้มีโอกาสเข้าไปคลุกคลีวงในมากขึ้น ไปช่วยงานครูแสบ ครูต้อม ครูโอ (พรชัย ตุ้ยดง) ระหว่างนั้นเขาจะแกล้งเราตลอด เหมือนทดสอบจิตใจ แต่เราเองมีใจตั้งมั่นในสิ่งที่เรียนเลยไม่คิดอะไร ผ่านไปหกเดือน อ้ายแสบเลยบอกว่า ‘ได้เวลาแล้ว พาไปขึ้นขันตั้งกับพ่อครู’ (พ่อครูหล้า-คำสุข ช่างสาร ซึ่งเป็นพ่อครูของอ้ายแสบอีกที)’ ชุมชนแม่ก๊ะ อำเภอดอยสะเก็ด” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงดีใจ

สล่าเจิงคนนี้บอกว่า ศาสตร์เจิงแต่ละสำนักสอนไม่เหมือนกันเลย แล้วแต่กลยุทธ์วิธีการสอน บ้างก็เริ่มจากยากไปง่าย บ้างก็เริ่มจากง่ายไปยาก ซึ่งศรัณย์วิเคราะห์หัวใจสำคัญในวิชาเจิงมาเล่าสู่เราฟังทั้งหมด 3 ข้อ 

หนึ่ง ขุมเจิง เรียนรู้วิธีการเดินเป็นพื้นฐานแรกที่ต้องเรียน และมีรูปแบบขุมหลากหลาย

สอง ตบมะผาบ เป็นการตบมือไปตามร่างกายให้เสียงดังเหมือนเสียงปะทัด คนล้านนานิยมพัฒนาท่วงท่าเหล่านี้ให้แพรวพราวมากขึ้น เป็นลีลามากขึ้น เป็นการข่มผู้ต่อสู้ด้วยลีล่าเข้มแข็งมีชั้นเชิง ตบรัว ตบเร็ว ตบช้า ตบหนักแน่น 

สาม แม่ท่า แม่ลายฟ้อน เป็นแม่ท่าหลักในการใช้งาน เช่น ท่าบิดบัวบาน เกี้ยวกร้าว เสือลากหาง ช้างซ้อนงวง กาปากปีก กาปักปีก แทงหวัน มีเยอะแยะมากมายหลายท่า ซึ่งในท่าทางเหล่านั้นก็แยกแยะเป็นหมวดหมู่ด้วย

จังหวะและครรลองชีวิตของ ศรัณย์ สุวรรณโชติ ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนศิลปะฟ้อนเจิงให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“การย่างขุมเป็นหัวใจของเจิง และการย่างขุมถือเป็นความลับที่ไม่บอกกัน ยามเรียนครูจะเขียนขุมแค่ครั้งเดียว ต้องฝึกวันเดียวให้เป็น ถ้าจำไม่ได้ครูก็ไม่สอนแล้ว ซึ่งขุมมีตั้งแต่ง่ายไปซับซ้อน ต้องเรียนรู้การจู่โจม การแก้ทาง เป็นกลยุทธ์ทิศทางย่างเดิน เอี้ยวตัว คนที่ฝึกเจิงจนออกไปสำแดงได้ ต้องฝึกให้ชำนาญจนกว่าขุมสลาย ถ้าไม่ชำนาญแล้วออกไปสำแดง ก็เท่ากับเปิดเผยขุมให้สำนักอื่นรู้ และทำให้เขาจับทางเราได้” สล่าเจิงเล่าความสำคัญของ ‘ขุม’

“ฝึกขุมทำให้เราได้กำลังขา แต่บางครั้งครูยื้อเวลาไว้เพื่อเช็กว่าลูกศิษย์อดทนได้นานแค่ไหน แต่ปัจจุบันก็พลิกแพลงมากขึ้น ไม่ได้เน้นจะมาวัดใจ เน้นเรื่องการเผยแพร่ ได้เรียนรู้ และได้ใช้ประโยชน์ต่อไปมากกว่า”

ซึ่งการเรียนวิชาฟ้อนเจิงในโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา แบ่งเป็น 9 วิชา 3 ระดับ มี ชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสูง และมีวิชาอาวุธยาว มี 4 วิชา วิชาไม้ค้อน 1 วิชาไม้ค้อน 2 เจิงหอกและเจิงง้าว *(ไม้ค้อน แปลว่า ไม้พลอง)

ในหลักสูตรวิชาฟ้อนเจิง ยังมีเจิงมือเปล่า เป็นการต่อสู้ไม่เน้นความสวยงาม มีทั้งหมด 9 วิชา แบ่งตามเทคนิค เช่น ปัดป้อง ก้องกุม ยุ้มจัก เก่งข่ม ฯลฯ และเจิงอาวุธ เช่น เช่น เจิงดาบ เจิงไม้ค้อน เจิงหอก เจิ้งง้าว เป็นต้น 

จังหวะและครรลองชีวิตของ ศรัณย์ สุวรรณโชติ ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนศิลปะฟ้อนเจิงให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
จังหวะและครรลองชีวิตของ ศรัณย์ สุวรรณโชติ ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนศิลปะฟ้อนเจิงให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

“การเคลื่อนไหวคือความงาม” ศรัณย์กล่าวพร้อมวาดลายไม้มือตามท่าแม่บท บิดบัวบาน เกี้ยวกล้าว ช้างซ่อนงวง กาสามปีก จังหวะเอี้ยวตัว ย่างก้าวสุขุม ช่างเป็นลีลาที่งดงามสืบทอดจากวิชาฟ้อนเจิงตามฉบับโบราณ

หลังจากฝากตัวเป็นศิษย์และได้รับความรู้บ่มเพาะจากครูบาอาจารย์ ศรัณย์ยังคงเสาะหาความรู้และเดินสายฟ้อนเจิง ทั้งงานในประเทศไทยและต่างประเทศ จนถูกชวนไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างศึกษาระดับปริญญาตรีเขาเดินทางมากมายหลายประเทศ เป็นการเปิดและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้ชีวิต

ด้วยฮักและแบ่งปั๋น

หลังจากจบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศรัณย์ยืนหยัดทำงานสายวัฒนธรรมต่อไป และรับช่วงต่อเป็นครูสอนฟ้อนเจิงที่ โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ที่ก่อตั้งโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมและ อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานมูลนิธิสืบสานล้านนา เพื่อผลึกกำลังอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาล้านนา

นอกจากฟ้อนเจิงและเล่นดนตรี เขายังชอบสะสมของเก่า อาทิ เครื่องรางของขลังล้านนาโบราณ มีด หอก ดาบ ผลงานศิลปะ จนเปิด ‘ปุญญศรัณแกลเลอรี’ และ เปิดสำนักเจิงของตัวเอง ชื่อ ‘บ้านสล่าเจิงล้านนา’ ย่านแม่ริม

“เรามีของดี แต่เราไม่ได้ใช้ ผู้คนเกิดความรู้สึกโหยหาความหลัง เกิดการฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมทุกแขนง เจิงเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ช่วงเวลานี้แหละที่เจิงกลับมามีชีวิตอีกครึ้งหนึ่ง แต่มันก็ไม่ได้ง่าย เพราะมีช่องว่างเรื่องของค่านิยมเรื่องเจิงอยู่ ผู้คนที่เคยฟ้อนเจิง ก็หันไปทำงานอย่างอื่นเป็นหลัก เพราะเจิงอย่างเดียวเลี้ยงตัวไม่ได้ ก็กลายเป็นงานอดิเรก คนที่อยู่ในวงการก็ค่อยๆ ทยอยห่างหาย ต่างไปมีหนทางเป็นของตัวเอง นานๆ ที มีงานก็กลับมารวมตัวกันให้หายคิดถึง” 

การเดินทางเฉกวิถีแห่งเจิงร่วม 20 กว่าปีของศรัณย์ ผ่านบททดสอบ ความผิดหวัง บางครั้งชีวิตก็ไม่ได้เป็นไปอย่างใจนึก ศรัณย์ สุววรรณโชติ ยังคงมุ่งมั่น ตั้งเป้าหมายให้เจิงเลี้ยงชีพและครอบครัวให้ได้ นอกจากจะรับบทเป็นคุณครูสอนฟ้อนเจิงที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาแล้ว เขายังขยับขยายสายงาน งานสอน งานเผยแพร่ การจัดกิจกรรม อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนชีวิตและต่อลมหายใจของศิลปะวัฒนธรรมล้านนาหลากหลายแขนงสืบมา 

“เราพยายามจะกระตุ้นวงการศิลปะเจิงให้มีการขยับขยาย มีการเคลื่อนไหว เป้าหมายง่ายๆ เลยคือการจัดการประกวด การประลอง ในด้านศิลปะความงาม สุนทรียะ เพื่อให้คนที่สนใจเขามีเป้าหมาย หรือเยาวชนที่ฝึกเรียนฟ้อนเจิงมา ก็จะได้มีพื้นที่แสดงออก มาประลองฝีมือกัน เพื่อเป็นประสบการณ์ชีวิต” สล่าเจิงล้านนาทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

จังหวะและครรลองชีวิตของ ศรัณย์ สุวรรณโชติ ผู้อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนศิลปะฟ้อนเจิงให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

บ้านสล่าเจิงล้านนา

ที่ตั้ง : 4/1 หมู่ 3 ตำบลสันโป่ง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180 

โทรศัพท์: 08 6658 5966Facebook : Saran Suwannachot

เชิญชวนผู้สนใจลงสมัครการประกวดฟ้อนเจิงฟ้อนดาบ ณ ข่วงเจิงล้านนา วันเสาร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 (วันและเวลาอาจเปลี่ยนแปลงเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) ณ วัดผาลาด จังหวัดเชียงใหม่สมัครได้ตั้งแต่วันนี้- 31 ธันวาคม 2564 ทางกล่องข้อความ Facbook : Saran Suwannachot (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น) ภายในงานมีกิจกรรมเสวนา เวิร์กชปอถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาล้านนาหลากหลายแขนง

Writer

Avatar

ปภาวิน พุทธวรรณะ

เพิ่งเรียบจบอยู่ในช่วง Gap Year พยายามจะทดลองใช้ชีวิตคราวละวันทีละวันดำเนินชีวิตปกติสามัญธรรมดา แฟนคลับคนเหงาลุง Haruki Murakami

Photographer

Avatar

มงคลชัย ไชยวงค์

ออกเดินทาง เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์ ผ่านวิถีชาติพันธุ์ ผู้หลงรักความเป็นวัฒนธรรมต่างถิ่น