“ถ้าไม่ตรงปก โดนฟาดแน่”

เป็นประโยคทีเล่นทีจริงจาก สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) พูดกับทีมของ The Cloud ในวันที่มีตารางประชุมค่อนข้างแน่น (เหมือนทุกวัน) ของผู้บริหารหนุ่มที่มากความสามารถและโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในวงการประกันภัย

ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยได้เผชิญสถานการณ์ท้าทายหลายเรื่อง เมืองไทยประกันชีวิตจึงทำการตลาดเชิงรุกจนสามารถก้าวขึ้นเป็นบริษัทประกันชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้จากในช่วง 8 เดือนแรกของ พ.ศ.​ 2565 อันดับของเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่และอันดับของเบี้ยประกันของสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพและโรคร้ายแรง ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 2 ของธุรกิจ ในขณะที่ด้านความมั่นคงแข็งแกร่งทางด้านการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2565 มีขนาดของสินทรัพย์รวมกันสูงถึง 6.12 แสนล้านบาท และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนอยู่ที่ 296% ซึ่งสูงกว่าระดับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ภาคธุรกิจกำหนดไว้มากกว่า 2 เท่า นอกจากนั้นยังเป็นบริษัทฯ ที่ได้มีการขยายธุรกิจผ่านการร่วมลงทุนทั้งใน สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา

ความไว้วางใจคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจนี้ การสร้างทีมงานที่ดีจึงเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างมีพลังและสนุกไปได้พร้อมกัน การจัดประชุมและสัมมนาจึงเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่เพียงเพื่อรวมคนเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาทักษะ พอกพูนความรู้ สร้างเครือข่ายของตัวแทนประกันชีวิตที่เหนียวแน่นด้วย ประกันชีวิตกับธุรกิจการฝึกอบรมจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันเสมอ 

มาร่วมมองวิถีและความท้าทายของธุรกิจนี้ รวมทั้งการสนับสนุนธุรกิจไมซ์ (MICE) หรือการจัดประชุม อบรม สัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมองค์กรหรือสมาคม และการจัดงานแสดงสินค้า รวมถึงงานเมกะอีเวนต์และเทศกาลนานาชาติ ได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษต่อไปนี้

สาระ ล่ำซำ ผู้ไม่เชื่อเรื่องการอยู่ขอบสนาม เพราะผู้นำที่ดีต้องเป็นหนึ่งในผู้เล่น

คุณมองความท้าทายของโลกธุรกิจในตอนนี้อย่างไร

ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจควรดูว่า ธุรกิจหลักของตัวเองคืออะไร ทำอย่างไรให้ธุรกิจของเราปรับตัวกับตลาดกลุ่มเป้าหมาย ผมไม่ได้คิดตอบคำถามนี้ได้สมบูรณ์เพียงครั้งเดียว แต่อาศัยการปรับตัวเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่องและยาวมากพอ สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือ เราจะเติมเต็มช่องโหว่ของธุรกิจหลักเราได้อย่างไร ปิดช่องโหว่ของธุรกิจเราให้ดีก่อน หากเราคนอื่นทำได้ดีแล้วเราทำตามแบบมูนช็อตเลย ท้ายสุดแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นต้องคอยดูธุรกิจของเรายังเติบโตได้หรือไม่ ผลลัพธ์เชิงตัวเลขเป็นไปตามเป้าหมายที่เราวางไว้หรือไม่ และสิ่งใหม่นั้นจะช่วยให้ธุรกิจหลักมีความคล่องตัวมากขึ้นหรือไม่

ยังกังวลเรื่องโควิด-19 หรือเปล่า

ถึงแม้ว่าตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เริ่มคุ้นชินและปรับตัวได้ประมาณหนึ่ง แต่ยังคงต้องระวัง เพราะตอนนี้เราเริ่มกลับมาจัดอีเวนต์มากขึ้น เพื่อเร่งกระตุ้นให้ตัวแทนประกันชีวิตทำงานมียอดขายต่อเนื่อง ไม่ใช่ช่วงสิ้นไตรมาสหรือสิ้นปีแล้วค่อยมาเร่งยอดขาย โดยการจัดอีเวนต์ที่กระตุ้นยอดขายได้ดี คือ การจัดโปรแกรมส่งเสริมการขายให้ไปท่องเที่ยวและสัมมนา เพราะนอกจากการได้เจอเพื่อนร่วมอาชีพไปเที่ยวด้วยกัน ยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนพูดคุยแชร์ประสบการณ์ ปัญหา หรือความท้าทายที่เคยเจอ แบบสบาย ๆ ไม่เครียด เพราะได้ท่องเที่ยวด้วย ซึ่งดีกว่าการให้มานั่งฟังบรรยาย ฟังทฤษฎีเพียงอย่างเดียว

หน้าตาของประกันชีวิตตอนนี้เปลี่ยนไปจากหลายปีก่อนอย่างไร

แบบประกันชีวิตที่ออกมาขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบประกันสุขภาพที่ออกมาในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา เราพัฒนาแบบประกันโดยยึดแนวคิดหลักแบบ Outside In มุ่งคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าที่เฉพาะตัวมากขึ้น พิจารณาไปถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้ารวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจของเราอย่างโรงพยาบาล ส่วนไหนที่เป็นใช้กันทั่วไปเราสามารถปรับให้มันง่ายขึ้นได้โดยใช้ระบบเข้ามาช่วย ในขณะที่ส่วนไหนที่ซับซ้อนก็ต้องใช้คนในการช่วยอธิบาย เพราะพื้นฐานของธุรกิจประกันภัยคือความเชื่อใจระหว่างคนซื้อกับคนขาย

ยกตัวอย่างเช่น แต่ก่อนซื้อประกันสุขภาพบางแบบที่ครอบคลุมถึงการคลอดบุตร แต่อย่างผมซื้อไปคงไม่ได้ใช้ เลยพัฒนาแบบประกันออกมาเป็นส่วนที่ซื้อเพิ่มเฉพาะที่ต้องการได้ หรืออย่างความคุ้มครองการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ลูกค้าบางคนอยากได้ แต่บางคนก็ไม่อยากได้เพิ่มเพราะมีสวัสดิการของบริษัทคุ้มครองอยู่แล้ว ก็เลยพัฒนาให้ซื้อแบบ Top Up เพิ่มได้

สาระ ล่ำซำ ผู้ไม่เชื่อเรื่องการอยู่ขอบสนาม เพราะผู้นำที่ดีต้องเป็นหนึ่งในผู้เล่น

การประชุมและสัมมนาเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเมืองไทยประกันชีวิตมากแค่ไหน

ธุรกิจประกันชีวิตเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนโดยตรง ไม่ได้พูดแค่บริษัทเรานะ แต่ยังรวมถึงทั้งภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตที่มีตัวแทนประกันชีวิตทั้งหมด 250,000 คน และนายหน้าประกันชีวิตที่มีมากกว่า 100,000 คน เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความเชื่อใจที่ลูกค้ามีให้กับคนขาย ยิ่งในปัจจุบันตลาดประกันภัยลูกค้ามีความต้องการเฉพาะตัวหรือ Personalization มากขึ้นและซับซ้อนมากขึ้น การสร้างความเชื่อใจโดยการพบกันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

ขายประกันผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเดียวไม่ได้หรือ

ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เรามีการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้เยอะมาก ใช้สำหรับการประชุมออนไลน์ แต่อาจยังไม่เหมาะกับการอบรมออนไลน์ที่ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่เข้ามาอบรมด้วย เพราะการสอนที่เกี่ยวกับศาสตร์การขายของประกันและเรื่องอื่น ๆ จำเป็นต้องเห็นหน้า เห็นท่าทาง มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสอนกับคนเรียน เพราะมักเกี่ยวข้องกับ การให้คำปรึกษาการเงินกับลูกค้าซึ่งรวมถึงการใช้คำพูด บุคลิก และการแต่งกายด้วย

สำหรับการประชุมแบบเจอหน้าหรือแบบออนไลน์ เรามีการแบ่งโซนคนอบรมในแต่ละภูมิภาค เช่น ศูนย์กลางของโซนภาคเหนือจะเป็นที่จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์กลางของโซนภาคอีสานจะเป็นที่จังหวัดขอนแก่นและนครราชสีมา เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นว่า ไม่ต้องรอให้ทุกคนในแต่ละภูมิภาคเดินทางมาประชุมพร้อมกันที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพ นอกจากนี้ยังสามารถจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันให้แต่ละกลุ่มย่อย ทั้งที่บริษัทจัดขึ้นมาเอง และ ตัวแทนต้องการจะจัดกิจกรรมขึ้น

ผมมองว่าการอบรมอย่างเดียวที่อยู่ในห้องประชุมไม่ได้ดึงดูดให้คนอยากเข้าอบรม การจัดกิจกรรมที่ให้คนเข้าอบรมมีส่วนร่วมกันจึงดีกว่า ที่มากกว่านั้นหากสถานที่อบรมมีบรรยากาศที่ใช่ มีทิวทัศน์และการท่องเที่ยวด้วย จะทำให้ผลที่ได้ดีมากขึ้นไปอีก เพราะนอกจากคนที่เข้าอบรมได้องค์ความรู้จากคนสอนแล้วยังได้ความเป็นทีมเวิร์ก การช่วยเหลือระหว่างกัน ซึ่งธุรกิจของเราต้องมีการ Upskill-Reskill คนขายและกระตุ้นให้ตัวแทนประกันชีวิตจัดประชุมทีมงานของเขาเองกันเป็นทุกเดือนหรือทุกสัปดาห์  

บรรยากาศที่ใช่ คืออะไร

เป็นบรรยากาศของการสร้างพลังเป็นกลุ่ม ได้อยู่ด้วยกัน เรียนด้วยกัน สนุกด้วยกัน เป็นที่ที่ไม่เชิงเป็นห้องเรียน แต่มีกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การร้องเพลง เป็นตัวช่วยให้รู้สึกสบายใจ สร้างความเป็นทีมช่วยทำให้คนเข้าหากัน หลักการนี้ยังคงยึดใช้โดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางตัวแทนประกันชีวิตของบริษัทฯ ที่มีคนหลากหลายสาขาอาชีพอยู่ร่วมกัน มีช่องว่างระหว่างวัยมาก เพราะอาชีพนี้ทำได้ตลอด ไม่มีการเกษียณ จึงมองว่าบรรยากาศที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานภาคอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ แต่การเสริมสร้างบรรยากาศที่ใช่ตามที่กล่าวไปข้างต้นต่างหากที่สามารถช่วยทำให้ตัวแทนประกันชีวิตได้ทั้งความรู้และความเป็นทีมเวิร์ก

คุณสาระชอบไปจัดประชุมที่ไหนบ้าง

ที่ไหนก็ได้ครับขึ้นอยู่กับว่าเป็นงานอะไร เพราะถ้าจัดประชุมที่ใดที่หนึ่งบ่อยครั้งก็รู้สึกเบื่อ โดยถ้าเป็นงานสัมมนาก็อาจจะจัดที่ไม่ห่างจากตัวกรุงเทพ ฯ มากนัก เช่น หัวหิน พัทยา เขาใหญ่ หรืออาจเป็นเมืองรองบ้างอย่างปราจีนบุรี เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนและระยะเวลาในการเดินทาง แต่ถ้าเป็นทริปท่องเที่ยวเพื่อมอบเป็นรางวัล ส่วนใหญ่มักจัดในที่ไกล ๆ เลย และเป็นที่ที่คนอยากไปด้วยนะ เช่น หลีเป๊ะ หรืออาจทำเป็นทริปท่องเที่ยว Unseen อย่างที่พูดถึงกันมากในแอปฯ TikTok หรือเป็นทริปสายมู เราก็จัดพาทริปไหว้พญานาค

ผมว่าธุรกิจประชุมสัมมนาจะต้องจัดตาม Segment ที่เหมาะสมกับผู้เข้าร่วม เรื่องต้นทุน ระยะทางในการเดินทาง หรืออะไรที่ Unseen มีความแปลกใหม่ที่ช่วยกระตุ้นแรงจูงใจของคนทำงาน นอกจากนั้นเรายังสนใจเรื่องความยั่งยืนด้วย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการหาข้อมูลว่าสถานที่แบบใดคือต้นแบบเรื่องความยั่งยืนและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง

สาระ ล่ำซำ ผู้ไม่เชื่อเรื่องการอยู่ขอบสนาม เพราะผู้นำที่ดีต้องเป็นหนึ่งในผู้เล่น

แล้วศูนย์อบรมของเมืองไทยประกันชีวิตเองมีมากน้อยแค่ไหน

เราทำมาหลายที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาค เช่น ขอนแก่น หาดใหญ่ และเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่นั้นถือเป็นจุดใหญ่ที่มีพนักงานรวมอยู่มากกว่า 3,000 คน เมื่อมีการจัดงานอีเวนต์จะจัดทั้งเชียงใหม่และเมืองรอบ ๆ อย่างแม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ หรือน่าน นอกจากนี้ที่ยังเป็นศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ กรณีที่มีเหตุให้ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ปกติ ศูนย์บริการที่เชียงใหม่ก็จะทำงานได้เลยโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายคน ยกเว้นเรื่องทางเทคนิคอื่น ๆ ที่ค่อยว่ากันหน้างาน

ล่าสุดเรามีการตั้งศูนย์อบรมที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้บนพื้นที่ 48 ไร่ มีคนไปใช้งานทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นโปรแกรมอบรมที่ใช้ระยะเวลาสั้น 1 – 2 วัน

คิดอย่างไรกับมาตรการนำค่าใช้จ่ายอบรมสัมมนามาลดหย่อนภาษีได้ 1.5 – 2 เท่า พอหรือไม่

ผมชอบมาตรการนี้นะ และผมมองว่าวงการธุรกิจอื่นเขาก็ต้องการ เพราะประเทศไทย นอกจากมีความโดดเด่นนอกจากเรื่องการส่งออกแล้วยังโดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวด้วย ปัจจุบันนี้การทำงานสามารถทำทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ดังนั้นถ้านำค่าใช้จ่ายจัดประชุมสัมมนาเพื่อลดหย่อนภาษีได้ด้วย จะชอบมากเลย เพราะกระตุ้นให้คนเกิดการเรียนรู้ Upskill-Reskill มากขึ้น และการจัดงานอบรมส่วนใหญ่มักจัดขึ้นภายในประเทศด้วย ทำให้รู้สึกว่าอยากจัดงานอบรมสัมมนานี้บ่อยมากขึ้นและกระจายลงแต่ละพื้นที่มากขึ้น

ทำอย่างไรให้ธุรกิจไมซ์หรือการอบรมสัมมนาเติบโตอย่างทั่วถึง

ผมว่าแต่ละเมืองต้องมีลักษณะวิถีของแต่ละเมืองที่โดดเด่นและน่าดึงดูด มีเสน่ห์ที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวหรือคนต่างพื้นที่อยากมาสักครั้ง เพื่อให้ขายได้ด้วยตัวมันเอง ไม่เช่นนั้นกลายเป็นว่าเราต้องไปสร้างคอนเทนต์เพื่อจูงใจขึ้นมา ซึ่งไม่ยั่งยืนเพราะเดี๋ยวคนก็เบื่อ สถานที่ท่องเที่ยวหรือวิถีคนเมืองที่น่าสนใจมีผลต่อการพิจารณาการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์นอกสถานที่

อีกเรื่องที่ผมมองว่าสำคัญมาก คือ การสื่อสาร ต้องมองกลับมาว่าเราทำได้ดีหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีโลกของอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ที่ทำให้ผู้บริโภคสื่อสารระหว่างกันได้ง่ายมากกว่าแต่ก่อน หากทางภาครัฐมีการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวได้ดี ผมว่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกเป็นอย่างมาก ที่สำคัญต้องทำให้ตรงปกด้วยนะ (หัวเราะ)

สาระ ล่ำซำ ผู้ไม่เชื่อเรื่องการอยู่ขอบสนาม เพราะผู้นำที่ดีต้องเป็นหนึ่งในผู้เล่น

แล้วการทำงานของเมืองไทยประกันชีวิตตรงปกตลอดหรือเปล่า

ต้องทำให้ตรงปกให้หมด เพราะถ้าไม่ตรงปก โดนฟาดแน่ (หัวเราะ)

โลกของการทำงานย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้บ้าง ถ้าเป็นเรื่องที่มาจากคนของเราเอง ก็จะต้องมีการจัดอบรม พัฒนาเพิ่มพูนทักษะต่อไป

คุณให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มากแค่ไหน

เรื่อง ESG เราเริ่มทำกันมาสักพักแล้ว โดยแบ่งมองเป็น 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา คือ ส่วนภายในองค์กรของเรา ส่วนระหว่างองค์กรกับพันธมิตร และส่วนลูกค้าของพันธมิตรที่เป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ตอนนี้ทำกันอยู่มี 2 ด้าน คือ การพัฒนาแบบประกันที่ตอบโจทย์ในมุม ESG อย่างสังคมผู้สูงวัย หรือ การสนับสนุนความเสมอภาค เรื่องการเข้าถึงเรื่องการชำระเบี้ย เรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่องคนพิการและกลุ่มคนเปราะบาง

อีกด้านคือการลงทุน เมื่อรับเบี้ยประกันจากลูกค้ามาแล้วก็ต้องเอาไปลงทุนต่อ เกิดเป็นคำถามต่อไปว่าจะไปลงทุนกับใคร ถ้าให้ไปลงทุนกับกองทุนสีเขียวก็ต้องพิจารณาว่ามากพอ หรือเราสามารถลงทุนกองทุนดังกล่าวได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ เพราะมันมีความเสี่ยงและเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับทุกคน หรือไม่องค์กรที่เราลงทุนนั้นมีแผนเรื่องความยั่งยืนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมหรือไม่ ซึ่งเราก็ต้องพิจารณา

ตอนนี้ในส่วนภายในองค์กร ได้มีการออกนโยบายให้บุคลากรของบริษัท ฯ ทุกระดับ รวมประมาณเกือบ 20,000 คน มีการแยกขยะ ทิ้งให้ถูกต้อง แยกขยะพลาสติก อาหาร ขยะปนเปื้อนออกจากกัน เริ่มใส่ใจกับเรื่องที่เล็กน้อยใกล้ตัวก่อนเพราะทุกคนเกี่ยวข้องมีส่วนกันทั้งหมด จากนั้นค่อยยกระดับให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเรามีการศึกษาต้นแบบในหลาย ๆ องค์กร เช่น ธนาคารกสิกรไทย ที่เป็นผู้ถือหุ้นของเรา เป็นต้น

สาระ ล่ำซำ ผู้ไม่เชื่อเรื่องการอยู่ขอบสนาม เพราะผู้นำที่ดีต้องเป็นหนึ่งในผู้เล่น

Questions answered by CEO of Muangthai Life Assurance PCL

1. ชอบดื่มชาหรือกาแฟ

ชอบดื่มกาแฟดำครับ

2. คุณสาระมีเวลานอนวันละกี่ชั่วโมง

มีเวลานอนประมาณ 5 ชั่วโมง ตอนนี้อยู่ในช่วงปรับตัวให้มีเวลานอนมากกว่านี้ เพราะได้ยินมาว่าอายุมากขึ้นควรนอนให้มากขึ้น

3. ได้อะไรจากลงแข่งไตรกีฬา

ตอนลงแข่งไตรกีฬา ยังตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทำไปเพื่ออะไร แต่พอได้ถึงเส้นชัยก็รู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกชอบกีฬาประเภทนี้

4. คิดว่าจะแข่งไตรกีฬาไปถึงเมื่อไหร่

ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะตอนนี้ก็ยังลงแข่งไตรกีฬาอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่ระยะทางเริ่มสั้นลง (หัวเราะ)

5. ประกันชีวิตเป็นเรื่องจัดการความเสี่ยง คุณสาระมีทุกอย่างแบบนี้แล้ว คิดว่าชีวิตยังเสี่ยงอยู่ไหม 

แน่นอนครับ ตอนนี้ชีวิตผมยังมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ และมักมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในการประกอบธุรกิจอย่างกฎหมายใหม่ ๆ หรือการเกิดดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีในโลกใหม่ ทุกวันนี้ผมว่าทุกคนไม่ว่าคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นเก่ากำลังเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนอยู่ครับ

6. กัปตันทีมของเมืองไทยประกันชีวิตอยู่ส่วนไหนของสนาม ลงแข่งด้วยหรือไม่

ก่อนจะเป็นกัปตันทีม เราเคยเป็นผู้เล่นในสนามมาก่อน ดังนั้นถ้าอยากให้ผู้เล่นในสนามเล่นได้ดี เราต้องลงมาลุยกับผู้เล่นในสนาม คอยให้อำนาจการตัดสินใจกับผู้เล่นบ้าง บางเรื่องเป็นเรื่องใหม่ก็ต้องตัดสินใจร่วมกัน ถ้ากองหน้าของเราบุกเก่ง เราก็สนับสนุนเขาให้ประสบความสำเร็จ ผมว่าท้ายสุดโดยสรุปแล้วจะกระจายอำนาจหรือรวบอำนาจไว้กับกัปตันทีมอย่างตัวผมเองมันเกิดขึ้นได้ทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่เราทำงานด้วยว่าเขาเป็นคนอย่างไร มีความสามารถและฝีมือมากน้อยเพียงใด

‘ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ’ โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิรรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ (TCEB)

หลังจากทั่วโลกฝ่ามรสุมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเกือบ 3 ปี ผู้คนล้วนต่างโหยหาการพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นงานสังสรรค์ งานภาควิชาการหรือธุรกิจ วันนี้ ประเทศไทยพร้อมสำหรับการกลับมาจัดอีเวนต์ทั้งอินดอร์และเอาต์ดอร์ ตามห้องประชุม ห้องสัมมนาและพื้นที่ธรรมชาติทั่วประเทศ โดยมี TCEB หน่วยงานรัฐที่มีพันธกิจในการผลักดัน ส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทย พร้อมกระตุ้นให้เกิดการจัดงานไมซ์ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไปด้วยกัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MICE และ TCEB ที่ : www.businesseventsthailand.com

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน