ติดตามเพจสะใภ้ต่างชาติมาก็ตั้งเยอะ ดูคอนเทนต์คนไทยในต่างแดนมาก็ตั้งมาก 

แต่ยังไม่เคยเจอใครที่เป็นเหมือน บรีม-ศิริพร มัจฉิม เจ้าของเพจ ‘สะใภ้ไชน่า’ สักที

ไม่จำเป็นต้องขายชีวิตสวยหรูหรือความสำเร็จอันยากจะเอื้อมถึง เธอกลับเลือกขายเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ผสมผสานความฮาแบบไร้สคริปต์ (ที่เจ้าตัวขอแย้งว่า ตัวเองเป็นคนจริงจังในชีวิต) พร้อมสอดแทรกสาระความรู้ที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับประเทศจีนมาก่อน ตั้งแต่เรื่องสังคม วัฒนธรรม ยันการเมืองในแบบฉบับย่อยง่าย

ฤกษ์ดี เรามีโอกาสได้พูดคุยกับบรีม จึงอยากอาสาพาเพื่อนนักอ่านไปส่องว่าซ้อจากแดนมังกรคนนี้ ผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมา จนมีผู้ติดตามมากถึง 9 แสนกว่าคนใน TikTok 

นี่ยังไม่นับรวมแพลตฟอร์มอื่น ๆ

‘สะใภ้ไชน่า’ TikToker ที่มัดใจคนดูด้วยเรื่องจีน ๆ ฉบับย่อยง่าย จนมีผู้ติดตามเหยียบล้าน

จับพลัดจับผลูเรียนจีน

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน บรีมเป็นเพียงเด็กสาวชาวเหนือจากจังหวัดพิจิตรคนหนึ่ง เติบโตมาอย่างเรียบง่ายท่ามกลางความรักและความอบอุ่นของพ่อ แม่ และน้องอีก 2 คน

เมื่อก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนพิจิตรพิทยาคม เธอนิยามตัวเองว่าเป็นเด็กหน้าห้อง งานแข่งขันเชิงวิชาการน้อยใหญ่จึงเป็นเหมือนของคู่กันกับตัวเธอในตอนนั้น

“เรารู้สึกว่าการเรียนคือการแข่งขันตลอดเวลา การเรียนก็เหมือนกับการเล่นเกม พอเราได้ที่หนึ่งตลอด พ่อแม่มีความสุข เราก็สนุกและมีความสุขด้วยเหมือนกัน”

ด้วยความที่บรีมเป็นเด็กเรียนดี เธอจึงได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนห้อง SMAT (ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม) ต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 

“ตอนนั้นโรงเรียนบังคับให้เลือกเรียนภาษาที่ 3 มีภาษาจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เพื่อนเราไปลงเรียนญี่ปุ่นกันหมด แล้วฝรั่งเศสคนก็ลงเต็มหมดเหมือนกัน เราเลยเรียนภาษาจีนก็ได้

“จำได้เลยว่าทั้งห้องเรามีอยู่ 3 คนที่ลงเรียนจีน คือเป็นภาษาที่ไม่ค่อยมีคนเลือก เพราะสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครรู้อะไรเกี่ยวกับประเทศจีนหรือภาษาจีนเลย”

ทว่าเมื่อลองเรียนจริง เธอกลับพบความงดงามอย่างคาดไม่ถึง ด้วยตัวอักษรจีนเป็นตัวอักษรภาพ กอปรกับเธอชื่นชอบการวาดรูปอยู่เป็นทุนเดิม ทำให้ภาษาและวัฒนธรรมจีนแทรกซึมเข้าไปอยู่ในใจเธอได้ไม่ยากนัก

อย่างน้อย แดนมังกรก็ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลเกินตัวบรีมอีกต่อไป

‘สะใภ้ไชน่า’ TikToker ที่มัดใจคนดูด้วยเรื่องจีน ๆ ฉบับย่อยง่าย จนมีผู้ติดตามเหยียบล้าน

จากร้ายกลายเป็นรัก

ก่อนชีวิตของบรีมจะพลิกผันในช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนการศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษา

“พ่อกับแม่เราแยกทางกัน หลังจากนั้นแม่ก็ว่างงาน จากที่เราเคยมีทุกอย่าง มีแม่บ้าน มีพี่เลี้ยง กลายเป็นว่าเราไม่มีอะไรเลย 

“จากที่ตั้งใจว่าจะเรียนเภสัช เรียนแพทย์ เราเลยไปเข้าร่วมโครงการขอทุนเรียนดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แทน แล้วเลือกคณะรัฐศาสตร์ เอกการเมืองและการปกครอง เพราะตอนนั้นอินเรื่องการเมืองช่วงรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ด้วย เป็นช่วงที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ๆ”

ใครจะรู้ว่าการตัดสินใจเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ในครั้งนั้น ทำให้เธอได้พบกับหนุ่มชาวจีนที่มาเรียนภาษาไทยอยู่ที่เดียวกัน ก่อนความสัมพันธ์แบบคนรู้จักจะพัฒนาเป็นคนรัก

“มีหลายเหตุการณ์ให้เราได้เจอกันบ่อย ๆ เรารับบทเป็นล่ามให้เขา อย่างเวลาเขาจะไปเที่ยวก็มาชวนว่า ไปด้วยกันไหม เราก็ติดสอยห้อยตามไปเที่ยวกับเพื่อนด้วย”

เมื่อความรักสุขงอม จึงได้เวลาของการแต่งงานและลงหลักปักฐานอยู่ที่เมืองจีน

ณ ดินแดนมังกรแห่งนี้เอง ที่เพจสะใภ้ไชน่าถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

‘สะใภ้ไชน่า’ TikToker ที่มัดใจคนดูด้วยเรื่องจีน ๆ ฉบับย่อยง่าย จนมีผู้ติดตามเหยียบล้าน

สะใภ้ไชน่า

“ตอนนั้นเรามาบ้านสามีครั้งแรก แล้วอยู่ยาวเดือนหนึ่งโดยที่ไม่ได้ทำงาน เลยคิดว่าจะต้องเหงามากแน่ ๆ เพราะปกติเป็นคนพูดเก่ง เพื่อนก็เยอะ”

ซ้อจีนหน้าใหม่จึงเริ่มเปิดเพจ Facebook สะใภ้ไชน่าตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2560 – 2561 เป็นต้นมา

แล้วชื่อสะใภ้ไชน่าได้มายังไง – เราโยนคำถาม

“เราไลฟ์คุยกับลูกเพจแล้วช่วยกันตั้ง ตอนนั้นยังไม่มีสะใภ้อะไรเลย ไม่มีสะใภ้จีน สะใภ้เกาหลี เราเลยตั้งเป็นชื่อสะใภ้ แล้วต่อด้วยไชน่า ให้มันคล้องจองกันด้วย” 

คอนเทนต์ในช่วงแรกเริ่มของเพจเน้นไปที่การนำเสนอไลฟ์สไตล์ ให้ลูกเพจได้เห็นมุมมองการใช้ชีวิตของเธอในฐานะคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างแดน

‘สะใภ้ไชน่า’ TikToker ที่มัดใจคนดูด้วยเรื่องจีน ๆ ฉบับย่อยง่าย จนมีผู้ติดตามเหยียบล้าน

สำหรับบรีมแล้ว ‘เพจ’ จึงเป็นเหมือน ‘บันทึกความทรงจำและเรื่องราวในชีวิตประจำวัน’ 

ถึงแม้ในตอนนั้นยอดผู้ติดตามจะอยู่ที่ประมาณ 500 – 600 คน แต่เธอก็ไม่เคยย่อท้อ เพราะถือคติว่า ถ้าทำอะไรแล้วเธอจะทำมันให้ออกมาดีที่สุด

ก่อนที่ระยะหลังเธอเริ่มหันความสนใจมาที่การแชร์ รวมถึงนำข่าวคราวความเคลื่อนไหวในจีน ทั้งเรื่องสังคมและการเมือง มาแปลให้แฟน ๆ ได้ติดตามกัน

จนมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเพจสะใภ้ไชน่ากลายเป็นสนามถกเถียงอันดุเดือดระหว่างลูกเพจด้วยกันเอง แทนที่จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างสร้างสรรค์อย่างที่เธอตั้งใจไว้

“เรื่องมันเกิดจากที่เราไปแปลข่าวซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงในจีน คือ ตอนนั้นจีนบริจาคหน้ากากอนามัยให้ไทย ช่วงที่เราขาดแคลนหน้ากาก แต่ในขณะเดียวกันไทยก็มีข่าวว่าส่งออกหน้ากากอนามัยให้อเมริกา 

“ทีนี้เลยเกิดความเข้าใจผิดขึ้น เพราะดันเป็นช่วงไทม์ไลน์ที่ต่อเนื่องกันพอดี เราก็แปลคอนเมนต์ชาวเน็ตจีนว่าเขาคิดยังไง มีคนมาคอมเมนต์ว่า อย่างนี้ไม่น่าช่วยแล้ว ครั้งหน้าฉันจะไม่ไปประเทศไทยแล้ว”

ซึ่งเจตนาที่แท้จริงของบรีม คือการเป็นสื่อกลางส่งต่อข่าวที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นให้เข้าใจเกี่ยวกับประเทศจีนมากขึ้นเท่านั้นเอง

ทว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอตัดสินใจห่างหายจากการทำเพจไประยะหนึ่ง เพราะรู้สึกเหมือนตนส่งต่อพลังงานลบให้แก่ลูกเพจโดยไม่ได้ตั้งใจ

Nihao Naohi

1 ปีให้หลัง บรีมตัดสินใจกลับมาเดินหน้าทำเพจอีกครั้ง และขยับขยายพื้นที่คอนเทนต์ไปยัง YouTube เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเป็นช่องทางในการทำรายได้เสริม แต่ยังคงความเป็นบันทึกเรื่องราวชีวิตของเธอในประเทศจีนไว้ดังเดิม

ก่อนจะเปลี่ยนมาอัปเดตคอนเทนต์ถี่ขึ้นใน TikTok อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้แทน 

“พอเรามีลูก สมาธิมันสั้น โฟกัสอะไรนาน ๆ ไม่ได้ ตอนคลอดลูกก็หายไปอีก 2 – 3 เดือน เราเป็นซึมเศร้าหลังคลอดด้วย ทีนี้เลยลองมาเล่น TikTok แล้วลงคลิปไป 15 วินาที 1 นาทีบ้าง”

ด้วยข้อจำกัดของเวลาว่างที่ลดน้อยลง จากการที่เธอสวมหมวกเจ้าของธุรกิจบราปีกนกอีกใบหนึ่ง การตัดสินใจในครั้งนี้นับว่าถูกทีเดียว

‘สะใภ้ไชน่า’ TikToker ที่มัดใจคนดูด้วยเรื่องจีน ๆ ฉบับย่อยง่าย จนมีผู้ติดตามเหยียบล้าน
‘สะใภ้ไชน่า’ TikToker ที่มัดใจคนดูด้วยเรื่องจีน ๆ ฉบับย่อยง่าย จนมีผู้ติดตามเหยียบล้าน

การกลับมาครั้งนี้ของบรีม ยังมาพร้อมกับคอนเทนต์ย่อยง่ายแนวไลฟ์สไตล์คล้ายกับตอนเธอเริ่มทำเพจในช่วงแรก เพราะเธอตระหนักได้ถึงเรื่อง Hate Speech และคิดว่าอยากทำคอนเทนต์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

“เราอยากแชร์เรื่องราวในแบบเบาสมอง ให้คนเข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจคนจีน โดยที่เราไม่ได้อ้างทฤษฎีเหมือนตอนทำเรื่องการเมือง เพราะพอเรารู้ มันมีคนรู้ลึกกว่านั้นอีก รีเสิร์ชหนักมาก แล้วเราก็ปวดหัวกับสิ่งพวกนี้ เลยไม่อยากเจาะลึกอะไรแล้ว 

“เพราะบางคนเขาเลิกงานมา เขาไม่ได้อยากรู้อะไรลึก ๆ เขาแค่ต้องการความสบายใจ ต้องการอะไรที่มันสนุกสนานบ้าง”

‘สะใภ้ไชน่า’ TikToker ที่มัดใจคนดูด้วยเรื่องจีน ๆ ฉบับย่อยง่าย จนมีผู้ติดตามเหยียบล้าน

เราอดสงสัยไม่ได้ว่า คอนเทนต์ไหนกันที่ทำให้คนหันมาสนใจสะใภ้ไชน่ามากขึ้น

“คลิปแรกที่ถ่ายแฟนเรา ตอนนั้นเขาเดินไปซื้อขนมปังให้ เราก็เลยถ่ายนางเดิน แล้วเป็นช่วงเพลง I JUST WANNA PEN FAN YOU DAI BOR ? กำลังแมส เราก็ใส่เพลงนั้นไป พร้อมกับข้อความว่า ‘ข้อดีของการมีแฟนคนจีนมีอะไรบ้าง’ ก็ไล่เป็นข้อ ๆ หนึ่ง มีความรับผิดชอบสูง สอง มีความเป็นผู้นำ สาม ขยันทำงาน วางแผนการเงินดี สี่ สายเปย์ ห้า ผิวดีมาก 

“คนก็เออใช่ จริงด้วย อยากมีแฟนเป็นคนจีน” บรีมหัวเราะ

“แล้วมีคนถามว่ามีข้อเสียไหม เราก็ทำอีกคลิปหนึ่งเป็นข้อเสียของการมีแฟนคนจีน”

‘สะใภ้ไชน่า’ TikToker ที่มัดใจคนดูด้วยเรื่องจีน ๆ ฉบับย่อยง่าย จนมีผู้ติดตามเหยียบล้าน

หลังจากลงคลิปนั้น คอนเทนต์น้อยใหญ่ต่างทยอยเกิดขึ้นมากมายในช่องของบรีม เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาสำรวจแดนมังกรไปด้วยกัน 

ในขณะเดียวกัน การอาศัยอยู่ในต่างประเทศและทำคอนเทนต์เปิดโลกของสะใภ้ไชน่าคนนี้ อย่างเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม ที่ทำให้เธอต้องปรับตัวไม่มากก็น้อยทีเดียว เช่น ภาษาท้องถิ่นที่เธอไม่คุ้นชินนัก ทำให้ต้องใช้ภาษาท่าเข้าช่วยในระยะแรก อาหารจีนที่รสชาติไม่ได้จัดจ้านเท่าไทย หรือแม้แต่การบริการของพนักงานจีนที่แทบจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ามากนัก เพราะมีเทคโนโลยีสะดวกครบครัน ตั้งแต่ QR Code สแกนเมนูยันหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร

ความธรรมดาแสนพิเศษ

หากถามว่าเสน่ห์ความเป็นสะใภ้ไชน่าคืออะไร บรีมตอบเราสั้น ๆ แค่ว่า – ไม่มี

“เราไม่คิดว่าเพจเรามีจุดเด่นอะไรเลย เราเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ใช่คนเก่งหรือโดดเด่นอะไร นี่คือความธรรมดาที่ทุกคนก็เป็นบรีมได้เหมือนกัน อย่างน้อยเป้าหมายในการทำคลิปของเรามี 2 เรื่อง คือ ถ้าคุณไม่ได้ความบันเทิง คุณก็จะได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยกลับไป

“คนที่ติดตามเรา เขาจะชอบพูดว่าคุณบรีมเก่งจัง ไม่เหมือนสะใภ้คนอื่นเลย แต่บางคนปลูกผักอย่างสวย ทำอาหารอย่างเก่ง ซึ่งเราไม่มีคุณสมบัติอะไรแบบนั้น”

‘สะใภ้ไชน่า’ TikToker ที่มัดใจคนดูด้วยเรื่องจีน ๆ ฉบับย่อยง่าย จนมีผู้ติดตามเหยียบล้าน
สะใภ้ไชน่า : บันทึกความธรรมดาแสนพิเศษของสะใภ้จีน ผู้อยากเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พร้อมส่งต่อเกร็ดความรู้ให้กับผู้ชม

จุดขายของสะใภ้ไชน่าจึงไม่ใช่คอนเทนต์ที่โดดเด่นพิเศษกว่าใคร หรือโชว์เรื่องราวความสำเร็จในชีวิต แต่เป็นความตลกธรรมชาติของบรีม รวมถึงความอบอุ่นเป็นกันเองเหมือนเพื่อนที่มาตั้งวงสนทนาพาทีกัน

ถ้ายังไม่เห็นภาพ เราขอเสิร์ฟตัวอย่างคอนเทนต์ที่เธอทำไว้เป็นน้ำจิ้มให้นักอ่านได้ลิ้มลอง

1. อาหาร ใครติดภาพจำว่าอาหารจีนต้องเผ็ดกินแล้วลิ้นชา เหมือนทานหม่าล่า คลิปนี้บรีมมาไขความลับให้ได้รู้กันว่า อาหารจีนไม่ได้เผ็ดไปทั้งหมด อย่างมณฑลเจ้อเจียงที่เธออาศัยอยู่นั้น อาหารเรียกได้ว่าจืดกว่าที่เธอคิดไว้มาก ขนาดปลานึ่งยังใส่เพียงขิงเท่านั้นเอง

สะใภ้ไชน่า : บันทึกความธรรมดาแสนพิเศษของสะใภ้จีน ผู้อยากเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พร้อมส่งต่อเกร็ดความรู้ให้กับผู้ชม

อาหารท้องถิ่นเจ้อเจียง ประเทศจีน

2. สถานที่ท่องเที่ยว บรีมอาสาพาทัวร์พระราชวังต้องห้ามจำลอง สอดแทรกเกร็ดความรู้ที่ทำเอาเราถึงกับตกใจ เมื่อได้รู้ว่านางสนมสมัยก่อน หากไม่เป็นที่โปรดปรานของฮ่องเต้ จะถูกพาไปทำแท้ง บางทีถึงขั้นใช้วิธีการขูดมดลูกเลยทีเดียว

สะใภ้ไชน่า : บันทึกความธรรมดาแสนพิเศษของสะใภ้จีน ผู้อยากเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พร้อมส่งต่อเกร็ดความรู้ให้กับผู้ชม

พระราชวังจีนที่คนไม่ค่อยได้เห็น

3. มุมมองเรื่องความหลากหลายทางเพศ แม้ว่าประเด็น LGBTQ+ เริ่มเปิดกว้างมากขึ้นในเมืองใหญ่ ๆ ของจีน เช่น เซินเจิ้น เซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะในสายตาคนรุ่นใหม่ แต่ในแถบชนบทยังปิดกั้นอยู่พอสมควร แม้แต่ในภาษายังมีการใช้คำว่า 人妖 (เหรินเยา) แปลว่า ปีศาจที่เป็นคน เพื่อเรียกคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ รวมถึงรัฐบาลก็ยังไม่สนับสนุนผู้ชายหน้าหวานแต่งกายแบบหญิง

อย่างไรก็ดี บรีมเข้าใจว่าสาเหตุอาจเกิดจากความที่จีนเป็นสังคมใหญ่และมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี แต่คิดว่าอีกไม่นานน่าจะผ่อนคลายเรื่องกฎพวกนี้ เพราะในปัจจุบันก็เริ่มมีการสร้างห้องน้ำ Unisex ตามปั๊มและจุดพักรถต่าง ๆ แล้ว

สะใภ้ไชน่า : บันทึกความธรรมดาแสนพิเศษของสะใภ้จีน ผู้อยากเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พร้อมส่งต่อเกร็ดความรู้ให้กับผู้ชม

คนจีนคิดยังไงกับ LGBT

4. นโยบายลูก 3 คน บรีมชวนเราขบคิดถึงนโยบายลูกคนเดียวของจีน ที่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นนโยบายลูก 3 คน เนื่องจากสมัยนี้คนไม่นิยมการมีบุตร ทำให้อัตราการเกิดลดลงมาก ด้วยความที่จีนเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ ทุกคนจึงมี Mindset ที่ว่าต้องทำเพื่อส่วนรวม ให้มีแรงงานมาพัฒนาประเทศชาติต่อไป

สะใภ้ไชน่า : บันทึกความธรรมดาแสนพิเศษของสะใภ้จีน ผู้อยากเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พร้อมส่งต่อเกร็ดความรู้ให้กับผู้ชม

ประเทศจีนมีลูกได้สามคนแล้ว

จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน

จากการทำเพจสะใภ้ไชน่าในวันแรกจนถึงวันนี้ ความสุขของบรีมยังคงเป็นการได้ไล่อ่านคอมเมนต์ลูกเพจที่เธอเรียกว่า ‘เพื่อน’ ส่งเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย

“พอทำเพจ มันไม่เหมือนกับว่าเรายืนอยู่บนสปอตไลต์แล้วมีคนมองมา ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น ถ้าจะเป็นแบบนั้นคงต้องเป็นเพจที่มีความรักชู หรือมีชีวิตธรรมดาที่ไม่เหมือนคนอื่น 

“แต่เหมือนเรากำลังยืนอยู่ในพื้นที่ที่มีเพื่อน ๆ ยืนอยู่ด้วยกันเต็มไปหมด แล้วเม้ามอยเรื่องเดียวกันได้ ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร” บรีมย้ำ

สะใภ้ไชน่า : บันทึกความธรรมดาแสนพิเศษของสะใภ้จีน ผู้อยากเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พร้อมส่งต่อเกร็ดความรู้ให้กับผู้ชม

ด้วยความที่อยากสร้างรอยยิ้มและมวลความสนุกในแต่ละวัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสะใภ้ไชน่าถึงมักอัปโหลดคลิปใหม่ ๆ ในช่วงเย็นวันธรรมดาหลังคนเลิกเรียนหรือเลิกงาน และช่วงสายของวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนใหญ่เริ่มทยอยลุกจากเตียง

ไม่เพียงแต่ความสุขที่บรีมได้รับจากคอมมูนิตี้ที่เธอและลูกเพจร่วมกันสร้างขึ้น เธอยังได้รู้จักตัวตนของตัวเอง และเข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย

“เราได้รู้ว่าเราไม่ได้ชอบที่จะเสพพลังงานลบตลอดเวลา ที่สำคัญคือ เรารู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองและสังคมมากขึ้น”

หากกล่าวถึงทิศทางในอนาคตของเพจ บรีมยังคงจะทำคอนเทนต์ในแนวที่ทำอยู่ให้ดีต่อไป เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเติมพลังชีวิตให้กับใครต่อใคร

“เราอยากให้เขารู้สึกว่าต้องไม่ยอมแพ้ ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรในชีวิต เราว่าต้องมีทางออก แล้วถ้าพื้นที่ตรงนั้นมันไม่ใช่ของเรา เราก็แค่เดินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอสิ่งที่ใช่

“แล้วตอนนี้เราเพิ่งกลับมาไทยในรอบ 3 ปี ในอนาคตก็อยากจะทำเป็น Vlog พาไปตระเวนชิมอาหารตามที่ต่าง ๆ เพราะเรามีแพลนไปตะลอนเที่ยวประเทศไทยด้วย”

สะใภ้ไชน่าทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม “ขอบคุณลูกเพจทุกคนที่อยู่เป็นเพื่อนกันมาตลอด”

สะใภ้ไชน่า : บันทึกความธรรมดาแสนพิเศษของสะใภ้จีน ผู้อยากเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ พร้อมส่งต่อเกร็ดความรู้ให้กับผู้ชม
ภาพ : สะใภ้ไชน่า Sapai China

ช่องทางการติดตาม

Facebook : สะใภ้ไชน่า Sapai China

YouTube : สะใภ้ไชน่า Sapai China

TikTok : สะใภ้ไชน่า-ซ้อบรีม (@sapaichina)

Writer

Avatar

กชพรรณ ก่อสุวรรณวงศ์

เด็กนิเทศแดนกิมจิ เอ็นดูแมวทุกตัวบนโลก ชื่นชอบการอ่านนิยายในวันฝนพรำ และหลงรักเทศกาลคริสต์มาสเป็นพิเศษ