“ปริญญาของเราคือความสุข แรงบันดาลใจ และมิตรภาพที่เกิดจากพื้นที่ตรงนี้ที่เราร่วมกันสร้าง” เสียงของ สัญญา มัครินทร์ หนึ่งในครูผู้ก่อตั้งมหา’ลัยไทบ้าน ตอบคำถามข้อสุดท้ายของการสนทนา ว่าอะไรคือปริญญาของมหาลัยกลางทุ่ง

ถึงจะไม่ได้ไปเห็นด้วยตา แต่ตลอดการพูดคุยร่วมชั่วโมง เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของครูในระบบคนนี้ที่กำลังจะออกมาอยู่นอกระบบในไม่ช้า หลังก่อร่างศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ในชุมชนมากว่า 2 ปี 

สัญญาเป็นคนสีชมพูโดยกำเนิด เกิดในอำเภอที่ไกลที่สุดของจังหวัดขอนแก่น ในยุคสมัยที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกแม้แต่น้อย เขามีโอกาสได้เข้ามาศึกษาในตัวเมืองก็ตอนมัธยมปลาย พบเจอคุณครูที่เล่าเรื่องชีวิตในวัยเด็กของตัวเองแทนการสอน บรรยากาศในห้องพลันสนุกสนานจากที่เคยเคร่งเครียด สัญญาบอกกับเราว่ายังคงประทับใจการเรียนที่โรงเรียนขามแก่นนครในวันนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขานึกฝันอยากเป็นครู 

“พอเป็นเด็กบ้านนอก เราก็จะมีความเป็นอื่นหน่อย ๆ เข้าไปอยู่ในเมือง สำเนียงเราก็ไม่เหมือนใคร เขาพูดภาษากลาง เราพูดลาว เคยเข้าใจว่าเป็นเด็กเก่งนะที่บ้านนอก แต่พอไปอยู่ในเมืองคือเรากระจอกมาก”

แม้เขาจะเรียนไม่เอาอ่าว ตามเพื่อนไม่ค่อยทัน เพราะต้นทุนที่น้อยกว่าตั้งแต่แรก แต่สิ่งหนึ่งที่เขารู้ตัวดีและบรรดาอาจารย์ก็มองเห็น คือสัญญาเป็นคนชอบทำกิจกรรม ชอบอาสา ชอบมีส่วนร่วม มีโอกาสก้าวขาเข้ามาในวงการนักกิจกรรมผ่านการเข้าค่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนตัดสินใจเดินทางออกจากชนบทเพื่อมาใช้ชีวิตอยู่ในตัวเมืองนับ 20 ปี หลังผ่านการผจญภัยบนพื้นคอนกรีตและกำแพงปูนมาอย่างโชกโชน สิ่งที่เขาคิดถึงคือการกลับมาอยู่บ้าน 

สัญญา มัครินทร์ ครูใหญ่จากมหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบที่สอนเรื่องใกล้ตัวในบ้านเกิด
ภาพ : พนัสบดินทร์

แบบ ฝึก หัด

“เราโตมากับการศึกษาที่ครูพาไปรู้จักคนรากหญ้า คนเล็กคนน้อย ที่ระบบการศึกษากระแสหลักไม่ค่อยให้เราได้เห็นเขา พอกลับมาอยู่บ้านเกิด เห็นเลยว่าบ้านเรามีศักยภาพ มีทรัพยากร มีความงาม แต่เราก็เห็นว่า จากไป 20 ปี ถนนก็ยังคงแย่ สารเคมีก็หนักกว่าเดิม มีปัญหาขยะ ฝุ่นเยอะมาก ทั้งความงามและความจริงมันยังคงอยู่ ตอนทำงานในเมืองเรามีเครือข่ายพอสมควร ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ไปชวนเพื่อนกลับมาทำงานที่บ้าน เริ่มจากทำท่องเที่ยวชุมชน อย่างน้อยให้คนรู้ว่าบ้านเรามันมีดี”

ขณะเพื่อนที่โตมาด้วยกันหลั่งไหลเข้าเมือง สัญญากลับมาประกอบอาชีพครูที่บ้านเกิด ว่างเว้นจากการทำงาน เขาหยิบโทรศัพท์จับแฮนด์จักรยานคันโปรด ชวนลูกศิษย์ไปตระเวนถ่ายภาพรอบหมู่บ้าน สำรวจชุมชนของตนตามภาพความทรงจำในวัยเด็ก แล้วโพสต์เรื่องราวลงบนเฟซบุ๊กของเขาเอง จนคนในพื้นที่เห็นและตั้งคำถามหนึ่งกับเขาว่า “นี่ขอนแก่นเหรอ บ้านฉันมีแบบนี้ด้วยเหรอ” สัญญาจึงค่อย ๆ มั่นใจว่าเขากำลังมาถูกทาง

ก่อตั้งเพจ เที่ยววิถีสีชมพู โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ยินดีเปิดบ้านสีชมพูรอรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิต ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ในบรรยากาศที่ห้อมล้อมด้วยภูเขาป่าไม้ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ตลอดทั้งปี เป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของจังหวัดให้เดินหน้า 

การทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่ เพื่อคนรุ่นใหม่ด้วยกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้รับความสนใจจากสื่อมากมาย รวมถึงผู้มีอำนาจในการปกครองส่วนต่าง ๆ ที่พอจะมีทุนเกื้อหนุนให้เพจนี้ดำเนินต่อไป ชื่อเสียงของพวกเขาจึงไม่ได้ดังก้องแค่ในหุบเขา และไม่ได้มีภาพถ่ายจากมือถือของสัญญาเท่านั้นอีกแล้ว

สัญญา มัครินทร์ ครูใหญ่จากมหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบที่สอนเรื่องใกล้ตัวในบ้านเกิด

ผู้ร่วมขบวนการไม่ใช่คนที่ไหนไกล ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เขายังใช้ชีวิตในตัวเมือง ‘ก่อการครู’ คือใครคนนั้น โครงการที่ให้มากกว่ามิตรภาพ แต่ส่งต่อวิสัยทัศน์บางประการที่เปลี่ยนทัศนคติของเขาไปโดยสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน

“เขามีชุดความเชื่อว่า เอาเข้าจริง ครูนี่ทุกข์มากนะ ถ้าความทุกข์ของครูไม่ถูกคลี่คลาย มันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เขาเลยเอาครูมาเขย่าความคิดร่วมกัน

“เราเป็นอาชีพที่ถูกสังคมเรียกร้อง เป็นจำเลยสังคม ว่าทำไมไม่ขยับไปไหนหรือถอยหลังลงเรื่อย แต่จริง ๆ แล้วครูคือมนุษย์นะ ครูมีความทุกข์เหมือนกัน ครูเองก็เป็นเหยื่อ ลึก ๆ เรามีความเชื่อร่วมกันว่า อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องเชื่อก่อนว่าถ้าเราเปลี่ยนหนึ่งคน ห้องเรียนมันจะเปลี่ยน เมื่อห้องเรียนเปลี่ยน สังคมก็จะเปลี่ยน ซึ่งห้องเรียนก็คือสังคมขนาดย่อม

“สิ่งที่เราพยายามทำ คือ ใช้วิธีการเล่าเรื่องนี่แหละ เราอยากเล่าให้เด็กเห็นว่า พวกเอ็งเจ๋งนะเว้ย พวกเอ็งมีศักดิ์ศรีมาก แล้วก็โชคดีมากที่ได้มีโอกาสนั่งเรียนด้วยกัน ใช้พื้นที่ห้องเรียนให้เขาได้เล่าความเป็นตัวเขา ให้เป็นห้องที่ปลอดภัยพอที่จะสนุกกับเรื่องราวของกันและกัน ซึ่งค่อนข้างสวนกระแสครูในระบบพอสมควร เราไม่ได้เชียร์ให้เด็กเก่ง แข่งขันเป็นเลิศ เรากำลังสอนเด็กให้รู้ว่า จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างสันติยังไง และจะดีมากถ้าเอ็งอยู่อย่างมีความหมาย”

เมื่อสัญญาตกตะกอนความคิดได้จากการเป็นครูแกนนำ บวกกับการท่องเที่ยววิถีชุมชนที่เขาทำอยู่เดิม จึงเกิดเป็น ‘มหา’ลัยไทบ้าน’ การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ไม่มีที่ไหนในแก่นนคร

สัญญา มัครินทร์ ครูใหญ่จากมหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบที่สอนเรื่องใกล้ตัวในบ้านเกิด

ผลัดกันเรียน เปลี่ยนกันสอน

“ตลอดชีวิต เห็นชัดเลยว่าการศึกษาบ้านเรามันให้คุณค่ากับเรื่องไกลตัวมาก เช่น เรารู้จักเรื่องกรุงเทพฯ มากกว่าเรื่องขอนแก่น เรารู้จักขอนแก่นมากกว่าอำเภอสีชมพู เพราะเราถูกสอน ถูกเรียน จากตำราที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราเท่าไร ระบบการศึกษาก็ยังมาจากศตวรรษก่อน คือการออกแบบคนให้ไปเป็นแรงงานหลักของประเทศ แบบที่รัฐอยากให้เป็น แม้กระทั่งหลักสูตรท้องถิ่น ก็ไม่นำพาให้คนเห็นว่าบ้านเขามีปัญหาหรือความดีอะไร 

“เราว่าการเรียนรู้มันคือชีวิต เป็นองค์รวมที่ควรเห็นภาพและขยับร่วมกัน เราเลยอยากทำให้การศึกษาไม่แยกส่วน ชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ควรเป็นองค์รวมที่ผู้เรียน ครู คนในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ไม่ได้แยกปัญหาของใครของมัน 

“หน้าที่ของเราไม่ใช่นักแก้ปัญหา แต่เป็นคนที่เอาตัวละครที่เกี่ยวข้องมาเจอกัน เพื่อมองเห็นปัญหาและหาทางออกร่วมกันอย่างยั่งยืน”

แน่นอนว่ามหาลัยที่แหกเหล่ากอระบบการศึกษาย่อมไม่ได้รับความมั่นใจจากคนรอบข้าง ความท้าทายที่สัญญาต้องรับมือตั้งแต่ยังปั้นน้ำไม่เป็นตัวมี 2 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง การอธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจว่าอะไรคือ มหา’ลัยไทบ้าน และ สอง คือเรื่องเงิน

สัญญา มัครินทร์ ครูใหญ่จากมหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบที่สอนเรื่องใกล้ตัวในบ้านเกิด
สัญญา มัครินทร์ ครูใหญ่จากมหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบที่สอนเรื่องใกล้ตัวในบ้านเกิด

ประการแรก มหา’ลัยไทบ้าน คือพื้นที่การศึกษาที่จะพาผู้เรียนไปสู่ความเป็นไท

ไท แปลว่าอิสระ สอดคล้องกับคำว่าไทบ้าน คือเรียบง่าย ให้คุณค่ากับความจริงใจ รวมกันเป็นการศึกษาที่ง่าย ไม่ต้องมีกรอบที่ทำให้รู้สึกอึดอัดหรือถูกควบคุม เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่อิสระ สนุก ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ บนรากของเรา ก็คือบ้านหรือชุมชน

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงยังไม่หายสงสัยว่า มหา’ลัยไทบ้าน ที่ว่าแปลกไม่เหมือนใคร สอนอะไรแน่

หลักสูตรของที่นี่คือการกินอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 4 วัน 3 คืน มีด้วยกัน 4 หมวด ได้แก่

ไทมุง คือ เวทีสร้างความสัมพันธ์ เน้นทำความรู้จัก พูดคุย ต่อยอดไอเดียร่วมกัน

ไททอล์ก คือ การเรียนการสอนจากประสบการณ์ของกันและกัน เชิญคนนอกหรือคนในพื้นที่ที่มีเรื่องราวน่าแบ่งปัน มาร่วมแลกเปลี่ยนชีวิต

ไททำ คือ การเรียนรู้ภาคปฏิบัติ เน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชน เช่น ชวนผู้เข้าร่วมไปลองทำสาโท หาปลา ทำกับข้าวด้วยวัตถุดิบในพื้นที่ หรือการสร้างสรรค์ศิลปะจากหินในธรรมชาติ

ไททริป คือ การชวนกันไปเที่ยวสมชื่อ ตะลอนไปตามพื้นที่ในชุมชนที่น่าสนใจ เช่น เกษตรกรที่หันมาทำคาเฟ่ สร้างรายได้รายวัน หรือครูในชุมชนที่เปลี่ยนบ้านตัวเองให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติ เป็นต้น

สัญญา มัครินทร์ ครูใหญ่จากมหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบที่สอนเรื่องใกล้ตัวในบ้านเกิด

หลักสูตรเหล่านี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก มหา’ลัยเถื่อน โดยมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ที่สัญญาเองก็เป็นหนึ่งในสมาชิก พวกเขาเชื่อว่าการศึกษาไม่จำเป็นต้องมีใครมารองรับ อยากเรียนอะไรก็ออกแบบหลักสูตรเองเลย ผลัดกันเรียน เปลี่ยนกันสอน ไม่มีอาชีพ ไม่มีอายุ ใครก็เป็นครูและนักเรียนที่นี่ได้อย่างเสรี ครูที่อายุน้อยที่สุดของ มหา’ลัยไทบ้าน แห่งนี้จึงเป็นเพียงเด็กขอนแก่นวัย 13 ปีเท่านั้น

“น้องยูโตะ เป็นนักเรียน ม.1 เขาเขียนหนังสือเรื่อง แมววัด กับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ อ่านแล้วประทับใจมาก เพราะมันคือสายตาของเด็กที่มองแมวแล้วได้อะไรกับชีวิต แล้วก็มีเรื่องการศึกษา เรื่องการเลี้ยงดูของแม่ เลยชวนมาคุยเบื้องหลังความคิด สร้างแรงบันดาลใจให้กันต่อ หรือพี่นพมาศ เขาชวนคนแก่สานไม้ไผ่ จนกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ราคา 5,000 บาท ขายแต่กลุ่มลูกค้าตลาดบน เราชวนมาคุยเรื่องการทำงานกับชาวบ้าน โดยเฉพาะคนแก่ที่มีอัตตาเยอะ ซึ่งมันจะสะท้อนว่าการทำงานกับคนในชุมชนมีเทคนิคแบบไหน”

ความท้าทายที่สอง เป็นอย่างต่อไปที่สัญญาจะเล่าให้ฟัง

“เราไม่รู้เอาความเชื่อมั่นมาจากไหน พยายามนำพาเพื่อนว่าทุกอย่างคือการเรียนรู้ จากความล้มเหลว จากความมึนงง เราต้องคุยกับทีมพอสมควรว่ามันเป็นเรื่องใหม่ ต้องทดลองไปด้วยกันนะ แต่เราเชื่อว่ามันจะสร้างความเป็นไปได้ หลังงานเกิด ก็เลยสนุกในการหาเงิน ความยากคือทำให้เพื่อนไปต่อกับเรา เห็นภาพร่วมกัน”

เขาอาศัยความสนุกเชื้อชวนคนรุ่นใหม่ ว่าหาโอกาสไม่ง่ายที่จะรวบรวมคนน่าสนใจมาขึ้นเวที ร่วมแบ่งปันความรู้ เปิดบ้านอันสวยงามของพวกเขาให้คนนอกได้เข้ามาสัมผัส เป็นเหมือนพื้นที่แสดงศักยภาพของคนในทีม เกิดการจับจ่ายใช้สอยในชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของเที่ยววิถีสีชมพู

สำคัญมากไปกว่านั้น คือสัญญาอยากทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และนั่นต้องพึ่งพาพลังของคนหนุ่มสาวกลับบ้านอย่างเสียมิได้

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง มหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบของคนกลับบ้าน ที่เปลี่ยนบ้านให้เป็นศูนย์การเรียนรู้
ภาพ : แมนเลนส์ไทบ้าน

ลำพังตัวเขาเองก็ลงมือทำล่วงหน้าไปบ้าง ด้วยความที่ยังเป็นครูในระบบ สัญญาเปิดหลักสูตรห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน ใช้เวลา 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการพาเด็ก ๆ ไปทำกิจกรรมร่วมกับคนในพื้นที่ เช่น ดูต้นน้ำ ทำกะลามะพร้าว เที่ยววัดวาอาราม เก็บเกี่ยวมิตรภาพระหว่างการลงมือทำ จากพ่อ ๆ แม่ ๆ ที่เคยให้หยิบยืมถ้วยชามสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขากำลังทำอะไร ก็กลายมาเป็นสมาชิกอีกคนของมหา’ลัยไทบ้าน แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการแปรรูปสินค้าจากผลผลิตทางการเกษตรร่วมกันไปแล้ว

เรื่องเงินจะมีปัญหาก็กับคนใจอาสาแต่มีรายได้ทางเดียว สัญญายอมรับว่ามีลูกทีมบางคน ตั้งใจกลับบ้านมาทำงานร่วมกับเขาทันทีที่เรียนจบ ทำได้ไม่นานนักก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริง ว่างานแบบนี้ไม่ได้สร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำตลอดปี 

การทำให้มหา’ลัยไทบ้าน เป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่อยู่รอดได้อย่างมั่นคง จึงเป็นหมุดหมายต่อไปที่เขาอยากไปให้ถึง รวมทั้งการกรุยทางด้วยการพูดคุยกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล เรื่องทิศทางในอนาคตของพวกเขาด้วย

“เขาเชื่อเรื่อง Nature Based Learning เหมือนกัน พอเขามาเกื้อกูลส่งเสริมเรา ก็จะรู้สึกว่าเฮ้ย ไอ้บ้าน ๆ เนี่ย มันมีคนมองเห็นแล้ว

“เรามีเพื่อน มีพันธมิตร เราไม่ได้ทำโดดเดี่ยวนะ มีศูนย์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการศึกษา ชุมชน สิ่งแวดล้อม 30 ที่ทั่วประเทศ เทรนด์การศึกษาในระบบมันก็ไปต่อได้แหละ แต่จะมีคนที่ปฏิเสธการเรียนในกระแสหลักมากขึ้น เราก็จะเป็นทางเลือกให้เขา

“แล้วเราก็จะทำงานเชิงปัญญากับคน ให้น้อง ๆ ในชุมชนเห็นว่ามันทำได้จริง มีรายได้ ใช้พื้นที่นี้สร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ เป็นโมเดลเล็ก ๆ ที่สร้าง NGO ในพื้นที่ต่อไป โดยใช้ฐาน ใช้บ้านของเรา เป็นสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมพวกเขา เพื่อให้กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดของตัวเอง”

แม้บทเรียนหนึ่งที่ได้จากมหา’ลัยไทบ้าน จะสอนเขาว่า แนวคิดคนรุ่นใหม่กลับบ้านเป็นเรื่องในอุดมคติและไม่โรแมนติกเลยก็ตาม

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง มหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบของคนกลับบ้าน ที่เปลี่ยนบ้านให้เป็นศูนย์การเรียนรู้
หนึ่งในผู้ก่อตั้ง มหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบของคนกลับบ้าน ที่เปลี่ยนบ้านให้เป็นศูนย์การเรียนรู้

วิชาชีวิต

“ถ้านั่งชิลล์​ เราจะมองว่าพื้นที่สวย แต่พออยู่จริง ๆ มันโคตรร้อน บางทีก็เงียบจนเหงา การกลับบ้านต้องดูด้วยว่า เข้าใจบ้านเรามากกว่าภาพที่ถูกฉายทางสื่อไหม เพราะเขาจะฉายแต่ภาพความสำเร็จ คนเลยกลับมาพร้อมความหวัง พร้อมภาพที่สื่อนำเสนอ แต่ในมุมหนึ่งก็มีความเจ็บปวด ความสัมพันธ์ของคนในทีม ของผู้นำ คนในชุมชนที่ไม่เห็นด้วย หรือเราไปแตะนายทุน แตะความเชื่อของกลุ่มอำนาจเก่า เราต้องประเมินความเสี่ยงและอุปสรรคที่ต้องเจอ แล้วเราจะอยู่ร่วมกับมันยังไง

“เราว่าทุกคนอยากกลับบ้านแหละ มีคนรุ่นใหม่มาถามเราหลายคน เราชวนคุยต่อเลยว่าเขากลับมาทำไม ต้องถามตัวเองให้ชัด เรากลับมา เราจะรอดอย่างไร เราจะทำอะไร เราเชื่ออะไรอยู่ สำคัญคือการมีเพื่อน เราจะไม่โดดเดี่ยว เพื่อนจะคอยพยุงเรา แล้วเราก็จะอยู่รอด ถ้าคนไหนยังไม่พร้อม อย่าเพิ่งมา เพราะการกลับบ้านไม่โรแมนติก มีราคาที่ต้องจ่าย”

สำหรับสัญญา ผู้ต้องจ่ายความเหนื่อยยากเต็มจำนวนทุกวัน หลังเปิดพื้นที่กลางทุ่งของเขาให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ มหา’ลัยไทบ้าน สอนเขามากกว่าตำราในห้องเรียนหลายเท่านัก เราทุกคนคงทราบแล้วว่าสัญญาอยากเป็นครูมาแต่ไหนแต่ไร และอาชีพครูที่เขาอยากเป็นทำหน้าที่มากกว่าแค่สอนหนังสือ รับเงินเดือนเท่านั้น 

สัญญาอยากเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ เหมือนครั้งที่เด็กชายสัญญามีประกายในแววตาเมื่อฟังเรื่องเล่าของครูในห้อง เขาหอบความหวัง ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ กลับอำเภอสีชมพูที่เขารักมากไม่แพ้ใคร พร้อมความคิดอยากเป็นครูผู้นำ ที่คนในชุมชนจะพึ่งพาและเปลี่ยนแปลงบ้านเกิดได้ เขาเชื่อว่าในท้องทุ่งนี้ยังมีคนแก๋ว ๆ อีกมากที่อยากส่องไฟไปให้ถึง

ปริญญาของมหา’ลัยไทบ้านที่เราตั้งคำถาม จึงไม่ได้มาในรูปแบบของเกียรติยศหรือกระดาษแผ่นใด ไม่มีขอบเขต ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ ไม่มีจุดสิ้นสุดว่าจะหยุดเมื่อไร 

สัญญาให้คำตอบว่าคือความสุข แรงบันดาลใจ มิตรภาพ ได้มองเห็นตัวเองมากขึ้น กลับไปที่รากเหง้าของพื้นดินที่เหยียบย่ำอยู่ใต้ฝ่าเท้า และเริ่มลุกมาสร้างอะไรบางอย่างแบบที่เขากำลังทำ

“ขอนแก่นเป็นเมืองแห่งโอกาส เราชอบมากเลยนะ เพราะเราเกิดที่นี่ เราเห็นความน่ารักของมันที่ให้คุณค่ากับคนรุ่นใหม่ ขอนแก่นน่าอยู่เพราะคน

“ด้วยความที่เมืองไม่ใหญ่ คนสร้างสรรค์ คนเก่ง ๆ ก็ได้เห็นหน้าเห็นตากันบ่อยมาก เราก็ได้โอกาสศึกษาจากเขา ได้เป็นเพื่อน เป็นลูกศิษย์ เป็นคนที่ริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ให้เมือง แต่ในอีกมุม เราก็มีเพื่อนที่ต่อสู้เรื่องสิทธิ ทำงานกับภาคประชาชน ได้เรียนรู้ปัญหารากหญ้าที่ถูกครอบด้วยโครงสร้างอำนาจหรือแหล่งทุน เราว่าเราโชคดีที่ได้เห็นความหลากหลาย 

“ถึงจะไม่ชอบ แต่ลึก ๆ เรารักมันมาก ต่อให้มีความดีงาม หรือความน่าเกลียดน่าชังบางอย่าง แต่เราอยากจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เมืองของเราน่าอยู่มากขึ้น” ครูบ้านนอกทิ้งท้ายอย่างคนไม่หมดหวัง

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง มหา'ลัยไทบ้าน การศึกษานอกระบบของคนกลับบ้าน ที่เปลี่ยนบ้านให้เป็นศูนย์การเรียนรู้

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล