ลุงเหลี่ยม-สนั่น บัวคลี่ ช่างทำกลองวัย 74 แห่งจังหวัดอ่างทอง กำลังขลุกตัวอยู่ในโรงกลองไม่ห่างจากบ้าน สองมือที่สะสมประสบการณ์มากกว่า 50 ปี กำลังขึงหนังควายแผ่นกลมบนแท่นไม้ให้รัดแน่นเป็นหน้ากลอง

แดดยามสายส่องทะลุซี่ไม้ผุพังเห็นเป็นลำแสงสว่าง ราวกับสปอตไลต์ดวงจิ๋วส่องกระทบงานศิลปะชิ้นเอก ทว่าภาพตรงหน้าเป็นเพียงชายคนหนึ่งที่ขะมักเขม้นทำสิ่งที่เขารักมาทั้งชีวิต โดยนับหน่วยความสุขเป็นผลงานที่เขาทำ

เมื่อ พ.ศ. 2558 ลุงเหลี่ยมได้รับรางวัลครูช่างศิลหัตถกรรม ประเภทเครื่องหนัง (กลอง) จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ และเปิด ‘บ้านกลองลุงเหลี่ยม’ เป็นสถานที่ฟูมฟักความรู้และแบ่งปันภูมิปัญญาทำกลอง ทั้งยังจำหน่ายและรับผลิตกลองนานาชนิด การันตีคุณภาพจากนักดนตรีไทยหลายวงการ แถมชื่อเสียงดังไกลถึงต่างแดน

ทุกวันนี้ลุงเหลี่ยมมีความสุขกับวิชาชีพทำกลองจนลืมกินลืนนอน แถมลืมวันลืมคืน จนเผลอบ่นออกมาด้วยอารมณ์ขันว่า เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วเหลือเกินในการทำสิ่งที่รัก วันแรกรู้สึกอย่างไร วันนี้ลุงเหลี่ยมก็ยังรู้สึกและเป็นเช่นนั้นอยู่ อดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้คนคนหนึ่งอยู่กับสิ่งสิ่งหนึ่งได้ยาวนานมากกว่าค่อนชีวิตตัวเอง 

และนี่คือเรื่องราวว่าด้วยจังหวะชีวิตของ ครูสนั่น บัวคลี่ ช่างกลองมือดีแห่งเมืองอ่างทอง

สนั่น บัวคลี่ : ช่างกลองวัย 74 แห่งเมืองอ่างทองที่ทำกลองมาทั้งชีวิตมากกว่า 10,000 ใบ

หัวใจดังป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น โท่น

แม้เกิดและเติบโตในหมู่บ้านทำกลอง จังหวัดอ่างทอง แต่บ้านของเด็กชายสนั่นกลับมีอาชีพทำนา ไม่ได้ทำกลองเหมือนครัวเรือนอื่นในชุมชน นั่นทำให้เขาเริ่มจังหวะชีวิตในเส้นทางสายกลองด้วยความชอบตั้งแต่เรียนจบ ป.4

“ตอนนั้นเรียนจบ ป.4 ปู่ย่าตายายจ้างเรียนต่อเราก็ไม่เอา จะไปดูเขาทำกลอง เจ้าของเห็นเราเข้าท่าเข้าทาง วันรุ่งขึ้นก็ชวนมาทำด้วย ได้ใบตั้งสี่บาทนะ หนึ่งวันทำได้สี่ใบ พอเลิกงานแทบเดินไม่เป็นเลย” ลุงเหลี่ยมหัวเราะ

“ลุงทำอยู่หลายปีก็เลิกไปนาน พอเป็นหนุ่มก็เที่ยวไปเรื่อย จนบวชเสร็จก็มีครอบครัว กลองก็เริ่มมีตลาด กลายเป็นดังขึ้นมา เราอยากมีอาชีพเลยไปรับกลองมาขาย สมัยนั้นหาบกลองขี้เมา กลองที่เขาตีกันในรำวง หาบไปหกใบ ลงรถบัสตรงสี่แยกลาดพร้าวแล้วเดินไปขายที่เวิ้งนาครเขษม พอมีลูกค้า ก็กลับมาสั่งออเดอร์ตามบ้านที่รับทำกลอง”

ยอดสั่งจองกลองล้นหลานจนผลิตไม่ทัน ลุงเหลี่ยมจึงตั้งฐานทัพทำกลองเองที่บ้าน และตัดสินใจเปิดหน้าร้านตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ แม้ตอนนั้นทักษะจะงูๆ ปลาๆ เพราะวัยเด็กที่เคยคลุกคลีกับช่างกลองก็อาศัยครูพักลักจำ

“ลุงทำเอง ขายเอง เดินหาตลาดเองหมดทุกอย่าง จนไปเจอร้านนิวซุ่นหมง (เวิ้งนาครเขษม) เขาขายกลอง แล้วมีกลองตะโพนไทยใบหนึ่งมันพัง เขาบอกเอาไปซ่อมให้ที ให้เราสามร้อยนะ ก็นึกในใจว่าสามร้อยยังไม่ได้อะไรเลย แต่ก็เอาวะ เราอยากได้วิชา อยากศึกษาการทำกลอง พอทำเสร็จก็เอามาส่ง เขาบอกใช้ได้ เราก็ไปอีก แถวสุขสวัสดิ์

“เขาสั่งตะโพนเราอีกสามใบ เราก็กลับมาทำ พอกลองหย่อนเขาก็ส่งกลับให้เราซ่อม เผอิญวันนั้นพักกลางวัน ก็ลองเอาข้าวสุกมาติดหน้ากลอง มันคงเป็นบุญของเรา จังหวะกลองออกมาเสียงดี เราก็จับจุดจากใบนั้นเลย”

ชายวัย 74 ยิ้มร่าด้วยความดีใจ เสมือนว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นสัมฤทธิ์ผล จากกาวข้าวสุก สร้างเอกลักษณ์ให้เสียงกลองลุงเหลี่ยมดังเกรียงไกร จนร้านทั่วเวิ้งนาครเขษมไม่มีใครไม่รู้จักช่างทำกลองจากอ่างทองคนนี้

สนั่น บัวคลี่ : ช่างกลองวัย 74 แห่งเมืองอ่างทองที่ทำกลองมาทั้งชีวิตมากกว่า 10,000 ใบ
สนั่น บัวคลี่ : ช่างกลองวัย 74 แห่งเมืองอ่างทองที่ทำกลองมาทั้งชีวิตมากกว่า 10,000 ใบ

เปิดประตู ทำกลอง

บ้านกลองลุงเหลี่ยมรับทำกลองทุกชนิด อาทิ กลองชาตรี กลองทัด กลองแขก กลองยาว กลองเพล กลองสะบัดชัย โทนรำมะนา ตะโพนไทย ฯลฯ ขนาดเล็ก-ใหญ่ ต้องการแบบไหน สั่งได้ทุกอย่าง ไม้ตีกลองก็รับทำด้วยนะ

ส่วนอุปกรณ์หลักที่ใช้ทำกลองจะมีไม้ท่อน ที่นี่ใช้ไม้สะเดา ไม้ก้ามปู ตามแต่จะหาได้ ส่วนหน้ากลองใช้หนังควาย กระบวนการแรกต้องตัดไม้ท่อนให้ได้ขนาดตามต้องการ กลึงไม้และคว้านไส้ออกให้พร้อมใช้งาน สมัยนี้ลุงเหลี่ยมใช้เครื่องจักรทุ่นแรง สมัยโน้นงานมือล้วน! 

สนั่น บัวคลี่ : ช่างกลองวัย 74 แห่งเมืองอ่างทองที่ทำกลองมาทั้งชีวิตมากกว่า 10,000 ใบ

พอได้หุ่นกลองตามต้องการ ขั้นตอนต่อไปเตรียมหนังด้วยการแช่หนังควายในน้ำราว 12 ชั่วโมง ถ้าแช่ในน้ำเน่ายิ่งดี จะทำให้หนังอ่อนนุ่มเร็วขึ้น พอหนังได้ที่ ลุงเหลี่ยมหยิบวงเวียนประดิษฐ์มือมาตีวงกลมบนแผ่นหนังพร้อมมาร์กจุดด้วยดินสอพอง หลังขั้นตอนนี้สำคัญ เพราะเราก็สงสัยว่า เสียงกลองนั้นทำยังไง 

ลุงเหลี่ยมเอี่ยวตัวคว้าอาวุธของช่างกลอง นั่นคือ อุปกรณ์ไสหนัง ที่ช่างฝีมือพลิกแพลงจากแหนบรถยนต์ ขั้นตอนนี้เป็นการแต่งเสียงกลอง ด้วยการไสหนังที่อยู่ภายในวงกลมที่มาร์กด้วยดินสอพอง ครูช่างจะไสหนังตอนเปียก ไสทางนี้ที ไสทางนั้นที เป็นเทคนิคที่อาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ขนาดตาเราดูยังจับทางไม่ได้ เพียงมือลุงเหลี่ยมสัมผัสแผ่นหนัง ก็รู้ทันทีว่าความหนา-บางแบบนี้ใช่เลย ดังแบบที่ต้องการ! ส่วนรอบนอกวงกลมที่ไม่ไสให้บาง เพราะต้องนำไปเจาะรู้และร้อยเพื่อขึงหนังกลอง ฉะนั้น หนาไว้ก่อนจะดี ป้องกันไม่ให้หนังกลองขาดระหว่างการทำงาน

สนั่น บัวคลี่ : ช่างกลองวัย 74 แห่งเมืองอ่างทองที่ทำกลองมาทั้งชีวิตมากกว่า 10,000 ใบ

หนังกลองก็ต้องมีเทคนิคนวดให้นุ่ม (ลุงเหลี่ยมขอปิดเป็นความลับ แต่เล่าทริคให้เราฟังหมดเลย พร้อมกำชับว่า เป็นความลับ ไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย) นักประดิษฐ์ประยุกต์เครื่องตีข้าวสมัยก่อนมาใช้นวดหนัง โดยเอาสากมาทิ่มหนังเหมือนทิ่มข้าว พอได้ที่ก็นำไปตากแดด 1 – 2 วัน ก่อนจะเตรียมขึ้นกลอง ด้วยการเอาหนังมาขึงกับหุ่นกลอง

ช่างฝีมือยังคงสร้างเครื่องทุ่นแรงจากสิ่งรอบตัว แท่นขึ้นกลองก็ด้วย, หลังจากเสร็จกระบวนการก็เก็บรายละเอียด ทั้งเพิ่มความสวยงามด้วยการผูกหนังเลียด ทั้งรักษาสภาพความคงทนด้วยการเคลือบแชล็ค ฉีดยากันมอด 

ส่วนความยากที่สุดของการทำกลอง ก็คือขั้นตอนการแต่งเสียงที่ว่าเมื่อกี้ เพราะกลองต่างชนิดก็ย่อมให้เสียงต่างกัน ยิ่งกลองแขก ลุงเหลี่ยมบอกว่าปราบเซียน เพราะเป็นกลองที่ต้องตีด้วยกัน 2 ใบ ตัวผู้และตัวเมีย แต่ละใบมีสองหน้า รวมกันสี่หน้า นั่นเท่ากับสี่เสียงที่ครูช่างต้องรังสรรค์ให้เสนาะหู และกลองทุกใบจากบ้านกลองลุงเหลี่ยม หากเสียงไม่พึงใจ ก็ยินดีรับแก้จนกว่าจะถูกใจ ถ้าอยากได้เสียงแบบไหน ลุงเหลี่ยมจัดให้ตามต้องการ ขอให้เชื่อมือและเชื่อใจ

แม้บ้านอื่นจะหวงห้ามสูตรลับการทำกลอง แต่ลุงเหลี่ยมยินดีเปิดบ้านให้ความรู้ ขอให้มีความมุ่งมั่นและตั้งใจอยากจะเรียน ครูช่างว่าคุณสมบัติอาชีพช่างกลองต้อง ‘อดทน’ เพราะไม่มีงานใดบนโลกที่ทำแล้วไม่เหนื่อย

จังหวะชีวิตของ ‘สนั่น บัวคลี่’ ช่างกลองมือดีจากอ่างทาง ที่ใช้ความรักขับเคลื่อนการทำงานมามากกว่า 50 ปี
จังหวะชีวิตของ ‘สนั่น บัวคลี่’ ช่างกลองมือดีจากอ่างทาง ที่ใช้ความรักขับเคลื่อนการทำงานมามากกว่า 50 ปี

กลองดี ต้องตีถึงจะดัง

“ทำมาทั้งชีวิต ถึงหมื่นใบมั้ยคะ”

“หลักหมื่นลูก ถึงนะ” ช่างฝีมือตอบอย่างไม่ลังเล “เมื่อประมาณยี่สิบปีที่แล้ว ลุงล่องทีใช้รถสี่ล้อใหญ่ประมาณสี่ห้าคันรถขนกลองภายในวันเดียว สมัยนั้นได้เงินวันละแสน สองแสน แต่ลุงไม่รับเชื่อนะ รับเงินสดอย่างเดียว”

เป็นเวลากว่า 50 ปีที่ลุงเหลี่ยมยังผลิตกลองด้วยมือทุกใบ แม้จะมีผู้ช่วยและเครื่องจักรแต่ก็เลือกจะทำด้วยตัวเอง กิตติศัพท์ ‘บ้านกลองลุงเหลี่ยม’ ขจรไกลทั่วหล้า ทั้งคณะลิเก วงปี่พาทย์ โรงละครแห่งชาติ วิทยาลัยนาฏศิลป ฯลฯ ลามถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า แม้กระทั่งญี่ปุ่น ฝีมือของชายคนนี้ก็ไปโลดเล่นมาแล้ว

จังหวะชีวิตของ ‘สนั่น บัวคลี่’ ช่างกลองมือดีจากอ่างทาง ที่ใช้ความรักขับเคลื่อนการทำงานมามากกว่า 50 ปี

ถ้าเกลือยังต้องรักษาความเค็ม คงไม่ต่างกับกลองลุงเหลี่ยมที่ยังรักษาคุณภาพเสมอต้นเสมอปลาย จนนักดนตรีบอกปากต่อปาก กระซิบว่าคิวสั่งจองบนกระดานยาวเหยียด น่าสนใจว่าทำไมใครก็อยากได้กลองฝีมือลุงเหลี่ยม

“ซื้อแล้วไม่ผิดหวัง สมมติคุณจะบรรเลงวันนี้ มาซื้อเดี๋ยวนี้ เข้างานได้เลย” ช่างกลองเผยทีเด็ด

คำการันตีของลุงเหลี่ยมไม่เกินจริง แถมให้ลองตีจนกว่าจะพอใจ ที่สำคัญ ช่างฝีมือใส่ใจรายละเอียดถึงขั้นสถานที่บรรเลงมหรสพ ถ้าต้องบรรเลงในห้องแอร์ ขอให้บอกกันก่อนสักนิด ลุงเหลี่ยมจะปรับหน้ากลองให้ใหม่พร้อมใช้

จังหวะชีวิตของ ‘สนั่น บัวคลี่’ ช่างกลองมือดีจากอ่างทาง ที่ใช้ความรักขับเคลื่อนการทำงานมามากกว่า 50 ปี

“บางคนไม่รู้ว่าต้องประชันในห้องแอร์ ขันหนังกลองตึงเปรี๊ยะ เจ๊งเลยนะ ห้องแอร์เย็นก็จริง แต่อากาศแห้ง ลุงเลยต้องสาวหนังให้หย่อนหน่อย พอเจออากาศแห้งหนังจะตึงพอดี เสียงแจ๋วเลยแหละ ของแบบนี้ต้องศึกษา แล้วก็อยู่ที่ใจรัก สมัยก่อนที่ยังทำไม่เป็น แม่บ้านบ่นฉิบหายเลย คนตีแล้วแตก ต้องเสียหนัง แต่เราก็พยายามหัดเอาจนได้”

ไม่เพียงแค่วงดนตรีไทย แต่คณะลิเก ครูช่างก็เดาทางออกว่าต้องทำกลองเสียงแบบไหนถึงจะถูกใจ พร้อมเฉลยว่าเคยขับรถให้คณะลิเกมาก่อน เลยพอจับจุดให้ตรงใจได้ นิสัยครูพักลักจำยังคงติดตัวลุงเหลี่ยมไม่เปลี่ยน

และที่นี่ต้องการผลิตกลองให้นักดนตรีนำไปใช้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงเน้นความเรียบร้อยและงานประณีตเป็นสำคัญ ถึงขนาดว่าถ้าลูกสาวไม่ให้ผ่าน ลุงเหลี่ยมก็ต้องกลับไปแก้ไขจนกว่าจะตรงมาตรฐานคุณภาพ

“ใครก็ทำกลองได้ แต่ทำเอาคุณภาพ มันยาก” ชายวัย 74 พูดด้วยประสบการณ์ทั้งชีวิต

จังหวะชีวิตของ ‘สนั่น บัวคลี่’ ช่างกลองมือดีจากอ่างทาง ที่ใช้ความรักขับเคลื่อนการทำงานมามากกว่า 50 ปี

มีแต่ใจให้กลอง

“ทำกลองมาห้าสิบกว่าปี ลุงเองไม่เป็นปี่พาทย์นะ ไม่เคยเล่นดนตรีเลย” ลุงเหลี่ยมสารภาพด้วยรอยยิ้ม “แต่ใจรัก มันเลยมาทางนี้ เพิ่งหัดตีตอนทำกลองนี่แหละ แต่ตีเฉพาะลองเสียงนะ เป็นตีเพลงเข้าวงกับเขาไม่ได้”

ลุงเหลี่ยมหลงเสน่ห์เสียงดนตรีไทยและหลงรักวิชาชีพ ‘ช่างกลอง’ ตลอดการสนทนา ชายมากประสบการณ์ย้ำเสมอว่า จากเด็กที่เกือบไม่จบ ป.4 พกแค่ความรู้ติดตัว แต่พาตัวเองมาอยู่จุดนี้ได้ จุดที่ผู้คนแวดวงดนตรีไทยให้การยอมรับ จุดที่ใครต่างก็อยากได้และขอครอบครองกลองสักใบจากครูช่าง และจุดที่ยังตื่นเช้ามาทำงานที่รักด้วยหัวใจพองโต

“การที่ลุงอยู่มาถึงทุกวันนี้ เพราะลุงไม่เอาเปรียบลูกค้า แล้วก็พยายามรักษาความดีเอาไว้ ต้องรักษาให้มันจริงด้วย อย่าทำงานส่งๆ แบบนั้นจะอยู่ได้ไม่นาน และดูแลลูกค้าทุกคนให้เสมอภาคกัน เพราะเขามาหาเราด้วยใจ

“ใบปริญญาสู้ลุงไม่ได้นะ จาก ป.4 ลุงมาได้ขนาดนี้ก็ภูมิใจ สิ่งสำคัญต้องใจรัก บางทีลุงทำงานเพลินจนลืมกินข้าว พอทำเองแล้วมันได้ดั่งใจเราก็ยิ่งเพลิน บางทีหลาน บางทีลูก มาเรียกกินข้าว ลุงก็ไม่หิว” ครูช่างหัวเราะร่า

‘ใจรัก’ เป็นแรงขับเคลื่อนให้ลุงเหลี่ยมทำกลองมาทั้งชีวิต คงไม่ต่างกับ ‘แพสชัน’ ที่สูบฉีดกายและใจเพื่อหล่อเลี้ยงให้คนยุคใหม่ยังมี ‘ใจรัก’ ในสิ่งที่พวกเขาทำ และแรงขับเหล่านี้ก็ควรค่าแก่การรักษาไว้ไม่ต่างกับภูมิปัญญา

จังหวะชีวิตของ ‘สนั่น บัวคลี่’ ช่างกลองมือดีจากอ่างทาง ที่ใช้ความรักขับเคลื่อนการทำงานมามากกว่า 50 ปี

บ้านกลองลุงเหลี่ยม

ติดต่อลองกลอง ผลิตกลอง หรือเรียนรู้กระบวนการทำกลองได้ที่

ที่ตั้ง : 25/1 หมู่ที่ 7 ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง (แผนที่)

โทรศัพท์ : 08 1918 4787

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน