ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ดิจิทัลผู้บริหาร Sea บริษัทเทคที่เหนือกว่ายูนิคอร์น
หลายเดือนก่อน หลายคนเพิ่งจะได้ยินชื่อ ดร.สันติธาร เสถียรไทย เป็นครั้งแรก ในข่าวปล่อยที่ว่า นักเศรษฐศาสตร์วัย 40 ปี คนนี้คือตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคการเมืองหนึ่ง ข่าวนั้นเงียบไปหลังจากที่เขาออกมาปฏิเสธด้วยความรวดเร็ว แต่อย่างน้อย ก็ทำให้หลายคนเพิ่งรู้ว่ามีคนไทยโปรไฟล์แบบนี้ด้วย
เขาคือ ประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการ Sea Ltd แพลตฟอร์มดิจิทัลเจ้าของ Garena (ให้บริการเกม RoV, Free Fire), Shopee และ SeaMoney (ทำ ShopeePay) บริษัทเทคที่มีมูลค่ากิจการระดับหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นกรรมการอิสระของบริษัทเงินติดล้อที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ปีที่แล้ว
เป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ด้าน SME
ก่อนหน้านั้นเขาเคยนั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดของทีมเศรษฐกิจเอเชียที่ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ที่สิงคโปร์
เขาเป็นคนแรกในอาเซียนที่ได้รับเชิญจาก World Economic Forum ให้เป็นสมาชิกกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ (Global Chief Economist Community) เพื่อช่วยออกแบบอนาคตเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19
ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้เป็นคณะกรรมการ Digital Readiness Council ดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลของประเทศ
เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเดียวในเอเชียที่ชนะรางวัลพยากรณ์เศรษฐกิจยอดเยี่ยมระดับโลกของ Consensus Economics ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน
ได้รับการคัดเลือกจาก Asia Society ให้เป็น 1 ใน 21 ผู้นำรุ่นใหม่ในเอเชีย ประจำปี 2017 ได้รับการโหวตเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคอันดับ 1 ของประเทศไทยโดย Asia Money
เป็นกรรมการที่ปรึกษาของเทใจดอทคอม แพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อสังคมแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
เป็นคนไทยคนเดียวที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะจาก Harvard University พร้อมรางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม รวมถึงจบปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ด้านการพัฒนาระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จบปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จาก London School of Economics and Political Science
เคยทำงานที่กระทรวงการคลังในประเทศไทย และเคยสอนด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomic) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีผลงานหนังสือของตัวเอง 2 เล่มคือ Futuration และ The Great Remake (เขาเขียนหนังสือสนุกมาก และเล่มหลังเพิ่งได้รางวัลสื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่วิถีดิจิทัล จาก OKMD)
และเป็นทายาทของ ดร.สุรเกียรติ์ – ดร.ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย
นั่นคือประวัติชีวิตของเขา ที่พอเราได้ฟังก็ต้องรีบติดต่อขอสัมภาษณ์
ปัจจุบัน ดร.สันติธาร ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่สิงคโปร์ เขายินดีพูดคุยกับ The Cloud ผ่านหน้าจอ แถมยังชวนภรรยา (ชนาทิพ เสถียรไทย) มาถ่ายภาพประกอบบทสัมภาษณ์ให้ด้วย
มาทำความรู้จักผู้ชายคนนี้เพิ่มอีกสักนิด คนที่บางคนอยากเห็นเขาเป็นผู้ว่าฯ บางคนบอกว่าน่าเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง บางคนก็ว่าควรเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล บางคนถึงกับบอกว่า อยากเห็นเขาเป็นนายกรัฐมนตรี
คุณคิดว่าเขาอยากเป็นไหม

คุณชอบบรรทัดไหนในประวัติตัวเองที่สุด
ยากเลยครับ (คิดนาน) สิ่งที่ทำให้ผมมีความสุขที่สุดน่าจะเป็นหนังสือที่เขียน มันเป็นส่วนที่เล็กมาก ถ้าอ่านประวัติผมเร็ว ๆ อาจจะไม่เห็นด้วยซ้ำ เพราะหนังสือผมเป็นภาษาไทย เวลาไปพูดต่างประเทศเขาจะไม่เก็ตมาก เลยไม่ได้เขียนอธิบายมากนัก ผมภูมิใจที่สุดเพราะ CV บอกแค่เราไปถึงที่ไหนมาบ้างเหมือนอัลบั้มรูป แต่ไม่ได้เล่าถึงการเดินทางเรียนรู้ของตัวเองที่ได้ลองผิดลองถูกมาทั้งชีวิต และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคนอื่นจนไปถึงจุดหมายต่าง ๆ นั้นได้ สำหรับผมการเดินทางสำคัญยิ่งกว่าจุดหมาย เลยตั้งใจเขียนออกมาเป็นหนังสือ 2 เล่มนี้ เหมือนเชฟที่ตั้งใจทำอาหารจานหนึ่งให้ดี
คุณมาเขียนหนังสือได้ยังไง
ตอนนั้นผมทำงานอยู่ที่ธนาคารเครดิตสวิส ได้ไปท่องโลกคุยกับนักลงทุน นักวิเคราะห์ คนวางนโยบายและได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง มีบางเรื่องที่น่าจะมีประโยชน์กับคนทั่วไปด้วยไม่ใช่แค่นักลงทุน เลยได้เขียนคอลัมน์ในประชาชาติธุรกิจ ตอนแรกผมพิมพ์ภาษาไทยไม่ได้ เลยต้องพิมพ์เป็นภาษาคาราโอเกะแล้วให้คนอื่นมาพิมพ์เป็นภาษาไทย รูปประโยคก็ประหลาด แล้วค่อย ๆ พัฒนามา
ช่วงปี 2015 ผมสนใจเรื่องอนาคต ตอนนั้นเพิ่งมีลูกคนแรก ก็คิดว่าจะเตรียมตัวเขากับอนาคตยังไงดี มันเป็นยุคที่โลกกำลังเปลี่ยน เรื่องเทคเริ่มเข้ามา ความไม่แน่นอนเริ่มเห็นชัดขึ้น พอกังวลเรื่องอนาคต ก็ศึกษาเรื่องอนาคตมากขึ้น เลยเกิดแรงบันดาลใจเขียนเป็นคอลัมน์ชื่อ ‘จดหมายแห่งอนาคต’ เป็นจดหมายที่พ่อเขียนถึงลูกในอีก 20 ปีข้างหน้า นี่คือสิ่งที่พ่อคิดกับอนาคตของโลกแล้วก็ส่งผลถึงการเลี้ยงลูกด้วย ทีแรกคิดว่าจะเขียนได้ไม่กี่ตอน ไป ๆ มา ๆ เขียนไป 20 กว่าตอน แล้วก็รวมเล่มในชื่อ Futuration นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมกล้าเปลี่ยนงาน ย้ายจากวงการการเงินมาอยู่วงการเทค
คุณเขียนหนังสือดีมาก มีวิธีอธิบายเรื่องยากให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยการเปรียบเปรยให้เห็นภาพแบบไม่เหมือนใคร นั่นคือความตั้งใจของคุณใช่ไหม
วิธีเขียนที่เปรียบเปรยอะไรเยอะ ๆ ไม่ได้เขียนเพื่อให้คนอ่านเข้าใจอย่างเดียวหรอก นี่คือวิธีที่ผมเข้าใจโลกเลย ตั้งแต่เด็กแล้วผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เก่งเหมือนเพื่อนที่เข้าใจได้ทุกเรื่อง ความจำไม่ดีด้วย ถึงเข้าใจผมก็จำไม่ได้ ก็เลยต้องทำให้ง่ายขึ้นด้วยการแบ่งเรื่องเป็นชิ้น ๆ พอทำบ่อย ๆ ก็กลายเป็นทักษะ เริ่มเห็นภาพเชื่อมโยงของโลก ส่วนจดหมายถึงลูก ภาษาไทยผมไม่ได้แข็งมาก เขียนเป็นจดหมายถึงลูกเขียนผิดบ้างคนคงให้อภัยเพราะเขียนถึงลูก
ตอนเด็ก ๆ คุณเรียนไม่เก่งหรือ
ไม่ใช่ไม่เก่งเลยครับ แต่ขึ้น ๆ ลง ๆ บางที่ผมเก่งมาก บางที่ผมไม่เก่งเลย ชีวิตจะขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่สร้างความเป็นตัวตนของผมมาก มันทำให้ผมชินกับการเป็นทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ คนเก่งและคนไม่เก่ง เห็นทั้งสองด้าน เลยอึด เป็นนักสู้ เพราะรู้ว่าวันนี้เราแพ้พรุ่งนี้ก็ชนะได้ ขณะเดียวกันก็ไม่คิดว่าตัวเองเจ๋งเกินไปจนลืมตัว เป็นน้ำครึ่งแก้วที่คอยเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอด
คุณจบปริญญาเอกจากฮาร์วาร์ด แต่สมัครงานแล้วถูกบริษัทหลายสิบแห่งปฏิเสธ มันเกิดอะไรขึ้น
นี่คือการเปลี่ยนสายงานครั้งแรกครับ ถ้าผมไปสมัครงานแนวนโยบายหรือวิชาการซึ่งตรงสาย น่าจะง่ายกว่านี้ แต่จู่ ๆ ผมอยากเปลี่ยนไปทำงานภาคการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีการแข่งขันที่เข้มข้น เขาไม่ได้ให้ค่าจุดเด่นด้านวิชาการของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นห่วงด้วยซ้ำว่าจะวิชาการเกินไปไหม จะคุยกับนักลงทุนรู้เรื่องไหม ของที่ควรจะเป็นสิ่งดีกลับกลายเป็นชนักติดหลังเรา ผมสมัครงานไปทั่วโลก ทั้งอเมริกา ลอนดอน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย คนไทยเรียนสายวิชาการที่อเมริกามาสมัครงานด้านการลงทุนที่อินเดียมันก็สมควรจะถูกปฏิเสธนะ (หัวเราะ) พอเราเปลี่ยนสายงานก็ต้องปรับตัวใหม่ แล้วหาจุดขายของตัวเองใหม่ให้เจอ
พอได้ทำงานที่ธนาคารเครดิตสวิส นักวิชาการอย่างคุณสื่อสารกับนักลงทุนรู้เรื่องไหม
ก็ไม่รู้เรื่องจริงๆ (หัวเราะ) มันสื่อสารได้แหละ ไม่แย่ แต่สื่อสารตรงเป้ากระชับเท่าที่นักลงทุนต้องการไหม ตอบโจทย์ไหม ก็ไม่ ตอนแรกเราใหม่มาก ไม่รู้จักกลุ่มผู้ฟังเลย ไม่ใช่กลุ่มที่เราคุ้นเคย ต้องใช้เวลาปรับตัวปีสองปี พอเป็นนักการเงินมันต้องพยากรณ์บอกว่าเศรษฐกิจจะไปทางไหน ค่าเงิน ดอกเบี้ย จะไปทางไหน มีผิดมีถูก ถ้าผิดเขาก็มาด่า นักลงทุนบางคนก็ไม่ได้สุภาพนัก พูดไม่ไว้หน้ากันเท่าไหร่ แต่มันก็ทำให้เรายิ่งต้องลับฝีมือหนักขึ้นและเตรียมตัวมากขึ้นก่อนไปเจอทุกคน
คำด่าแรงที่สุดที่เคยได้รับคือ
อันที่แรงที่สุดไม่ใช่ที่ผมเจ็บที่สุด
งั้นเอาคำด่าที่เจ็บที่สุด
เป็นสมัยที่สมัครปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ดหลายครั้งแล้วยังไม่ได้ ตอนนั้นหลงทางนิดหน่อย สะเปะสะปะ ไม่รู้จะเรียนทางไหน ควรเรียนเอกไหม ผมไปคุยกับอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดูว่าเขามีโปรแกรมอะไร หาคนแบบไหน ผมไปเจออาจารย์คนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษ เขาไม่ถามอะไรผมเลย เขาบอกว่า อย่างคุณเนี่ยความสามารถไม่พอหรอก อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง คุณไม่มีทางขึ้นมาระดับเราได้ ไม่มีทางได้มหาวิทยาลัยดี ๆ อย่าคิดว่ามาคุยแบบนี้แล้วจะได้เส้นนะ ใส่มาเป็นชุด ค่อนข้างดูถูกเราเลย เจ็บมาก เพราะเราไม่ได้มาหาเส้น จากที่เจ็บอยู่แล้วเพราะสมัครไม่ได้ มาบอกอีกว่าไม่มีทางเป็นไปได้ และดูแคลนจุดยืนเรา นั่นแหละที่ผมเจ็บที่สุด

สมัครฮาร์วาร์ดกี่รอบถึงได้
ผมจำไม่ได้ สมัคร 3 ปี บางปีก็มากกว่าหนึ่งโปรแกรม
ทำไมต้องเข้าฮาร์วาร์ดให้ได้
จริง ๆ ก็แอบเปลี่ยนใจไปแล้วนะ (หัวเราะ) ผมผูกพันกับที่นี่เพราะผมเกิดที่บอสตัน คุณพ่อเรียนปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ด มีภาพถ่ายผมคู่กับคุณพ่อในชุดครุยปริญญาเอกที่ Harvard Yard เราก็อยากจะกลับไปตรงนั้น แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยกดดันให้ไปทางนั้นนะ ไม่ต้องเรียนเอกก็ได้ ผมอยากได้ประสบการณ์ที่อเมริกา เลยไปเรียนโทที่ฮาร์วาร์ด เป็นโปรแกรมที่ผมชอบเพราะเน้นเรื่องการพัฒนาประเทศ เป็นคอร์สที่ไม่ค่อยมีที่อื่น ทีแรกจะไม่เรียนต่อเอก แต่เรียนไปแล้วดันคะแนนดี
ผมได้ฝึกงานกับอาจารย์ Joseph Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ทำงานกับแกก็ต่อสู้พอสมควร แกแฮปปี้มาก สุดท้ายก็ได้จดหมายแนะนำจากแก เลยลองสมัครทำให้เต็มที่ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น แต่ตั้งเงื่อนไขให้ตัวเองสูงสุดคือ ถ้าไม่ได้ทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยร้อยเปอร์เซ็นต์ทั้งค่าเรียนค่ากินค่าอยู่ตลอดสามสี่ปีที่เรียน ผมจะไม่เรียน เพราะมันเสียเวลานานไป เสียเงินที่บ้าน ไม่เอาแล้ว จบแค่นี้ แต่สุดท้ายก็ได้ทั้งทุนและค่ากินอยู่จากมหาวิทยาลัย 2 ทุนจนเรียนจบ
ทุนการศึกษาสำคัญกับคุณยังไง เรื่องเงินไม่น่าเป็นปัญหาของครอบครัวคุณนะ
อาจจะเพราะผมโตเมืองนอก เพื่อนที่โตมาด้วยกันให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นอิสระทางการเงิน ถึงจุดหนึ่งคุณควรยืนด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินหรือใบเบิกทางจากครอบครัว นั่นคือสิ่งที่อยู่ในความคิดผมตั้งแต่เด็ก จะให้เราเรียนต่ออีกสามสี่ปีโดยใช้เงินพ่อแม่ก็ไม่ใช่ เราเริ่มหาเงินเลี้ยงตัวเองได้แล้วด้วย นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผมเลือกทำงานด้านการเงินระหว่างประเทศหลังจบเอก เพราะอยากหาเลี้ยงครอบครัว สร้างฐานะบนลำแข้งตัวเองในต่างประเทศให้ได้
ตำแหน่ง Group Chief Economist เป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในบริษัท ตำแหน่งนี้ทำอะไร
ตำแหน่งนี้ผมจะเล่าด้วย 3 ตัวอักษรคือ R A P จำง่าย ๆ R คือ Research เป็นผู้นำทางความคิด เป็นคนวิจัยเพื่อความเข้าใจในเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งค่อนข้างใหม่ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเราต้องตามให้ทันตลอด
A คือ Academy พอวิจัยแล้วก็เผยแพร่ความรู้ออกมา เพราะเราอยากให้คนในสังคมเข้าใจตรงกัน การเขียนหนังสือของผมก็เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ การบรรยายตามเวทีต่าง ๆ หรือสอนหนังสือก็เพื่อตรงนี้
P คือ Public Policy ขับเคลื่อนเรื่องนโยบายต่าง ๆ ที่ Sea เราไม่ใช่องค์กรวิจัยที่จะเน้นผลิตรายงานวิจัย บางครั้งวิเคราะห์เสร็จแล้วเราลงมือทำเองเลย เช่น เห็นว่า E-sport มีศักยภาพมากในอนาคต เด็กรุ่นใหม่ก็อยากทำด้านนี้มากแต่ไม่รู้ว่าต้องมีความรู้อะไรยังไง แทนที่เราจะทำเป็นรายงานยืดยาว ก็ตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ Garena Academy สอนคนที่อยากเป็น Caster, Game Programmer, Developer แล้วก็ใส่คอร์สต่าง ๆ เข้าไปในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาครัฐ
ตอนนี้มีเติมก้อนที่ 4 ก้อนเข้าไปด้วยคือ Sustainability ดูว่าเราจะช่วยสังคมได้ยังไง ทำกิจกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ยังไง รวมกันเป็น RAPS
แต่จริง ๆ แล้ว งานของบริษัทเทคไม่ได้แบ่งฝ่ายชัดเจนขนาดนั้น งานของผู้บริหารคือ มีไฟที่ไหนก็ไปดับที่นั่น ถึงเราพยายามขีดเส้นว่า ไฟแบบนี้เราดับนะ ไฟแบบนี้เราดับไม่เป็น ขออย่าเรียกเราไป แต่บางทีก็ถูกเรียกไปอยู่ดี ก็ต้องลุยกันไป
งานนี้ใครจีบใครก่อน
ผมจีบเขาก่อน บังเอิญผมเจอเจ้าของครั้งหนึ่งแล้วคุยกันถูกคอ ผมก็ถามเขาเล่น ๆ ว่า บริษัทคุณไม่อยากมีตำแหน่ง Chief Economist เหรอ เขาก็งง คุยไปคุยมาเขาเลยให้ผมไปทำการบ้านมาบอกเขา

คุณถูกสัมภาษณ์งานแบบไหน
ผมต่างจากคนอื่นตรงได้คุยตรงกับเจ้าของเลย พอผมไปเขียนมาว่าทำไมต้องมีตำแหน่งนี้ เขาก็ถามว่า ผมทำอะไรได้ ทำไมผมถึงเหมาะกับอาชีพนี้ ดูนิสัยผมเยอะ ถามว่าอะไรคือสิ่งที่ภูมิใจที่สุด สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดในงานเก่า
ผู้ก่อตั้งเขามีพรสวรรค์ ดูคนเก่งมาก ตอนแรกเขาก็ถามว่าคุณเปลี่ยนครั้งใหญ่นะ จะไหวเหรอ คือปรับตัวจากภาคการเงินมาเป็นสตาร์ทอัพเป็นเทค แต่พอเปิดประวัติผมนิดเดียวก็พูดว่า อ๋อ ผมเคยเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่ตอนจบ ป.เอก แล้วเข้าภาคการเงิน ครั้งนั้นน่าจะเปลี่ยนมาก คุณปรับตัวมาครั้งหนึ่งแล้ว แปลว่าคุณชอบความท้าทายและไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม ซึ่งตรงนี้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสังเกต เขาดูลึกและทะลุมาก
เวลาผมรับคนก็ทำอะไรคล้าย ๆ กัน ผมพยายามดูว่าแรงขับของเขาคืออะไร แพสชันคืออะไร นิสัยใจคอเป็นยังไง จะเข้ากับทีมยังไง บางครั้งผมก็จัดเป็นกลุ่มให้นั่งคุยกัน ทีมผมมีประชุมนั่งถกเถียงเรื่องนี่นั่นกันเยอะ บางเรื่องก็ไร้สาระ แต่เราถกกันเข้มมาก (หัวเราะ) เวลามีประชุมเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับบริษัท เราชวนเขามาร่วมถกด้วยเหมือนอยู่ในทีมแล้ว ดูว่าเขาเป็นยังไง วางตัวยังไง ตอบยังไง บรรยากาศเวลาอยู่ในวงพูดคุยเป็นยังไง
ดูจะเป็นการเปลี่ยนงานครั้งใหญ่ที่ราบรื่น
แต่ก่อนจะมาถึงตรงนั้น มันมีอีกเรื่อง คือหลังจากที่คุยถูกคอกันครั้งแรก เขาก็หายไปเลย คงยุ่งมากเพราะเพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่อเมริกา ผมคิดว่าไม่น่าจะได้งานนี้แล้ว ผมก็ไปสัมภาษณ์งานอื่น จนผมเกือบตกลงกับงานอื่นที่ยังอยู่ในภาคการเงินแล้ว แต่งานนี้ก็ยังติดอยู่ในใจเพราะน่าสนใจดี ผมเลยส่งข้อความไปถามเขาอีกทีว่าเรายังมีความหวังอยู่หรือเปล่า เขาตอบมาว่า เดี๋ยว ๆ อย่าเพิ่งไปตอบตกลงกับที่อื่น เรามาคุยกันต่อ
เบื้องหลังว่าทำไมผมยังตื๊อก็คือ ตอนผมสมัครงานที่ธนาคารเครดิตสวิสก็เป็นแบบเดียวกัน ผมนึกว่าจะไม่ได้แล้ว เพราะอีเมลไปถามเขาก็ไม่ตอบ เงียบไปพักใหญ่ จนผมเริ่มไปดูทางอื่นแล้ว ผมเว้นไปเป็นเดือนเลยส่งเมลไปอีกครั้ง ได้รับคำตอบว่า เรายังพิจารณาคุณอยู่ แต่คนที่เคยสัมภาษณ์คุณเพิ่งลาออก แล้วส่งต่องานกันไม่ดี ข้อมูลของคุณเลยมาไม่ถึง เขาเลยนัดผมไปคุยต่อ ผมจำได้ว่าเมื่อ 8 ปีก่อน เคยเกิดอะไรแบบนี้กับเรา หรือเราจะมีดวงแบบนี้ ก็เลยตื๊อก่อน เอาให้ชัวร์
คุณทำตำแหน่งนี้มา 4 ปี ความสนุกที่สุดของงานนี้คืออะไร
คงเป็นคนที่ได้เจอ ทั้งคนในบริษัทที่ได้สัมผัสด้วย ในทีมผมเป็นคนรุ่นใหม่ที่เก่ง มีไฟ สนุก รักการเรียนรู้ ส่วนคนอื่น ๆ ในบริษัทก็เป็นคนเก่งที่หลากหลายด้านมาก ตำแหน่งนี้ผมยังได้คุยกับหลายส่วน ได้เรียนรู้แนวคิดของเขา บวกกับที่ผมเป็นตัวแทนของบริษัทไปเวทีระดับโลกบ่อย ๆ เช่น เขาส่งผมไปการประชุมที่ดาวอสงาน World Economic Forum ที่มีผู้นำทั้งโลกมา ทั้งนายกฯ ซีอีโอบริษัทชั้นนำ แล้วก็เป็นตัวแทนในวงอื่น ๆ หนังสือ The Great Remake ก็ได้เนื้อหาจากตรงนี้เยอะ เพราะได้คุยกับคนที่มีความคิดจากหลายสาขา หลายมุมมองมาก ๆ นี่คือสิ่งที่สนุกที่สุด เพราะผมรักการเรียนรู้ ผมทำทุกอย่างด้วยความอยากรู้ ยิ่งอยู่ในวงการที่เราไม่รู้เยอะ ๆ มันทำให้เราอยากรู้ กระตุ้นให้เราขวนขวาย สำหรับผมมันสนุก พอเข้าใจแล้วเราก็เอามาเขียนเล่า แต่เล่าเพื่อให้ตัวเราได้เรียนรู้ไปด้วย เป็นกระบวนการแบบนั้น
วัฒนธรรมองค์กรของ Sea ที่คุณชอบที่สุดคืออะไร
Sea มี Core Value ที่เป็นตัวตนของบริษัทอยู่ 5 อย่าง แต่มีอันหนึ่งที่ด้วยส่วนตัวแล้วผมว่าสำคัญที่สุดและผมชอบที่สุดตั้งแต่เข้ามาเลยคือ We stay humble การถ่อมตัวของเขาไม่ใช่แค่พูดถ่อมตัว แต่เป็นทัศคติที่ว่าเราไม่ได้เหนือกว่าคนอื่น เรายังมีหนทางให้เรียนรู้และเติบโตอีกมาก แม้แต่ตอนที่เราเป็นบริษัทใหญ่แล้วผู้ก่อตั้งก็ยังพูดอยู่เสมอว่า เรายังไม่ใหญ่เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราอยากทำและอยากเป็น เราเป็นแค่เด็กอ่อนเท่านั้น เขาชอบเวลาที่ตัวเองและทุกคนยังเป็นคนตัวเล็ก เป็นผู้ท้าชิง เขาไม่อยากให้ทีมคิดว่าเราเป็นแชมป์แล้วต้องคอยป้องกันเข็มขัดแชมป์ เรายังเป็นผู้ท้าชิงเสมอ
ผมว่าอันนี้แหละใช่ และตรงกับผมมาก ผมก็ชอบการเป็นผู้ท้าชิง มันทำให้เรามี Growth Mindset กล้าทดลอง กล้า Disrupt ตัวเองตลอดเวลา เพราะเราไม่ใช่ตัวใหญ่ที่ต้องระวังการสูญเสียสิ่งที่มีอยู่ เราเปลี่ยนแปลงเพื่อเติบโตได้เสมอ ถ้าล้มก็ไม่เป็นไร ลุกขึ้นแล้วเรียนรู้ แนวคิดนี้ทำให้บริษัทเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก
สอง ทำให้เป็นหนึ่งในน้อยบริษัทของโลกที่ประสบความสำเร็จในการเป็นบริษัท Regional ในอาเซียน อาเซียนมันปราบเซียนครับ เพราะไม่เหมือนกันเลยสักประเทศ คนละภาษา คนละวัฒนธรรม ต่างชาติที่เข้ามาก็ไม่ประสบความสำเร็จ Sea ประสบความสำเร็จได้เพราะเขาบริหารแบบบริษัทท้องถิ่น คือบริษัทในไทยก็ใช้ผู้บริหารไทย บริหารแบบไทย บริษัทอินโดก็ให้คนอินโดบริษัทแบบคนอินโด ไม่ได้เป็นบริษัทที่คิดว่าฉันรู้ดีที่สุดแล้วเอาความรู้มาครอบ เขาเคารพความแตกต่างในแต่ละประเทศ เชื่อว่าคนท้องถิ่นรู้ดีที่สุด ความ Humble มันอยู่ลึกมากในหลาย ๆ อย่าง
สาม เป็นบริษัทที่เน้นการทำมากกว่าพูด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ชิน ก่อนเข้าทำงานที่นี่เราจะคุ้นกับการที่ผู้บริหารประกาศใหญ่ไว้ก่อนแล้วค่อยทำตาม แต่ที่นี่ไม่เป็นแบบนั้น ต้องทำจนมั่นใจระดับหนึ่งก่อน มั่นใจแล้วจะพูดหรือเปล่านั่นอีกเรื่อง เป็นบริษัทที่ไม่เด่นไม่ดังก็ไม่เป็นไร เราทำให้ดีที่สุด แต่ไม่จำเป็นต้องเด่นที่สุด ถ้ามันดีมากจริง ๆ แล้วผมไปบอกว่า เปิดเรื่องนี้ให้ดังให้เป็นที่รู้จักไหม ก็จะมีคำถามว่า ทำไปเพื่ออะไร หรืออยากดังไปเพื่ออะไร ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ถ้าเราอยากให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้ ต้องการขับเคลื่อนอะไรบางอย่างก็โอเค We stay humble เลยเป็นประโยคหัวใจของบริษัท
บริษัทต่าง ๆ มักจะนิยามตัวเองด้วยความสำเร็จหรือความเป็นผู้นำด้านใดด้านหนึ่ง Sea นิยามตัวเองว่ายังไง
เรื่องนี้ตลกดีครับ เพราะจะมีการถกเถียงกันทุกครั้งที่บริษัทจะออกสื่อ ปัจจุบันเราเรียกตัวเองเป็น Global Consumer Internet Company อย่างมากก็เติมคำว่า Leading มีแค่นี้ ถ้าสื่อหรือคนนอกพูดถึง เขาจะถามว่าพูดได้ไหมว่าเป็นหนึ่งในบริษัทมีมูลค่าสูงที่สุดในอาเซียน พูดได้ไหมว่าเราเป็นหนึ่งในบริษัทเทคที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เราก็จะถามคำถามเดิมว่า คุณอยากเอาเราไปพูดแบบนั้นเพื่ออะไร จำเป็นหรือเปล่า เป็นเวทีเสวนาที่ต้องการโฆษณาให้คนมาดูเหรอ ไม่งั้นเราไม่ค่อยจะอะไรเท่าไหร่ สุดท้ายก็จะจบลงด้วยประโยคคล้าย ๆ แบบนี้ Leading Global Consumer Internet Company

มีผลงานไหนของคุณที่เราเห็นใน Shopee หรือ Garena บ้าง
อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนเห็นเป็นชิ้น ๆ ครับ เพราะผมไม่ใช่คนทำผลิตภัณฑ์ แต่ที่เห็นอาจจะเป็นแนวทางที่ผมช่วยปั้น เช่น ผมให้ความสำคัญมาก ๆ กับการพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Skills) ให้คนและธุรกิจ SMEs ในหลายรูปแบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและเตรียมคนสู่อนาคต และมันก็สะท้อนออกมาในหลายโครงการ เช่น Shopee จะมีหลายโปรแกรมที่ช่วยผู้ประกอบการ SME เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพื่อให้ทำธุรกิจออนไลน์ได้ประสบความสำเร็จ จากไม่เคยทำธุรกิจเลยจนบางทีสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้โดยใช้เครือข่ายของ Shopeeในอาเซียนช่วย
อย่างการีนา คนไทยชอบเล่น RoV มาก ๆ เราก็ใช้ RoV เป็นสื่อให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาช่วยกันออกแบบบางส่วนของเกม และกระตุ้นการท่องเที่ยวไปด้วย ทุกปีเรามีงาน ‘RoV Design Contest’ ให้ออกแบบเสื้อผ้าในเกมที่เรียกกันว่า Skin ที่ตัวเองชอบ โดยมีแรงบันดาลใจจากสถานที่ท่องเที่ยวหรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทย ผู้ชนะจะได้รางวัลจากภาครัฐที่ร่วมให้การสนับสนุนโครงการ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสื้อผ้านั้นจะได้ทำจริงให้คนทั้งภูมิภาคที่เล่น RoV ซื้อเสื้อผ้านี้ได้ มีไอเดียครีเอทีฟเจ๋ง ๆ มากมาย อย่างชุดจากผีตาโขน เราอยากให้คนมีทักษะพวกนี้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ผมพูดได้กว้าง ๆ
อีกงานหนึ่งที่อาจเห็นได้ชัดหน่อยคืองานวิเคราะห์-วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ (อายุ16 – 35 ปี) ในอาเซียน ว่าเขาอยากทำอาชีพอะไร อยากเรียนหนังสือแบบไหน ช่วงโควิดเจอความยากลำบากตรงไหน อยากเห็นประเทศดีขึ้นด้านไหนบ้าง อันนี้ทำทุกปีกับ World Economic Forum ในธีมต่าง ๆ กันไปโดยหวังว่าจะเพิ่มองค์ความรู้ให้กับทั้งผู้วางนโยบาย ธุรกิจ สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน ซึ่งจะเห็นว่าข้อคิดที่ได้หลายอย่างก็นำไปใช้ในการดีไซน์โครงการต่าง ๆ ที่พูดถึงเมื่อกี้
จากข้อมูลที่ได้มา คนรุ่นใหม่ในเมืองไทยมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
หลายอย่างเลย คนไทยมีจิตวิญญาณผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งมาก ชอบทำธุรกิจของตัวเอง ชอบทดลอง กล้าเสี่ยง ทำให้มีเกิด SME รุ่นใหม่จำนวนมาก หลายคนยังเป็นนักเรียนอยู่เลย และใช้รายได้จากส่วนนี้ไปช่วยครอบครัว จ่ายค่าเล่าเรียน ส่วนหนึ่งก็เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้งานผู้ประกอบการง่ายขึ้น ไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก
แล้วคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ การได้เรียนรู้ในที่ทำงานเป็นปัจจัยสำคัญเกือบเท่าเงินเดือนเลยในการเลือกงาน บางครั้งก็มองว่าการเรียนในห้องเรียนอาจจะไม่ตอบโจทย์ขนาดนั้น เขาชอบฝึกงาน รู้สึกว่าสำคัญไม่แพ้การเรียนในห้อง
และยังมี Global Mindset สูง คิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลก คนรุ่นใหม่คิดแบบนี้เยอะกว่ารุ่นก่อน ๆ คิดว่าโลกเชื่อมกัน เราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เป็นส่วนหนึ่งของทางออก แล้วก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นแต่เกือบทุกประเทศที่เราทำสำรวจเลย เท่าที่จำได้นะครับ
คุณเป็นคณะกรรมการ Digital Readiness Council ดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลของประเทศสิงคโปร์ งานนี้ต้องทำอะไรบ้าง
หน่วยงานนี้ดูแลเรื่องการเข้าถึงและความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล โจทย์คือเอาตัวแทนภาครัฐภาคประชาชนและเอกชนมารวมกันเป็นคณะกรรมการ แล้วดูว่าจะทำยังไงเพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงดิจิทัลของคนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือกลุ่มที่เข้าไม่ค่อยถึงบริการดิจิทัล รวมถึงรุ่นเด็ก ๆ ซึ่งอาจจะเข้าถึงแต่อาจจะยังไม่มีพื้นฐานทำให้ถูกแฮ็ค ถูกขโมย เชื่อเฟคนิวส์ ผมช่วยดูตรงนั้น
ถ้าจะมีเหตุผลสักข้อ ทำให้คุณกลับมารับตำแหน่งในหน่วยงานสักแห่งเพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทย เหตุผลข้อนั้นน่าจะเป็นอะไร
ไปแล้วสร้างอิมแพคได้จริง พออายุมากขึ้น จุดมุ่งหมายต่าง ๆ ในชีวิตถูกเช็กถูกแล้ว จุดมุ่งหมายที่ใหญ่ขึ้นก็คือ การสร้างอิมแพค ถ้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอยู่ในตำแหน่งหรือแพลตฟอร์มที่ทำอะไรได้จริง ไม่ใช่เข้าไปแค่เก๋ ๆ หรือต้องยุ่งแต่เรื่องตำแหน่ง เรื่องการเมืองจนไม่ได้ทำงาน สอง ต้องขึ้นกับกลุ่มคน ผมเชื่อในตัวทีมมากกว่าตัวคน ผมไม่เชื่อว่ามีซูเปอร์สตาร์หรือใครในวงการไหน ๆ ที่คนเดียวทำได้ทุกอย่าง มันต้องมากับทีมที่เชื่อใจกันได้ คิดคล้ายกัน จึงต้องอยู่ร่วมกับทีมที่ทำด้วยกันแล้วสร้างผลได้จริง แล้วก็ต้องเป็นเรื่องที่เรามีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การเงิน เศรษฐกิจมหภาค หรือเรื่องที่เรามีประสบการณ์ คงมีเงื่อนไขเหล่านี้ ถ้าสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงก็เป็นอะไรที่น่าทำ

หลายเดือนก่อนมีข่าวปล่อยออกมาว่า คุณคือตัวแทนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. บางคนบอกว่าโปรไฟล์ของคุณน่าจะเหมาะกับรัฐมนตรีคลังมากกว่า บางคนก็บอกถึงขั้นว่า อยากเห็นคุณเป็นนายกฯ คุณเคยฝันถึงตำแหน่งพวกนี้บ้างไหม
กลับไปที่เรื่องอิมแพคครับ มันเหมือนกับตอนที่ผมร่วมงานกับ Sea ผมคิดว่าบริษัทน่าสนใจ คนมีวิสัยทัศน์ ทีมน่าจะไปกันได้ ผมมีส่วนที่เขาไม่มีซึ่งผมจะไปเติมเต็มให้ได้ แต่มันไม่มีตำแหน่งนี้ ผมเลยเสนอตำแหน่งนี้ขึ้นมาว่า ผมคงดูตรงนี้เป็นหลัก ตำแหน่งเป็นชื่อเป็นหัวโขน สุดท้ายเราต้องดูว่าหัวโขนนั้นบทจริง ๆ คืออะไร ชื่อเป็นพระเอกแต่อ่านบทดูแล้วไม่ใช่พระเอก มันก็ไม่ใช่พระเอก ถ้าถามว่าอยากทำตำแหน่งอะไร ก็คงอยู่ที่เนื้อหางาน กลุ่มคนที่อยู่รอบตัว สร้างอิมแพคได้จริงไหม และตรงกับสิ่งที่เขาขาดและเรามีหรือเปล่า
ตำแหน่งที่สร้างอิมแพคได้มาก ๆ มักเกี่ยวข้องกับการเมือง บางคนยอมโดดเข้าสู่วงการการเมืองเพื่อให้ได้แก้ปัญหา แต่บางคนก็ไม่อยากเปลืองตัว คุณกลัวการเมืองไหม
กลัวครับ (ตอบทันที)
กลัวอะไร
ผมมีความขัดแย้งในตัวเองอยู่นิดหนึ่งคือ ผมชอบนโยบายมาก แต่ไม่ค่อยชอบยุ่งกับเรื่องการเมืองมากนัก นิยามเรื่องการเมืองของผมในที่นี้หมายถึง การที่แต่ละวันเราต้องมานั่งเล่นเกมการเมือง ระวังตัว แก้ข่าวโน่นนี่จนไม่มีเวลาทำงานจริงจัง หรือเข้ามาอยู่กลางดงพายุอะไรบางอย่าง ต้องวุ่นกับเรื่องที่ไม่ใช่การขับเคลื่อนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีจริง ๆ นั่นคือจุดที่ทำให้ผมไม่อยากเข้าไปทำ
แต่ขอพูดให้ชัดว่า ผมไม่ได้กลัวความขัดแย้ง ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ผมโอเคกับมันมาก ๆ ผมโตมากับที่ที่มีความขัดแย้งเต็มไปหมดในชีวิตทำงาน ความขัดแย้งหลายอย่างดีด้วยซ้ำไปที่มีความต่าง การเห็นต่างเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่ความขัดแย้งบางอย่างก็ไม่ Productive ไม่ได้นำไปสู่คำตอบอะไร ซึ่งเสียเวลาเปล่า
ที่สำคัญมันจะกระทบครอบครัวมากด้วย โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดีย ครอบครัวผมลูกเล็กและค่อนข้างมีชีวิตส่วนตัวมาก การตัดสินใจจะเข้าไปทำเรื่องแบบนี้จึงต้องเคารพและได้รับความเห็นชอบจากที่บ้าน
นอกจากนี้การเข้ามาทำงานการเมืองมีค่าเสียโอกาส จริงอยู่ที่จะสร้างอิมแพคได้เยอะในบางเงื่อนไข แต่บางครั้งเราไม่ได้อยู่ในการเมืองก็สร้างอิมแพคได้เหมือนกัน ถ้าเข้าไปอยู่ในการเมืองแล้วเงื่อนไขไม่ใช่ต้องนั่งระวังหลัง ระวังภาพลักษณ์อย่างเดียว มาอยู่ข้างนอกแล้วทำงานดีกว่าไหม มันเป็นคำถามนั้นมากกว่า ไม่ใช่เรื่องชอบหรือไม่ชอบ
ช่วงที่คุณพ่อของคุณอยู่ในการเมือง คุณเห็นอะไรบ้าง
เห็นว่าเป็นคนที่ต่อสู้เยอะ คนทั่วไปมองว่าคุณพ่อเก่ง ดูเหมือนบินสูงมาตลอด แต่ผมเห็นอีกภาพในฐานะลูก ผมเห็นพ่อที่ต้องต่อสู้ค่อนข้างเยอะและเหนื่อยกับการเมืองมาก เขายึดหลักการอยากทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้องเสมอ พยายามทำงานทุกอย่าง ทุ่มเทสุดความสามารถตลอด แต่ก็ต้องต่อสู้กับเรื่องปวดหัวทางการเมืองพอสมควร ยังดีที่มีคุณแม่เป็นเพื่อนคู่คิดช่วยซัพพอร์ตอยู่ด้วย ยุคนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียยังเหนื่อยมาก เสียสุขภาพมาก เลยคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมตั้งเงื่อนไขไว้สูงหากจะต้องเข้าโลกนั้น
การเป็นลูกคนดังที่ประสบความสำเร็จมากมักจะรู้สึกกดดัน คุณรู้สึกแบบนั้นไหม
รู้สึกครับ รู้สึกแน่นอน
แล้วคุณทำยังไง เลือกที่จะอยู่ใต้ร่มเงาอย่างยอมรับ หรือพยายามออกไปจากเงานี้
สุดท้ายคนที่ติดอยู่ในภาพนั้นที่สุดคือตัวเราเอง คนที่อยู่ในตำแน่งนี้จะรู้สึกว่าต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลาให้คนนั้นคนนี้เห็น แต่จริง ๆ เราต้องพิสูจน์ให้ตัวเองเห็น ยอมรับตัวเอง นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ละคนอาจจะมีเงื่อนไข มีโจทย์ไม่เหมือนกัน ของผมคือถ้ายืนบนขาตัวเองได้ ดูแลการเงินของครอบครัวตัวเองได้ ก้าวไปสู่ความสำเร็จในงานของตัวเองได้ ในที่ที่ใช้นามสกุลเป็นใบเบิกทางให้ไม่ได้ และในทางกลับกัน สามารถเป็นคนให้ ทำประโยชน์ให้กับพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ สังคม คนรอบตัว ก็ตอบโจทย์ตัวผมแล้ว
นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเลือกทำงานอยู่ต่างประเทศ อยู่ในวงการที่ต่างจากคุณพ่อ ผมไม่ได้บอกว่าอยู่เมืองไทยจะง่าย มันยากและมีความท้าทายของมัน แต่ผมอยากอยู่ในที่ที่อย่างน้อยผมบอกตัวเองได้ว่า ทุกสิ่งที่ผมทำและก้าวไป ไม่ได้มาจากการใช้นามสกุลเป็นใบเบิกทาง ไม่ใช้ทางลัด มีทั้งแพ้ทั้งชนะ ทั้งผิดหวังทั้งสมหวัง แล้วบอกตัวเองได้ว่า เราก็ทำได้นี่หว่า ในขณะเดียวกันผมก็ภูมิใจที่มีคุณพ่อคุณแม่ที่ดี ให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตที่ดี เป็นเข็มทิศชีวิต ซึ่งสำคัญและผมให้ความหมายกับมันมากกว่าใบเบิกทางใดๆทั้งนั้น
ถึงวันนี้ผมถึงเข้าใจว่า เมื่อเราตอบตัวเองแบบนั้นได้แล้ว ไม่ว่าใครคนอื่นจะมองอย่างไร ก็ไม่เป็นไร เสียงเหล่านั้นไม่มีความหมายเลยถ้าเราพิสูจน์ให้ตัวเองเห็นได้
คุณชอบคุยกับคนมาก ใครคือคนที่คุณอยากคุยด้วยที่สุดตอนนี้
เป็นความคิดที่เพิ่งเข้ามาในหัวตอนนี้เลย ผมอยากคุยกับนักจิตวิทยา อาจจะเป็น Adam Grant ที่เขียนหนังสือเรื่อง Think Again เขาเชี่ยวชาญเรื่อง Organizational Psychology ทำอย่างไรในตัวเองและคนในองค์กรทำงานอย่างมีความสุข ก้าวข้ามความล้มเหลว ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงในชีวิต อีกคนคือ Lori Gottlieb เขียนหนังสือเรื่อง Maybe you should talk to someone ที่มีส่วนสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมองชีวิตคนเหมือนเป็นบทละครหรือหนังเรื่องหนึ่ง แบบที่เขียนในหนังสือ Great Remake
2 ปีที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ที่มนุษยชาติแทบจะไม่เคยเจอ มีทั้งการสูญเสียคนรัก มีความกลัว มีเรื่องสุขภาพ อยู่ห่างจากคนอื่น มีหลายอย่างที่ช็อกความเป็นมนุษย์ถึงขีดสุด พวกเราทุกคนถูกกระทบมากโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัวซึ่งเกิดขึ้นในจิตใจของคนแล้ว นักจิตวิทยาน่าจะได้คุยกับคนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ ได้ขุดจนเจอปัญหา ผมเชื่อว่าจะมีปัญหาอีกหลายอย่างที่จะค่อย ๆ โผล่ให้เราเห็นในปีต่อไป ผู้นำ ผู้บริหารขององค์กรและประเทศควรเตรียมรับมืออย่างไร ตัวเองควรปรับตัวอย่างไร นอกจากจะตามเทรนด์เรื่องเทคโนโลยีแล้ว ตอนนี้ผมกำลังสนใจเรื่องพวกนี้ที่มีความเป็นมนุษย์มาก ๆ


ช่วงนี้ถ้ามีเวลาว่างคุณทำอะไร
ผมใช้เวลากับลูกเยอะ อยู่กับภรรยากับลูกก็มีอะไรทำเยอะ ส่วนกิจกรรมที่ทำจริงจังก็มีหลายอย่าง เล่นดนตรีบ้าง ความฝันคืออยากให้ลูกสองคนเริ่มเล่นดนตรี แล้วมาร่วมเล่นด้วยกัน กีฬาก็เล่นบ้าง ผมชอบบาสมาทั้งดูบาสเล่นบาส ถ่ายรูปก็ชอบ ปกติจะชอบเที่ยวแล้วสะพายกล้องไปถ่ายโน่นนี่ไปเรื่อย แล้วก็มาง่วนกับการแต่งภาพอยู่หน้า Lightroom แล้วก็เล่นเกม เล่นตั้งแต่เด็ก โตมาก็ยังเล่นอยู่
ตอนนี้เล่นเกมอะไรอยู่
ถามยังงี้คงต้องบอกเกมของการีนามั้งครับ (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ผมเล่นไม่เก่งเลยอายเขา โดยเฉพาะเทียบกับคนไทยที่เล่นกันเก่งจริง ๆ
คุณมองวัย 40 ปีของตัวเองว่าต่างจากวัยอื่นยังไงบ้าง
ถ้าไม่พูดเรื่องสังขาร (หัวเราะ) วัยประมาณนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เราต้องหันมาถามตัวเองว่า จุดมุ่งหมายในชีวิตคืออะไร เมื่อก่อนมีคำว่า Midlife Crisis เป็นช่วงที่เราต้องหาว่าตัวเองต้องการอะไร หาตัวตนของตัวเอง แต่ผมว่าเดี๋ยวนี้มันจะไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต เราต้องคอยหาตัวตนอยู่เป็นช่วง ๆ เรามีจุดเปลี่ยนหลายครั้งในชีวิต
ผมผ่านจุดที่ไม่รู้ว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายในชีวิตมาหลายครั้งแล้ว และสิ่งหนึ่งที่เรียนรู้คือมันโอเคที่จะไม่รีบหาคำตอบ แต่คอยถามตัวเองด้วย 3 คำถามนี้เป็นช่วง ๆ เพื่อหาว่าอะไรเป็นจุดมุ่งหมายของตัวเองในเฟสต่อไป
คำถามแรก อะไรคือที่สิ่งที่ทำให้เรานอนไม่หลับ ทำให้เราคิดกังวลตลอดเวลา นั่นคือสิ่งสำคัญในชีวิต คำถามที่สอง ภาพความสำเร็จของเราคืออะไร ภาพในหัวตอนเด็ก ๆ คือภาพรับปริญญา ได้รางวัลบางอย่าง ชนะแข่งกีฬา หรือเล่นคอนเสิร์ต พอโตมาอาจจะเป็นภาพที่เรามีเงิน มีฐานะ มีครอบครัวอบอุ่น แต่พออายุ 40 ภาพมันก็อาจเปลี่ยนไปอีกครั้ง เวลาเราบอกว่าสำเร็จ แล้วมีภาพเราอยู่ในนั้นเราจะยิ้มได้ รู้สึกสบายใจ
คำถามที่สาม ใครคือคนสำคัญในชีวิตเรา ชีวิตเราก็เหมือนละครเวที เรามีคนดูอยู่ในโรงไม่กี่คน เวลาเราบอกว่า ทุกคนมองอย่างนู้น คิดเห็นอย่างนี้ ทุกคนไม่ชอบเรา ทุกคนชอบเรา จริง ๆ แล้วเราพูดถึงคนแค่ไม่กี่คน เราแคร์เฉพาะคนที่อยู่ในโรงละครของเราเท่านั้น แล้วใครคือคนเหล่านั้น
นี่คือ 3 คำถามที่เราต้องตอบตัวเองในวัย 40 โดยไม่ต้องเร่งตอบมัน เพราะเราจะไม่มีคำตอบโดยทันที การหลงทางลองผิดลองถูกไม่ใช่สิ่งที่แย่ สนุกด้วยซ้ำ ถ้ารู้และยอมรับมัน ค่อย ๆ ค้นพบและรู้จักตัวเองใหม่อีกครั้ง (Rediscover Yourself) วัยนี้มีจุดเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมาสำหรับการเดินทางที่เรียกว่าชีวิต
คุณอยากเกษียณตอนอายุเท่าไหร่ ในตำแหน่งไหน
คำว่าเกษียณสำหรับผมคงไม่ใช่เลิกทำงาน แต่เป็นการเลิกทำงานเพื่อหาความสำเร็จที่วัดได้ง่าย ๆ เช่น ตำแหน่ง ชื่อเสียง รางวัล ฐานะทางการเงินของครอบครัว เพราะผมอยู่นิ่งไม่ค่อยได้ ถ้าเกษียณไปผมก็คงหาอะไรทำอยู่ดี แต่คงทำเพื่อตามหาสิ่งที่จับต้องไม่ได้มากขึ้น เช่น ตามแพสชัน ทำเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ทำเพื่อคนที่เรารัก คนที่เราผูกพัน มีชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขขึ้น ซึ่งก็ทำได้และได้ทำอยู่แล้วตั้งแต่ตอนยังไม่เกษียณ แต่คงเป็นอิสระจากตัววัดความสำเร็จที่ว่าได้มากขึ้นอีก
คุณตั้งคำถามในคำนำ The Great Remake ว่า อยากให้ปีนี้ถูกจดจำอย่างไร คำถามคือ คุณอยากจดจำตัวเองในปี 2022 อย่างไร
(คิดหนัก) คงอยากให้เป็นปีที่ผมได้ค้นพบหนทางที่จะสร้างอิมแพคทำประโยชน์ให้ประเทศไทยได้มากขึ้นและหลายรูปแบบขึ้น อันนี้ไม่ได้จะเปลี่ยนงานนะครับ (หัวเราะ) อย่างที่บอกตอนต้นว่าผมเชื่อว่าเราทำประโยชน์ได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ที่ใด และงานประจำปัจจุบันผมก็เป็นแพลตฟอร์มที่ทำอะไรได้หลากหลายมาก ใน 2 ปีที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปร่วมวงช่วยคิดเรื่องนโยบายของประเทศบ้าง ทั้งที่บินกลับประเทศไม่ได้เลย แต่ต่อไปเมื่อการเดินทางกลับมาเปิดมากขึ้น ผมกลับไปไทยได้บ่อยขึ้น อยู่ไทยได้นานขึ้น ก็หวังว่าน่าจะมีอะไรที่พอทำประโยชน์ได้กว่าเดิม
ที่สำคัญคือคงต้องบอกตรง ๆ ว่า เป็นห่วงประเทศไทยด้วยว่าจะรับมือกับโลกหลังโควิดอย่างไร ในขณะที่บาดแผลจากวิกฤตที่ผ่านมาก็ยังไม่หายตามที่เขียนในหนังสือ The Great Remake เลย ประเทศก็อาจต้องรีเมกเหมือนกัน และคงต้องมีคนหลายแบบ หลากประสบการณ์จากหลายรุ่นมาช่วยกัน
ผมเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรีเมกนั้น แม้อาจช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ก็คิดว่าได้ลองทำน่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรเลย และหวังว่าปี 2022 อาจเป็นปีที่ได้ค้นพบหนทางนั้น

ภาพ : ชนาทิพ เสถียรไทย