อารัมภบทเป็นส่วนเกินของบทความทันที

เมื่อรู้ว่าวันนี้มีนัดหมายพูดคุยและเยี่ยมชมสตูดิโอของ ติ๊ก-สันติ ลอรัชวี หรือ ‘อาจารย์ติ๊ก’ ของเหล่านักเรียนออกแบบ บิ๊กเนมในวงการกราฟิกดีไซเนอร์และวงการศิลปะของไทย ผู้มีผลงานให้เราได้ทึ่งอยู่เสมอ

บางคนรู้จักสันติในฐานะนักออกแบบกราฟิก ผ่านปกหนังสือ Wisdom Series ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, สิทธารถะ เวอร์ชันแปลไทยโดย สดใส ขันติวรพงศ์ ฉบับ Book Lover Edition และโดยเฉพาะโปรเจกต์ ‘ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย (I am a Thai Graphic Designer™)’ กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย

บางคนรู้จักสันติในฐานะศิลปิน ผ่านนิทรรศการ Yes, I am not. (2008), เข้านอกออกใน-อุโมงค์คำว่า “กรุงเทพ” ที่มุดลอดเดินวนเล่นได้อย่างสนุกสนานในงานศิลปวัฒนธรรม “บางกอก…กล๊วย…กล้วย!!” (2009), หรือจากแถวหนังสือหนาเกือบเมตร มีรูเจาะตรงกลาง ในนิทรรศการสถานพักตากอากาศ (2013)

10 ปีแห่งความทรงจำของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิกที่กลั่นเป็นนิทรรศการ MemOyuU

หลายคนรู้จักสันติทั้งสองเวอร์ชัน

น้อยคนรู้ว่า ในฐานะศิลปิน ผลงานของเขาตลอดทศวรรษที่ผ่านมาล้วนมีแม่ผู้ให้กำเนิดคนเดียวกัน

ความทรงจำ-เขาหยิบออกมาใช้อย่างปู้ยี่ปู้ยำจนความรู้สึกตีกันพัลวันพัลเกไปหมด ไม่นานมานี้จึงตกตะกอนได้ว่า ถึงเวลาสังคายนาพวกมันให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อตัวเองมากที่สุด

นิทรรศการ MemOyuU การสับยำความทรงจำแล้วแปลงโฉมเป็นรูปธรรมที่น่ารักจึงถือกำเนิดขึ้นใน CASE Space Revolution แกลเลอรี่ไซส์จิ๋วย่านเจริญกรุง

และนั่นเป็นที่มาของบทสนทนากับสันติโดยสันติวิธีในวันนี้

00 สันติสตู

ตรงหน้าเราคือห้องสี่เหลี่ยมขนาดไม่เล็กเกินกว่าจะใช้งาน แต่ก็ไม่ใหญ่พอเข้าข่ายสตูดิโอทำงานศิลปะขนาดทั่วไปเท่าที่เคยสัมผัสมา แถมไม่มีอุปกรณ์สำหรับทำงานศิลปะเลยสักชิ้นเดียว (หากไม่นับว่าคอมพิวเตอร์ก็ใช้งานได้มีประสิทธิภาพไม่แพ้พู่กันและผืนผ้าใบ) 

ชั้นวางของเบื้องหลังโต๊ะทำงานกินพื้นที่ผนังด้านในสุดของห้องไปอย่างละโมบ เหล่าหนังสือทั้งไทยและเทศนอนเกลื่อนกล่นเรียงรายเต็มทุกชั้น ทิ้งจังหวะตรงกึ่งกลางระหว่างความมีระเบียบและคู่ตรงข้าม มีชีวิตชีวาจากโมเดลตัวการ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน ส่วนใหญ่นอนแอ้งแม้งเต็มชั้นด้านข้าง ส่วนน้อยกระจายตัวทั่วทั้งห้อง

10 ปีแห่งความทรงจำของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิกที่กลั่นเป็นนิทรรศการ MemOyuU
สนทนากลางสตูดิโอกึ่งห้องสมุดของ สันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ในวันที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘MemOyoU’

อีกฟากมีโซฟาขนาดกะทัดรัด เพียงตาสัมผัสก็รู้ว่านุ่มฟู ตั้งอยู่ข้างโต๊ะทำงาน

นอกหน้าต่างคือท้องฟ้าสีเทาครึ้ม 

“อีกไม่นานจะปล่อยฝนลงมา” เหล่าเมฆกระซิบว่าอย่างนั้น

สนทนากลางสตูดิโอกึ่งห้องสมุดของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ในวันที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘MemOyoU’

01 สันตินิยาม

เรานั่งฝั่งตรงข้ามกับสันติ

“ตอนนี้อาจารย์เรียกตัวเองว่าเป็นอะไร” เราเปิดบทสนทนาด้วยคำถามที่น่าจะยากข้อหนึ่งสำหรับมนุษย์ไฮเปอร์ผู้ทำอะไรหลากหลายไปหมด

“ทุกอาชีพมีพื้นฐานคล้ายกันหมด เพียงแต่ธรรมเนียมและแพลตฟอร์มนั้นต่างกัน สมัยก่อนเส้นแบ่งกิจกรรมของมนุษย์มันเลือนมาตลอด การศึกษาและอาชีพในระบบสายพานแยกพวกมันให้ขาดจากกัน คนในศตวรรษนี้จึงตื่นเต้นกับคำว่าสหวิทยาการไงอีกอย่าง มนุษย์มีแนวโน้มที่จะสรุปและแท็กทุกสิ่งรอบตัว โดยเก็บไว้เพียงหนึ่งเสมอ คำถามนี้เลยถูกถามอยู่ตลอด 

“ถ้าให้ผมเก็บตัวเองเหลือหนึ่ง ผมก็ขอเก็บนักออกแบบไว้ ด้วยอาชีพและวิธีคิด เพราะยังไม่เข้าใจและยังไม่รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคำว่าศิลปิน ผมมองคำนี้เป็นสถานะมากกว่าอาชีพด้วยซ้ำ เหมือนเราไปยืนดูเชฟเก่งๆ ทำกับข้าว เล่นกับไฟกับกระทะ แล้วมองว่ามันโคตรอาร์ตเลย เขาก็ไม่ได้มีอาชีพเป็นศิลปินสักหน่อย

“ใครจะมองผมเป็นศิลปินก็ไม่ติดขัด จะไม่แก้ไขและไปนั่งเถียงด้วย เพราะแต่ละคนรู้จักเราจากมุมมองต่างกัน และถ้าบางคนมองตัวเองเป็นศิลปินก็ไม่ผิดอะไรนะ”

นี่คือสันตินิยาม

สนทนากลางสตูดิโอกึ่งห้องสมุดของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ในวันที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘MemOyoU’

02 ผมต้องเอาตัวรอดอย่างหนัก

สันติเป็นนักเรียนออกแบบที่ไม่เหมือนใคร

เขาไม่ได้สะสมทักษะทางศิลปะขั้นพื้นฐานมาแต่ต้น เข้ามาเรียนดีไซน์ด้วยเงื่อนไขว่าต้องเอนทรานซ์ให้ติดโดยไม่อ่านหนังสือเพิ่ม และขอแค่ไม่ขายหน้าญาติพี่น้องเป็นพอ

ระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกส่งสันติไปยังปัตตานี คำรบหนึ่งปีถ้วนจึงย้ายกลับมายังมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เดิมทีตั้งใจจะเรียนคณะนิเทศศาสตร์ แต่ครั้นกวาดสายตาไปเจอสาขานิเทศศิลป์ ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จึงเปลี่ยนใจ ลากมือลงมากาสาขานี้

“ผมไม่ได้มีพื้นฐานที่ดี พอมาเจอวิชาทักษะจึงต้องเอาตัวรอดอย่างหนัก มาหายใจหายคอได้ตอนเรียนวิชาดีไซน์ปีสอง เพราะเริ่มรู้จักวิธีทำงานโดยไม่ต้องวาดรูป และอาจารย์ให้ความสำคัญแก่เรื่องแนวคิดมากขึ้น

“ผมพยายามลับเหลี่ยมลับคมอย่างเข้มข้น แน่วแน่ว่าจะเอาตัวรอดด้วยคอนเซปต์ให้ได้ ปกติเป็นคนชอบคิดอยู่แล้ว แต่ก่อนข้ามไปคิดว่าจะทำอะไร ผมย้อนกลับมาคิดว่าต้องคิดอย่างไรก่อน ทักษะเรามีจำกัด ต่อให้คิดจะทำก็ทำไม่ได้อยู่ดี (หัวเราะ) เรามีแค่สาม พยายามให้ตายก็ได้แค่เจ็ด ขณะที่เพื่อนมีเจ็ดอยู่แล้ว พยายามนิดหน่อยก็ได้สิบ ถ้าสู้ทางตรงไม่มีวันชนะแน่นอน

สนทนากลางสตูดิโอกึ่งห้องสมุดของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ในวันที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘MemOyoU’

“งานผมเลยไม่ได้มีอะไรเยอะแยะ คอลลาจตัดแปะสองรูปก็ชนะได้ ไม่ใช่ว่าไม่สวยนะ ผมไม่ได้ปฏิเสธสุนทรียภาพด้วย แต่ความงามเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานเท่านั้น งานดีไซน์ที่ดีอาจไม่ต้องสวยงามที่สุด ถ้าจัดลำดับจริงๆ ประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อมนุษย์นั้นสำคัญกว่าด้วยซ้ำ”

นี่คือวิธีการเอาตัวรอดแบบสันติวิธี

03 ไอ้พวกมีอุดมการณ์

สันติสะสมความรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยจนแน่นปึ้ก

แพสชันอันแรงกล้าในอาชีพกราฟิกดีไซเนอร์ ทำให้เขาปฏิเสธทุนการศึกษาที่คณะจะส่งให้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่ต่างประเทศ เพื่อเลือกตอบรับงานตามคำชักชวนของอาจารย์ที่ปรึกษาแทน

ไม่นานสันติในวัยหนุ่มไฟแรงก็เริ่มเบื่อหน่ายรูปแบบการทำงาน สบโอกาสกับที่พี่ชายของเพื่อนจะเปิดบริษัท และพร้อมลงทุนให้สันติกับกลุ่มเพื่อนได้ทำสตูดิโอสมใจอยาก เขาตบปากรับคำพร้อมโบกมือลางานแรกในชีวิต

นามบัตร คือสิ่งแรกที่สันติตั้งใจออกแบบในนามที่ทำงานแห่งใหม่ หมายใจว่าต้องได้รางวัลมาประดับบารมี ซึ่งเป็นไปตามคาด

“ถ้าทำงานไม่มีโจทย์แล้วยังไม่ได้รางวัล มึงไม่ต้องไปทำอะไรแล้ว” เขาว่าพลางหัวเราะ

จากนั้นจึงได้เริ่มทำอาร์ตเวิร์กให้ค่ายเพลง BMG Record ในยุคที่วงอินดี้กำลังเบ่งบาน สถานะของดีไซเนอร์หนุ่มตอนนั้นคือเด็กวัยหัดเดินในวงการ

“ฉากสำคัญฉากหนึ่งคือเคยมีคนให้ผมออกแบบปฏิทินโป๊”

เราวางปากกา เลิกคิ้วทั้งคู่ขึ้นแสดงความสงสัยแก่คู่สนทนา

“ผมได้รับติดต่อให้เข้าไปที่  Victoria Secret พระรามเก้า เขาเอาหนังสือโป๊มากองตรงหน้าตั้งใหญ่ แล้วบอกให้เลือกรูปไปทำปฏิทินสำหรับแจกลูกค้า ผมปฏิเสธแล้วไสคืนไป ตอนนั้นอายุยี่สิบสี่ กูไม่ได้จบมาเพื่อทำอะไรแบบนี้ นี่ไม่ใช่งานที่จะเอาไปอวดใครได้เลย ไหนจะลิขสิทธิ์ภาพอีก จำได้แม่นเลย เขาด่าผมว่า ‘ไอ้พวกมีอุดมการณ์’

“เขานิ่งเงียบสักพัก คิดว่าจะหาอะไรให้ผมทำดีเพื่อเอาชนะ จบที่งานออกแบบโปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านยาเสพติดให้มูลนิธิของเขา งานนี้ผมโอเค รับได้ วันตรวจงานเขานัดที่โรงแรมเมโทร ถนนเพชรบุรี ซึ่งเป็นโรงนวด ตอนแรกคิดว่าจะนั่งคุยกันปกติ สรุปให้เราเดินเข้าไปถึงห้องนวดเลย ยังจำภาพเขานอนคว่ำหน้าโชว์ก้นให้หมอนวดนวด แล้วมีดีไซเนอร์หนุ่มคนหนึ่งที่แม่งอยากก้าวหน้า ต้องช้อนโปสเตอร์ที่ทำมาให้เขาดูจากมุมเสยได้ติดตา ทุเรศฉิบหาย นี่กูทำอะไรอยู่วะ

“หมดช่วง Honeymoon Period ถึงได้เจอโลกความจริงว่าไม่หมูเลย ตอนนั้นอายุยังน้อยมาก แม่งไม่มีอำนาจต่อรองอะไรทั้งสิ้น ยากฉิบหาย กลางวันหาลูกค้า ฉีกสมุดปกเหลืองเป็นสามท่อนแจกเพื่อนเพื่อสุ่มโทรไปของานเขาทำ กลางคืนปั่นงาน หักลบกลบหนี้กับ Fixed Cost แล้วขาดทุนยับ จึงเริ่มเข้าใจอาจารย์แล้วว่าเบี้ยล่างสุดๆ เป็นอย่างไร”

แล้วก็เป็นไปตามวัฏจักรของธุรกิจ สตูดิโอขนาดย่อมต้องปิดตัวลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สมาชิกบางคนอยากไปเรียนต่อ บางคนอยากไปทำอย่างอื่นแทน ส่วนสันติก็ไปเป็นฟรีแลนซ์ตามระเบียบ

“เกมนี้เราแพ้แหละ” เขายอมรับแต่โดยสันติวิธี

สนทนากลางสตูดิโอกึ่งห้องสมุดของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ในวันที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘MemOyoU’

04 จุดหักมุม

สันติกลับมาตั้งหลักที่บ้าน

งานฟรีแลนซ์แปลงแฮนด์บิลล์ภาพยนตร์จากต่างประเทศเป็นเวอร์ชันไทยดาหน้าเข้ามาหาเขาอย่างต่อเนื่อง เสมือนเป็นแบบฝึกหัดไทโปกราฟีสุดหินที่สอนให้เขาพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด และสปอยล์เขาจนเสียคนไปพร้อมๆ กัน

“คงเป็นช่วงที่ท้อด้วยแหละ อยากทำดีแต่ไม่มีโอกาส พอรู้ว่าไม่ง่ายอย่างที่คิดเลยเบนมาทางหาเงินแทน งานแฮนด์บิลล์ง่ายมาก ไม่มีอะไรเลย สมมติวันนี้มีนัดลูกค้าตรวจงานตอนสี่โมงเย็น ผมเริ่มทำงานตอนบ่ายสอง ครึ่งชั่วโมงเสร็จ ทำอาทิตย์ละปก ได้ปกละหมื่น เดือนหนึ่งทำงานสองชั่วโมง ได้สองหมื่นสบายๆ บางเดือนหนังเข้าเยอะ สัปดาห์ละสี่เรื่อง ได้เดือนเป็นแสนก็มี”

‘อ้วนฉุ ติดเกม’ คือคำที่สันติใช้บรรยายถึงสันติเวอร์ชันเสเพลที่สุดในชีวิต

“แต่ไม่รู้ว่าจุดนี้จะเรียกว่าจุดหักเหได้หรือเปล่านะ” เขาเปลี่ยนโทนเสียงเล่าเรื่อง

“คือใช้ชีวิตแบบนี้ไปสักพักจนเป็นไข้เลือดออกและล้มในห้องน้ำ เข้าโรงพยาบาลสิบวัน เล่นเกมไม่ได้เลยต้องขนหนังสือมาอ่านฆ่าเวลา พยาบาลเข้ามาเช็ดตัวปะแป้งให้เหมือนเด็กปัญญาอ่อนเลยอะ เหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้แน่ชัดแล้วว่านี่แม่งไม่ใช่แล้ว ออกไปคงต้องหยุดชีวิตแบบนี้สักที ไม่ถึงกับคิดได้มากมายอะไรหรอกนะ

“ถ้าไม่ป่วยคงไหลไปเรื่อยแหละ” โชคดีที่เขาเลี้ยวโค้งหักมุมอย่างสันติวิธี

สนทนากลางสตูดิโอกึ่งห้องสมุดของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ในวันที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘MemOyoU’
สนทนากลางสตูดิโอกึ่งห้องสมุดของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ในวันที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘MemOyoU’

05 Self-Learner

เป็นอีกครั้งที่สันติใช้ชีวิตอย่างจับพลัดจับผลู

การได้บังเอิญเจอกลุ่มรุ่นพี่นักเรียนนอกที่รวมตัวกันกลับไปสมัครเป็นอาจารย์ที่คณะ จุดประกายให้สันติหวนคิดย้อนกลับไปถึงตอนทุนการศึกษาเดินมาหาถึงตรงหน้า และตัดสินใจเข้าร่วมก๊กอย่างไม่ลังเล

“ปรากฏว่าเขารับผม” อาจารย์ติ๊กเฉลยตอนจบของเรื่อง

“แต่ทำให้รุ่นพี่ที่ไปพร้อมกันพลาดโอกาส (หัวเราะ) ซึ่งผมเป็นอาจารย์แบบสัญญาจ้างนะ ทำงานสามวัน แล้วเรามีแค่วุฒิปริญญาตรี เลยต้องทำงานหนักหน่อย ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการนักศึกษา แน่นอนว่าผมไม่โอเคอยู่แล้วเพราะไม่ได้ต้องการบทรองขนาดนั้น เป็นอาจารย์ก็ต้องสอนหนังสือสิวะ ผมเลยพัฒนาตัวเองยิ่งกว่าตอนเอาตัวรอดสมัยเรียนหรือช่วงทำงานอีก หัวหน้าภาควิชาให้หนังสืออะไรมาผมอ่านหมด

“ทำงานไปสักพักผมเริ่มมีความคิดอยากไปเรียนต่อมากขึ้นอย่างหนัก เนื่องจากรอบตัวมีแต่คนเรียนสูง และยังยึดติดกับมายาคติว่า ความรู้ต้องมาจากการเรียนแบบมีคนสอนเท่านั้น”

สันติขวนขวายเรียนภาษาอังกฤษอย่างขะมักเขม้น พร้อมแจ้งความจำนงแก่คณะว่าต้องการรับทุนการศึกษา สมัครสาขา Design Study ที่ Central Saint Martins College of Art and Design และได้รับการตอบรับทันทีในปีแรก เขารอทุนจากมหาวิทยาลัยอย่างสันติ กระทั่งวันเวลาล่วงเลยไป 3 ปีเต็มจนเขาเลิกหวัง

“ผมอาจไม่ค่อยน่าสนับสนุนเท่าไหร่ คงไม่เข้าตาผู้ใหญ่” เขากระเซ้าเย้าหยอก ทีเล่นทีจริง

“เตรียมใจไว้ประมาณหนึ่งแล้ว เลยเริ่มศึกษาด้วยตัวเองอย่างจริงจัง แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนอาจารย์บ่อยขึ้น เชิญวิทยากรเก่งๆ มาบรรยาย และขอลิสต์หนังสือเขาไว้ไปอ่านตาม อ่านหมดเกลี้ยง”

ศิลปินฝั่งตรงข้ามค้นพบว่าวิธีหาความรู้นั้นมีมากมาย ไม่จำเป็นต้องมีดีกรีใดมารองรับ แถมเขาก็ทำหน้าที่ Self-learner ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จึงตัดใจเรื่องไปเรียนต่อโดยสันติวิธี

06 “มึงไปนิวยอร์กยี่สิบวันเหมือนพวกกูไปปีหนึ่ง”

สันติปิดปมเรื่องการเรียนต่อเมืองนอก ด้วยการพาตัวเองเที่ยวนิวยอร์กให้หายอยากหนึ่งทริป

“ผมไปผมก็ซ่านะ” เขาจั่วหัวทริปในตำนานได้อย่างน่าติดตาม

“ก่อนเดินทาง ผมอีเมลไปยัง School of Visual Arts บอกว่าขอเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ เพราะเป็นที่ที่ผมอยากเรียนมาก พอไปถึง ผู้ช่วยของ สตีเวน เฮลเลอร์ (Steven Heller) คณบดีและผู้เขียนบทความเกี่ยวกับการออกแบบให้ The New York Times ก็พาชมพร้อมเล่าหลักสูตรให้ฟัง จากนั้นผมก็ไป Art Director Club ทิ้งนามบัตรสร้างสัมพันธ์กันเอาไว้ แล้วก็ไปเจอเพื่อนๆ หลายคนในวงการซึ่งเรียนต่ออยู่นั่น

“ผมตกตะกอนได้ว่า หากมีโอกาสมาเปิดหูเปิดตาบ่อยๆ ดูมิวเซียม พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน น่าจะเป็นเรื่องสำคัญกว่าการมาเรียนต่อ กลับมาปีหนึ่ง Art Director Club ติดต่อมาหา เอานิทรรศการมาจัดที่หอศิลป์ ม.กรุงเทพ เพราะเขารู้จักเราเจ้าเดียวในไทย เพื่อนยังแซวว่า มึงไปนิวยอร์กยี่สิบวันเหมือนพวกกูไปปีหนึ่ง”

นี่ค่อยๆ กลายเป็นอีกหนึ่งสันติวิธีในการหาประสบการณ์เข้าตัว แต่เขายังกล่าวอย่างถ่อมตนว่าไม่ถึงกับสร้างคอนเนกชันอะไรมากมาย เพราะภาษาอังกฤษไม่คล่อง

“แค่อยากไปรู้ไปเห็นเฉยๆ อย่างตอนไปอังกฤษ ก็ขอให้ลูกศิษย์พาเข้าไปข้างใน ไปโอซาก้า ผมติดต่อเพื่อนผู้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยคินได บอกว่าพูดให้ฟรีๆ เลย แต่ขอพาเข้าไปดูหน่อยว่าสอนกันยังไง” เขาเล่าประสบการณ์พลางหัวเราะในสันติวิธี

สนทนากลางสตูดิโอกึ่งห้องสมุดของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ในวันที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘MemOyoU’

07 วงเหล้าวิชาการ

เรื่องราวดำเนินออกจากปากอย่างพรั่งพรู

บทสนทนาล่วงเลยเข้าสู่ชั่วโมงที่สอง เมฆฝนยังกลั้นหยาดน้ำเอาไว้ได้ แต่เรายังไม่รู้จักสันติในฐานะศิลปินเสียที

“พอไม่หมกมุ่นกับการเรียนต่อ ผมก็ใช้ชีวิตกับเพื่อนอาจารย์สนุกขึ้น” เขาเล่าต่อ

“เราสนิทกันผ่านวงสังสรรค์ เหล้าเบียร์เต็มโต๊ะ แต่บทสนทนาเป็นเรื่องวิชาการข้ามศาสตร์ล้วนๆ เพราะสมาชิกคืออาจารย์จากหลากหลายแขนง ออกรสจนถึงขนาดไม่มีใครอยากขาดนัด ตัวผมเองเป็นพหูสูตเลยตอนนั้น เพราะฟังแล้วจับประเด็นมาค้นคว้าต่อเอง ลับคมทุกวัน”

ก๊วนอาจารย์กระชับความสัมพันธ์กันค่ำแล้วค่ำเล่า นักออกแบบประจำแก๊งอย่างสันติจึงได้รับมอบหมายจากเพื่อนศิลปินให้ช่วยทำสูจิบัตรบ่อยขึ้น จนกลายเป็นที่พึ่งลำดับต้นๆ ประจำใจคนในวงการ กระทั่งได้ช่วยงาน Show Me Thai ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้นในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 2007 ในฐานะ Art Director ดูแล Key Visual ทั้งหมด

“งานนี้ให้โอกาสผมได้เจอคนเก่งเยอะมาก ได้เห็นกระบวนการหลังบ้านทั้งหมด ตั้งแต่สถานที่ คิวเรเตอร์ ไปจนถึงวัฒนธรรมการเสพศิลปะของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะตอนกลับไปเก็บงาน ผมได้รู้ว่าพื้นที่ทางศิลปะมีพลังถึงขนาดเปลี่ยนกองขยะเป็นงานศิลปะได้ จึงเห็นว่าพื้นที่นี้น่าหลงใหล วงการนี้น่าสนใจและจริงจังกว่าที่เคยคิดไว้”

สันติเข้าสู่วงการศิลปะโดยสันติวิธีตั้งแต่นั้นมา

“สถานะของผมเหมือนนักออกแบบผู้ชอบทำงานศิลปะมากกว่า งานศิลปะมีความส่วนตัวสูง เป็นเหมือนพื้นที่ให้เราได้ทดลองอะไรกับตัวเอง ตัวตนของเราจึงอยู่ที่นี่ส่วนหนึ่ง เพราะงานสตูดิโอก็คืองานสตูดิโอ ไม่ใช่งานสันติ งานสอนก็ไม่ควรไปเอาเครดิตอะไรนอกจากให้นักเรียน พอได้ก้าวข้ามมาทำก็รู้สึกเติมเต็ม ไม่แหว่งอีกต่อไป ทั้งๆ ที่ใช้เงินเยอะมาก” อาจารย์ติ๊กเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

แล้วอาจารย์แอบขโมยเทคนิคของนักออกแบบกราฟิกมาทำงานศิลปะด้วยหรือเปล่า-เราข้องใจ

“ที่จริงสองอย่างนี้มีอุปกรณ์พื้นฐานเป็น Visual Element เหมือนกัน ต่างกันแค่ตำแหน่งที่คุณเอาไปวาง วันหนึ่งผมอาจใช้กราฟิกดีไซน์ทำงานแล้วเอาไปวางใน Art Scene ก็ได้ ดังนั้น วิธีการไม่ค่อยเปลี่ยน แต่เนื้อหาเปลี่ยน ศิลปะเรามีหน้าที่รับผิดชอบเนื้อหาโดยตรง ต้องเชื่ออย่างที่ทำจริงๆ และพร้อม Stand for เสมอ ไม่ใช่แค่กิมมิกเรียกความหวือหวา”

ศิลปะเป็นอีกพาร์ตที่ช่วยเติมเต็มชีวิตสันติให้สมบูรณ์ขึ้นอย่างสันติวิธี

08 MemOyoU

จาก Yes, I am not. (2008) Solo Exibition ครั้งแรก จนถึงปัจจุบันก็ร่วม 10 ปี สันติเทียวเข้าเทียวออกภายในจิตใจตัวเอง รื้อค้นวัตถุดิบแห่งความทรงจำมาดัดแปลงเป็นนิทรรศการ

“แต่การเข้าไปในตัวเองทำให้ผมเจอว่าแม่งไม่มีอะไรเลยนะ” คู่สนทนาเรายืนยันหนักแน่นก่อนขยายความต่อ

“พบว่าตัวเองเป็นคนลักลั่น ไม่แน่ใจอะไรเลย เคยปรึกษาผู้ใหญ่ว่าผิดไหมหากจะเสนอว่าเราไม่รู้อะไร เขาว่าไม่ผิดหรอก แต่มึงจะเสนอยังไงล่ะ (หัวเราะ) นี่เลยกลายเป็นทางงานของผมอย่างหนึ่ง คือสองแง่สองง่าม ไม่เคาะ เหมือนกับว่าเราไม่ชัวร์”

10 ปีแห่งความทรงจำของสันติ ลอรัชวี ศิลปิน นักออกแบบกราฟิกที่กลั่นเป็นนิทรรศการ MemOyuU

‘MemOyoU’ คือนิทรรศการครั้งล่าสุดของ สันติ ลอรัชวี คือนิทรรศการครั้งสุดท้ายที่เขาจะหยิบความทรงจำส่วนตัวตลอดทศวรรษนี้มาเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างงาน และคือก้าวสำคัญที่เขาข้ามมาทำงานเฉกเช่นศิลปินโดยแท้

“ผมใช้เวลาที่งานเลื่อนจากปีก่อน ตกตะกอนความคิดได้ว่า ควรเลิกหากินกับความทรงจำของตัวเองได้แล้ว เพราะแม้มีประโยชน์มาก แต่ก็เจือความเศร้าอยู่ไม่น้อย รื้อออกมาทีหนึ่งผมเจ๊งไปเป็นอาทิตย์

“ปกติความทรงจำของมนุษย์มักถูก Simplify มาแล้วขั้นหนึ่งตอนบันทึก เอารายละเอียดออกไปจนเลือนราง และแตกย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นิทรรศการครั้งนี้จึงเอามาสับไพ่ใหม่ให้เละ เรียงร้อยเป็นเรื่องราวผ่านโวหาร และแช่แข็งมันไว้เป็นรูปธรรมผ่านข้อความ หนังสือ ภาพถ่ายแม่น้ำ และประติมากรรม ทำ Last Episode ของมันและเลิกใช้เสีย”

ผู้ไม่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน ขยายความพลางหยิบส่วนหนึ่งของนิทรรศการออกมา

มันคือกล่องไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งซ่อนหนังสือที่สันหนากว่าความกว้างปกอย่างผิดสัดส่วนเอาไว้ และซ่อนเรื่องราวซึ่งร้อยเรียงจากเสี้ยวความทรงจำเอาไว้ในหนังสืออีกที

ดูเป็นประติมากรรมมากกว่าสิ่งพิมพ์-เราคิด

“เป็นนิสัยกราฟิกดีไซเนอร์ที่เคยทำหนังสือแหละ เลยอยากลองทำให้หนาดู เพราะผมเห็นว่าในการเก็บบันทึก สันหนังสือสำคัญกว่าหน้าปก แล้วพอสันหนาขนาดนี้ ความสำคัญจึงอยู่ที่การกินเนื้อที่บนโลกมากกว่าตัวอักษรภายใน อีกอย่างผมตั้งใจให้อ่านลำบากหน่อย เหมือนตอนผมค่อยๆ เก็บสะสมความทรงจำเหล่านี้มา คนจะได้ไม่รับรู้เรื่องราวของเราตรงไปตรงมามากเกินไป”

ลึกซึ้ง

09 Dream, Truth, Freedom, and Love

Riverscape

ถ้าพูดถึงภาพถ่ายทิวทัศน์น้ำ นอกจากต้องเห็นน้ำ โดยสามัญสำนึกก็ควรต้องเห็นรายละเอียดอื่นประกอบกับแหล่งน้ำนั้นด้วย เพื่อให้รู้ว่าคือที่ไหน

สันติทำลายความเชื่อนี้ด้วยภาพถ่ายแม่น้ำ-ส่วนสำคัญในนิทรรศการครั้งนี้

“ผมชอบ สิทธารถะ อยู่แล้ว แต่บังเอิญได้แรงบันดาลใจจากตอนไปดูงานโปสเตอร์ภาพถ่ายแม่น้ำเธมส์ของ โรนิ ฮอร์น (Roni Horn) เขาใส่ตัวเลขลงไปตามจุดต่างๆ เลขแต่ละตัวบอกความหมายต่างกัน เช่น สถิติคนฆ่าตัวตายที่แม่น้ำนี้ใน ค.ศ. 1970 จุดนี้ดำสุดในภาพ ฉันเศร้าว่ะ ผมยืนดูและรู้สึกกับมันเรื่อยๆ เป็นชั่วโมง แล้วเริ่มถ่ายแม่น้ำเป็นต้นมา โชคดีที่ไม่ใช่ช่างภาพ ผมเลยไม่มีข้อจำกัดในเชิงเทคนิค” เขาเปิดภาพถ่ายแม่น้ำฝีมือตัวเองนับร้อยภาพให้เราดูขณะอธิบาย

สันติค่อยๆ แกะห่อกระดาษตรงหน้าเราออกช้าๆ เผยให้เห็นพื้นผิวชั้นบนสุดของประติมากรรม เป็นภาพถ่ายริ้วคลื่นบนผิวน้ำสีเข้ม ชั้นล่างสุดถัดจากชั้นอีพ็อกซีสีใสอมเขียวตรงกลาง คือแผ่นกระดาษเขียนคำว่า ‘Dream’

“นี่เป็นเหมือนการตัดแม่น้ำแล้วยกขึ้นมา” สันติขยายความพลางไสออกจากตัวสู่เรา เป็นนัยว่าเชื้อเชิญให้ดูใกล้ๆ

“ที่จริงมีอีกสามคำ คือ Truth, Freedom, และ Love สื่อถึงการกดทับเก็บซ่อน เพราะทั้งสี่คำนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนมีหมด แต่บางครั้งก็ต้องซ่อนไว้

“งานชิ้นนี้แทรกมาทีหลังเลย เวลาทำโชว์ ถ้ายังไม่สมบูรณ์จะยังรู้สึกว่า แม่งขาดอะไรไปวะ แล้วชอบมารู้เอาทีหลัง แต่ประติมากรรมชิ้นนี้มาเติมเต็มพอดี”

สนทนากลางสตูดิโอกึ่งห้องสมุดศิลปิน นักออกแบบกราฟิก ในวันที่จัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุด ‘MemOyoU’

สันติใช้แสงเงา ความเข้ม และพื้นผิวของภาพ เล่นกับจินตนาการของผู้ชมได้อย่างเหนือชั้น คงเป็นเสน่ห์ของงานศิลปะนามธรรม และเอกลักษณ์แบบสันติวิธีที่ยืนยันจะไม่ฟันธง

อาจารย์อยากให้คนดูได้อะไรกลับไป-เรากดสูตรโกง ขอเฉลยหน้าซื่อ

“อะไรก็ได้ ขอให้ได้กลับไปบ้างก็พอ เพราะครึ่งหนึ่งของนิทรรศการนี้ เกิดจากเหตุผลส่วนตัวที่ผมอยากทำให้เรียบร้อย ฉะนั้น แค่ได้ทำขึ้นมาก็พึงพอใจแล้ว คงไปกะเกณฑ์ให้คนอื่นมารู้สึกต่อเรื่องราวของเราอย่างไรไม่ได้

“จริงๆ อยากรู้มากกว่าด้วยซ้ำว่าแต่ละคนได้อะไรกลับไป”

สันติทิ้งท้ายอย่างสันติวิธี

MemOyoU นิทรรศการแห่งความทรงจำตลอดทศวรรษครั้งล่าสุดของ สันติ ลอรัชวี จัดแสดงที่ CASE Space Revolution @Broccoli Revolution Charoenkrung แกลเลอรี่ย่านเจริญกรุง ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

นอกจากจะซ่อนไม้ตายทั้งหลายที่เราแอบเอามาแบไต๋จนเกือบหมดเปลือกแล้ว ยังมีกิจกรรมสนุกๆ สอดแทรกในงานอีกด้วย ลองหารูที่ผนังให้เจอแล้วดึงกระดาษออกมาอ่านสิ!ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก : CASE Space Revolution

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographers

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ