Sansaicisco (สันทรายซิสโก) คือวิสาหกิจชุมชนในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ที่สร้างพื้นที่และชุมชนผู้แปรรูปอาหารรายย่อยที่ใส่ใจการผลิตอย่างประณีตและคิดคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ให้พวกเขามีโอกาสเติบโตและเข้าถึงเกษตรกรรายย่อยที่มีความเชื่อและจิตวิญญาณแบบเดียวกัน

ก่อตั้งโดย มะเป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก อดีตพนักงานออฟฟิศเมืองกรุงที่ตัดสินใจเก็บกระเป๋า ย้ายถิ่นฐานไปอยู่เชียงใหม่เมื่อราว 10 ปีก่อนและปักหลักอยู่ถาวร

Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนเชียงใหม่ที่เปิดครัวให้ผู้ผลิตอาหารใช้งาน และเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

จากคนไม่เคยสนใจเรื่องอาหารเลย ชีวิตของมะเป้งพลิกผันกลายมาเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญช่วยขับเคลื่อนการรักษาโลกผ่านอาหารที่ปลอดภัย พบเห็นปัญหาที่กำลังกระทบกับชีวิตคนตัวเล็กๆ และสรรพสิ่งในสังคมอันซับซ้อน เขาจึงเปิดครัวให้ผู้แปรรูปอาหารเข้ามาเช่าใช้พื้นที่แบบ Shared Services หยิบยืมอุปกรณ์ใช้พัฒนา และผลิตสินค้าโดยแทบปราศจากความเสี่ยง ด้วยความไม่กังวลใจมากหากวิสาหกิจนี้ไม่เป็นไปตามคาดฝัน

เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งนี้คุ้มค่าแก่การลงมือทำ

“เราเชื่อว่าถ้าเราช่วยสนับสนุนผู้แปรรูปที่ใส่ใจเรื่องอาหารปลอดภัย จะเกิดการซื้อวัตถุดิบจาก Small Farmers ที่ขับเคลื่อนด้วย Local Wisdom และมองทุกอย่างเป็นภาพรวมได้โดยอัตโนมัติ” มะเป้งเล่าหนึ่งในแก่นสำคัญของ Sansaicisco

ในขณะที่สิ่งแวดล้อมกำลังย่ำแย่ลงทุกวัน จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ไม่คำนึงถึงชีวิตรอบข้างมากเท่าที่สังคมคาดหวัง ธุรกิจอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก COVID-19 การปรากฏตัวของ Sansaicisco ถือเป็นหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าศึกษา ว่าจะช่วยให้เกษตรกรและธุรกิจรายเล็กเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร โดยยังคงความเป็นมิตรต่อสรรพสิ่ง

หากพร้อมแล้ว ขอชวนออกเดินทางตามหาวัตถุดิบ เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเยี่ยมชมครัวแห่งใหม่ของมะเป้ง ซึ่งเปิดต้อนรับรอผู้ที่มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกันมาร่วมขบวนอยู่

ไม่ต้องห่วง เส้นทางนี้ไม่มีใครรู้สึกเหมือนอยู่ลำพังแน่นอน

Slow Food 

“ก่อนหน้านี้เราใช้ชีวิตเหมือนคนกรุงเทพฯ ทั่วไป จนน้ำท่วม พ.ศ. 2554 เพิ่งเข้าใจว่าเราอยู่ห่างไกลจากคำว่าอาหารจริงๆ มากนะ” มะเป้งเล่า เขายังจดจำภาพความเศร้าในวันที่ต้องทานอาหารแช่แข็งที่เก็บไว้ตามวิถีชาวเมือง โดยปราศจากทางเลือกอื่นได้อย่างชัดเจน

ระหว่างรอสถานการณ์ดีขึ้น มะเป้งเดินทางไปเชียงใหม่จนค้นพบว่าชอบวิถีชีวิตที่นี่มากกว่าที่เคยเป็นมา และอยู่เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

“แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าจะมาทำอะไรบ้าง” เขากล่าวอย่างขำขัน

“ความโชคดีคือ หนึ่งในเพื่อนคนแรกๆ ที่อยู่ห้องใกล้กันคือ ลี-อายุ จือปา จาก อาข่า อ่ามา เขาชวนเราไปกินข้าวกับกลุ่มของเขา ตอนแรกมี Culture Shock เหมือนกัน เหมือนเรามาจากดาวคนละดวง แต่เราปรับตัวเร็ว และเห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำน่าค้นหาคำตอบ”

กลุ่มพี่น้องเพื่อนฝูงที่มะเป้งเจอล้วนให้ความสำคัญกับวัตถุดิบและอาหารท้องถิ่น ปรุงอาหารด้วยความใส่ใจ คิดคำนึงถึงความยั่งยืนมากกว่าเงินทองชั่ววูบ เช่น เยา-เยาวดี ชูคง เจ้าของร้าน YakkaJon Slow Fish Kitchen เสิร์ฟอาหารทะเลปลอดภัยจากประมงพื้นบ้าน และ โจน จันได ทำให้เขาค่อยๆ ดูดซับความเชื่อเหล่านี้และศึกษามากขึ้น จนกลายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนคอมมูนิตี้ที่กลายเป็น Slow Food เชียงใหม่ ในเครือข่าย Slow Food ระดับสากล ควบคู่กับการเปิดร้าน 186 Cafe&Bar 

Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนเชียงใหม่ที่เปิดครัวให้ผู้ผลิตอาหารใช้งาน และเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

“Slow Food ไม่ได้หมายถึงกินช้าๆ ทำช้าๆ เชฟเราทำกันเร็วมากเลยนะ (หัวเราะ) แต่หมายถึงอาหารที่ Good, Clean และ Fair คือคุณภาพดี สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย รู้ที่มาที่ไป และซื้อขายกันในราคาที่เป็นธรรม” เขาอธิบายแนวคิดขั้วตรงข้ามของ Fast Food ที่เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ในประเทศอิตาลี โดยมีสัญลักษณ์ประจำคือหอยทากสีแดง

กลุ่ม Slow Food จัดกิจกรรมหลากหลาย เช่น อีเวนต์ Good Seed, Good Food ชวนเกษตรกรอินทรีย์นำวัตถุดิบมาร่วมงานให้เชฟมากฝีมือเลือกสรร ปรุง จัดแต่งลงจานให้คนชิม พร้อมฟังเรื่องราวการต่อสู้เพื่ออาหารที่ปลอดภัย เกิดเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนอบอุ่นหัวใจ และคนเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขามากขึ้น

และแคมเปญ Ark of Taste หรือ เภตราแห่งรสชาติ ทำหน้าที่เสมือนเรือโนอาห์ แต่เปลี่ยนเป็นเอาพันธุ์พืชหรือวัตถุดิบมากคุณค่าที่เสี่ยงสูญพันธุ์เข้าครัวแทน รักษาความหลากหลายพันธุ์พืช และช่วยให้คนชิมรสแปลกใหม่ที่เขาอาจไม่เคยคุ้นในชีวิตประจำวัน

เมื่อคลุกคลีในวงการได้สักพักใหญ่ มะเป้งเริ่มเห็นปัญหาที่ควรร่วมกันแก้ไขอย่างยิ่ง และเขาน่าจะพอทำอะไรได้บ้าง

Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนเชียงใหม่ที่เปิดครัวให้ผู้ผลิตอาหารใช้งาน และเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

1 เปอร์เซ็นต์ที่สำคัญ

“ทุกวันนี้เกษตรกร ฟาร์ม ผู้ผลิต เชฟ ที่เชื่อในแนวคิดแบบ Slow Food ขายอาหารยังไม่ได้ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของที่ตลาดบริโภคเลย” มะเป้งเปรย ก่อนเล่าถึงปัญหาวงการเกษตรและอาหาร

ตัวเลขนี้สะท้อนถึงการเติบโตขึ้นครอบครองตลาดของเกษตรกรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ แม้ปรากฏข้อดีเชิงประสิทธิภาพและการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ข้อควรกังวลและพึงระวังมากไม่แพ้กัน

“ในระบบอุตสาหกรรม บางทีคนมองแยกส่วนกันเกินไปและเน้นทำเกษตรแปลงใหญ่ พูดถึงแต่ปริมาณผลผลิตเป็นหลัก ดินมีปัญหาก็อัดสารเคมีเข้าไป มีศัตรูพืชก็ตัดแต่งพันธุกรรมให้มันทน ไม่ต้องแคร์ดินฟ้าอากาศ คำถามคือ มันดีต่อโลกและคนที่ทานหรือเปล่า

“เราเชื่อในวิทยาศาสตร์นะ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบแต่ละด้านด้วย ตอนนี้ผลของมันอาจยังไม่ชัดเจน เช่น ครั้งหนึ่งในโลกนี้ หมอเคยเป็นพรีเซนเตอร์บุหรี่กันทั่วไป แต่วันหนึ่งก็ถูกพิสูจน์ว่าบุหรี่ไม่ได้ดีอย่างที่คิด กว่าจะพิสูจน์ได้ก็ไม่รู้ว่าสร้างผลกระทบไปแค่ไหน และจะฟื้นฟูกลับมาได้ไหม 

“อีกทั้งยังมีการตลาดที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง บางรายใช้สารเคมี แต่กลับพูดได้อย่างเต็มปากว่าออร์แกนิก คนใช้กันไปทั่วจนคำว่าออร์แกนิกไม่ได้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแล้ว” มะเป้งเล่าสิ่งที่สังเกตเห็นอย่างตรงไปตรงมา หลายครั้งปัญหาไปเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและรัฐอย่างปฏิเสธความจริงได้ยาก รายที่ทำดีใส่ใจชีวิตผู้คนก็มีให้เห็น แต่รายที่ทำไม่เหมาะไม่ควรก็มีอยู่มาก

Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนเชียงใหม่ที่เปิดครัวให้ผู้ผลิตอาหารใช้งาน และเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น
Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนเชียงใหม่ที่เปิดครัวให้ผู้ผลิตอาหารใช้งาน และเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

ผลที่ตามมาคือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม จากสารเคมีและการเสียความสมดุลตามธรรมชาติ และ

การล้มหายตายจากของผู้เล่นรายเล็กที่ประณีตทุกขั้นตอน แต่ทุนไม่เทียบเท่า 

แม้จะเกิดนโยบายที่พยายามสนับสนุนรายย่อยและธุรกิจใหญ่ๆ หันมาให้ความสนใจ แต่ในเชิงปฏิบัติ กลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

“เพราะระบบความคิดมักต่างกัน เช่น ผู้จัดการโรงแรมใหญ่บอกว่าอยากซื้อวัตถุดิบจากฟาร์มท้องถิ่นเข้าโรงแรมเพื่อสนับสนุน แต่ฝ่ายจัดซื้อไม่รู้สึกตามด้วย เพราะการวัดผลของเขาอยู่ที่การลดต้นทุนลงภายในเวลาที่กำหนด แต่การเกษตรแบบนี้มันต้องการความยืดหยุ่นตามที่ธรรมชาติเป็น สั่งจำนวนเป๊ะๆ เยอะๆ แบบฟาร์มใหญ่ไม่ได้ ต้องอาศัยคนที่เข้าใจ” 

เมื่อระบบยังไม่ปรับเปลี่ยนให้รองรับ การรวมพลังของคนตัวเล็กๆ ที่มีหัวใจและความเชื่อเดียวกันแบบที่ Slow Food ทำ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนครั้งนี้ 

พร้อมทั้งเคล็ดวิชาที่กาลเวลาและธรรมชาติเป็นผู้มอบให้ด้วย

Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนเชียงใหม่ที่เปิดครัวให้ผู้ผลิตอาหารใช้งาน และเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

“ฟาร์มขนาดเล็กขับเคลื่อนด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น” มะเป้งเน้นย้ำประโยคนี้จนเราจำได้ขึ้นใจ

ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือความเข้าใจธรรมชาติที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และกลั่นกรองจากการสังเกตปรากฏการณ์รอบตัวที่สัมพันธ์กัน (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่และช่วงเวลา การพิสูจน์ความเป็นจริงจำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจสอบสาเหตุและความเกี่ยวข้องกัน) 

เช่น การตัดไม้ไผ่โดยอิงจากพระจันทร์ตามความเชื่อโบราณ

“ครั้งหนึ่งเรากำลังจะตัดไม้ไผ่ใช้ในป่า พะตี (ลุง ในภาษาปกาเกอะญอ) จับมือเราแล้วบอกว่าอย่าเพิ่งตัด อีกสองวันเป็นข้างแรมค่อยมาตัด ตอนแรกงง ข้างแรมแล้วทำไม มารู้ทีหลังว่า เขาสังเกตว่าช่วงข้างแรม ของไหลต่างๆ มันจะไหลลงไปอยู่ที่ราก ลำต้นจะแห้งกว่า พอตัดช่วงนั้นมอดจะน้อย และทำให้ไม้ไผ่ใช้งานได้นานกว่า

“การลงเมล็ดหรือเก็บเกี่ยวก็เหมือนกัน เขาบอกให้ทำช่วงใกล้ๆ พระจันทร์เต็มดวง เพราะของไหลจะค่อยๆ ขึ้นมาที่รากหรือดิน ทำให้ชุ่มชื้น พวกนี้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เราอยากหาวิทยาศาสตร์มารองรับด้วย เพื่อให้คนเห็นคุณค่าและเป็นแนวทางให้ทำตามได้” 

Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนเชียงใหม่ที่เปิดครัวให้ผู้ผลิตอาหารใช้งาน และเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการใช้ใบมะละกอชุ่มน้ำวางไว้เรียกหอยทากออกจากแปลง เลี้ยงหมูแบบปล่อย (Free-range) ให้วิ่งเล่นอยู่ใกล้โรงเหล้า เพื่อให้หมูได้ทานข้าวและมีคุณภาพดีกว่าหมูที่ดูสะอาดๆ แต่นั่งอุดอู้อยู่ในโรงเรือน หรือการนำมูลสัตว์มาผสมใบไม้ให้ดินดูดซึมพลังงาน แทนการใส่สารเคมีเพื่อเร่งการเติบโต โดยปราศจากพลังงานและทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แม้สิ่งเหล่านี้อาจไม่แม่นยำเท่าการส่งตรวจหรือวิจัยในห้องปฏิบัติการ แต่พอนำแนวคิดมาทดลองประยุกต์ใช้ในแปลงขนาดเล็กได้โดยไม่มีต้นทุนมากนัก หากเรารวม Local Wisdom ดีๆ ไว้ที่เดียวกันจากคนที่ทำสำเร็จ จะถือเป็นคลังปัญญาชั้นยอดสำหรับเกษตรกรรายย่อยเลยทีเดียว 

Sansaicisco วิสาหกิจชุมชนเชียงใหม่ที่เปิดครัวให้ผู้ผลิตอาหารใช้งาน และเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น

การพยายามสังเกตความเชื่อมโยงต่างๆ และต้องลงมือทำซ้ำๆ เพื่อพิสูจน์นี้ ยังชวนให้คนเกิดการคำนึงถึงสิ่งที่ตัวเองกระทำ และเห็นรายละเอียดมากขึ้นด้วย

“เราเคยไปทริปเก็บน้ำผึ้งและจะทานหมูเป็นอาหาร พะตีเอามีดจับใส่มือเชฟแล้วบอกว่า คุณต้องลงมือเชือดหมูดูด้วยตัวเอง อาจฟังดูโหดเหี้ยมนะ แต่หมูเป็นส่วนหนึ่งของระบบอาหารที่ให้พลังงานอยู่แล้ว ทีนี้สิ่งที่ต่างคือ พอเราต้องเชือดเอง เชฟกลุ่มนี้ใช้ทุกส่วนของหมูอย่างไม่มีเศษเหลือเลย เพราะรู้ว่าเป็นหนึ่งชีวิตที่เสียไปเพื่อมาเป็นอาหารให้คนอีกมาก ต้องใช้ให้คุ้มค่า” 

โจทย์สำคัญในใจมะเป้งคือ ทำอย่างไรให้คนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น และหนึ่งในคำตอบคือการจัดตั้ง Sansaicisco 

เป็นมากกว่าครัว

Sansaicisco คือครัวและคอมมูนิตี้ที่เหมือนรวม 3 คอนเซปต์ของแอปพลิเคชันยุคใหม่ไว้ที่เดียว เกิดขึ้นเพราะ COVID-19 เป็นเครื่องเร่งให้มะเป้งคิดหาหนทางแก้ปัญหา เพื่อเชื่อมต่อเกษตรกรกับผู้แปรรูปอาหารดีๆ เข้าด้วยกัน

ฟังก์ชันแรกคือ Shared Services

“หนึ่งในปัญหาของผู้แปรรูปอาหารคือขาดครัว อย่างตอนเกิด COVID-19 รอบแรก เรามีผู้แปรรูปอาหารเกิดขึ้นเยอะมากและขายได้ง่าย เพราะทำที่บ้าน ไม่ต้องลงทุนอะไร ผ่านมาปีหนึ่ง บางคนไปต่อได้ แต่เริ่มขยายสเกลไม่ไหว คำนวณตัวเลขแล้วเหนื่อย” มะเป้งเล่าการเติบโตและรักษามาตรฐานเป็นเรื่องไม่ง่าย

มะเป้งเห็นว่าเขามีพื้นที่ครัวอยู่แล้ว และใน 1 เดือนใช้จริงๆ อยู่ไม่กี่วัน จึงเปิดพื้นที่ให้คนมาเช่าใช้งานตามความต้องการ เพื่อขยับขยายตัวเองจากระดับครัวในบ้านให้กลายเป็น ‘Commercial Kitchen’ ไซส์ S หรือขนาดเล็ก

ภายในครัวกลางนี้มีอุปกรณ์พื้นฐานให้เลือกใช้ตามความต้องการ และผู้ใช้จ่ายตามการใช้งานจริง โดยไม่มีการคิดค่าเช่าที่ดินของมะเป้งรวมเข้าไป และยินดีเปิดเผยตัวเลขต้นทุนทั้งหมดให้คนดูได้อย่างโปร่งใส

เปิดครัวและคอมมูนิตี้แห่งใหม่ของอำเภอสันทราย เชียงใหม่ เชื่อมต่อผู้แปรรูปอาหารกับเกษตรกรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่ออาหารปลอดภัยสำหรับทุกคน

“เช่น ถ้าคุณจะทำไส้กรอกอีสานเจ ดูแล้วต้องใช้เครื่องซีลสุญญากาศที่เราลงทุนไว้ เราจะคิดคำนวณต้นทุนรวมค่าเสื่อม สมมติหารออกมาแล้วต้นทุนอยู่ที่ยี่สิบห้าบาทต่อวัน ต่อเครื่อง เราจะคิดค่าใช้จ่ายคุณแค่ สามสิบห้าบาท ต้องใช้เครื่องไหนบ้างก็เอามาบวกรวมกัน เป็นการทดลองทำสเกลที่ใหญ่ขึ้นได้โดยไม่มีความเสี่ยง ความเสี่ยงเดียวคือทำแล้วขายไม่ได้”

ฟังก์ชันที่ 2 คือ Matching เชื่อมต่อผู้แปรรูปเข้ากับเกษตรกรรายย่อยที่มีภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมะเป้งจะแนะนำฟาร์มหรือแปลงที่รู้จัก ให้ผู้ประกอบการพิจารณาเลือกสรรแหล่งวัตถุดิบ หากอยู่ไม่ไกล ยิ่งลดต้นทุนค่าขนส่งไปได้อีก และช่วยสร้างตลาดให้เกษตรกรรายเล็ก

และสุดท้ายคือ Commerce หรือการช่วยพัฒนาเพื่อให้สินค้าสามารถวางขายออกท้องตลาดได้อย่างมั่นใจ โดยมุ่งมั่นสร้างมาตรฐานของการตลาดที่พูดตามความเป็นจริง บอกที่มาของแหล่งวัตถุดิบได้ครบถ้วน

เปิดครัวและคอมมูนิตี้แห่งใหม่ของอำเภอสันทราย เชียงใหม่ เชื่อมต่อผู้แปรรูปอาหารกับเกษตรกรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่ออาหารปลอดภัยสำหรับทุกคน

“คนเหล่านี้มีแรงขับเคลื่อนอยู่แล้ว เราแค่ดูว่าเขาขาดอะไร บางครั้งเราชวนเชฟหรือผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารมาช่วยกันชิม ช่วยกันคิดและให้คำปรึกษาฟรีๆ ด้วย เพราะเราเป็นชุมชนที่ทำเรื่องนี้มาอยู่แล้ว

“และเราจะพูดแต่สิ่งที่เป็นความจริง ข้างนอกอาจใช้คำหวานกลบเกลื่อน แต่ไม่มีอะไรจะหนักแน่นไปกว่าความจริงแล้ว” 

ตอนนี้ Commercial Kitchen ขนาดเล็กแห่งนี้กำลังอยู่ระหว่างการสร้าง ในอนาคต มะเป้งเล็งที่จะสร้างครัวขนาดกลางต่อไป สำหรับธุรกิจที่เริ่มขยายใหญ่ขึ้นด้วย

รวมกันเราอยู่

“เราแบกความเสี่ยงเอง และไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า แต่มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำ” มะเป้งตอบ เมื่อเราถามถึงการลงทุนสร้างครัวและซื้ออุปกรณ์ไปก่อนในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

เพราะสิ่งที่สำคัญเหนือกว่าการเติบโตทางธุรกิจของตัวเองคือ โอกาสในการสร้างคนที่มีแนวความคิดดีๆ ให้สามารถทำผลิตภัณฑ์ที่อยู่รอดด้วยตัวเอง เกษตรกรรายย่อยมีรายได้เลี้ยงชีพและพลังใจ ซึ่งมะเป้งเองก็ร่วมขบวนการนี้ ด้วยการผลิตฮาลูมี่ชีสแบบสดใหม่เพื่อสนับสนุนผู้เลี้ยงวัวเองด้วย

หากธุรกิจใดเติบโตจนมีศักยภาพเกินกว่าขนาดกลางจะรองรับ สันทรายซิสโกยินดีอย่างยิ่งที่ผู้แปรรูปฝีมือดีจะลงทุนและออกไปตั้งกิจการ อาจเป็นขนาดเล็กของตัวเอง และจะยิ่งดีถ้ามีคนแบบนี้กระจายไปอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย

เปิดครัวและคอมมูนิตี้แห่งใหม่ของอำเภอสันทราย เชียงใหม่ เชื่อมต่อผู้แปรรูปอาหารกับเกษตรกรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่ออาหารปลอดภัยสำหรับทุกคน

“ต่อไปเราอยากขยายตามภาคต่างๆ แล้วหาเครือข่ายคนที่เชื่อแบบนี้ด้วย เพราะของแบบนี้ไม่ควรมีแกนนำ แต่ควรเป็นหลายจุดๆ ที่เชื่อมต่อกันมากกว่า สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือทำให้ตัวเองสำเร็จก่อน เพื่อจะไปบอกคนอื่นได้” 

แต่หากไม่เป็นไปตามคาด แนวคิดนี้ล้มเหลว พวกเขาจะไม่พับแผนและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิ่งที่เชื่ออีกครั้ง

“ข้อดีของกลุ่มคนเหล่านี้คือ พวกเขาเป็น Talent People ที่มีพลังและดึงดูดคนแบบเดียวกันเข้ามาทำสิ่งที่เชื่อด้วยกัน ไม่ใช่คนที่กระโจนเข้าหาความสำเร็จชั่ววูบ หลายครั้งทำก็เข้าเนื้อ ไม่ได้กำไร แต่พวกเขาไม่เคยหยุดทำ ปีหน้าเอาใหม่ ล้มเหลวก็ออกมาตั้งหลักเข้าไปทำใหม่ ดูเป็นพวกดื้อด้าน

“แต่โลกนี้ต้องมีคนที่ไม่หยุดทำแบบนี้”

เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และเกษตรกรรายย่อย เช่น การเข้าร่วม CPTPP ที่จะส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บส่วนขยายพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อ และต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาแพงขึ้น คนเหล่านี้จะลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงให้กันในทันที 

ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนและโลกที่เขารัก

ต้นไม้ที่เรารดน้ำได้ทุกวัน

“โคตรกระจอกเลย” มะเป้งเอ่ยถึงคำที่คนเคยดูถูกเกี่ยวกับแนวคิดที่กลุ่ม Talent People เหล่านี้ทำ

เช่น มะเป้งเคยร่วมทำโปรเจกต์ปลูกต้นไม้ชื่อ ‘มือเย็นเมืองเย็น’ อยู่ 5 ปี ชวนคนมาปลูกต้นไม้ได้ราว 7,000 ต้น อาจดูเป็นตัวเลขที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับข่าวครึกโครมของหน่วยงานต่างๆ ที่ปลูกกันเป็นล้านต้น 

แต่แนวคิดนี้ยั่งยืนกว่า 

เพราะชวนคนปลูกแค่คนละต้น ในที่ที่รดน้ำได้ทุกวัน

“ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต มันไม่ได้ต้องการแค่คนปลูก แต่ต้องการคนรดน้ำ ยิ่งไปปลูกที่ไกลๆ ยิ่งดูแลลำบาก ถ้าเทียบอัตราความสำเร็จของต้นไม้ที่อยู่รอด เราชนะ” 

แม้มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ แต่สันทรายซิสโกดำเนินการด้วยความเชื่อแบบเดียวกันว่า เราไม่ได้ต้องไขว่คว้าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ตามกระแส และการกอบกู้โลกบางทีอาจเป็นเรื่องที่ยากเกินกำลัง 

แต่เราเป็นจุดเล็กๆ ที่ปลูกต้นไม้ด้วยความรักและดูแลอย่างดีทุกวันได้ ใครจะมองว่ากระจอกก็ช่างปะไร

สรรพสิ่งล้วนเกื้อกูลกัน

“เหมือนเปลี่ยนเป็นคนละคน” มะเป้งเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ย้ายมาพักใจที่เชียงใหม่

“เราเข้าใจแล้วว่าทุกอย่างในธรรมชาติเชื่อมโยงกัน ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ และคนต้องอยู่ร่วมกัน จริงๆ เรามีแปลงของตัวเอง มีอาหารกิน ไมได้เดือดร้อนอะไร แต่เรากั้นรั้วสูงๆ อยู่ตัวคนเดียวไม่ได้แล้ว แหล่งน้ำ แมลง นก ธรรมชาติ ทุกอย่างต้องเกื้อกูลกันหมด” 

“ที่สำคัญ เราอ่อนน้อมขึ้น และเชื่อว่าทุกคนมีภูมิปัญญาเป็นของตัวเองที่น่าพูดคุยด้วยทั้งนั้น”

สันทรายซิสโกกำลังเริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้น ยังมีภารกิจอีกมากมายที่มะเป้งต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เพื่อให้เกษตรกรและผู้แปรรูปอาหารเชื่อมต่อเข้าหากันและเติบโตขึ้น 

แม้ระหว่างทางจะมีอุปสรรคบ้าง แต่เรารับรู้ได้เลยว่า เขาจะไม่ได้เดินบนเส้นทางนี้คนเดียว

เปิดครัวและคอมมูนิตี้แห่งใหม่ของอำเภอสันทราย เชียงใหม่ เชื่อมต่อผู้แปรรูปอาหารกับเกษตรกรและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่ออาหารปลอดภัยสำหรับทุกคน

ภาพ : มะเป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป