27,000 คน คือจำนวนผู้ชม LIVE เฟซบุ๊กเวลาบ่าย 3 วันศุกร์ เมื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ออกเดินสำรวจตรวจรอบศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และเรียกตัวรองผู้ว่าฯ ที่อายุน้อยที่สุดไปเดินด้วยกัน 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ ผู้มีนัดสัมภาษณ์กับเราพอดิบพอดีที่ Once Again Hostel โรงแรมที่เขาก่อตั้ง จึงขอตัวไปทำภารกิจชั่วคราว เราหันไปเปิดดูไลฟ์การสำรวจป้อมมหากาฬพร้อมคนทั้งประเทศ สถานที่นี้เต็มไปด้วยความหลังของชายหนุ่มวัย 33 ปี ผู้เคยต่อสู้เคลื่อนไหวให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬไม่ถูกรื้อไล่ที่อยู่หลายปี และจบลงที่พื้นที่ในป้อมกำแพงเก่าแก่ของกรุงเทพมหานครกลายเป็นสวนสาธารณะ

ผู้ว่าฯ กทม. เขย่ามือศานนท์ดังปึ้ก ขณะเอ่ยปากว่าคนรุ่นใหม่เป็นความหวัง การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุดลง อดีตผ่านไปแล้ว อนาคตต้องเดินต่อ ป้อมมหากาฬมีประวัติศาสตร์ ต้องทำให้ที่นี่มีชีวิตจิตใจ มีกิจกรรม ทำให้คนมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 

เมื่อเห็นรองผู้ว่าฯ พยักหน้ารับคำ คนดูทางบ้านก็ใจฮึกเหิมตามว่า โฉมใหม่ของกรุงเทพฯ จะดีขึ้น เสมือนได้ชม Trailer ลมใต้ปีกอันทรงพลังของชัชชาติ 

การรับตำแหน่งของศานนท์สร้างความกระตือรือร้นให้คนรุ่นใหม่และคนทำงานสร้างสรรค์จำนวนมาก แสงสว่างแห่งความหวังอันอบอุ่นเกิดขึ้น เมื่อรู้ว่าคนทำงานเพื่อสังคมที่เคยต่อสู้กับอำนาจรัฐ วันนี้ได้เข้ามามีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้จริง 

ศานนท์เดินกลับมาให้สัมภาษณ์เต็ม ๆ อย่างจริงจังและจริงใจถึงการทำงานที่ผ่านมา เป้าหมายเพื่อสังคม ไปจนถึงชีวิตที่อุทิศให้ครอบครัวและกรุงเทพมหานคร 

เป็นการพูดคุยที่เต็มอิ่ม และบอกเลยว่ายิ่งพัดพาความหวังให้ลุกโชติช่วงว่า Better Bangkok นั้นไม่ใช่ความฝัน แต่เกิดขึ้นได้ไม่ไกลเกินเอื้อม 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ จากนักขับเคลื่อนสังคม สู่รองพ่อเมือง กทม. อายุน้อยสุดของชัชชาติ

01 หวังอันเป็นรูปธรรม

LIVE ของอาจารย์ชัชชาติ คนดูหลายหมื่นคนไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ มาคอมเมนต์ให้กำลังใจจากทั่วประเทศเลย

ต้องขอบคุณกระแสตอนนี้มาก อาจารย์ชัชชาติเปิดประตูการเมืองใหม่มากเลยนะ เป็นคนที่สร้างความหวัง ไม่รู้จะหาคนที่ทำได้ขนาดอาจารย์ได้อีกเมื่อไหร่ ผู้ว่าฯ ไลฟ์เฟซบุ๊กได้ทุกวัน ทำให้ทุกคนเห็นว่าท่านทำอะไรบ้าง แล้วก็แสดงเจตจำนง 

ต้องบอกตรง ๆ ว่านี่พวกเรายังไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเลยนะ เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มิถุนา แต่ประชาชนเห็นเป้าหมาย คืออาจจะเดินเหยียบฟุตพาทอยู่ แต่ว่าตามองแสงสว่าง ซึ่งไม่เคยเห็นมานานแล้วในบ้านเรา เลยคิดว่าเราอยากช่วยทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดได้จริง ๆ แล้วก็เอาความร่วมมือที่มากล้นขนาดนี้มาเปลี่ยนเป็นความหวังที่เป็นรูปธรรม เพราะว่าความหวังที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นแหละที่ทำให้คนยังมองอยู่ ไม่งั้นเขาจะรู้สึกว่าแสงสว่างเป็นสปอตไลต์หลอก เราก็ต้องทำให้ได้ครับ

มีเหตุการณ์ที่รู้สึกดีมากเลย คือตอนที่ป้ายหาเสียงโดนร้องเรียนเรื่องทำเป็นกระเป๋าได้ มีคนส่งไวนิลกลับมาเยอะมากที่ออฟฟิศ แล้วก็มีโน้ตเขียนว่า เราอยากได้มาก แต่เรากลัวว่าท่านชัชชาติจะโดนร้องเรียนเลยเอามาให้ อยากให้ท่านได้ทำงานมากกว่าที่จะอยากได้กระเป๋าใบนี้ เราอ่านแล้วขนลุกเลย นี่แหละคือความหวังที่แท้จริง เราต้องช่วยกัน แล้วเราต้องช่วยกันแบบนี้จนไปถึงฝั่ง 

อาจารย์ชัชชาติทำงานวันหยุด มักจะเห็นคุณอยู่ด้วยเสมอ มีเวลาพักบ้างไหม 

เรื่องเมืองคือเรื่องประจำวัน อาจารย์ชัชชาติใช้ชีวิตประจำวันหมดไปกับเรื่องเมืองทั้งหมด ไปวิ่ง ไปกินข้าว ไปตามร้านอาหาร แทบจะเป็นบล็อกเกอร์ดัง ๆ คนหนึ่งไปแล้ว นั่นน่ะแหลมคมมากเลยนะ มันซ่อนมิติของการพัฒนาเมืองในทุก ๆ เรื่องเลย

เรื่องที่ผมทำน่าสนุกมาก เราทำเรื่องท่องเที่ยว วัฒนธรรม การศึกษาก็มีพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด เรื่องตลาดเราก็ไปกินได้ คิดว่าทำงานเราก็ยังมีโอกาสพักผ่อน และการพักผ่อนเราก็ยังทำงานไปได้ ที่เป็นห่วงมากก็คือเรื่องครอบครัวมากกว่าที่อยู่ไกล แล้วก็ลูกยังเล็ก

คุยกันเมื่อปีกลาย คุณเล่าว่าย้ายไปอยู่จังหวัดเลยกับครอบครัว และกำลังค่อย ๆ ปล่อยมือจากธุรกิจโฮสเทล ตัดภาพมาอีกที กลายมาเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ยังไง

งานที่กรุงเทพฯ ผมมีทีมที่ค่อนข้างแข็งแรง ก่อนโควิดเราเปิดโรงแรมใหม่ น้อง ๆ ที่ทำงานด้วยกันมาประมาณ 3 – 4 ปี ก็เป็นเจ้าของร่วมกัน ผมคิดว่าเขาควรขึ้นมาเป็นผู้บริหารจัดการหลักของธุรกิจไปเลย บทบาทเราลดลงมาเป็นคนผลักดันอยู่แล้ว

ผมเพิ่งแต่งงานด้วย ก็อยากโฟกัสที่ครอบครัว แต่โชคร้ายตรงที่มีโควิด มันก็เลยทำให้เราต้องไป ๆ มา ๆ อยู่พักหนึ่ง เป็นช่วงเดียวกับที่อาจารย์ชัชชาติมาเยี่ยม มาคุยกันที่โฮสเทลหลายรอบ จนทีมงาน SATARANA ครึ่งออฟฟิศได้ช่วยอาจารย์อยู่ข้างหลัง อาจารย์พูดว่าไม่ได้ทำงานการเมือง แต่ทำงานเมือง ซึ่งงานที่เราทำอยู่มันคืองานเมืองอยู่แล้วไง ไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาชุมชน ทำเรื่องเศรษฐกิจ หรือเรื่องการขนส่งสาธารณะที่ทีม MAYDAY! ทำร่วมกับ กทม. อยู่แต่เดิม ถ้าเราได้ทำงานเมือง แล้วก็ได้ทำงานกับอาจารย์ชัชชาติด้วย มันก็ขยายผลได้ พอเลือกตั้งจริงมันก็เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงตอนนี้ครับ

มีการตกลงกันไว้ก่อนรึเปล่าว่าถ้าชนะเลือกตั้ง…

(ทันที) ไม่ ไม่เคยเลยครับ ไม่เคยคิดถึงตำแหน่งด้วยซ้ำ เอาตรง ๆ ก็คือเสื้อสีขาว กางเกงสแล็กส์ รองเท้าหนัง ผมไม่มีเลย ปกติใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รองเท้าธรรมดา ต้องซื้อใหม่หมดเลยในวันที่ต้องเข้าไปทำงาน นี่ชุดกากียังตัดไม่เสร็จเลยครับ ค่อนข้างเซอร์ไพรส์มาก ๆ ที่อาจารย์มาชวน

ทำไมกะทันหันขนาดนั้น

เพราะว่าก่อนหน้านั้นงานมันยุ่ง ตอนนั้นเราทำทั้งงานอาสาสมัคร งาน Traffy Fondue งานเว็บไซต์ ช่วยคิดนโยบายบางส่วน คือเราทำงานกันเป็นทีม แล้วโฟกัสที่งานอย่างเดียว ช่วงใกล้วันเลือกตั้งต้องทำ War Room หาอาสาสมัครเฝ้าหน่วยเลือกตั้ง 7,000 คน และจัดการระบบหลังบ้าน วุ่นจนไม่ได้คิดว่าเสร็จแล้วยังไงต่อ มารู้ตัวเอาวันเลือกตั้ง ตอนที่ชนะแล้วอาจารย์ชัชชาติเข้ามากอดคอคุย

ศานนท์ หวังสร้างบุญ จากนักขับเคลื่อนสังคม สู่รองพ่อเมือง กทม. อายุน้อยสุดของชัชชาติ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ จากนักขับเคลื่อนสังคม สู่รองพ่อเมือง กทม. อายุน้อยสุดของชัชชาติ

ตอนนั้นตอบอาจารย์ชัชชาติไปว่าอะไร

ขอคุยกับภรรยาก่อน (หัวเราะ) เพราะลูกยังเล็กมาก โทรไปบอกแล้วภรรยาก็โอเค เขาพูดดีมาก บอกว่ามันเป็นโอกาสแหละ เดี๋ยวเราค่อยมาหาทางออกกัน ทำให้รู้สึกว่าถึงเรายังไม่รู้จะบาลานซ์ได้ขนาดไหน แต่อย่างน้อย ๆ เขาซัพพอร์ตเรา งั้นก็ลุยเลย โอกาสมาก็ต้องรับไว้

นี่คือโอกาสอะไรสำหรับคุณ

ผมทำเรื่องเมืองมานาน จนพูดตรง ๆ รุ่นพวกเราค่อนข้างหมดหวังแล้วกับเมือง แต่คิดว่า เฮ้ย ความสิ้นหวังนี้มันพอจะเปลี่ยนเป็นโอกาสเข้าไปเป็นแรงขับเคลื่อนให้เมืองดีขึ้นได้ไหม ถ้าเราไม่ลอง แล้วยังมาพูดว่าหมดหวัง ก็คงไร้ประโยชน์

การแก้โครงสร้างได้ดีที่สุด ก็คือการเอาอำนาจภาครัฐเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาครัฐเอง ซึ่งอาจจะเกิดจากคานดีดคานงัด เช่น เราไปเป็นคู่ตรงข้ามกับรัฐเพื่อที่จะทำให้รัฐเปลี่ยน หรือเราไปเป็นรัฐเพื่อที่จะทำให้รัฐเปลี่ยน ซึ่งวันนี้เราได้โอกาสนั้นแล้ว ไม่มีโอกาสไหนเหมาะกว่านี้แล้ว 

อันดับหนึ่งเลยผมอยากเปิดพื้นที่ให้ประชาสังคม เพราะว่าเราเป็นประชาสังคมมาก่อน พูดแล้วก็ตื่นเต้นนะ เราอยากเอากุญแจนี้มาเปิดประตูที่มันปิดมาไม่รู้กี่ชั้น เราจะเปิดมันทุกชั้นเลย แล้วทำให้คนเห็นว่า กทม. ทำอะไรได้บ้าง มาช่วยกัน ไม่ได้คิดว่ามี Solution อะไรที่เสร็จสรรพ เมืองมันพัฒนาได้ทุกวัน วันนี้ดี วันพรุ่งนี้ก็พัฒนาต่อได้ เราก็เลยใช้คำว่า Better Bangkok ซึ่งมันจะดีได้ก็ต่อเมื่อกระบวนการมันหล่อหลอมให้ทุกคนอยากเข้ามาพัฒนาด้วยกัน อย่าไปฝากความหวังไว้กับท่านผู้ว่าฯ คนเดียว อย่าไปฝากความหวังไว้กับใครที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคนเดียว ถ้าเราไปหวังพึ่งใครให้มาเปลี่ยน ไม่ว่าเขาจะเก่งแค่ไหน วันหนึ่งเขาจะหมดแรง 

เราอยากผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วม ให้ทุกคนรู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นของทุกคนจริง ๆ แล้วเราอยากทำให้มันดีขึ้น เรารู้ว่าศักยภาพของประชาชนกับสังคมมีมากขนาดไหน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เหมือนโดนปิดปาก ปิดประตูตลอด คนรุ่นอายุเยอะแล้วบริหารมานาน วันนี้มีเวทีที่ทุกคนมาช่วยกันทำให้ดีขึ้นได้ ดังนั้นการบริหารด้วยเจเนอเรชันใหม่เป็นมิติที่ผมอยากทำให้ได้ในการบริหารกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ กำลังพยายามฟอร์มทีมคนรุ่นใหม่ในทุก ๆ ด้าน อยากให้เขามีส่วนร่วมช่วยกันบริหาร อยากให้มาดูว่าทรัพยากรของ กทม. ทำอะไรได้บ้าง แต่หลักการคือต้องโปร่งใส ทำให้ทุกคนเห็นว่าเรากำลังพยายามทำอะไร แล้วเขาช่วยอะไรเราได้บ้าง 

ทำไมถึงต้องเป็นคนรุ่นใหม่

ทำไมจะไม่ใช่คนรุ่นใหม่ดีกว่า โลกมันปรับเปลี่ยนเร็วขึ้นทุกวันนะ แล้วทุกวันที่ปรับไปก็มีคนที่ตามทันและตามไม่ทัน คำนิยามของรุ่นใหม่จริง ๆ ต้องบอกว่าคือคนที่ทันสมัยละกัน แล้วก็เป็นคนที่ไม่ได้เอาข้อจำกัดมานำ นอกจากเรื่องอายุแล้วคือ Mindset ที่เปิดรับอะไรใหม่ ๆ อย่างอาจารย์ชัชชาติเนี่ยเป็นดาว TikTok ไปแล้ว 

ความทันสมัยสำคัญมาก การเป็นตัวแทนของเจเนอเรชันก็สำคัญ เพราะว่าความต้องการของคนแต่ละยุคสมัยมันแตกต่าง พูดแทนกันค่อนข้างยาก ไม่ใช่แค่เรื่องของอายุ มันเป็นเรื่องทัศนคติ แล้วก็ต้องมีความหลากหลายเรื่องเพศสภาพ ข้อจำกัดทางกาย แล้วก็สภาพจิตใจต่าง ๆ 

คุณมองปัญหาของกรุงเทพฯ ต่างไปยังไง จากบทบาทเดิมที่เราเป็นคนต่อสู้ภาคประชาชน แล้ววันนี้กลับมาอยู่ฝั่งภาครัฐ 

ยังไม่ค่อยมีมุมมองต่างเลย เพราะว่าเพิ่งเข้ามาได้ไม่กี่วันเอง จากมุมข้างนอก เราไม่รู้เลยว่าระบบระเบียบมีปัญหาอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งแรก ๆ ที่ต้องทำคือเข้าใจกฎนู่นนั่นนี่ แต่ว่าต้องทำความเข้าใจโดยที่ไม่เอามาเป็นข้อจำกัด เราจะไม่ย่อท้อต่อเป้าหมายที่เราอยากทำ คือการทำให้ดีขึ้นยังตั้งอยู่ เราเข้าใจเพื่อใช้ แล้วก็ทำให้โปร่งใส ทำให้ถูกหลักการ เมื่อไหร่ที่เราเอากรอบมาครอบ สิ่งที่เราจะทำให้ดีมันจะเริ่มหายไปไง

คำว่า ‘ไม่ได้’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องตั้งคำถาม ถ้าใครทำงานด้วยกันเมื่อก่อนจะรู้เลยว่าคำที่เราไม่ชอบที่สุดคือคำนี้ เออ แล้วถ้าทำไม่ได้ ต้องทำยังไงดี วิธีคิดนี้ก็คงยังอยู่กับเรา ยืนยันว่ายังไงก็ไม่เอากรอบมาเป็นอุปสรรคต่อการทำให้มันดีขึ้นครับ

ศานนท์ หวังสร้างบุญ จากนักขับเคลื่อนสังคม สู่รองพ่อเมือง กทม. อายุน้อยสุดของชัชชาติ

ตอนนี้อะไรเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของคุณมากที่สุด

แต่ก่อนเราสร้างทีมเอง เพราะเราเป็น Entrepreneur สามารถออกแบบโครงสร้างการทำงานอย่างอิสระ มีทีมที่เราเชื่อใจ แล้วก็เข้าใจว่าเราต้องการทำอะไรไปสู่อะไร 

ตอนนี้เรายังไม่เข้าใจโครงสร้างข้าราชการ เรายังไม่รู้ว่าใครเก่งอะไร ไม่เก่งอะไร ไม่รู้ว่าองคาพยพที่เรามีอยู่ตรงไหน และเรามีทีมของเราได้มากแค่ไหน ซึ่งหลักการก็ควรจะเป็นการทำงานร่วมกับข้าราชการให้ดีที่สุด วันก่อนเพิ่งคุยกับ 3 สำนักที่ดูแลทั้งหมด เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มีความหวังนะ ยังไม่ทันคุยอะไรเลย เขามาพร้อมกับการเอา 214 นโยบายไปแมพแล้วว่าสำนักเขาทำอะไรได้บ้าง ผมคิดว่ามัน Progressive กับกรุงเทพฯ เหมือนกัน เริ่มต้นมาค่อนข้างเวิร์กละ เหลือแค่ว่าตอน Execution จะเดินไปด้วยกันยังไง

นี่เป็นความท้าทายที่ตอนนี้ต้องทำให้ได้เร็วที่สุดครับ คนพร้อมช่วยเยอะแหละ แต่เราต้องจัดทัพข้างในให้เรียบร้อย กระบวนท่าต้องครบก่อน ใครจะดูอะไร สมมติเราจัดทัพตรงนี้ได้เนี่ย เราต้องรีบเอาโมเมนตัมตอนนี้ที่สุดยอดเข้ามาเสริม 

งานของคุณคือการดูแลด้านการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว พอจะยกตัวอย่างนโยบายการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ไหม

สิ่งสำคัญคือเรื่องกระบวนการ หลายโปรเจกต์มาแล้วก็จะผ่านไป แต่ว่าสิ่งที่เราอยากวางรากฐานไว้คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกโปรเจกต์จะมีคณะทำงานที่มาจากภาคสังคม มีแก่นคือการสร้างทีมรุ่นใหม่ในชุมชนทั่วกรุงเทพมหานคร 

เรามีชุมชนในกรุงเทพฯ ประมาณ 2,016 ชุมชนที่จัดตั้ง แล้วก็มี 450 กว่าชุมชนที่ไม่ถูกจัดตั้งเพราะมีไม่ถึงร้อยหลังคาเรือน พูดง่าย ๆ ว่าเรามี 2,500 ชุมชน เราสร้างทีมคนรุ่นใหม่ในชุมชน เรียกว่าอาสาสมัครเทคโนโลยี อาจารย์ชัชชาติพูดบ่อยเรื่อง อสท. ทีมนี้จะเป็น Change Maker ในชุมชน ซึ่งเราตั้งเป้าที่จะทำให้ได้ 400 ชุมชนก่อน เริ่มจากชุมชนที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์ เพราะแสดงว่าเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ถ้าเรามีโครงการต่าง ๆ อสท. จะเป็น Change Agent ผลักดันการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข

โชคดีที่เราเริ่มงานมา 2 ปีกว่าแล้ว มีอาสาประมาณ 200 คนจากประมาณร้อยชุมชน ทีนี้เราก็ต่อยอดได้เลยว่า วันนี้เริ่มทำงานปั๊บ เรามีทีม ไม่ใช่แค่สำนักพัฒนาสังคม แต่เรามีคนในชุมชนที่พร้อมจะพัฒนาบ้านเขา และเข้าใจเทคโนโลยีด้วย คนเหล่านี้จะเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับผู้สูงอายุ คนในชุมชน หรือปราชญ์ของชุมชน 

อันต่อไปคือเรื่องเศรษฐกิจ เรามีโครงการ 12 เทศกาลตลอดทั้งปีนะครับ แล้วก็ 50 เขต 50 อัตลักษณ์ ซึ่งอาจจะปรับเป็นย่าน เพราะว่าบางเขตก็มีหลายย่าน เราจะทำ Storytelling เรื่องพวกนี้ทำน้อยแต่ได้มาก ชวนนักเล่าเรื่องมาจัดเวิร์กชอปให้ย่านต่าง ๆ เห็นคุณค่าอัตลักษณ์ตัวเอง จับคู่สื่อกับชุมชน แล้วปลายปีก็คิดว่าเราต้องทำงานกระตุ้นการท่องเที่ยวกับ ททท. อยากให้แต่ละย่านมีที่เที่ยวหลาย ๆ จุด ไม่ใช่ไปเที่ยวแค่จุดสำคัญ แพตเทิร์นของนักท่องเที่ยวทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนี้ เช่น 10 ที่เที่ยวเยาวราช ก็ทำแบบนี้ได้ในทุกที่ ซึ่งอะไรแบบนี้ควรจะโปรโมตร่วมกับคนในย่าน 

เรื่องการศึกษา หลาย ๆ เรื่องทางสำนักฯ เขาทำไว้ค่อนข้างดีครับ ก็ต้องมาดูก่อนว่ามีอะไรที่เราทำได้บ้าง กทม. ทำร่วมกับ สพฐ. แล้วก็หลาย ๆ ที่ โดยโฟกัสที่ประถมวัย เพราะมีนักเรียนอยู่ประมาณ 250,000 ครูประมาณ 15,000 ซึ่งนักเรียนเท่ากับครึ่งหนึ่งของนักเรียนประถมทั้งประเทศ ก็โฟกัสที่การเรียนรู้เบื้องต้น

ส่วนมัธยมจะแปรรูปเป็นสายอาชีพมากขึ้น เพราะว่าเราดูเทรนด์แล้วคนที่มาเรียน กทม. ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไปเรียนต่อสายอาชีพ เพราะฉะนั้นทำไมเราไม่เอาสายอาชีพเข้ามาเลย โอกาสมีค่อนข้างเยอะ ไม่ได้มีแค่ตัดผม ช่างแอร์ ทุกวันนี้คนที่จบปริญญาตรีทำสายอาชีพทั้งนั้นเลย เป็นบาริสต้า บาร์เทนเดอร์ ตกแต่งต้นไม้ก็ฮิตมาก ทำโฮสเทลก็ได้ เราเอาการฝึกอาชีพมาผสานกับโรงเรียนมัธยมของกรุงเทพมหานครได้

นอกจากนี้แล้วก็มีเรื่องพื้นฐานต่าง ๆ ดึงครูเก่ง ๆ เข้ามา แล้วก็เปิดโรงเรียนวันเสาร์อาทิตย์เป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้ามาใช้บริการ ใช้สถานที่ของโรงเรียนทำอะไรต่าง ๆ จัดอาสาสมัครคล้าย ๆ แบบ Saturday School ชวนคนมาร่วมสอนกับเด็กในบ้าน มีอะไรสนุก ๆ เต็มเลยที่คิดว่าสำนักการศึกษาทำได้ 

โอ้โห ฟังแล้วรู้สึกกรุงเทพฯ มีความหวังจริง ๆ นะ เราหวังได้จริง ๆ ใช่ไหม 

คิดว่าถ้าทำไม่ได้ก็จะไม่อยู่นานครับ (หัวเราะ) อันนี้พูดจริง ๆ เลยนะ ถ้าเราทำไม่ได้ก็ไม่ควรเอาโควตานี้ มีรองผู้ว่าฯ แค่ 4 คน เราคิดว่าเรามีเรื่องที่อยากทำ ไม่รู้ว่าศักยภาพเราทำได้แค่ไหน บางเรื่องไม่ต้องใช้งบ แต่ใช้ความร่วมมือ ผู้บริหารชุดนี้ที่นำโดยอาจารย์ชัชชาติ มีแต่คนอยากร่วมมือ ต้องใช้โมเมนตัมนี้สร้างความร่วมมือและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เร็วที่สุด 

สมัยที่ MAYDAY! ทำป้ายรถเมล์ เราเรียนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องรองบประมาณ มันคือการสร้าง Prototype คือการสร้างความหวังใหม่ที่เป็นรูปธรรม บอร์ดอันนั้นใช้เงินสัก 4,000 บาทมั้ง แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันเปลี่ยนทั้งกรุงเทพฯ เปลี่ยนระบบศาลารอรถเมล์ ไปผลักดันให้ ขสมก. และคนอื่น ๆ ตื่นตัวเรื่องพวกนี้ 

บางทีเราชอบคิดว่ายังไม่มีงบ แต่เราอาจจะขอเงินไม่เท่าไหร่ สร้าง Prototype ทุกอย่างเลย ทำให้ทุกอย่างมีรูปธรรม มีความหวัง ติดขัดอะไรก็เอาให้ประชาชนรู้เลยว่าปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วเราก็เชื่อว่าคนที่เขาดูแลกระบวนการจะช่วยให้งานเกิดให้ได้ ถ้าเราไปมุบมิบ บางทีเราหมดไฟเองหรือลืมไปแล้ว มัวแต่รอก็อาจจะไม่เกิดอะไรเลย 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ จากนักขับเคลื่อนสังคม สู่รองพ่อเมือง กทม. อายุน้อยสุดของชัชชาติ

02 สร้างการเปลี่ยนแปลง

มองย้อนกลับไป ทางเลือกของคนจบวิศวะฯ จุฬาฯ มีมากมาย ทำไมคุณถึงแหวกแนวเลือกทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่แรก

จับพลัดจับผลู ถ้าไปพูดแนะแนวน้อง ๆ จะไม่กล้าพูดเรื่องการตั้งเป้าหมายทะเยอทะยาน รู้สึกว่าชีวิตเป็นการสะสมจุด ผมโชคดีที่ Connect the dots มาเรื่อย ๆ โดยยึดมั่นสิ่งที่เราอยากทำแต่เดิมมาตลอด มันเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เรามีวันนี้ 

บ้านผมเคยขายวัสดุก่อสร้าง แล้วก็ตอนวิกฤตปี 40 ที่บ้านก็ล้มเลย ตอนนั้นเรียนเซนต์คาเบรียลก็มีค่าใช้จ่าย ต้องขอทุนที่โรงเรียน ตั้งแต่มัธยม คุณแม่ก็ไปวิ่งคุยกับมาสเตอร์ที่โรงเรียนเพื่อให้เราอยู่ได้ โดยข้อแม้คือต้องเรียนให้ดี เลยรู้สึกว่าเราต้องตอบแทนโรงเรียน เพราะเอาทรัพยากรของโรงเรียนมาใช้ประโยชน์ พอเรียนวิศวะฯ ที่จุฬาฯ ก็ขอทุนเหมือนกัน เราถูกหล่อหลอมว่ามีคนให้เรา เราถึงมีวันนี้ มีสังคมเพื่อน ๆ ที่ดี เราก็อยากทำอะไรให้คนอื่นเหมือนกัน เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราทำให้คนอื่น เขาอาจจะโชคดีเหมือนเราก็ได้ 

สมัยเรียนมัธยม เราต้องตั้งใจเรียนมาก อึดอัดกับการเรียนที่เข้มข้น พอเข้ามหาลัยก็เลยพยายามทำกิจกรรมตั้งแต่ปี 1 ทำเยอะเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกิจกรรมเป็นหนึ่งในหลักสูตรมากกว่าเรียนอีก จนปี 4 เราก็เป็นนายก อบจ. (องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ) ได้ทำงานบริหารครั้งแรก มีทีมที่เราเชื่อใจ มีโครงการที่เราอยากทำ แล้วก็ได้คุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตอนนั้นจำได้เรามี Pain Point อะไรก็ใส่ยับเลย เช่น เริ่มโครงการจามจุรีเก้า 24 ชั่วโมง เพราะว่าแต่ก่อนต้องไปอ่านหนังสือสอบตามแมคโดนัลด์ แต่ทรัพยากรจุฬาฯ ก็มีนี่นา เราได้แรงบันดาลใจจากมหาลัยในอเมริกาและยุโรป แล้วก็ทำโครงการ ทำค่ายต่างจังหวัดเยอะมาก ยิ่งได้ค้นพบว่าสิ่งที่เราทำแล้วไม่เหนื่อย ทำแล้วสนุก ก็คืองานเพื่อสังคม

แล้วพอวิกฤตน้ำท่วมปี 54 เราก็มาเจอกับพี่ ๆ หลายคนที่ทำเรื่องงานสร้างสรรค์จาก TCDC จาก a day ที่มีไอเดียเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม เป็นสิ่งที่ใหม่มากในปี 2011 จำได้เลยว่ามันดูคนละโลกกัน แล้วทำไมถึงมีสิ่งนี้ด้วย ทั้งการทำธุรกิจ ทั้งเรื่องเพื่อสังคมเป็นความสนใจของเราทั้งคู่ 

สนใจการทำธุรกิจด้วย

ใช่ ตอน ม.3 เปิดร้านเกม มี Play Station 1 ตอนนั้นบ้านอาโกวจะปล่อยเช่าตึก เราก็บอกว่าขอทำนะ อยากทำเพราะชอบเล่นเกม ตอนนั้นไม่คิดอะไร คิดว่าเราจะได้เล่นเกม 24 ชั่วโมง ญาติก็ช่วยเซ้งให้แล้วให้เราค่อย ๆ ผ่อนคืน พอได้ทำจริง ๆ ก็โอ้โห สนุกเลย ตอนนั้นมีบริวารเยอะมาก มีเด็ก ๆ คอยช่วยดูในร้านแลกกับการได้เล่นเกมฟรี 

อยู่รอดไหม

เจ๊ง! สุดท้ายเราก็เลยเรียนรู้ว่าธุรกิจไม่ใช่เรื่องความสวยงามอย่างเดียว มีความล้มเหลวเรื่องเงิน เรื่องความผิดพลาดต่าง ๆ

พอรู้จักธุรกิจเพื่อสังคม ตอนเรียนจบแล้วได้ลองทำงานในกลุ่ม ปลาจะเพียร ซึ่งช่วยเหลือชุมชนที่โดนวิกฤตน้ำท่วมตั้งแต่ภาคเหนือถึงกรุงเทพฯ ส่วนที่ผมรับผิดชอบคือชุมชนคลองลัดมะยมซึ่งปลูกเครื่องแกง มีคุณลุงที่เข้มแข็งหลาย ๆ ท่าน เราได้ไปเรียนรู้การใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำโปรเจกต์ร่วมกับชุมชน ไปคลองลัดมะยมติดต่อกันน่าจะเกิน 30 – 40 รอบ ทำงานประจำวันธรรมดา แต่ทุกสุดสัปดาห์ต้องไปที่นี่ ก็ได้ค้นพบว่าวิธีการช่วยโดยที่เอาความคิดสร้างสรรค์เข้าไปมันมีประโยชน์กับชุมชนจริง ๆ เป็นส่วนที่เขาต้องการจริง ๆ แต่ว่าก็มีคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างทำคือ แล้วเราจะทำตัวธุรกิจยังไงให้ยั่งยืน

ช่วงแรกปลาจะเพียรมีอาสาสมัครมาร่วมเป็นร้อยคน แต่พอวิกฤตจบ 2 เดือนผ่านไป คนเหลือไม่น่าเกิน 10 คน เราก็อยู่กันอย่างนี้ 2 – 3 ปี แล้วก็เริ่มตั้งคำถามว่า เราไปช่วยชุมชนหรือว่าชุมชนช่วยเรากันแน่ การทำแบบนี้มันดีกับเขา หรือเขาทำให้เราดูดี นั่นเป็นการตั้งคำถามกับการทำเพื่อสังคมที่ค่อนข้างท้าทายครั้งแรก 

ศานนท์ หวังสร้างบุญ จากนักขับเคลื่อนสังคม สู่รองพ่อเมือง กทม. อายุน้อยสุดของชัชชาติ

ตอนนั้นคุณทำงานประจำอะไรอยู่

เป็น Purchasing Manager ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ P&G ซึ่งแปลเป็นไทยคือจัดซื้อ แต่ว่าจริง ๆ แล้วคือการวางแผน Strategic Sourcing ดูว่าความคุ้มทุนของการตั้งโรงงานแต่ละที่ และการขยายโรงงานของแต่ละที่เป็นอย่างไร ต้องทำงานกับวิศวกรว่าความยืดหยุ่นมีแค่ไหน ดูเรื่องเครื่องจักร เรื่องโรงงาน อยู่คาบเกี่ยวระหว่างความเป็น Engineer ที่เราจบมากับความสนใจทาง Business ก็เลยสนุกมาก ได้บินไปดูโรงงานเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไปอยู่สิงคโปร์ ไปที่ไหนก็ได้เรียนรู้วัฒนธรรมเขา สิงคโปร์ค่อนข้างทำงานเร็ว เวียดนามละเอียดลึกซึ้ง ฟิลิปปินส์ก็เป็นอีกแบบ 

ทำงานอยู่เกือบ 5 ปี ระหว่างนั้นตกตะกอนค่อนข้างเยอะจากปลาจะเพียร ก็เลยลาออกมาทำโรงแรม เป็นโปรเจกต์ที่คุยกับเพื่อนสนิทชื่อ มิค (ภัททกร ธนสารอักษร) เขาเป็นสถาปนิก มีทรัพย์สินที่บ้านเป็นโรงพิมพ์เก่า เราเอาความรู้ที่ได้จากทั้งงานประจำและปลาจะเพียรมาเขย่าว่าเป้าหมายต้องชัดเจน ธุรกิจต้องอยู่ได้ และมีอิมแพคต่อสังคม เกิดเป็น Once Again Hostel ที่มี Business Model แข็งแรง และมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการกับย่านที่เราอยู่อาศัย ซึ่งมีชุมชนโบราณค่อนข้างเยอะ 

ทำไมเลือกเป็นเจ้าของโฮสเทลเล็ก ๆ มากกว่าเป็นผู้จัดการระดับภูมิภาคของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งรายได้คงเทียบกันไม่ติด

ตอนนั้นอายุ 25 – 26 รู้สึกว่าชีวิตนิ่ง งานมั่นคง เงินเดือนค่อนข้างโอเคมาก ๆ แต่ว่าพอยิ่งทำไปนาน ๆ รู้สึกตัวคนเดียว ถึงจะมีทีมอยู่ตามประเทศต่าง ๆ แต่มันไม่ได้ Fulfill ลึก ๆ ในใจเราไม่ได้อยากไปร้านอาหารหรู ๆ ไปท่องเที่ยว แล้วก็ตื่นมาทำงานต่อ มันขาดสิ่งที่เราสนุกอย่างพวกงานค่าย งานชุมชน งานเพื่อสังคม ที่เราดันเคยไปรู้จักมา 

ผมแค่คิดว่าถ้าไม่ประสบความสำเร็จ เราก็กลับไปทำงานประจำได้ใหม่ มีโปรไฟล์ที่ไปยื่นสมัครงานได้ แล้วทำไมไม่ลองล่ะ อายุก็ยังไม่ได้เยอะ ก็เลยเอาเงินเก็บที่สะสมมาทำโรงแรมหมดเลย จากที่เคยเป็นผู้รับบริการก็เปลี่ยนเป็นผู้ให้บริการ เราอยากได้อะไรก็ทำแบบนั้น 

ตอนนั้นเป็นจังหวะที่ธุรกิจโฮสเทลขาขึ้นด้วยใช่ไหม

กำลังมา แต่ยังมีน้อยครับ โฮสเทลสมัยก่อนเน้นความประหยัด ราคาถูก โรงแรมที่ดีไซน์จัดมีแค่หลักหน่วย เราโชคดีที่ตอนเปิดโรงแรมเดือนธันวา ปี 2015 แขกเต็มจน Hostel World บินมาหาเลย เพราะว่า Ranking ไต่เร็วมาก เราคิดทุกอย่างจากความต้องการของเราที่เคยเป็นนักท่องเที่ยว ตึกทำให้สวยงาม เตียงใหญ่กว่าเจ้าอื่น เป็นงานบิลด์อิน ไม่โยกเยก ล็อบบี้ก็ใหญ่มาก และเราไปเชื่อมโยงกับชุมชนรอบ ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านข้าวหรือกิจกรรม มันมีองค์ประกอบที่ทำให้คำว่าโฮสเทลบิดไปนิดหนึ่งจากเดิม 

ฝั่งธุรกิจ Success เร็วมาก เราแฮปปี้มาก ก็แบ่งกำลังดูแลแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ให้ธุรกิจมันอยู่ได้ เอากำลังมาฝั่งพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะเรามองตัวธุรกิจเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ไม่ได้ทำเพื่อสร้างกำไรอย่างเดียว เป้าหมายคือทำให้การพัฒนาสังคมเป็นอาชีพได้ ดังนั้นไม่ว่ามีโควิด หรือธุรกิจท่องเที่ยวขาลงยังไง เราก็คิดว่าทำยังไงให้ทีมยังพัฒนาสังคม พัฒนาเมืองได้ต่อ ถึงฟอร์มมันเปลี่ยนไป แต่ว่าความตั้งใจคือสิ่งเดิม

ทำไมการพัฒนาเมือง พัฒนาสังคม ถึงติดอยู่ในทุกเส้นทางชีวิตตลอดเวลา

เพราะมันเป็นอาชีพได้มั้ง มันมีที่ทางให้เราอยู่ได้จริง ๆ แล้วการพัฒนาเมืองมันสนุกตรงที่ว่า กิจกรรมอะไรก็เป็นการพัฒนาเมืองได้หมด ไปสวนสาธารณะก็ใช่ ทำกิจกรรมกลางแจ้งก็ใช่ ไปไหนมันก็เข้ามาในหัว พูดง่าย ๆ ไม่มีวินาทีไหนที่ไม่คิดเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิต แล้วพอเรารู้สึกว่ามันแก้ได้ เราหาทางได้ แล้วเราไม่ได้คนเดียว เรามีทีม ทีมทุกคนเป็นเหมือนกันหมด แต่ก่อนเคยมีทีมถึงเกือบ 80 คน แล้ว 80 คนคิดอย่างงี้ทุกวัน พวกเรามีกระดาษทดว่าวันนี้เจออะไร น่าแก้อะไร พออยู่ในสังคมที่คิดอย่างงี้ด้วยกันเราสนุกที่จะหาทางออกทุกวัน 

น่าจะเคยมีคนบอกคุณบ่อย ๆ ไหมว่าคุณเป็น Dreamer 

คนชอบคิดว่าเป็น Dreamer แต่จริง ๆ ผมค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายเวลาทำงานนะ มอง Practical มาก แต่ว่าชอบคิดไปให้เกินร้อยไว้ก่อน แล้วก็ค่อยมาดูกันว่าทำจริงแล้วได้เท่าไหร่ 

เป้าหมายของ ‘ศานนท์ หวังสร้างบุญ’ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ คุณพ่อลูกอ่อน รองผู้ว่าฯ กทม. อายุน้อยที่สุดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ถึงจุดหนึ่ง ทำไมแค่โรงแรมเพื่อชุมชนก็ไม่พอ ต้องแยกหน่วยออกมาทำเรื่องเมืองเต็ม ๆ SATARANA ทำหลายเรื่องมาก ๆ Trawell ทำเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน MAYDAY! ทำเรื่องขนส่งสาธารณะ และ Attention ทำเรื่องการสื่อสารและแบรนดิ้งให้กับชุมชน 

เมื่อ 80 เปอร์เซ็นต์ของกำลังคนมาอยู่ฝั่งนี้ เราก็ค้นพบ Iceberg Model คือเราเห็นปัญหาจากภูเขาน้ำแข็งด้านบน ซึ่งเราเรียกว่า Event โดยอีเวนต์ต่าง ๆ ผุดขึ้นมาก้อนใหญ่บ้างก้อนเล็กบ้าง แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ข้างล่างของภูเขาน้ำแข็ง 

ถ้าไล่ลำดับก็คือจากอีเวนต์ เราจะเห็น Pattern ว่าปัญหาที่ทำให้เกิดอีเวนต์นี้บ่อย ๆ คืออะไร ไปถึง Structure ที่ทำให้เกิดแพตเทิร์นนั้น รากลึกลงไปอีกคือเรื่องภายใน เป็นเรื่อง Mental Model ที่ทำให้เกิด Structure

พอเราเข้าใจตรงนี้ เราก็มาคิดได้ว่าปัญหาที่โรงแรมเราแก้เป็นอีเวนต์หมดเลย สมมติเราพานักท่องเที่ยวไปชุมชนทุกวัน เขาก็ได้เงินทุกวันนะ แต่เขากินเหล้าบ่อยขึ้นทุกวัน แปลว่าเราไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องรายได้จริง ๆ เหมือนแค่เราไปเติมเงินให้ปาร์ตี้เขาเฉย ๆ เราก็เลยรู้สึกว่าต้องเข้าใจให้ลึกลงไป เป็นที่มาของ Trawell ที่ทำเพื่อสังคมจริงจังขึ้น แล้วเราก็โชคดีได้เข้าโครงการของ One Young World ชนะรางวัลมาตั้งบริษัทใหม่ชื่อมหาชุมชน หรือว่าปัจจุบันก็คือ SATARANA นี่แหละ 

จุดเปลี่ยนสำคัญคือโปรเจกต์ป้อมมหากาฬที่ทำให้เราเห็นตั้งแต่อีเวนต์ แพตเทิร์น สตรักเจอร์ และเมนทัล โมเดล แบบชัดเจนที่สุด เราเห็นตั้งแต่การไล่รื้อที่เป็นอีเวนต์ เห็นแพตเทิร์นแบบนี้ในทุก ๆ พื้นที่ที่เป็นชุมชนเก่าหรือว่าชุมชนแออัด ไปถึงเรื่องโครงสร้างที่คนไม่เข้าใจคุณค่าวัฒนธรรมว่าอะไรคือคุณค่าของชุมชน มันก็เลยทำให้เราเข้าใจว่า ต่อให้ Trawell ทำอีกกี่พันชุมชน เราก็จะไปเจอปัญหาเดิมว่าชุมชนก็จะถูกไล่รื้อ ต่อให้เราไปพูดว่าสินค้าเขาดี ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์เขาดี วันหนึ่งเขาก็จะเจอปัญหาที่เราพูดอยู่ 

เราต้องทำลึกลงไปถึงแก่นของปัญหา เลยชวนคนอื่น ๆ มาเข้าใจป้อมมหากาฬ เรียกว่า มหากาฬโมเดล มันอาจจะเกิดที่บ้านคุณก็ได้ ชุมชนแถว ๆ บ้านคุณเขาก็จะเจอแบบนี้ เมื่อผู้บริหารมองชุมชนว่าเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ไม่เห็นศักยภาพของผู้คน ไม่เห็นกิจกรรมที่เขาทำร่วมกัน มหากาฬโมเดลพยายามสื่อสารว่าเราอยู่ร่วมกันได้ การกวาดล้างไม่ทำให้ปัญหาหมดไป แต่เป็นการเอาปัญหาไปที่อื่น แล้วก็อาจจะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นด้วย 

พอเป็นอย่างนั้น การทำงานของ SATARANA จึงเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่ทำสวย ๆ คุยกับฝรั่ง เรามีโปรเจกต์ภาคใต้คล้าย ๆ กันที่เทือกเขาบูโด ชุมชนโดนไล่รื้อจากการประกาศของอุทยานฯ เนื่องจากเขาขีดเส้นอุทยานฯ ด้วยความละเอียดของแผนที่ที่หยาบมาก ไปทับกับมัสยิด 300 ปี ทับกับพื้นที่ทำกินของชุมชน แล้วพอเราไปดูรายละเอียด มันทำแผนที่ให้ละเอียดขึ้นได้ แค่นี้มัสยิดก็อยู่ได้ สวนอยู่ได้ รักษาวิถีชีวิตจริง ๆ ของชุมชนได้

SATARANA มีโปรเจกต์ลักษณะคล้าย ๆ แบบนี้มากขึ้น เป็นพาร์ตเนอร์กับชุมชนมากขึ้น เช่น ทำเรื่องพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ช่วงที่เข้มข้นที่สุดคือช่วงโควิดที่ทำ Locall เดลิเวอรี่ฮับของชุมชนร่วมกับทุกย่านที่เรารู้จัก 

ทำงานขับเคลื่อนสังคมเต็มตัว

เรามีคำถามกับเรื่องที่หมกมุ่นค่อนข้างเยอะ เลยไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทำ ต่อให้ไม่ได้เป็นรองผู้ว่าฯ ก็ยังอยากทำอยู่ดี ทำอะไรก็ได้ที่แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะ Iceberg Model ติดอยู่ในหัวทุกวัน เราไม่สนุกกับการแก้ปัญหาเชิงอีเวนต์ไปเรื่อย ๆ อีกต่อไป 

เป้าหมายของรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตัวแทนคนรุ่นใหม่ คุณพ่อลูกอ่อน รองผู้ว่าฯ กทม. อายุน้อยที่สุดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

03 บทบาทในชีวิต

การเป็นพ่อคนเปลี่ยนอะไรในตัวคุณบ้าง

เปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะเลย ถ้าใครรู้จักกันตั้งแต่ก่อนจะรู้ว่าผมปฏิเสธคนยาก ถ้าคิดถึงแค่ตัวเอง ก็จะได้ ๆ ๆ มีอะไรก็ได้หมด แต่พอมีลูกก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้ตัวคนเดียวแล้วไง ครอบครัวเป็นหินก้อนใหญ่ในชีวิต เราต้องดูแลก่อน มีลูกแล้วภรรยาก็ต้องเสียสละอะไรเยอะ ก็ค่อนข้างรู้สึกเกรงใจและอยากช่วย เลยปฏิเสธคนง่ายขึ้น ค่อนข้างชัดเจนว่าเราต้องทำอะไร แล้วก็มีเป้าหมายเรื่องสังคมชัดเจนมากขึ้นไปอีกว่าเราอยากทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น 

ขนาดเรายังไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะว่าสำหรับเด็กแรกเกิด ต่างจังหวัดให้คุณภาพชีวิตที่ดีกว่ากรุงเทพฯ เราจึงมีความปรารถนาที่แรงมากว่าจะทำให้ลูกมาโตในกรุงเทพฯ ได้ กรุงเทพฯ มีศักยภาพที่ดีกว่าต่างจังหวัดอยู่แล้ว ไม่งั้นคนจะย้ายมาทำไม การพัฒนาคุณภาพชีวิตควรจะทำได้ แล้วก็เราได้ดูเรื่องการศึกษาด้วย ไม่ได้พูดถึงโรงเรียนอย่างเดียว แต่พูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตเนอะ จะทำยังไงให้ลูกเห็นเมืองที่ทุกที่ทำให้เขาเติบโตได้ ทุกที่ควรจะทำให้เขามีชีวิตที่สมบูรณ์ขึ้น มีความรู้ขึ้น มีประสบการณ์ขึ้น

อีกมิติหนึ่งคือเราก็มีความใจเย็นขึ้นด้วย เพราะว่าเราต้องให้เวลากับลูก เขาร้องไห้ทำไม รู้สึกอะไร เพราะเขาพูดสื่อสารกับเราไม่ได้ มันก็สร้าง Empathy ที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม บางทีเราใจร้อน คิดเร็ว ทำเร็ว ก็ต้องให้เวลาและทำความเข้าใจ ซึ่งการเลี้ยงลูกสะท้อนเรื่องเหล่านี้ได้ดีมาก 

แล้วบทบาทรองพ่อเมืองจะเปลี่ยนอะไรคุณไปอีก

คิดว่ามันน่าจะทำให้เราโฟกัสเรื่องการบริหารงาน เอาพลังมาทำโปรเจกต์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง หินก้อนใหญ่เรื่องครอบครัวเนี่ยทิ้งไม่ได้ครับ ถ้าชีวิตเป็นขวดแก้ว เราก็ใส่เรื่องครอบครัวไปก่อน ที่เหลือเอาเรื่องกรุงเทพมหานครใส่ทั้งหมดเลย เวลาที่จะให้กับเพื่อนฝูงอาจจะน้อยลง ก็อยากชวนเพื่อนฝูงมาทำงานด้วยกันมากกว่า เราจะได้อยู่ด้วยกัน แล้วก็ทำให้เมืองดีไปด้วย

ผมไม่เคยทำงานราชการ ก็รู้สึกแปลก ๆ เรื่องลำดับชั้นการทำงาน การมีรถ มีสวัสดิการโน่นนั่นนี่ ซึ่งเราก็อยากทำอะไรเหมือนเดิมนะ อยากเดิน อยากขี่จักรยาน แต่ก็ไม่แน่ใจ ภารกิจต่าง ๆ คงบีบให้เราต้องห่างชีวิตแบบเดิม ๆ ตอนนี้เจอคนทักทายก็ทางการขึ้น ไม่เหมือนเดิมแล้ว เหมือนมีหัวโขน ซึ่งต้องสื่อสารว่ามันคือการเปลี่ยนบทบาท ผมแค่ทำงานที่ใหม่เฉย ๆ ไม่ได้เป็นคนใหม่ ไม่ต้องอะไรขนาดนั้นครับ 

เป้าหมายของรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตัวแทนคนรุ่นใหม่ คุณพ่อลูกอ่อน รองผู้ว่าฯ กทม. อายุน้อยที่สุดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เริ่มสื่อสารอย่างไรดี

เดี๋ยวไปเปลี่ยนห้องทำงานใหม่ก่อน ตอนนี้โต๊ะเต๊อะอะไรนี่ โอ้โห สุดยอด จะคุยกันทีต้องเดินออกมาหน้าห้อง เดี๋ยวจะทำเป็น Co-working ให้ทุกคนแชร์โต๊ะเดียวกันเลย มีเอกสารอะไรก็แปะก่อนไม่ต้องรอ แล้วก็ไม่ต้องเรียกผมว่านายหรือท่าน เรียกชื่อผม เพราะไม่รู้ว่าผมจะเป็นรองผู้ว่าฯ อีกนานแค่ไหน แต่ผมชื่อศานนท์ไปจนตาย เรียกชื่อผมดีกว่า 

ผมคิดว่าวัฒนธรรมพวกนี้มันต้องเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิด พี่ ๆ เขาอาจจะเจออะไรมาเยอะจากโครงสร้างที่กดทับ ซึ่งราชการไม่ควรเป็นแบบนั้น เขาควรปลดปล่อยพลังความคิด สิ่งที่เขาอยากทำ มาช่วยกันคิด ไม่ต้องรอผมสั่ง จริง ๆ ต้องแนะนำผมด้วยซ้ำเพราะเขารู้เรื่องในกทม. มากกว่าผมอีก อะไรพวกนี้ต้องเปลี่ยนตั้งแต่โต๊ะทำงาน 

วาระทำงานนานหลายปี มั่นใจได้ยังไงว่าคุณจะไม่เปลี่ยนไป

ก็ต้องมีเพื่อนที่คอยทักตักเตือนเราเรื่อย ๆ นะ กัลยาณมิตรคือมิตรที่พูดตรง ๆ ทีมงานก็ต้องเตือนกันและกัน อันนี้แหละที่ทำให้เราไม่หลุดไป ถ้าเห็นอะไรก็บอกผมได้เหมือนกันนะ

ถ้าหากว่ากำลังจะสิ้นสุดวาระรองผู้ว่าฯ คิดว่าอะไรคือสิ่งสุดท้ายที่จะได้ทำ

เอาทุกอย่างที่เป็นอุปสรรคมาเป็นโอกาสให้ทุกคนเห็นว่ามีอะไรบ้าง ให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ อาจจะใหม่กว่าเราเข้ามาทำหน้าที่อีก แล้วก็ให้คนที่เก่งกว่าเรา มีมุมมองที่แหลมคมกว่าเข้ามาช่วยเรา 

โอกาสที่อาจารย์ชัชชาติให้ผม มันทำให้คนรุ่นพวกเรารู้สึกว่าเมืองนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะเมืองของคนอายุเยอะ คนรุ่นพวกเรามาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองได้เหมือนกัน นี่เป็น Message แล้วก็สิ่งที่อยากจะส่งต่อ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ว่าฯ คนต่อไปก็ต้องมีผู้บริหารคนใหม่ในทีม ต้องมีตัวแทนของเจเนอเรชันใหม่เข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ

เป้าหมายของรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครตัวแทนคนรุ่นใหม่ คุณพ่อลูกอ่อน รองผู้ว่าฯ กทม. อายุน้อยที่สุดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล