บ้านไม้แฝดหลังใหญ่ทอประกายสีทองล้อกับแสงอาทิตย์สาดส่องในยามเช้า บริเวณบ้านตั้งอยู่บนพื้นที่ราบในจังหวัดเชียงราย รายล้อมด้วยภูเขาสีเขียวลูกน้อยใหญ่ และน้ำตกใสสะอาดไหลผ่านภูเขาลงสู่ลำธารริมเรือนไม้ มองเข้าไปยิ่งชวนสัมผัสถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นของเชียงรายและเชียงตุง
บ้านหลังนี้คือ ‘แสงแก้ว (Sangkaew tea.food local culture)’ ร้านอาหารและบาร์ชา
กระซิบว่านี่คือร้านใหม่เอี่ยม (เปิดได้ราวเดือนเศษ) ที่มีกระแสตอบรับระดับดีมาก


เพียงได้ยินคำว่า ‘แสงแก้ว’ ก็พลันนึกถึงประกายระยิบระยับของอัญมณี แท้จริงชื่อนี้มีที่มาจากการตั้งชื่อในสมัยโบราณของคนเชียงราย เชียงตุง และสิบสองปันนา เป็นวัฒนธรรมของคนเหนือหรือกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ มีความเชื่อว่าการให้ผู้มีชื่อมงคลอย่างแก้ว เพชร พลอย ถือหมอน เครื่องนอน ในวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ จะเสริมสิริมงคลให้แก่ร้านหรือบ้านนั้น ๆ เช่นเดียวกันกับร้านแสงแก้ว
นอกจากชื่อร้านเป็นมงคลแล้ว นี่ยังเป็นชื่อของคุณแม่เจ้าของร้านด้วย

ขลุ่ย-ภูริวัฒน์ วิชา และ มิ้ว-นฤมาศ อยู่เย็น คือสองผู้บุกเบิกแสงแก้ว ครอบครัวของมิ้วเป็นคนเชียงตุง อาศัยอยู่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา บ้านของเธอมีไร่ชาและทำธุรกิจส่งออกชาให้กับสิบสองปันนา มิ้วเริ่มเข้ามาศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่จังหวัดเชียงราย และเธอก็ได้เจอกับขลุ่ยที่นั่น
ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เขาและเธอหารายได้เสริมด้วยการนำชาจากบ้านเกิดของมิ้วมาขาย จนมีเงินเก็บ 1 ก้อน ก่อนจะมาเปิดร้านอาหารและบาร์ชาในจังหวัดเชียงราย

จากการเปิดเพจขายชากลายมาเป็นร้านแสงแก้ว นี่คือจุดเริ่มต้นของการเล่าเรื่องราววัฒนธรรมเชียงตุง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเชียงรายบนพื้นราบ และผู้คนต่างถิ่นที่อาศัยอยู่ในเชียงราย
“ตอนเรียนในกรุงเทพฯ พอบอกเพื่อน ๆ ว่าเป็นคนเชียงราย เขาก็ถามว่าอยู่ดอยไหนหรือภูเขาลูกไหน นั่นเป็นเหตุผลที่ผมกลับบ้าน เพื่อมาสื่อสารว่าคนเชียงรายไม่ได้มีแค่ชาติพันธุ์บนดอย ยังมีคนอาศัยบนพื้นราบ มีทั้งคนล้านนาและคนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในสมัยโบราณ ซึ่งนั่นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม คอนเซปต์และร้านแสงแก้วจึงเกิดขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นวิถีชีวิตคนพื้นราบ”

เราขอเล่าย้อนไปในสมัยโบราณ ก่อนมีการแบ่งประเทศ คนเชียงตุง คนล้านนา และคนสิบสองปันนา มีความสัมพันธ์แบบบ้านพี่เมืองน้อง แต่หลังจากแบ่งประเทศ ความสัมพันธ์กลับลดน้อยลง แต่เนื่องจากพวกเขาเคยไปมาหาสู่กัน ทำให้เห็นว่ายังคงมีครอบครัวคนไทยที่อาศัยอยู่ในเชียงรายและแต่งงานกับภรรยาหรือสามีชาวเชียงตุง ทั้งสองจึงยังคงโหยหาความเป็นวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมอยู่
หลังจากทำความรู้จักเขาและเธอ เราเดินเข้าไปในเรือนไม้เพื่อลิ้มรสชาจากเชียงตุง ชาที่เสิร์ฟในร้านแสงแก้วคือชาเขียวป่า เป็นต้นชาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ อายุมากกว่า 500 ปี มีรสชาติขมฝาดเล็กน้อย ทิ้งความหวานสุดท้ายไว้ตรงปลายลิ้น ดื่มแล้วชุ่มคอ


ที่นี่ยังมีชาอู่หลงจากดอยแม่สลอง กาแฟท้องถิ่นจากดอยปางขอน และยังมีเครื่องดื่มจากดอกไม้ เหมาะแก่การดื่มหลังพระอาทิตย์ตก เพราะไม่มีคาเฟอีน ไม่ทำให้ตาสว่างเหมือนชาและกาแฟ
นอกจากเครื่องดื่ม ขอแนะนำเมนูอาหารรสมือคุณแม่ เป็นสูตรดั้งเดิมจากเชียงตุง
ขลุ่ยบอกเราว่า คาแรกเตอร์อาหารเชียงรายกับเชียงตุงต่างกัน คนเชียงตุงไม่ปรุงรสด้วยน้ำปลา แต่วัตถุดิบที่มีทุกบ้านคือ ‘ถั่วเน่า’ อาหารเชียงตุงรสชาติไม่จัด ถ้าอยากเพิ่มความซู่ซ่าลิ้นให้ตักพริกเติมได้
“เมนูที่เราขายเป็นอาหารพื้นถิ่นหาทานยากที่คนยังคิดถึง ผมเลยอยากฟื้นเมนูอาหารเหล่านั้นกลับมานำเสนอใหม่อีกครั้ง และพื้นที่ของร้านก็อยู่ในทำเลที่เหมาะกับการดำรงชีวิต ผมจึงหยิบเอาแนวคิดการตั้งรกรากหรือเลือกถิ่นฐานของคนสมัยก่อนมาใช้ มีน้ำ มีทุ่งน้ำ มีพื้นราบ มีภูเขา”


เริ่มจานแรกที่ ‘ข้าวกั๊นจิ้น’ เอาข้าวเหนียวไปนึ่งจนสุกใส เพิ่มหมูสับและเลือดลงไปเล็กน้อย จากนั้นห่อด้วยใบตองสีเขียว แล้วนำไปนึ่งอีกครั้งจนสุก พักไว้ให้เย็น จัดลงจานพร้อมราดด้วยน้ำมันหอมเจียว เพิ่มความหอมด้วยหอมแดงเจียวเล็กน้อย ทานคู่กับผักแนมอย่างรากชู อร่อยเข้ากันอย่างลงตัว
จานถัดมาคือ ‘ข้าวเส้นจ๋างน้ำคั่ว’ คล้ายน้ำเงี้ยวแต่ต่างกันมาก เริ่มจากผัดหอมเจียวตามด้วยหอมแดง มะเขือเทศ หมู ผัดรวมกันจนเข้าเนื้อ ตบท้ายด้วยขมิ้นและน้ำซุปกระดูกหมูใส่ถั่วเน่า

จานสุดท้ายยกให้ ‘ข้าวเหลืองเนื้อไก่’ เมนูหาทานยาก ปรุงอย่างพิถีพิถันด้วยการนำข้าวเหนียวและดอกปุ๊ดอบแห้งแช่ลงในน้ำใสสะอาดข้ามคืน จากนั้นตักขึ้นมานึ่งจนข้าวเป็นสีเหลืองสุก รีบนำข้าวมาคลุกเข้ากับหอมเจียวและเกลือ ทานคู่กับไก่อุ๊บ ลักษณะเป็นแกงขลุกขลิก ทำจากไก่เนื้อแน่นคั่วกับเครื่องตะไคร้ หอมแดง กระเทียม พริก ขมิ้น เติมน้ำซุปเล็กน้อย ตุ๋นเคี่ยวจนเปื่อยบนเตาฟืน กลิ่นหอมชวนทานพร้อมตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยหอมแดงเจียว เพียงเท่านี้ก็ได้เมนูอร่อยพร้อมเสิร์ฟ


ความโดดเด่นอีกหนึ่งอย่างของแสงแก้ว คือสถาปัตยกรรมเรือนไม้ แม้ขลุ่ยจบการศึกษาจากคณะบริหาร แต่เขามีความสนใจด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น จึงเลือกออกแบบร้านนี้ด้วยตนเอง แล้วส่งต่อภาพร่างให้สล่าผู้ช่ำชองงานไม้โบราณช่วยรังสรรค์ให้กลายเป็นเรือนไม้ล้านนาโบราณ
เมื่อแหงนมองบนหลังคา ตัวบ้านมีลักษณะคล้ายบ้านแฝดฉบับเชียงตุง โครงสร้างบ้านใช้ไม้เก่าคุณภาพดี ภายในใช้ดินขอนปั้นมือเพื่อเพิ่มความสบายในฤดูร้อน เพราะดินจะเก็บความชื้นไว้แล้วค่อย ๆ ปล่อยความเย็นออกมา

คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา ที่ผ่านไปผ่านมาแถวร้านแสงแก้ว ต่างชื่นชมและชื่นชอบเรือนบ้านไม้ทรงล้านนาโบราณที่สะท้อนวัฒนธรรมของคนเชียงตุง ซึ่งมีทำเลอยู่บนพื้นราบในจังหวัดเชียงราย เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายให้หวนรำลึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ
“มีป้า ๆ ยาย ๆ บางคนมายืนดูหน้าร้าน บางคนบอกพวกเราว่า ขอบคุณนะที่รักษาสถาปัตยกรรมแบบนี้ไว้ เพราะมันเป็นอดีตที่พวกเขาคิดถึง เราดีใจที่แสงแก้วเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ยังมีลมหายใจ พวกเราตั้งใจเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ ในการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และความสวยงามในอดีตให้คงอยู่ โดยไม่เลือนหายไปกับกาลเวลาที่หมุนแปรตามสภาพเศรฐกิจ”
ผู้คนต่างถิ่นพากันแวะเวียนเข้ามาทานอาหารและเครื่องดื่มภายในร้าน เดินชมสถาปัตยกรรมบนเรือนไม้พร้อมนั่งพักสูดอากาศ มองวิวภูเขา เราทอดสายตามองไปรอบ ๆ เห็นทุ่งนาและลำธารน้ำไหลจากน้ำตกใหญ่ เจ้าบ้านแนะว่า จะแวะเที่ยวน้ำตกก่อน หรือทานอาหารให้อิ่มท้องแล้วค่อยไปน้ำตกก็ได้เช่นกัน


มิ้วและขลุ่ยบอกกับเราว่า ร้านแสงแก้วอยากเป็นพื้นที่สนับสนุนชาวบ้านใกล้เคียง ให้นำของพื้นถิ่นที่ตัวเองมีมาขายในพื้นที่ของร้าน และในฤดูร้อน ที่นี่จะมีแพริมน้ำให้นั่งทาน รวมไปถึงมีห้องพักไม้ไผ่สำหรับค้างคืนให้แขกเตรียมท่องเที่ยวชมวัฒนธรรมเชียงตุงในโปรแกรมที่พวกเขาจัดขึ้น
“พวกเรามาตั้งร้านในพื้นที่ชุมชนและตั้งใจอยากช่วยเหลือชุมชนเช่นกัน อยากให้เขาได้รับผลประโยชน์และเติบโตไปพร้อม ๆ กับร้านของเรา อนาคตมีแพลนจะจัดตลาดเล็ก ๆ ให้ชุมชนมีส่วนร่วม นำสินค้าท้องถิ่นมาขายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นครับ”
ทั้งหมดนี้คือความตั้งใจนำเสนอ รักษา และสืบสานวัฒนธรรมอันสวยงาม ผ่านชา (Tea) อาหาร (Food) ท้องถิ่น (Local) และวัฒนธรรม (Culture) ฉบับหนุ่มเชียงราย-สาวเชียงตุง
