พวกเราได้รับข่าวสารจากคนคุ้นเคยของ The Cloud อย่าง ดี้-ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ว่าบัณฑิตจบใหม่คนหนึ่งมีประวัติและความสนใจที่น่าจะถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ รับรู้ได้ ผ่านตัวตนของเขาเอง

‘สิทธิพันธุ์’ คือนามสกุลของเขา บ่งบอกความเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของ อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดตั้งแต่เมืองหลวงของไทยรู้จักคำว่าเลือกตั้ง

และชื่อเล่น ‘แสนดี’ ของเด็กหนุ่มคนนี้เริ่มเป็นที่กล่าวถึงบ่อยขึ้นทุกวัน หลังจากที่ข่าวทุกสำนักรายงานตรงกันว่า ผู้ว่าฯ คนใหม่ขอลากิจจากตำแหน่งที่เพิ่งเข้ารับ ไปร่วมงานรับปริญญาของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา

แสนปิติ สิทธิพันธ์ุ หรือ แสนดี ที่ปรากฏตัวให้เราเห็นบนหน้าจอ Zoom ครั้งนี้ ไม่ได้มีเค้าลางของผู้บกพร่องทางการได้ยินแต่แรกเกิดเลยสักนิด หากเป็นหนุ่มน้อยหน้าตายิ้มแย้ม พูดจาฉะฉาน มีวิสัยทัศน์ราวกับถอดแบบมาจากพ่อบังเกิดเกล้าทุกกระเบียดนิ้ว

กาแฟกับการเมือง ในมุมมอง แสนปิติ สิทธิพันธุ์ บัณฑิตประวัติศาสตร์ ลูกชายผู้ว่าฯ กทม.

ภาพชุดครุยที่ปรากฏบนหน้าสื่อไทยทุกหัวในวันนั้น เป็นผลจากการบากบั่นศึกษาวิชาเอกประวัติศาสตร์ จนจบมาพร้อมกับปริญญานิพนธ์เรื่อง ‘Ceramics & Coffee – The Social Network of the Past and the Blueprint for the Modern Coffeehouse’ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟ ถ้วยกาแฟ และการใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองและใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกชายของ ผู้ว่าฯ กทม. คนนี้ปรารถนาให้เกิดกับประเทศเราบ้าง

พอได้รู้ 3 ส่วนประกอบสำคัญในชีวิต อย่างกาแฟ ประวัติศาสตร์ และการเมืองแล้ว พวกเราจึงขอหลบฉากมาอยู่ข้างหลัง ให้คอกาแฟและสายเลือดคนการเมืองด้วยกันอย่าง ‘พี่ดี้’ ได้สัมภาษณ์ ‘น้องแสนดี’ ด้วยตัวเองเสียเลย!

ฟูอาดี้ : ต้องบอกก่อนว่า The Cloud ให้พี่สัมภาษณ์แสนดี ไม่ใช่เพราะเป็นลูกชายอาจารย์ชัชชาติ แต่เพราะอาจารย์ชัชชาติเป็นคุณพ่อของแสนดีต่างหาก ซึ่งสองมุมมองนี้ต่างกันมากนะ คุณพ่อเองก็พูดว่าแสนดีเป็นส่วนสำคัญที่สอนเขาเกี่ยวกับชีวิต และทำให้เขามาถึงจุดนี้ในชีวิต เราเลยอยากคุยกับแสนดีในวันนี้ครับ

ครับ ขอบคุณมาก ๆ เลย ยินดีที่ได้คุยกับพี่ดี้ และ The Cloud วันนี้ครับ

ฟูอาดี้ : มาเริ่มกันเลย พี่ทราบว่าแสนดีชอบกาแฟมาก ๆ ถึงขนาดเขียนปริญญานิพนธ์เรื่องนี้ ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมครับว่าอะไรชักนำให้แสนดีมาสนใจกาแฟ

ตอนแรกผมไม่เคยคิดจะดื่มกาแฟเลย จนกระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อสัก 4 – 5 ปีก่อน ถึงเริ่มดื่มกาแฟแก้วแรก ตอนยังเรียนอยู่โรงเรียนมัธยมปลาย ผมไม่ได้ดื่มกาแฟมากนักเพราะกลัวฤทธิ์คาเฟอีน กังวลมากว่าถ้าดื่มแล้วจะติด

ผมเริ่มดื่มกาแฟเพื่อเพิ่มพลังในตัว พอดื่มแล้วพบว่ากาแฟช่วยให้ผมอารมณ์ดีขึ้นนิด ๆ ด้วยนะ จากนั้นมาก็รู้สึกเหมือนความคลั่งไคล้ในกาแฟฝังแน่นในชีวิต เป็นกิจวัตรที่ต้องทำประจำทุกวัน ถ้าไม่มีกาแฟ ผมก็ไม่รู้เลยว่าตอนนี้ผมอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ (หัวเราะ)

ฟูอาดี้ : ถ้าอย่างนี้แสนดีต้องพึ่งกาแฟในการดำเนินชีวิตทุกวันเลยหรือเปล่า

ใช่เลย ผมต้องดื่มกาแฟ ถ้าวันไหนผมไม่ได้ดื่ม ผมจะรู้สึกเหมือนกับ… โอยยย… เข้าใจใช่มั้ยครับ (ยิ้ม)

สำหรับผม การดื่มกาแฟคล้าย ๆ เป็นพิธีกรรมในแต่ละวันไปแล้ว ต้องดื่มทุกวันถึงจะรู้สึกดีได้ ผมเป็นคนเชื่อโชคลางเหมือนกันนะ เรื่องหนึ่งที่ผมถือมากเลยคือเรื่องกาแฟ ต้องได้ดื่มสักแก้ว ไม่อย่างนั้นทั้งวันคงมีแต่โชคร้าย

ฟูอาดี้ : คิดจริง ๆ หรือว่าถ้าไม่ได้ดื่มกาแฟสักแก้วแล้วโชคร้ายจะมาเยือน

ผมว่าทุกวันที่ดีของผม ทุกจังหวะเวลาชีวิตดี ๆ ที่เคยมี ล้วนมีกาแฟเป็นส่วนประกอบในนั้น เช่น เวลาไปสอบ ถ้าได้กาแฟสักหน่อยก็อุ่นใจแล้ว และรู้สึกว่าจะทำข้อสอบได้

ฟูอาดี้ : พูดเหมือนกับว่า ถ้าไม่มีกาแฟแล้วจะทำข้อสอบไม่ได้เลย

ใช่ครับ ถูกเผงเลย ถ้าไม่ได้ดื่ม พลังงานในตัวผมจะเหลือน้อยนิดมาก เหมือนแบตเตอรี่ต่ำน่ะ ผมไม่ได้มีพลังมากมายอย่างคุณพ่อ คุณพ่อกระฉับกระเฉงเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ผมไม่ ต้องมีกาแฟถึงจะเป็นแบบคุณพ่อได้ (หัวเราะ)

ฟูอาดี้ : ช่วยเล่าให้พวกเราฟังหน่อยได้ไหมว่า ทุกเช้าแสนดีดื่มอะไร อย่างไร

ผมเพิ่งหัดดื่มกาแฟจากเมล็ดที่บดเอง ก่อนหน้านี้แค่ตรงไปที่ร้านแล้วเลือกตามเมนู ตอนนี้ผมเปลี่ยนมาชงเองแล้ว มีเครื่องบดและชงในตัวเลย และผมก็พยายามเรียนรู้กระบวนการดริป การทำกาแฟฟิลเตอร์ แต่ยังเป็นมือใหม่ ไม่ค่อยคล่องเท่าไหร่ครับ

ฟูอาดี้ : มีความฝันเกี่ยวกับกาแฟบ้างไหม เช่น คิดว่ามันจะเป็นอาชีพจริงจัง หรือเป็นแค่เครื่องดื่มธรรมดาที่จะดื่มทุกเช้าต่อไป

ผมอยากเปิดร้านกาแฟของตัวเอง อยากทำคาเฟ่ในฝันให้เป็นเหมือนโซเชียลเน็ตเวิร์ก สำหรับผู้คนมาพบปะสังสรรค์ ในร้านจะมีความมินิมอลสไตล์ญี่ปุ่น สอดคล้องกับปรัชญาและทุก ๆ อย่างที่เป็นของญี่ปุ่น

กาแฟกับการเมือง ในมุมมอง แสนปิติ สิทธิพันธุ์ บัณฑิตประวัติศาสตร์ ลูกชายผู้ว่าฯ กทม.

ฟูอาดี้ : แล้วเคยไปญี่ปุ่นหรือยัง รู้ไหมว่าวัฒนธรรมดริปกาแฟแบบนี้ที่ทำกันอยู่ มันมีอิทธิพลจากญี่ปุ่นเยอะเลยนะ

แน่นอนครับ ผมรักญี่ปุ่นสุด ๆ แต่ถ้าต้องไปคาเฟ่ที่ญี่ปุ่นคงเลือกดื่มชามัทฉะ ผมเคยไปดูพิธีชงชาของจริงมาแล้ว รู้สึกว่าคนที่นั่นชอบชามากกว่ากาแฟเสียอีก

ฟูอาดี้ : กลับมาที่เรื่องร้านกาแฟในฝันอีกครั้ง ถ้าเลือกได้จะเปิดร้านที่ไหน ในกรุงเทพฯ ในซีแอตเทิล หรือว่าเมืองไหนในโลกดีล่ะ

ในกรุงเทพฯ แน่นอนครับ ด้วยธรรมชาติและผู้คน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง และมีพื้นที่ให้แสดงออกได้มากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นจุดยืนที่ดีสำหรับการเปิดร้านกาแฟแนวใหม่ ผมมองว่าร้านกาแฟสำคัญมากกับการสร้างพื้นที่สาธารณะในเมือง เป็นแหล่งระดมและแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ ๆ

ฟูอาดี้ : เมื่อกี้เราคุยเรื่องกาแฟไปแล้ว อะไรทำให้แสนดีติดใจประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมรักสุดหัวใจมาตลอด ผมไม่เห็นภาพตัวเองเลยว่า ถ้าไม่เรียนหรือทำอะไรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แล้วจะเป็นยังไง อาจเพราะผมโตมากับการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ดูสารคดีประวัติศาสตร์ เสพประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มันอยู่ทุกที่ในโลก

มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและหลากหลายมาก ถ้ามองย้อนกลับไป จะเห็นมุมมองมากมายที่แตกต่างกัน ไม่ใช่มุมมองของคนเพียงคนเดียว เหมือนกับภาพที่ละลานตาด้วยมุมมองที่ต่างกันครับ

ฟูอาดี้ : นักประวัติศาสตร์ที่ดีควรทำอย่างไร ถ้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์มีหลายมุมมอง

ต้องรู้จักเลือกให้ดี ไม่ใช่แค่เลือกสิ่งที่ดีที่สุด แต่ยังต้องเลือกข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักมากที่สุดด้วย เพราะเห็นได้ชัดว่าเราดูประวัติศาสตร์ที่เหตุ มองอดีตเพื่อเรียนรู้ปัจจุบัน เราเรียนรู้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อทำความเข้าใจกับบริบทปัจจุบัน

ฟูอาดี้ : แต่ก็มีคำพูดว่า “ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย” เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือเปล่า

ครับ มันเป็นวัฏจักร แต่เราทำลายมันได้ ตราบเท่าที่ยอมรับความผิดพลาดได้ การยอมรับข้อบกพร่องของเราคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์

ฟูอาดี้ : พูดเรื่องปริญญานิพนธ์บ้างดีกว่า หลายคนไม่รู้ว่าแสนดีทำปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับกาแฟ ช่วยสรุปสั้น ๆ ให้พวกเรารู้หน่อยได้ไหมว่าเนื้อหาในนั้นพูดถึงอะไรบ้าง

เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของร้านกาแฟแห่งแรก ซึ่งผมเรียกมันว่า ‘Pre-Social Media’ ก่อนที่โลกจะมีโซเชียลมีเดีย ร้านกาแฟก็ทำหน้าที่คล้ายกัน มันเป็นจุดเริ่มต้นที่นำพาผู้คนให้มารวมกลุ่มกัน เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการแสดงออกของสาธารณชน

เนื้อหาในปริญญานิพนธ์นี้เล่าตั้งแต่กาแฟแก้วแรก ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมร้านกาแฟจากจักรวรรดิออตโตมัน (ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ไปจนถึงถ้วยเซรามิกกับกาแฟประกอบกันเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับผู้คนได้อย่างไร ยุคก่อนศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ ค.ศ. 1500 สถานภาพทางสังคมที่เราคุ้นเคย เช่น การมีพื้นที่และเครือข่ายทางสังคมให้รวมกลุ่มกันไม่ได้เป็นแบบนี้ จนกระทั่งร้านกาแฟถือกำเนิดขึ้นนั่นแหละ

กาแฟกับการเมือง ในมุมมอง แสนปิติ สิทธิพันธุ์ บัณฑิตประวัติศาสตร์ ลูกชายผู้ว่าฯ กทม.

ฟูอาดี้ : ตอนที่ยังไม่มีร้านกาแฟ คนในสมัยนั้นเข้าสังคมกันอย่างไร

ก่อนมีร้านกาแฟ ผู้คนเข้าร้านเหล้าหรือโรงเตี๊ยมกันไปตามเรื่อง ซึ่งสถานที่เหล่านี้ไม่ได้มีการชุมนุมทางสังคมมากนัก ในยุคกลางมีแต่ลานกว้าง ราชสำนัก แล้วก็จัตุรัสกลางเมือง ร้านกาแฟเป็นเหมือนอีกขั้นของสถานที่เหล่านี้อีกที

ฟูอาดี้ : ทำไมต้องเริ่มเล่าถึงร้านกาแฟที่ตุรกีก่อน

เมื่อเราพูดถึงประวัติและต้นกำเนิดของกาแฟ ก็ต้องเล่าว่าเมล็ดกาแฟมาจากทวีปแอฟริกา ก่อนจะแพร่หลายไปยังตะวันออกกลาง ดินแดนของชนชาติอาหรับ จากประเทศเยเมนถึงประเทศโอมาน แล้วจึงมีพ่อค้านำไปขายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน กาแฟถึงได้กลายเป็นของซื้อขายในยุคนั้น

จักรวรรดิออตโตมันหรือตุรกีในปัจจุบัน พบว่ากาแฟเป็นสินค้ามีมูลค่ามาก และเริ่มส่งออกกาแฟ ดังนั้น ออตโตมันจึงกลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายกาแฟระดับโลก ผมจึงต้องเริ่มเล่าเรื่องจากที่นี่ครับ

ฟูอาดี้ : สรุปว่าออตโตมันคือผู้ริเริ่มบริโภคกาแฟและส่งออกสู่ที่อื่น ๆ

ถูกต้องครับ ชาวออตโตมันนี่แหละที่เริ่มทำร้านกาแฟ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มทำให้ร้านกาแฟมีบทบาททางสังคมอีกด้วย บทบาทของร้านกาแฟในออตโตมันมีมากมาย ทั้งบทบาททางสังคม บทบาททางสาธารณะ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ ชาวดัตช์และชาวอังกฤษได้รับแรงบันดาลใจไป สมัยนั้นกาแฟยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับชาวยุโรป ออตโตมันก็ส่งออกไปให้พวกเขา เมื่อนั้นเอง บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) จึงเริ่มค้าขายกาแฟตาม

ฟูอาดี้ : ชาวยุโรปมากรุงอิสตันบูลของออตโตมันจึงได้รู้จักกาแฟ ได้เห็นร้านกาแฟ เลยได้รับแรงบันดาลใจ แล้วนำไอเดียนั้นกลับไปที่บ้านเกิดพวกเขาเหรอ

ครับ เป็นอย่างนั้นเลย อย่างชาวอังกฤษเดิมดื่มแต่ชา อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาได้รู้จักกาแฟและวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเป็นครั้งแรก ก็คิดว่าน่าจะทำแบบนี้ได้และควรทำตามบ้าง มันปฏิวัติแนวคิดและวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นนวัตกรรมที่แปลกใหม่มาก ในเวลาต่อมา กาแฟจึงเป็นกลไกหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม

ฟูอาดี้ : ทำไมกาแฟเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมได้ เป็นเพราะคาเฟอีนมีฤทธิ์ให้คนกระปรี้กระเปร่า ยินดีทำงานหนักขึ้นอย่างนี้หรือเปล่า

ผมคิดว่าอยู่ที่คุณลักษณะของกาแฟมากกว่าครับ โดยธรรมชาติของมันเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มในที่สาธารณะหรือที่ส่วนตัวก็ได้ ดื่มกับเพื่อนฝูงที่ร้านกาแฟนอกบ้านก็ได้ หรือดื่มอยู่คนเดียวที่บ้านก็ได้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม

ฟูอาดี้ : ถ้าเป็นอย่างนี้ เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีบทบาทเดียวกันนี้ได้ด้วยไหม

อาจจะไม่นะ มีเรื่องราวหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมาก คือเรื่องการแบนกาแฟของสุลต่านออตโตมัน

ออตโตมันหรือตุรกีเป็นชาติมุสลิม พวกเขาไม่ดื่มแอลกอฮอล์กันด้วยข้อห้ามทางศาสนา ดังนั้น พวกเขาจึงหันมาดื่มกาแฟแทน ทำไปทำมา ชาวออตโตมันก็หันมาติดกาแฟกันงอมแงม นำมาซึ่งกฎหมายสั่งงดและห้ามดื่มกาแฟไม่รู้กี่ฉบับ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะทุกคนยังดื่มกาแฟอยู่ดี (หัวเราะ)

ฟูอาดี้ : จากที่ได้อ่านมา ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังพูดถึงแก้วกาแฟเซรามิกของตุรกีด้วย

ถ้าเรานึกถึงเซรามิกในจักรวรรดิออตโตมัน จะต้องพูดถึงเมืองคือตาห์ยา (Kütahya) กับอิซนิก (Iznik) เสมอ เพราะสองเมืองนี้เหมือนเป็นต้นตำรับงานเซรามิกในตุรกี ช่างเซรามิกมีฝีมือเยี่ยมยอดมาก ผู้คนเริ่มเชื่อมโยงกาแฟกับเซรามิก เพราะแก้วเซรามิกเป็นของที่ทุกคนต้องนำมาใส่กาแฟดื่ม เซรามิกจึงกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกาแฟ ถ้าไม่มีเซรามิก ก็ไม่มีกาแฟให้ดื่ม

กาแฟกับการเมือง ในมุมมอง แสนปิติ สิทธิพันธุ์ บัณฑิตประวัติศาสตร์ ลูกชายผู้ว่าฯ กทม.

ฟูอาดี้ : ทั้งสองเมืองนี้เป็นต้นตำรับเซรามิกทั้งคู่ แต่ดูเหมือนว่าในงานของแสนดีจะเขียนว่า แก้วเซรามิกของคือตาห์ยาดังกว่าอิซนิกนะ

เพราะผมคิดว่าเซรามิกของอิซนิกเป็นการผลิตคราวละมาก ๆ เป็น Mass Production ในขณะที่เซรามิกของคือตาห์ยามีความจำเพาะเจาะจงมากกว่า ปั้นโดยช่างที่ชำนาญกว่า มีคุณค่าทางศิลปะมากกว่า เลยดูเด่นกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนตุรกีดื่มกาแฟจากแก้วเซรามิก แล้วเห็นว่าเป็นแก้วจากคือตาห์ยา เขาก็จะทึ่งเลย แบบว่า “โอ้ จากคือตาห์ยาเหรอ” อะไรทำนองนี้

ฟูอาดี้ : สมัยนี้แก้วเซรามิกคือตาห์ยายังเป็นที่รู้จักแบบนั้นอยู่ไหมครับ

ไม่มากอย่างเมื่อก่อนแล้วครับ ในอิซนิก ช่างเซรามิกส่วนมากเป็นชาวตุรกีจริง ๆ ส่วนในคือตาห์ยา ในตอนนั้นเป็นช่างชาวอาร์มีเนีย ซึ่งพวกเขาไม่ใช่มุสลิม เพราะนับถือคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ จักรวรรดิออตโตมันของชาวตุรกีไปพิชิตดินแดนของพวกเขามา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ออตโตมันรบแพ้ จักรวรรดิล่มสลาย หัตถกรรมดั้งเดิมกลายเป็นของล้าสมัย งานเซรามิกที่เคยเป็นงานประณีตก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตจำนวนมาก ๆ แทน

ฟูอาดี้ : ปริญญานิพนธ์ของแสนดียังพูดถึงการใช้ร้านกาแฟเป็นที่บ่มเพาะความคิด แลกเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองซึ่งกันและกัน คิดว่าร้านกาแฟในไทยกำลังทำหน้าที่นั้นอยู่ไหม

ถ้าพูดจากมุมมองของผม ประเด็นสำคัญของร้านกาแฟอยู่ที่บรรยากาศของการพบปะ ชุมนุม รวมกลุ่มกัน ถ้าร้านใดไม่มีบรรยากาศทางสังคม ก็เหมือนไม่ใช่ร้านกาแฟ

ผมคิดว่าร้านกาแฟมีความสามารถพิเศษในการเชื่อมต่อ ยึดโยงผู้คนไว้ด้วยกัน เล่าเรื่อง รวมทั้งสร้างเรื่องราวและความทรงจำร่วมกัน ร้านกาแฟจึงเปรียบเสมือนสถานที่รวมตัวหรือจุดเชื่อมต่อที่ทุกคนต้องมา สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะเห็นว่าในอดีตผู้คนใช้ร้านกาแฟเป็นแหล่งรวมตัวกัน เป็นสมาคมใต้ดิน สมาคมลับ อะไรอย่างนั้นเลย

ฟูอาดี้ : ยกตัวอย่างลักษณะของสมาคมหน่อยได้ไหม

เป็นกลุ่มก้อนของผู้คนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองหลาย ๆ วัตถุประสงค์ เป็นเหมือนพาหนะที่ใช้ขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เป็นที่ที่ผู้คนถกเถียงกันได้ แสดงความคิดออกมาได้อย่างเปิดเผย มีเสรีภาพทางการพูด

ฟูอาดี้ : ถ้าปริญญานิพนธ์ของแสนดีเผยแพร่ออกไป ผู้มีอำนาจในสังคมไทยจะตามไปแบนร้านกาแฟที่มีการบ่มเพาะความคิดเห็นและความเชื่อต่าง ๆ แน่ ๆ เลย (หัวเราะ) มีอะไรจะพูดถึงประเด็นนี้ไหม

ถ้าเป็นประเด็นนี้ ผมว่าความไม่เห็นพ้องน่าจะมาจากหลายระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผมคิดว่าถ้าพวกเขาเริ่มควบคุมความขัดแย้ง และค้นหาว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร นั่นแสดงว่าพวกเขาไม่ได้เชื่อใจประชาชนเลย

ฟูอาดี้ : หมายความว่าอำนาจภาครัฐไม่มั่นคงด้วยใช่ไหม

ผมก็ยังคิดว่ามันคือการไม่ไว้วางใจประชาชน ถ้าคุณเริ่มควบคุมการพูดและปิดกั้นเสรีภาพในที่สาธารณะ ท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย

ฟูอาดี้ : ยังมีความหวังกับประเทศของพวกเราอยู่ไหม จะเป็นเรื่องกาแฟหรืออะไรก็ได้

ผมคิดว่าร้านกาแฟนำผู้คนในประเทศไทยมารวมกันในรูปแบบต่าง ๆ ได้มากกว่าที่เคยเป็น ผู้คนเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า พื้นที่สาธารณะคือสิ่งที่ทุกคนต้องการ นั่นคือวิธีที่ทุกคนพบกัน นั่นคือวิธีที่เราสร้างสังคม สร้างเมือง

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ชวน แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายผู้ว่าฯ กทม. คุยกันเรื่องกาแฟ ประวัติศาสตร์ การเมือง และทิศทางประเทศ

ฟูอาดี้ : ว่าไปเรื่องนี้ก็น่าจะสัมพันธ์กับหน้าที่ของคุณพ่อแสนดีด้วย เรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ดีและปลอดภัยในกรุงเทพฯ

ใช่ครับ พื้นที่สาธารณะตอบสนองวัตถุประสงค์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำหรับเล่นและฟังดนตรี สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อรวมตัวกันในด้านอื่น ๆ ทั้งหมดนี้เป็นสถานที่สำหรับการแสดงออกทางความคิดต่อสาธารณชนได้

ฟูอาดี้ : แสนดีได้ให้ไอเดียเหล่านี้กับคุณพ่อบ้างหรือยัง

ให้ไปแล้วครับ คุณพ่อตื่นเต้นใหญ่เลย ท่านบอกว่า “โอ้! ใช่เลย เมืองไทยเราน่าจะเปิดร้านกาแฟให้มากกว่านี้นะ” นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว เราน่าจะเปิดร้านกาแฟในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และที่อื่น ๆ ทั่วไทย ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองเล็กเมืองรอง ควรจะมีผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อจูงใจให้คนเปิดร้านกาแฟของตัวเองและมีส่วนร่วมในชุมชน

ฟูอาดี้ : เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว ในฐานะที่คุณพ่อเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หวังว่าเราจะสร้างชุมชนที่เข้มแข็งรอบ ๆ ร้านกาแฟเพื่อให้ประเทศเราดีขึ้น

ผมคิดว่าเป็นไปได้มาก เรากำลังไปในทิศทางที่ดี เพราะตอนนี้ผู้คนเริ่มแสดงออกมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศของเราอย่างแน่นอน

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ชวน แสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายผู้ว่าฯ กทม. คุยกันเรื่องกาแฟ ประวัติศาสตร์ การเมือง และทิศทางประเทศ

Writers

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Avatar

จันท์จุฑา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

ตอนเป็นเด็กหญิงคิดว่าถ้ามีพลังวิเศษไม่ได้ก็ขอเขียน ถ้าเขียนไม่ได้ก็ขอร้องเพลง ปัจจุบันเป็นนางสาวนักฝึกฝนตนเองให้ไวต่อความจริงใจ เพราะดันไปแอบชอบพลังวิเศษชนิดนี้ในตัวคน