พวกเราได้รับข่าวสารจากคนคุ้นเคยของ The Cloud อย่าง ดี้-ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ว่าบัณฑิตจบใหม่คนหนึ่งมีประวัติและความสนใจที่น่าจะถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ รับรู้ได้ ผ่านตัวตนของเขาเอง
‘สิทธิพันธุ์’ คือนามสกุลของเขา บ่งบอกความเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของ อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดตั้งแต่เมืองหลวงของไทยรู้จักคำว่าเลือกตั้ง
และชื่อเล่น ‘แสนดี’ ของเด็กหนุ่มคนนี้เริ่มเป็นที่กล่าวถึงบ่อยขึ้นทุกวัน หลังจากที่ข่าวทุกสำนักรายงานตรงกันว่า ผู้ว่าฯ คนใหม่ขอลากิจจากตำแหน่งที่เพิ่งเข้ารับ ไปร่วมงานรับปริญญาของลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา
แสนปิติ สิทธิพันธ์ุ หรือ แสนดี ที่ปรากฏตัวให้เราเห็นบนหน้าจอ Zoom ครั้งนี้ ไม่ได้มีเค้าลางของผู้บกพร่องทางการได้ยินแต่แรกเกิดเลยสักนิด หากเป็นหนุ่มน้อยหน้าตายิ้มแย้ม พูดจาฉะฉาน มีวิสัยทัศน์ราวกับถอดแบบมาจากพ่อบังเกิดเกล้าทุกกระเบียดนิ้ว

ภาพชุดครุยที่ปรากฏบนหน้าสื่อไทยทุกหัวในวันนั้น เป็นผลจากการบากบั่นศึกษาวิชาเอกประวัติศาสตร์ จนจบมาพร้อมกับปริญญานิพนธ์เรื่อง ‘Ceramics & Coffee – The Social Network of the Past and the Blueprint for the Modern Coffeehouse’ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกาแฟ ถ้วยกาแฟ และการใช้ร้านกาแฟเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองและใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกชายของ ผู้ว่าฯ กทม. คนนี้ปรารถนาให้เกิดกับประเทศเราบ้าง
พอได้รู้ 3 ส่วนประกอบสำคัญในชีวิต อย่างกาแฟ ประวัติศาสตร์ และการเมืองแล้ว พวกเราจึงขอหลบฉากมาอยู่ข้างหลัง ให้คอกาแฟและสายเลือดคนการเมืองด้วยกันอย่าง ‘พี่ดี้’ ได้สัมภาษณ์ ‘น้องแสนดี’ ด้วยตัวเองเสียเลย!
ฟูอาดี้ : ต้องบอกก่อนว่า The Cloud ให้พี่สัมภาษณ์แสนดี ไม่ใช่เพราะเป็นลูกชายอาจารย์ชัชชาติ แต่เพราะอาจารย์ชัชชาติเป็นคุณพ่อของแสนดีต่างหาก ซึ่งสองมุมมองนี้ต่างกันมากนะ คุณพ่อเองก็พูดว่าแสนดีเป็นส่วนสำคัญที่สอนเขาเกี่ยวกับชีวิต และทำให้เขามาถึงจุดนี้ในชีวิต เราเลยอยากคุยกับแสนดีในวันนี้ครับ
ครับ ขอบคุณมาก ๆ เลย ยินดีที่ได้คุยกับพี่ดี้ และ The Cloud วันนี้ครับ
ฟูอาดี้ : มาเริ่มกันเลย พี่ทราบว่าแสนดีชอบกาแฟมาก ๆ ถึงขนาดเขียนปริญญานิพนธ์เรื่องนี้ ช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมครับว่าอะไรชักนำให้แสนดีมาสนใจกาแฟ
ตอนแรกผมไม่เคยคิดจะดื่มกาแฟเลย จนกระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเมื่อสัก 4 – 5 ปีก่อน ถึงเริ่มดื่มกาแฟแก้วแรก ตอนยังเรียนอยู่โรงเรียนมัธยมปลาย ผมไม่ได้ดื่มกาแฟมากนักเพราะกลัวฤทธิ์คาเฟอีน กังวลมากว่าถ้าดื่มแล้วจะติด
ผมเริ่มดื่มกาแฟเพื่อเพิ่มพลังในตัว พอดื่มแล้วพบว่ากาแฟช่วยให้ผมอารมณ์ดีขึ้นนิด ๆ ด้วยนะ จากนั้นมาก็รู้สึกเหมือนความคลั่งไคล้ในกาแฟฝังแน่นในชีวิต เป็นกิจวัตรที่ต้องทำประจำทุกวัน ถ้าไม่มีกาแฟ ผมก็ไม่รู้เลยว่าตอนนี้ผมอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ (หัวเราะ)
ฟูอาดี้ : ถ้าอย่างนี้แสนดีต้องพึ่งกาแฟในการดำเนินชีวิตทุกวันเลยหรือเปล่า
ใช่เลย ผมต้องดื่มกาแฟ ถ้าวันไหนผมไม่ได้ดื่ม ผมจะรู้สึกเหมือนกับ… โอยยย… เข้าใจใช่มั้ยครับ (ยิ้ม)
สำหรับผม การดื่มกาแฟคล้าย ๆ เป็นพิธีกรรมในแต่ละวันไปแล้ว ต้องดื่มทุกวันถึงจะรู้สึกดีได้ ผมเป็นคนเชื่อโชคลางเหมือนกันนะ เรื่องหนึ่งที่ผมถือมากเลยคือเรื่องกาแฟ ต้องได้ดื่มสักแก้ว ไม่อย่างนั้นทั้งวันคงมีแต่โชคร้าย
ฟูอาดี้ : คิดจริง ๆ หรือว่าถ้าไม่ได้ดื่มกาแฟสักแก้วแล้วโชคร้ายจะมาเยือน
ผมว่าทุกวันที่ดีของผม ทุกจังหวะเวลาชีวิตดี ๆ ที่เคยมี ล้วนมีกาแฟเป็นส่วนประกอบในนั้น เช่น เวลาไปสอบ ถ้าได้กาแฟสักหน่อยก็อุ่นใจแล้ว และรู้สึกว่าจะทำข้อสอบได้
ฟูอาดี้ : พูดเหมือนกับว่า ถ้าไม่มีกาแฟแล้วจะทำข้อสอบไม่ได้เลย
ใช่ครับ ถูกเผงเลย ถ้าไม่ได้ดื่ม พลังงานในตัวผมจะเหลือน้อยนิดมาก เหมือนแบตเตอรี่ต่ำน่ะ ผมไม่ได้มีพลังมากมายอย่างคุณพ่อ คุณพ่อกระฉับกระเฉงเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ผมไม่ ต้องมีกาแฟถึงจะเป็นแบบคุณพ่อได้ (หัวเราะ)
ฟูอาดี้ : ช่วยเล่าให้พวกเราฟังหน่อยได้ไหมว่า ทุกเช้าแสนดีดื่มอะไร อย่างไร
ผมเพิ่งหัดดื่มกาแฟจากเมล็ดที่บดเอง ก่อนหน้านี้แค่ตรงไปที่ร้านแล้วเลือกตามเมนู ตอนนี้ผมเปลี่ยนมาชงเองแล้ว มีเครื่องบดและชงในตัวเลย และผมก็พยายามเรียนรู้กระบวนการดริป การทำกาแฟฟิลเตอร์ แต่ยังเป็นมือใหม่ ไม่ค่อยคล่องเท่าไหร่ครับ
ฟูอาดี้ : มีความฝันเกี่ยวกับกาแฟบ้างไหม เช่น คิดว่ามันจะเป็นอาชีพจริงจัง หรือเป็นแค่เครื่องดื่มธรรมดาที่จะดื่มทุกเช้าต่อไป
ผมอยากเปิดร้านกาแฟของตัวเอง อยากทำคาเฟ่ในฝันให้เป็นเหมือนโซเชียลเน็ตเวิร์ก สำหรับผู้คนมาพบปะสังสรรค์ ในร้านจะมีความมินิมอลสไตล์ญี่ปุ่น สอดคล้องกับปรัชญาและทุก ๆ อย่างที่เป็นของญี่ปุ่น

ฟูอาดี้ : แล้วเคยไปญี่ปุ่นหรือยัง รู้ไหมว่าวัฒนธรรมดริปกาแฟแบบนี้ที่ทำกันอยู่ มันมีอิทธิพลจากญี่ปุ่นเยอะเลยนะ
แน่นอนครับ ผมรักญี่ปุ่นสุด ๆ แต่ถ้าต้องไปคาเฟ่ที่ญี่ปุ่นคงเลือกดื่มชามัทฉะ ผมเคยไปดูพิธีชงชาของจริงมาแล้ว รู้สึกว่าคนที่นั่นชอบชามากกว่ากาแฟเสียอีก
ฟูอาดี้ : กลับมาที่เรื่องร้านกาแฟในฝันอีกครั้ง ถ้าเลือกได้จะเปิดร้านที่ไหน ในกรุงเทพฯ ในซีแอตเทิล หรือว่าเมืองไหนในโลกดีล่ะ
ในกรุงเทพฯ แน่นอนครับ ด้วยธรรมชาติและผู้คน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง และมีพื้นที่ให้แสดงออกได้มากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงเป็นจุดยืนที่ดีสำหรับการเปิดร้านกาแฟแนวใหม่ ผมมองว่าร้านกาแฟสำคัญมากกับการสร้างพื้นที่สาธารณะในเมือง เป็นแหล่งระดมและแลกเปลี่ยนความคิดใหม่ ๆ
ฟูอาดี้ : เมื่อกี้เราคุยเรื่องกาแฟไปแล้ว อะไรทำให้แสนดีติดใจประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมรักสุดหัวใจมาตลอด ผมไม่เห็นภาพตัวเองเลยว่า ถ้าไม่เรียนหรือทำอะไรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แล้วจะเป็นยังไง อาจเพราะผมโตมากับการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ดูสารคดีประวัติศาสตร์ เสพประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์มันอยู่ทุกที่ในโลก
มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและหลากหลายมาก ถ้ามองย้อนกลับไป จะเห็นมุมมองมากมายที่แตกต่างกัน ไม่ใช่มุมมองของคนเพียงคนเดียว เหมือนกับภาพที่ละลานตาด้วยมุมมองที่ต่างกันครับ
ฟูอาดี้ : นักประวัติศาสตร์ที่ดีควรทำอย่างไร ถ้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์มีหลายมุมมอง
ต้องรู้จักเลือกให้ดี ไม่ใช่แค่เลือกสิ่งที่ดีที่สุด แต่ยังต้องเลือกข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักมากที่สุดด้วย เพราะเห็นได้ชัดว่าเราดูประวัติศาสตร์ที่เหตุ มองอดีตเพื่อเรียนรู้ปัจจุบัน เราเรียนรู้สิ่งที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพื่อทำความเข้าใจกับบริบทปัจจุบัน
ฟูอาดี้ : แต่ก็มีคำพูดว่า “ประวัติศาสตร์มักซ้ำรอย” เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือเปล่า
ครับ มันเป็นวัฏจักร แต่เราทำลายมันได้ ตราบเท่าที่ยอมรับความผิดพลาดได้ การยอมรับข้อบกพร่องของเราคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์
ฟูอาดี้ : พูดเรื่องปริญญานิพนธ์บ้างดีกว่า หลายคนไม่รู้ว่าแสนดีทำปริญญานิพนธ์เกี่ยวกับกาแฟ ช่วยสรุปสั้น ๆ ให้พวกเรารู้หน่อยได้ไหมว่าเนื้อหาในนั้นพูดถึงอะไรบ้าง
เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของร้านกาแฟแห่งแรก ซึ่งผมเรียกมันว่า ‘Pre-Social Media’ ก่อนที่โลกจะมีโซเชียลมีเดีย ร้านกาแฟก็ทำหน้าที่คล้ายกัน มันเป็นจุดเริ่มต้นที่นำพาผู้คนให้มารวมกลุ่มกัน เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการแสดงออกของสาธารณชน
เนื้อหาในปริญญานิพนธ์นี้เล่าตั้งแต่กาแฟแก้วแรก ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมร้านกาแฟจากจักรวรรดิออตโตมัน (ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ไปจนถึงถ้วยเซรามิกกับกาแฟประกอบกันเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับผู้คนได้อย่างไร ยุคก่อนศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ ค.ศ. 1500 สถานภาพทางสังคมที่เราคุ้นเคย เช่น การมีพื้นที่และเครือข่ายทางสังคมให้รวมกลุ่มกันไม่ได้เป็นแบบนี้ จนกระทั่งร้านกาแฟถือกำเนิดขึ้นนั่นแหละ

ฟูอาดี้ : ตอนที่ยังไม่มีร้านกาแฟ คนในสมัยนั้นเข้าสังคมกันอย่างไร
ก่อนมีร้านกาแฟ ผู้คนเข้าร้านเหล้าหรือโรงเตี๊ยมกันไปตามเรื่อง ซึ่งสถานที่เหล่านี้ไม่ได้มีการชุมนุมทางสังคมมากนัก ในยุคกลางมีแต่ลานกว้าง ราชสำนัก แล้วก็จัตุรัสกลางเมือง ร้านกาแฟเป็นเหมือนอีกขั้นของสถานที่เหล่านี้อีกที
ฟูอาดี้ : ทำไมต้องเริ่มเล่าถึงร้านกาแฟที่ตุรกีก่อน
เมื่อเราพูดถึงประวัติและต้นกำเนิดของกาแฟ ก็ต้องเล่าว่าเมล็ดกาแฟมาจากทวีปแอฟริกา ก่อนจะแพร่หลายไปยังตะวันออกกลาง ดินแดนของชนชาติอาหรับ จากประเทศเยเมนถึงประเทศโอมาน แล้วจึงมีพ่อค้านำไปขายเป็นสินค้าแลกเปลี่ยน กาแฟถึงได้กลายเป็นของซื้อขายในยุคนั้น
จักรวรรดิออตโตมันหรือตุรกีในปัจจุบัน พบว่ากาแฟเป็นสินค้ามีมูลค่ามาก และเริ่มส่งออกกาแฟ ดังนั้น ออตโตมันจึงกลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายกาแฟระดับโลก ผมจึงต้องเริ่มเล่าเรื่องจากที่นี่ครับ
ฟูอาดี้ : สรุปว่าออตโตมันคือผู้ริเริ่มบริโภคกาแฟและส่งออกสู่ที่อื่น ๆ
ถูกต้องครับ ชาวออตโตมันนี่แหละที่เริ่มทำร้านกาแฟ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มทำให้ร้านกาแฟมีบทบาททางสังคมอีกด้วย บทบาทของร้านกาแฟในออตโตมันมีมากมาย ทั้งบทบาททางสังคม บทบาททางสาธารณะ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ ชาวดัตช์และชาวอังกฤษได้รับแรงบันดาลใจไป สมัยนั้นกาแฟยังไม่เป็นที่รู้จักสำหรับชาวยุโรป ออตโตมันก็ส่งออกไปให้พวกเขา เมื่อนั้นเอง บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) จึงเริ่มค้าขายกาแฟตาม
ฟูอาดี้ : ชาวยุโรปมากรุงอิสตันบูลของออตโตมันจึงได้รู้จักกาแฟ ได้เห็นร้านกาแฟ เลยได้รับแรงบันดาลใจ แล้วนำไอเดียนั้นกลับไปที่บ้านเกิดพวกเขาเหรอ
ครับ เป็นอย่างนั้นเลย อย่างชาวอังกฤษเดิมดื่มแต่ชา อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาได้รู้จักกาแฟและวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเป็นครั้งแรก ก็คิดว่าน่าจะทำแบบนี้ได้และควรทำตามบ้าง มันปฏิวัติแนวคิดและวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นนวัตกรรมที่แปลกใหม่มาก ในเวลาต่อมา กาแฟจึงเป็นกลไกหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม
ฟูอาดี้ : ทำไมกาแฟเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมได้ เป็นเพราะคาเฟอีนมีฤทธิ์ให้คนกระปรี้กระเปร่า ยินดีทำงานหนักขึ้นอย่างนี้หรือเปล่า
ผมคิดว่าอยู่ที่คุณลักษณะของกาแฟมากกว่าครับ โดยธรรมชาติของมันเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มในที่สาธารณะหรือที่ส่วนตัวก็ได้ ดื่มกับเพื่อนฝูงที่ร้านกาแฟนอกบ้านก็ได้ หรือดื่มอยู่คนเดียวที่บ้านก็ได้เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม
ฟูอาดี้ : ถ้าเป็นอย่างนี้ เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะมีบทบาทเดียวกันนี้ได้ด้วยไหม
อาจจะไม่นะ มีเรื่องราวหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจมาก คือเรื่องการแบนกาแฟของสุลต่านออตโตมัน
ออตโตมันหรือตุรกีเป็นชาติมุสลิม พวกเขาไม่ดื่มแอลกอฮอล์กันด้วยข้อห้ามทางศาสนา ดังนั้น พวกเขาจึงหันมาดื่มกาแฟแทน ทำไปทำมา ชาวออตโตมันก็หันมาติดกาแฟกันงอมแงม นำมาซึ่งกฎหมายสั่งงดและห้ามดื่มกาแฟไม่รู้กี่ฉบับ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะทุกคนยังดื่มกาแฟอยู่ดี (หัวเราะ)
ฟูอาดี้ : จากที่ได้อ่านมา ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังพูดถึงแก้วกาแฟเซรามิกของตุรกีด้วย
ถ้าเรานึกถึงเซรามิกในจักรวรรดิออตโตมัน จะต้องพูดถึงเมืองคือตาห์ยา (Kütahya) กับอิซนิก (Iznik) เสมอ เพราะสองเมืองนี้เหมือนเป็นต้นตำรับงานเซรามิกในตุรกี ช่างเซรามิกมีฝีมือเยี่ยมยอดมาก ผู้คนเริ่มเชื่อมโยงกาแฟกับเซรามิก เพราะแก้วเซรามิกเป็นของที่ทุกคนต้องนำมาใส่กาแฟดื่ม เซรามิกจึงกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของกาแฟ ถ้าไม่มีเซรามิก ก็ไม่มีกาแฟให้ดื่ม

ฟูอาดี้ : ทั้งสองเมืองนี้เป็นต้นตำรับเซรามิกทั้งคู่ แต่ดูเหมือนว่าในงานของแสนดีจะเขียนว่า แก้วเซรามิกของคือตาห์ยาดังกว่าอิซนิกนะ
เพราะผมคิดว่าเซรามิกของอิซนิกเป็นการผลิตคราวละมาก ๆ เป็น Mass Production ในขณะที่เซรามิกของคือตาห์ยามีความจำเพาะเจาะจงมากกว่า ปั้นโดยช่างที่ชำนาญกว่า มีคุณค่าทางศิลปะมากกว่า เลยดูเด่นกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คนตุรกีดื่มกาแฟจากแก้วเซรามิก แล้วเห็นว่าเป็นแก้วจากคือตาห์ยา เขาก็จะทึ่งเลย แบบว่า “โอ้ จากคือตาห์ยาเหรอ” อะไรทำนองนี้
ฟูอาดี้ : สมัยนี้แก้วเซรามิกคือตาห์ยายังเป็นที่รู้จักแบบนั้นอยู่ไหมครับ
ไม่มากอย่างเมื่อก่อนแล้วครับ ในอิซนิก ช่างเซรามิกส่วนมากเป็นชาวตุรกีจริง ๆ ส่วนในคือตาห์ยา ในตอนนั้นเป็นช่างชาวอาร์มีเนีย ซึ่งพวกเขาไม่ใช่มุสลิม เพราะนับถือคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ จักรวรรดิออตโตมันของชาวตุรกีไปพิชิตดินแดนของพวกเขามา
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ออตโตมันรบแพ้ จักรวรรดิล่มสลาย หัตถกรรมดั้งเดิมกลายเป็นของล้าสมัย งานเซรามิกที่เคยเป็นงานประณีตก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตจำนวนมาก ๆ แทน
ฟูอาดี้ : ปริญญานิพนธ์ของแสนดียังพูดถึงการใช้ร้านกาแฟเป็นที่บ่มเพาะความคิด แลกเปลี่ยนมุมมองทางการเมืองซึ่งกันและกัน คิดว่าร้านกาแฟในไทยกำลังทำหน้าที่นั้นอยู่ไหม
ถ้าพูดจากมุมมองของผม ประเด็นสำคัญของร้านกาแฟอยู่ที่บรรยากาศของการพบปะ ชุมนุม รวมกลุ่มกัน ถ้าร้านใดไม่มีบรรยากาศทางสังคม ก็เหมือนไม่ใช่ร้านกาแฟ
ผมคิดว่าร้านกาแฟมีความสามารถพิเศษในการเชื่อมต่อ ยึดโยงผู้คนไว้ด้วยกัน เล่าเรื่อง รวมทั้งสร้างเรื่องราวและความทรงจำร่วมกัน ร้านกาแฟจึงเปรียบเสมือนสถานที่รวมตัวหรือจุดเชื่อมต่อที่ทุกคนต้องมา สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะเห็นว่าในอดีตผู้คนใช้ร้านกาแฟเป็นแหล่งรวมตัวกัน เป็นสมาคมใต้ดิน สมาคมลับ อะไรอย่างนั้นเลย
ฟูอาดี้ : ยกตัวอย่างลักษณะของสมาคมหน่อยได้ไหม
เป็นกลุ่มก้อนของผู้คนที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน จัดตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองหลาย ๆ วัตถุประสงค์ เป็นเหมือนพาหนะที่ใช้ขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เป็นที่ที่ผู้คนถกเถียงกันได้ แสดงความคิดออกมาได้อย่างเปิดเผย มีเสรีภาพทางการพูด
ฟูอาดี้ : ถ้าปริญญานิพนธ์ของแสนดีเผยแพร่ออกไป ผู้มีอำนาจในสังคมไทยจะตามไปแบนร้านกาแฟที่มีการบ่มเพาะความคิดเห็นและความเชื่อต่าง ๆ แน่ ๆ เลย (หัวเราะ) มีอะไรจะพูดถึงประเด็นนี้ไหม
ถ้าเป็นประเด็นนี้ ผมว่าความไม่เห็นพ้องน่าจะมาจากหลายระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ผมคิดว่าถ้าพวกเขาเริ่มควบคุมความขัดแย้ง และค้นหาว่าประชาชนคิดเห็นอย่างไร นั่นแสดงว่าพวกเขาไม่ได้เชื่อใจประชาชนเลย
ฟูอาดี้ : หมายความว่าอำนาจภาครัฐไม่มั่นคงด้วยใช่ไหม
ผมก็ยังคิดว่ามันคือการไม่ไว้วางใจประชาชน ถ้าคุณเริ่มควบคุมการพูดและปิดกั้นเสรีภาพในที่สาธารณะ ท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะมาพร้อมกับราคาที่ต้องจ่าย
ฟูอาดี้ : ยังมีความหวังกับประเทศของพวกเราอยู่ไหม จะเป็นเรื่องกาแฟหรืออะไรก็ได้
ผมคิดว่าร้านกาแฟนำผู้คนในประเทศไทยมารวมกันในรูปแบบต่าง ๆ ได้มากกว่าที่เคยเป็น ผู้คนเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า พื้นที่สาธารณะคือสิ่งที่ทุกคนต้องการ นั่นคือวิธีที่ทุกคนพบกัน นั่นคือวิธีที่เราสร้างสังคม สร้างเมือง

ฟูอาดี้ : ว่าไปเรื่องนี้ก็น่าจะสัมพันธ์กับหน้าที่ของคุณพ่อแสนดีด้วย เรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ดีและปลอดภัยในกรุงเทพฯ
ใช่ครับ พื้นที่สาธารณะตอบสนองวัตถุประสงค์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่สำหรับเล่นและฟังดนตรี สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อรวมตัวกันในด้านอื่น ๆ ทั้งหมดนี้เป็นสถานที่สำหรับการแสดงออกทางความคิดต่อสาธารณชนได้
ฟูอาดี้ : แสนดีได้ให้ไอเดียเหล่านี้กับคุณพ่อบ้างหรือยัง
ให้ไปแล้วครับ คุณพ่อตื่นเต้นใหญ่เลย ท่านบอกว่า “โอ้! ใช่เลย เมืองไทยเราน่าจะเปิดร้านกาแฟให้มากกว่านี้นะ” นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว เราน่าจะเปิดร้านกาแฟในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และที่อื่น ๆ ทั่วไทย ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองเล็กเมืองรอง ควรจะมีผู้ประกอบการมากขึ้น เพื่อจูงใจให้คนเปิดร้านกาแฟของตัวเองและมีส่วนร่วมในชุมชน
ฟูอาดี้ : เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นแล้ว ในฐานะที่คุณพ่อเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หวังว่าเราจะสร้างชุมชนที่เข้มแข็งรอบ ๆ ร้านกาแฟเพื่อให้ประเทศเราดีขึ้น
ผมคิดว่าเป็นไปได้มาก เรากำลังไปในทิศทางที่ดี เพราะตอนนี้ผู้คนเริ่มแสดงออกมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศของเราอย่างแน่นอน
