28 พฤษภาคม 2024
1 K

ย้อนไปในช่วงการระบาดของโควิด-19 ขณะนั้นธุรกิจภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมาก ด้วยกฎข้อบังคับหลายอย่างทำให้ผู้คนเดินทางไม่ได้ แต่ไม่ใช่กับ ‘เชียงคาน’ เพราะแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองแห่งนี้ คือหนึ่งเดียวในภาคอีสานที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน 

การสร้างมาตรการความปลอดภัยตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ผสานกับการท่องเที่ยวที่ออกแบบขึ้นจากต้นทุนภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้านในพื้นที่และความสามัคคีของคนเชียงคานทุกภาคส่วน จนในที่สุดโปรเจกต์ ‘Sandbox เชียงคาน’ โมเดลท่องเที่ยวท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ทรงพลัง จัดตั้งขึ้นแบบไร้งบสนับสนุนก็สำเร็จขึ้น โดยวัดจากเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลหลักพันล้านจากนักท่องเที่ยวในช่วงเวลานั้น แถมยังกลายเป็นโมเดลท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศ 

นอกจากนี้ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย การสร้างมาตรฐาน SOP เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเอาไว้ยังช่วยให้เชียงคานได้รับรองสถานะความยั่งยืน รางวัลเหรียญเงิน Green Destinations Silver Award 2024 จากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับโลก GSTC เป็นชาติแรกของอาเซียน และเป็น 1 ใน 3 ของเอเชียที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย

กลวิธีพลิกเกมสร้างวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสเช่นนี้ช่างน่าสนใจ อีสาน Lifehacker จึงอยากชวนคุณไปฟังเรื่องราวเปี่ยมพลังดังกล่าวจากคำให้การของทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ไปพร้อม ๆ กัน

เรามีนัดหมายพูดคุยทางออนไลน์กับ กระต่าย-วัชรี แก้วสา ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย และยังเป็นหัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย พร้อมด้วยน้อง ๆ ทีมงานสาธารณสุขจังหวัด และอีกคนสำคัญคือ เบญ-เบญจมาภรณ์ ฉัตร์คำ สาวกรุงเทพฯ ที่เลือกไปปักหลักทำธุรกิจร้านอาหารและที่พักในเชียงคานอย่าง ‘บ้านต้นโขงเกสต์เฮาส์ เชียงคาน’ มานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันเธอคือนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเลย และประธานชมรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นเมืองเชียงคาน ที่ต้องคุยกันทางออนไลน์ก่อน เพราะเบญติดภารกิจเดินทางไปดูงานต่างประเทศในวันที่เราจะลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยือน

เราต้องการคุยกับทั้ง 2 คน ซึ่งเป็นคู่หูผู้วิ่งสู้ฟัดอยู่ทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าของโครงการ Sandbox เชียงคาน โดยพวกเธอนิยามตัวเองว่าเป็น ‘คนบ้า’ ที่กล้ากระโดดลงไปลุยกับงานที่ไม่รู้จักมาก่อน แถมยังไม่มีโมเดลไหนให้เรียนรู้ทำตาม ดังนั้น หากจะบอกว่าจุดเริ่มต้นของโครงการนี้พวกเธอได้ปั้นมันมากับมือจนสำเร็จ ก็ไม่ได้อยู่เหนือความจริงแต่อย่างใด

กระต่ายเล่าว่าตอนแรกที่ได้รับมอบหมายภารกิจจากผู้ใหญ่ ใจลึก ๆ แอบกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ แต่พอมองเห็นผู้คนกำลังได้รับความลำบาก จึงฉุกคิดว่า ถ้าทำได้สำเร็จ ทุกคนในพื้นที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ แถมวิกฤตนี้ยังเป็นโอกาสดีที่จะได้เชิดชูศักยภาพที่แท้จริงของศาสตร์การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์แผนไทยที่ซุกซ่อนอยู่ในจังหวัดเลยให้กลับมาเป็นที่รู้จักและยอมรับ ได้ช่วยสืบสานภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านที่เธอศรัทธามาตลอดชีวิตไม่ให้สูญหายไป จึงตัดสินใจเข้ามาลุยกับโปรเจกต์นี้อย่างเต็มกำลัง ขณะที่เบญบอกถึงเหตุผลที่ลงมาจอยกับโครงการนี้สั้น ๆ ว่า 

“ก็มันไม่มีอะไรจะเสียแล้วนี่คะ ลองทำดูจะเป็นไรไป” 

และแล้วการก่อร่างสร้างโปรเจกต์ท่องเที่ยววิถีสุขภาพในนาม Sandbox เชียงคาน อันทรงพลัง จึงเริ่มต้นขึ้นแบบไร้งบสนับสนุนใด ๆ แต่หัวใจของสองคู่หูนักปั้นโปรเจกต์และทีมงานสนับสนุนทุกคนนั้นเกินร้อย

เชียงคานก่อนโควิดมาเยือน และเมื่อต้องเผชิญวิกฤต

เบญเล่าถึงบรรยากาศและระบบเศรษฐกิจของเชียงคานก่อนเกิดโควิด-19 ให้ฟังว่า 

“จังหวัดเลยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง โดดเด่นอยู่ที่เชียงคานกับภูกระดึง แต่ถ้าวัดจากผลกำไรในเชิงเศรษฐกิจ ภาพรวมส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเทมาอยู่เชียงคาน เพราะเดินทางสะดวก นั่งเครื่องบินมาลงเมืองเลยแล้วมีรถรับ-ส่งมาได้ มีรถโดยสารจากกรุงเทพฯ 5 เที่ยว และอื่น ๆ แต่เศรษฐกิจหลักของจังหวัดเลยเป็นภาคเกษตร การท่องเที่ยวเป็นภาครอง การค้าชายแดนก็มี เพราะติดต่อทาง สปป.ลาว ทั้งหมดส่งเสริมกัน

“เชียงคานมีนักท่องเที่ยวหลากหลาย หลัก ๆ เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยุโรป เอเชีย มีบ้างประปราย เป็นลักษณะของแบ็กแพ็กเกอร์ ถ้าเป็นยุโรปจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มีครอบครัวหรือภรรยาคนไทย 

“พอโควิดมาเยือน เราได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ทุกคนเหวอเลยค่ะ ไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไง ยิ่งมีการระบาดรุนแรง แค่ประคองไม่ให้คนในครอบครัวหรือตัวเองติดโควิดก็ยากอยู่แล้ว จะประคองธุรกิจให้อยู่รอดนี่ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ยอมรับว่าผู้ประกอบการทุกคนหวาดระแวงกันเอง บ้านนั้นบ้านนี้มีการส่งข่าว แล้วบางคนก็ปิดบังอาการเพราะกลัวสังคมรังเกียจ ตอนนั้นเมืองก็ปิดอยู่ช่วงหนึ่ง โดยที่เราไม่รู้ว่าจะปิดนานแค่ไหน ด้วยเหตุผลที่ไม่มีใครมาและด้วยคำสั่งของรัฐบาล ทีนี้พอไม่มีใครมา ผู้ประกอบการก็นั่งมองหน้ากันว่า แล้วจะอยู่ต่อไปยังไง 

“การระบาดรอบแรกคนอยู่ได้ด้วยทุนรอนของตัวเอง คนเชียงคานดีตรงที่ว่าก็ทำความเข้าใจ สอดส่องดูแล แต่ชุมชนก็เริ่มเกิดการถกเถียงกัน ปิดบังโรค โกรธเคืองกันก็มีอยู่บ้าง การไล่ไทม์ไลน์เป็นสิ่งที่เหมือนเราหาข่าวตลอดเวลา เบื้องต้นมันใช้ชีวิตกันอยู่แบบนั้นบนความหวาดกลัว หวาดระแวง และตอบตัวเองไม่ได้เลยว่าผู้ประกอบการในเชียงคานจะเดินหน้าต่อกันไปอย่างไรในวิกฤตนี้”

ทางการสั่งมาว่าให้สาธาฯ ทำ Sandbox เชียงคาน

ในวิกฤตเดียวกันนี้ เจ้ามือที่รับไปเต็ม ๆ คือหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ระหว่างที่ทีมสาธารณสุขกำลังเครียดเรื่องการรับมือโรคระบาดอย่างเข้มข้นอยู่นั้น กระต่ายก็ได้รับคำสั่งจากผู้ใหญ่ว่า ให้เธอหาทีมงานปั้นโปรเจกต์ Sandbox เชียงคาน ขึ้น นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก เพราะลำพังคำว่า Sandbox คืออะไร เธอและทีมไม่มีใครรู้จักมาก่อน

“โควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ ทุกคนอยู่ด้วยความหวาดกลัว ทางสาธารณสุขเองก็มีหน้าที่ด้านสุขภาพช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ พี่ต่ายพยายามนึกว่าจะพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสได้อย่างไร ยอมรับว่าเหนื่อยมาก น้อง ๆ ในทีมตอนนั้นแอบไปร้องไห้กันเพราะมันกดดัน เราเองก็เคว้งคว้าง ประชาชนก็ลำบาก ไม่มีงานทำ ทั้งกลัว ทั้งหวาดระแวง แต่มีคำถามหนึ่งผุดขึ้นมาว่า ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านที่มีอยู่ในพื้นที่ของเราจะช่วยกอบกู้สถานการณ์นี้ให้ดีขึ้นได้ไหม”

“อีกอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นในวิกฤต คือบุคคลที่เป็นผู้นำจะเผยตัว ท่ามกลางความวุ่นวาย หากเรามีผู้นำที่วิสัยทัศน์แหลมคมมาช่วยชี้ทางให้ก็คงจะรอดพ้นจากวิกฤตได้ไม่ยาก และผู้นำในเวลานั้นก็คือ นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารสุขเขตสุขภาพที่ 8 ก่อนหน้านี้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยมาก่อน พี่ต่ายเคยทำงานกับท่าน ท่านก็สบายใจที่จะทำงานกับเรา ท่านเลยบอกว่าให้จังหวัดเลยลองไปทำ Sandbox เชียงคาน ฟังครั้งแรกไม่เข้าใจคีย์เวิร์ดนี้เลยว่าคืออะไร แต่จำคำพูดท่านได้ว่า

“Sandbox คือการสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาให้เกิดเป็นมาตรการ แล้วก็ให้เราเปิดประเทศให้ได้ โดยต้องใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในพื้นที่ ผมว่าเชียงคานน่าสนใจนะ คุณลองไปดูซิว่าเชียงคานมันต้องมีมาตรการอะไรบ้าง และมีอะไรที่น่าสนใจ พอที่จะมาทำ เพื่อสอดรับกับนโยบายเปิดประเทศได้ 

“ฟังจบพี่ก็รู้สึกทันทีว่านี่น่าจะเป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤตที่เราพยายามหาคำตอบ เพราะตลอดเวลาที่ทำงานในจังหวัดเลย เราเห็นว่าเมืองมีทั้งภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน ภูมิปัญญาด้านสมุนไพร มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมประเพณี แถมอากาศก็ดี เรามีสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนอยู่แล้ว แต่ไม่เคยสร้างมาตรฐานความปลอดภัยเชิงสุขภาพกันอย่างจริงจัง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทางจังหวัดก็วางยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่แล้ว พี่จึงเชื่อว่า Sandbox เชียงคาน น่าจะเป็นทางออกของวิกฤตครั้งนี้

“หลังจากรับคำสั่งมา เราก็ต้องหาแนวร่วมค่ะ เพราะทีมงานสาธารณสุขไม่ถนัดเรื่องการออกแบบการท่องเที่ยว จึงต้องหาผู้ที่เข้าใจมาช่วย หวยเลยมาออกที่เบญซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันดี เบญฝังตัวอยู่ในเชียงคานมาเป็นเวลานาน และทำเรื่องการท่องเที่ยวมาโดยตลอด เขาจะเข้าใจทุกบริบทของการท่องเที่ยว พวกเราเลยช่วยกันนั่งคิดและสรุปออกมาเป็นเอกสารว่า ถ้าจะต้องเปิดเมืองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรองรับนโยบายของรัฐบาล ภายใน 120 วัน อะไรคือสาระสำคัญของเชียงคาน เราเริ่มจากเชียงคานซึ่งเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน แต่เน้นทำให้สมบูรณ์ หากสำเร็จจึงขยับนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่น 

“จากนั้นก็เขียนโปรเจกต์ส่งให้ นพ.ปราโมทย์ เอาไปนำเสนอผ่านคณะกรรมการและหน่วยงานต่าง ๆ ตามข้อกำหนด จนถึงด่านสุดท้ายคือที่ประชุมนโยบาย Medical Hub ตอนนั้นมีท่านผู้ตรวจเขตสุขภาพที่ 8 และกองสุขภาพระหว่างประเทศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ช่วยนำเสนอให้เชียงคานเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดประเทศ โดยใช้กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาเป็นจุดขายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

“พี่จำได้แม่นยำไม่เคยลืมเลยค่ะว่า 25 มีนาคม พ.ศ. 2564 คือวันประวัติศาสตร์ชีวิตที่พี่และทีมงานต้องจดจำ เพราะวันนั้นมติที่ประชุมเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ และทุกท่านได้รู้จักพวกเราที่เป็นคนเขียนโครงการ”

เล่าถึงตรงนี้ ดูเหมือนเรื่องราวของ Sandbox เชียงคาน คงจะดำเนินไปถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก ทว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการฝ่าด่านอรหันต์ของทั้งกระต่าย น้อง ๆ ทีมงาน และเบญเท่านั้น

 ทำความเข้าใจกับผู้คนในพื้นที่ไม่ใช่เรื่องง่าย และใช้วัคซีนมาจูงใจ

สิ่งแรกที่ยากที่สุดคือการสร้างความมั่นใจและเชื่อใจให้ผู้คนในพื้นที่ เบญเล่าประเด็นนี้ให้ฟังว่า

“เริ่มจากคำว่าไม่มีอะไรจะเสีย ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นโควิดตาย ถ้ามีโอกาสเข้ามาต้องรีบคว้าไว้ อย่างแรกที่เราตั้งคำถามกันก่อน คือถ้าพื้นที่เราไม่ปลอดภัย นักท่องเที่ยวเขาจะมาไหม แล้วถ้านักท่องเที่ยวไม่ปลอดภัย เราจะให้เขามาไหม ดังนั้น ทั้ง 2 ส่วนต้องศีลเสมอกัน เพราะฉะนั้น หน่วยงานสาธารณสุขนี่แหละคือคำตอบที่เหมาะสมที่สุดในเวลานั้น ทั้งที่แนวทางการทำงานของพวกเราคนละขั้วกันเลย แต่พอมีวิกฤตแบบนี้ ภาคท่องเที่ยวก็ต้องอิงภาคสาธารณสุขถูกไหมคะ เพราะว่าจะต้องเที่ยวแบบปลอดภัย ไม่มีโรค โชคดีว่าเราเป็นคนแบบเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน

“ยุคนั้นการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดเลย และสาธารณสุขจังหวัดเลย คุยกันรู้เรื่อง เราคุยในภาคของผู้ประกอบการซึ่งเริ่มจาก Key Person ก่อน กับนายอำเภอด้วยว่าจะเอาไหม สิ่งที่ตอบครั้งแรกมี 2 อย่าง คือเอากับไม่เอา ก็ถามอีกว่าทำไมไม่เอา จะอยู่อย่างนี้เหรอ จะอยู่ไปวัน ๆ โดยที่นักท่องเที่ยวก็ไม่มาไปได้ถึงเมื่อไร 

“Sandbox คือกระบะทรายที่พลิกผันได้ทุกอย่าง คือการสร้างห้องทดลอง เราสร้างการทดลองว่า ถ้าเป็นการท่องเที่ยวแบบนี้จะเอารูปแบบอะไรมาควบคุมเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ถ้าทำได้ก็เอาโมเดลนี้ไปใช้กับที่อื่นได้ ถ้าไม่สำเร็จ พลาดตรงไหน ก็กลับมานั่งปั้นใหม่ว่าในกระบะทรายมีช่องโหว่อะไร แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจ พอถามว่าไม่เอาเพราะอะไร ก็จะบอกว่ากลัวคนเข้ามาแล้วจะเอาโรคมาแพร่ แล้วไม่คิดเหรอว่าคนที่เข้ามาเขาก็กลัวคนในพื้นที่ว่าจะไม่ปลอดภัยกับเขาเหมือนกัน จะดีกว่าไหมถ้าเราสร้างมาตรฐานให้พื้นที่เราเป็นเซฟโซน ให้นักท่องเที่ยวมองเข้ามาแล้วรู้สึกว่า เมื่อมาถึงแล้วจะท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย ในที่สุดก็ไปจบตรงที่ โอเค ตกลง ทำ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยนะคะ

“พอถึงเวลาตกลงทำ ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้เลย ต้องทำประชาคม ประชาพิจารณ์ ต้องไปอธิบายว่าเราทำเพราะอะไร ทำแล้วจะได้อะไร ให้ความมั่นใจและบอกไปว่าไม่ลองก็ไม่รู้ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งถ้าทำแล้วจะได้แน่ ๆ คือวัคซีน ซึ่งตอนนั้นคงพอจำกันได้ว่าเกิดภาวะขาดแคลนและแย่งชิงกัน วัคซีนจึงเป็นสิ่งจูงใจสำคัญหนึ่งในโครงการนี้

“กลุ่มที่ยากที่สุดคือกลุ่มที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ คือข้างในถนนคนเดิน เขาจะตั้งคำถามเยอะ ปัญหานี้สอนเราและอยากบอกกับผู้ที่ทำอะไรคล้าย ๆ กันอยู่แล้วกำลังเผชิญสิ่งเดียวกันให้รู้ว่า วิธีแก้ที่ดีที่สุด คือการทำความเข้าใจกับผู้คนโดยใช้ถ้อยคำที่ตรงประเด็น คมชัด และรอบคอบที่สุด เพราะพูดผิดประโยคเดียวชีวิตเปลี่ยนเลยนะคะ ตอนนั้นมีผู้นำเสนอบอกกับผู้ประกอบการว่า ถ้าเปิดเมืองได้เราจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน เบญนั่งฟังอยู่คิดทันทีว่าแย่แล้ว เพราะคำว่า ‘นักท่องเที่ยวจีน’ มันชนปึ้งในหัวใจ จากที่ทุกคนจะยกมือสนับสนุน ครานี้กลายเป็นพรั่งพรูความรู้สึกกันเต็มที่เลย

“เราให้คนที่เขาโต้ตอบพรั่งพรูความรู้สึกเต็มที่เลยค่ะ จะได้รู้ Pain Point ในใจเขา แต่ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปจากการยกมือ ซึ่งเห็นด้วยเกินครึ่ง แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่ฟังเสียงส่วนน้อยนะคะ เพราะเราอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจ ถ้าไม่ฟังความรู้สึกของคนในพื้นที่เลยจะเป็นปัญหา แต่นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เวลาต้องนำเสนออะไรแบบนี้ คำพูดในสารที่สื่อออกไปคือสิ่งสำคัญ” 

ท้ายที่สุด เรื่องการทำประชาคมเปิดพื้นที่เชียงคานเป็น Sandbox ก็ผ่านไปได้ด้วยดี เบญเล่าให้ฟังว่า จากหลายคนที่เคยต่อต้านหรือบูลลี่วัคซีน ก็แอบหลังไมค์มาขอรับ เพราะระหว่างนั้นจะเกิดการทวงถามขึ้นในชุมชนว่าใครได้ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน เป็นกลไกทางสังคมที่ขับเคลื่อนตัวเอง จนท้ายที่สุดผู้ประกอบการในถนนคนเดินและพื้นที่ธุรกิจในเชียงคานก็ได้รับวัคซีนจนครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ พร้อมที่จะเปิดเมือง 

สร้างมาตรฐานให้เชียงคาน สู่โมเดล SOP การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับประเทศ

สิ่งหนึ่งที่ต้องพร้อมเช่นกัน คือมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในสภาวะโรคระบาด หรือ SOP ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของกระต่ายและทีมงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานแพทย์แผนไทยทุกคนรับผิดชอบ กระต่ายเล่าย้อนวันวานให้ฟังว่า

“เราโชคดีที่มีดรีมทีมร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ในทุกสถานการณ์ สาธารณสุขไม่ได้เก่งเรื่องของการท่องเที่ยว เราเก่งเรื่องสุขภาพ แต่ทำงานกับการท่องเที่ยวแล้วเข้ากันได้ดี เพราะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาจังหวัดเลย และต่อมาก็เป็นในเรื่องของเศรษฐกิจสุขภาพ เอาสุขภาพมาสร้างเศรษฐกิจ นี่แหละค่ะคือจุดเริ่มต้น

“ท่านผู้ตรวจเขต 8 บอกว่าให้ไปคุยกับกองสุขภาพระหว่างประเทศ คุยกันทางซูมก็คงไม่เข้าใจ จึงต้องไปกรุงเทพฯ ซึ่งในตอนนั้นการออกนอกจังหวัดเป็นเรื่องยากค่ะ เราต้องทำบันทึกถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงว่าจะขอออกนอกจังหวัดเพื่อจะไปกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้กองสุขภาพระหว่างประเทศ ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ช่วยแนะนำเพื่อทำข้อปฏิบัติกลางในการปฏิบัติงาน หรือ SOP (Standard Operating Procedure) เพราะการจะเปิดประเทศไม่ใช่พอได้รับอนุมัติแล้วเปิดได้เลย มันต้องผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการระดับชาติอีกหลายด่าน 

“เวลาต้องไปกรุงเทพฯ สารภาพตามตรงว่ากลัวมากค่ะ แต่ก็ต้องไปเพราะเป็นหน้าที่ แล้วก็มีน้องเบญนี่แหละค่ะร่วมเสี่ยงตายไปกับเรา (หัวเราะ) ตอนนั้นพาลูกน้องไปด้วย ทั้งแพทย์แผนไทย นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เพราะมันต้องพิมพ์เอกสารให้แพทย์แผนไทยดูเรื่องภูมิปัญญาเรื่องสมุนไพร เอาทีมท่องเที่ยวไป ตอนแรกไม่มีงบที่จะมาสนับสนุนงานนี้ โชคดีที่ทางสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย (อพท.5) ออกค่าใช้จ่ายให้ พวกเราก็เหมารถตู้กันไป 5 – 6 ชีวิต 

“ช่วงที่เราไปทำ SOP ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พวกเราถูกกักตัวเลยนะคะ ให้อยู่ที่ห้องประชุมเท่านั้น อาหารแต่ละมื้อเขาก็มาส่งให้เป็นข้าวกล่อง แขวนไว้หน้าห้องเหมือนมาเยี่ยมคนป่วย โดยทางกรมเขาจะมีทีมกองสุขภาพระหว่างประเทศมาช่วยไกด์ให้ มี ผอ. กองสุขภาพระหว่างประเทศ ชื่อ ผอ.เสาวภา จงกิตติพงศ์ หรือ ผอ.กระรอก ท่านมีประสบการณ์ด้านนี้สูง ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาให้กับ Sandbox ภูเก็ต และจังหวัดอื่นด้วย 

“สุดท้าย SOP ของเชียงคานที่ออกมา กลายมาเป็นต้นแบบในระดับประเทศโดยปริยาย ท่านชมว่าทีมเราเก่งมาก พี่ก็มานั่งนึกว่าพวกเราเก่งเพราะอะไร คำตอบคือเพราะเรามีทีมแพทย์แผนไทยที่เก่ง แพทย์แผนไทยเรามีทักษะด้านภาษา ได้ทั้งภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ เราเลยทำอินโฟกราฟิกนำเสนอ 3 ภาษากันเลย แล้วก็มีน้องเบญที่มองเกมขาดเรื่องการท่องเที่ยว ไหนจะชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชียงคาน หอการค้าจังหวัดเลย ผู้นำชุมชน อสม. สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเลย ททท.สำนักงานเลย และสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย มาช่วยกันออกแบบ จนในที่สุด SOP ของ Sandbox เชียงคาน เป็นรูปเป็นร่างค่ะ

“พอเราทำ SOP ภายใต้ชื่อโครงการ ‘ฮักเลย เชียงคาน พลัส’ จนดีที่สุดแล้ว ก็ทำเป็นรูปเล่ม เพื่อยื่นเข้าเสนอต่อคณะกรรมการ ซึ่งท่านอดีตอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยแนะนำว่า ควรทำ SOP 2 เล่ม ไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งเราก็ทำตาม และนำ SOP เสนอต่อคณะกรรมการผู้พิจารณาถึง 5 คณะ แต่ละด่านสุดหิน ดีที่ได้ผู้ใหญ่ระดับบิ๊กในจังหวัดเข้ามาช่วยตอบคำถาม จนผ่านมาถึงชุดสุดท้ายซึ่งสำคัญที่สุด คือการเห็นชอบของมติคณะรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล ผลคือเห็นชอบให้จังหวัดเลยเปิดประเทศโดย Sandbox เชียงคาน ได้ โดยจะต้องมีหลักการทางหลักวิชาการรองรับความปลอดภัย หลักการด้านการท่องเที่ยว หลักการทางด้านเศรษฐกิจ หลักการด้านสังคม 

“เห็นไหมคะ กว่าจะได้มาตรฐาน SOP ของ Sandbox เชียงคาน มานั้นลำบากมาก แต่เราก็ทำได้ และเปิดเมืองสอดรับกับนโยบายเปิดประเทศได้ในที่สุด เป็นพื้นที่เดียวในภาคอีสานที่เปิดเมืองได้ในตอนนั้น และ SOP ของเราก็กลายเป็นโมเดลให้จังหวัดอื่น ๆ นำไปเรียนรู้ พวกเราก็ได้เป็นพี่เลี้ยงให้กับจังหวัดในเขต 8 ที่จะทำการท่องเที่ยวคู่ขนานไปกับเราอีกด้วย เมื่อดอกผลของความสำเร็จมันเกิดขึ้นได้ คนทำงานอย่างพี่และทีมงานทุกคนก็รู้สึกหายเหนื่อย”

หากสนใจอยากทราบรายละเอียดของ SOP โครงการ ฮักเลย เชียงคาน พลัส ภายใต้ Sandbox เชียงคาน เข้าชมรายละเอียดได้ที่นี่กันได้เลย

ออกแบบการท่องเที่ยวด้วยภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน

อีกสิ่งสำคัญเมื่อต้องเปิดเมือง คือรูปแบบการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งทางกระต่ายและเบญเล็งเห็นตรงกันว่า ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้าน รวมถึงเรื่องของอาหารพื้นบ้านเป็นยา ควรค่าแก่การถูกเชิดชูขึ้นมา เพราะในเวลานั้นใคร ๆ ก็ต้องการเสริมภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง กิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพได้รับความสนใจอย่างมาก วัฒนธรรมที่ดีงามของเชียงคานก็มีเอกลักษณ์งดงามไม่เหมือนที่ไหน เรียกได้ว่าต้นทุนทางภูมิปัญญาที่เชียงคานมีนั้นถึงพร้อมขาดแค่การจัดการและรับรองความปลอดภัย ให้ตรงตามมาตรการความปลอดภัยเชิงสุขภาพตาม SOP ที่วางรูปแบบไว้

หลังจากคุยกันผ่านทางออนไลน์ถึงตรงนี้ กระต่ายกล่าวกับทาง The Cloud ว่าอยากมองเห็นภาพการท่องเที่ยววิถีสุขภาพให้ชัดเจน อยากให้ทีมงานเดินทางมาเยือนเชียงคานในช่วงวันเดียวกันกับที่ทางเชียงคานจะต้อนรับคณะกรรมการประเมินผล การประกวดเที่ยวชุมชนยลวิถีของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนทั่วประเทศส่งเข้าประกวดเป็นหลักร้อย แต่เชียงคานได้รับคัดเลือกให้ติด 1 ใน 20 และกรรมการจะลงตรวจเพื่อคัดให้เหลือ 10 ชุมชน ถ้ามาทันในวันนั้น เราจะได้ชมกิจกรรมท่องเที่ยวเด่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐาน SOP ในช่วงที่ทำ Sandbox เชียงคาน และสอดรับกับยุทธศาสตร์จังหวัดเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างครบถ้วน 

ได้ยินแบบนี้มีหรือจะพลาด ว่าแล้วทริปท่องเที่ยวสุขภาพดีตามรอยวิถี Sandbox เชียงคาน แบบ 2 วัน 1 คืน ก็เริ่มขึ้น

เที่ยวสนุก สุขภาพดี ตามรอย Sandbox เชียงคาน

เราไปถึงศูนย์บริการท่องเที่ยวบ้านน้อยแก่งคุดคู้กันในช่วงบ่ายแก่ ๆ เมฆฝนทะมึนตามเรามา ราวกับว่าจะมาช่วยยืนยันอีกเสียงให้คนเชียงคานรู้ว่า The Cloud มาเยือนแล้วนะ ต่ายยิ้มแย้มต้อนรับ พร้อมด้วยทีมงานสาธารณสุขจังหวัดเลย กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 

แรกย่างเข้าสู่ตัวอาคารศูนย์บริการฯ เมื่อประตูอัตโนมัติเปิด เราก็ต้องผงะกับหน้าไม้ขนาดใหญ่ที่ประจันตรงหน้า พร้อมด้วยหุ่นรูปชายจมูกแดงแต่งชุดนายพรานสีเขียวโพกหัวด้วยผ้าแดงกะพริบตาขึ้นลงราวกับมีชีวิต มารู้ภายหลักว่านี่คือ ‘จึ่งขึ่งดังแดง’ ตัวละครในนิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับต้นกำเนิดแก่งคุดคู้ 

โถงด้านในของศูนย์บริการฯ มีชาวบ้านร้านค้าที่คัดเลือกมาเพื่อนำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวให้กับคณะกรรมการจากกระทรวงวัฒนธรรม ระหว่างรอผู้ใหญ่เดินทางมา เราจึงมีช่วงเวลาได้เดินคุยกับเจ้าของสินค้าและภูมิปัญญาแต่ละท่าน

เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง ด้วยประเพณีผาสาดลอยเคราะห์

กระทงสี่เหลี่ยมจากกาบกล้วย มีกรวยใบตองตรงกลางเหมือนเจดีย์ ประดับตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้จากขี้ผึ้งดูสะดุดตา ชื่อว่า ‘ผาสาดลอยเคราะห์’ อาจารย์สำเนียง ทาก้อม ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเชียงคาน เล่าให้ฟังว่า คำว่า ผาสาด หมายถึง ปราสาทที่ทำขึ้นจากกาบกล้วย มีลักษณะสี่เหลี่ยมแต่ไม่แบ่งเป็น 9 ช่อง ไม่ต้องใส่เครื่องเซ่นไหว้ ของคาวของหวานดอกไม้สด เพราะไม่ใช่พิธีสะเดาะเคราะห์ที่ใช้สำหรับผู้มีเคราะห์หนัก 

ผาสาดใช้สำหรับการลอยเคราะห์ ขจัดเคราะห์เบา ๆ เช่น อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่สบายอกไม่สบายใจ หรือทำกิจการงานอะไรแล้วเหมือนจะสำเร็จแต่ก็ไม่ลุล่วงสักที เคราะห์ไม่ดีแบบนี้ไม่ควรเก็บไว้ต้องเอาไปทิ้งน้ำโขง ให้มันไหลลง ๆๆ ไหลลงทะเล เหมือนบทเพลง เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง นั่นเอง 

ประเพณีผาสาดลอยเคราะห์ เป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนเชียงคาน รูปแบบเดิมใช้แค่กาบกล้วยธรรมดาและปักเทียน 2 ดอก (ไม่ต้องมีธูป) แต่ อ.สำเนียง พัฒนาผาสาดให้เกิดความงดงามยิ่งขึ้น เพื่อสอดรับกับกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว โดยผู้ต้องการลอยเคราะห์ก็ให้ทำผาสาดขึ้นเอง จากนั้นตัดเล็บ ตัดเส้นผมของตนเองลงไปในกระทงผาสาด นำข้าวเหนียวนึ่งสุกปั้นเป็นก้อนแล้วจ้ำ (จิ้ม) ตามตัว ในจุดที่มีอาการเจ็บป่วย ก่อนใส่ก้อนข้าวนั้นลงในกระทงผาสาดแล้วเดินลงไปที่ริมแม่น้ำโขง จุดเทียน 2 เล่มบนกระทงแล้วกล่าวว่า 

สาธุ สาธุ ขอให้เคราะห์ในกายของข้าพเจ้า ได้มอดไปกับไฟ ได้ไหลไปกับน้ำ

แล้วหย่อนกระทงลงแม่น้ำให้ลอยไป แล้วมีเคล็ดความเชื่อว่า เมื่อลอยผาสาดแล้วให้รีบเดินขึ้นตลิ่งจากไป ห้ามหันไปมอง เพราะถ้าหันกลับจะเหมือนเรายังห่วงหาเคราะห์นั้นอยู่ พิธีกรรมก็จะไม่สำเร็จ โดยพิธีกรรมนี้ทำได้ทุกเวลา แต่ทางเชียงคานจะมีวันสำคัญอีกวัน คือวันออกพรรษา หรือ 15 ค่ำ เดือน 11 ที่ทุกคนในชุมชนจะทำผาสาดลอยเคราะห์กัน

นับว่าเป็นพิธีกรรมทางความเชื่อที่งดงาม เชื่อมโยงกับจิตใจให้ผู้ได้ทำพิธีรู้สึกดีว่าได้ลอยเคราะห์ร้าย ๆ ออกไปแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามา ถ้าจะบอกว่าเป็น ‘พลาซีโบ’ เพื่อจิตใจของคนเชียงคานก็คงไม่ผิด 

ชิมมะพร้าวแก้วเนื้อหนึบนิ่ม มาตรฐาน SHA

หลังการตรวจประเมินของคณะกรรมการจากกระทรวงวัฒนธรรม ในบริเวณของศูนย์บริการท่องเที่ยวฯ เราขึ้นรถรางพร้อมกับทีม สสจ.เลย และเหล่าคณะกรรมการทุกท่าน พร้อม ไก่-ธัญธนาภา ธันย์วสุไชยวัฒน์ ไกด์ท้องถิ่นอารมณ์ดี คนเชียงคานแต่กำเนิด เพื่อไปยังพิพิธภัณฑ์และจุดชมวิวของแก่งคุดคู้เพื่อเรียนรู้วิถีคนเชียงคาน 

ระหว่างทางไกด์ไก่เล่าถึงตำนาน จึ่งขึ่งดังแดง นายพรานผู้พยายามล่าควายเงินด้วยหน้าไม้ขนาดใหญ่ที่ทำให้เวลายิงพลาดจะทำให้ภูเขาระเบิด จนพระอินทร์ต้องออกอุบายหาทางกำจัด หลอกให้เปลี่ยนมาใช้หน้าไม้ที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งมีความคม โดยบอกว่าไม้ไผ่เบากว่า สุดท้ายนายพรานผู้นี้ก็หลงเชื่อ จึงถูกคมไผ่ปาดคอตายลงด้วยท่าคุดคู้ เป็นที่มาของชื่อแก่งบริเวณนี้ ซึ่งก็มีนิทานเล่าต่ออีกว่าลำน้ำแถวนี้เกิดจากอัณฑะโอฬารของนายพรานผู้นี้ลากกับดินไปมาเวลาไปล่าควาย มุขปาฐะพื้นบ้านอีสานมักจะสอดแทรกเรื่องเพศแบบตลก ๆ ไว้เสมอเป็นปกติ ซึ่งไกด์ไก่ก็ถ่ายทอดออกมาได้สนุกสนานในสำเนียงภาษาคนเชียงคานที่ละม้ายคล้ายสำเนียงของคนลาวหลวงพระบาง เพราะมีรากเหง้าเดียวกัน 

กำลังฟังนิทานเพลิน ๆ ก็มีบางอย่างแย่งซีน นั่นคือกลิ่นหอมของมะพร้าวแก้วที่กลุ่มสตรีในย่านบ้านน้อยทำขายกันเป็นล่ำเป็นสัน รถรางจอดแวะให้เราลงเลือกซื้อ และเพิ่งได้รู้ความลับว่ามะพร้าวแก้วที่แบ่ง 2 เกรด A นิ่มหนึบ กับ B แข็งแห้งกว่า มาจากเนื้อมะพร้าวทึนทึกแผ่นเดียวกัน คือถ้าเป็นเนื้อมะพร้าวส่วนติดเปลือกกะลา พอเชื่อมมาแล้วจะนิ่ม แต่ถ้าเป็นเนื้อมะพร้าวส่วนติดกับน้ำด้านใน จะให้เนื้อที่แข็งกว่าเมื่อเชื่อมเสร็จ 

นอกจากความอร่อยของมะพร้าวแก้วที่ทางร้านให้ชิมและน้ำมะพร้าวสำหรับดื่มฟรีแล้ว ป้าย SHA (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ที่ติดอยู่ตรงร้านขายมะพร้าว ซึ่งต่ายชี้ให้เราดู กำลังบอกว่าร้านมะพร้าวแก้วแห่งนี้มีมาตรฐานความสะอาดและความปลอดภัยด้านสุขอนามัย โดยการรับรองของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้น จากในช่วง Sandbox เชียงคาน ท่ามกลางสถานการณ์โควิดมาจนถึงวันนี้ 2 ปีผ่านไป ร้านค้าก็ยังรักษามาตรฐานทั้งเรื่องของความอร่อยและความสะอาดเอาไว้ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง 

คอร์สนวดภูกระดึง นวดถึง นวดสบาย สไตล์นวดยองเส้นไทเลยป้าก้อย

รถรางพาเราผ่านวัดสำคัญหลายวัดของเชียงคาน แต่ด้วยเวลาจำกัดและเมฆฝนเริ่มตั้งเค้า พวกเราจึงได้แต่ยกมือไหว้สไตล์โมเดิร์น ไม่ได้ลงไปกราบเบญจางคประดิษฐ์อย่างใจหวัง ในที่สุดก็มาถึงถนนคนเดินเชียงคานในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็น Low Season ทว่าร้านรวงยังเปิดครบ ผู้คนมาเที่ยวก็มีให้เห็นไม่น้อยไม่มาก บรรยากาศบ้านไม้ 2 ชั้นคุมโทนตามเทศบัญญัติของเมือง เมื่อต้องแสงไฟเรื่อเรืองที่แต่ละร้านประดับไว้เพื่อให้ความสว่าง ยิ่งดูดีมีเสน่ห์ 

ไอซ์-รัตติยา บุญเกียรติบุตร และ จอย-รักษ์ชุดา ไชยสุรินทร์ โดดลงรถรางพร้อมเรา แยกกับกลุ่มผู้ใหญ่เพื่อเดินทางไปชมถนนคนเดินเชียงคาน ชี้ให้เราเห็นป้ายมาตรฐานต่าง ๆ ตามที่พักและร้านค้า เช่น ป้าย SHA และ SHA+ เช่นเดียวกับที่เราเจอตรงร้านมะพร้าวแก้ว หรือป้าย COVID Free Setting จากกรมอนามัย เพื่อยืนยันว่าได้รับการประเมินมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร พร้อมด้วยธง Sandbox เชียงคาน ที่บางร้านยังปักไว้ให้เห็น ป้ายการันตีเหล่านี้จะติดไว้ในจุดที่พบเห็นง่ายของสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้มาเยือนรับทราบและมั่นใจเรื่องความปลอดภัย

เรามาหยุดอยู่ตรงร้านนวดแห่งหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจตรงการตกแต่งร้านด้วย ‘ตุ้มนก ตุ้มหนู’ เครื่องแขวนสักการะเวลาใช้ทำพิธีกรรมอันดีงามของคนทางนี้ พร้อมด้วยผ้าขาวม้าที่ขึงไว้กับขื่อ มีเตียงนวดอยู่ด้านล่าง เห็นหมอนวดรั้งผ้าขาวม้าเพื่อลดทอนน้ำหนักตัวและช่วยทรงตัว ก่อนลงน้ำหนักด้วยเท้าทั้งปลายเท้า ฝ่าเท้า และส้นเท้า ให้กับผู้ที่มารับนวด ด้วยน้ำหนักที่พอดี นี่คือเอกลักษณ์การนวดของ ‘ร้านนวดนวดยองเส้นแม่ก้อย’ ร้านนวดพื้นบ้านชื่อดังของเชียงคาน 

คำก้อย-อุไรรัตน์ ทิพย์รส เจ้าของร้าน รับสืบทอดการนวดด้วยฝ่าเท้าแบบฉบับพื้นบ้านของไทเลย มาจากบรรพบุรุษ แล้วนำมาประยุกต์ท่าทางการนวดเพิ่มให้เป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง มีการตั้งชื่อท่านวดต่าง ๆ ที่สะท้อนวิถีชีวิตชาวบ้าน เช่น ท่าเดินดง เหยียบครกมอง เหยียบเรือสองแคม โยกน้ำ ปั่นฝ้าย หรือชื่อท่าเพราะ ๆ อย่างหงส์เหิน เหยียบเขาพระสุเมรุ นารายณ์ทรงครุฑ ปิดท้ายการนวดด้วยหินบำบัดจากหินแม่น้ำโขง นำมาวางทับตามจุดต่าง ๆ ร่วมกับการนวดศีรษะ (ด้วยมือ) เพื่อผ่อนคลายสบายตัว ส่วนใครปวดกล้ามเนื้อมาก ๆ เหมือนไปเดินขึ้นลงเขามา ก็แนะนำว่าทางร้านมีคอร์สภูกระดึงเพื่อแบบนวดคลายอาการปวดชนิดจัดเต็มไว้บริการด้วย 

เรื่องป้ายการันตีเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านสุขภาพของร้านนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะมีครบทุกอย่าง เป็นการยกระดับภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้านด้านการนวด ให้สะอาดปลอดภัย และเป็นสากลยิ่งขึ้น ต้องยกความดีความชอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาด้านการนวดพื้นบ้านนี้ ในช่วงที่เกิด Sandbox เชียงคาน จึงสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานความปลอดภัยของสถานที่ให้สอดคล้องกันกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ และเปิดให้รองรับนักท่องเที่ยว ภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านนี้จึงไม่สูญหายไป 

ลิ้มลองรสชาติที่สาบสูญ สำรับอาหารถิ่นเป็นยาของชุมชนคุณธรรมวัดศรีคุนเมือง

จากร้านนวด เรารีบสาวเท้าเร็ว ๆ เพื่อหลบฝนที่เริ่มปรอย ไปยังจุดนัดหมายใกล้กับวัดศรีคุนเมือง วัดเก่าแก่ศิลปะล้านช้างแห่งสำคัญบนถนนคนเดินเชียงคาน เพื่อมาลิ้มลอง ‘สำรับอาหารถิ่นชุมชนคุณธรรมวัดศรีคุนเมือง’ ซึ่งจัดรอไว้ 

กลุ่มแม่บ้านแต่งชุดสีฟ้าห่มผ้าเบี่ยงปักลายดอกฝ้ายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเลยไว้ต้อนรับเราด้วยพาข้าวสำรับอาหารถิ่นจากชุมชนมีหลากหลายอย่าง รวมไปถึง ‘เมี่ยงโค้น’ คล้ายกับเมี่ยงคำ แต่เครื่องเครามากกว่า ทั้งกล้วยดิบ ตะไคร้ มะเขือเทศ มะม่วง แคบหมู แต่ไม่มีมะพร้าวคั่วและกุ้งแห้งอย่างเมี่ยงคำ น้ำเมี่ยงโค้นทำจากน้ำตาล น้ำมะขามเปียก กะปิ น้ำปลาร้า เคี่ยวจนเหนียวพอดีตักราดแล้วไหลได้

กระต่ายที่รอพวกเราอยู่ก่อนแล้วเล่าให้ฟังว่าคนเชียงคานจะกินเมี่ยงคำกันเป็นประจำ ซึ่งเราก็เห็นจริง เพราะตลอดระยะทางบนถนนคนเดินที่ผ่านมามีร้านเมี่ยงคำวางขายอยู่เต็มไปหมด ส่วนเมี่ยงโค้น ที่แปลว่า เมี่ยงคำใหญ่ มีเครื่องเยอะกว่า ก็จะทำให้โอกาสพิเศษ แม่ติ๋ม ชาวบ้านในชุมชน เล่าเสริมถึงวิถีวัฒนธรรมให้เราฟังว่า “ผู้เฒ่าจะบอกว่ากินเมี่ยงต้องกินให้ครบ 3 คำ ไม่อย่างนั้นจะท้องเสีย” เป็นภูมิปัญญาในสำรับที่น่าสนใจ แต่ไม่ต้องห่วง เพราะคนฟังกินเกิน 3 คำอยู่แล้ว

ส่วนในทางแพทย์แผนไทย กระต่ายบอกกับเราอีกว่า การกินเมี่ยงคำหรือเมี่ยงโค้นนี้มีประโยชน์ต่อสุขภาพมาก โดยเฉพาะเมี่ยงโค้นที่มีรสของเครื่องเมี่ยงหลากหลายช่วยปรับสมดุลธาตุในร่างกายให้สมดุลได้ดี ตามแนวคิดเรื่องแพทย์แผนไทยที่อ้างอิงสรรพคุณของฤทธิ์ยาจากรสชาติของตัวยาทั้ง 10 รส ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ออกแบบอาหารเพื่อสุขภาพได้ โดยที่ทางเชียงคานและจังหวัดเลยก็ตั้งใจให้เมืองเลยเป็นจังหวัดที่มีการขึ้นทะเบียนรับรองร้านอาหารเป็นยา จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้มากที่สุดในประเทศ นับว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่น่าสนใจมาก และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดในการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างชัดเจน

นอกจากเรื่องความสะอาดปลอดภัยและอาหารเป็นยาแล้ว ทางเชียงคานร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์เมนูอาหารตำรับเก่าแก่ที่ใกล้สูญหาย มาทำเป็นสำรับอาหารเพื่อส่งต่อภูมิปัญญาอีกด้วย ในวันนั้นเราได้ลิ้มลองทั้งส้มตำหลวงพระบาง ตรงนี้ไม่ต้องแปลกใจเพราะว่าแท้จริงแล้วคนเชียงคานก็คือคนหลวงพระบางในอดีตที่ข้ามฝั่งมาตั้งรกรากสร้างบ้านสร้างเมืองอยู่กันนั่นเอง มีของกินเล่นแกล้มส้มตำอย่างกุ้งฝอยแม่น้ำโขงเสียบไม้จี่ ปูนา หอยนาเสียบไม้จี่ รสชาติเค็มหวานปะแล่มแกมนัว รู้ตัวอีกทีหมดไม้ 

และมีเมนู ‘ส้าปลาเคิง’ ซึ่งถูกยกให้เป็น The Lost Taste Menu คือเมนูที่ใกล้จะสาบสูญเพราะไม่มีใครทำ ส้าปลานี้มีรสนัว ทำจากการนำเนื้อปลาเคิง (ปลาคัง) มาสับให้ละเอียด ขยำกับมะนาว แล้วนำไปรวนจนสุก ก่อนนำมาปรุงด้วยตะไคร้สับ หอม กระเทียม ข่า พริกสดซอย แล้วคลุกรวมกัน รสชาติออกแนวแซ่บนัว ๆ แบบไม่จี๊ดจ๊าด กินกับข้าวเหนียวหรือข้าวจี่ แนมยอดมะกอกรสเปรี้ยวฝาดแล้วครบรสลงตัว แล้วยังมีต้มปลาเคิงแบบอีสาน ส้มหมูย่าง ไข่คั่วผักชีลาว แจ่วบองเชียงคานที่ไม่ใส่ปลาร้า ข้าวจี่และข้าวเหนียว ให้เลือกกินเลือกฟินได้ตามชอบ

คุณหมอหนอยแน่-นันทะกานต์ ขาวดา แพทย์แผนไทยประจำหน่วยงาน ซึ่งนั่งร่วมสำรับกับเราเล่าให้ฟังว่า เมนูอาหารเหล่านี้ ในช่วงที่ทำ Sandbox เชียงคาน จะเสิร์ฟให้นักท่องเที่ยวโดยปรับเป็นรูปแบบกล่องเพื่อให้ตรงกับมาตรฐาน SOP ที่กำหนดไว้ แต่ทุกคนยังจะได้สัมผัสกับรสชาติอร่อยฉบับเชียงคานกันแบบครบถ้วน เช่นเดียวกับเราวันนี้ที่อิ่มแปล้แล้ว ก็เข้าสู่ที่พักและหลับฝันดี ณ ‘บ้านต้นโขงเกสต์เฮาส์ เชียงคาน’ ของเบญที่เอื้อเฟื้อให้เราเข้าพักฟรี ตรงนี้ต้องขอบคุณเบญมาก ๆ 

สุขภาพดีวิถีไทยที่ชีวาดีคลินิกแพทย์แผนไทย และบ้านสวนพอเพียง พอเพลิน เพื่อสุขภาพ

เช้าวันถัดมา ไอซ์บอกเราว่าให้ตื่นมาดูกิจกรรมตักบาตรข้าวเหนียวของคนเชียงคานและนักท่องเที่ยว ที่บริเวณหน้าวัดศรีคุนเมือง เราตั้งนาฬิกาปลุกแต่เช้า พอไปถึงเห็นพระสงฆ์กำลังเดินมารับบาตร ทันใดนั้นฝนก็ตกลงมาหนักเอาเรื่อง ทั้งโยมทั้งพระต้องพากันหลบฝนกันจ้าละหวั่น แต่นั่นก็ทำให้ได้เห็นวิถีชีวิตในฤดูที่แตกต่าง ท่ามกลางความศรัทธาต่อศาสนาที่ยังไม่คลอนแคลนไปของคนที่นี่ เป็นอันว่าภาพสวย ๆ ของการตักบาตรข้าวเหนียวที่ตั้งใจจะมาเก็บนั้นฟาวล์ไป 

เราจึงกลับที่พัก เก็บของแล้วมุ่งสู่จุดหมายถัดไป คือ ‘ชีวาดีคลินิกการแพทย์แผนไทย และบ้านสวนพอเพียง พอเพลิน’ ซึ่งอยู่ห่างจากถนนคนเดินเพียง 5 นาที สถานที่ร่มครึ้มเต็มไปด้วยต้นไม้ ฉันเองพอมีคลังความจำเกี่ยวกับต้นไม้จากสมัยที่เรียนแพทย์แผนไทยหลงเหลืออยู่บ้างจึงมองออกว่า ต้นไม้ส่วนใหญ่ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นต้นสมุนไพร 

ไม่นาน คุณหมอวิทย์-สุวิทย์ นามแสง ผู้เป็นเจ้าของชีวาดีคลินิก และ ก้อย-ดุจหทัย นาวาพานิช ภรรยา และยังเป็นเจ้าของ ‘บ้านสวนพอเพียง พอเพลิน’ ก็ออกมาต้อนรับพวกเรา 

เดิมคุณหมอวิทย์เรียนจบด้านพัฒนาชุมชน และเรียนจบปริญญาโทสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ มช. ทำงานเป็น NGO ขับเคลื่อนสังคมเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ได้สัมผัสถึงความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เห็นว่าคนจนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงยาและการรักษาโรค จึงอยากเรียนแพทย์แผนไทยเพื่อนำความรู้มาส่งต่อและช่วยให้ชาวบ้านพึ่งพาตัวเองด้วยธรรมชาติ 

ตัดมาทางก้อยผู้เป็นภรรยา เธอเล่าว่าหลังเรียนจบพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากรั้วธรรมศาสตร์ และไปต่อ MBA จากสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมารับช่วงต่อกิจการรีสอร์ตของครอบครัวที่เกาะเสม็ด ช่วงหลังเริ่มเบื่อกับธุรกิจรีสอร์ตเพราะทำมานาน จึงมาเที่ยวเชียงคานแล้วชอบ เห็นว่าเป็นเมืองที่เงียบแต่ไม่เหงา จึงเปิดธุรกิจเกสต์เฮาส์ขึ้นที่นี่ ตอนนั้นแต่งงานกับคุณหมอวิทย์แล้ว และเริ่มมาซื้อพื้นที่บ้านสวนเพื่อทำสวน ขณะเดียวกันก็เลิกทำกิจการที่เกาะเสม็ด ตัดสินใจมาอยู่เชียงคานโดยถาวร เพราะคุณหมอวิทย์เองก็ชอบความสงบ อยากเกษียณตัวเองและต้องการช่วยเหลือผู้คนในบทบาทของแพทย์แผนไทย

ความน่าสนใจของสถานที่แห่งนี้ คือคลินิกการแพทย์แผนไทยจดทะเบียนถูกต้องตามหลักกระทรวงสาธารณสุขทุกประการ แต่เป็นการจดทะเบียนแบบไม่รับผู้ป่วยพักค้าง ทว่าในพื้นที่เดียวกันยังมีบ้านสวนพอเพียง พอเพลิน เพื่อสุขภาพที่พี่ก้อยดูแล หากมีคนที่เดินทางไกลเพื่อมารับการรักษาก็พักค้างในส่วนของฟาร์มสเตย์ได้ 

ซึ่งบ้านสวนพอเพียง พอเพลิน ได้รับมาตรฐานฟาร์มสเตย์เพื่อสุขภาพ คะแนนเป็นอันดับ 1 ระดับประเทศ และเป็นต้นแบบฟาร์มสเตย์เพื่อสุขภาพระดับประเทศ คัดเลือกและมอบรางวัลโดยกรมการท่องเที่ยวฯ ก้อยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ส่งประกวดก็ไม่คิดว่าจะชนะ เพราะมีฟาร์มสเตย์หลายที่ส่งกันเยอะ แต่สาเหตุที่คิดว่าเป็นจุดสำคัญ คือในพื้นที่นี้มีชีวาดีคลินิกที่มีแพทย์แผนไทยคอยอธิบายถึงเหตุผลเรื่องการใช้สมุนไพรและประโยชน์ที่แท้จริงเรื่องสมุนไพรได้อย่างชัดเจนนั่นเอง 

หากจะมารักษาสุขภาพที่คลินิกแพทย์แผนไทยที่ชีวาดีคลินิก วอล์กอินเข้ามาได้ ซึ่งการรักษาเป็นไปตามมาตรฐานแพทย์แผนไทย มีห้องยาสมุนไพรแยกจากคลินิก จ่ายยาสมุนไพรไทยเพื่อรักษาอาการ ก่อนมาอาจโทรศัพท์ถามก่อนว่าคุณหมอวิทย์อยู่หรือไม่ 

ส่วนใครต้องการทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับบ้านสวนพอเพียง พอเพลิน เพื่อสุขภาพ หรือต้องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ต้องจองก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน การมาเที่ยวที่นี่จะให้อารมณ์คล้ายศูนย์เรียนรู้ มีคอร์สต่าง ๆ เช่น จัดดอกไม้ ย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ ทำ Eco Print ดำนาเกี่ยวข้าว เรียนรู้เรื่องอาหารเป็นยา อาหารเพื่อสุขภาพ อย่างวันที่เราไปเยือน ก้อยนำเมนูอาหารว่างอย่าง Non NCDs Cup และน้ำตรีผลาขิง โซดา น้ำผึ้ง มะกรูด มาให้ชิมเพื่อให้ได้เห็นภาพเกี่ยวกับเรื่องของอาหารเชิงสุขภาพที่พูดถึง และยังมีคอร์สสุขภาพจากการผสานงานของทั้ง 2 ส่วนให้เลือกมาอบรมอีกด้วย

คุณหมอวิทย์เล่าว่า ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ตอนนั้นคลินิกยังไม่ได้ร่วมงานกับ Sandbox เชียงคาน แต่ด้วยความเป็นแพทย์แผนไทย วิทย์เลือกที่จะผลิตยาสมุนไพรในกลุ่มที่ช่วยป้องกันรักษาโรคได้ เช่น ยาฟ้าทะลายโจรหรือยาห้าราก (เบญจโลกวิเชียร) เซตยาสมุนไพรสำหรับนำไปสุมเพื่อรักษาระบบโรคทางเดินหายใจ แจกจ่ายไปยังบ้านที่มีการติดเชื้อ โดยใช้ทุนของตนเอง ทำไปสักพักทาง อพท. เห็นในความตั้งใจดี จึงมอบทุนสนับสนุน ซึ่งตนก็เลือกที่จะนำเงินนั้นมาผลิตสื่อวีดิทัศน์รณรงค์เรื่องการป้องกันตัวจากโรคโควิดชื่อโครงการ ‘เชียงคานสบายใจ’

กระต่ายกล่าวเสริมว่า ช่วงแรกที่ทำ Sandbox เชียงคาน เธอก็ยังไม่รู้ว่าในเชียงคานมีคลินิกแพทย์แผนไทยที่ได้มาตรฐาน จึงมาทำความรู้จักกันและเห็นว่าสถานที่สร้างมาตรฐานความปลอดภัยเอาไว้อย่างดี แถมยังมีเป้าหมายที่ต้องการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด จึงได้สนับสนุนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวภายใต้โครงการ 

“ช่วงทำ Sandbox เชียงคาน ชีวาดีรับนักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพกัน นักท่องเที่ยวก็ชอบนะคะ มีกิจกรรมเพื่อสุขภาพตามแบบแพทย์แผนไทยหลายอย่างที่จัดขึ้นให้ได้เรียนรู้และป้องกันสุขภาพจากยาสมุนไพรกันไปด้วย”

ป้าดตง ประเพณีเลี้ยงผีบรรพบุรุษของคนไทดำให้ปกปักรักษายามวิกฤต

ในเส้นทางเดียวกันจากชีวาดีคลินิกแพทย์แผนไทย กระต่ายและทีม สสจ.เลย พาเราเดินทางสู่ ‘บ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ’ แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชนของชาติพันธุ์ไทดำ นาป่าหนาด โดยมีแม่เฒ่าและเด็ก ๆ ในชุดไทดำมาต้อนรับด้วยน้ำฝางต้มใบเตย พร้อมการร่ายรำของชนเผ่า

เราได้พูดคุยกับ ดร.เพชรตะบอง ไพศูนย์ เจ้าของรางวัลนาคราช ด้านวัฒนธรรมฯ ถึงเรื่องผลกระทบของชุมชนในช่วงที่เกิดโควิด และข้อดีเมื่อเกิดโครงการ Sandbox เชียงคาน โดยท่านให้ความเห็นว่า

“การได้รับความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัวและดูแลสุขภาพต่าง ๆ เพื่อให้ปลอดภัยต่อโรคระบาดจากทางทีมงานสาธารณสุข เป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะช่วยให้คนในชุมชนเข้าใจและรู้จักวิธีดูแลตัวเองรวมถึงคนใกล้ชิด การสร้างมาตรฐานต่าง ๆ ก็ทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจเมื่อมาเยือนในพื้นที่ ขณะเดียวกันเราก็มั่นใจว่านักท่องเที่ยวที่ผ่านการคัดกรองจากมาตรฐานที่โครงการ Sandbox เชียงคาน กำหนดไว้ ก็จะต้องปลอดภัยกับคนในชุมชนด้วยเช่นกัน”

นอกจากนี้ ดร.เพชรตะบอง ยังเล่าถึงการใช้พิธีกรรมสำคัญทางความเชื่อตามแบบคนไทดำ อย่าง ‘พิธีป้าดตง’ หรือการเลี้ยงวิญญาณบรรพบุรุษเชิญให้มากินอาหารเครื่องเซ่นที่เตรียมไว้ในห้องเฉพาะทุก 5 วัน สำหรับบุคคลที่เป็นตระกูลผู้นำ และ ทุก 10 วัน สำหรับบุคคลทั่วไป และขอให้บรรพบุรุษช่วยปกปักรักษาเวลาที่มีวิกฤตมาเยือน ซึ่งได้ผลทางจิตใจของผู้คน

ฟังแล้วรู้สึกดีที่ผู้นำชุมชนหยิบยกภูมิปัญญาท้องถิ่นขึ้นมาช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้คนในชุมชน และหน่วยงานภาครัฐก็เล็งเห็นความสำคัญและช่วยสนับสนุน ให้วิถีความเชื่ออันงดงามนี้ยังดำรงอยู่ได้ 

นี่คือการตามรอยรูปแบบท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเชียงคาน ภายใต้มาตรการ Sandbox เชียงคาน ที่เราได้เข้าไปสัมผัส และเมื่อลองจินตนาการดูว่า หากระหว่างเที่ยวมีการระบาดของโรคโควิดหรือโรคอะไรสักอย่าง แต่เมืองที่เราท่องเที่ยวอยู่คือเชียงคาน ซึ่งมีมาตรการที่เป็นมาตรฐานคอยรับรองความปลอดภัยขนาดนี้ นักท่องเที่ยวอย่างเราก็คงรู้สึกอุ่นใจไม่ปริวิตก

ผู้คนให้ความร่วมมือคือพลัง วิสัยทัศน์และคุณภาพของผู้นำสำคัญที่สุดเมื่อมีวิกฤต

จบกิจกรรมที่บ้านพิพิธภัณฑ์บ้านไทดำ เราไหว้ลาทีมงาน สสจ.เลย หน่วยงานแพทย์แผนไทย ที่ดูแลพวกเราอย่างดีตลอดทริป ก่อนจะมุ่งหน้ากลับบ้าน ฝนตกตลอดทางที่ล้อหมุนจากเชียงคาน ชวนให้นึกถึงการสัมภาษณ์ที่ฉันถามกระต่ายว่า อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Sandbox เชียงคาน สำเร็จ พวกเธอตอบเรามาว่า

“เบญมองว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้เพราะผู้คนที่ร่วมมือกันค่ะ Sandbox เชียงคาน มันเหมือนเป็นสิ่งเร้าทำให้เกิดการคิดร่วมทำร่วม อยู่ร่วมกัน ทุกภาคส่วนรับฟังกัน เชื่อว่า ถ้ายังรักษาการทำงานแบบนี้เอาไว้ สร้างความเข้าใจกันไปเรื่อย ๆ ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน ต่อให้รัฐบาลเปลี่ยนกี่ชุด ทุกอย่างในเชียงคานอะไรก็ Win ค่ะ” 

“สำหรับพี่ต่าย พี่เห็นด้วยกับที่เบญพูด และอีกอย่างที่สำคัญมากคือผู้นำที่มีคุณภาพค่ะ วิกฤตนั้นพวกเราโชคดีที่ท่านผู้ว่าฯ จะนั่งหัวโต๊ะบัญชาการ นำเสนอต่อคณะกรรมการระดับชาติ ท่านเข้ามาเองเลยแล้วก็หนุนเราเต็มที่ สั่งการทุกภาคส่วนเพราะว่าท่านมีอำนาจสูงสุด ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดก็สนับสนุนเรา หากไม่เป็นเช่นนั้นพวกเราคงทำงานลำบาก

“อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือความสู้ยิบตาของทีมผู้ปฏิบัติงาน ทั้งทีมงานของ สสจ.เลย กลุ่มงานแพทย์แผนไทยและที่ไม่ใช่แพทย์แผนไทย อย่างหมอหนอยแน่ที่เคียงบ่าเคียงไหล่ช่วยทำเอกสารทั้งหมด เรามีความสามัคคีกัน ช่วยกันอย่างเต็มที่ รวมถึงเบญที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา ต้องขอบคุณมากที่ไม่เคยทิ้งกัน และผู้อยู่เบื้องหลังอีกหลาย ๆ คนที่ไม่ได้เอ่ยถึง ทำให้งานขับเคลื่อนไปได้อย่างสำเร็จลุล่วง แล้วดูสิคะว่ามาถึงวันนี้ ความเหนื่อยยากที่เราสู้กันมานั้นส่งผลดีต่อเชียงคานมากมายเพียงใด สิ่งที่ลงแรงลงใจไปทั้งหมดพวกเราไม่ได้เหนื่อยเปล่าค่ะ” (ยิ้มกว้าง)

ขอบคุณ

คุณกระต่าย-วัชรี แก้วสา และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และทีมงาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลยทุกคน ทั้งคุณหมอหนอยแน่ น้องไอซ์ พี่จอย ช่วยอำนวยความสะดวก เอื้อเฟื้อข้อมูล และช่วยประสานงาน 

คุณเบญ-เบญจมาภรณ์ ฉัตร์คำ เอื้อเฟื้อที่พัก ณ บ้านต้นโขงเกสต์เฮาส์ เชียงคาน ให้หลับสบาย

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

กานต์ ตำสำสู

กานต์ ตำสำสู

หนุ่มใต้เมืองสตูลที่มาเรียนและอาศัยอยู่อีสาน 10 กว่าปี เปิดแล็บล้างฟิล์ม ห้องมืด และช็อปงานไม้ อยู่แถบชานเมืองขอนแก่น คลั่งไคล้ฟุตบอลไทยและร็อกแอนด์โรล