คุณชายถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เคยให้คำแนะนำกับ อ๊อด-ภูมิพัฒน์ บุณยรัตพันธ์ ผู้สืบทอดสูตรขนมอบของร้านสนั่นเบเกอรี่รุ่นที่ 2 ไว้ว่า อยากให้ทำขนมสูตรดั้งเดิมของร้านไว้ ไม่ต้องเปลี่ยนไปตามกระแส ที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นพัก ๆ
ร้านสนั่นเบเกอรี่เป็นร้านที่ตั้งขึ้นมาโดย คุณสนั่น บุณยรัตพันธ์ ช่างทำขนมปังที่เคยได้เรียนรู้จากเชฟขนมปังฟิลิปปินส์ ก่อนจะมาทำร้านเป็นของตัวเองตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ร้านขนมปังห้องแถวหลังตลาด อ.ต.ก. เป็นที่รู้จักและชื่นชอบจากลูกค้า เป็นร้านขายขนมปังแรก ๆ โดยนักอบขนมปังคนไทยที่ได้รับความนิยมมาก เพราะเมื่อก่อนนี้ เวลาจะกินขนมปังแบบฝรั่งที่ไม่ใช่อาหารหลักของบ้านเรา จะหาได้เฉพาะตามโรงแรม
“สมัยก่อนบ้านเรายังมีแต่ร้านขนมปังที่เป็นฝีมือคนจีน เป็นพวกขนมอบอีกแบบ อย่างเช่นขนมเปี๊ยะ ยังไม่ค่อยมีขนมปังแบบฝรั่งที่ทำร้านขายขนมปังโดยเฉพาะ ตอนนั้นจะมีลิตเติ้ลโฮม เบเกอรี่เจ้าแรกที่ทำ มีช่างทำขนมปังเป็นคนฟิลิปปินส์ เขาเคยเป็นเมืองขึ้นของสเปน เพราะฉะนั้นเลยมีความรู้ในการอบขนมปัง เขามีวัฒนธรรมการกินแบบตะวันตก คนฟิลิปปินส์เลยเหมือนเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมเบเกอรี่ของบ้านเราเหมือนกัน


“คุณพ่อก็เคยทำในครัวของลิตเติ้ลโฮม ถือเป็นลูกจ้างคนไทยคนแรก อยู่กับลิตเติ้ลโฮมมา 13 ปี เลยได้เรียนรู้จากช่างชาวฟิลิปินส์มามาก แล้วก็ออกมาทำกิจการของตัวเองตอนผมเกิด แต่ยังไม่ได้เปิดหน้าร้าน ทำขายส่งตามโรงเรียน”
หลายสิบปีก่อนอ๊อดไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น และกำลังจะเข้าเรียนต่อทางด้านวิศวกรรม แต่ได้แรงบันดาลใจจากการเดินไปพบร้านเบเกอรี่ร้านหนึ่งที่ญี่ปุ่น เลยคิดอยากกลับมาสืบทอดธุรกิจของที่บ้านต่อ และน่าจะพัฒนาได้
“ช่วงหนึ่งมีคนญี่ปุ่นเคยชวนไปเรียนและฝึกทำขนมที่ฟุกุโอกะ ไปอยู่กับเขาหลายเดือน ฝึกทำขนม ทำเค้ก จนเราทำเบเกอรี่สไตล์ญี่ปุ่นเป็น ตอนกลับมาทำงานกับที่บ้าน เราก็ฟิตอยากทำขนมแบบที่เรียนมาเพิ่มให้กับร้าน อยากทำร้านเบเกอรี่สวย มีตู้ขนมญี่ปุ่นต่างหากของเราเอง

“วันหนึ่งคุณชายถนัดศรีนั่งคุยกับผมสองคน ท่านแนะนำว่าน่าจะทำขนมแบบที่คุณพ่อทำต่อ มันจะอยู่ได้นานกว่า และช่วยสืบทอดสูตรของที่บ้านด้วย วันนั้นผมเลยตัดสินใจไม่ทำขนมสไตล์ญี่ปุ่นต่อ อีกสาเหตุหนึ่งคือในสมัย 20 – 30 ปีก่อน วัตถุดิบทำขนมแบบญี่ปุ่นในไทยไม่ได้หาง่ายเหมือนสมัยนี้ ก็เลยทำขนมแบบเดิมของร้านและอยากพัฒนาให้ดีขึ้น
“สมัยก่อนที่บ้านไม่มีการชั่งตวงวัด คนงานใช้ประสบการณ์ในการกะกันคร่าว ๆ ทำทีละเยอะ ๆ แต่พอจะต้องทำจำนวนน้อยก็กะไม่ค่อยถูก เราเลยเปลี่ยนใหม่ ทำสูตรของคุณพ่อให้ชัดเจนขึ้น อีกอย่างหนึ่งพอมีสูตร ก็จะคิดต้นทุนต่อชิ้นได้ถูกด้วย”


สนั่นเบเกอรี่ยังดำเนินกิจการต่อเนื่องมากว่า 50 ปี จนถึงปัจจุบัน หลาน ๆ ที่เป็นรุ่นที่ 3 ของร้านช่วยกันรีแบรนดิ้งให้ร้านของคุณตาใหม่ หน้าตาของแบรนด์ Sanan Bakery1968 และการตกแต่งร้าน กลายเป็นคาเฟ่ที่ร่วมสมัยขึ้น และอยากให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มวัยรุ่น-คนรุ่นใหม่ โดยยังคงมีน้าอ๊อดของหลาน ๆ เป็นคนช่วยทำขนมให้กับร้านใหม่ด้วย
“เราอยากพิสูจน์ด้วยว่าขนมแบบที่เราทำ ยังอยู่ร่วมในยุคนี้ได้ไหม แต่ก็เชื่อว่าต้องมีคนที่ยังชอบกินอยู่ เหมือนที่หลานทำคาเฟ่ แล้วมีกาแฟสเปเชียลตี้ เราก็คิดว่ามันต้องมีคนที่ยังชอบกินโอเลี้ยงและกาแฟโบราณอยู่ดี เพียงแต่ว่าเรามาทำให้ขนมมันดีขึ้นได้อีก ใช้วัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม แต่หน้าตาไม่เปลี่ยนไป เพราะหลาน ๆ เขาอยากเอาขนมของคุณตามาขาย เราก็เห็นด้วย เลยมาช่วยทำคาเฟ่นี้” น้าอ๊อดของหลาน ๆ เล่า
เปิดร้านไปได้ไม่นานก็พอจะเริ่มเห็นว่า ขนมอบแบบสมัยก่อน ยังคงอยู่ในความนิยมของคนในยุคนี้ได้ มีคนที่ยังชอบ และให้ความสนใจเบเกอรี่แบบคลาสสิกอยู่มาก
Sanan Bakery1968 เป็นคาเฟ่ที่มีจุดแข็งเรื่องการอบขนมปังแบบสดใหม่ ออกจากเตาอุ่น ๆ แล้วพร้อมเสิร์ฟได้ทันทีวันต่อวัน มีขนมที่ไม่เหมือนใคร ต่างจากคาเฟ่อื่น ๆ และแทบไม่มีใครทำได้หรือขายในคาเฟ่แล้วในทุกวันนี้

มีกาแฟแบบสเปเชียลตี้และเครื่องดื่มที่รุ่นหลายช่วยกันเลือกและคิดมาเป็นอย่างดี ที่สำคัญ ยังเป็นการสืบทอดสูตรขนมอย่างยาวนานมาถึง 3 รุ่นด้วย
นอกจากความอร่อย ขนมแต่ละชิ้นก็ยังมีเรื่องราวที่อ๊อดเล่า และทำให้นึกย้อนไปถึงภาพวันเก่า ๆ ได้

พายไก่
“ตอนมาบุญครองเปิดใหม่ ๆ แม่ของผมไปเดินที่นั่น แล้วไปเห็นตู้พายยี่ห้อป๊อปอาย เป็นพายใส่กล่องกระดาษในตู้หมุนอุ่นร้อนตลอดเวลา คิดว่าน่าสนใจดี เลยกลับมาลองทำเองบ้าง ผัดไส้ ใส่นมสด ถั่วลันเตา แครอท ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ จนได้ไส้พายเป็นสูตรของสนั่นเอง จนถูกปากลูกค้า และแม่ต้องเป็นคนผัดเอง ไม่ยอมให้ใครทำเลย ผมยังเก็บไว้”

พายสตูว์ไก่
“ทำขึ้นตอนที่ไปเยี่ยมคุณชายถนัดศรีที่โรงพยาบาล ท่านชอบกินพายเห็ด ผมเลยเอาพายเห็ดไปเยี่ยม ได้เจอกับคุณหมึกแดง ลูกชายของท่านที่โรงพยาบาลด้วย เลยได้รับคำแนะนำว่าน่าลองทำพายสตูว์ไก่ดู พร้อมบอกสูตรมาให้เราทำตาม ทำแล้วให้คุณหมึกแดงกลับมาชิม จนรสถูกปาก ก็เลยทำขายมาตลอด รสจะไม่หวาน ออกครีมมี่ และมีกลิ่นสมุนไพรหอม ๆ ของไทม์และโรสแมรี่ มันยังเป็นรสชาติที่ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ยังชอบอยู่”

คิชผักโขมสูตรจานสวย
หากใครรู้จักร้านอาหารจานสวยของ อาจารย์ดนู ฮันตระกูล คงจะจำรสชาติคิชผักโขม เมนูอร่อยของร้านได้เป็นอย่างดี สูตรคิชผักโขมนี้ร่ำเรียนมาจากแม่ครัวของร้านจานสวย ซึ่งคือน้องสาวของอาจารย์ดนูนั่นเอง สูตรคิชผักโขมแบบฝรั่งเศสส่งต่อมาถึงมือของร้านสนั่น ดัดแปลงเล็กน้อยด้วยการใส่เบคอนลงไป แต่รสยังคงเป็นรสเดิมไม่ผิดเพี้ยน
“แต่เดิมเมนูนี้ไม่ได้ทำขายที่หน้าร้านสนั่นเบเกอรี่ จะทำเฉพาะเวลามีคนสั่งเท่านั้น เพราะมันใช้วัตถุดิบราคาสูง ทำให้ราคาที่เราต้องขายให้ลูกค้าสูงตามไปด้วย หรือทำเฉพาะเทศกาลพิเศษอย่างปีใหม่ แต่พอรุ่นหลานทำคาเฟ่ที่กลุ่มคนกินเปลี่ยนไป เลยทำคิชให้กลายเป็นเมนูที่มีขายประจำที่ร้าน เราก็ยังคงเป็นคนทำให้”
Hotdog
“ฮอตด็อกเป็นของที่ร้านเคยทำส่งให้โรงหนัง สมัยก่อนเวลาเราไปดูหนังอย่างลิโด้ สกาล่า ก่อนหนังจะฉายมันจะมีห้องพักขายของกิน มีตู้ขายฮอตด็อกแบบนึ่ง ไว้กินคู่กับน้ำอัดลม สมัยก่อนยังไม่มีป๊อปคอร์นก็จะขายฮอตด็อกห่อกระดาษแทน เมื่อก่อนหนังยาว ๆ หนังควบ ก็จะมีเบรกเข้าห้องน้ำ ซื้อของกิน ฮอตด็อกได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น
“เราทำขนมปังกับไส้กรอก แต่จะพิเศษหน่อยที่เราใส่ผักดองเข้าไปด้วย ใช้มะละกอกับแครอทดองที่เราดองเอง”
(ปัจจุบันไม่ได้ขายแล้ว)


Cone Cream
“ขนมชนิดนี้เป็นขนมชิ้นแรกที่คุณพ่อผมทำ ฝรั่งจะเรียกขนมแบบนี้ว่า Cream Horn แต่เราเรียกว่า Cone Cream ขั้นตอนมันเยอะและยุ่งยาก เดี๋ยวนี้เลยไม่ค่อยมีร้านไหนทำขายแล้ว ไส้ในเป็นคัสตาร์ด เป็นเหมือนซิกเนเจอร์ของร้านสนั่นเบเกอรี่ ใครเห็นขนมชนิดนี้ก็จะนึกถึงร้านเราก่อน”

Sanan Bakery 1968
หลังตลาด อ.ต.ก. ติดประตู4
วัน-เวลาทำการ : 07.00 – 19.00 น. (หยุดวันพุธ)
Facebook : Sanan Bakery – Or.Tor.Kor Market
Instagram : sananbakery1968