ขณะก้าวย่ำไปบนถนนในย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา ในยามบ่ายคล้อย ไอแดดและลมทะเลพัดมาปะทะร่างกาย สองข้างทางอบอวลด้วยกลิ่นอายดั้งเดิมของสถาปัตยกรรม คละเคล้าไปกับกลิ่นโชยจากทะเลสาบสงขลา ผสมผสานกับเสียงอื้ออึงของการพบปะสังสรรค์และเกลียวคลื่นกระทบฝั่ง
ทุกอย่างผนวกรวมให้เกิด ‘มโนภาพของสงขลา’ ทุกครั้งที่เราหวนนึกถึงเมืองท่าเก่าแก่แห่งนี้
แล้วกลิ่นสงขลาเป็นยังไง – เราไม่เคยจินตนาการ
ทว่านั่นคือหนึ่งในคำถามจุดประกายความคิด จนเกิดเป็นแบรนด์เครื่องหอมเล่าเรื่องราวสงขลาผ่านกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการรังสรรค์ของ ป๊อก-กอบลาภ ไทยทัน ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ มะตูม-ธีติ พฤกษ์อุดม ผู้หลงใหลความหอม และมีเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างผลิตภัณฑ์บันทึกความทรงจำในช่วงเวลาของการมาเยือนสงขลาในรูปแบบที่ยังไม่เคยมี ณ ‘SAN Original Scent Store’

ร้านขายความทรงจำ
ร้านเครื่องหอมเปิดใหม่บนถนนนครนอก ตกแต่งด้วยโทนสีดำตัดกับสีครีม ดูเท่และเรียบง่าย นาทีที่ผ่านประตูเข้าไป ความหอมสดชื่นลอยมากระทบประสาทรับกลิ่น กวาดสายตาไปโดยรอบเห็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบนิทรรศการศิลปะ กระตุ้นให้เกิดความสนใจในทันที ต๊อก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า “เริ่มนับหนึ่ง” ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน เนื่องจากทุกอย่างหยุดนิ่ง ทุกคนมีเวลาว่าง จึงรวมตัวกันออกแบบสินค้าที่ระลึกรองรับการท่องเที่ยวภายหลังเปิดเมืองอีกครั้ง


“เราลองคิดว่าถ้ามาเที่ยวสงขลา มีอะไรบ้างที่ได้ยิน ได้กลิ่น หรือลิ้มรส แล้วนึกถึงโมเมนต์ตอนมาเที่ยวได้ มีเสียงเพลง มีอาหาร และอีกสิ่งที่น่าจะสื่อสารได้ดีก็คือกลิ่น เช่น หากเคยไปอินเดีย เมื่อได้กลิ่นกำยานก็จะนึกถึงที่นั่น เราจึงตั้งสโลแกนว่า ‘Memories through the language of scent’ (ความทรงจำผ่านกลิ่น) ที่ SAN เราไม่ได้อยากขายแค่เครื่องหอม แต่เราตั้งใจขายความทรงจำด้วย”

คำบอกเล่าของต๊อกทำให้เราเข้าใจความเป็นมา ในขณะที่การขยายความของมะตูม ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนว่า SAN เกิดขึ้นเพื่อนำเสนอมุมมองของสงขลาในมิติใหม่ ด้วยความที่กลิ่นเป็นเรื่องของประสาทสัมผัส หากมีทั้งรูป รส กลิ่น เสียง ก็จะช่วยเติมเต็มภาพความเป็นสงขลาได้ครบทุกมุมมอง
“กลิ่นมีอิทธิพลมาก บางคนอาจย้อนไปในอดีต บางคนคิดถึงบ้านและคนรัก บางคนนึกถึงความผูกพันกับบางสถานที่ ทำไมเราไม่สร้างให้สงขลามีกลิ่นบางอย่าง ให้คนจดจำและนึกถึงเมืองนี้ในอีกแง่มุม”
แค่เริ่มบทสนทนาเราก็เห็นบุคลิกและเจตจำนงที่ชัดเจนของแบรนด์ในการเล่าเรื่อง ‘เมือง’ เพื่อให้เกิดการจดจำในรูปกลิ่นสัมผัส แล้ว ‘SAN คืออะไร’ นั่นคือประเด็นที่เราอยากรู้และชวนคุยต่อไป
พลังแห่งการสร้างสรรค์
“SAN มาจากภาษาจีน แปลว่า 3” ต๊อกเปรยที่มาของชื่อ
ส่วนมะตูมกล่าวเพิ่มเติมว่า เลข 3 เป็นตัวแทนของความโชคดี ขณะเดียวกันก็ยังหมายถึงพลังแห่งการสร้างสรรค์ และหลายอย่างในความเป็น SAN ประกอบด้วยเลข 3 ไม่ว่าจะเป็น 3 ผู้ร่วมก่อตั้ง 3 กรอบความคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการแปลเรื่องราวออกมาเป็น 3 กลิ่น

“เจอคำว่า SAN ได้ยังไง” เราถามมะตูมต่อด้วยความสนใจ
“จากการกลับไปสำรวจว่าประวัติศาสตร์เมืองเป็นยังไง รากวัฒนธรรมเดิมของตัวเองเป็นแบบไหน อย่างสงขลาบ่อยาง เป็นเมืองที่คนจีนเดินเรือสำเภาเข้ามาค้าขาย เรารู้สึกว่า SAN ในภาษาจีนน่าจะบ่งบอกความเป็นสงขลาได้ดี สื่อความเป็นตัวเราได้ สำคัญคือเป็นคำเรียบง่าย จดจำง่าย และทรงพลัง”
ผลิตผลจากการสั่งสม
SAN เกิดจากส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความหลงใหล ความใส่ใจ และประสบการณ์ของคน 3 คน อันได้แก่ มุมมองในฐานะผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มของต๊อก แนวคิดจากนักออกแบบผลิตภัณฑ์ของป๊อก และแง่มุมทางสุนทรียะจากอาจารย์สอนศิลปะของมะตูม โดยประสบการณ์ที่สั่งสมถูกนำมาใช้ทั้งในเรื่องการจัดการและการดีไซน์ ซึ่งมะตูมเล่าเสริมว่าตนเองได้ใช้ทฤษฎีการออกแบบในบทเรียนมาช่วยสนับสนุนการถ่ายภาพ ทั้งการวางแนวคิด อารมณ์ และโทนสี

“เราอยากให้สงขลามีความหลากหลายมากขึ้น ให้คนอยากมาและรู้ว่ามีอีกหลายอย่างน่าตื่นเต้น เราจึงใส่รหัสบางอย่างในภาพ ให้รู้สึกว่ามีกลิ่น มีความรู้สึก และมีความลึกลับ เพื่อกระตุ้นความอยากรู้ พี่ต๊อกช่วยดูเรื่องแสง เพราะเรียนเรื่องการจัดการ อย่างอาหาร ก็จะดูภาพ ดูแสงเป็น
“การทำงานของเรา 3 คนมีหลายมุมมอง มันทำให้เราสนุกกับการทำงาน”
สื่อกลางในการสื่อสาร
“ธรรมชาติ ผู้คน และสถานที่ คือแรงบันดาลใจของ SAN”
ต๊อกกล่าวต่อไปถึง 3 แกนหลักในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีการเชิญนักปรุงน้ำหอมมาเดินสำรวจเพื่อออกแบบ ‘กลิ่นสงขลา’ และมีการแปลเรื่องราวจากจังหวะ เวลา และเหตุการณ์ ออกมาเป็นกลิ่นที่มีความเฉพาะตัว ได้แก่ กลิ่น ‘Soul Sumpannee’ บันทึกอารมณ์บรรยากาศขณะทำขนมสัมปันนี ทั้งกลิ่นมะพร้าว น้ำตาลเคี่ยว และแสงแดด กลิ่น ‘Samila Lush’ นำเสนอลักษณะเฉพาะของหาดสมิหลาออกมาเป็นลำดับเหตุการณ์ ตั้งแต่ก่อนเข้าป่าสน ขณะเดินผ่านป่าสน มีการเสียดสีกันของกิ่งใบและแสงแดดส่อง ไปจนถึงชายทะเล และ ‘Nora Shadow’ สื่อสารถึงพลังความศรัทธา บรรยากาศชวนซาบซึ้ง ภายหลังได้เห็นหิ้งโนรา การจุดธูปจุดเทียน การบูชาเหล้าจีน กล่องใส่เทริด รูปนายพราน ในบ้านลูกหลานโนรา

เมื่อได้ 3 กลิ่นที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของเมือง ต๊อกคุยให้ฟังถึงเรื่องชวนแปลกใจ
SAN ไม่ได้เข้าถึงแค่นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย หากยังได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนสงขลา จนกลายเป็นกลุ่มลูกค้าหลักในช่วง 2 เดือนหลังเปิดร้าน โดยมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวประมาณ 30 – 40% และอีก 60 – 70% เป็นคนท้องถิ่นที่ซื้อไปเป็นของฝาก จากเรื่องชวนแปลกใจที่ว่า มะตูมให้ความคิดเห็นค่อนข้างน่าสนใจว่า ‘กลิ่นสงขลา’ อาจไปเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่คนท้องถิ่นเคยพบเจอ จึงอยากให้คนอื่น ๆ ได้รู้จักสงขลาในมุมที่ตนเองคุ้นเคยด้วย และนั่นหมายความว่า SAN มีส่วนไม่มากก็น้อยในการสื่อสารไปถึงคนท้องถิ่นให้เกิดความภูมิใจในความเป็นสงขลา

ส่งเสริมการเดินทางผ่านกลิ่น
“กลิ่นเดินทางยังไง” เราถามเพื่อคลายสงสัย เนื่องจากบ่อยครั้ง SAN มีการสื่อสารออกมาว่า ‘สัมผัสประสบการณ์การเดินทางผ่านกลิ่น’ ซึ่งทั้งต๊อกและมะตูมแยกให้เราเห็นเป็น 2 รูปแบบ คือกลิ่นทำให้เกิดการเดินทางย้อนความทรงจำ ในขณะเดียวกัน กลิ่นชวนให้ออกเดินทางเพื่อสำรวจและค้นหา

“กลิ่นเป็นประสาทสัมผัสทำให้เราย้อนเวลากลับไปในอดีต วันใดเราได้กลิ่นซึ่งร้อยโยงกับเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ภาพความทรงจำเดิมก็จะย้อนกลับมา แต่ถึงแม้จะไม่มีประสบการณ์กับเวลาและสถานที่ กลิ่นก็มีพลังในการกระตุ้นให้เกิดความสนใจใคร่รู้ เช่น เมื่อดมกลิ่น Nora Shadow อาจทำให้เกิดการเดินทางเพื่อไปดูโนราจริง ๆ หรือคนที่ดมกลิ่น Samila Lush อาจไปพิสูจน์ว่าสถานที่จริงเหมือนกับที่เราสื่อสารหรือไม่ ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่สงขลาโดยไม่จำเป็นต้องขึ้นป้ายโฆษณา”

โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวอาจไม่จำกัดแค่หลังย่างเท้าเข้ามาดมกลิ่นสงขลา ณ SAN Original Scent Store เท่านั้น ยังหมายรวมถึงกลุ่มลูกค้าในช่องทางออนไลน์ เนื่องจากมะตูมเห็นโอกาสว่าทั้งภาพถ่ายและการบรรยาย กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ การค้นหา และการเดินทางได้เช่นเดียวกัน
สุนทรียะแห่งกลิ่นสัมผัส
การออกแบบบรรยากาศส่วนร้านค้าชั้นล่างให้เหมือนห้องแสดงงานศิลปะ เชื่อมต่อไปยังส่วนแสดงนิทรรศการที่อยู่ชั้นบน ตลอดจนนิทรรศการ Journey No.1 กระจายตัวจัดแสดงใน 3 สถานที่คือ SAN Original Scent Store ร้าน Studio 55 และ Titan Project คือประเด็นที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษ
“นิทรรศการเกิดขึ้นได้ยังไง” เราตั้งคำถาม
ต๊อกเป็นผู้ให้คำตอบว่า นิทรรศการเป็นโจทย์แรกที่ตั้งใจทำ โดยออกแบบให้มีลักษณะ Hopping อันก่อให้เกิดการเดินทาง คล้ายกับแนวคิด Café Hopping โดยให้ SAN เป็นศูนย์กลาง

“เราเชื่อว่าการเดินทางจะทำให้เกิดการกระจายของคน การเปิดร้านในสงขลาไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ และเป็น One Stop Service เพราะเสน่ห์ของเมืองคือการเดินชมบ้านเรือนอาคาร”

แล้วแบรนด์เครื่องหอมกับนิทรรศการศิลปะมันเชื่อมโยงกันยังไง – เราถามต่อ
มะตูมให้คำตอบในฐานะนักศิลปะว่า “คือเรื่องของสุนทรียะ เราไม่ได้มองสุนทรียะเป็นเรื่องความงามอย่างเดียว แต่คือบางอย่างที่ทำให้เกิดประสบการณ์ร่วม เมื่อได้กลิ่น ก็จะเห็นภาพ รู้สึก และเข้าใจว่าเรากำลังพาเขาไปที่ไหน การทำเครื่องหอมก็คือการทำงานศิลปะ หน้าที่ของศิลปะคือการสื่อสารความรู้สึกให้เป็นรูปธรรม ซึ่งนิทรรศการช่วยวาดภาพความเป็น SAN ในความรับรู้ของคนได้สมบูรณ์ขึ้น”
การเริ่มต้นของสงขลา
ท้ายที่สุด สิ่งที่เราอยากรู้คือ ทำไมต้องสงขลา
“เพราะเรา 3 คน เป็นคนสงขลา” ต๊อกตอบกลับในทันที เขามองว่าการปั้นแบรนด์สงขลาให้เป็นที่รู้จัก ย่อมเท่กว่าการเป็นแบรนด์อะไรก็ได้ในกรุงเทพฯ และต้องการแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วความเป็นท้องถิ่นสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเท่ รู้สึกถึงความ Premium Touch และไปต่อได้ในทางธุรกิจ
“เป้าหมายหลัก เราอยากให้คนเข้าใจว่า SAN คือการเริ่มต้นของสงขลา และต้องทำให้คนต่างจังหวัดรับทราบความเป็นเราให้ได้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ หรือในจังหวัดใหญ่ ๆ เพราะการรับรู้ถึง SAN เท่ากับรับทราบความเป็นสงขลาเช่นกัน ที่สำคัญ อยากให้แบรนด์นี้เป็น Soft Power ที่มีการใส่ความสร้างสรรค์ในตัวของสินค้า”

ก้าวต่อไปของ SAN ต๊อกและมะตูมบอกกับเราว่าจะเดินต่อในกรอบความคิดเดิม คือธรรมชาติ ผู้คน และสถานที่ ในขณะเดียวกันอาจมีการเดินทางไปร่วมทำงานกับที่อื่น ๆ ในรูปแบบ SAN on the Journey
“เราอยากคง 3 กลิ่นนี้ไว้ โดยสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อ คือความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงบรรจุภัณฑ์เป็นคาร์บอนฟุตพรินต์ ตลอดจนใช้วัตถุดิบและการผลิตในท้องถิ่น”
ต๊อกและมะตูมมองว่าทิศทางต่อไปของ SAN จะเป็นการสนับสนุนสงขลาโดยแท้จริง
พวกเขากล่าวเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมสัมผัสประสบการณ์การเดินทางไปกับ ‘กลิ่นสงขลา’ ในร้านขายความทรงจำ ณ SAN Original Scent Store บนถนนนครนอก ย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลา
