11 ธันวาคม 2020
13 K

ตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว เมื่อจังหวัดเชียงใหม่เริ่มประกาศตนเป็นเมืองท่องเที่ยว ต้อนรับแขกจากทั่วประเทศและมุมโลก ถนนมุ่งหน้าสู่อำเภอสันกำแพงก็คราคร่ำไปด้วยผู้คนจำนวนมากที่เดินทางเพื่อมาชมภูมิปัญญาของสันกำแพง ตั้งแต่กระดาษสา ร่มบ่อสร้าง งานปั้นเซรามิก ผ้าฝ้าย ผ้าไหม และงานศิลปะอีกจำนวนมาก นั่นจึงทำให้สันกำแพงเป็นที่อยู่ของคนทำงานคราฟต์ฝีมือดีจำนวนมาก

จนถึงวันนี้ ภูมิปัญญาและฝีมือของช่างฝีมือถูกถ่ายทอดลงมาสู่รุ่นลูกและหลาน ตลอดถนนที่มีต้นยางใหญ่ขนาบข้างแห่งนี้มีการเกิดขึ้นของงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ อยู่เสมอ และเป็นงานที่เก็บร่องรอยเดิมของภูมิปัญญาเอาไว้ในบริบทที่ร่วมสมัย ทำให้ปัจจุบันสันกำแพงยังคงมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจเกิดขึ้น

ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจในงานสร้างสรรค์ฝีมือประณีต สันกำแพงจึงเป็นเป้าหมายแรกที่ควรเดินทางไป

Take Me Out ครั้งนี้เราชวนทุกคนขึ้นรถขาว (รถประจำทางสายสันกำแพง เหมือนรถแดงที่วิ่งในเมือง) แล้วไปแอ่วสันกำแพงโต๊ยกั๋น 

1

ชุมชนโหล่งฮิมคาว

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ชุมชนโหล่งฮิมคาวเกิดขึ้นจากความคิดของ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา และสภาลมหายใจเชียงใหม่ ที่ชักชวนเพื่อนๆ ที่ทำงานฝีมือมาร่วมกันซื้อที่ดินบริเวณแม่น้ำคาว แล้วแบ่งที่ดินสร้างบ้านอยู่เคียงข้างกัน อยู่กันฉันญาติมิตร จนเกิดเป็นชุมชนโหล่งฮิมคาว ที่หมายถึงชุมชนที่อยู่ข้างแม่น้ำคาวขึ้นมา และทำให้ชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยงานฝีมือจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้าย้อมครามธรรมชาติ

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่
ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

จากที่นา พวกเขาค่อยๆ สร้างเรือนล้านนาขึ้นมาทีละหลัง เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและอนุรักษ์ภูมิปัญญาการสร้างเรือนเอาไว้ แล้วใช้พื้นที่หน้าบ้านแสดงสินค้าที่มีความเฉพาะตัว สะท้อนเรื่องราวและตัวตนเจ้าของบ้านแต่ละหลัง ต่อมาพวกเขาก็เริ่มส่งไม้ต่อให้รุ่นลูกและหลานได้ดูแล เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงศักยภาพ ทำให้ภายในชุมชนแห่งนี้มีตั้งแต่ตลาดนัดทุกสุดสัปดาห์ รวบรวมงานฝีมือและร้านอาหารน่าสนใจมาขายหน้าชุมชน อย่าง ตลาดฉำฉาที่มี น้ำ-ดวงกมล มังคละคีรี หลานสาวของชัชวาลย์เป็นผู้ดูแล บริเวณเดียวกันมีร้านอาหาร (Meena Rice Based Cuisine) ที่ต้องการสะท้อนคุณค่าของนาและข้าว โดยมีเมนูน่าสนใจอย่าง ‘ข้าว 5 สี’ ที่นำข้าว 5 ชนิด 5 สี เสิร์ฟทานคู่กันกับเมนูต่างๆ ภายในร้านใต้อาคารยุ้งข้าวแบบล้านนา

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

นอกจากนั้นภายในชุมชนยังมีการจัดงานใหญ่เป็นประจำทุกปีในชื่อกาดต่อนยอน เชิญชวนให้ผู้คนได้เข้ามาท่องเที่ยวในชุมชน ได้เลือกชมและทำความรู้จักกับสินค้างานฝีมือจำนวนมาก โดยพวกเขาชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันเปิดตลอดทั้งเส้นถนนในชุมชน และ Chiang Mai Design Week ปีนี้ พวกเขายังเปิดบ้านต้อนรับผู้คนที่สนใจในภูมิปัญญาของพวกเขา ให้เข้ามาเวิร์กช็อปกันตลอดช่วงเวลางานอีกด้วย 

โหล่งฮิมคาว

วัน-เวลา : เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 – 16.00 น.

Facebook : โหล่งฮิมคาว

ตลาดฉำฉา

วัน-เวลา : เปิดบริการทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 09.00 – 15.00 น.

Facebook : ฉำฉา market

2

ชามเริญ สตูดิโอ

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

สตูดิโอปั้นเซรามิกที่เกิดขึ้นมาจาก มิก-ณัฐพล วรรณาภรณ์, บุบ-ชาญชัย บริบูรณ์ และ ใหม่-ธนิตา โยธาวงษ์ 3 เพื่อนจากศิลปากรผู้ชักชวนกันกลับมาทำงานในสิ่งที่เรียนมา หลังจากแยกย้ายกันไปทำงานในสายอาชีพอื่นๆ จนอิ่มตัว พวกเขาเริ่มต้นตั้งสตูดิโอปั้นและขายงานเซรามิกที่กรุงเทพฯ ก่อนมิกตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านในอำเภอสันกำแพง และสร้างสตูดิโอชามเริญเพิ่มในพื้นที่บ้านของเขา

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่
ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ผลงานเซรามิกของชามเริญ มีการนำวัฒนธรรมไทยในอดีตไทยมาต่อยอดให้ร่วมสมัยมากขึ้นอย่างน่าสนใจ เช่น ปิ่นโต ที่พวกเขามองว่า ถ้านำเข้าไมโครเวฟได้คงสะดวกและหลายคนจะหันมาใช้มากขึ้น จึงทำปิ่นโตเซรามิกขึ้นมา หรือแม้แต่แก้วกระดาษใช้แล้วทิ้ง พวกเขาเอารูปทรงของแก้วกระดาษนั้นมาหล่อและปั้นเป็นแก้วเซรามิกที่มีรูปทรงน่าสนใจและน่าใช้ไม่น้อย

นอกจากนั้น มิกยังสนใจจะทำให้สตูดิโอของเขาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวและพัฒนาชุมชนสันกำแพงมากยิ่งขึ้น

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

Chiang Mai Design Week ปีนี้ ชามเริญ สตูดิโอ เปิดพื้นที่บ้านร่วมกับแบรนด์เครื่องประดับ สะพรั่ง (Saprang) และเพื่อนๆ จัดงาน ชามเริญสะพรั่ง พี่น้องและผองเพื่อน ชวนเพื่อนๆ ที่ทำงานฝีมือมาออกบูทแสดงงาน และยังมีเวิร์กช็อปทำน้ำหอม ทำเครื่องประดับจากทองเหลือง ปั้นและลงสีเครื่องปั้นดินเผา แล ย้อมสีจากธรรมชาติ ให้ได้มาใช้เวลา ณ ที่แห่งนี้ทั้งวัน

วัน-เวลา : เปิดบริการวันจันทร์ – วันเสาร์ (ปิดวันอาทิตย์) เวลา 09.00 – 17.00 น.

โทรศัพท์ : 08 3274 7678

Facebook : Charm Learn Studio CNX

3

Saprang Craft Jewelry

‘สตูดิโอผลิตเครื่องประดับทองเหลืองที่จะทำให้ผู้สวมใส่สวยสะพรั่ง’

นี่คือไอเดียที่ ริก้า-สิริการย์ จิรัฎฐ์ภาสกรกุล และ กาเหว่า-สุพจน์ สุวรรณสิงห์ นำมาใช้ตั้งชื่อแบรนด์ของพวกเขา

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ทั้งสองนำแรงบันดาลใจที่ได้จากสิ่งรอบตัวโดยเฉพาะธรรมชาติมาถ่ายทอดเป็นเครื่องประดับ นั่นจึงทำให้งานส่วนใหญ่ของพวกเขามีรูปทรงธรรมชาติ (Organic Form) สะท้อนความสวยงามของธรรมชาติรอบตัว และเป็นเหตุผลให้พวกเขาตัดสินใจสร้างสตูดิโอเคลื่อนที่ เป็นรถพ่วงที่พาพวกเข้าไปพบกับแรงบันดาลใจใหม่ๆ และสร้างสรรค์งาน ณ ที่แห่งนั้นได้ทันที

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่
ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ฝีมือของพวกเขายังการันตีด้วยรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมจาก Design Excellence Award (DEmark) และยังมีโอกาสได้รับเชิญไปแสดงที่งานแฟร์ต่างประเทศ อาทิ Blueprint Singapore, Milan Design Week และ Maison & Objet Paris

ในงาน Chiang Mai Design Week 2020 พวกเขาได้ร่วมกับชามเริญ สตูดิโอ และเพื่อนๆ จัดงาน ชามเริญสะพรั่ง พี่น้องและผองเพื่อน จัดอีเวนต์แสดงงานและเวิร์กช็อปร่วมกันในพื้นที่บ้านของชามเริญ สตูดิโอ ด้วย

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ที่อยู่ 98 หมู่ 7 ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 50130

โทรศัพท์ : 09 6818 1995

Facebook : saprang craft jewelry

4

OUKE

ลองจินตนาการดูว่า คุณในวัย 60 กว่ากำลังทำอะไร สำหรับ วิไล ไพจิตรกาญจนกุล เธอเลือกที่จะพัฒนาฝีมือของตัวเองและทำแบรนด์ใหม่ขึ้นมา

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ชื่อของป้าวิไลอาจไม่ใช่ชื่อใหม่ในวงการออกแบบของเชียงใหม่เท่าไหร่ เพราะเธอคือเจ้าของแบรนด์และโรงงานบัวผัด (Buaphat) ที่ผลิตงานจากผ้าย้อมสีธรรมชาติมามากกว่า 30 ปี โดยนำภูมิปัญญาของพ่อเธอที่เคยเป็นครูสอนทอผ้ามาต่อยอด พร้อมกับนำเศษผ้าเหลือใช้มาสร้างผลิตภัณฑ์ให้ไม่ซ้ำใครในตลาดจนได้รับรางวัลจำนวนมาก อาทิ Good Design Award (G-Mark) จากประเทศญี่ปุ่นถึง 3 ครั้ง

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เธอเริ่มต้นสร้างแบรนด์ใหม่โดยใช้ชื่อว่า OUKE (อุ๊ก) เป็นภาษาคำเมืองที่หมายถึง การบ่ม เพราะผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ของป้าวิไล คือผ้าพิมพ์ลายใบไม้จากธรรมชาติ หรือ Eco Print ที่เกิดจากกระบวนการนำผ้าไปอุ๊กกับใบไม้นั่นเอง

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ป้าวิไลได้แรงบันดาลใจการทำผ้าพิมพ์ลายใบไม้หลังจากเดินไปเห็นใบไม้เปียกเน่าอยู่บนถนนในฤดูฝน ที่แม้จะกวาดออกไป แต่ก็ยังทิ้งลวดลายสวยงามไว้ เธอจึงเกิดความคิดที่จะนำลายเหล่านั้นมาทดลองลงบนผ้า 

เมื่อนึกย้อนไปถึงสมัยเด็กที่เธอได้กินเมี่ยง ใบเมี่ยงที่นำไปหมักแล้วมักนำมาเคี้ยวหรืออมหลังรับประทานอาหาร เพื่อคลายกลิ่นและรสของอาหารที่กินเข้าไปเป็นภูมิปัญญาของคนเหนือ ซึ่งเธอเคยทำน้ำเมี่ยงหกเลอะเสื้อ ไม่สามารถซักออกได้ง่ายๆ เธอจึงนำกระบวนการหมักเมี่ยงมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการนำลายใบไม้พิมพ์ลงบนผ้า จนเป็นสูตรทำ Eco Print เฉพาะตัว และทำให้ผลงานของเธอได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติจำนวนมาก

ที่อยู่ 134 หมู่ 8 ตำบลบวกค้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 50130

โทรศัพท์ : 06 5502 5922

Facebook : OUKE Chiangmai

5

Greenie & Co

Greenie & Co เป็นแบรนด์ผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์ที่เกิดขึ้นภายใต้บริษัท ARS D-SINE ที่มีประสบการณ์ผลิตสินค้าส่งออกต่างประเทศมายาวนานกว่า 20 ปี ของคู่สามีภรรยา ยุ้ย-ปิยรัตน์ ยศธำรง และ เขียว-มรกต ยศธำรง

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

หลังจากทั้งคู่เรียนจบจากมหาวิทยาลัย พวกเขาได้เริ่มต้นลองหยิบวัตถุดิบท้องถิ่น อาทิ กระดาษสา ผ้าฝ้าย ผ้าใบย้อมสีธรรมชาติ ย้อมคราม เครื่องหนัง มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดูเรียบง่ายและใช้งานได้ทุกโอกาส ไม่ตกสมัยหรือดูเชยตามกาลเวลา ตั้งแต่สมุด กระเป๋า หมวก พวงกุญแจ รองเท้า และอีกมาก ตามที่จินตนาการของพวกเขาไปถึง

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ผลงานของพวกเขาได้รับความนิยมอย่างมากจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น และมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ในต่างประเทศไม่น้อย ซึ่งพวกเขามองว่า นี่เป็นโอกาสช่วยให้ผู้ผลิตในชุมชนได้รับการสนับสนุนต่อ

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

โทรศัพท์ : 0 5301 3291

เว็บไซต์ : www.greeniesandco.com

Facebook : Greenies & Co

6

‘Carpenter 

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

แนน-วีรดา ศิริพงษ์ เป็นลูกสาวของพ่อแม่ที่ทำธุรกิจโรงงานแปรรูปไม้เป็นประตู หน้าต่าง วงกบ มายาวนานกว่า 20 ปีของจังหวัดเชียงใหม่ การได้ตามครอบครัวเข้าไปในโรงไม้ตั้งแต่เด็กในที่สุดก็ทำให้ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เมื่อสายตานักออกแบบของเธอได้มองเห็นว่า ทุกวันโรงงานของครอบครัวมีเศษไม้เหลือใช้จากการผลิตจำนวนมาก และถูกทิ้งหรือนำไปใช้เผาเป็นเชื้อเพลิงโดยขายยกกระสอบละ 5 บาทอย่างน่าเสียดาย เธอจึงเริ่มต้นลองหยิบเศษไม้จากโรงงานไปพัฒนาและออกแบบ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ของแบรนด์ ‘Carpenter ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศษไม้เหลือๆ ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่
ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

เธอหยิบเศษไม้มาพัฒนาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ ตั้งแต่กระเป๋า เครื่องเขียน และเครื่องใช้ต่างๆ จนออกมามีหน้าตาน่าสนใจ เปลี่ยนเศษไม้ให้กลายเป็นของมีค่า มีผู้คนอยากใช้ และได้รับรางวัลด้านการออกแบบยอดเยี่ยมในที่สุด

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่


โทรศัพท์ : 09 4343 8315
Facebook : ‘carpenter

7

สยามศิลาดล

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ที่อำเภอสันกำแพงมีหลักฐานปรากฏว่ามีการทำเครื่องปั้นดินเผาในบริเวณนี้มานานมากกว่า 500 ปี ตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนา เหลือร่องรอยไว้ให้เห็นจากเศษเครื่องปั้นดินเผาและเตาเผาโบราณที่ขุดพบกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ จำนวนมาก และว่ากันว่า สันกำแพงคือแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาสำคัญที่ขายไปถึงต่างแดน เป็นสินค้า OTOP ที่มาก่อนกาล และยังได้รับเลือกให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ของจังหวัดเชียงใหม่

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

สยามศิลาดล ที่ก่อตั้งขึ้นโดย เพ็ญพรรณ วังวิวัฒน์ ได้นำภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบฉบับสันกำแพงมาต่อยอด และยังคงใช้กระบวนการผลิตด้วยวิธีธรรมชาติทั้งหมด จึงทำให้เครื่องปั้นดินเผามีเพียงสีขาว ฟ้า และเขียว ซึ่งเกิดขึ้นจากกรรมวิธีการเผาด้วยวัสดุจากธรรมชาติ และมีเอกลักษณ์ตรงลวดลายที่ปรากฏบนพื้นผิวภาชนะ

ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่
ขึ้นเหนือแอ่ว 10 ธุรกิจสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนสันกำแพงเป็นชุมชนงานคราฟต์ของเชียงใหม่

ปัจจุบัน ปอนด์-อนุสิทธิ์ มานิตยกุล หลานชายของเพ็ญพรรณได้เข้ามาช่วยบริหารงานของสยามศิลาดล และปรับทิศทางการผลิตให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดได้ทำงานร่วมกับนักออกแบบ พิบูลย์ อมรจิรพร จาก Plural Designs จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจมากขึ้น เช่น งาน Bamboo Wall ที่นำรูปทรงของไม้ไผ่มาล้อให้น่าสนใจและน่าใช้ การนำรูปทรงกระติ๊บที่คุ้นตาอยู่ในชีวิตประจำวันแต่ละคนมาเป็นต้นแบบของชุดถ้วยกาน้ำชาที่ดูน่ารักมากยิ่งขึ้น และล่าสุดกับ Air Tea Cup ที่มีการออกแบบให้เกิดช่องอากาศระหว่างผิวสองชั้นของภาชนะ ซึ่งส่งผลให้เมื่อจิบชาจับแก้วแล้วไม่รู้สึกร้อนมือ จนได้รับรางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมจาก DEmark Award ค.ศ. 2020 

ที่อยู่ 38 หมู่ที่ 10 ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 50130

วัน-เวลา : เปิดบริการทุกวัน เวลา : 08.30 – 17.00

โทรศัพท์ : 0 5333 1526

Facebook : Siam Celadon Pottery

8

Maiiam Contemporary Art Museum

Maiiam Contemporary Art Museum

ใหม่เอี่ยม คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยของ ฌอง มิเชล เบอร์เดอเลย์ และ อีริค บุนนาค บูซ ผู้เป็นลูกชาย ที่ต้องการนำเสนอผลงานศิลปะจากศิลปินชั้นเยี่ยมของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนที่ได้สะสมไว้ตลอด 30 ปี เปิดให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้ามารับชม และเรียนรู้พัฒนาการของศิลปะร่วมสมัยในภูมิภาค

Maiiam Contemporary Art Museum

ขณะเดียวกัน ทางพิพิธภัณฑ์ยังพยายามนำเสนอผลงานศิลปะร่วมสมัยที่สะท้อนสภาวะสังคมปัจจุบัน ว่าศิลปะทำให้เกิดการตั้งคำถามได้กับทุกเรื่อง ตั้งแต่ภาวะส่วนตัวไปจนถึงระดับสังคม การเมือง ศาสนา ความเชื่อ ผ่านนิทรรศการหมุนเวียนที่จะเปลี่ยนมาจัดทุกๆ 6 – 7 เดือน งานเสวนา และ ฉายวีดิทัศน์น่าสนใจจำนวนมาก ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินในประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อให้ผู้ชมได้เกิดการเรียนรู้และขยายทัศนวิสัยไปสู่ขอบเขตใหม่ๆ 

Maiiam Contemporary Art Museum

วัน-เวลา : เปิดบริการวันจันทร์ – วันอาทิตย์ (ปิดวันอังคาร) เวลา : 10.00 – 18.00 น.

ค่าเข้าชมบุคคลทั่วไป 150 บาท 

นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ราคา 100 บาท ต่ำกว่า 12 ปี ไม่เสียค่าบริการ

เว็บไซต์ : www.maiiam.com

Facebook : MAIIAM Contemporary Art Museum

9

Hand-Kraft Press & Cafe

คาเฟ่สุดเท่ริมถนนสันกำแพงที่ตั้งอยู่หน้าโรงพิมพ์ เป็นคาเฟ่ที่เกิดขึ้นจากไอเดียของคู่รัก หล่ง-ศุภกร แลม และ วิว-จิรนันท์ สุวรรณ ทายาทของโรงพิมพ์สมพรการพิมพ์

Hand-Kraft Press & Cafe

นอกจากบทบาทของการเป็นคาเฟ่เสิร์ฟเมนูกาแฟที่พวกเขาคัดสรรเมล็ดมาอย่างดี ที่แห่งนี้ยังเป็นการต่อยอดงานโรงพิมพ์ของครอบครัว และยังช่วยสนับสนุนศิลปินท้องถิ่น โดยการเข้าไปทำงานร่วมกับศิลปินในการผลิตซีน (Zine) หรือหนังสือทำมือขึ้นมาอย่างน่าสนุก โดยพวกเขาเป็นฝ่ายออกทุนและผลิตให้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดกระแสซีนขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ และได้มีโอกาสนำซีนของศิลปินที่พวกเขาทำงานด้วยไปร่วมแสดงภายในงาน Bangkok Art Book Fair งานรวบรวมหนังสือทำมือที่น่าสนใจที่สุดของประเทศไทย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ Bangkok CityCity Gallery

Hand-Kraft Press & Cafe
Hand-Kraft Press & Cafe

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้โรงพิมพ์ของครอบครัวพวกเขาได้ขยายขอบเขตงานให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเปิดโอกาสให้ศิลปินและนักออกแบบได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการพิมพ์ เพื่อพัฒนาไปสู่ผลงานสื่อสิ่งพิมพ์น่าสนใจ อย่างเทคนิคการพิมพ์ Risograph ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากจากศิลปินทั่วโลก ซึ่งพวกเขาบอกว่า นี่คือเทคนิคที่ใช้มานานแล้วในประเทศไทยสำหรับพิมพ์ซองผ้าป่า และถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่เพื่อรองรับงานพิมพ์ในบริบทที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น

ที่อยู่ 1006 ตำบลสันกำแพง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 50130

วัน-เวลา : เปิดบริการวันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.30 – 16.00 น.

Facebook : Hand-Kraft Cafe

10

Chiang Mai Art Museum

พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของ พรชัย ใจมา ศิลปินศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ประจำ พ.ศ. 2548 ที่ต้องการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ศิลปะขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้น โดยเกิดจากการระดมทุนของศิลปินกับนักสะสมจากทั่วประเทศกว่า 500 คน และจากงานประมูลศิลปะทุกเดือนกุมภาพันธ์

Chiang Mai Art Museum

บนพื้นที่ 55 ไร่ เขาตั้งใจให้ที่แห่งนี้กลายเป็นสถาบันสนับสนุนศิลปะและศิลปินทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ให้มีพื้นที่ในการแสดงงาน รวมถึงพัฒนาผลงานของตนเอง มีพื้นที่ให้ศิลปินได้พักและทำงานศิลปะ และส่วนของพื้นที่จัดแสดงทั้งถาวรและหมุนเวียนที่จะช่วยให้ผู้เข้ามาได้ชมผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมจำนวนมาก

Chiang Mai Art Museum
Chiang Mai Art Museum

ปัจจุบันทางพิพิธภัณฑ์ยังคงอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่งตามแผนที่วางไว้มีทั้งหมด 11 อาคาร และจะเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าชมส่วนที่เสร็จแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป 

วัน-เวลา : เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น. 

Facebook : ChiangMai Art Museum

Writer & Photographer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่