“เมื่อเช้านี้ ทิม คุก ซีอีโอของ Apple มาที่นี่ด้วย”

ออ-อริศรา จักรธรานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทสถาปนิกชื่อ Onion และเจ้าของโปรเจกต์ Samyan CO-OP ทักทายกับเราในบ่ายวันนั้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ทัน ทิม คุก ที่กลับไปแล้วช่วงก่อนเที่ยง

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

Samyan CO-OP คือ Co-Learning Space ตั้งอยู่ในสามย่านมิตรทาวน์ ที่อริศราและทีมร่วมกันสร้างขึ้นจากโจทย์ 3 ข้อ คือ พื้นที่เรียนรู้สำหรับนักเรียนนักศึกษาและคนทั่วไป ไม่เก็บค่าบริการ และเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เธอตีความผ่านการสำรวจพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาที่ชอบออกมานั่งทำงานหรืออ่านหนังสือนอกบ้าน ออกแบบ Co-Learning Space ที่มีพื้นที่อ่านหนังสือหลายรูปแบบ

บรรยากาศ คือสิ่งที่ทุกคนมองหาจากพื้นที่ที่สามสำหรับการอ่านหนังสือและทำงาน ถ้าเดินเข้ามาที่นี่ จะสัมผัสได้ว่ามีลักษณะเป็นกันเองกว่าห้องสมุดทั่วไปที่เรารู้จัก เธอนำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เธอได้รู้จากแบบสำรวจ มาออกแบบการใช้งานที่น่าจะตรงใจผู้ใช้งาน มีมุมนั่งหลายแบบ โต๊ะนั่งพื้น ที่นั่งหันหน้าออกหน้าต่าง โซฟาติดผนัง ไปจนถึงห้องประชุมสีดำน่าเกรงขาม และจุดเด่นคือหน้าต่างบานใหญ่รับแสงที่ทำให้บรรยากาศในนี้เปลี่ยนไปตลอดวัน แต่ Samyan CO-OP ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแค่พื้นที่ให้คนมาใช้งานและกลับไป แต่ออกแบบเพื่อสร้างพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน
Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

และแม้จะมาไม่ทันเจอ ทิม คุก ในตอนสาย แต่เราก็ไม่เสียดายเท่าไหร่หรอก เพราะอริศราบอกว่า…

ช่วงเย็นคือเวลาที่สวยที่สุดของที่นี่

พื้นที่ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง 

“โจทย์ตั้งต้นของ Samyan CO-OP คือพื้นที่สำหรับนักเรียนฟรียี่สิบสี่ชั่วโมง โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะมันก็เป็นได้หลายแบบ คาเฟ่ก็ได้ Co-Working Space ก็ได้ ถ้าเป็นเรื่องเทคโนโลยีทันสมัยก็อาจจะเป็น Media Library หรือจะเป็น Public Working Area เหมือนใต้ตึกคณะตามมหาวิทยาลัย แล้วที่ตรงนี้จะเป็นอะไรล่ะ

“เราเริ่มจากแบ่งฟังก์ชันที่อยากจะมีเป็นสี่อย่าง หนึ่ง ที่อ่านหนังสือคนเดียว (Focus) สอง ที่นั่งอ่านหนังสือเป็นกลุ่ม (Collaborate) สาม ที่พบปะผู้คน (Socialize) และสุดท้าย ที่เรียนรู้ (Learn) สำหรับจัดงานแบบ TED Talks หรืออะไรอย่างนั้น”

คำถามต่อมาคือ จะใช้พื้นที่ยังไง และแต่ละฟังก์ชันจะมีสัดส่วนเท่าไหร่ 

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

“ถ้าทำเป็นห้องสมุด ส่วนที่นั่งอ่านหนังสือคนเดียวจะเยอะ ส่วนอื่นจะเล็กลง ถ้าเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ส่วนที่เป็น Learn ก็จะเยอะ มีที่จัดเสวนา สัมมนาต่างๆ ถ้าเป็นคาเฟ่ ส่วนที่ไว้เข้าสังคมก็มากหน่อย สัดส่วนของฟังก์ชันจะให้คาแรกเตอร์ของพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน”

อริศราตีโจทย์นี้ผ่านการสำรวจความคิดเห็นของเด็กนักเรียนและนิสิตนักศึกษา เริ่มจากคำถามง่ายๆ อย่างเขาชอบอ่านหนังสือหรือทำงานนอกบ้านไหม 

“คำตอบมันน่าตกใจมาก เพราะเกือบครึ่งหนึ่งชอบทำงานอ่านหนังสือนอกบ้าน ซึ่งนั่นคือสามปีที่แล้วนะ ตอนสำรวจคิดว่าอย่างเก่งก็ไม่เกินสี่สิบเปอร์เซ็นต์ ไม่คิดว่าจะครึ่งๆ ทีแรกเข้าใจว่าอาจจะเป็นเด็กหอ อยู่หอไม่มีที่ ไม่สะดวก แต่ไม่ใช่ เด็กทั่วไปนี่แหละ”

“แล้วเขาให้เหตุผลว่าอะไร?”

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

“มีเยอะเลย อันดับหนึ่งคือ เปลี่ยนบรรยากาศ อยู่บ้านแล้วหลับ อ่านที่เดิมๆ ไม่มีสมาธิ เรื่องถัดมาก็มีนัดเจอเพื่อน เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งก็เป็นเรื่องรองต่อจากบรรยากาศ”

ในท้ายที่สุด Samyan CO-OP จึงออกมาในรูปแบบคล้ายกับห้องสมุดที่สุด โดยมีพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือเยอะ เพราะตั้งใจอยากให้เป็นพื้นที่ที่คนมานั่งทำงานหรืออ่านหนังสือ

อาคาร 5 หลังใน 1 สเปซ

Samyan CO-OP ในตอนแรกคือพื้นที่ 2 ชั้นของตึก

“พอเป็นพื้นที่ที่เปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เราเลยอยากให้ทุกที่ในนี้สามารถมองเห็นกันได้หมด ดังนั้น ถ้าเป็นสองชั้น คนข้างล่างก็จะไม่เห็นคนข้างบน เลยรื้อออกให้รวมกันเป็นชั้นเดียว แล้วทำเป็นอาคารห้าหลัง วิธีนี้ปลอดภัยที่สุดเพราะมองเห็นกันหมด แล้วเราออกแบบตามรีเสิร์ชหมดเลย ปกติไม่เคยทำตามนะ (หัวเราะ) แต่ครั้งนี้เราอยากรู้ว่าถ้าลองทำตามรีเสิร์ชดูจะเป็นยังไง”

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

เมื่อรีเสิร์ชบอกว่าคนออกมาทำงานนอกบ้านเพราะอยากเปลี่ยนบรรยากาศ อริศราและทีมจึงใส่ใจทุกรายละเอียด เช่น เลือกใช้ที่นั่งหลายๆ แบบ ทั้งโซฟา เก้าอี้ และการนั่งพื้น เพื่อจะทำให้ที่นี่ไม่เหมือนอยู่บ้าน และการมาที่นี่ในวันนี้ก็จะไม่เหมือนที่มาเมื่อวานหรือวันก่อนด้วยเช่นกัน

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

“เราแบ่งเป็นโซน เพราะสมาธิของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องนั่งเงียบๆ แล้วจะมีสมาธิ คนที่ชอบนั่งในที่เสียงดังๆ ก็มี อาคารห้าหลังนี้จึงแบ่งตามฟังก์ชัน เราเอาห้องที่เงียบที่สุดไปไว้ตรงกลาง ต่างจากที่อื่นที่เขาจะเก็บห้องนี้ไว้หลบๆ อยากให้ส่วนตัว เพราะจากการสำรวจพบว่า คนที่ออกมาทำงานนอกบ้านเขาไม่แคร์ว่าใครจะมอง ไม่รู้สึกเขิน พาร์ตของการเรียนรู้เราทำเป็นขั้นบันได ข้างบนเป็นห้องใหญ่สำหรับเลกเชอร์ ทาสีฟ้าที่ตอนแรกเราอยากใช้สีเขียวมิ้นต์ แต่ทีมวิศวกรกลัวจะหวานไป ข้างล่างเป็นร้านกาแฟ นอกจากนี้ก็มีส่วนของห้องประชุมสามห้อง ใช้สีขาว เทา ดำ สีเข้มจะช่วยให้บรรยากาศซีเรียสกว่าสีอ่อน มีส่วนที่เป็นห้องเลกเชอร์ส่วนตัว แล้วก็มีพื้นที่สำหรับคนที่ต้องการความเงียบจริงๆ เป็นห้องเดี่ยว กับ Skyreading Zone โต๊ะอ่านหนังสือที่มองเห็นวิว แล้วพอมันเปิดตลอดเวลา เราก็เลยเพิ่มฟังก์ชันพวกตู้กดน้ำ ขนม มีบริการน้ำร้อนให้ต้มมาม่า (ยิ้ม)”

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน
Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

เรียนรู้ผ่านงานออกแบบ

สิ่งที่ยากที่สุดของ Samyan CO-OP คือรายละเอียดยิบย่อยที่ไม่ต้องสังเกตก็พอจะเดาได้ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร 5 หลังที่มีฟังก์ชันแตกต่างกัน ห้องเล็กห้องน้อยในมุมต่างๆ ที่มีโจทย์ว่าต้องมองเห็นถึงกัน บันไดนอกอาคารที่ตั้งใจให้เห็นการเคลื่อนไหวของคนตลอดเวลา รวมถึงการจัดการกับการเคลื่อนไหวของคนที่จะมาใช้พื้นที่แห่งนี้ ทางเดินที่ไม่แคบจนเดินไม่สะดวก และไม่กว้างจนสิ้นเปลืองพื้นที่ กลายเป็นว่าทุกตารางนิ้วของพื้นที่นี้ออกแบบมาเพื่อการใช้งานทั้งหมด

“ที่ทำงานในอุดมคติของเราต้องโปร่ง โล่ง สว่าง ด้วยความที่มันเปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง เราเลยพยายามเปิดหน้าต่างให้มากที่สุด ให้มีแสงธรรมชาติ จะได้รู้ด้วยว่ามาทำงาน มาอ่านหนังสือ ใช้เวลาไปนานเท่าไหร่แล้ว หรือถ้าสังเกตจะมีนาฬิกาใหญ่ๆ อยู่ตรงทางเข้าด้วย ซึ่งเป็นความตั้งใจของเรา”

นอกจากความโปร่ง​และความหลากหลายของฟังก์ชันการใช้งานแล้ว สิ่งที่ทำให้ที่นี่พิเศษกว่า Co-Working Space ที่อื่นคือ ความเป็นกันเอง

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

“มันไม่เหมือนการเข้าห้องสมุดที่จะทางการ เกร็ง เราคิดว่าพอเดินเข้ามาที่นี่มันรู้สึกเป็นกันเองกว่า อาจจะเพราะเราออกแบบให้คาเฟ่อยู่ข้างหน้า และการใช้สีฟ้ากับอาคารแรกที่คนจะเห็น มันทำให้ที่นี่อยู่กึ่งกลางระหว่างคาเฟ่กับห้องสมุด”

หลังจากเปิดมาได้ 3 เดือน อริศราเข้ามาสังเกตการณ์เป็นระยะ ได้เห็นขาประจำของ Samyan CO-OP หลายคน และทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า นอกจากเด็กสมัยใหม่จะชอบอ่านหนังสือหรือทำงานนอกบ้านแล้ว ยังอยู่ดึกดื่นจนข้ามคืนเลยไปอีกวันด้วย

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน
Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

“เขาอ่านหนังสือกันแบบข้ามคืนแล้วไม่กลับบ้าน วันแรกที่เปิดก็มีเด็กมาพร้อมไอแพด โน๊ตบุ๊ก มีเสื้อหนาว จะมีคนเดิมๆ อยู่ที่นี่ตลอดเวลา ไม่กลับบ้าน เราเลยไปถามว่าอยู่หอเหรอ เขาตอบว่า เปล่า อยู่บ้าน แต่อยู่บ้านแล้วหลับ อ่านแล้วง่วงก็ไปที่เตียง ไปที่เตียงก็ต้องนอน เลยมาอ่านที่นี่แทน (หัวเราะ) เคยสงสัยนะว่าทำไมเด็กขยันขนาดนี้ นี่อ่านจริงๆ เหรอ หรือจริงๆ มานั่งเล่นเกม แต่เปล่า เขาอ่านจริงๆ”

พื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน

ความเป็นกันเองที่อริศราพูดถึง แสดงอยู่บนกระดานเขียนความในใจขนาดใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ มีทั้งการตัดพ้อขอค่าขนมเพิ่ม ถ้อยคำขอกำลังใจช่วงสอบ เหมือนสมัยก่อนที่เรานิยมเขียนโต้ตอบกันหลังประตูห้องน้ำ 

ความเป็นกันเองที่ว่า ยังรวมไปถึงการที่นักเรียนนักศึกษาที่เข้ามาใช้ช่วยกันเป็นครูใหญ่ คอยสอดส่องดูแลว่ามีใครเสียงดังในห้องเงียบ หรือใครจองโต๊ะแล้วหายไปนาน 

ตั้งแต่ Samyan CO-OP เปิดตัว นอกจากเด็กวัยเรียนที่เข้ามาใช้พื้นที่ ก็ยังมีผู้ใหญ่จากทั้งภาครัฐและเอกชนมาดูเป็นตัวอย่าง เพราะแปลกใจที่เด็กสมัยใหม่ต้องการพื้นที่แบบนี้

“เราอยากให้ทำพื้นที่แบบนี้เยอะๆ เด็กจะได้มีที่ไป ยิ่งอยู่ในห้างยิ่งดี จะได้มีทางเลือก ดีกับเด็ก ดีกับห้างด้วย ได้มีคนมาเยอะๆ เด็กก็จะได้มีที่อ่านหนังสือ ถ้าไม่อยากอยู่บ้านก็ไม่ต้องไปเสียเงิน ไม่ต้องไปนั่งในที่ที่ไม่ปลอดภัย บริษัทเราก็มีโปรเจกต์พื้นที่แบบนี้อีกอันนึง แต่ไม่ได้อยู่กลางเมือง ถ้าสามารถมีแบบนี้ได้ทุกมุมเมืองก็ดีเนอะ”

“จะได้มีที่อื่นนั่งทำงานนอกจากใต้คณะบ้าง”

“ใช่ ใต้คณะยุงกัด (หัวเราะ)”

Samyan CO-OP ห้องสมุดเข้าฟรี 24 ชม. แห่งใหม่ที่จะเป็นได้ทั้งคาเฟ่และที่นั่งทำงาน

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan