มีคนไปเดินเล่นหาของกินที่พาหุรัด สะพานหัน สำเพ็ง แล้วมาเล่าให้ฟัง ก็บอกไปว่า ทำไมไม่มาบอกก่อน จะได้ฝากให้ไปดู ฝากให้ไปกิน ไปเองไม่ได้ ขอฝากก็ยังดี
เมื่อยังเป็นวัยรุ่น ผมเดินแถบนั้นเกือบทุกวัน ทำงานแล้วก็ยังวนเวียนไปอยู่ มาขาดเอาก็สิบกว่าปีมานี่เอง สมัยก่อนในกรุงเทพฯ ไม่มีที่ไหนจะมีอะไรๆ จะครบเท่าที่นั่น อยากได้อะไรมีหมด ยกเว้นทองกับเพชรที่ไม่มีปัญญาซื้อ เดินที่นั่นสนุกทุกครั้ง เดินวันนี้ก็ไม่เหมือนเมื่อวาน หรือพอห่างไปหน่อย ไปอีกทีก็มีของใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
อาจจะมีคำถามว่า ย่านพาหุรัด สะพานหัน สำเพ็ง นั้นสนุกได้อย่างไร ก็ที่นั่นเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์แขก จีน ไทย อยู่ปนๆ กัน ซึ่งแต่ละกลุ่มเขามีวิถีการกิน การอยู่ การค้าขาย ประเพณี สังคม ที่มีความหลากหลาย นั่นก็น่าสนใจแล้ว ยังได้เห็นระบบการอยู่ร่วมกัน มีการพึ่งพา เอื้อเฟื้อกัน เอาตัวอย่างง่ายๆ จะขายอะไรหน้าร้านไหนก็ได้ พูดกันดีๆ ไม่มีปัญหา กลายเป็นเรื่องดีเสียอีก
ตัวอย่างเช่นจะกินกล้วยหักมุกปิ้งต้องแผงที่ขายอยู่หน้าร้านขายผ้า หรือจะซื้อผ้าลายผ้าพื้นสวยๆ ต้องสังเกตที่หน้าร้านมีแผงกล้วยหักมุกปิ้งขาย อะไรทำนองนี้ นี่ยังไม่รวมเรื่องกิน วันไหนมีอารมณ์อยากกินอาหารแขก อาหารจีน หรือขนมแบบไทยๆ ก็มีให้กิน แถมอร่อยอีกต่างหาก
ครั้งนี้เป็นการเอาอดีตมาเล่า ส่วนปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้างนั้นไม่รู้ อยากไปแต่ไปไม่ได้ เอาเรื่องพาหุรัดที่เป็นเมืองชาวซิกข์ก่อน ที่ฝั่งธนฯ มีสี่แยกบ้านแขกแต่ไม่เห็นมีบ้านแขก บ้านแขกอยู่ตรงพาหุรัดนี่เอง เริ่มจากตรงข้ามวิทยาลัยเพาะช่าง ข้างในเป็นตลาดสดมีทางเดินทะลุออกไปถนนจักรเพชรได้ ตรงริมทางเดินมีเรือนแถวตึกเป็นบ้านของชาวซิกข์ สูงระดับเอว มีระเบียง แม่บ้านชาวซิกข์ส่วนใหญ่จะนั่งทำงานที่ระเบียงนี่เอง
เกือบทุกบ้านจะเปิดประตูบ้าน แต่จะมีฉากกั้นไม่ให้มองเข้าไปถึงด้านใน ตรงฉากนั้นแขวนหม้อแขกโชว์หลายใบ มีทั้งเล็ก ทั้งใหญ่ ทองเหลืองบ้าง สเตนเลสบ้าง แต่ละบ้านไม่ได้อวดว่าใช้ของอย่างนั้น แต่อวดว่าบ้านใครขัดก้นหม้อได้แวววับกว่ากัน ร่องรอยการหุงต้มนั้นไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ผมชอบเดินดูก้น (หม้อ) แขกครับ นี่เป็นการเริ่มต้นเมืองชาวซิกข์
เมื่อทะลุออกมาที่ถนนจักรเพชรนั้น อีกฝั่งเป็นร้านอาหารอินเดียชื่อ จา จา อยู่ริมถนน ร้านโล่งๆ ไม่ใหญ่โต ผมกินอาหารแขกครั้งแรกที่นี่ คนทำเป็นแม่บ้านชาวซิกข์ ทำได้อร่อยติดใจ แต่คิดว่าขืนกินบ่อยๆ คงเป็นมหาราชาของแคว้นพุงมหึมาปุระแน่ ที่กินครั้งแรกมีแกงถั่วหรือดาล แกงกูรหม่าไก่ อารูโกปีหรือผัดผักรวม และแป้งนาน กินอาหารแขกจะเพลินอีกอย่างที่ต้องกินมือ รับรองไปกินอะไร ที่ไหน ก็ทำอย่างนั้นไม่ได้ และสนุกอีกอย่างที่เห็นหมวยเดินผ่านหน้าร้านแล้วต้องเอามือปิดจมูก ถ้าวิ่งได้คงวิ่งแล้ว ไม่รู้อะไร กินเป็นแล้วจะติดใจ
กินแล้วก็ต้องเดินเข้าร้านขายเครื่องเทศ ขายเครื่องปรุงอาหารอินเดีย ที่อยู่ใกล้กัน เวลาเข้าไปดูจะได้ 3 อย่าง คือได้เห็น ได้กลิ่น และได้ฟังเพลงแขก หอมแขกเห็นครั้งแรกๆ น่ากินเพราะใหญ่กว่าหอมแดงไทยที่คุ้นเคย พวกถั่วก็เยอะแยะ พริกป่นหรือ Paprika เครื่องแกงผงหรือ Masala อบเชยหอมมาก น้ำมันเนยแท้ๆ สำหรับทอด และ Pure Ghee เนยใสบริสุทธ์ พวกพริกดองก็เยอะ ที่ได้ยินมานานก็ได้เห็นเป็นแซฟฟรอนหรือหญ้าฝรั่น ถึงจะไม่ใช่อย่างดีที่สุด แต่ก็แพงเอาเรื่อง
กินที่ร้าน จา จา อยู่หลายครั้ง ตอนหลังในซอยมีร้านรอยัล อินเดีย มาเปิดก็ย้ายไปกินที่นั่นและกินมาตลอด ที่ชอบกินมีไก่ย่างทันดูรี กินกับมินต์ซอส แกงกะหรี่แพะ กูรหม่าแพะ แกงถั่ว แป้งนานที่นี่มีทั้งแบบผสมหอมกับผสมกระเทียม ร้านนี้ตอนแรกๆ มีหมวยเป็นลูกจ้างพอนานๆ เข้าใส่ชุดแขก เลยเป็นแขกหน้าจีน
ตอนหลังร้านนี้มีตู้ขนมขายอยู่หน้าร้านมากมายจำชื่อไม่ค่อยได้ แค่ยืนดูหน้าตู้เบาหวานก็มาสะกิดหลังแล้ว ขนมแขกหนักนม น้ำตาล และถั่ว ที่ผมชอบเป็นก้อนแห้งๆ มีแผ่นเงินแปะหน้า ที่จริงต้องกินขนมตบท้ายอาหาร กินพร้อมกับชา ชาแขกเขาอร่อย
สำหรับบ้านชาวซิกข์ ร้านจา จา และร้านขายเครื่องเทศที่ผมว่านั้นหายไปกลายเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้
ทีนี้เป็นเรื่องสะพานหัน ก็คงต้องเน้นอีกทีว่าเดินมานานแล้ว เริ่มจากสี่แยกวังบูรพามาตามถนนพาหุรัดก่อนถึงทางเข้าสะพานหัน มีแผงขายน้ำหวานตั้งอยู่หน้าร้านขายร่ม ผมว่าเป็นน้ำหวานยุคแรกๆ เลยก็ว่าได้ มีขวดน้ำหวานตั้งเรียงเป็นตับ สีเขียวจะเรียกว่าครีมโซดา สีแดงเรียกว่าน้ำสละ สีส้มเรียกน้ำส้ม สีชมพูเรียกน้ำกุหลาบ เอาอย่างไหนเขาก็รินใส่แก้ว แล้วมีหัวปั๊มน้ำแข็งกับโซดาฉีดใส่แก้ว หวานแบบซ่าๆ ส่วนจะเป็นครีมโซดา น้ำสละ น้ำส้ม หรือน้ำกุหลาบ นั้นไม่รู้ ไม่หวังจะเป็นตามชื่อ เอาแค่หวาน เย็นๆ ชื่นใจก็พอ นี่ไม่รู้ยังอยู่หรือไม่
พอเลี้ยวซ้ายเพื่อเข้าสะพานหันนั้น ตรงหัวมุมด้านซ้ายเป็นร้านขายยาแผนโบราณ เดินทีไรต้องมองทุกครั้ง ลวดลายตกแต่งภายนอก ภายใน ฉลุด้วยไม้งามมาก และตัวหนังสือจีน-ไทย มือจับลิ้นชักเครื่องยา สวยจริงๆ ตอนนั้นเพิ่งมีการให้รางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นใหม่ๆ ยังนึกว่าน่าจะให้รางวัลร้านนี้ด้วย นี่ก็ไม่รู้ยังอยู่อีกหรือไม่
ตรงปากทางเข้าสะพานหันนั้นเป็นแถบที่ขายขนมแห้งๆ ของไทยหลายเจ้า ที่เยอะที่สุดเป็นทอฟฟี่นมที่ห่อด้วยกระดาษแก้วสีแดง สีส้ม สีฟ้า เด็กๆ ที่จะกินทอฟฟี่แล้วแกะกระดาษแก้วก่อน แกะครึ่งวันก็ไม่ได้กิน ต้องอมทั้งห่อในปากก่อน น้ำลายจะช่วยให้กระดาษแก้วเปียกร่อนแล้วดึงกระดาษออกจึงจะได้กิน
และตรงนั้นมีทีเด็ดประจำสะพาน จะมีหลายแผงขายของยกสูงระดับอก มีแผงหนึ่งขายข้าวเหนียวหน้าต่างๆ มีหน้าสังขยา หน้าปลาแห้ง หน้ากุ้ง ข้าวเหนียวดำหน้ากระฉีก แผงนี้ใครไปใครมาต้องมอง แต่ไม่ใช่มองข้าวเหนียว เป็นคนขายที่สวยเหมือน เพชรา เชาว์ราษฎร์ ซึ่งอยู่ในยุคเดียวกันด้วย ถือว่าเป็นเทพีสะพานหัน ผมเคยเห็นมีหนุ่มสูง ดำ ล่ำ ไปยืนกอดอกนิ่งๆ ข้างแผง มองคนที่มองแม่ค้าทำนองมองไม่ว่าซื้อแล้วไปไกลๆ ผมว่าคนนี้เป็นทหาร ต้องเคยยืนยามมาก่อน ไม่อย่างนั้นยืนทั้งวันไม่ได้แน่
ถัดไปก็เป็นตัวสะพานหัน ไม่มีทางรู้ว่าเป็นสะพาน ก็มีแต่คนขายของทั้งนั้น ตรงนั้นมีหาบขายข้าวมันส้มตำไทย ส้มตำไทยอยู่ในกะละมังเคลือบใบใหญ่มาก มีหม้อข้าวมันที่หุงด้วยกะทิ มีถาดเนื้อเค็มฉีกฝอยผัดเค็มๆ หวานๆ และมีใบทองหลาง ทั้งหมดขายเป็นชุด บ่ายๆ ก็หมดแล้ว เจ้านี้หายไปตั้งแต่ผมเดินครั้งหลังๆ แล้ว ไม่ใช่หายจากที่นั่นเท่านั้น แต่หายกลายเป็นพงศาวดารอาหารไทยไปเลย
ผมเคยเห็นบางร้านในสมัยนี้เรียกข้าวมันส้มตำ แต่เป็นส้มตำแบบอีสาน แถมเดาะใส่มะม่วงหิมพานต์ ข้าวมันย้อมสีดอกอัญชัน มีน่องไก่ทอด ผักเครื่องเคียงเป็นผักกาดขาว ผักบุ้ง แตงกวา คนละเรื่องกันเลย
ตรงตีนสะพานหันทางขวามือมีซอยเล็กๆ ข้างในเป็นตึกแถวยาวติดต่อกันไปถึงวิทยาลัยบพิตรพิมุข ที่นั่นเป็นโรงงานยาสูบแห่งแรกในเมืองไทย มีมาก่อนผมเกิด ซึ่งทุกห้องนั้นจะมีอาชีพทำยาเส้น ยาสูบ ยาฉุน โดยมีเรือขนใบยาสูบจากภาคเหนือเข้ามาในคลองโอ่งอ่างนี้ แล้วก็ขนใบยาสูบขึ้นที่นี่ ในขั้นแรกจะเอาใบยาสูบแขวนผึ่งในร้านก่อน จากนั้นก็หั่นเป็นเส้นฝอยยาวๆ แล้วมัดเป็นก้อนแบนๆ ห่อด้วยกระดาษปะยี่ห้อของตัวเอง ยาเส้น ยาสูบ ยาฉุน นี่ส่งออกไปขายทั่วไป มีใบจาก ใบตองอ่อน สำหรับมวนเป็นบุหรี่ขายพร้อมกันด้วย ห้องแถวทั้งหมดนี้จะมืดๆ ทึมๆ และกลิ่นยาสูบ ยาเส้น ยาฉุนคลุ้งทั้งซอย ซอยนี้ไม่มีหนู จิ้งจก แมลงสาบครับ เพราะเป็นมะเร็งตายหมด
ย้อนกลับมาที่สะพานหันตามเดิม ที่ต้องซื้อให้ได้เป็นหาบขายขนมเรไร จะตั้งหาบอยู่หน้าร้านขายเพชร ขนมเรไรนี่หากินยากที่สุด เป็นเส้นเล็กๆ นิ่มๆ พันม้วนเป็นก้อนเล็กๆ มีก้อนสีเขียว ชมพู สีขาว แล้วจะมีมะพร้าวทึนทึกขูดทับบนก้อนแป้ง โรยด้วยน้ำตาลทรายคลุกกับงาคั่ว แล้วราดด้วยน้ำกะทิอีกที
ขนมเรไรเคยมีขายอยู่ 2 เจ้าเท่านั้น ที่ตลาดท่าพระจันทร์ 1 เจ้า และที่สะพานหันนี่ 1 เจ้า ที่ท่าพระจันทร์นั้นหายสาบสูญไปนานแล้ว เหลือที่สะพานหันนี่เจ้าเดียว เจ้านี้ขายมาตั้งแต่รุ่นแม่ นอกจากขนมเรไรแล้วจะมีขนมถ้วยฟูและขนมน้ำดอกไม้ด้วย ไปสะพานหันไม่ได้ซื้อขนมเรไรนี่ถือว่าเสียเที่ยว ถ้าไม่อยู่แล้วก็ถือว่าหมดสิ้นเรไรในกรุงรัตนโกสินทร์
สุดปลายสะพานหันจะมีหาบขายกล้วยหักมุกปิ้ง มันสำปะหลังปิ้ง และเผือกปิ้ง ซึ่ง 2 อย่างนี้ย่างให้สุกเกรียมก่อน ทับให้แบน แล้วเอาไปชุบน้ำกะทิ เมื่อก่อนนั้นมีหลายเจ้า น่าจะหายไปเหมือนกัน เพราะไม่ค่อยมีใครพูดถึงของกินอย่างนี้เลย
เมื่อข้ามถนนจักรวรรดิ์ไปยังฝั่งตรงข้ามก็เข้าเขตสำเพ็งแล้ว เป็นถนนเสื้อผ้าอาภรณ์ของกรุงเทพฯ ตั้งแต่รุ่นแม่เลย คนที่มาเดินดูร้านขายอุปกรณ์การเย็บ ปัก ด้าย เข็มมือ เข็มจักร กระดุม ตะขอ ซิป เป็นพวกนั่งหน้าจักรเย็บผ้าหรือแม่บ้านทั้งสิ้น สมัยก่อนร้านเหล่านี้ต้องมีแคตตาล็อกเสื้อผ้าของญี่ปุ่นขายด้วย ร้านขายผ้าตัดกางเกงผู้ชายก็เยอะ ถ้าไม่ใช่ร้านตัดกางเกงผู้ชายมาเลือกผ้าใส่ร้าน ก็เป็นผู้ชายไซส์พิเศษที่เอวใหญ่ เป้ายาว ขาสั้น ซื้อผ้าไปจ้างร้านตัดกางเกงอย่างเดียว
สำเพ็งนี่แขก จีน ค้าขายผ้าแบบไม่แบ่งแยก สมัยก่อนชื่อร้านแขกขายผ้านั้น จะเน้นอุปนิสัยใจคอ เช่น นายจันใจดี หรือนายอินปากหวาน แขกขายผ้าสมัยก่อนขายดี มีวิธีจูงใจ ยกยอลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าผู้หญิง เช่น ลายนี้เหมาะกับคุณนายที่สวยอยู่แล้ว หรือลายขวางนี้ทันสมัยครับ แต่คุณนายใส่แล้วดูเตี้ยอะไรทำนองนี้ แขกขายผ้ามีอะไรที่ไม่เหมือนใคร เวลาตรุษจีนปกติจะหยุดทั้งแถบ คนเดินสำเพ็งก็รู้ดีไม่มาตอนตรุษจีน ถึงแขกจะเปิดร้านก็ไม่มีลูกค้า แต่เพื่อนเล่นเขียนป้ายหน้าร้านว่า ‘ด้วยพรของเทพผู้เป็นเจ้า เราขอน้อมเคารพพรนั้น จึงหยุดตรุษจีนตั้งแต่วันนี้ถึงวันนั้น’
ของกินในสำเพ็งที่ต้องซื้อมีขนมฝรั่ง ที่นั่งทำไป ขายไป ใช้วิธีตั้งพิมพ์ทองเหลืองบนเตาถ่าน พอหยอดแป้งใส่พิมพ์แล้วก็เอาฝาพิมพ์ที่เป็นทองเหลืองเหมือนกันครอบ แล้วเอาถ่านวางบนพิมพ์อีกที ผมซื้อตั้งแต่เป็นคุณยายขาย จนคุณยายเสีย ลูกสาวมาขายแทน ถ้ายังขายอยู่ลูกสาวก็คงเป็นคุณยายแล้ว นี่เป็นขนมฝรั่งที่อร่อยที่สุดของผม
เลยไปหน่อยเป็นข้าวโพดคลุก ใช้ข้าวโพดข้าวเหนียวต้ม แล้วฝาน กินกับมะพร้าวทึนทึกขูดใส่น้ำตาลทราย หากินยาก
ผมเดินเข้าสำเพ็งลึกๆ หน่อยจะชอบเดินแหงนหน้า ดูหน้าร้านชั้นบน ของดีจะอยู่ด้านบน ตึกในสำเพ็งสมัยก่อสร้างนั้นจะเน้นฝีมือตกแต่งหน้าตึก ลายหัวเสาบ้าง ลายกรอบช่องลมเหนือหน้าต่างบ้าง ยังจำได้ห้างขายยาโพทงที่ลวดลายปูนปั้นเป็นเถาไม้เลื้อยทาสีฝุ่นสวยมาก ตอนหลังๆ ตามร้านที่เปลี่ยนเจ้าของ ชอบเอาแผ่นป้ายไปปิดบังเลยไม่เห็นอะไร
ซอยโรงเรียนเผยอิงก็ชอบเดินไปเที่ยว ในซอยนั้นเคยมีร้านหอยทอดอร่อยมาก ผมยังเคยได้กิน แต่ร้านนี้ต้องเลิกไปเพราะความรวยมาเบียดเบียน ร้านนั้นเป็นของต้นตระกูลเจ้าสัวใหญ่ของเมืองไทย นี่ถ้าอยู่คงชื่อร้าน ‘หอยทอดตราช้าง’
โรงเรียนเผยอิงนั้นตัวอาคารสวยมาก ดูทีไรไม่เบื่อ ก็คนออกแบบก่อสร้างเป็นสถาปนิกชาวอังกฤษ หนึ่งในทีมที่ออกแบบก่อสร้างตึกอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ดูโรงเรียนเผยอิงแล้วก็เดินทะลุไปอีกด้านหนึ่ง เป็นซอยแคบๆ มีตึกแถว 2 ด้านประจันหน้าหากัน สมัยก่อนเขาซักผ้าแล้วร้อยท่อนไม้ไผ่ยาวๆ ตากตรงชั้นสอง วิธีตากจะพาดจากตึกนี้ไปยังตึกฝั่งตรงข้าม พาดไปพาดมา พึ่งพากัน แล้วผ้ามีสารพัดสี ฉะนั้น เวลาเดินผ่านจึงเหมือนเดินมุดธงสหประชาชาติ หาที่ไหนไม่ได้ในกรุงเทพฯ
สำเพ็งยังมีเรื่องของกินอีกเยอะ ถ้าเขียนหมดคงเหนื่อยทั้งคนเขียนและคนอ่าน เท่าที่เล่ามานี้ก็คงตอบตามคำถามที่ว่า พาหุรัด สะพานหัน สำเพ็ง สนุกได้อย่างไร ผมชวนให้ไปเดินดู ไปหาอะไรกินครับ