สถานที่พำนักของแสตมป์ทั่วโลก

หลังจากที่ทราบข่าวว่าอีกไม่กี่วัน ‘พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน’ จะปิดชั่วคราว เราก็รีบร้อนเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์

คงเป็นธรรมดาของมนุษย์… เมื่อทราบว่าอะไรก็ตามจะหายไป เรามักไขว่คว้าสิ่งนั้น

ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกับวันที่ระบบโทรเลขของไทยเปิดให้บริการวันสุดท้าย เรารีบไปยังไปรษณีย์ที่ใกล้ที่สุด เพื่อส่งข้อความถึงตัวเองเป็นที่ระลึกด้วย ‘โทรเลข’ ที่ปัจจุบันไม่มีให้ใช้อีกต่อไป

ไม่นานนักเราก็พบว่าตัวเองกำลังเดินลงสถานีรถไฟฟ้าสะพานควาย เดินไม่กี่ก้าวก็มาถึงอาคารพิพิธภัณฑ์ไปรษณียากร สามเสนใน ในใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าต่อไปแสตมป์จะเหลือเพียงชื่อหรือไม่

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน สถานที่พำนักแสตมป์ทั่วโลก แหล่งชุมนุมคนรักแสตมป์

การเปลี่ยนแปลงทำให้สิ่งเดิมยังคงอยู่

“แม้ว่าหน้าที่การใช้งานจะน้อยลง แต่ยังมีคนรุ่นหลังที่ยังนิยมการสะสมแสตมป์ แสตมป์เลยยังไม่หายไป แค่เปลี่ยนหน้าที่ บทบาท ไปตามยุคสมัย แนวคิดคือ การเอาแสตมป์กลับมาอยู่ในชีวิตประจำวัน คงคุณค่าในการใช้งานและในการสะสมได้ด้วย” วิบูลย์ เสรีชัยพร ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มาต้อนรับเราด้วยท่าทีสบายๆ ภายใต้หน้ากากอนามัย ยืนเว้นระยะห่าง เขายืนยันให้อุ่นใจว่าแสตมป์จะคงอยู่ แม้ว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ตราบใดที่แสตมป์ยังรับใช้สังคม ในมิติใด มิติหนึ่ง

คำพูดของคุณวิบูลย์ทำให้คิดไปถึงแง่คุณค่าทางใจ ‘แสตมป์’ รับบทเป็นตัวแทนความรู้สึก เป็นของที่ระลึกจากแดนไกล ต่างจากอดีตที่มีบทบาทเป็นเพียงแค่การชำระค่าธรรมเนียมในการส่งจดหมาย หากแต่ตอนนี้แสตมป์กลายเป็นงานศิลปะขนาดเล็ก เป็นสารานุกรมขนาดจิ๋ว เป็นบานหน้าต่างเปิดสู่โลกกว้าง ที่โอบกอดความรู้สึกของผู้ส่ง จากอดีตที่ทิ้งห้วงระยะเวลา จนกระทั่งซองจดหมายหรือโปสการ์ดจะเดินทางมาถึงมือผู้รับ

เมื่อคิดได้เช่นนี้ เราจึงก้าวตามคุณวิบูลย์เข้าไปสู่พื้นที่เล็กๆ ของพิพิธภัณฑ์นี้ด้วยใจพองโต

ที่นี่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) พื้นที่แสดงนิทรรศการถาวรและคอลเลกชันสะสม 2) พื้นที่แสดงนิทรรศการหมุนเวียน 3) พื้นที่จำหน่ายของที่ระลึก และ 4) ห้องสมุด ซึ่งเป็นพื้นที่พบปะระหว่างนักสะสมและผู้ที่ชื่นชอบแสตมป์ นักสะสมมือใหม่ หรือแม้แต่ ‘นักออกแบบตราไปรษณียากร’ ก็จะมามอบลายเซ็นลงบนสิ่งสะสมในวันแรกที่จำหน่ายให้กับแฟนๆ นอกจากนี้ยังมีห้องสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทยฯ

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน สถานที่พำนักแสตมป์ทั่วโลก แหล่งชุมนุมคนรักแสตมป์

 การปรับตัวของพิพิธภัณฑ์ และทิศทางการเผยแพร่ความรู้ในช่วงโควิด-19

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน โดยปกติเป็นแหล่งชุมนุมของคนรักแสตมป์ คึกคักมากเป็นพิเศษในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่มีตลาดนัดแสตมป์ แม้จะดูเงียบเหงาในช่วงสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่ทว่าชุมชนคนรักแสตมป์กลับใกล้ชิดและเหนียวแน่นมากกว่าเดิมอย่างไม่น่าเชื่อ 

กลุ่มของคนรักแสตมป์เติบโตอย่างรวดเร็วใน LINE OpenChat ที่เปิดเพียง 2 วันก็รวมคนได้ 200 กว่าคน รวมถึงทางสื่อโซเชียลมีเดียทั้ง Instagram และ Facebook ในชื่อ Stamp in Love และ Thai Stamp Museum ที่โพสต์ข้อความ เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ และเรื่องเล่าที่มาพร้อมกับแสตมป์แต่ละดวง ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคคลทั่วไปและกลุ่มนักสะสมหน้าใหม่ไปไม่น้อย

“โดยมากแล้วนักสะสมแสตมป์จะมีอายุสี่สิบถึงห้าสิบปีขึ้นไป อีกหนึ่งภารกิจของพิพิธภัณฑ์คือการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรให้หันมาสนใจ เอาแค่สนใจก่อน ยังไม่ถึงกับต้องสะสมก็ได้ค่ะ” แนน-ณัฐวีร์ บุญญศิริ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เป็นผู้นำชมให้กับเราในวันนี้ และเล่าให้ฟังถึงภารกิจของพิพิธภัณฑ์ ว่าต้องการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้ได้ทำความรู้จักกับแสตมป์มากขึ้น

ความเป็นไปได้นี้แขวนอยู่กับชุมชนในโลกออนไลน์ขนาดใหญ่อย่าง Postcrossing คุณแนนเล่าโปรเจกต์น่ารักๆ ของเว็บไซต์แห่งนี้ ซึ่งกระตุ้นให้ผู้คนในยุคดิจิทัลหันกลับมาส่งข้อความหากันด้วยระบบไปรษณีย์อีกครั้ง ด้วยการสุ่มหาเพื่อนทั่วโลกที่มีความชอบโปสการ์ดและเก็บสะสมแสตมป์

“นอกจากเราจะได้เพื่อนใหม่แล้ว เรายังได้รับโปสการ์ดและแสตมป์จากเพื่อนๆ ในประเทศอื่น ในรูปแบบและลวดลายที่เราชื่นชอบหรือกำลังสะสมอยู่ โดยการเขียนบอกเล่าในหน้าแนะนำตัว เช่น เราชอบดอกไม้ เราชอบแมว เพื่อนจากต่างประเทศก็อาจจะไปตามหาโปสการ์ดรูปดอกไม้ แสตมป์รูปแมว และส่งมาให้เรา และเราก็ส่งโปสการ์ดแบบที่อีกฝ่ายหนึ่งชอบ นำมาแลกเปลี่ยนกัน เราว่ามันเป็นการเก็บความรู้สึกในรูปแบบพิเศษมากที่เกือบจะหายไปแล้วในโลกปัจจุบัน”

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน สถานที่พำนักแสตมป์ทั่วโลก แหล่งชุมนุมคนรักแสตมป์

แสตมป์ดวงแรกของโลก

จากนั้นคุณแนนก็พาเราย้อนอดีต เดินไปชมแสตมป์ดวงแรกของโลกที่มีชื่อว่า The Penny Black ด้วยความที่ประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่มีการใช้แสตมป์ เมื่อแรกใช้จึงไม่มีการระบุชื่อประเทศ (เพราะไม่คาดคิดว่าระบบการใช้แสตมป์จะถูกใช้อย่างแพร่หลาย) จนเมื่อมีการก่อตั้งสหภาพสากลไปรษณีย์ (Union Postale Universelle : UPU) ทุกประเทศจึงพร้อมใจให้เกียรติสหราชอาณาจักร ในฐานะประเทศแรกที่ออกแสตมป์ว่า ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อประเทศลงบนแสตมป์!

แสตมป์ The Penny Black เรียกว่าเป็นไฮไลต์ที่ควรค่าแก่มาชม เช่นเดียวกับ ‘ตู้ทิ้งหนังสือ’ หรือตู้ไปรษณีย์สีแดงเก่าแก่ ทรงสี่เหลี่ยม หล่อด้วยเหล็กทั้งชิ้น เป็นของขวัญจากประเทศเยอรมนีที่ส่งมอบให้ประเทศไทยใน พ.ศ. 2426 และที่พลาดไม่ได้คือ ‘แสตมป์โสฬศ’ แสตมป์ดวงแรกของไทย ปรากฏภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) นำออกใช้งานในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เป็นวันเดียวกันกับการเปิดกิจการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรก

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน สถานที่พำนักแสตมป์ทั่วโลก แหล่งชุมนุมคนรักแสตมป์
พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน สถานที่พำนักแสตมป์ทั่วโลก แหล่งชุมนุมคนรักแสตมป์
พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน สถานที่พำนักแสตมป์ทั่วโลก แหล่งชุมนุมคนรักแสตมป์

ภายในพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน ยังรวบรวมตราไปรษณียากรที่จัดพิมพ์ด้วยเทคนิคพิเศษ เช่น การผนึกผิวผ้าถักโครเชต์ลงบนแสตมป์ที่พิมพ์ไว้แล้ว หรือการพิมพ์เคลือบสารเคมีเทอร์โมโครมิก ที่มีคุณสมบัติเปลี่ยนสีได้เมื่ออุณหภูมิของสารเปลี่ยนไป 

ในส่วนนี้ที่นำมาจัดแสดงให้ชม คือ ชุดแสตมป์สุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อใช้นิ้วกดลงไปที่แสตมป์ ภาพเงาทึบจะเปลี่ยนให้เห็นพื้นผิวของดวงจันทร์ หรือจะเป็นแสตมป์พิมพ์ปั๊มนูนเป็นอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา และแสตมป์รูปทรงอื่นๆ ที่ไม่ได้จำกัดหรือจำเจอยู่ที่สี่เหลี่ยม เราจะได้พบกับแสตมป์วงกลม รูปหัวใจ สามเหลี่ยม หกเหลี่ยม เจ็ดเหลี่ยม!

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน สถานที่พำนักแสตมป์ทั่วโลก แหล่งชุมนุมคนรักแสตมป์

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงตราไปรษณียากรกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งหมวดหมู่ออกเป็นทวีปต่างๆ

คุณวิบูลย์และคุณแนนแนะนำให้เราก้มลงมองที่พื้นภายในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ จะพบ ‘เส้นสี’ นำทางให้ผู้ชมเดินไปยังแผนที่โลก ซึ่งกางออกเป็นแนวระนาบ จากนั้นเมื่อเดินไปตามเส้นทางต่างๆ ก็จะพบกับตู้เก็บแสตมป์ของแต่ละทวีป เมื่อดึงออกมาจะเจอกับข้อมูลเบื้องต้นของประเทศ และแสตมป์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน
ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน
ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน

เรื่องเล่าของแสตมป์ เล่าร้อยปีก็ไม่หมด

“อะไรก็ตามที่มีน้อย ย่อมเป็นที่ต้องการมากของผู้คน แสตมป์ถูกผลิตขึ้นมาในช่วงเวลาหนึ่ง หมดแล้วหมดเลย ทำเพิ่มไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไปยิ่งมีคุณค่า ถ้าได้ศึกษาลึกซึ้งจะรู้ว่าแสตมป์เกี่ยวโยงกับประวัติศาสตร์ และสะท้อนความนิยมในแต่ละช่วงเวลา เราแยกประวัติศาตร์ออกจากแสตมป์ไม่ได้เลย”

คุณวิบูลย์เล่าเรื่องราวของแสตมป์ที่น่าสนใจอีกหลายดวงให้เราฟัง ไม่ว่าจะเป็นแสตมป์ในฐานะภาพบันทึกประวัติศาสตร์ แสตมป์ในฐานะทูตวัฒนธรรม หรือเรื่องที่คาดไม่ถึงอย่างแสตมป์ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่มีถึง 3 สกุลเงินในแสตมป์ชุดเดียว ได้แก่ สกุลเงินฟรังก์สวิส ดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร นำไปสู่การออกแบบแสตมป์ที่ผูกโยงประเด็นสำคัญระดับโลก ทั้งเรื่องสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เรียกได้ว่าแสตมป์กำลังย้ำเตือนคำมั่นสัญญาที่เหล่าประเทศสมาชิกมีร่วมกัน เป็นต้น

ส่วนด้านหลังของห้องจัดแสดง มีการจัดแสดงอุปกรณ์ในกิจการไปรษณีย์ อาทิ ตราชั่งโบราณ เครื่องปรุฟันแสตมป์ ตู้ไปรษณีย์แบบแขวนในสมัยรัชกาลที่ 5 และตู้ไปรษณีย์โลหะผลิตจากประเทศฝรั่งเศส หากเดินอ้อมย้อนกลับมายังด้านหน้า ริมผนังรอบห้องจัดแสดงเรื่องราวกิจการไปรษณีย์ในประเทศไทย นับแต่ไทยยังต้องพึ่งพิงสถานกงสุลอังกฤษเป็นหลัก กระทั่งปฐมบทแห่งการเริ่มต้นจัดตั้งไปรษณีย์แห่งสยาม ต่อเนื่องมาถึงการเปิด ‘ไปรสนียาคาร’ หรือ ที่ทำการไปรษณีย์ที่ 1

ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน
ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน
ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน

ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ตอนนี้ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับมอบโมเดลจำลองไปรสนียาคารในมาตราส่วน 1 : 75 จาก กสทช. ให้นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ นับเป็นอนุสรณ์สถานแห่งกาลเวลาที่จะพาเราย้อนกลับไปชื่นชมที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของสยาม ปัจจุบันอาคารดังกล่าวถูกทุบทิ้งเพื่อเปิดทางสร้างสะพานพระปกเกล้า เชื่อว่าน้อยคนที่จะทราบประวัติในเรื่องนี้

โมเดลจำลองจึงเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด จนกว่าพิพิธภัณฑ์จะเปิดทำการอีกครั้ง

นักเดินทางตัวเบา

ถ้าเปรียบแสตมป์เป็นนักเดินทาง พวกเขาคงแบกสัมภาระของดีจากบ้านเกิดมาแบบเกินน้ำหนักที่จะขนขึ้นเครื่องบิน เพราะมีทั้งสถานที่สำคัญ รูปเขียนวิวทิวทัศน์ ภาพเหมือนของบุคคลสำคัญ ดอกไม้นานาชนิด อาหารท้องถิ่น เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี สิ่งประดิษฐ์ เรียกว่าถ้านักเดินทางผู้นี้ได้เจอกับเพื่อนใหม่ เขาคงอยากแนะนำตัวด้วยภาษาภาพที่ไม่ต้องการคำพูดมากนัก แต่บรรยายเรื่องราวได้ร้อยพัน

นักเดินทางกระดาษใบเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ปลิวไปไหน แต่กำลังรอให้ผู้คนเดินทางมาสัมผัส เรียนรู้ และมองเห็นด้วยสายตาของคุณเอง

ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน
ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน
ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน

แว่วมาว่าไปรษณีย์ไทยมีแผนจะจัดสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ ในลักษณะของพิพิธภัณฑ์การไปรษณีย์ในอนาคตอันใกล้ ภายในอาคารไปรษณีย์กลาง ย่านบางรัก

ระหว่างนี้ ใครที่อยากสัมผัสประสบการณ์ Virtual Tour สามารถเที่ยวทิพย์ ชมอาคารไปรษณีย์กลางเสมือนจริงไปพลางๆ ได้ที่ vrthailandpost.com

ส่องหน้าต่างบานเล็กสู่โลกใบใหญ่ แสตมป์ดวงจิ๋วที่บอกเล่าอะไรมากมาย ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร สามเสนใน

พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรสามเสนใน

วิธีการเดินทาง : ลงรถไฟฟ้า BTS สถานีสะพานควาย ทางออกที่ 1 หันมองด้านขวาจะเจอกับไปรษณีย์สามเสน มองไปด้านในเจออาคารหลังใหญ่ หากเห็นชื่อพิพิธภัณฑ์เขียนกำกับไว้อย่างเด่นชัด รับรองว่ามาไม่ผิดแน่นอน

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน