สำนักพิมพ์แซลมอน (Salmon Books) เป็นสำนักพิมพ์ไทยที่ทำงานโดยแนวคิดตามชื่อ 

ตั้งแต่ว่ายน้ำทวนกระแสเพื่อไปวางไข่ สนใจสิ่งที่อยู่นอกกระแสหลัก เพราะเชื่อเสมอว่าของสดใหม่นั้นดีและมีประโยชน์ต่อคนอ่าน ตามประสาปลาที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณค่าทางสารอาหาร 

ที่สำคัญ อร่อยกรุบจนหยุดกินไม่ได้ แถมหลากหลายนำไปปรุงได้หลายเมนู จะกินดิบเป็นซาซิมิ หรือจะต้ม ผัด แกง ทอด ก็หอมอร่อยใน พ.. พ.. พลิกหน้ากระดาษ

ไม่ใช่แค่วรรณกรรมร่วมสมัย บันทึกประสบการณ์ บันทึกการเดินทาง สำนักพิมพ์แซลมอน ยังมีหนังสือที่เล่าเรื่องสาระบันเทิง สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง เทคโนโลยี ธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และอื่นๆ หีบห่อให้เป็นหนังสือที่เคี้ยวง่าย กินได้ไม่เบื่อ

รู้จักสำนักพิมพ์แซลมอน ผ่านหนังสือ 13 เล่มที่แทนความเป็นแซลมอนได้ดีที่สุด

เป็นเหตุผลว่า ทำไมชั้นหนังสือที่บ้านคุณ น่าจะมีหนังสือสำนักพิมพ์แซลมอนอย่างน้อย 1 เล่ม

จากวันแรกที่ว่ายทวนน้ำไปวางไข่ ปลาสีส้มตัวนี้ดำผุดดำว่ายอยู่ในกระแสที่เชี่ยวกรากมาแล้ว 10 ปี 

จากตัวหนังสือ ค่อยๆ ต่อยอดเป็นสำนักพิมพ์แนวไลฟ์สไตล์สำหรับผู้หญิงอย่าง Bunbooks มี Giraffe นิตยสารแจกฟรีรายปักษ์ที่อัปเดตข่าวสารใหม่ๆ และสนใจเรื่องแฟชั่น มี Salmon House เล่าเรื่องแบบภาพเคลื่อนไหว แต่ทำไปทำมาเติบโตดีในสายงานโฆษณา มีเว็บไซต์ Minimore เป็นหน้าร้านหนังสือและพื้นที่ทำคอนเทนต์ออนไลน์ มี The MATTER สำนักข่าวออนไลน์ไว้เล่าเรื่องรายวัน มี Salmon Podcast เพื่อให้เสียงตามคนอ่านไปในเวลาที่เขาไม่อาจอ่านได้ จนมาถึง Salmon Lab เป็นเอเจนซี่ไว้ลับคมไอเดีย และล่าสุด CONT. (cont-reading.com) เว็บไซต์ที่ชวนอ่านสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยที่ไม่จำกัดว่าต้องอยู่แค่ในหนังสือ ไม่ต่างจากปลาที่กระโดดลงแม่น้ำ แวะว่ายวนลงคลอง ออกอ่าง ข้ามไปมหาสมุทร

รู้จักสำนักพิมพ์แซลมอน ผ่านหนังสือ 13 เล่มที่แทนความเป็นแซลมอนได้ดีที่สุด

The Cloud นัดพบ แบงค์-ณัฐชนน มหาอิทธิดล ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แซลมอน และ กาย-ปฏิกาล ภาคกาย บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ณ ที่ทำการ ในย่านรัชดาซอย 3 เพื่อพูดคุยถึงแนวคิด เบื้องหลังการทำงานและตัวตนของสำนักพิมพ์ ผ่านหนังสือ 13 เล่มที่บอกเล่าความเป็นแซลมอนได้ดีที่สุด

อิรัสชัยมะเซะ รับผ้าเย็น และดื่มชาอุ่นๆ รอสักครู่ 

เชฟกำลังเตรียมเมนูอยู่ในครัว

1

ปลาที่ว่ายทวนน้ำ 

หนังสือ : 100 ขั้นตอนสู่ความล้มเหลว 

เขียน : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

รู้จักสำนักพิมพ์แซลมอน ผ่านหนังสือ 13 เล่มที่แทนความเป็นแซลมอนได้ดีที่สุด

ในยุคที่มีหนังสือแนะนำขั้นตอนสู่ความสำเร็จและทางลัดสู่ความรวยอยู่เต็มแผง แบงค์คิดว่าทำไมไม่มีใครแนะนำวิธีใช้ชีวิตให้พังบ้าง บังเอิญเจอ แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เขียน ‘100 ขั้นตอนสู่ความล้มเหลว’ ลงในบล็อก exteen พอดี จึงชวนมาต่อยอดเป็นหนังสือเกี่ยวกับความสำเร็จที่แกล้งชวนให้มาล้มเหลว (กันเถอะ) ซึ่งเป็น Comic Essay ผลงานแรกในวงการหนังสือของแชมป์

“แค่บิด เล่าอีกแบบก็สำเร็จแล้ว แต่ไม่เคยมีใครทำ” แบงค์บอกว่าสองสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้แตกต่างและประสบความสำเร็จ คือ คอนเซปต์และนักเขียน 

100 ขั้นตอนสู่ความล้มเหลว จึงเซ็ตแนวทางของ สำนักพิมพ์แซลมอน ไปโดยปริยาย นอกจากเนื้อหาว่ายทวนน้ำ คิดสวนกระแส แซลมอนยังตั้งใจทำรูปเล่มให้แตกต่าง ทั้งการออกแบบปก ขนาด และกระดาษที่ใช้ อย่าง 100 ขั้นตอนสู่ความล้มเหลว มีขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสแปลกกว่าเพื่อนในชั้น

“ช่วงนั้นเราชอบงานของ บุนเป โยริฟุจิ (Bunpei Yorifuji) ผู้เขียน CATALOGUE OF DEATH สูตรสุคติ หนังสือเขาขนาดจะแปลกๆ เราชอบก็หยิบมาทำเลยได้รู้ว่าต้นทุนการผลิตมันแพงมาก โดยเฉพาะถ้าพิมพ์สีเยอะ เราไม่ค่อยรู้ รู้แต่ว่าไม่อยากพิมพ์แพง เลยพิมพ์แค่สองสี น้ำตาลเข้มกับเหลือง ก็ทำให้หนังสือสวยดี และดูตั้งใจออกแบบ” แบงค์เล่า 

เมื่อเจอสูตรที่ทำให้หนังสือป๊อปได้ แถมสวยด้วย ยุคหนึ่งแซลมอนจึงมีแต่หนังสือประเภทนี้ 

แต่ใช่ว่าการกดสูตรจะสำเร็จทุกครั้ง ความสำเร็จจาก 100 ขั้นตอนสู่ความล้มเหลว ทำให้แบงค์และทีมคิดว่ามันน่าจะต่อยอดทำได้อีกหลายเรื่อง เพียงแค่ตั้งหัวข้อและบิดมุมมอง ซึ่งความรักก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงเกิดเป็น 100 ขั้นตอนสู่การเลิกรา แต่ผลตอบรับกลับไม่ดีอย่างที่คิด 

โชคดีที่ปลาตัวนี้ยังไม่ถึงกับต้องเลิกลา (การทำหนังสือ) กันไป

2

…ไปวางไข่

หนังสือ : QUARTER-LIFE CRISIS 

เขียน : Tuna Dunn

รู้จักสำนักพิมพ์แซลมอน ผ่านหนังสือ 13 เล่มที่แทนความเป็นแซลมอนได้ดีที่สุด

หนังสือวัยรุ่นในท้องตลาดยุคหนึ่ง เริ่มต้นมาจากนิตยสาร ซึ่งเนื้อหาผ่านการคัดสรรและกล่อมเกลาจากบรรณาธิการและทีมมาแล้วระดับหนึ่ง 

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนที่แซลมอนยังเป็นปลาหน้าใหม่ แม้ว่าแบงค์จะมาจากวงการนิตยสาร แต่ก็มีคอนเนกชันและประสบการณ์จำกัด จึงทำแบบสำนักพิมพ์ทั่วไปไม่ได้ 

แบงค์จึงเข้า exteen.com (เว็บบล็อกชื่อดังในอดีตที่รวมนักเขียนและคนมีของจำนวนมาก) แล้วช้อปปิ้งนักเขียนที่น่าสนใจในนั้น แซลมอนจึงเป็นสำนักพิมพ์แรกๆ ที่หา (นักเขียนมี) ของบนอินเทอร์เน็ต

“เราเจอนักเขียนบนเน็ตเยอะนะ เช่น จัง-สุพิชชา เสนารักษ์ (ผู้เขียน ในสายตาของเธอ เห็นฉันเป็นตัวอะไร และ ใต้แสงธูป) Tuna Dunn หรือ ตุล-ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต (ผู้เขียน BEST BEFORE, MISSED และ I LIKE LIKE YOU) ตอนนั้นมีคนตามหลักร้อย หรือแม้แต่ มิ้นท์-มณฑล กสานติกุล หรือ มิ้นท์ I Roam Alone (ผู้เขียน I ROAM ALONE) ที่ตอนนั้นมีคนไลก์หลักพันเอง แต่มีจุดที่น่าสนใจคือเป็นผู้หญิงเดินทางคนเดียว ไปมากว่าห้าสิบประเทศ แค่นี้ก็รู้สึกเขาชัดเจนมาก 

“เวลาทำหนังสือเราจะใช้ของเดิมเขาแค่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นการสร้างงานร่วมกัน แม้จะยากกว่า แต่มันคือสูตรนี้ ซึ่งพอเป็นบล็อก เป็นเพจเฟซบุ๊ก การทำหนังสือจึงไม่มีพิธีรีตองเยอะ

“เราไม่ได้เคลมว่าเราปั้นใครขึ้นมา เพราะนักเขียนเขาก็ปั้นเราด้วย ถ้าเราไม่เจอแชมป์ใน exteen วันนั้น แซลมอนคงไม่ได้เกิด หรือเกิดช้ากว่านี้มาก ทุกคนในวันนี้เติบโตในเวทีของตัวเองและเราก็ภูมิใจมากๆ” แบงค์เล่าย้อนกลับไปในช่วงขวบปีแรกๆ ของการค้นหานักเขียนและต้นฉบับ

3

แซลมอนซาซิมิ 

หนังสือ : เอ๊ะ! เจแปน EXCLUSIVE SCOOP ON JAPANESE 

เขียน : ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล

รู้จักสำนักพิมพ์แซลมอน ผ่านหนังสือ 13 เล่มที่แทนความเป็นแซลมอนได้ดีที่สุด

ทำไมแซลมอนเลือกชวนนักเขียนหน้าใหม่ซึ่งยุ่งยากและเสี่ยงเรื่องการขาย แทนที่จะพิมพ์งานนักเขียนดังๆ ที่รู้ว่าขายได้แน่ๆ -เราถาม

“เพราะคนเขียนเก่งไม่ได้หมายความว่า จะมีคอนเทนต์ที่ดีและถูกต้องเสมอไป” แบงค์ตอบทันที

“อย่าง พี่นัทคุง-ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล ตอนแรกที่เราติดต่อชวนเขามาเป็นนักแปล CATALOGUE OF DEATH สูตรสุคติ ที่เขียนโดย บุนเป โยริฟุจิ จำได้เลยวันที่พบกันที่เอสพลานาด เขาใส่สูทมาขณะที่พวกเราใส่เสื้อยืด ทำให้เขาดูเป็น บ.ก. มากกว่าพวกเรา วันนั้นพบว่าเขาคุยเก่งและเล่าเรื่องอาชีพในญี่ปุ่นสนุกมาก น่าสนใจกว่าเรื่องที่ตั้งใจมาคุยกันอีก เลยชวนเขามาเขียนหนังสือเล่าเรื่องคนหลากหลายอาชีพในญี่ปุ่น” แบงค์เล่าเบื้องหลังหนังสือ ก่อนส่งไม้ต่อให้กาย หลวงประดิษฐ์คำไพเราะประจำสำนักพิมพ์ คิดชื่อหนังสือ

“เวลาคุยต้นฉบับหรือเล่าให้ทีมการตลาดฟัง จะมีคำพูดที่ว่า ‘เรื่องของคนญี่ปุ่นที่เราฟังแล้วเราจะร้องเอ๊ะ! มันมีแบบนี้ด้วยหรอ’ ช่วงคิดชื่อหนังสือ มีวง X Japan มาเล่นคอนเสิร์ตไทย ก็เลยลองยิงเล่นๆ ว่า ‘เอ๊ะ! เจแปน’ ไหม พี่แบงค์ดันชอบมาก โอเค เอาชื่อนี้ก็ได้” 

หลังตีพิมพ์หนังสือเล่มแรกไม่นาน นัทคุงก็ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่น และออกหนังสือกับสำนักพิมพ์อีก 2 – 3 เล่ม ปัจจุบันมีชีวิตที่ดี ทำงาน มีครอบครัว และใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น 

แบงค์และกายย้ำเสมอว่า สิ่งที่นักเขียนแซลมอนมีเหมือนกัน คือ เส้นคอนเทนต์คมๆ

“คนอยากเข้าใจเรื่องยากๆ อยู่แล้ว ตอนเราทำแซลมอนเรามีหลักอยู่สองข้อคือ Explore กับ Remind หนังสือที่ดีควรจะพาคุณออกไป Explore โลกข้างนอกที่ไม่เคยไป ตอนที่ บีเบนซ์ (ผู้เขียน GO, GO MOROCCO โมร็อกโกนั้นโก้จริงๆ) มาเล่าให้ฟังว่าไปโมร็อกโกมาแล้วอยากเขียนหนังสือแต่กลัวจะไม่น่าสนใจ เราให้ใช้วิธีนี้นะ ลองเดินถามคนในห้องนี้ก็ได้ว่าใครเคยไปโมร็อกโกบ้าง เวลาเราทำหนังสือเราคิดแค่นี้ ไม่ใช่ทุกคนมีโอกาส Explore ทุกเรื่องด้วยตัวเอง เช่น อาชีพหมอ เราไม่มีทางได้รู้ หนังสือ #เรียนหมอหนักมาก IT’S NOT EASY TO BE A DOCTOR ของ พี่เพลีย guplia ก็เลยเกิดขึ้นมา 

“ส่วน Remind คือรำลึกความหลังหรือสิ่งที่ Touching หลักๆ เราคิดถึงสองเรื่องนี้ เลยไม่จำเป็นต้องเป็นคนดังมาเขียนเลย ไม่ใช่ว่าหมอคนดังจะเล่าเรื่องหมอได้สนุก มนุษย์โรงแรมจะมีชีวิตแบบพี่วิชัยสักกี่คน เราบอกนักเขียนเสมอว่า มุมมองจากพวกเราคือมุมมองจากคนอ่านนะ มันจะได้คุยกัน ไม่ได้มีสถานะเป็นคนเสนอกับคน Approve งาน นอกจากมีส่วนร่วมในการสร้างงาน ผลที่เกิดขึ้นก็รับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งพอไม่ได้เป็นคนดัง การเดิมพันเลยต่ำ น้อยคนมากที่วันแรกที่ออกหนังสือจะมีแฟนคลับมารอสนับสนุน” แบงค์สรุป

4

คิมบับแซลมอน

หนังสือ : SORRY, SORRY ขอโทษครับ…ผมเป็นติ่ง 

เขียน : คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

คุยกับผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ถึงแนวคิดและตัวตนที่ตั้งใจว่ายทวนกระแส ไปวางไข่บนชั้นหนังสือมาตลอดสิบปี

ถ้าแซลมอนเป็นอาหาร (จนวันนี้ยังมีคนเข้าใจผิด ทักเข้ามาสั่งปลาแซลมอนสดที่เพจสำนักพิมพ์อยู่เลย) ปลาจานนี้จะอร่อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับฝีมือและความเชี่ยวชาญของเชฟ ฉันใด

ความเป็นสำนักพิมพ์แซลมอน ก็อยู่ที่คณะทำงานและกองบรรณาธิการ ฉันนั้น

โดยเฉพาะแนวทางการทำงานตัั้งแต่ยุคแรกที่ส่งผลถึงปัจจุบัน ทั้งหลักการมองหาต้นฉบับ การปั้นงานไปด้วยกัน แม้จะมีหนังสือเล่มรวมบทความบ้าง แต่ 80 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือออกใหม่ในแต่ละปี เกิดจากคิดการทำใหม่ เริ่มต้นใหม่

“แซลมอนเป็นสำนักพิมพ์ที่มีต้นฉบับพร้อมรอพิมพ์น้อยมากๆๆๆ ส่วนใหญ่เราจะปลูกสร้างงานพร้อมๆ กับนักเขียน เราไม่ค่อยกลัวเรื่องนี้ เพราะบางทีการที่นักเขียนมาพร้อมต้นฉบับเกือบเสร็จนั้นทำงานเหนื่อยกว่า” แบงค์ยกตัวอย่างวันแรกของ ต่อ-คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง ตอนที่เริ่มทำ SORRY, SORRY ขอโทษครับ…ผมเป็นติ่ง

“งานคันฉัตร หีบห่ออาจดูหยาบคาย แต่เส้นคอนเทนต์คมนะ ความเป็นครูสอนวิจารณ์หนังที่ปากจัด ดูเหมือนเป็นคนไม่เอาใคร แต่เขียนหนังสือโคตรสนุกเลย คันฉัตรเป็นนักเขียนวิจารณ์หนังอินดี้ในนิตยสารหนังอยู่แล้ว วันที่ออกนอกประเทศครั้งแรก เขาเลือกไปเกาหลีใต้ ไปดูคอนเสิร์ต Big Bang มันดูขัดแย้งกันไปหมด แค่นี้ก็เป็นคอนเทนต์แล้ว คนแบบนี้แหละ ระหว่างทางเป็นไงไม่รู้นะ แต่เราพบปลายทางแล้วว่าจะเป็นอะไร ขณะเดียวกันเขาก็อธิบายวัฒนธรรม K-POP ของเกาหลีได้ดีด้วย” แบงค์เล่าเบื้องหลังหนังสือบันทึกประสบการณ์การเดินทางเล่มแรกของคันฉัตร ผู้ที่ต่อมามีงานตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์แซลมอนมากถึง 9 เล่ม

5

แซลมอนกระโดดกำแพง

หนังสือ : A GUIDE TO BEHAVING BETTER ทุกพฤติกรรมมีความเสี่ยง โปรดอย่าลำเอียงก่อนตัดสินใจ 

เขียน : ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

ชื่อหนังสือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างบุคลิกให้หนังสือของสำนักพิมพ์แซลมอน

“ที่ชอบมากและจำแม่นคือ CULTURE STRIKE ไม่ไทยแลนด์ ทำแทนไม่ได้ ของกาย เรานี่ยืนปรบมือให้เลย เมื่อก่อนที่กอง บ.ก. มีวัฒนธรรมคิดชื่อแล้วมาขายให้ชาวกองฯ ฟัง ถ้าเขาชอบใจเพราะตลกก็คือผ่าน แต่ถ้าทุกคนฟังแล้วเงียบๆ ไป โอเค รู้กันว่ามันยังไม่ดี” 

ลองฟังตัวอย่างชื่อหนังสือที่ผ่านพร้อมกัน

A GUIDE TO BEHAVING BETTER ทุกพฤติกรรมมีความเสี่ยง โปรดอย่าลำเอียงก่อนตัดสินใจ ของ ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ ของ มนสิชา รุ่งชวาลนนท์

ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ ของ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

“อันนี้เราชอบเป็นพิเศษ ฟังแล้วมันดูเอี๊ยดอ๊าดดี” แบงค์เล่า

ถึงกระนั้น ครั้งหนึ่งสำนักพิมพ์ก็มีปัญหาเรื่องชื่อหนังสือ (ที่ไม่ได้ตั้งใจกวน) และแก้ไขด้วยชื่อหนังสือ (ที่ฟังแล้วดูออกว่าตั้งใจกวน) หนังสือเล่มนั้นคือ บันทึกการเดินทางของนายวิชัย มาตกุลฯ

ก่อนหน้านั้นหนังสือมีชื่อว่า แรดลายมังกร แต่เพราะสำนักพิมพ์ยังใหม่ อำนาจต่อรองยังน้อย ก็เจอปัญหาร้านหนังสือไม่รับ เพราะปกที่ดูล้อเลียนและชื่อหนังสือที่มีคำว่ามังกรจะทำให้มีปัญหากับจีนได้ 

“แต่เราพิมพ์ไปหมดแล้ว คืนนั้นก็นัดพี่วิชัยคิดชื่อหนังสือใหม่ เลยกลายเป็นหนังสือที่ทุกวันนี้ก็ยังจำชื่อที่ถูกต้องไม่ได้เพราะมันยาวมาก ยาวแบบสองทวิตฯ ไม่จบ”

ชื่อใหม่คือ บันทึกการเดินทางของนายวิชัย มาตกุล คนไทยเชื้อสายจีนที่ไม่เคยไปประเทศจีนมาก่อน แต่ฝันว่าอยากไปกำแพงเมืองจีน อยากเห็นสนามกีฬารังนกสักครั้งและซื้อรองเท้าไนกี้สักคู่ 

เดิมมีคอนเซปต์ที่สนุกมากอย่างการไปตามหาของเก๊ในจีน ไปดูกันดัมเก๊ โทรศัพท์เก๊ ทุกอย่างเก๊ ไนกี้เก๊ แต่ดันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะแต่ละมณฑลมันไกลมาก จึงปรับคอนเซปต์ใหม่กลายเป็นบันทึกการเดินทางท่องเที่ยวจีนของ วิชัย มาตกุล คนไทยเชื้อสายจีนที่ไม่เคยไปประเทศจีนมาก่อน แต่ฝันว่าอยากไปกำแพงเมืองจีน อยากเห็นสนามกีฬารังนกสักครั้ง และซื้อรองเท้าไนกี้สักคู่ แทน

ใครจะไปคิดว่าวิธีการตั้งชื่อยาวๆ แบบนี้ได้ผล

ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ จะมีการประชาสัมพันธ์หนังสือใหม่ของสำนักพิมพ์และบูทต่างๆ ผ่านเสียงตามสายตลอดทั้งวัน ซึ่งขนาดคนประกาศอ่านชื่อเต็มของหนังสืบจบ ยังหัวเราะออกอากาศ ก่อนจะเดินตามมาซื้อหนังสือพี่วิชัยที่บูทจริงๆ

6

สเต๊กแซลมอน

หนังสือ : NEW YORK 1st TIME นิวยอร์กตอนแรกๆ… 

เขียน : เบ๊น-ธนชาติ ศิริภัทราชัย 

คุยกับผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ถึงแนวคิดและตัวตนที่ตั้งใจว่ายทวนกระแส ไปวางไข่บนชั้นหนังสือมาตลอดสิบปี

NEW YORK 1st TIME นิวยอร์กตอนแรกๆ… บันทึกรวมประสบการณ์ครั้งแรกในนิวยอร์กของผู้เขียน และก็เป็นหนังสือเล่มแรก ของนักเขียนคนแรกที่ไม่มางานเปิดตัวหนังสือครั้งแรกด้วย

การที่นักเขียนไม่มางานหนังสือแล้วสำคัญยังไง 

แซลมอนเป็นสำนักพิมพ์ที่ใกล้ชิดกับแฟนคลับมาก เพราะนักเขียนค่อนข้างเป็นมิตร พึ่งพาการปรากฏตัวสูง และการฝากเนื้อฝากตัวในงานหนังสือครั้งแรกจะช่วยสร้างโอกาสในการขายผลงาน

“เราคุยกันว่า หนังสือเล่มนี้จะขายได้เหรอ เพราะหนังสือแซลมอนตอนนั้นไม่ค่อยพิมพ์สี่สี ราคาหนังสือจึงอยู่ที่ร้อยหกสิบถึงสองร้อยบาท แต่เล่มนี้ไปแตะที่สามร้อยกว่าบาท พี่แบงค์ตัดสินใจพิมพ์สี่สี เพราะอ่านต้นฉบับแล้วสนุกมาก เป็นโมเมนต์วัดดวงมากๆ ช่วงที่กำลังปิดเล่มอยู่ พี่เบ๊นก็กลับมาพร้อมปล่อยคลิป BKK 1st Time : ตอนโดนคนไทยด่าครั้งแรก ของลุงเนลสัน” กายเล่า

New York 1st Time ทำให้แซลมอนเปลี่ยนความคิดว่าหนังสือก็โฆษณาได้

“ตอนปล่อยคลิปลุงเนลสัน เราโดนคนในวงการสำนักพิมพ์วิจารณ์เยอะมาก หลักๆ เป็นเรื่องที่เราเอาฝรั่งมาด่าคนไทยเพื่อขายหนังสือ เมื่อก่อนคนทำหนังสือชอบทำให้หนังสืออยู่บนหิ้ง หนังสือดีเดี๋ยวขายได้เอง แต่ไม่ใช่ไง มันควรโฆษณาได้ ขณะที่คนดูทั่วไปรู้สึกสนุกสนานกับคลิป แล้วตามมาซื้อหนังสือจริงๆ แถมเรียกว่า ‘หนังสือที่พ่อชื่อจอห์น’ นอกจากจะเป็นหนังสือที่เปิดโลกใหม่ให้เรา ยังเป็นเล่มที่ทำให้เราตัดสินใจเปิด Salmon House” แบงค์เล่า

ตอนหนังสือเล่มนี้ออกมีคนไปต่อแถวรอซื้อหนังสือที่บูทในงานหนังสือมากเป็นปรากฏการณ์ (นอกจาก New York 1st Time แล้วยังมีคนไปต่อแถวซื้อดีวีดี Mary is Happy, Mary is Happy. ที่แซลมอนเป็นผู้จัดจำหน่ายด้วย) แบงค์แอบกระซิบบอกว่าเป็นปีที่แซลมอนได้จับเงินทอนเป็นแสน และในลังกระดาษหลังแคชเชียร์มีเงินเป็นล้าน

7

ข้าวผัดกะเพราแซลมอนสับไข่ดาวไม่สุก 

หนังสือ : YOUNG & WILD 

เขียน : จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์

คุยกับผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ถึงแนวคิดและตัวตนที่ตั้งใจว่ายทวนกระแส ไปวางไข่บนชั้นหนังสือมาตลอดสิบปี

ถ้าไม่ใช่แฟนคลับนัมเบอร์วันจริงๆ น้อยคนจะรู้ว่าแซลมอนก็มีงานวรรณกรรม เรื่องสั้น เรื่องแต่ง ซึ่งแบงค์เล่าว่า หนังสือสายวรรณกรรมทั่วไปมีเทรนด์ของตัวเอง เช่น จิตวิเคราะห์ ปรัชญาชีวิต เข้าป่าได้ยินเสียงแว่วๆ มาจากที่อื่นๆ 

“เราโตมากับวรรณกรรมแบบนั้น แต่ทำไมจะต้องหาตัวตนกันขนาดนั้น ซึ่งงานของ กุ๊บ-จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ (ผู้เขียน พิพิธภัณฑ์เสียง และ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า) ไม่ใช่แบบนั้นเลย กุ๊บกวนตีนมาก หรือแม้แต่ แพง-ฆนาธร ขาวสนิท (ผู้เขียน แปดปีหลังจากนั้น และ ขอสวรรค์จงมาถึง AS IT IS IN HEAVEN) ก็แพรวพราวในแบบของตัวเอง เราชอบงานแพงเพราะใช้เทคนิคระดับเดียวกับพวก Copywriter เทพๆ” แม้จะออกตัวเสมอว่าไม่ถนัดจับวรรณกรรมไทยและเรื่องแต่ง แต่แบงค์ก็อธิบายแนวทางที่เลือกได้ชัดเจน

ลักษณะเฉพาะของวรรณกรรมแบบแซลมอนคือ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาที่อ่านแล้วต้องแปล แต่เป็นคำทั่วไปที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งเขาเอามาแต่งให้สวยงาม และมักเรื่องเล่าธรรมดา

“เหมือนเราฟังเพื่อนคุยกัน พูดกู พูดมึง เล่นมุกตลกในเรื่องสั้น มีความกวนตีน ไม่จำเป็นต้องซีเรียสก็ได้นี่นา จริงๆ วิถีตัวละครมันอาจจะใกล้เคียงคนอ่านด้วย เล่นเฟซบุ๊ก เดินลิโด้ ทำในสิ่งที่เราก็ทำในชีวิตประจำวัน เรื่องสั้นของแซลมอนเลยเชื่อมโยงกับคนวัยเดียวกัน มันสื่อสารผ่านตัวละครและการกระทำของพวกเขา” กายเล่า ก่อนที่แบงค์จะเสริมว่า

“อย่างบางทีความรู้สึกเหงาก็ไม่ต้องถึงขั้นอธิบายมันอย่างกับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เหงาอาจจะแค่การแสดงออกของตัวละครที่กำลังไถเฟซบุ๊ก

“ถ้าต้องเลือกสักเล่มเป็นตัวแทน เราชอบ YOUNG & WILD ของกุ๊บ เดิมหนังสือเล่มนี้ เป็นงานที่ผลิตเพื่อลูกค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เจ้าหนึ่ง เขามีแคมเปญอยากผลักดันเรื่องราวของวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ เจ็ดคนในสายอาชีพต่างๆ แต่จะทำหนังสือสัมภาษณ์ก็ธรรมดาไป เลยเสนอว่าจะเอาเรื่องของพวกเขามาทำเป็นเรื่องสั้น แล้วกุ๊บดันเขียนสนุกมาก ปรากฏหนังสือเล่มนี้ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ในหมวดรวมเรื่องสั้น จากเซเว่นบุ๊กอวอร์ด เอ้ย แบบนี้ก็ได้ว่ะ โจทย์จากลูกค้า เราก็ทำให้เป็นงานที่ดี จนหนังสือได้รางวัล”

8

แซลมอนทอดน้ำตา

หนังสือ : ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ 

เขียน : จิราภรณ์ วิหวา

คุยกับผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ถึงแนวคิดและตัวตนที่ตั้งใจว่ายทวนกระแส ไปวางไข่บนชั้นหนังสือมาตลอดสิบปี

ทานยาหลังอาหาร แล้วดื่มน้ำตามากๆ ของ เต้-จิราภรณ์ วิหวา (ผู้เขียน เขตการปกครองมายองเนส และ สนธิสัญญาฟลามิงโก) รวมเรื่องสั้น 13 เรื่องบรรเทาความเศร้า สำหรับคนไม่ถนัดการฟูมฟาย เป็นเล่มลูกครึ่ง (พิมพ์ครั้งแรกกับมหาสมุด และพิมพ์อีก 4 ครั้งกับสำนักพิมพ์แซลมอน)

“เราเอาเล่มนี้กลับมาพิมพ์ซ้ำ ด้วยเหตุผลว่า หนึ่ง มันขาดตลาดมานานมาก สอง มานึกย้อนอีกทีแม้เรื่องจะเก่าแล้ว แต่พอมาอ่านในเวลานี้มันยังร่วมสมัย ตัวละครพี่เต้มีมวลมนุษย์เศร้า แต่ไม่ใช่เศร้าแบบนั้น เพราะพี่เต้มีความตลก มีความหน้าตาย เล่นมุกของเขา และมันไม่จำเป็นต้องจบสูตร สำหรับเราก็คิดว่าหนังสือน่าจะมีชีวิตต่อของมัน มากกว่าจะปล่อยให้จบไป ในทางหนึ่ง ทานยาฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มหนังสือเล่มแรกๆ ที่ทำให้รู้จักสำนักพิมพ์ ถือเป็นการไหว้ครู” บ.ก. บห. รุ่นปัจจุบันเล่า

“สำหรับเรา นักเขียนฟิกชันที่ดี คือคนที่สร้างบรรยากาศของตัวเองได้ เหมือนเข้าไปในห้องเขา ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ทำอย่างนั้นได้ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นอิทธิผลของผู้แปลยุคแรกหรือเปล่านะ เพราะเราอ่านแต่แปลไทย ซึ่งวิธีอธิบายและการสร้างบรรยากาศแบบมูราคามิพาเราไปถึงตรงนั้น ซึ่งพี่เต้ทำได้” แบงค์เสริมนิยามของนักเขียนเรื่องแต่งในอุดมคติ

แบงค์ : พี่เต้เขามีมวลเฉพาะตัว มีออร่า

กาย : มิน-นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ก็ใช่นะ 

แบงค์ : อ๋อ คนที่เขียน FAMILY COMES FIRST ด้วยรักและผุพัง

“พี่แบงค์ชอบเขียนออกตัวในคำนำหนังสือเรื่องสั้นสมัยก่อนว่า ‘เราไม่ถนัดการทำเรื่องแต่ง’ และจะชอบมีท่อนขายว่า ‘ถ้าเราได้อ่านเรื่องสั้นที่ชอบจนอยากขี่จักรยานไปให้เพื่อน’ เรานึกถึงคำนี้อีกครั้งตอนที่ทำต้นฉบับ ด้วยรักและผุพัง เรารู้สึกว่าเล่มนี้เต็มไปด้วยดีเอ็นเอแบบแซลมอน นั่นคือ หนึ่ง ไม่ได้พูดเรื่องยาก สอง มินมีลีลาแพราวพราว สาม อ่านจบแล้วอยากรีบไปให้เพื่อนอ่าน ซึ่งเพื่อนคนนั้นก็คือ ย้วย (นภษร ศรีวิลาศ)” กายเล่า

/มาถึงขนาดนี้แล้ว ขอฝาก ด้วยรักและผุพัง ไว้ในอ้อมใจแฟนๆ The Cloud ด้วย 

ไอศกรีมปลาแซลมอน

หนังสือ : ONCE UBON A TIME อุบลเป็นเมืองชิคๆ

เขียน : ธนชาติ ศิริภัทราชัย

คุยกับผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ถึงแนวคิดและตัวตนที่ตั้งใจว่ายทวนกระแส ไปวางไข่บนชั้นหนังสือมาตลอดสิบปี

เมื่อถามถึงตัวแทนหนังสือแซลมอนที่ทดลองมากๆ 

แบงค์เลือก อุบลเป็นเมืองชิคๆ ทันที

“ยุคนั้น Kinfolk และคำว่าชิคกำลังมา เบนซ์ซึ่งเป็นนักเสียดสีชาวอุบล เดินมาบอกว่าอยากทำโฟโต้บุ๊กวิถีชีวิตแบบชาวอุบลฯ เราก็โอเค ไปเลย ควงกล้องไปตัวหนึ่ง หนังสือเล่มเท่านี่ พิมพ์สีทั้งเล่ม ค่าโปรดักชันแยก ใครจะซื้อวะ ทุกวันนี้ก็ยังงง ข้างในก็เป็นบทสัมภาษณ์ปลอมๆ ตามสไตล์ธนชาติ ขณะที่แซะทุนนิยม ก็แซะบ้านเกิดตัวเองไปด้วย เป็นโฟโต้บุ๊กสวยๆ ขายสไตล์ คนก็ชอบกันพอสมควร” 

อ๊ะ ขอตัวอย่างสนุกๆ อีกสักเล่ม

10

บิงซูไข่ปลาแซลมอน

หนังสือ : ดวงตาเห็นคำ ของ สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล 

คุยกับผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ถึงแนวคิดและตัวตนที่ตั้งใจว่ายทวนกระแส ไปวางไข่บนชั้นหนังสือมาตลอดสิบปี

กายเลือกหนังสือคอนเซปต์โหดจัดอย่าง โซทรู้ธ ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี 

“ทุกวันนี้มาคิดก็ยังไม่รู้ว่าจะทำแบบนั้นไปทำไม คงคล้ายกับ อุบลเป็นเมืองชิคๆ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ทุกเรื่องเล่นกับคอนเซปต์ว่าความจริงคืออะไร มันมีความจริงอยู่จริงหรือเปล่า เราจะเชื่อสิ่งที่บทสัมภาษณ์พูดได้ไหม เราจะเชื่อได้ไงว่านี่คือเรื่องจริง เล่นกับความจริงหลายมิติ แล้วตอนนั้นมีงาน Bangkok Art Book Fair ก็เลยคิดว่าหรือเอาอันนี้ไปทำเปิดโปรเจกต์ ทำเป็นหนังสืออาร์ตสักเล่ม

“สอง รู้สึกเรื่องของพี่คงเดชสนุกดี ควรจะมีอะไรมากกว่าเป็นแค่พ็อกเกตบุ๊กปกติ ก็คุยกับดีไซเนอร์คือ พี่โจ้-วชิรา รุธิรกนก แห่ง Rabbithood ออกมาเป็นหนังสือที่ฉากหน้าเราเห็นเป็นหนังสือเล่มใหญ่ แต่พอเปิดดูด้านหลังเราจะเห็นมันพิมพ์ไล่ระดับ มันจะไม่ได้เข้าเล่มปกติ ระดับแตกต่างกันไป คอนเซปต์คือ คุณจะเชื่อได้อย่างไรว่านี่คือหนังสือเล่มหนึ่ง ขนาดเท่านี้คือขนาดที่แท้จริงของมันหรือเปล่า ความจริงมันลดหลั่นกันลงไป มันเล่นกับคอนเซปต์เยอะมาก ซึ่งมันทำให้หนังสือแพงโดยใช่เหตุ พิมพ์ก็น้อย เป็นโปรเจกต์ที่ในเวลานั้น ทั้งในแง่ดีไซน์และคอนเซปต์ก็โอเคอยู่นะ แต่ตอนนี้เราแค่รู้สึกว่า ไปๆ มาๆ ก็ทำให้เสียโอกาสในการขาย แทนที่จะไปไกลได้มากกว่านี้ ต้องมาสะดุดเพราะเราเล่น เราทดลองมากจนเกินไป” 

กายเล่าบทเรียนจาก โซทรู้ธ ก่อนจะพาแซลมอนกลับมาลงสนามหนังสือศิลปะหรือหนังสือทำมือใหม่ ด้วยคอนเซปต์หนังสือเล่มจิ๋วแต่แจ๋ว ได้แก่ ดวงตาเห็นคำ ของ สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล

“ไอเดียมาจาก คนชอบบอกว่าไม่มีเวลาอ่านหนังสือ หนังสือแพง หนังสือหนาเกินไป พกพาไม่สะดวก ประกอบกับอยากลองทำหนังสือที่ให้นักเขียนพูดเรื่องที่เขาสนใจเรื่องเดียวไปเลย เพราะนักเขียนของเราทุกคนดูไม่มีเวลา คิดว่าน่าจะทำหนังสือเล่มเล็กๆ พูดเรื่องเดียว ความยาวสิบ ยี่สิบหน้ากระดาษ A4 แต่มันต้องเอาคนที่มีแพสชันในเรื่องนั้นมาเล่า ก็นึกถึง น้องนอนในห้องลองเสื้อ กับ เนย-สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล อยากให้ซีรีส์นี้กลายเป็นที่รวมงานอดิเรกของนักเขียน” กายเล่า

11

ชุดเบนโตะรวมมิตรปลาแซลมอนสุดพรีเมี่ยม

หนังสือ : UNTITLED CASE: HUMAN HORROR ชมรมคนหัวลุก 

เขียน : ยชญ์ บรรพพงศ์ และธัญวัฒน์ อิพภูดม

คุยกับผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ถึงแนวคิดและตัวตนที่ตั้งใจว่ายทวนกระแส ไปวางไข่บนชั้นหนังสือมาตลอดสิบปี

แซลมอนพิถีพิถันกับการออกแบบหนังสือมาตั้งแต่หนังสือเล่มแรกๆ อย่าง อ่านออกเสียง ของ เผ่าจ้าว กำลังใจดี หรือ จักรพันธุ์ ขวัญมงคล ออกแบบรูปเล่มและปกโดย รมย์ศิลป์ สุขประเสริฐ โดยเหตุผลที่ปกแซลมอนยุคแรกมักเป็นภาพประกอบ เพราะแบงค์เชื่อว่าเข้าถึงง่าย ประกอบมีนักเขียนและนักวาดภาพประกอบในมือจำนวนหนึ่ง

“เราเน้นความสวย แต่ก็หนีความคลีน เนื่องจากหนังสือปกขาวมันเปื้อนง่าย พอไปพังที่ร้านหนังสือเขาก็ส่งคืน เมื่อโจทย์ในการทำงานคือ ไม่เอาปกขาว เราก็ต้องหาทางแก้อื่น นำไปสู่ดีไซน์อื่นๆ มีเรื่องตลกภายในองค์กรคือ ผู้บริหารขอร้องไม่ให้ทำหนังสือปกสีเขียว เพราะเป็นกาลกิณี ทีมบรรณาธิการเราสู้กันเรื่องนี้เยอะมาก ครั้งหนึ่งที่ปกหนังสือของเบ๊นมีสีเขียว เราก็ต้องให้กราฟิกเพิ่มความฟ้าลงไปหน่อย แต่ตอนนี้คงไม่เป็นไรแล้ว หนังสือปกสีเขียวเล่มล่าสุดคือ UNTITLED CASE: HUMAN HORROR ชมรมคนหัวลุก ของ ยชญ์ บรรพพงศ์ และ ธัญวัฒน์ อิพภูดม เขาน่าจะรักอยู่นะ เพราะขายดีมาก” แบงค์เล่า

ถ้าเป็นเรื่องจากปก แบงค์กับกายเล่าบทเรียนของกอง บ.ก. ได้เป็นวันๆ 

เช่น ถ้าปกไม่เคลือบก็เสี่ยงเลอะ แต่ถ้าเคลือบต้นทุนการผลิตก็สูง ภาระไปตกที่คนอ่าน ถ้าทำปกพับอย่าเคลือบ หรือห้ามใช้กระดาษแข็งทำปกเพราะเสี่ยงปกหักถ้าเปิดบ่อย คนจับหนังสือที่ร้านพอเจอปกหักเขาก็วางลงไม่ซื้อ กลายเป็นหนังสือเสีย

ขณะเดียวกันก็มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลย นั่นคือการใช้สีพิเศษ

“ที่เลือกใช้สีพิเศษ สีนีออน สีสะท้อนแสง เพราะสงครามมันอยู่หน้าชั้นหนังสือในร้าน เราเป็นสำนักพิมพ์แรกๆ ที่พิมพ์สองสี แล้วยังเป็นสีนีออนได้ด้วย แต่ก็ได้บทเรียนว่าสีมันอ่อนจนอ่านยาก ในแง่ยอดขาย เราอาจจะไม่ใช่สำนักพิมพ์ที่ขายดีมากและรวยมาก แต่ก็ถือเป็น Trendsetter ในยุคหนึ่ง ตัดสินใจพิมพ์ถูกหน่อยโดยใช้ดีไซน์แลกมา ทำปกดีหน่อย แม้ด้านในจะพิมพ์ขาวดำ หรือพิมพ์สองสี นี่อาจจะเป็นสูตรที่เราโอเค นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดเล็กอย่างสัมผัสจากกระดาษที่เลือกแล้วเลือกอีก

“เราว่าหนังสือแซลมอนยุคกายปกสวยมาก ถ้าเป็นแฟนสำนักพิมพ์จะกรี๊ดมาก” แบงค์หยอด

“ไม่พี่ มันสวยมาตั้งแต่ยุคพี่แล้ว” กายหยอดกลับ

อย่าเถียงกันค่ะ สวยทุกปกจริง เชิญรับชมได้ที่นี่

12

วาซาบิ

หนังสือ : ปิดเล่มไม่ทัน (ไม่มีหนังสือ)

ทุกคนรู้ แฟนคลับ (ยิ่งกว่า) รู้ แซลมอนมีเอกลักษณ์เรื่องปิดเล่มไม่ทันงานหนังสือ 

“เราปิดไม่ทันจริงๆ มีปีหนึ่งที่งานหนังสือจะเปิดแล้ว แต่ยังไม่มีเล่มไหนปิดเสร็จเลย ที่บูทเราก็ขายโปสการ์ดในราคาหนังสือไปก่อน เมื่อหนังสือเสร็จเราจะจัดส่งถึงบ้าน ปรากฏมีคนต่อคิวซื้อโปสการ์ดนั้น และบางคนซื้อเป็นเซ็ต” แบงค์เล่าถึงชุดโปสการ์ด apologift ในตำนาน

“รอบหนังสือ NEW YORK 1st TIME นิวยอร์กตอนแรกๆ… งานหนังสือเปิดแล้วเรายังปิดเล่มกันอยู่เลย หรือบางปีงานหนังสือผ่านไปสามวันแล้ว ยังตรวจดิจิทัลปรูฟอยู่ กลายเป็นภาพจำไปแล้ว แฟนคลับแซลมอนเขารู้นะ บางทีเขาคอมเมนต์ใต้คอนเทนต์หนังสือใหม่ว่า ‘ออกเมื่อไหร่อะ’ หรือ ‘งานวันแรกมาครบหรือยังคะ’ คลาสสิกมาก สำหรับคนทำโคตรเป็นปมในใจ” กาย บ.ก. บห. ผู้คลายปมในใจด้วยการสร้างสถิติใหม่ ปิดเล่มทันงานหนังสือ 2 ปีซ้อน

เย่ เราทำได้แล้ว แซลมอนมีหนังสือพร้อมขายตั้งแต่วันแรกที่เปิดงานหนังสือแล้ว 

…แต่งานหนังสือก็มีอันเป็นต้องเลื่อนไป เลยอดไปเสิร์ฟถึงมือด้วยตัวเอง (เหม่อมองฟ้า มีน้ำตาไหลหนึ่งข้าง)

13

สลัดแซลมอนรมควัน

หนังสือ : WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ 

เขียน : มนสิชา รุ่งชวาลนนท์

คุยกับผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ถึงแนวคิดและตัวตนที่ตั้งใจว่ายทวนกระแส ไปวางไข่บนชั้นหนังสือมาตลอดสิบปี

หลังจากพาคุณชิมหลากหลายเมนูแนะนำไปข้างต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะอิ่มอร่อยถูกใจ (มือเอื้อมหยิบยาลดกรดแจกตามหลัง) นอกจากแซลมอนตัวนี้จะถนัดทำเมนูหลากหลาย ทุกจานจากเรายังเคี้ยวง่าย

แซลมอน คือสำนักพิมพ์ที่ถนัดทำหนังสือเคี้ยวง่าย (เย่ เชื่อมโยงได้ซะที)

“เคี้ยวง่ายไม่ใช่การย่อยมาอธิบาย แต่มันเป็นเรื่องภาษา” 

“มีคนเคยทักว่าทำไมหนังสือของแซลมอนถึงมีคำว่า กู-มึง ทุกหน้า เราก็ตั้งคำถามนี้กับตัวเองเหมือนกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราวางตัวเองเป็นคนที่นั่งข้างๆ คนอ่าน ไม่ใช่เพื่อนหรือรุ่นพี่คนที่อยู่หน้าชั้น แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ต้องมีกูมีมึงทุกเล่ม เคยคุยกันว่าจังหวะที่ต้องใช้คำว่าเหี้ยก็ต้องเหี้ยจริงๆ ใช้คำอื่นไม่ได้” แบงค์เล่า

โดยดีเอ็นเอแล้ว ในความเคี้ยวง่ายนั้นก็มาจากการที่ สำนักพิมพ์แซลมอนทำหนังสือทีเล่นทีจริงได้เก่งที่สุด

จะบอกว่าทีจริงก็ทำได้ ทีเล่นก็ชำนาญ

สำหรับคนที่โตมากับหนังสือของ สำนักพิมพ์แซลมอน แม้วันนี้จะเติบโตและเลือกเดินต่อในเส้นทางที่ตัวเองชอบ เราเชื่อว่าคุณต้องมีหนังสือแซลมอนเป็นเพื่อนคนแรกที่พาคนอ่านไปสู่โลกของหนังสือเล่มอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไป

“เคยได้ยินคนพูดว่ายุคนี้มันไม่ใช่ยุคแซลมอนแล้ว สำหรับเราไม่เป็นอะไรเลยถ้าผู้อ่านเขาโตขึ้นหรือจะอ่านแซลมอนแค่เล่มเดียวแล้วไป อย่างน้อยเขาก็รู้จักเรา เช่น สมมติเขาสนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองแล้วเขาอ่าน WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ ของ มนสิชา รุ่งชวาลนนท์ เป็นเล่มแรก เราก็ต้องยอมรับว่า แล้วจะให้เขาอ่านอะไรของแซลมอนต่อ ในเมื่ออีกร้อยกว่าเล่มที่ผ่านมาไม่มีเรื่องแนวนี้ 

“เราก็ต้องยอมรับว่าหนังสือเราอาจจะไม่หลากหลาย แต่ถ้าอย่างน้อยในกลุ่มคนที่ชอบเรื่องประวัติศาสตร์ ครั้งหนึ่งเขาเคยอ่านหนังสือของเรา อาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ แต่มันนำเขาไปสู่หนังสือสำนักพิมพ์มติชนหรือสำนักพิมพ์ยิปซี เราก็ดีใจนะ

“ข้อดีของแซลมอนอย่างหนึ่งคือ พูดเรื่องอะไรก็ได้ คนทำจึงรู้สึกฟรีสไตล์ อยากรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ก็หาคนมาเขียน เรื่องสงครามโลกครั้งที่สองน่าสนใจก็หาคนมาทำ ในมุมของคนทำมันไม่เบื่อ เพราะไม่ได้พูดเรื่องเดิมตลอดเวลา 

“ยิ่งช่วงหลังมีคนเคยพูดไว้ สำนักพิมพ์ที่จะอยู่รอดได้ ต้องพูดเรื่องเดียว หรือมีแนวทางหนังสือที่ชัดเจน หรือ Niche is a New Mass ถ้าเอาคำพูดนี้มาทาบกับสิ่งที่แซลมอนเป็น ไม่ได้เลยนะ (หันไปชี้หนังสือใหม่) มีอะไรบ้างล่ะ วรรณกรรมยุคเก่า เศรษฐศาสตร์ความสุข นิยาย ประวัติศาสตร์ แซลมอนไม่เคยพูดเรื่องเดียว เราเคยกลุ้มใจเหมือนกัน หรือว่าต้องปรับเป็นแนวทางเดียว เช่น ตอนนี้เขากำลังนิยมทำ Non-fiction ไม่พิมพ์แล้วไหมวรรณกรรมไทย ทำยังไงก็ขายไม่เท่าเขา แต่เราก็คิดว่า ถ้าทำแบบนั้นกลุ่มคนอ่านแซลมอนก็คงเหวอ และเราเชื่อว่า คนที่รู้จักแซลมอนเขารู้อยู่แล้วว่าในหนึ่งรอบ มันลุ้นเหมือนดูตัวอย่างหนังเข้าใหม่ ว่าจะมีแซลมอนเล่มไหนที่เข้าทางเขา

“ไม่จำเป็นหรอกที่ต้องจำกัดแนวทางของแซลมอนให้เป็นแนวเดียว แซลมอนดิ้นได้ หลากหลาย อาจจะกลับไปสู่จัดเริ่มต้นของพี่แบงค์ที่ว่ายทวนน้ำ แล้วตอนนี้ทุกคนทำแนวเดียวกันไปหมด เราก็ทำหลายแนวของเราต่อไป

“มีแฟนสำนักพิมพ์ที่ไม่ว่าเราออกหนังสืออะไรเขาก็อ่าน ในสิบเล่มอาจจะชอบสักแปด และหลายเล่มที่เขาโตมากับมัน” กายพูดถึงแฟนคลับ 

“ช่วงมีงานหนังสือ จะมีแฟนคลับบางคนที่เราก็จำหน้าเขาได้เข้ามาที่บูทแล้วซื้อทุกเล่ม แต่รอบไหนที่ไม่เจอเขา เราก็แอบคิดว่าปีนี้ทำอะไรผิดหรือเปล่า” เขาเสริมแล้วปิดท้ายว่า ให้กำลังใจชาวแซลมอนด้วยการอุดหนุนหนังสือใหม่ที่วางแผนรอบงานหนังสือปีนี้ได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

คุยกับผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน ถึงแนวคิดและตัวตนที่ตั้งใจว่ายทวนกระแส ไปวางไข่บนชั้นหนังสือมาตลอดสิบปี

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล