‘มือกลอง โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง ที่เกิดและเติบโตที่เมืองไทย แต่ย้ายไปอเมริกาเหนือตอนอายุ 20 เพื่อไล่ตามความฝัน’ 

ข้อความข้างต้นคือคำเกริ่นในหน้า ‘เกี่ยวกับศิลปิน’ บนเว็บไซต์ของ Salin หรือ สลิล ชีวพันธุศรี

เธอเป็นมือกลองชาวไทยที่ใช้ชีวิตและมีผลงานอยู่ที่ต่างประเทศ โดยผลงานอัลบั้ม ‘Stay Tuned’ ที่เธอร่วมบันทึกเสียงกับ โดมินิก ฟิลส์-เอมเม่ร์ (Dominique Fils-Aimé) ศิลปินแจ๊สชาวแคนาดา ได้รับรางวัล Juno Awards สาขาอัลบั้มขับร้องแจ๊สยอดเยี่ยมแห่งปี และ L’ADISQ อัลบั้มแจ๊สยอดเยี่ยมแห่งปี เมื่อปี 2019 ทั้งยังได้ร่วมแสดงบนเวที Polaris Music Awards 2019 มาแล้ว

Salin มือกลองหญิงไทยในแคนาดา กับอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ

Verse

เส้นทางการเป็นนักดนตรีของสลิล อาจคล้ายกับใครหลายคนในแวดวงนี้ แต่แต้มต่อที่เป็นความโชคดี คือเธอได้รับโอกาสและการสนับสนุนจากครอบครัว ที่ส่งเสริมให้เธอได้เรียนดนตรีตั้งแต่อายุยังน้อย สลิลเรียนเปียโนคลาสสิกตั้งแต่อายุประมาณ 6 ขวบ และเริ่มหลงใหลเสียงดนตรีตั้งแต่ตอนนั้น 

เด็กหญิงหมั่นฝึกซ้อมเองทุกวันโดยไม่ต้องให้ใครบังคับ แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคที่สรีระในวัยนั้นยังไม่สามารถเหยียบ Octave ของเปียโนได้ถนัด เธอจึงเปลี่ยนไปลองเล่นเครื่องดนตรีอื่น ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์หรือเบส เธอว่าได้แรงบันดาลใจจาก Clash วงร็อกไทยชื่อดัง แต่เมื่อเล่นไปสักพักก็พบปัญหาเดียวกัน จึงเปลี่ยนมาเล่นกลอง

 “เล่นกีตาร์ต้องให้นิ้วเราแข็งพอ เพราะต้องทาบคอร์ด มือต้องใหญ่ แต่เรามือเล็กมาก ไม่ถนัด เลยเลือกเล่นกลอง แล้วก็เล่นมาตลอด แต่เราไม่ได้บอกพ่อแม่ว่าเราจะเล่นจริงจัง อย่างพ่อก็ยังเป็นห่วงว่าถ้าเป็นนักดนตรีต้องเล่นงานดึก มีแต่คนเมา คนกินเหล้า แต่ก็ยังให้เราเล่นมาเรื่อยๆ ส่วนตอนนี้แม่ก็เศร้ามาก เพราะไม่คิดว่าจะใช้ชีวิตเป็นมือกลองจริงๆ (หัวเราะ)” 

หลังจากสลิลเลือกเล่นกลองมาได้ 3 ปี เธอก็เริ่มโพสต์วิดีโอตีกลองของตัวเองลงใน YouTube และแชร์ให้เพื่อน ของเธอดู ในช่วง ค.ศ. 2008 น่าจะเป็นยุคแรกๆ ที่ YouTube เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตวัยรุ่น และหลายคนผันตัวมาเป็น Vlogger ตั้งแต่ตอนนั้น (Justin Bieber หรือ เอิ๊ต ภัทรวี ก็มีจุดเริ่มต้นในสายนักดนตรีอาชีพจาก YouTube เช่นเดียวกัน)

Salin มือกลองหญิงไทยในแคนาดา กับอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ

เมื่อคนบนโลกอินเทอร์เน็ตได้เห็นความสามารถของเธอมากขึ้น ทำให้สลิลได้รับการติดต่อเพื่อชวนเธอมาตีกลองให้จาก เท็ดดี้ วง Flure (ธีรดล ธีโอดอร์ แกสตัน) ที่ขณะนั้นเขาเล่นให้กับวงอัลเทอร์เนทีฟ กรันจ์ในตำนานของไทยอย่าง อรอรีย์

“ตอนนั้นอายุสิบเจ็ด ได้เล่นกับเขาในเฟสติวัลสองปี หลังจากที่เขาพักวงไป เราก็ไม่รู้จะทำอะไร แม่อยากให้ไปเรียนเมืองนอกพอดี ก็เลยส่งไปเรียนอเมริกา” 

ระหว่างอยู่ที่นั่นเธอก็หารายได้พิเศษเหมือนกับนักเรียนไทยส่วนใหญ่ด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟ และเป็นพนักงานในร้านเบเกอรี่ แต่สลิลไม่ลืมที่จะต่อยอดความสามารถทางดนตรีด้วยการไปสมัครเล่นตามร้าน โพสต์ประกาศในโซเชียลมีเดีย เผื่อว่ามีวงไหนที่ต้องการมือกลอง เธอรับเล่นตั้งแต่แนวคันทรีไปจนถึงเมทัล เข้าร่วม Jam Session ที่เปิดโอกาสให้นักดนตรีที่ไม่เคยรู้จักกันมานั่งเล่นด้วยกัน ไปจนถึงลองเป็นนักดนตรีเปิดหมวก แม้สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แนวดนตรีที่เธอชื่นชอบไปเสียทุกแนว แต่สลิลเชื่อว่านั่นเป็นการสะสมประสบการณ์ให้เธอพัฒนาฝีมือได้มากขึ้น

Salin มือกลองหญิงไทยในแคนาดา กับอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ

“เขาคิดว่าเรียนจบแล้วจะกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน ปรากฏว่าเราดื้ออยู่ต่อ เพราะคิดว่าถ้าทำงานดนตรีที่นี่ ดูมีความเป็นไปได้ มีงานให้เล่นมากกว่า แล้วคนที่นี่ค่อนข้างอิสระ ไม่มีใครมาตัดสินเรา”

“แต่มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น” มือกลองสาวเปลี่ยนโทนเสียงเล่าต่อ

 “ต้องมีความอดทนสูง หรืออย่างเวลาเราเปิดหมวก บางทีเจอโฮมเลสมาไล่ที่ก็มี เคยเจอเป็นผู้หญิงตัวเล็กกว่าเราอีกนะ ดูเมา ถือขวดเหล้าเดินเข้ามาแล้วฟาดที่กลอง พูดกับเราว่า ‘ทำไมถึงมาอยู่ในที่ของฉัน นี่คือที่ของฉัน’ ขนาดอยู่บนถนนที่คนเยอะ เราเลยถามเขาดีๆ ว่าทำไมเขาทำแบบนี้ พอถามว่า ‘วันนี้เป็นไงบ้าง’ เขาก็ดูเศร้าขึ้นมาเลย แล้วก็เล่าเรื่องของเขา เข้าใจโฮมเลสบางคนก็ลำบากนะ หลังจากนั้นเลยเป็นเพื่อนกัน แล้วเขาจะมานั่งข้างๆ บ่อยๆ บางทีเขาก็มาบอกว่า ‘วันนี้วันเกิดฉัน ร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์ให้ฟังได้ไหม’ เราก็บอก ‘ได้เลย ไม่มีปัญหา สุขสันต์วันเกิดนะ’”

 Prehook

การแสดงริมถนนทำให้สลิลเริ่มเป็นที่รู้จักของคนในละแวกนั้นมากขึ้น จนหนึ่งปีให้หลัง ความสามารถของเธอก็ไปเข้าตาวงดนตรีที่มอนทรีอัลและชวนให้ไปร่วมวง เธอจึงย้ายไปอยู่ที่แคนาดาและร่วมทัวร์ด้วยกันในที่สุด

“ตอนนั้น Dominique Fils-Aimé นักดนตรีแจ๊สเขามองหาผู้หญิงมาเล่นด้วยกันในวง คือวงการดนตรีส่วนใหญ่ผู้ชายเยอะ แต่บางคนต้องการสร้างความเท่าเทียมทั้งเรื่องเพศ ชาติพันธุ์ มากขึ้น แล้วมือเบสของดอมินิคก็มาชวนเรา เพราะเขาเคยดูเราเล่นริมถนนแล้วไปบอกดอมินิค โทรมาให้เราไปอัดเพลงให้แล้วเพลงที่เล่นให้ก็ได้ Juno Awards จากนั้นเลยเล่นด้วยกันมาเรื่อยๆ”

ความน่าสนใจของสลิลคือแนวทางที่เธอเลือกเล่นดนตรี จากจุดแรกเริ่ม เปียโนคลาสสิก มาสู่วงร็อกแบบ Clash ก่อนที่จะไปเล่น Metal แล้วจึงได้มาทำความรู้จักกับ Soul และ Jazz จนเราสงสัยว่าแนวดนตรีที่เธอชื่นชอบจริงๆ คืออะไร

Salin มือกลองหญิงไทยในแคนาดา กับอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกว่าด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ

“ความจริง ถ้าเพลงดีแนวไหนมันก็ดี แต่ถ้าถามว่าตัวเองอยากเล่นแนวไหน ตอนเด็กๆ อยู่เมืองไทยมันก็มีความโกรธ ความอึดอัดกับสังคมที่เป็นอยู่ เหมือนเราเป็นเด็ก ทำอะไรของตัวเองไม่ได้ ท้าทายอำนาจผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ ต้องตามพ่อแม่ ตามเพื่อนตลอด ตอนนั้นเลยชอบเมทัลมากๆ รู้สึกว่าเพลงเป็นสิ่งหนึ่งทำให้ระบายสิ่งที่ถูกกดหรือที่พูดไม่ได้ ให้ออกมาได้ผ่านเสียงดนตรี

 “ตอนนี้ก็มาชอบพวกโซล ฟังก์ คืออยู่เมืองไทยก็มีฟังก์ แต่ก็เป็นฟังก์ป๊อปไทยๆ มากกว่า ที่นี่มันต่างกัน เรามีโอกาสค้นพบแนวเพลงใหม่ๆ มากขึ้น เลยชอบทางนี้มากขึ้น เหมือนพอเราโต รสนิยมทางดนตรีเราก็เปลี่ยนไปด้วย บวกกับค้นพบว่าเราใช้ชีวิตเองได้ คนที่นี่เขารู้จักการรักตัวเอง ตอนอยู่เมืองไทยไม่เคยมีใครบอกว่าการรักตัวเองต้องเป็นยังไง อาจเพราะเรายังเด็กด้วยมั้งเลยไม่เข้าใจ”

Hook | Cosmic Island

มีเรื่องหนึ่งที่ศิลปินอิสระบ้านเราพูดคุยกันอยู่บ่อยครั้งว่า “ประเทศไทยไม่เอื้อกับการจะมาเป็นศิลปินเต็มเวลา เว้นแต่ว่าเราจะมีต้นทุนทางสังคมมาบ้าง” ซึ่งเป็นเรื่องที่เราได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่การทำเพลง DIY เริ่มแพร่หลาย หลังจากมีเทคโนโลยีช่วยให้ทำเพลงได้จากที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องมีต้นสังกัดคอยควบคุมการผลิตแบบแต่ก่อน พอคนทำเพลงเข้าถึงความรู้และอุปกรณ์ผลิตเพลง การเป็นศิลปิน โปรดิวเซอร์ ของคนเดินดินธรรมดาก็ไม่เกินฝันอีกต่อไป ทว่าหลายคนเข้ามาอยู่ตรงจุดที่ว่าทำเพลงเองได้แล้ว ก็ไม่พ้นเรื่องต้นทุนการอัดเพลงที่ทุกคนบ่นอุบว่า ยิ่งทำ ยิ่งจน จนเมื่อขาข้างหนึ่งของเราก้าวเข้ามาทำวงดนตรีบ้าง ก็ได้ค้นพบว่าสิ่งที่พี่ๆ เพื่อนๆ น้อง ๆ บ่นกันนานมาแล้ว ไม่ได้เกินจริงไปเลยแม้แต่น้อย 

วันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา สลิลได้ปล่อยอัลบั้มชุดแรกในชีวิตที่ชื่อ ‘Cosmic Island’ ที่สาวมือกลองแทบจะอยู่เบื้องหลังกระบวนการผลิตผลงานทั้งหมด ตั้งแต่การเขียนเนื้อเพลง ทำดนตรี เลือกนักดนตรีมาร่วมงานด้วยกัน ไปจนถึงการออกทุนทำเพลงทั้งหมด ซึ่งสลิลก็บอกเราตามตรงว่าค่าใช้จ่ายในการอัดเพลงอัลบั้มหนึ่งไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

“แพงมากเลย (หัวเราะ) ออกเองทั้งหมด ต้นทุน การจัดการ หาเงินจากไหน โปรโมตยังไง ต้องดูเอง ตอนอัดสลิลก็อัดเอง แทร็กเอง ไม่ได้ไปสตูดิโอ แฟนสลิลเป็นคนมิกซ์ เลยพอตัดค่าตรงนี้ไปได้เยอะ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 แบบนี้ เมื่อก่อนศิลปินจะได้รายได้เพิ่มเติมจากการขายโชว์ แต่พอทุกอย่างหยุด หลายคนก็พบว่าที่ผ่านมาต้องพึ่งรายได้จากคอนเสิร์ตอย่างเดียวเลย” 

สลิล ชีวพันธ์ศรี มือกลองหญิงไทยในแคนาดา กับ ‘Cosmic Island’ อัลบั้มชุดแรกในชีวิต ที่ทำเองทุกขั้นตอนและหยิบปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ มาตีความเป็นเพลงทั้ง 8
สลิล ชีวพันธ์ศรี มือกลองหญิงไทยในแคนาดา กับ ‘Cosmic Island’ อัลบั้มชุดแรกในชีวิต ที่ทำเองทุกขั้นตอนและหยิบปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ มาตีความเป็นเพลงทั้ง 8

นักดนตรีหลายต่อหลายคนจึงจำเป็นต้องมีงานประจำทำไปควบคู่กัน เพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาเป็นทุนในการทำเพลง นั่นแปลว่า เวลาที่พวกเขาจะได้ทุ่มเท โฟกัส หรือใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปกับผลงานอันเป็นที่รัก ต้องถูกเจียดไปให้การทำงานประจำ ทำให้ความสม่ำเสมอในการปล่อยผลงาน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดดนตรีในยุคสตรีมมิงน้อยลง โอกาสที่คนจะได้ยินเพลงของพวกเขาก็น้อยลงไปด้วย

“พอการซื้อไวนิลกลับมาเป็นที่นิยมขึ้นก็ดีขึ้นนิดหนึ่งค่ะ เราต้องทำให้คนเข้าใจว่า การทำเพลงไม่ได้รายได้ดีนะ ถ้าเราชอบศิลปินคนไหนต้องช่วยอุดหนุนเขา” เธอเสริม

หลายคนอาจคิดว่า ทำเพลงเองได้ก็แล้ว การฟังฟรีผิดลิขสิทธิ์ก็น้อยลง แล้วทำไมยังเป็นปัญหาอีก ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าสตรีมมิงในปัจจุบัน ที่เหมือนทำมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กลับเป็นอีกปัจจัยซึ่งส่งผลกระทบกับศิลปินรายย่อย เพราะถึงแม้จะควบคุมการผลิตเองได้ทั้งหมด แต่ค่าอุปกรณ์ที่ทำให้ได้เสียงคุณภาพก็มีราคาสูง กับบางคนไม่ได้ชำนาญการทำ Post Production ก็ยังต้องไปยืมมือผู้เชี่ยวชาญให้ช่วย ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายในการอัด มิกซ์ และมาสเตอร์ที่ต้องทบเข้ามาอีก แล้วบริการสตรีมมิงบางเจ้าไม่ได้จ่ายเงินพวกเขาในราคาสมเหตุสมผลต่อการฟังหนึ่งครั้ง จะช่วยเหลือตรงนี้ได้อย่างไร เพราะสุดท้ายระบบต่างๆ ก็ทำออกมาเพื่อตอบโจทย์ตลาดเพลงกระแสหลักเท่านั้น

สลิล ชีวพันธ์ศรี มือกลองหญิงไทยในแคนาดา กับ ‘Cosmic Island’ อัลบั้มชุดแรกในชีวิต ที่ทำเองทุกขั้นตอนและหยิบปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ มาตีความเป็นเพลงทั้ง 8

“ตอนนั้น Napster มาใหม่ๆ มือกลอง Metallica ก็ไม่แฮปปี้เลย เพราะเงินที่มาจากการขายซีดีหายไปหมด  เพราะ Napster มันฟังฟรี แต่ Spotify ดีอย่างตรงที่เพลงมันไม่ฟรี มีค่า Subscription สำหรับบางคนก็ยังทำเงินได้อยู่ แต่ก็ได้น้อยมาก เพราะเขายังหาวิธีจ่ายยั่งยืนไม่ได้ แล้วเราก็รู้สึกว่าการทำดนตรีมันง่ายขึ้นด้วย คนเริ่มทำเพลงในคอมพิวเตอร์มากขึ้น เขาไม่อยากจะลงทุนเป็นร้อยๆ ดอลลาร์จ้างนักดนตรีมาทำเพลง พอเพิ่งคอมพิวเตอร์ มันทำให้เสน่ห์บางอย่างหายไปด้วย

“แต่เดี๋ยวนี้มันแก้ไขกันง่ายขึ้น ไม่จำเป็นว่าทุกอย่างจะต้องสมบูรณ์แบบ ต้องเป๊ะ ตอนนี้คนจะรู้สึกว่าห้ามมีอะไรผิดพลาด ซึ่งมันดูเป็นหุ่นยนต์ เพลงสมัยใหม่เลยออกมาเป็นแบบนั้นด้วย ถ้าเราฟังเพลงช่วง 60 – 70 มันอีดิตยาก เวลาอัดอัดในเทป จะได้ซาวนด์อีกแบบ ดิบมาก ไม่เพอร์เฟกต์ มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเยอะ แต่การอัดเพลงแบบ Multi Track คืออัดเครื่องดนตรีทุกชิ้นพร้อมกันในห้องหนึ่ง เวลาฟังจะให้ความรู้สึกเหมือนว่าเราอยู่ในห้องนั้นด้วย”

สำหรับโปรดิวเซอร์สาว เธอเลือกเอาเทคโนโลยีแบบเก่ากับใหม่มารวมด้วยกัน นั่นทำให้เธอแตกต่าง 

 “สลิลจะแต่งเพลงก่อน ทำเครื่องดนตรีอื่นๆ ใน Midi ให้พอฟังเข้าใจ เพราะว่าเล่นไม่ได้เก่งขนาดนั้น (หัวเราะ) แล้วส่งไปให้นักดนตรีลองฟัง ถ้าได้ฟังเพลง In Tune With The Moon เราให้นักดนตรีมาอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วอัดด้วยกันเหมือนแต่ก่อน ค่อยมาตัดต่อให้เนี้ยบมากขึ้น อัลบั้มนี้เลยมีความกึ่งๆ ดนตรีสด บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ ก็ไม่เป็นไร”

 Bridge

อัลบั้มจำนวน 8 เพลงของเธอ ได้แรงบันดาลใจมาจากการเรียนวิชามานุษยวิทยาและทำวิทยานิพนธ์เรื่องมลพิษในแม่น้ำของประเทศไทย สลิลเล่าว่าในประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตของผู้คนในประเทศไทยมีความเกี่ยวพันกับแม่น้ำอยู่มาก ทั้งใช้บริโภค ไปจนถึงมีความเชื่อและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำ แต่เมื่อตัดภาพมาที่ปัจจุบัน เธอพบว่าแม่น้ำเจ้าพระยาสกปรกจนใช้ดื่มกินโดยตรงไม่ได้ เธอจึงต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง และทำให้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาที่แก้ไม่ได้สักที 

“เรารู้สึกว่าโลกมันยิ่งร้อนขึ้น ปีก่อนกลับไปกรุงเทพฯ รู้สึกว่าอากาศมันแย่มาก เพลงแรก Can’t Pretend เป็นเพลงแนวโซลที่พูดว่า เราอย่ามองข้ามหรือทำเป็นว่าเราไม่ได้เห็นว่ามันจะเกิดขึ้น อย่างตอนที่มลพิษ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ นอนเปิดหน้าต่างไม่ได้ รู้สึกหอบ แล้วรัฐบาลก็ไม่สนว่าจะแก้ยังไง จริงๆ ไม่ใช่แค่เขาคนเดียว เพราะคนทั่วไปก็ไม่ได้พยายามแก้อะไรขนาดนั้น เรามีรถตั้งสิบเอ็ดล้านคันในที่เล็กๆ 

“ช่วงโควิด-19 เดือนกุมภาพันธ์ เริ่มมีการล็อกดาวน์ สลิลก็วิจัยเรื่องมลพิษอยู่ไทย แล้วเจอว่าตั้งแต่ล็อกดาวน์ มลพิษหายไปเยอะ แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลยว่าการไม่ใช้รถมันส่งผลยังไง เราก็เขียนไปหา The Bangkok Post นะว่าทำไมเขาไม่เขียนเรื่องนี้ แล้วคนก็จะโทษการเกษตรอย่างเดียว ซึ่งอันที่จริงมันไม่ใช่แค่การเกษตร มันมีเรื่องคนที่ใช้รถ รถติดทุกวันสองสามชั่วโมง แล้วยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความจริงหลายที่ในโลกเขาแบนแล้ว แต่ในไทยยังใช้อยู่

“เราอยากทำเพลงเพื่อสะท้อนว่าสิ่งแวดล้อมมันสำคัญมากกับการใช้ชีวิตอยู่ อยากให้นึกถึงตอนที่เรามีความสุข และชาร์จพลังหลังจากหมดไฟได้ก็เพราะธรรมชาติ การที่เราไปเที่ยวทำให้รู้ว่าธรรมชาติสำคัญสำหรับเรา”

สลิล ชีวพันธ์ศรี มือกลองหญิงไทยในแคนาดา กับ ‘Cosmic Island’ อัลบั้มชุดแรกในชีวิต ที่ทำเองทุกขั้นตอนและหยิบปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ มาตีความเป็นเพลงทั้ง 8

ศิลปินบางคนบอกว่าไม่อยากเอาดนตรีมาเป็นเรื่องการเมือง แต่สาวมือกลองกลับไม่คิดอย่างนั้น

“สลิลคิดว่าความเป็นนักดนตรีและสังคมมันคู่กันค่ะ เพราะนักดนตรีก็คือศิลปิน เราไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อที่จะร่ำรวย เราใช้ชีวิตเพื่อมีประสบการณ์ที่สนุกและมีความหมายต่อเราเอง สำหรับสลิล ความหมายของชีวิตที่ดนตรีได้ให้ คือการได้สื่อสารความเป็นมนุษย์ ความรู้สึก และบอกเล่าความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคม สลิลก็เลยหวังว่า ดนตรีจะช่วยสังคมได้บ้าง

  “สลิลเคยเป็น Music Director ให้งาน Rap Battles for Social Justice เหมือนเป็นโชว์ฮิปฮอปที่มีเนื้อหาทำให้คนตระหนักถึงปัญหาของตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเกินขอบเขต เมื่อก่อนหลายคนจะมองข้ามเพลงของ Tupac ที่พูดเรื่องนี้จนเขาโดนแบน หรืออย่างตอนนี้ แรปที่เนื้อหาป๊อป ชวน Twerk ชวนให้ทำอะไรเซ็กซี่ แล้วคนลืมไปว่าดนตรีเปลี่ยนความคิด หรือมีอิทธิพลกับการเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ โดยเฉพาะตอนเราอยู่เมืองไทยเราคิดว่ามีคนที่เป็นแบบนี้เยอะมากนะ เขาไม่สนว่าใครจะเป็นยังไง ช่างมัน แต่ถ้าเราไม่สนปัญหาตรงนั้น มันจะไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย” 

ศิลปินต่างแดนทิ้งท้าย

ในขณะที่บ้านเรา นักดนตรีต้องออกมารวมกลุ่มกันเพื่อเยียวยากันเองในสถานการณ์โควิด-19 ก่อนจบบทสนทนา จึงเราชวนเธอเล่าถึงประสบการณ์เป็นศิลปินในต่างแดนในช่วงโรคระบาดนี้ นี่คือคำตอบจากสลิล 

ปกติทางรัฐบาลมีการช่วยเหลือสนับสนุนวงการดนตรีไหม 

ที่นี่มีกองทุนให้ 50,000 ดอลลาร์มาทำเพลง บางคนก็เอาเงินไปทำมิวสิกวิดีโอ ส่วนตอนโควิด-19 เขาก็ไม่ได้ช่วยนักดนตรีอย่างเดียว คนที่ได้รับผลกระทบก็จะได้ 2,000 ดอลลาร์ นี่ปีกว่าแล้วเขาก็ยังให้อยู่ ดีมาก

แล้วตอนโควิดระบาด ต้องปรับตัวยังไง

ก็มีสอนกลอง แต่สอนอยู่นานแล้ว แค่พอโควิด-19 มาคนก็ไม่กล้ามาเรียนกัน เลยต้องสอนผ่าน Skype ช่วงหนึ่ง ซึ่งเขาก็ไม่ค่อยชอบเรียนผ่านเว็บ ชอบเล่นกลองจริงกันมากกว่า แต่ที่รู้สึกเลยคือไม่มีโชว์ ไม่ได้เล่นดนตรีกับเพื่อนเพราะล็อกดาวน์ เลยทำเพลงไปเรื่อยๆ จนทำอัลบั้มเสร็จ และมาตรการเขาเพิ่งมาหยุดเคอร์ฟิวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเอง

ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ล็อกดาวน์ได้ไปทัวร์ที่ไหนมาบ้าง

ก่อนโรคระบาด ได้ไปสวิตเซอร์แลนด์ ไปแอฟริกาใต้ ยุโรป ลอนดอน หลายที่มาก ปกติก็ไปเล่นวงผู้หญิงหกคน อย่างที่โมร็อกโกไปแจมกันเป็นดนตรีตะวันออกกลางกับตะวันตก อันนั้นสนุกมาก หรือตอนไปเล่นที่แอฟริกาใต้ ไปถ่ายโฆษณาของ Ford ยุโรป แต่ช่วงนี้ได้ทัวร์แถบนี้อย่างเดียว

แนะนำคนที่อยากมาเป็นนักดนตรีในต่างแดนแบบสลิล

เล่นให้เก่งก่อน แล้วจะอยู่ยังไงค่อยคิด (หัวเราะ) อยากได้ Permanent Resident อยู่ประเทศนั้นเลยไหม แล้วแต่เงื่อนไขของประเทศนั้นๆ หรือว่าเราเล่นเก่งแล้วไปทัวร์คอนเสิร์ตทั่วโลก ไม่ต้องอยู่ตรงนั้นก็ได้ แค่ต้องมีวินัยจริงๆ ว่าเราอยากเล่นแบบนี้ ต้องหาทางเล่นให้ได้

ที่มอนทรีอัลมีคอมมิวนิตี้นักดนตรี แม้มันมีการแข่งขันกันบ้าง แต่จะช่วยกันมากกว่า ตอนสลิลออกเพลงก็มีเพื่อนๆ นักดนตรีคอยช่วยแชร์ ก็คือซัพพอร์ตกันดีค่ะ

มีคำพูดที่ว่าดนตรีจะพาให้เราออกเดินทาง สลิลเคยเชื่อแบบนี้บ้างไหม แล้วพอเราได้เดินทางไปเล่นในหลายๆ ที่ เราได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ตรงนี้บ้าง

สำหรับสลิลมันเป็นชีวิตที่ยอดเยี่ยมที่สุด สลิลชอบเที่ยวมาก ชอบเรียนรู้วัฒนธรรมที่ต่างจากเรา ได้เห็นการใช้ชีวิตที่แตกต่าง มันทำให้เราคอยตั้งคำถามกับความเป็นอยู่ของเราเอง ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น แล้วก็ให้ความคิดเห็นใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน 

อย่างตอนไปโมร็อกโก เราได้รู้จักคนที่นั่น เขาค่อนข้างอบอุ่นและมองว่าครอบครัวสำคัญมาก หรือที่แคนาดาเขาก็มีสวัสดิการสังคมที่ดี การศึกษาดี เรียนฟรี มีการจัดการขยะที่ค่อนข้างดี แอฟริกาใต้ก็ไม่ได้เป็นประเทศที่ยากจน มันมีส่วนที่ดูเจริญเหมือนบ้านเรา แต่ก็ยังมีการแบ่งแยก มีสลัมอยู่ เราได้เรียนรู้เพราะได้ไปเห็นจริงๆ

สิ่งที่ตัวเราได้เรียนรู้จากการอยู่ที่นี่คืออะไร

การยอมรับความเป็นตัวของตัวเอง รักตัวเองที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ รักที่ความแข็งแกร่ง และความอ่อนแอของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะพูดหรือคิดยังไง เหมือนเป็นการโอบกอดซึ่งตัวตนที่แท้จริงของเรา ถ้าเรารู้ว่าในใจเรามีแต่ความหวังดี พยายามทำแต่สิ่งดีๆ ให้ตัวเราเอง ให้ครอบครัว เพื่อนๆ และสังคมก็พอแล้ว

สลิล ชีวพันธ์ศรี มือกลองหญิงไทยในแคนาดา กับ ‘Cosmic Island’ อัลบั้มชุดแรกในชีวิต ที่ทำเองทุกขั้นตอนและหยิบปัญหาสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ มาตีความเป็นเพลงทั้ง 8

ติดตามผลงานของสลิลได้ที่ salinmusic.com

Pre-order อัลบั้ม Cosmic Island ได้ ที่นี่ salinofficial.bandcamp.com/album/cosmic-island

Writer

Avatar

มนต์ทิพา วิโรจน์พันธุ์

อดีตบรรณาธิการ Fungjaizine ที่นอกจากเรื่องเหล้าแล้ว ก็ชอบเล่าเรื่อง ดนตรี ภาพยนตร์ และอาหาร เป็นพิเศษ