“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า ชาวนาเหนื่อยยาก ลำบากหนักหนา..”

ประโยคท่องจำสุดคลาสสิกที่เราได้ยินผ่านหูกันตั้งแต่เด็ก ในวันนี้อาจทวีความสำคัญกว่าที่เคยเป็น

เพราะเกษตรกรไทยมากกว่า 10 ล้านรายกำลังเผชิญปัญหาร้อยแปดพันเก้า กว่าจะส่งตรงข้าวถึงจานของเรา ต้องรับมือโจทย์ยากๆ มากมาย ทั้งการแข่งขันจากประเทศรอบด้าน ภัยธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ต้นทุนทางการเกษตรและที่ดินพุ่งสูงขึ้น และการวิ่งตามไม่ทันความรู้ทางธุรกิจและเทคโนโลยี

หลายรายเลือกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยความจำเป็น ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมีเร่งการเติบโตเพื่อผลผลิตจำนวนมากและผลตอบแทนในระยะสั้น แต่สุดท้ายบวกลบแล้วกลับเป็นหนี้สะสม ได้รับสารเคมีตกค้างอยู่ภายในร่างกาย ทั้งตัวเองและผู้บริโภค แถมสิ่งแวดล้อมพังทลาย หลายพื้นที่เคยเป็นป่า วันนี้เหลือเพียงภูเขาหัวโล้นแห้งๆ

ในขณะเดียวกัน แม้กระแสเรื่องเกษตรอินทรีย์จะเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น แต่ผู้บริโภคจำนวนมากก็ยังไม่สามารถเข้าถึง หรือยังไม่เข้าใจว่าทำไมเราถึงควรบริโภคอาหารที่ดีตามวิถีธรรมชาติ อาจเพราะราคาสูง รสชาติไม่ถูกปาก ทำให้ไม่เกิดตลาดรองรับผลิตภัณฑ์

หากปล่อยไว้เช่นนี้ ภาคการเกษตรที่เคยรุ่งเรืองของไทยอาจเป็นเพียงประวัติศาสตร์ สุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเราคงถูกทำลายจนไม่เหลือชิ้นดี

จากปัญหาเหล่านี้ ‘ศาลานา’ (SALANA) จึงถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นช่วงปลาย พ.ศ. 2561 มีจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความมุ่งมั่นของกลุ่มคนที่เคยผลักดันส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์และเกษตรวิถีธรรมชาติ ภายใต้มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เป็นหนึ่งในความหวังของการขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้ก้าวหน้าต่อไป

ศาลานา Social Enterprise ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงข้าวออร์แกนิกจากเกษตรกรอย่างยั่งยืน

“เราเป็นตัวกลางเชื่อมโยงเกษตรกรที่ทำงานด้านเกษตรอินทรีย์กับผู้บริโภค ผ่านการออกแบบช่องทางสื่อสารและเข้าถึงผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ” โอ๊ต-วุฒิพงศ์ ชาครัตพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและเครือข่ายชุมชนโครงการศาลานา และ เปิ้ล-จรัสศรี เนตรศิริ ทีมงานศาลานา อธิบายโมเดลการทำงานของศาลาอันร่มเย็นให้เราฟัง

แม้วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) นี้มีอายุเพียง 2 ปี แต่พวกเขาลงมือทำไปหลายเรื่อง ทั้งออกตระเวนลงพื้นที่ พบปะพูดคุย ส่งเสริมพัฒนาทักษะของเกษตรกร สร้างโรงสีและห้องปฏิบัติการในจังหวัดนครปฐม เพื่อวิจัยข้าวอินทรีย์อย่างละเอียด และรับผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพดีที่ปลอดสารเคมี ดูแลตามวิถีธรรมชาติ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เข้าสู่ท้องตลาด พร้อมสื่อสารกับผู้บริโภค

ล่าสุด พวกเขาเพิ่งคิดค้นนวัตกรรม ‘ตู้ขัดข้าวอินทรีย์อัตโนมัติ’ เครื่องแรกที่จดสิทธิบัตรในประเทศไทย ให้คนได้สัมผัสประสบการณ์สั่งซื้อข้าวรูปแบบใหม่ โดยตั้งตู้แรกไว้ภายใน Gourmet Market ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน

ทั้งหมดนี้ เพื่อเป้าหมายปลายทางคือการสร้างความยั่งยืนของชีวิต กลุ่มคน 10 กว่าชีวิตมีแผนในภารกิจใหญ่ทางการเกษตรนี้อย่างไร ชวนมาลองสำรวจศาลาแห่งนี้ไปด้วยกัน 

01

วิสาหกิจเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

“โลกใบนี้ต้องการอาหารที่ปลอดภัย” โอ๊ตเอ่ยถึงสิ่งที่ศาลานาเชื่อ 

ไม่เพียงเป็นมิตรต่อร่างกายผู้รับประทานแล้ว ความต้องการอาหารที่ดีและปลอดภัยช่วยขับเคลื่อนกลไกหลายอย่าง ตั้งแต่ทำให้เกษตรกรมีแรงจูงใจผลิตพืชผลอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอน มีคุณภาพตามวิถีธรรมชาติ ปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง มีรายได้ สิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย ชวนให้คนรุ่นใหม่อยากกลับบ้านไปสานต่อ

การทานอาหารที่ดีจึงไม่ใช่แค่เพียงเราได้อะไร แต่ไปไกลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทุกฝ่าย

และวัฏจักรนี้จะเป็นจริงได้อย่างยั่งยืน แค่ส่งเสริมเกษตรกรอย่างที่โอ๊ตเคยทำมาคงไม่เพียงพอ แต่ต้องทำเป็นธุรกิจครบวงจรอย่างจริงจัง

“การเป็นธุรกิจจะทำให้เกิดกระบวนการพึ่งพาตัวเอง เกิดรายได้ที่สามารถนำกลับมาลงทุนเพื่อสังคม ส่วนการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ เราต้องการทำให้ชัดเจนตั้งแต่แรกเลยว่า ธุรกิจนี้มีขึ้นเพื่อเกษตรกร เราจะไม่เอาเปรียบพวกเขา และจะทำเพื่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม” โอ๊ตเล่าแนวคิดวันเริ่มก่อตั้งองค์กร 

เพื่อให้ตอบโจทย์ทุกฝ่ายอย่างที่มุ่งหมาย ก่อนจดทะเบียน พวกเขาจัดทำเวิร์กช็อประดมความคิด และพูดคุยเก็บข้อมูลกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการ องค์กรไม่แสวงผลกำไร อย่างครบถ้วน

ปรับไปปรับมา เมื่อเห็นว่ามีโอกาสเติบโตและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย การตอกเสาเข็มของศาลาแห่งนี้จึงเกิดขึ้น โดยยังคงส่วนงานส่งเสริมพืชผลต่างๆ ที่เคยทำไว้ และเปิดตลาดชุมชนอย่างตลาดบ้านรังนกในจังหวัดนครปฐมคอยรองรับผลผลิตเหล่านั้น

ส่วนพระเอกนางเอกที่พวกเขาเลือกหยิบยกขึ้นมาพัฒนาในช่วงแรก ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำคือข้าว หนึ่งในอาหารหลักคู่คนไทย ด้วยความง่ายในเชิงการขนส่ง การเก็บรักษา และศักยภาพในการพัฒนาต่อ

02

Smart Farmers

เสาหลักสำคัญของศาลานาคือเกษตรกร ที่เป็นมากกว่าเกษตรกร หรือเรียกกันว่า Smart Farmer

“เราไม่ได้มองเกษตรกรเป็นแค่ผู้ผลิต แต่มองว่าวันหนึ่ง พวกเขาต้องเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน” โอ๊ตเล่า หากเกษตรกรเข้าใจและดำเนินการทางธุรกิจได้ด้วยตัวเอง ย่อมบริหารจัดการชีวิตได้อย่างยั่งยืนและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ด้วยเหตุนี้ กระบวนการรับซื้อข้าวเปลือกของศาลานาจากเกษตรกร จึงผ่านการออกแบบให้แฝงขั้นตอนการคัดสรรที่เข้มข้น เพื่อยกระดับศักยภาพของแต่ละกลุ่มออกมา โดยทีมงานจะคอยทำงานคู่ขนานผ่านการลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ 

ศาลานา Social Enterprise ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงข้าวออร์แกนิกจากเกษตรกรอย่างยั่งยืน

“เราเริ่มจากการคุยกับผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นคนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อทำความเข้าใจว่าพื้นที่เขาเป็นอย่างไร มีความตั้งใจแบบไหน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเรื่องรายได้ แต่เป็นสุขภาพ ระบบเศรษฐกิจของชุมชนที่ยั่งยืน จากนั้นคุยกับสมาชิกว่าเงื่อนไขการทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร” โอ๊ตอธิบาย ในส่วนเงื่อนไขนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มาก แต่มีแก่นสำคัญอยู่ 3 ประการ

หนึ่ง พวกเขาต้องปลูกระบบเกษตรอินทรีย์ หรือถ้ายังไม่ปลูก ก็ต้องมีแนวโน้มว่าจะปรับเปลี่ยนได้ 

สอง ต้องยอมรับการลงพื้นที่ตรวจรับรองแปลงโดยทีมงานศาลานา ซึ่งเงื่อนไขเป็นไปตามที่กำหนดร่วมกัน

สาม ต้องยอมรับการตรวจสอบคุณภาพข้าว ดูว่าเป็นไปตามมาตรฐานและมีสิ่งเจือปนหรือไม่
หากผ่านข้อตกลงครบถ้วน ศาลานาจะออกใบรับรอง SALANA PGS (Participatory Guarantee System) ในทุกรอบการผลิต เพื่อเป็นเครื่องยืนยันมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้อุ่นใจต่อทุกฝ่าย

“ถ้าวันหนึ่งเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ เขาควรจัดการระบบเหล่านี้กับสมาชิกตัวเองได้” โอ๊ตเสริม “เพราะถ้ามีสิ่งเจือปน แม้แต่ข้าวด้วยกันเอง เช่น ข้าวหอมมะลิแดงในข้าวหอมมะลิ 105 เขาอาจต้องขายในระบบที่ราคาต่ำลง บ่อยๆ เข้าก็จะอยู่ในตลาดได้ยาก เราจึงพยายามตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ และให้คำแนะนำกลับไปพัฒนา”

ส่วนทางศาลานา นอกจากมอบบททดสอบที่ท้าทายแล้ว พวกเขาไม่ได้นิ่งเฉย แต่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่น่ารัก ใช้หลักการค้าที่เป็นธรรม ตกลงซื้อขายและจ่ายเงินซื้อข้าวเปลือกล่วงหน้า เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่เกษตรกร และเป็นหลักประกันว่าผลผลิตจะมีตลาดรองรับแน่นอน

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ง่าย ไม่สบาย เห็นผลช้ากว่าการปลูกระบบเคมี ระหว่างทางก็มีกลุ่มคนไม่น้อยที่ขอม้วนเสื่อร่ำลา 

ส่วนใครทำได้ไหว พร้อมไปต่อ ศาลานาจะอยู่เคียงข้างผ่านการส่งเสริมรูปแบบต่างๆ ด้วย เช่น พาไปอบรม สนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรกลุ่มนี้อยู่ 8 พื้นที่ ในจังหวัดลำปาง พิจิตร นครสวรรค์ นครปฐม ยโสธร ลำปาง สุพรรณบุรี และสุรินทร์

03

ข้าวถึงใจผู้บริโภค

เมื่อได้รับข้าวเปลือกที่เป็นวัตถุดิบที่ดีจากต้นทางแล้ว ศาลานามีอีก 2 ภารกิจสำคัญที่ต้องทำ

เรื่องแรกคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งศาลานาจัดตั้งโรงสี และห้องปฏิบัติการของตัวเอง ไว้รับทดสอบและวิเคราะห์สารต่างๆ ในวัตถุดิบ
ผลลัพธ์สำคัญที่เกิดขึ้นจากห้องแห่งนี้คือ ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 105 ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอม 5 สายพันธุ์ ที่เกิดจากการผสมข้าวทั้งสองกับข้าวหอมปทุมเทพ ข้าวหอมนิล และข้าวหอมราตรี ในสัดส่วนที่ลงตัวและรสชาติกลมกล่อม

“ศาลานาคิดเสมอว่า ทำอย่างไรถึงจะสนับสนุนภาคีของเราได้ทั้งหมด บางแหล่งมีข้าวที่ดี แต่คนยังไม่รู้จักหรือไม่รู้ว่าจะเอาไปทำเป็นเมนูอะไร ทีมงานเลยคัดสรรข้าวหอมจากพื้นที่ต่างๆ มาผสมเข้าด้วยกัน กลายเป็นข้าวห้าสายพันธุ์ นุ่ม หอม อร่อย แถมได้สนับสนุนเกษตรกรหลายพื้นที่” เปิ้ลเล่าเบื้องหลังข้าวสูตรใหม่ที่แสนครบเครื่อง อุดมไปด้วยสารช่วยลดความดันโลหิตสูง ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและลดภาวะเสี่ยงจากโรคหลอดเลือด

สอง เมื่อผลิตภัณฑ์ดีแล้ว การสื่อสารจำเป็นต้องเฉียบแหลมและเข้าถึงใจผู้บริโภคตามไปด้วย

“คำว่าอาหารปลอดภัยเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอให้คนรู้สึกว่าต้องหยิบข้าวนี้ขึ้นมา” โอ๊ตอธิบาย “เราต้องทำสิ่งอื่นๆ เช่นทำคอนเทนต์ควบคู่ไปด้วย ให้คนรู้ว่าข้าวมาจากไหน คุณไม่ได้ซื้อแค่ข้าวนะ แต่ได้ช่วยเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมไปด้วย

“และต้องสื่อสารด้วยว่า ประโยชน์ที่คุณจะได้รับคืออะไร ซึ่งข้อมูลมาจากแล็บของเรา เช่น ข้าวสีแดงมีสารโปรแอนโทไซยานิดินสูงมาก ต้านอนุมูลอิสระได้ดีมาก

ศาลานา Social Enterprise ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงข้าวออร์แกนิกจากเกษตรกรอย่างยั่งยืน

“สุดท้ายคือต้องอร่อยบ้าง ถ้ากินเข้าไปแล้วต้องคายก็คงไม่ตอบโจทย์ เรารู้ว่าข้าวกล้องที่ไม่ได้ถูกขัดมีประโยชน์สูงจริง แต่อาจไม่เป็นมิตรกับการกินสักเท่าไร ที่ศาลานาเราจึงขัดข้าวเล็กน้อย ไม่เกินสามสิบเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ชั้นฟิล์มที่หุ้มข้าวอยู่ข้างนอกหลุดออก ทำให้เป็นมิตรต่อการกินแต่ยังคงโภชนาการที่ดี”

หากลองเข้าเว็บไซต์หรือหยิบแผ่นพับของศาลานาขึ้นมาดู เราจะเห็นภาพกราฟิกน่ารักๆ ประกอบข้อมูลที่ครบครัน ชวนให้สั่งซื้อออนไลน์หรือเดินไปจับจ่ายข้าวหอมมาประกอบอาหารตอนนี้เลยเสียจริง

04

ประสบการณ์ซื้อข้าวใหม่

อีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารและจำหน่ายใหม่ที่ศาลานาพัฒนาขึ้นมาในปีนี้คือ ตู้ขัดข้าวอินทรีย์อัตโนมัติ

“เรารู้สึกว่าข้าวต้องพูดด้วยตัวเองได้” โอ๊ตแนะนำเบื้องหลังนวัตกรรมนี้

ศาลานา Social Enterprise ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงข้าวออร์แกนิกจากเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นพนักงานแนะนำผลิตภัณฑ์ยืนบรรยายสรรพคุณของข้าว เหมือนผลิตภัณฑ์ชงดื่มอื่นๆ ข้าวจึงมักถูกจัดวางอยู่บนชั้นอย่างเหงาหงอย รอคอยใครสักคนมาหยิบ 

เป็นเหตุให้ศาลานาสร้างตู้ขัดข้าวนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือใหม่ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้ซื้ออย่างเป็นมิตร ไม่น่าเบื่อ แถมได้สื่อสารเรื่องราวของข้าวไปในตัว 

เมื่อเรากดหน้าจอสั่งซื้อข้าว ตู้จะให้หยิบถุงกระดาษที่มีให้บริการหรือภาชนะอื่นตามสะดวกวางไว้ตรงช่องรับข้าว หลังจากนั้นดำเนินการจ่ายเงิน ซึ่งรองรับทั้งเหรียญ ธนบัตร และการชำระผ่านช่องทางออนไลน์ คล้ายตู้กดเครื่องดื่มทั่วไป

ศาลานา Social Enterprise ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงข้าวออร์แกนิกจากเกษตรกรอย่างยั่งยืน

แต่ที่พิเศษคือ เมื่อมีคำสั่งซื้อ ตู้จะนำข้าวที่ผ่านการกะเทาะแล้ว ภายในไซโลที่มีระบบดูดอากาศคอยรักษาคุณภาพข้าวไว้ มาขัดแบบสดๆ ในเวลาประมาณ 2 นาที ก่อนลำเลียงออกมาเป็นข้าวอินทรีย์อุ่นๆ สดใหม่ พร้อมหุงรับประทาน

ศาลานา Social Enterprise ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงข้าวออร์แกนิกจากเกษตรกรอย่างยั่งยืน

“ตอนแรกเราคิดถึงขั้นรับข้าวเปลือกมาแล้วทำให้เกิดการกะเทาะภายในเครื่อง เหมือนอยู่ภายในโรงสีเลย แต่ได้เรียนรู้ว่าไม่ตอบโจทย์ในการแง่ขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน เลยได้ออกมาเป็นเครื่องนี้ที่จะช่วยสื่อสารกับผู้บริโภค” โอ๊ตเสริมถึงภาพฝันจริงๆ ของเขา

ศาลานา Social Enterprise ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงข้าวออร์แกนิกจากเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ตู้ขัดข้าวนี้เปิดรับคำสั่งซื้อเพียงข้าวหอมอินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ปริมาณ 250 กรัม ในราคา 30 บาท เพื่อเปิดโอกาสให้คนซื้อไปทดลองทานก่อน ถ้าถูกปากถูกใจ อาจค่อยขยับมาซื้อถุงขนาด 1 กิโลกรัม 

และหากผลตอบรับของตู้นี้ดี ทางศาลานาอาจมีการเพิ่มจำนวนตู้และขยายผลรูปแบบอื่นต่อไป

05

ข้าวต่อไป

2 ปีอาจเป็นเวลาไม่นาน แต่ศาลานาเริ่มเห็นการออกดอกออกผลของเมล็ดพันธุ์ที่พวกเขาดูแลอย่างทะนุถนอมไว้แล้ว

“เริ่มมีเกษตรกรหลายกลุ่มเป็นผู้ประกอบการได้ด้วยตัวเองแล้ว บางที่ขอให้เราช่วยแนะนำว่าเครื่องมือต่างๆ ทำงานอย่างไร ราคาเท่าไร อยากลงพื้นที่ไปดูกลุ่มอื่นเพื่อพัฒนาต่อ” โอ๊ตยิ้ม

แต่ถึงจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โอ๊ตและเปิ้ลรู้ดีว่าพวกเขาเพิ่งเริ่มต้น และลำพังการขายข้าวอย่างเดียวคงไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดระยะยาว ศาลานาจึงจำเป็นต้องทำสิ่งอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ พัฒนานวัตกรรมอย่างตู้ขัดข้าว

และเร่งพัฒนาโมเดลการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนที่อยู่ได้อย่างยั่งยืน ในแบบที่หน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งพวกเขาตั้งหมุดหมายว่าจะสำเร็จภายในระยะเวลา 3 ปี 

“เราเชื่อว่าลำพังแค่ศาลานาไม่สามารถขยับแล้วเปลี่ยนได้หมด ถ้าโมเดลนี้สำเร็จและถูกส่งต่อไปยังคนที่พร้อมช่วยเหลือ เกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยคงไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

ที่ผ่านมา เกษตรกรเจ็บช้ำมาเยอะพอแล้วกับโครงการต่างๆ ที่อ้างว่าเข้าไปช่วยเหลือ แต่ปล่อยปละละเลยกลางคัน หากโมเดลนี้เป็นไปได้ด้วยดี พวกเขาจะยืนหยัดอยู่ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน และเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนทุกระบบที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุข เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และภาพรวมประเทศไปข้างหน้า

06

เส้นทางสู่ความยั่งยืน

“คงเพราะอุดมการณ์” คือคำตอบของเปิ้ล เมื่อเราถามว่าทำไมพวกเขาถึงเลือกทำงานที่ศาลานา

ด้วยระบบการดำเนินงานแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมที่นำกำไรทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์กลับไปลงทุนในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนสังคม โดยไม่มีปันผลใด คนที่ศาลานาต่างเลือกทำเพราะใจรักและเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ ตามแนวคิด Power of Sharing ที่องค์กรยึดถือ

“ช่วงแรกเราไม่รู้หรอกว่าจะขาดทุนหรืออยู่ได้ไหม แต่เราชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว และอยากทำงานที่สร้างผลกระทบ แบ่งปันคืนกลับไปให้ชุมชนด้วยวิธีคิดที่ทันสมัย” โอ๊ตเผยสาเหตุที่เขามานั่งอยู่ตรงนี้ วันนี้

“ถ้าสิ่งที่เราคิดเกิดขึ้นจริง เราคงภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนี้” เปิ้ลเสริม

นอกจากอุดมการณ์จะยึดเหนี่ยวพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้กัน คือความพยายามสร้างคนขององค์กร

“ที่ศาลานา พวกเราอาจไม่ได้เป็นมืออาชีพในสิ่งที่ต้องทำไปเสียทั้งหมด แต่เราได้รับโอกาสในการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ และเติบโตอยู่เสมอ ทุกคนที่องค์กรเลือกมาแล้ว ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาบริหารงานให้เกิดโครงสร้างที่แข็งแรง

“เพราะเราเชื่อว่า ธุรกิจจะอยู่อย่างยั่งยืนได้ ต่อเมื่อผู้คนมีชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน”

ศาลานา Social Enterprise ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคให้เข้าถึงข้าวออร์แกนิกจากเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยการบริโภคผลิตภัณฑ์ของศาลานาได้ที่ www.salana.co.th และ Facebook : SALANA และสัมผัสประสบการณ์การสั่งซื้อข้าวแบบใหม่ ผ่านตู้ขัดข้าวอินทรีย์อัตโนมัติของศาลานา ได้ที่ Gourmet Market ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน (แผนที่)

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน