“Cloud of Thoughts แปลว่าอะไรครับ”

เรานิ่งไปชั่วขณะ เพราะไม่เคยนึกถึงคำแปลภาษาไทยมาก่อน

“ใช่วิมานความคิดหรือเปล่า”

ชายที่นั่งอยู่บนโซฟาใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที เรียงร้อยคำไทยออกมาเป็นคำตอบอันสละสลวย

“ใช่เลยค่ะ ครูสลาใช้ภาษาได้ไพเราะมาก” เราเอ่ยจากใจโดยไม่รู้ว่าจะทำให้ สลา คุณวุฒิ หรือ ครูสลา นักแต่งเพลงแนวลูกทุ่งและศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) ประจำ พ.ศ. 2564 ยิ้มกว้างด้วยความเขิน

“อาจจะเพราะครูไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง เวลามีคนชมเลยรู้สึกเขินตลอด” เขาพูดเสียงเบาพร้อมยิ้มอย่างถ่อมตัว ขณะที่เรามองไปยังชั้นวางของที่มีรางวัลเรียงรายกว่า 30 รางวัล ทั้งพระพิฆเนศทองพระราชทาน, คมชัดลึก อวอร์ด, มหานคร อวอร์ดส และรางวัลอื่น ๆ จากหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน

แม้รางวัลบางส่วนจะไม่ได้สลักชื่อครูสลา แต่ก็เป็นชื่อเพื่อนพ้องหรือลูกศิษย์ที่เขาสนับสนุน

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง

ทั้งหมดคือเครื่องการันตีความสามารถในการประพันธ์เกือบ 1,000 บทเพลง ที่ส่งลูกศิษย์ให้กลายเป็นศิลปินชื่อดังมาหลายต่อหลายคน

“ตอนนี้ครูไม่ได้แต่งเพลงเพื่อตัวเอง คิดแค่ว่าเพลงของครูช่วยลูกศิษย์ได้แล้วหรือยัง เพราะปัจจุบันเพลงคือการดูแลชีวิตคนอื่น”

แต่กว่าความตั้งใจและความฝันจะเดินทางมาถึงจุดนี้ เขาเป็นเพียงศิลปินลูกทุ่งที่เลือกเดินบนเส้นทางครู พร้อมหัวใจที่อยากแต่งเพลงให้เก่ง โดยใช้การแต่งกลอนแปด ร่วมกับความไม่รู้ด้านดนตรีเข้าช่วย จนในที่สุดก็กลายเป็น สลา คุณวุฒิ เวอร์ชันปัจจุบัน

“จริง ๆ เคยเล่าให้คนอื่นฟังแล้ว แต่คิดว่ายังไม่เคยเล่าลึกเท่านี้”

เราฟังเรื่องราวของชายผู้มาพร้อมหมวกมิกิและผ้าขาวม้าพันคอคู่ใจ ราวกับนั่งดูหนังกลางแปลงหนึ่งเรื่อง แต่เป็นหนังชีวิตที่เข้มข้นจนถึงตัวตน ความฝัน และการต่อสู้ผ่านบทเพลงของชาวอีสาน

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง

จากหนังสือ ถึงอนาคต

พ.ศ. 2505 ณ วัดแห่งหนึ่งในบ้านนาหมอม้า จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือจังหวัดอำนาจเจริญ) บุญหลาย คุณวุฒิ และชาวบ้านกำลังนั่งชมหนังกลางแปลงจากประเทศญี่ปุ่นเรื่อง สิงห์สลาตัน แต่ระหว่างนั้นมีคนมาตามให้เขากลับบ้านไปหา ก้าน คุณวุฒิ ภรรยาที่เจ็บท้องคลอด

เมื่อหมอตำแยอุ้มเด็กชายตัวโตมาหาพ่อ เขานึกถึงพระเอกหนังกลางแปลงที่ทั้งขาวและหล่อ บุญหลายจึงตั้งชื่อลูกชายว่า ‘สลาตัน’ โดยคืนนั้นมีเด็กชายเกิด 2 คน และชื่อนี้ทั้งคู่

“พอไปแจ้งเกิดกับกำนันซึ่งอยู่อีกหมู่บ้าน ท่านก็ตัดคำว่า ‘ตัน’ ออก โดยบอกว่า สลาตัน คือลมพายุ เด็กจะดื้อ ครูและเพื่อนเลยเป็น 2 สลาในหมู่บ้านเดียวกัน

“อีกปัญหาที่เจอคือ คนชอบอ่านชื่อเป็น สะ-ล่า มากกว่า สะ-หลา พอตอนมัธยม ครูใหญ่บอกว่าอ่านยาก ให้เปลี่ยน แต่พ่อไม่ให้เปลี่ยน เพราะเป็นชื่อพระเอกหนัง คิดว่าถ้าคืนนั้นเป็นหนังฝรั่ง อาจจะได้ชื่อฝรั่งแทน (หัวเราะ)”

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง

ลูกชายคนที่ 4 เติบโตท่ามกลางชีวิตชนบทที่ความสุขและการทำงานเป็นของคู่กัน เมื่อเลิกเรียน เขาเดินหากบ เขียด ขุดปู และวิ่งไล่จับตั๊กแตนตามท้องนา กิจกรรมเหล่านี้เป็นทั้งความสนุกและการหาเสบียงมาเลี้ยงครอบครัว แต่ถ้าเล่ามากไปกว่านั้น เขาชอบเล่นฟุตบอลที่ลานวัดและอ่านหนังสือด้วย

“เพิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กเรียนตอน ป.5 ตอนประถมต้นไม่รู้เลยว่าตัวเองเรียนเก่ง ไม่อยากไปโรงเรียน ครอบครัวของครูระหกระเหินในช่วงต้น เพราะพ่อแม่มีลูก 6 คน ครูเป็นคนที่ 4 ที่ได้เกิดในบ้านนาหมอม้า ตอนนั้นคุณปู่โดนฟ้องล้มละลาย ที่นาโดนยึด พ่อจึงพาครอบครัวไปอยู่ป่าดงภูจำปา ซึ่งห่างไป 14 – 15 กิโล ถือว่าไกลในสมัยนั้น

“มีน้องอีก 2 คน พี่สาวคนโตกับพี่ชายคนรองต้องเดินทางไปเรียนอีกหมู่บ้าน พอถึงคราวของเรา ด้วยความที่พ่อเคยเสียใจกับการที่เขาไม่เรียนหนังสือ เพราะปู่เป็นคนฐานะดี ส่งลูกเรียนถึงอุบลราชธานี สมัยพ่อใครจบ ม.8 ก็ได้เป็นครูแล้ว แต่พ่อเรียนไม่จบ เขาเลยฝังใจว่าเมื่อถึงคราวลูก เขาต้องส่งลูกเรียน”

เมื่อถึงเวลา บุญหลายพาครอบครัวกลับมาที่บ้านนาหมอม้าอีกครั้ง แต่ด้วยความที่เด็กชายสลาติดพ่อแม่และพี่สาวมาก ในวันที่พี่สาวตำครกกระเดื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน น้องชายกลับวิ่งร้องไห้สวนทางเสียงระฆังของโรงเรียนมากอดเธอ ชีวิตเป็นอย่างนั้นจนเข้า ป.3

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง

อย่างไรก็ตาม ความอ่อนไหวของเขาไม่ได้ฉุดรั้งความหัวดีที่ฉายแววโดดเด่น เมื่อสอบได้ลำดับที่ 3 – 4 จาก 50 คน และขึ้นเป็นที่ 1 ของห้อง ข. ซึ่งเป็นห้องของเด็กเรียนอ่อน

“ความเป็นที่ 1 ของห้อง ข. ทำให้เราเหมือนเป็นคนเก่ง จึงเริ่มอ่านหนังสือ มีวันหนึ่งครูวางหนังสือของ นิมิตร ภูมิถาวร เรื่อง มือที่เปื้อนชอล์ก ไว้ นั่นคือเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ได้อ่าน เพราะเคยอ่านในหนังสือพิมพ์มาก่อน สมัยนั้นจะมีเรื่องสั้นบางเรื่องที่ได้ตีพิมพ์ลง ไทยรัฐ และ เดลินิวส์ มี อาจารย์เตรียม ชาชุมพร วาดภาพประกอบ พอเห็นครูมี ก็ขโมยมาอ่านเวลาครูไม่อยู่ สนุกมาก

“นิมิตร ภูมิถาวร ถ่ายทอดเรื่องราวบ้านนอกสุโขทัยได้ตรงใจเด็กบ้านนอกอุบลฯ เหมือนตัวเราได้โลดแล่นอยู่ในเรื่องที่เขาเขียน หลังจากนั้นก็อยากเป็นนักเขียนตั้งแต่อ่านเรื่อง เด็กที่ครูไม่ต้องการ ถ้าให้แนะนำหนังสืออีกก็ ไผ่แดง ของ ศ.พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือหนังสือของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ ประภาส ชลศรานนท์ ทุกเล่ม”

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง

ความชอบอ่านหนังสือทำให้เด็กชายผู้นี้พยายามเข้าไปอ่านการ์ตูนเล่มละบาท ขายหัวเราะ และ หนูจ๋า ในบ้านพักครูพร้อมเพื่อน เขาติดหนังสือหนักจนบางครั้งพ่อแม่ต้องตามกลับบ้าน เมื่อโตขึ้นจึงเปลี่ยนแนวมาอ่าน ฟ้าเมืองไทย ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ โดยมีคอลัมน์เขาเริ่มต้นที่นี่ เป็นแรงบันดาลใจให้ส่งเรื่องสั้นไปตีพิมพ์ แม้จะไม่สำเร็จ ครูสลาก็ยังฝันต่อจนถึงทุกวันนี้

“ฝัน 2 อย่างที่ชัดเจนมากคือ รับราชการครูให้เร็วที่สุด เพราะครอบครัวลำบาก แม่ป่วยเป็นเบาหวานตั้งแต่เราเรียนมัธยมต้น แม่ไปหาผือที่หนองเพื่อนำมาทอเสื่อ แต่เท้าบวมขึ้นมาโดยไม่รู้สาเหตุ พ่อเดาว่าน่าจะไปเหยียบหนามในหนอง ตามความเชื่อเลยเอาเท้าไปลนไฟเพื่อเอาหนามออก แต่ความจริงแม่เป็นเบาหวาน เท้าเปื่อยไปแล้ว นอนโรงพยาบาลเกือบ 3 เดือน ระยะทางไปโรงพยาบาลอุบลฯ ไกลเป็นร้อยกิโล ลำบากมาก

“เลยคิดแค่ว่า ต้องได้สวัสดิการให้เร็วที่สุด พ่อแม่ฝากความหวังไว้กับเราและพี่สาวคนที่ 3 เพราะเรียนเก่ง พอได้เป็นครู เราก็จะทำตามความฝันแบบ นิมิตร ภูมิถาวร คือเป็นนักเขียน”

ฟังเขาเล่ามาตั้งแต่ต้น เรามองเห็นความรักและความห่วงใยที่มีต่อครอบครัวจากชายที่นั่งอยู่ตรงหน้า

หลังจบ ม.3 การเข้าเรียนวิทยาลัยครูอุบลราชธานียังไม่ใช่เรื่องง่าย นักเรียนจากแต่ละตำบลต้องแข่งขันกันเพื่อโควตาครู 1 – 2 ตำแหน่งตามขนาดของพื้นที่ แต่เขาก็ทำสำเร็จ จนได้เข้าเรียนสมใจ นั่นคือเส้นทางของการฝ่าฟันที่ลุล่วงด้วยความพยายาม

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง
ภาพ : เฟซบุ๊ก บ้านครูสลา คุณวุฒิ

การเดินทางของภาษาสวรรค์

“พอเข้าเรียนก็ตั้งใจมาก เรามีจุดอ่อนเรื่องการทำอาหารและกลัวการเข้าโรงอาหาร ตอนพักเข้าใจว่าที่เพื่อนไปกันเยอะ คงจะเสียเงินเยอะ ก็เลยไม่ไป ซื้อข้าวเหนียวปิ้งหน้าห้องสมุด แล้วก็อ่านหนังสือ เรียนอยู่ 2 ปีทำอย่างนั้นเกือบทุกวัน ห้องสมุดคือโลกของครู หลัง ฟ้าเมืองไทย กลายเป็น ฟ้าเมืองทอง ก็ยังตามอ่าน มหา’ลัย เหมืองแร่

เขาบอกว่า ทุกวันนี้ได้ซื้อหนังสือก็มีความสุข นั่นคงเป็นสาเหตุให้ตู้อีกใบในห้องเต็มไปด้วยหนังสือหลากหลายประเภท ตั้งแต่นิยาย วรรณกรรม จิตวิทยา ธุรกิจ ภาษา ไปจนถึงธรรมะและเทคโนโลยี

“มีความคิดพื้นฐานว่าเราไม่เก่ง นั่นคือสิ่งที่ขอบคุณตัวเอง แต่มีเรื่องที่เสียดายคือไม่ได้ฝึกกีตาร์ในวันที่ควรจะฝึก ตอนมัธยมต้นเพื่อนเริ่มเล่นกัน เรามีความคิดค่อนข้างรุนแรงเรื่องการต่อต้านตะวันตก ไม่ใช่ของบ้านเราไม่ฝึก แต่ตอนนั้นไปจับแล้วมันก็บ่คือ (มันไม่ใช่) ถ้าสู้ก็คงได้ แต่วันนั้นไม่สู้”

ปัจจุบัน นักแต่งเพลงรุ่นใหญ่เล่าว่า ตนยังคงเล่นดนตรีไม่เป็นสักชิ้น และยังปรบมือไม่ถูกจังหวะ

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง

เราถามเขาว่า หนังสือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแต่งเพลงหรือไม่ เขาตอบว่าหนังสือบังเอิญเข้ามาเสริมได้ถูกเวลา โดยนำสิ่งที่เขาสั่งสมไว้สำหรับความฝันของการเป็นนักเขียนมาใช้กับเรื่องใหม่ที่พบเจอ

“ฝึกเขียนเยอะมาก เคยได้ลงใน ฟ้าเมืองไทย คอลัมน์เขาเริ่มต้นที่นี่ 1 เรื่อง ฟ้าเมืองทอง อีกเรื่อง และกลอนลง สกุลไทย 1 ครั้ง แต่หนังสือหายตอนย้ายบ้านพักครูบ่อย ๆ เราอยากเขียนจนเอาไปแปะบนบอร์ดประชาสัมพันธ์ เพราะไม่มีที่นำเสนอ แล้วไปเฝ้าดูว่าเพื่อนจะอ่านไหม ก็ไม่มีคนอ่าน เขาอาจจะไม่อยากเสียเวลา หรือมันอาจจะไม่ดี (หัวเราะ) แต่พอเขียนกลอนหยอกเพื่อน หรือเขียนเพลงให้เพื่อนจีบสาว เพื่อนกลับชอบ เราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักกลอน เขียนเป็นแค่กลอนแปด แต่มันกลับกลายมาเป็นการแต่งเพลงในที่สุด”

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง
ภาพ : เฟซบุ๊ก บ้านครูสลา คุณวุฒิ

สิ่งหนึ่งที่ชายคนนี้รักและเคารพมาตลอดคือ ‘ภาษา’ ทั้งภาษาถิ่นและภาษาไทย ในการสร้างงานทุกมิติจะต้องเคารพการออกเสียง ไม่ทำให้ภาษาแปร่งออกไป ไม่ใช้ภาษาสนองความสะใจ และใช้ภาษาในฐานะศิลปะ

ความผูกพันด้านภาษาที่เป็นรากฐานส่งเสริมการประพันธ์ เริ่มจากเพลงลูกทุ่งและหมอลำที่อยู่ในฉากชีวิตมาตั้งแต่กำเนิด เขาจึงหลงรักบทเพลงแห่งท้องทุ่งนาหมดหัวใจ

“เราไม่ได้ประทับใจแค่เรื่องราวในเพลง แต่ชอบเพราะมันเป็นเพลงประกอบชีวิต ทุกวันนี้เวลาฟัง ฝนเดือนหก ของ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เราไม่เข้าใจความหมายของหนุ่มในเพลงว่ากำลังคิดถึงสาว เพราะเราคิดถึงวันที่ไปวางเบ็ดกับพี่ชาย เวลาอยู่บนหลังควายรอแม่ถอนกล้า แล้วริ้นยุงมันกัด เรามองดูแม่เตะกล้า ไม่เกี่ยวกับเพลงเลย แต่ฟังแล้วเห็นภาพแบบนั้น”

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง

ถึงจะชอบ แต่ก็ไม่คิดว่าต้องเขียนเพลง ความรู้สึกนี้เพิ่งแนบมาตอนหยอกล้อกับพี่ชาย

สมัยนั้นมีศิลปินตาบอดคนหนึ่งนามว่า บุญมา เขาสีซอประดิษฐ์ที่ทำมาจากปี๊บฮอลล์ เดินไปตามหมู่บ้านเยี่ยงวณิพก ซึ่งความพิเศษของศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจให้สองพี่น้องคือ การด้นกลอนสด

“ทุกครั้งที่เจอ เขาด้นกลอนสดจนเราทึ่ง ทั้งที่เขาไม่ได้เรียนหนังสือ เป็นคนจำเสียงแม่น บอกเวลาถูกทั้งที่ตาบอดตั้งแต่ตอน 8 – 9 ขวบ เพราะไปปีนต้นไม้ แล้วขี้ปลวกหล่นเข้าตา รักษาไม่ถูกวิธี พี่ชายของครูอยากแต่งเพลงให้ได้เหมือนศิลปินบุญมา พี่จึงเริ่มก่อนโดยการแปลงเพลงดัง เช่น ย่างเข้าเดือนหกฝนก็ตกพรำ ๆ พี่ชายจะเอาทำนองมา แต่เปลี่ยนเนื้อเป็น ย่างเข้าเดือนเจ็ดไปใส่เบ็ดกับน้องชาย”

ในขณะที่พี่ชายแปลงเพลงไปร้องอวดเพื่อนอย่างสนุกสนาน ได้เสียงตอบรับอย่างดีจากคนในหมู่บ้าน ความฝันของน้องชายจึงได้จุดประกายขึ้น กระนั้น เขาก็ยังเขียนกลอนไม่เป็น ผิดกับพี่ชายที่เขียนเข้าขั้นเก่ง เมื่อเวลาผ่านไปจนถึง ม.2 ครูวิชาภาษาไทยให้เขียนลำนำประกอบเพลงลูกทุ่ง นั่นจึงกลายเป็นจุดกำเนิดของนักแต่งเพลงชื่อดัง

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง

รางวัลแด่นักเรียนกลอน

เมื่อได้อาวุธชิ้นที่ 1 มาอยู่ในมือ ว่าที่นักแต่งเพลงก็ตั้งปณิธานว่าจะไม่เดินตามรอยพี่ชาย เขาคิดเพลงและทำนองเองทั้งหมด จนเริ่มแต่งเพลงตอน ม.2 และเขียนเพลงอย่างเต็มที่ตอนเรียน ป.กศ.สูง (ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง) สาขาวิทยาศาสตร์

“มีคนเรียนเอกเดียวกัน 50 คน แต่เรียนไปเรียนมา สอบติดมหาวิทยาลัยจนเหลือ 17 คน ทุกบ่ายวันพฤหัสจะมีตัวแทนแต่ละวิชาเอกส่งกิจกรรมไปแสดงบนเวทีนักศึกษา นั่นทำให้เรารวมตัวกับเพื่อนตั้งวงดนตรีขึ้น ตอนนั้นมีกระแสของ สุรชัย จันทิมาธร หรือ น้าหงา คาราวาน, จรัล มโนเพ็ชร, วงรอยัลสไปรท์ส และ วงชาตรี เราก็รวมตัวกีต้าร์ 2 ตัว เมโลเดียน 1 ตัว แต่พอไปเอาเพลงดังมาแกะ เราดันเล่นไม่เก่งพอที่จะแกะเพลงจากแผ่นเสียง”

ชายผู้มีพรสวรรค์พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการอาสาแต่งเพลงให้ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของวงที่มีเพลงใหม่ทั้งหมด เขาหยิบยกเนื้อหามาจากในรั้วสถาบัน แต่งเป็นเพลงรักแบบบ้าน ๆ จีบสาวต่างเอก

ความโด่งดังข้ามผ่านไปถึงวิทยาลัยเทคนิคและวิทยาลัยอาชีวศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานี พวกเขาได้รับคำเชิญไปแสดงถึงที่ แต่น่าเสียดายว่าสมาชิกวงดันเรียนจบกันเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้ครูสลาแต่งเพลงได้กว่า 10 เพลง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเพลง สาวชาวหอ ที่ได้นำไปให้ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ บันทึกเสียง

สลา คุณวุฒิ ครูวัย 60 ที่ไม่มีวันเกษียณ นักแต่งเพลงลูกทุ่งผู้มีผลงานเกือบพันเพลง
ภาพ : เฟซบุ๊ก บ้านครูสลา คุณวุฒิ

“ตอนนั้นเพื่อนจะแยกกันไปบรรจุ เราให้เพื่อนร้องใส่เทปคาสเซ็ตต์ 16 – 17 เพลง พอรุ่งเพชรและ ชาย เมืองสิงห์ ไปโชว์ที่ทุ่งศรีเมือง เลยพากันบุกหลังเวที ห่อเทปไปพร้อมเนื้อเพลง ต่อมาครูรุ่งเพชรบอกว่าที่อัดมาเสียงไม่ชัด เราจึงส่งไปใหม่ตามที่อยู่ จากนั้นก็เงียบหายไปประมาณ 6 – 7 เดือน แต่สุดท้ายเพลง สาวชาวหอ ก็ถูกเลือก เราได้ใจเลยเปลี่ยนจากฝันที่อยากเป็นนักเขียนเรื่องสั้นมาสู่นักเขียนเพลง”

พ.ศ. 2525 ณ โรงเรียนบ้านไร่ขี โรงเรียนแรกที่ครูได้บรรจุ เขาจำได้ว่า ครูเซียง พี่ชายที่สนิทกันขี่มอเตอร์ไซค์มาหาขณะซักผ้า พร้อมตะโกนอย่างดีใจว่า “สลาได้ลงหนังสือพิมพ์!”

แม้น้ำในหมู่บ้านจะหายาก แต่ความดีใจก็ทำให้เขาเลิกซักผ้า แล้วคว้าหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ขึ้นมาอ่าน

“ตอนนั้นได้ลงเหมือนคอลัมน์ซุบซิบ น่าจะเป็นของ ยิ่งยง สะเด็ดยาด ซึ่งเขากำลังโปรโมตเพลง เราตื่นเต้นมาก เพราะเป็นข่าวเขียนว่า รุ่งเพชร แหลมสิงห์ จะกลับมาอีกครั้ง ได้นักแต่งเพลงชื่อดังจากอุบลฯ ชื่อ สลา คุณวุฒิ เพลง สาวชาวหอ

จากนั้นคนดังแห่งอุบลฯ ก็นั่งรอฟังเพลงหน้าวิทยุทรานซิสเตอร์ด้วยใจจดจ่อ พร้อมกันนั้น รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ได้ส่งแผ่นเสียงมาให้ แม้จะไม่มีเครื่องเปิด แต่ชายหนุ่มก็เก็บไว้บนหัวเตียง จนหลายเดือนผ่านไปค่อยได้ยินตามวิทยุ

ความสำเร็จขั้นแรกในวันนั้นทำให้เขาตะบี้ตะบันแต่งเพลงส่ง ทั้งให้ ลพ บุรีรัตน์ ตามที่อยู่ในนิตยสาร ราชาเสียงทอง และฝันไกลที่สุดคือการเขียนเพลงให้ สายัณห์ สัญญา แต่ก็ไร้วี่แววตอบกลับ

ชีวิตเบื้องลึกและวิมานความฝันของครูสลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง ครูและนักแต่งเพลงสายลูกทุ่งที่ขอใช้บทเพลงดูแลลูกศิษย์ตามสัญญา

“เขียนได้เยอะและเร็วมาก เพราะเราไม่มีความรู้ในการเขียน คิดอะไรก็เขียน บางวันได้ 2 – 3 เพลง ยืมเทปคาสเซ็ตต์ของเพื่อนอัดปากเปล่า เขียนเนื้อด้วยมือ เพราะพิมพ์ดีดไม่เป็น เฉลี่ยแล้วส่งเพลงเดือนละ 1 ชุด ประมาณ 12 เพลง จากที่คิดว่าเราได้อัดแผ่นเสียงแล้ว ส่งไปไหนคนก็คงรับ แต่มันไม่ใช่เลย”

หลังจากนั้นชีวิตก็ได้รู้จักกับวงคนโคก ซึ่งเป็นวงดนตรีของชาวครู เขาจึงรวมตัวกับเพื่อนตั้งวงเทียนก้อมขึ้น ครั้งนี้เขาแต่งเพลงเองอีกครั้ง พร้อมตระเวนเล่นฟรี กระทั่งได้พบกับ ทวี กาญจนพิมล สมาชิกสภาจังหวัดอำนาจเจริญ และได้รับเงินทุนมา 20,000 บาท ใน พ.ศ. 2528

ครูสลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาหา วิทยา กีฬา ซึ่งพาไปอัดเสียงที่ห้องบันทึกเสียงไพบูลย์สตูดิโอในย่านบางโพ ที่เดียวกับ พรศักดิ์ ส่องแสง มาอัดเพลง หนุ่มนานครพนม ระหว่างอัดเพลงไป เจ้าหน้าที่ก็รื้อมิกเซอร์ 8 แชนแนลเพื่อเปลี่ยนเป็น 16 แชนแนลไปด้วย ฟังดูทุลักทุเล แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี โดยนำเทปคาสเซ็ตต์แบ่งกับเพื่อนไปขาย

“ตอนนั้นขายยากหน่อย ส่วนตอนนี้ต่อให้เพลงที่แต่งมีคนรู้จัก แต่ความรู้สึกที่ได้ฟังก็ยังเหมือนเดิม ครูไม่เคยประมาทเพลง และไม่เคยประมาทคนฟัง พวกเขาคือกรรมการที่ดีที่สุด

“บางคนบอกว่า ครูมีจินตนาการที่ดีในการแต่งเพลง แต่ตัวเราไม่เคยคิดถึงจุดนี้ คิดแค่ว่าเพลงของเราช่วยเด็กได้หรือยัง เขาแปลงความดังเป็นทรัพย์สินเลี้ยงดูครอบครัวได้หรือยัง ถ้าดังก็ขอบคุณ ถ้าไม่ดังก็สู้ต่อ

“สำหรับรางวัลที่ได้มา มันคือสิ่งที่คนอื่นมองเห็นและให้เรา เราไม่มีหน้าที่ไม่รับ เราไม่มีหน้าที่อยากได้ ถ้าเขาให้ เราก็น้อมรับด้วยความขอบคุณ วันที่ได้ข่าวเรื่องศิลปินแห่งชาติก็น้ำตาไหล ไม่เคยรู้สึกว่าตนเองเป็นอะไรเลย นึกถึงพ่อแม่พี่น้องที่วันนี้เราได้รับการมองเห็น” ครูสลาพูดถึงเป้าหมายในการแต่งเพลง ณ ปัจจุบัน

ชีวิตเบื้องลึกและวิมานความฝันของครูสลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง ครูและนักแต่งเพลงสายลูกทุ่งที่ขอใช้บทเพลงดูแลลูกศิษย์ตามสัญญา
ชีวิตเบื้องลึกและวิมานความฝันของครูสลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง ครูและนักแต่งเพลงสายลูกทุ่งที่ขอใช้บทเพลงดูแลลูกศิษย์ตามสัญญา
สมุดจดไอเดียและเนื้อเพลงของครูสลา 1 เล่ม สำหรับนักร้อง 1 คน

การต่อสู้ในดินแดนแห่งท่วงทำนอง เพื่อชีวิตและความฝัน

ความสนใจและความอยากลงมือทำแปรเปลี่ยนเป็นการดูแลชีวิต ตั้งแต่เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของ ค่ายแกรมมี่โกลด์ ที่สอนเขาว่าเพลงมีส่วนสำคัญในการดูแลชีวิตของคนที่สู้เพื่อฝัน

หากใครนึกไม่ออกว่าครูสลาเคยแต่งเพลงให้กับนักร้องคนใดบ้าง เราขอยกตัวอย่างเพลงโปรดและเพลงดังที่ชื่นชอบให้ฟังอย่าง กระทงหลงทาง ร้องโดย ไชยา มิตรชัย, จดหมายผิดซอง ร้องโดย มนต์สิทธิ์ คำสร้อย, ยาใจคนจน ร้องโดย ไมค์ ภิรมย์พร, ปริญญาใจ ร้องโดย ศิริพร อำไพพงษ์, ต้องมีสักวัน ร้องโดย ก๊อท จักรพันธ์, ดอกหญ้าในป่าปูน ร้องโดย ต่าย อรทัย และ ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้ ร้องโดย ตั๊กแตน ชลดา นอกจากนี้ยังมีนักร้องอีกหลายคนทั้ง ไผ่ พงศธร, ไหมไทย หัวใจศิลป์ รวมไปถึง มนต์แคน แก่นคูน

“แต่ละคนกว่าจะพาตัวเองมาถึงแกรมมี่หรือที่ที่ครูอยู่ได้ เขาทุลักทุเล วันนี้เราเห็นเวทีประกวด เรารู้เลยว่าเขาลำบากกันมากแค่ไหน กว่าจะมายืนบนเวทีต้องเก็บเงิน 3 เดือน ต้องไปรับจ้างตัดอ้อย ปลูกมัน หรือแม่ต้องไปยืมเงินมาให้ ครูจึงพูดกับตัวเองว่า พอเรามั่นคงแล้ว การทำงานให้ใครสักคนอาจเป็นครั้งหนึ่งของเรา แต่ถ้าไม่สำเร็จ มันจะเป็นเพียงครั้งเดียวของเขา”

ชีวิตเบื้องลึกและวิมานความฝันของครูสลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง ครูและนักแต่งเพลงสายลูกทุ่งที่ขอใช้บทเพลงดูแลลูกศิษย์ตามสัญญา

นอกจากแต่งเพลงเพื่อเลี้ยงชีวิตของลูกศิษย์และคนรอบกาย ครูสลายังเชื่อว่า เพลงรับใช้ผู้ฟังด้วยการเล่าเรื่องแทนคนที่เล่าไม่เป็น ด้วยเหตุนี้เขาจึงขอเรียกตัวเองว่าเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ มากกว่าเป็นศิลปินหรือนักแต่งเพลง แต่เป็นคนเล่าเรื่องผ่านท่วงทำนอง โดยมีภาษาและศิลปะการประพันธ์เป็นเครื่องมือ

“สิ่งที่ยากที่สุดในการแต่งเพลงคือความรู้สึกจริง องค์ประกอบอื่นเรียนและฝึกได้ หัวใจของการเล่าเรื่องคือการทำให้คนรู้สึกจริงกับเรื่องที่เล่า เป็นตัวแทนความรู้สึกของคนฟัง และต้องสื่อสารผ่านภาษา จังหวะ ถ้อยคำที่อยู่ในกรอบของศิลปะ”

เราถามเขาว่าได้ใส่ตัวตนลงไปในบทเพลงที่แต่งบ้างไหม เขาส่ายหน้าพร้อมบอกว่า ลายเซ็นไม่ใช่จุดมุ่งหมายในการสร้างงาน เว้นแต่คนฟังฟังแล้วรู้สึกว่านี่คือลายเซ็นของเขา

“เพลงของครูอาจไม่โดดเด่นเรื่องจังหวะหรือทำนอง ดนตรีของครูคือดนตรีในใจ เพราะเล่นไม่เป็น ครูฝึกตัวเองผ่านการเล่าเรื่อง ดังนั้น เพลงจะมาในกรอบของกลอนแปด 4 บท หรือไม่เกิน 3 บท เล่าเรื่องจบ ฟังแล้วเห็นภาพ”

ชีวิตเบื้องลึกและวิมานความฝันของครูสลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง ครูและนักแต่งเพลงสายลูกทุ่งที่ขอใช้บทเพลงดูแลลูกศิษย์ตามสัญญา

อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ในบทเพลงของครูสลาคือ ‘เสน่ห์ของอีสาน’ ที่อัดแน่นอยู่ในเนื้อหาและอารมณ์

“ภาษาอีสานหรือคำลาวมีความงดงาม แผ่นดินลุ่มแม่น้ำโขงคือแผ่นดินแห่งท่วงทำนอง Land of Melody อันนี้ครูเรียกเองนะ มันมีทำนองลำเต้ย ลำเดิน ลำผญา ถ้าข้ามไปฝั่งลาวก็มีขับเชียงขวาง ขับพวน ขับโสม เต็มแผ่นดิน ถ้าเอาความงามของภาษาและทำนองมาใส่ร่วมกันมันจะเป็นเสน่ห์”

ราวกับได้เข้าคลาสเลกเชอร์เรื่องดนตรี เขาเล่าต่อว่า ในบทเพลงมีวิถีการต่อสู้ซ่อนอยู่ตั้งแต่เริ่ม ครูสลาเข้าวงการโดยการชักชวนของวิทยาและน้องชายอย่าง ปัญญา คุณวุฒิ ซึ่งมาเป็นนักจัดรายการวิทยุในกรุงเทพฯ

“ตอนนั้นถ้าเป็นเอฟเอ็มเขาไม่ให้เปิดหมอลำ ไม่ให้พูดภาษาถิ่น คนที่พูดหรือเปิดต้องไปที่วิทยุยานเกราะ ครูชอบ พี่เบิร์ด ธงไชย กับ อัสนี-วสันต์ เขาไม่มีลิมิตเรื่องเพลง แต่อยากให้ศิลปะทุกแขนงได้รับสิทธิ์เท่ากัน เราคิดว่าถ้าเอาคำอีสานมาอยู่ในเพลงให้เยอะขึ้น คงจะสร้างการยอมรับได้บ้าง

“ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนแรก แต่คิดว่าตัวเองเป็นคนร่วมที่อยากสร้างงานเพลงลูกทุ่งที่มีภาษาถิ่น ด้วย เหตุผลคืออยากให้เพลงพาตัวเองเข้าไปอยู่ในทุกพื้นที่สื่อโดยไม่มีกำแพง คนบ้านครูอายที่จะบอกว่าตัวเองเป็นใครในวันที่เข้ามากรุงเทพฯ ลูกหลานที่มาทำงาน พอผ่านโคราชก็เริ่มไม่พูดภาษาถิ่น บางวันไปกินข้าว น้องที่เป็นเด็กเสิร์ฟไม่พูดภาษาถิ่นต่อหน้าเรา แต่ไปพูดหน้าห้องน้ำ

“คนที่เป็นฮีโร่เรื่องนี้คือ จรัล มโนเพ็ชร เพราะท่านเอาภาษาเหนืออยู่ในเพลงตั้งแต่เราเป็นนักศึกษา ทำให้พื้นที่สื่อยอมรับ นอกจากนี้ ยังทำให้คนบ้านเรากล้าบอกว่าเราเป็นใคร มีความสุขกับการใช้ชีวิต ครูใช้ภาษาถิ่นเยอะมาก โดยเฉพาะลูกศิษย์อย่าง แดง จิตกร, แมน มณีวรรณ, ต่าย อรทัย และ ศิริพร อำไพพงษ์ ทุกคนคืออัศวินในการสู้เพื่อวัฒนธรรมนี้

“จังหวะของสังคมก็มีส่วน ครูขอบคุณลูกทุ่งเอฟเอ็มและพี่ชาย วิทยา ศุภพรโอภาส ตลอดเวลา เขาทำให้ลูกทุ่งเข้าไปอยู่ในเอฟเอ็ม พอมาถึงวันนี้ ความกล้าและการสร้างงานทำลายกำแพงเหล่านั้น ทำให้ทุกบทเพลงเสมอภาคมากขึ้น”

แม้เด็กรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจความจริงจังด้านภาษาของครูสลา แต่ทุกคนที่เกิดทันย่อมรู้ว่ามีการต่อสู้ในโลกดนตรีมาก่อน เมื่อชนะแล้วจึงต้องยืนยันจุดยืน เมื่อพบกับความเท่าเทียม ยิ่งต้องทำให้แสงนั้นเฉิดฉาย เช่นเดียวกับละคร นายฮ้อยทมิฬ ซึ่งพูดภาษาอีสานทั้งเรื่อง ผิดกับละครอื่นที่เคยมีในยุคนั้น นี่ถือเป็นอีกหนึ่งแนวรบที่สู้เพื่อให้คนอีสานภูมิใจในตัวเอง โดยครูสลาได้รับเกียรติให้แต่งเพลงประกอบละครเรื่องแรกในชีวิต

“จนถึงตอนนี้และต่อไป เพลงลูกทุ่งจะไม่มีวันหมดยุค เพราะลูกทุ่งคือคนไทย เป็นเพลงของเราทุกคน”

ชีวิตเบื้องลึกและวิมานความฝันของครูสลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง ครูและนักแต่งเพลงสายลูกทุ่งที่ขอใช้บทเพลงดูแลลูกศิษย์ตามสัญญา

ปัจจุบัน ครูสลาเห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการที่เดินหน้าอย่างไม่หยุดหย่อน เด็กรุ่นใหม่มีความพร้อมในการแต่งเพลง มีความสามารถด้านดนตรีมาตั้งแต่ในโรงเรียน หากมีเรื่องเล่ามาประกอบยิ่งกลายเป็นบุคลากรคุณภาพ

“คุณภาพคนพร้อมแล้ว หากประเทศมียานที่ดีพอจะส่งความเก่งของเด็กเราไปนานาชาติเหมือนเกาหลี หรือประเทศอื่น ก็รอตรงนั้นอยู่”

ความฝันในวัย 60 ของเขาไม่มีอะไรมาก เมื่อได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่และแฟนคลับมามากพอ ก็ถึงเวลาส่งต่อความช่วยเหลือให้คนอื่น เพราะนั่นคือสัญญาที่ครูมีต่อลูกศิษย์คนแล้วคนเล่า

“มันคือความฝันที่อยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์ในวันที่มีแรงพอ ตอนนี้ถึงวัยส่งเสริม นอกจากเขียนเพลงเพื่อลูกศิษย์ ครูก็มีที่นาอยู่ที่อุบลฯ หากสร้างอาคารที่เก็บความเป็นเราเอาไว้ในนั้น สำหรับคนที่อยากศึกษาชีวิตของครูสลา หรืออยากศึกษาการเขียนเพลงของเรา ก็ไปที่นั่นได้ เผื่อเรื่องราวของเราจะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครสักคน”

บทเรียนชีวิตที่ก้าวมาเกินครึ่งศตวรรษสอนให้เขาไม่ยอมแพ้และเดินหน้าทำตามความฝัน ขณะเดียวกัน บทเรียนของความเป็นครูก็สอนให้เขามีความสุขเมื่อเห็นความสุขของผู้อื่น และรู้จักรักลูกคนอื่นให้เหมือนรักลูกตัวเอง

“ถึงจะลาออกจากราชการมานาน แต่ความเป็นครูไม่มีวันเกษียณ และจะอยู่ต่อไปจนหมดลมหายใจ”

เรื่องราวของเขายังคงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ แม้บทสนทนาจะถึงเวลาต้องจบ หลังจากที่เราขอตัวกลับบ้าน ยังมีอีกหลายชีวิตแวะเวียนมาที่ ห้องอัดซำบายใจ เพื่อทำฝันให้เป็นจริง ซึ่งเจ้าของสถานที่ยินดีต้อนรับนักล่าฝันทุกคน พร้อมสนับสนุนเท่าที่มีกำลัง โดยก่อตั้ง ค่ายซองเดอ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับคนที่ใช่ แต่ยังไม่ชนะในเวทีต่าง ๆ เพราะสำหรับครูสลาตอนนี้ ไม่มีเป้าหมายใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการแบ่งปัน

ชีวิตเบื้องลึกและวิมานความฝันของครูสลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง ครูและนักแต่งเพลงสายลูกทุ่งที่ขอใช้บทเพลงดูแลลูกศิษย์ตามสัญญา

(ช่วงพิเศษ หลังตู้ครูสลา)

ระหว่างครูสลาเปลี่ยนบทบาทเป็นนายแบบ เราถามเขาว่าเครื่องแต่งกายอันเป็นเอกลักษณ์มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง

ชีวิตเบื้องลึกและวิมานความฝันของครูสลา ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง ครูและนักแต่งเพลงสายลูกทุ่งที่ขอใช้บทเพลงดูแลลูกศิษย์ตามสัญญา

“หมวกได้มาโดยบังเอิญ ถ่ายรายการ ชิงช้าสวรรค์ คอนเทสต์ ตอนนั้นมาจากอุบลฯ และมาช้ากว่าเพื่อน ครูเทียม-ชุติเดช ทองอยู่ เลยเอาหมวกให้ใส่ เพราะผมกระเซิงมาก ปรากฏว่าเขาบอกดูดีก็เลยใส่เรื่อยมา

“ผ้าขาวม้า ตอนเรียน ป.กศ.สูง แม่ทอให้ ปกติชาวนาอีสานพอว่างจากงาน หน้าฝนก็ทอเสื่อ หน้าหนาวก็ทอผ้า ทุกบ้านจะมีใต้ถุนสูงและกี่ทอผ้า แม่ก็ทอแล้วแบ่งให้ลูกชายทุกคน ตอนที่เรียน ป.กศ.สูง ปีแรก แม่มีแรงทำ ก็แจกให้คนละผืน พี่ชาย ครู และน้อง เป็นผ้าที่สวยมาก แล้วพอแม่บอกว่าจะให้ เราก็พยายามฝึกใช้ คล้องไปคล้องมา ตอนนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ แต่เสียดายว่าผืนที่แม่ทอให้หายไปแล้ว

“เสื้อหม้อห้อม เสื้อผ้าฝ้าย พ่อเคยไปปั่นสามล้อที่นครพนมแล้วชอบเสื้อหม้อห้อมที่ปักเรณูนคร เราก็ใส่มาตลอดตั้งแต่นั้นเหมือนกัน”

เขายิ้มให้กล้องต่ออย่างไม่เขินอาย เราจึงปิดท้ายด้วยการเสนอให้เขาทำแบรนด์ผ้าขาวม้า เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน เพราะใครจะเป็นพรีเซนเตอร์ที่ดีไปกว่าคนที่ใช้ผ้าขาวม้าทุกวันเช่นเขา!

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

A.W.Y

ช่างภาพจากเชียงใหม่ที่ชอบของโบราณ ยุค 1900 - 1990