23 กันยายน 2021
17 K

The Cloud x การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ผมไปสกลนครไม่บ่อย แต่ไปทีไร มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกินทุกที ถ้านึกว่าไปสกลนครต้องกินอะไรคงพอแนะนำร้านได้ แต่ถ้าถามว่าอาหารของจังหวัดนี้เป็นอย่างไรก็ตอบได้ยาก จะมีบางอย่างที่พอจะทำให้นึกออกว่า อะไรบ้างที่ทำให้เกิดเป็นอาหารแบบสกลนครขึ้นมา บางคนพูดถึงที่นี่คงนึกถึงเนื้อย่างโพนยางคำ นั่นก็ใช่ แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งในอาหารของสกลนครเท่านั้น 

จังหวัดเล็กๆ ไม่ติดแม่น้ำโขง แต่มีเรื่องอาหารการกินที่น่าสนใจ ไปสกลนครแต่ละครั้งก็จะรู้จักร้านหรือของกินใหม่ๆ เสมอๆ ทั้งร้านดังในเมือง เมนูที่คนสกลทำให้กิน หรือในอีเวนต์พิเศษ ที่เชฟไปตามหาวัตถุดิบจากสกลนครมาทำเป็นอาหารให้รู้จักเมืองสกล

อะไรบ้างที่ทำให้เกิดเป็นอาหารแบบสกลนคร

อาหารจากการอพยพ

จำได้ว่ามื้อที่คิดเอาไว้ในใจว่าอยากไปลองกินให้ได้เมื่อเท้าแตะเมืองสกลคือปากหม้อ ทันทีที่ลงเครื่องก็ตรงดิ่งไปยังร้านปากหม้อปารีส ร้านข้าวเกรียบปากหม้อเวียดนามที่ใครมาสกลนครก็รู้จัก และเหมาะที่จะเป็นมื้อต้อนรับถ้าหากลงเครื่องในตอนช่วงเช้า

‘ร้านปากหม้อปารีส’ เป็นร้านเก่าแก่ เป็นที่รู้จักดีของทั้งคนสกลและนักท่องเที่ยว ขนมปากหม้อที่ใช้น้ำแป้งวาดบนผ้าขาวบางขึงตึง บนหม้อต้มน้ำร้อนที่ให้ไอน้ำพุ่งขึ้นจากหม้อจะทำให้แป้งสุก ทีนี้จะใส่ไส้ ตอกไข่ ใส่ผักโรยแบบไหนก็ตามใจทั้งคนกินและคนทำ แป้งเนื้อนุ่มเหนียว บางใส ห่อด้วยหมูสับผัดปรุงรส กินกับน้ำจิ้มรสเปรี้ยวหวานสไตล์เวียดนาม เหมือนเป็นของว่างแต่ก็ช่วยทำให้อิ่มท้องได้สบายๆ

ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

ปากหม้อเป็นอาหารที่มักจะได้กินทุกครั้งเมื่อต้องเดินทางไปถิ่นอีสานริมฝั่งโขง เหตุเพราะมีคนเวียดนามมาตั้งถิ่นฐานกระจายตัวกัน ตั้งแต่สมัยอพยพหนีภัยสงครามในประเทศมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ถ้าจะนับกันจริงๆ ก็มีการอพยพมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว ผมเคยอ่านหนังสือเรื่อง ลูกอีสาน ก็พูดถึงชาวเวียดนามอพยพในสมัยก่อน ที่ คำพูน บุญทวี เล่าว่า ชาวเวียดนามอพยพเป็นกลุ่มคนที่ขยันทำมาค้าขาย อาจจะขยันกว่าคนจีนที่มาอยู่ก่อนแล้วด้วยซ้ำ

อาหารเวียดนามของสกลนครไม่ได้โดดเด่น หรือมีร้านมากมายเท่าจังหวัดรอบข้าง แต่วัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในสกลนครถือว่าแข็งแรงมากจังหวัดหนึ่งในประเทศ ทั้งที่ทำธุรกิจค้าขายในเมืองสกล หรืออยู่รวมกันเป็นชุมชุนที่บ้านท่าแร่ หมู่บ้านเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ชุมชนชาวเวียดนามผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีงานขบวนแห่ดาวคริสต์มาสที่เป็นที่รู้จัก ในคืนวันคริสต์มาส ทุกบ้านจะประดับโคมไฟรูปดาวหน้าบ้านแทบทุกหลัง สว่างไสวไปทั่ว และจัดงานเฉลิมฉลองกันหลายคืน

ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร
ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

อาหารที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารเวียดนามอีกอย่างที่พบในสกลนคร คือ ก๋วยเตี๋ยวที่ใส่กะปิ ใบโหระพา และพริกจี่ มีซอสพริกไว้ให้คู่โต๊ะ เป็นการกินก๋วยเตี๋ยวที่นิยมกันในแถบอีสาน รวมถึงเพื่อนบ้านลาวและเวียดนาม ผมได้คุยกับคนสกลนคร ถึงได้รู้ว่าก๋วยเตี๋ยวแบบนี้มีมากในสมัยก่อน ตอนนี้เหลืออยู่ไม่กี่ร้านแล้ว ที่ผมเคยไปชิมคือ ‘ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อรสรัญจวน’ ในตัวอำเภอเมือง เป็นซุปเนื้อใสๆ หอมๆ ปรุงด้วยกะปิ และเด็ดผักในกระจาดตามชอบ

ชาวภูไท หวาย มะเม่า ข้าวฮาง และอาหารจากป่าภู

นอกจากชาวไทยเชื้อสายเวียดนามแล้ว สกลนครยังมีคนชาติพันธุ์ต่างๆ รวมอยู่ด้วย ที่รู้จักกันดีคือชาวภูไท ชนชาติที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของจีน และถือเป็นชาติพันธุ์ที่สืบเชื้อสายกันมาจนลูกหลานคนสกลนครส่วนมากมีเชื้อสายเป็นชาวภูไท

วัฒนธรรมชาวภูไทสืบต่อกันมาอย่างแข็งแรง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน อาจพูดได้ว่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมด้านอาหารการกินของชาวภูไท มีผลต่อภาพใหญ่ของอาหารแบบสกลนครเลยก็ว่าได้ ชาวภูไทกลุ่มที่อาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ป่าเขา และที่ราบลุ่ม กินอาหารตามธรรมชาติและฤดูกาล หาของใกล้ตัวมาปรุงเป็นอาหารแบบง่ายๆ ถิ่นฐานของชาวภูไทอยู่ตรงที่ราบใกล้ภูเขา ก็เลยมีของกินอยู่รอบๆ ตัวอย่างอุดมสมบูรณ์ 

ยิ่งใครได้ไปสกลนครช่วงหน้าฝน ซึ่งเห็ด หน่อไม้ และหวายออกใหม่ๆ ที่ตลาดบายพาส ตลาดขายวัตถุดิบธรรมชาติที่ชาวบ้านหามาจะคึกคักเป็นพิเศษ 

เทือกเขาภูพาน เวียดนามอพยพ คนภูไท ลูกอีสาน ปลาร้า เนื้อวัว และหลายสิ่งที่ทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

การนำอาหารจากป่ามาปรุง เป็นความพิเศษที่โดดเด่นกว่าจังหวัดใกล้เคียง เพราะการเลือกถิ่นฐานใกล้เทือกเขาภูพานของชาวภูไท ทำให้อาหารจากภูจากเขากลายเป็นของกินที่ทำให้เป็นอาหารแบบสกลนคร 

หวายเป็นอาหารที่กลายเป็นภาพจำของอาหารสกลนครสำหรับผม หน่อหวายอ่อน แกะเอาแก่นมาทำแกงอ่อม เป็นอาหารที่ใครมาถึงก็จะต้องลองชิม เสียดายที่อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ผู้คนทำกินกันในบ้าน หาตามร้านอาหารค่อนข้างยากแล้ว

ถ้าจะให้ง่ายหน่อย ‘ร้านอาหารสะบันงา’ มีเมนูแกงหวายเป็นอาหารขึ้นชื่อของร้าน อาจจะไม่ได้ใช้สูตรดั้งเดิมแบบชาวภูไท ปรับให้เข้ากับการกินของคนปัจจุบันเล็กน้อย แต่ก็ยังได้รสของวัตถุดิบที่เกิดอยู่ในแถบเทือกเขาภูพานอยู่ดี หรือ ‘ร้าน House Number 1712’ เป็นร้านคนรุ่นใหม่ที่พยายามอนุรักษ์การกินอาหารแบบดั้งเดิมไว้ในรูปแบบอาหารใหม่ๆ ทำโดยเชฟหนุ่มผู้มีเชื้อสายภูไทโดยตรง ก็เป็นอีกร้านหนึ่งที่ยังคงทำให้เราได้ชิมรสแบบสกลนครอยู่ มีเมนูแนะนำเป็นหมกหน่อไม้แบบภูไท ใส่ใบสะแงะ สมุนไพรกลิ่นหอมจากภูพานเข้าไปด้วย

เทือกเขาภูพาน เวียดนามอพยพ คนภูไท ลูกอีสาน ปลาร้า เนื้อวัว และหลายสิ่งที่ทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

ของดีที่ได้ยินบ่อยๆ เมื่อมาเที่ยวสกลนครอีกอย่างหนึ่ง คือ ข้าวฮาง เป็นการถนอมอาหารจากภูมิปัญญาของชาวภูไท นำข้าวเปลือกมาผ่านกรรมวิธีแช่น้ำ บ่ม แล้วนึ่ง บ้างก็เพาะงอกก่อนนึ่ง ก่อนจะเก็บข้าวนี้ไว้กินได้ทั้งปี เรื่องเล่าของข้าวฮางมาจากความจำเป็นต้องเก็บข้าวไว้ให้มีพอสำหรับคนในครอบครัวที่ต้องใช้แรงงานทำงาน แต่ผลที่ได้กลับมากกว่าความอิ่มท้อง หลังจากที่วิจัยพบว่าภูมิปัญญาการทำข้าวฮาง กระตุ้นให้ข้าวมีสารอาหารทางโภชนาการครบถ้วนและมากกว่าข้าวแบบทั่วไป ข้าวฮางกลายเป็นซูเปอร์ฟู้ดจากภูมิปัญญาชาวภูไทที่ส่งต่อมาถึงลูกหลานในปัจจุบัน และกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจของจังหวัดไปแล้ว

ปัจจุบันของจากป่าอย่างหวายและภูมิปัญญาข้าวฮาง ถูกส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตมากขึ้น เช่นเดียวกับเบอร์รีซูเปอร์ฟู้ดอีกชนิดที่กำเนิดจากป่าอย่างหมากเม่า พืชท้องถิ่นที่เดิมคนนิยมเก็บเม็ดสุกกินเล่น หรือมาตำส้มตำให้รสเปรี้ยว ทุกวันนี้เอามาพัฒนาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ เครื่องดื่มอย่างน้ำเม่าและไวน์เม่าเพื่อเพิ่มมูลค่า ส่งผลให้เกิดฟาร์มปลูกมะเม่าของชาวบ้าน และพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์จากผลไม้ป่านี้มากมาย เช่น แยมหมากเม่า คุกกี้ไส้หมากเม่า ชาใบเม่า น้ำใบเม่า สบู่และเครื่องสำอางประทินผิว 

ถ้าอยากลองชิมน้ำหมากเม่า ที่ ‘คำหอมคาเฟ่น่ารักในตัวเมืองสกลนครมีน้ำหมากเม่าแบบออร์แกนิกขาย

ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร
ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

จากนายฮ้อยถึงโพนยางคำ 

ชาวภูไทและอีสานขยันทำมาหากิน เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย มีนายฮ้อยหรือพ่อค้าพากองเกวียนเดินทางไกล เส้นทางนายฮ้อยเริ่มจากแถวๆ สกลนคร ผ่านโคราช เผชิญทั้งโรคภัย ไข้ป่าในดงพญาไฟ และกองโจร ผจญภัยต่างๆ นานา กว่าจะมาถึงเมืองล่างหรือบางกอกเพื่อขายวัวควาย เป็นเรื่องจริงที่กลายมาเป็นนิยายและละคร เป็นคำเล่าที่ผมได้ยินมา จะเห็นว่าชาวอีสานเลี้ยงวัวควายกันในวิถีชีวิต แต่วัวสมัยก่อนนั้นเป็นวัวพื้นบ้าน อย่างวัวกระโดนหรือวัวกี้ เลี้ยงไว้ใช้งานและล้มกินในงานใหญ่ 

จนถึงทุกวันนี้ เนื้อวัวพื้นบ้านยังคงเป็นที่นิยมในหมู่คนอีสาน เพราะอาหารอย่างลาบก้อยทั้งสุกและดิบ จะต้องใช้วัวล้มใหม่ๆ จากเขียง ลาบแบบดิบรักษาความหวานของเนื้อวัวได้ การปรุงลาบอีสานจะไม่เหมือนรสของลาบที่เราเจอบ่อยๆ ในเมืองกรุง มีรสหวานเปรี้ยว แต่จะมีรสหลักคือรสเผ็ด รสเค็ม และรสขมจากดีวัวและเพี้ย ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ในลำไส้ของวัว รสขมที่เรียกว่าขมอ่ำหล่ำ ถือเป็นรสลาบของอีสานแต่ไหนแต่ไร ความขมนัวจนหวานปากเป็นรสที่ติดใจเอาได้ง่ายๆ เจอได้ทั้งตามร้านลาบและตามบ้าน 

รสชาติแบบนี้ในเมืองสกลนครก็มีร้าน ‘ไผ่ล้อม’ ซึ่งบรรดาเพื่อนเชฟของผมแนะนำไว้ เปิด-ปิดร้านตามใจเสียหน่อย แต่ลาบ อ่อมเพี้ย และต้มขม เป็นเมนูรสอีสานเดิมๆ ที่น่าสั่งมาลองหากโชคดีร้านเปิดบริการตามปกติ

ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

วัฒนธรรมการกินเนื้อก็พัฒนามาตามวิถีการกินแบบคนยุคนี้ เนื้อโพนยางคำที่ใครๆ ก็รู้จัก เป็นผลจากนโยบายการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านของรัฐบาลในสมัยนานมาแล้ว สนับสนุนให้ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวเป็นอาชีพมาแต่ไหนแต่ไรได้เลี้ยงวัวเนื้อ พัฒนาสายพันธุ์ร่วมกับประเทศฝรั่งเศส เป็นที่มาของชื่อวัวไทย-เฟรนซ์ (Thai-French Beef) ที่สหกรณ์โพนยางคำ โคขุนมีวิธีการเลี้ยงเป็นพิเศษถึง 12 – 18 เดือน เลี้ยงด้วยการให้ฟังเพลงเพื่อกระตุ้นการกินของวัว ให้อาหารเป็นหญ้า ฟาง และกากน้ำตาล (Molasses) ทำให้เนื้อและไขมันที่แทรกในกล้ามเนื้อวัวมีมาตรฐาน เพิ่มมูลค่าให้กับเนื้อวัว นิยมนำไปย่างเป็นเนื้อสเต๊กและปิ้งย่าง จนกลายเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศ 

ในสกลนคร ร้านปิ้งย่างเนื้อวัวโพนยางคำมีอยู่หลายร้าน ร้านที่มีชื่อเสียงจนขยายไปหลายสาขาในสกลและจังหวัดใกล้เคียง คือ ‘ร้านเตาถ่านโคขุนโพนยางคำ’ ร้านปิ้งย่างแบบสมัยนิยมที่ใช้เนื้อโพนยางคำย่างให้หอม และจิ้มกับน้ำจิ้มแจ่วแบบอีสาน

ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร
ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

ลูกอีสาน ปลาร้า เกลือ และของขวัญจากภูพาน

หากได้อ่านเรื่อง ลูกอีสาน จะจินตนาการได้ถึงภาพความแร้นแค้นและความแห้งแล้ง ตามภาพจำถึงดินแตกระแหง แต่ก็จะเห็นความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในดิน ในน้ำ และในป่า ที่เกิดจากความรู้จักกิน รู้จักหาของใกล้ตัวของคนอีสาน จับอะไร หยิบอะไร ก็กลายเป็นอาหารได้ไปเสียหมด 

อย่างที่เล่าในตอนต้น สกลนครตั้งอยู่ติดกับเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร เทือกเขาภูพานบริเวณจังหวัดสกลนครเป็นป่าเต็งรัง มีพืชพันธุ์ ผลไม้ และเห็ดตามฤดูกาล ทอดตัวกั้นระหว่างแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ 2 แอ่ง คือ แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร ที่ตั้งของจังหวัดสกลนครอยู่ในฝั่งที่เรียกว่าแอ่งสกลนคร เป็นที่ลุ่มขนาดใหญ่ มีก้นแอ่งที่เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ชื่อหนองหาร เป็นแหล่งทำประมงได้ตลอดทั้งปี 

ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร
ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

ถึงจังหวัดนี้จะไม่ได้ติดริมแม่น้ำโขง แต่ก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลาแม่น้ำ ทั้งจากหนองหารและแม่น้ำสายสำคัญของสกลนคร ชื่อว่าแม่น้ำสงคราม กำเนิดจากเทือกเขาภูพาน ไหลผ่านสกลนครและอีก 3 จังหวัด ไปออกแม่น้ำโขงที่จังหวัดนครพนม 

สกลนครยังมีลักษณะที่เรียกว่า ‘ป่าบุ่งป่าทาม’ หรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก กลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่มาจากแม่น้ำโขง และแห้งแล้งจัดในหน้าแล้ง เป็นเหมือนแหล่งอาหารชั้นดีของชาวบ้าน เพราะจะมีทั้งปลาน้ำจืดและพืชพรรณรวมกันอยู่มากมาย 

ลึกลงไปถึงใต้ดิน การสะสมแร่ธาตุทำให้ริมแม่น้ำสงครามกลายเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ เกลือธรรมชาติที่อยู่ใต้ดินลึก เกิดบ่อเกลือและโรงต้มเกลือมานานนับร้อยปี เรื่องเล่าถึงบ่อเกลือแม่น้ำสงครามนี้ย้อนไปไกลถึงตั้งแต่สมัยส่งออกไปอาณาจักรขอมเพื่อทำปลาร้า เกลือจากใต้ดินนี้มีศักดิ์ศรีเป็นถึงเกลือที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงเกลือจากโอกินาว่าของญี่ปุ่น 

ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

เกลือถูกนำมารวมกับปลาจากแหล่งเดียวกันเพื่อทำปลาร้า หัวใจของรสชาติอาหารอีสาน มีคนบอกผมว่าในสมัยก่อนนั้น ปลาร้าจากปลาแม่น้ำสงครามจะมีราคาแพงกว่าปลาร้าจากหนองหาร เพราะเป็นปลาจากน้ำไหล และต้องใช้เกลือสินเธาว์หมักเท่านั้น เกลือทะเลก็มาทดแทนกันไม่ได้ จริงหรือไม่จริงอย่างไรต้องหาทางพิสูจน์ 

ทุกวันนี้สกลนครยังเป็นแหล่งผลิตปลาร้าขนาดใหญ่ระดับอุตสาหกรรม ถึงกับกลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจไปแล้วเช่นกัน

ถ้าต้องแนะนำร้านอาหารที่ใช้ปลาร้าคงมีมากมายเต็มไปหมด ขอยก ‘ร้านส้มตำยายเรือง’ ร้านส้มตำอายุเกือบ 50 ปีที่ขายส้มตำและเมนูอาหารพื้นบ้านอีกไม่กี่อย่างมาตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงทุกวันนี้ ยายเรืองตำคนเดียวมาตลอด ปรุงปลาร้าและรสอื่นๆ เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนสูตร คงพอช่วยให้เห็นรสอีสานที่ผ่านเวลาแบบไม่เปลี่ยนแปลงได้ดี

ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร
ไปสกลนครต้องกินอะไร และอะไรทำให้เกิดอาหารแบบสกลนคร

ถึงตอนนี้ก็ยังคงหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ว่า อาหารของสกลนครจริงๆ คืออะไร แต่ก็เห็นว่าทั้งวิถีชีวิตและถิ่นที่อยู่ ช่วยกันสร้างให้วัฒนธรรมการกินของคนที่นี่มีความหลากหลายสูงมาก คนสกลนครบอกกับผมว่า ในจังหวัดนี้ แค่เปลี่ยนหมู่บ้าน เปลี่ยนอำเภอ อาหารก็เปลี่ยนไปแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าคนแถวนั้นเขากินอะไรแบบไหน ชาติพันธุ์อะไร หรือมาสกลนครคนละฤดูกาล หน้าตาอาหารก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับตอนนั้นธรรมชาติจะมีอะไรออกมาให้กิน น้ำหลากก็มีปลา น้ำแห้งก็มีพืชพันธุ์ ยิ่งถ้ามาช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่ป่าภูพานมอบอาหารให้อย่างอุดมสมบูรณ์ ฟังแล้วก็น่าอิจฉาและน่าเสียดาย หากสิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปตามยุคสมัย ในวันที่อาหารอาจจะเหมือนกันไปหมดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

อยากชวนให้ทำความรู้จักวิถีของอาหารสกลนครแบบคร่าวๆ เผื่อคราวหน้าถ้ามีโอกาสได้ไปเที่ยว จะได้ลองตามหาและชิมอาหารรสชาติแบบสกลกันครับ

ขอขอบคุณ

อาจารย์วิศิษย์ศักดิ์ อุดมมาลา

สาขาวิชาอุตสาหกรรมบริการ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร 

อาจารย์วรรณพร หันไชยุงวา 

หลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาเพื่อการพัฒนา สาขาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

Writer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2

Photographers

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ

Avatar

จิราภรณ์ ล้อมหามงคล

ช่างภาพฟรีแลนซ์ตัวไม่เล็กจากแดนอีสาน ผู้ชื่นชอบในประวัติศาสตร์