ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด การขยับตัวสร้างสรรค์ของย่านท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นสัญญาณของการปรับตัวและความหวังใหม่ ในปี 2021 ที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีเทศกาลย่านสร้างสรรค์มากมายหลายงาน นำร่องโดยหัวเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ที่จัดงาน Design Week ต่อเนื่องทุกปี ภาคใต้มีความเคลื่อนไหวสนุก ๆ อย่างงาน Made in Songkla และ Creative Nakhon ที่นครศรีธรรมราช ฟากอีสานก็มีงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival) ที่ขอนแก่น และ สกลจังซั่น เทศกาลงานสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าสกลนคร 

การเติบโตของเมืองแห่งธรรมะ โคขุน และผ้าครามน่าสนใจมาก ๆ จากเมืองอีสานที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี แรงผลักดันจากท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวสกลนครรุ่นใหม่ สร้างแรงกระเพื่อมให้เมืองมีมิติร่วมสมัย ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมดั้งเดิม 

เบื้องหลังสีสันความสนุกของสกลจังซั่นคือความตั้งใจขับเคลื่อนเมืองอย่างแรงกล้า หลังเฟสติวัลจบ เราจึงชวนผู้จัดงานหลายฝ่ายมาถอดบทเรียนให้ฟังว่างานสร้างสรรค์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สกลนครในฝันของพวกเขาหน้าตาเป็นอย่างไร ควรเติบโตไปทางไหน และตั้งใจจะปั้นอะไรให้เมืองงอกงามต่อจากนี้บ้าง

สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง

สกลเฮ็ด สกลทำ

เมื่อ พ.ศ.​ 2560 กลุ่มคนทำงานคราฟต์รวมตัวกันจัดเฟสติวัลรับลมหนาวปลายปีชื่อ สกลเฮ็ด จากงานเล็ก ๆ ที่มีผู้จัดงานเพียง 10 กว่าร้าน คลื่นเล็ก ๆ นั้นพัดพาไปสู่การจัดงานใหญ่ในปีนี้ ‘สกลจังซั่น’ คือเฟสติวัลความยาว 4 วันที่กินอาณาเขตไปทั้งเมืองเก่า โดยกลุ่มภาคีเครือข่ายในเมืองสกลอย่างหอการค้า และภาคีเครือข่ายจากภายนอก ทั้งภาครัฐอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ซึ่งคัดเลือกให้สกลนครเป็นหนึ่งใน TCDN ( Thailand Creative District Network) และกำลังมองหาพื้นที่ทดลองจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาย่านเศรษฐกิจ ไปจนถึงภาคเอกชนและประชาสังคม ช่วยกันเนรมิตขึ้นมาให้สนุกครบเครื่องทุกมิติ ใช้ความคิดสร้างสรรค์และสินทรัพย์ท้องถิ่น ยกระดับศักยภาพเมืองและเศรษฐกิจไปอีกขั้น

สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง
ภาพ : บ้านเสงี่ยม-มณี
สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง
ภาพ : ปฏิพล รัชตอาภา

‘สกลจังซั่น’ เป็นชื่อที่ ติ๊ดตี่-ธรรศ วัฒนาเมธี สถาปนิกผู้ดูแลที่พัก ‘บ้านเสงี่ยม-มณี’ สมาชิกกลุ่มสกลเฮ็ด และหนึ่งในผู้จัดงานสกลจังซั่นตั้งขึ้น และได้รับโหวตให้เป็นชื่องาน โดยสกลจังซั่น (จังซี่) หมายถึง สกลนครก็เป็นอย่างนั้นแหละ ที่เห็นอยู่นี่ก็เป็นสกลนครแหละ พ้องกับคำว่า ‘Junction’ ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ทางแยก จุดตัด จุดเชื่อมต่อ ชุมทาง สื่อถึงลักษณะงานที่เป็นจุดนัดพบของหลาย ๆ ภาคส่วนมาจัดกิจกรรมร่วมกัน และชื่อจังหวัดสกลนคร ที่แปลว่านครแห่งเมืองทั้งมวล หรือหมายถึงการเป็นเมืองศูนย์กลางนั่นเอง

สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง
สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง

หนึ่งในพื้นที่จัดงานหลักคือเทียนอันโอสถ สกลโฮเต็ล ตึกเก่า 5 ชั้นที่ปลดระวางจากการเป็นโรงแรมประจำเมืองมาเนิ่นนาน แปลงโฉมเป็นศูนย์ Showcase งานดีไซน์และศิลปะของชาวสกลนคร ทั้งนักออกแบบ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป 

สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง
สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง

ยามค่ำคืน ตึกฝั่งตรงข้ามจะจัดไฟสวยงาม พร้อมให้คณะหมอลำมาเต้นตามระเบียงห้องให้สนุกแบบ Social Distancing กันไปยาว ๆ ส่วนดาดฟ้าสกลโฮเต็ลเองก็จัดดินเนอร์พิเศษวันละครั้ง เป็น Fine Dining ชื่อ สะออน (Sound On) โดย House Number 1712 เล่าวัฒนธรรมการกินอาหารท้องถิ่นของคนสกลนครในหลากหลายเชื้อชาติและชนเผ่าผ่านมื้ออาหาร แต่ละคำผ่านการตีความหมายใหม่ปรับให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงไปด้วยเอกลักษณ์และรสชาติตามแบบฉบับดั้งเดิม เสริมความน่าสนใจด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ Esan Gastronomy โดยมีเสียงดนตรีหมอลำคลอไปตลอดมื้อ

สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง
สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง

“ผลตอบรับของสกลจังซั่นดูดีกว่าที่คิดเลยนะ งานเปิดวันแรก มีคนต่อคิวยาวมากเพื่อจะขึ้นมาตึกนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าต่อคิวเพื่อขึ้นมาดูหมอลำฝั่งตรงข้ามรึเปล่า” แมน-ปราชญ์ นิยมค้า ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Mann Craft และสวนแมนเอ่ยแกมหัวเราะ ขณะพาชมนิทรรศการสีครามเล็ก ๆ ของเขาในตึกโรงแรมเก่า “มันเป็นพื้นที่ใหม่ที่คนอยากจะออกมาดู นอกจากห้างสรรพสินค้าที่สำเร็จรูป เป็นพื้นที่อื่นที่เด็ก ๆ วัยรุ่นอยากจะรู้ว่าตึกนี้มันมีอะไร ทำไมฉันไม่เคยเข้าไป เขาก็อยากสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่สร้างได้ดี ปลุกให้คนในพื้นที่รู้ว่ามีสินทรัพย์อะไรดี ๆ บ้าง แล้วถ้าเกิดโชคดีได้ทำต่อเนื่อง มันจะทำให้คนมีส่วนร่วม นอกจากดูแล้วอาจจะเป็นคนมาลงมือทำด้วยกันได้”

สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง
สกลจังซั่น เทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่า ที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านมาต่อยอดพัฒนาเมือง

ในสายตานักออกแบบและนักธุรกิจงานคราฟต์ การเกิดขึ้นของสกลจังซั่น ซึ่งรวมตัวคนรักสกลนครหลากหลายกลุ่ม ยกระดับงานท้องถิ่นที่ทำกันเองให้ไปสู่สเกลภูมิภาค ไม่ใช่แค่งานที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่หรือนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม แต่งานที่มีกิจกรรมหลากหลายตลอด 4 วัน พาความคึกคักไปสู่หลายพื้นที่ทั่วสกลนคร ตัวเขาเองก็จัดงาน Craft Market ฤดูหนาวที่สวนแมนไปพร้อม ๆ กันใต้ร่มเทศกาลสกลจังซั่น กิจกรรมรวมตัวคนรักงานคราฟต์ทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อไว้ที่เดียว เป็นอีกแหล่งสีเขียวใกล้ชิดธรรมชาติที่ถูกใจผู้คนทั้งในและนอกจังหวัด 

“เราอยากสร้างศูนย์รวมพลังงานดี ๆ สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน ผมชอบองค์ความรู้และการสร้างเครือข่าย คิดว่ามันเป็นการกระตุ้นความคิดทั้งคนทำงานเองแล้วก็ผู้บริโภคด้วย”

ฟื้นย่านเมืองเก่า

ถอดบทเรียนเทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าอีสาน ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังงานสกลจังซั่น
ถอดบทเรียนเทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าอีสาน ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังงานสกลจังซั่น
ถอดบทเรียนเทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าอีสาน ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังงานสกลจังซั่น

ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ แห่ง Gypsy Coffee Drip ชวนเพื่อนฝูงมาจัดงาน ‘จังซั่น ละเบ๋อ ซาวคุ้ม’ ปิดคุ้มกลางธงชัย ย่านเก่ากลางเมืองให้ครึกครื้น ในตรอกเล็ก ๆ ความยาวราว 200 เมตร พวกเขาต่อยอดกราฟฟิตี้สตรีทอาร์ตที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น แล้วรวมกิจกรรมสารพัดมาไว้ด้วยกัน ทั้งตลาดศิลปะ สินค้าทำมือ ร้านตัดผมริมทาง กาแฟ Slow Bar จาก 4 ร้านกาแฟดังในสกล โดยคนรุ่นใหม่จาก 4 ชนเผ่า แถมร้านต่าง ๆ ก็เปิดหน้าบ้านเอาของมาวางขาย เป็นพื้นที่รื่นรมย์ให้คนมาล้อมวงนั่งฟังดนตรี แวะซื้อข้าวจี่ต้มเส้น ปากหม้อ กุนเชียง ขนมจุบจิบ หรือเข้าบ้านไปทำขันหมากเบ็งหรือบายศรีกับคุณยาย แล้วออกมาเล่นสบาย ๆ 

“ย่านนี้เป็นชุมชนดั้งเดิมของสกลนคร อยู่ใกล้วัด มีแต่บ้านไม้เก่าสวย ๆ มีคุ้มเก่าของตระกูลวงกาฬสินธุ์ ที่เป็นตระกูลแรกของสกลนคร บ้านบางหลังไม่มีรั้ว ทะลุกันไปหมด บางบ้านยังมีเตาเก่า เล้าข้าว ปลูกผักปลูกกล้วย คนส่วนใหญ่เป็นคนแก่ที่ยังคงวิถีเดิมของสกล แต่ตอนนี้มีเมืองล้อมรอบ ตรงนี้ก็ดูรก ๆ ซบเซา คนสกลบางคนลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่ามีซอยนี้ บางคนก็ไม่รู้จัก” ยิปซีอธิบายเบื้องหลังการปลุกย่านเก่า

ถอดบทเรียนเทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าอีสาน ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังงานสกลจังซั่น

“เราอยากแทรกซึมอยู่ในชุมชน ให้เขาเห็นคุณค่าบ้านเก่าตัวเอง ให้พื้นที่นี้กลับมาคึกคักมีชีวิต คนรุ่นใหม่ก็ได้ทำงานกับคนแก่ ไม่ให้เขาเหงา วันเตรียมงานก็สนุกแล้วนะ ยาย ๆ เขาก็ตื่นเต้น มาให้กำลังใจกัน มาบอกว่าอยากให้มาเพนต์บ้านยายบ้าง มีคนมาถ่ายรูป บอกว่าแถวบ้านเขาสวย เขาก็ได้ออกมาเดินดูแล้วก็สดใสขึ้น ส่วนพวกเพื่อน ๆ ก็อยากสนุก ปิดร้านมาขายของ สิงตามบ้านตรงนั้นตรงนี้ เป็นพลังที่น่ารักมาก มากกว่าความร่วมมือคือความรู้สึกว่าของธรรมดานั้นพิเศษ” แกนนำสกลเฮ็ดอธิบายด้วยรอยยิ้ม 

กล่าวตามตรง ด้วยสเกลเล็กจิ๋ว พื้นที่ตรงนี้อาจยังห่างไกลจากการเป็นแม่เหล็กดึงดูดสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่คือคนในท้องที่มากกว่า แต่ในสายตาคนใน พื้นที่นี้คือหนึ่งในหมุดไฮไลต์สำคัญของงาน

ถอดบทเรียนเทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าอีสาน ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังงานสกลจังซั่น

“มีคนทำงานหลายกลุ่มมาลงพื้นที่ทำเรื่องสตรีทอาร์ตแล้วนะคะ คืบหน้าดีขึ้นเรื่อย ๆ มีชีวิตขึ้นเรื่อย ๆ แต่อาจจะยังมองไม่เห็นภาพชัดเจนเท่าครั้งนี้ เหมือนคนก็ยังมองภาพไม่ออกว่างานวาดกำแพงมันเป็นยังไง อาจจะติดภาพงานเขียนพ่นสเปรย์เลอะ ๆ แรก ๆ เขาก็ยังไม่เปิดใจ พอมาเห็นงานสวย ๆ ก็อนุญาตให้เพนต์กำแพงบ้าน” เตย-ไอรัตน์ดา มหาชัย ครูศิลปะ เจ้าของร้านกาแฟกึ่งแกลเลอรี่ Blue Bica Coffee x Local Art Space เล่าบ้าง ผู้ออกแบบคาแรกเตอร์ ‘น้องก่ำ’ มาสคอตของงาน มองว่ากิจกรรมป๊อปอัปแบบนี้กระตุ้นชีพจรของเมือง ให้คนหลากหลายกลุ่มหลายช่วงวัยได้พบปะม่วนซื่น แลกเปลี่ยนวิถีที่แตกต่างแต่สนุกร่วมกัน

ก้าวสู่สังเวียนสร้างสรรค์

เทศกาลนี้ดึงผู้คนจากหลายภาคส่วนมาร่วมมือกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จากเป้าหมายในตอนแรกจะจัดกิจกรรมในเดือนมิถุนายน และฝันกันว่าจะเข้าไปจัดในพื้นที่เรือนจำเก่า ขยายผลเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์มากมายทั่วเมืองสกลนคร ไม่ว่านิทรรศการเล่าเรื่องเมืองสกล แผนที่ย่านเมือง นิทรรศการงานออกแบบ ศิลปะ อาหาร ดนตรี งานเสวนา ตลาด ต่างรวมพลังงานดี ๆ ไว้มากมาย

“งานเพียง 4 วันอาจดูสั้นไปเมื่อเทียบกับงานในจังหวัดอื่น แต่ก็ทำให้เกิดสิ่งดี ๆ หลายอย่างต่อเมืองสกล กระตุ้นให้คนสกลนครเองให้ได้เห็นศักยภาพของพื้นที่ที่จะพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ เห็นศักยภาพของคนที่ซ่อนอยู่ และเกิดการรวมตัวกันเพื่อทดลองทำสิ่งที่อยากสิ่งคิดให้เป็นจริง ในช่วงเวลาเตรียมงานจนงานจบลงนี้ ทำให้ผมได้รู้จักคนใหม่ ๆ ได้รู้จักคนเก่า ๆ มากยิ่งขึ้น และได้ทำในสิ่งที่เคยคาดหวังว่าจะทำ ผมหวังว่าเหล่าองค์กรภาคีต่าง ๆ ทั้งน้อยใหญ่จะกลับมาสร้างงานนี้ให้สำเร็จลงด้วยดีอีกครั้ง ต้องขอบคุณผู้คนมากมายที่ให้โอกาสได้ร่วมงานกันครับ” ติ๊ดตี่ออกความเห็น โดยหวังอย่างยิ่งว่างานนี้จะได้จัดขึ้นอีกครั้งในปีนี้

“งานนี้เกินคาดไปเยอะมาก ๆ คนตอบรับดี มันสร้างประสบการณ์รับรู้ใหม่ให้คนในพื้นที่มองเมืองเปลี่ยนไป เห็นว่าย่านเมืองเก่าทำอะไรได้มากกว่าจะปล่อยให้ร้างไป และภาคศิลปะก็ตื่นตัว นักดนตรี ศิลปินก็มีกำลังใจสร้างงาน เพราะรู้ว่างานเขามีที่รองรับ มีกลุ่มคนดู และในแง่การท่องเที่ยว คนนอกอยากมาเข้าร่วมเยอะ คนในเมืองก็อยากขอเป็นสปอนเซอร์สนับสนุน อยากมาช่วย” เสือ-ธรรมวิทย์ ลิ้มเลิศเจริญวนิช ทายาทเทียนอันโอสถ สกลโฮเต็ล หนึ่งในผู้จัดงานหลักเอ่ยอย่างกระตือรือร้น

ถอดบทเรียนเทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าอีสาน ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังงานสกลจังซั่น

“ต้องยอมรับว่าตัวเมืองสกลนครยังดึงคนให้อยู่เที่ยวยาว ๆ ทั้งวันจนนอนค้างไม่ได้ ขณะที่เมืองข้าง ๆ อย่างนครพนมมีวิวแม่น้ำโขง มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ บรรยากาศมันชวนพักผ่อนมาก สิ่งที่ทำให้สกลนครแตกต่างคือวัฒนธรรมและงานคราฟต์ที่มีเอกลักษณ์เหนียวแน่น แต่ยังอาจเข้าถึงยาก คือต้องตั้งใจมามาก ๆ เฟสติวัลนี้เลยช่วยได้มาก ครั้งถัดไปก็อยากจัดให้ใกล้ช่วงเทศกาลแห่ดาวที่ท่าแร่ คนจะได้อยู่สกลนครได้ทั้งอาทิตย์ และปรับปรุงหลายอย่างให้ดีขึ้น ทั้งการประชาสัมพันธ์ การเตรียมสถานที่ การจัดการ หรือการสื่อสารเรื่องการชมงานศิลปะโดยไม่จับชิ้นงานให้เสียหาย สกลจังซั่นครั้งถัดไปน่าจะมีคนมาร่วมหลากหลายขึ้น เยอะขึ้น พอมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ก็อยากชวนศิลปินจังหวัดอื่น ๆ ใกล้ ๆ มาคอลแล็บกัน เพื่อเพิ่มความสนุกให้มากขึ้น”

ด้วยสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบยาว ๆ จากโควิด-19 ผนวกกับความขลุกขลักของการจัดงานครั้งแรก นักท่องเที่ยวอย่างเรามองเห็นช่องว่างหลายจุดที่สกลจังซั่นน่าจะปรับปรุงหรือขยายผลให้ดียิ่งขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เทศกาลสร้างสรรค์ร่วมสมัยนี้เป็นก้าวสำคัญที่น่าจับตามองมาก ๆ ของเมืองอีสาน 

“เราอยากให้เมืองเป็นยังไงก็ต้องลงมือทำที่บ้านเรา ก่อนจะไปหวังความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือหน่วยงานไหน พูดตรง ๆ ว่าเราต้องดิ้นรนกันเองก่อน จังหวัดข้าง ๆ อย่างมุกดาหารก็ขยับตัวจัดงานเหมือนกันนะครับ เขามาดูงานเราแล้วก็เริ่มโครงการเลย เดือนกุมภาพันธ์กำลังจะมีงานสตรีทอาร์ตและภาพถ่าย คนในมุกดาหารร่วมมือกันทำงานในย่านที่สนใจ เงินจัดงานก็มาจากคนในเมืองช่วยกันบริจาค เราก็ดีใจที่งานนี้มีผลไปถึงคนข้างนอกด้วย” เสือเล่าอย่างภาคภูมิใจ

“ผมคิดว่าวัฒนธรรมอีสานแข็งแรงน่าสนใจมาก ดึงดูดทั้งสายอาร์ต สายคราฟต์ สายมู สายดนตรี สีสันความเป็นอีสานซิ่ง ๆ สด ๆ ทำให้น่าสนใจ คนกลับบ้านก็เยอะ ตอนนี้โจทย์ถัดไปคือต้องค่อย ๆ หาทางปัดฝุ่น หาอะไรมาลงพื้นที่ตลอดทั้งปี พอเทศกาลมันไม่ถาวร จบงานแล้วเมืองก็กลับมาเงียบเหมือนเดิม ผมสนใจงานออกแบบผลิตภัณฑ์แบบ Made in Songkhla อยากหาทุนต่อยอดร้านเก่าแก่ ต่อให้มีโควิด ก็มีกิจกรรมขายของและท่องเที่ยวได้ทั้งปี ร้านค้าก็อยู่ได้อย่างยั่งยืน ชอบอะไรแบบนี้ เริ่มจากสิ่งที่เรามีในเมืองก่อน แล้วขยายผลไปพื้นที่ใกล้เคียง” 

นักธุรกิจรุ่นใหม่เล่าถึงโปรเจกต์ต่อยอดที่เขากำลังดูแล คือ Sakon Gastronomy ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอาหาร เข้าป่าไปหาวัตถุดิบมาทำอาหาร แล้วมาเที่ยวในเมืองต่อ เพื่อดึงให้คนอยู่ในจังหวัดให้นานที่สุด รวมถึงการจัดการระบบที่ทันสมัยและการตลาด เพื่อกระจายรายได้ให้เกษตรกรท้องถิ่นมากขึ้น

สกลจังซั่นจะกลับมาเป็นนิทรรศการฉบับย่อส่วนที่เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival) จังหวัดขอนแก่น ส่วนปลายปีนี้ เราจะได้เห็นสกลจังซั่นเติบโตจนกลายเป็นเทศกาลท้องถิ่นร่วมสมัยประจำปีหรือไม่ โปรดติดตามกันต่อไป 

ถอดบทเรียนเทศกาลสร้างสรรค์ย่านเมืองเก่าอีสาน ผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้อยู่เบื้องหลังงานสกลจังซั่น

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

จิราภรณ์ ล้อมหามงคล

ช่างภาพฟรีแลนซ์ตัวไม่เล็กจากแดนอีสาน ผู้ชื่นชอบในประวัติศาสตร์