ในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานั้น ผมได้มีโอกาสเดินทางไปยังโบสถ์นักบุญยอแซฟ อยุธยา เพื่อฟังเสวนาประวัติศาสตร์เรื่อง 350 ปี แห่งการสถาปนามิสซังสยาม และการเปิดนิทรรศการ ‘มรดกตกทอดจากคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส’ ในวันดังกล่าว มีคำพูดหนึ่งซึ่งผมประทับใจมากจาก อาจารย์พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี ซึ่งกล่าวระหว่างเสวนาไว้ว่า “วันหนึ่งพวกเราจะกลายเป็นประวัติศาสตร์” ประโยคนี้เป็นประโยคที่น่าคิดอย่างมาก อาจารย์พุฒิพงศ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “แต่ประวัติศาสตร์จะไม่สามารถรับรู้ได้ หากปราศจากการจดบันทึก” จากความคิดนี้ จึงทำให้ผู้คนหลายร้อยคนมารวมกันในวันนั้น เพื่อชมนิทรรศการพิเศษที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสนี้

01

รากฐานของคริสต์ศาสนาในกรุงสยาม

หากจะกล่าวว่าคริสต์ศาสนาเข้ามาประเทศไทยตอนไหน คงต้องย้อนไปเริ่มตั้งแต่การค้นพบเส้นทางการเดินเรือมายังประเทศอินเดียของ วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) นักเดินเรือชาวโปรตุเกส ใน ค.ศ. 1498 ซึ่งออกเดินทางภายใต้คำมั่นที่ให้ไว้กับพระราชาแห่งโปรตุเกสว่า ถ้าเขาค้นพบเส้นทางเดินเรือไปยังอินเดียได้สำเร็จ พระราชาจะสร้างวิหารเป็นเกียรติแก่เขา ซึ่งทุกวันนี้ร่างของวาสโก ดา กามา นอนสงบอยู่ภายในมหาวิหาร Mosteiro dos Jerónimos ใจกลางกรุงลิสบอน 

โลงศพของวาสโก ดา กามา ภายในวิหาร Mosteiro dos Jerónimos กรุงลิสบอน โปรตุเกส

ภายหลังการค้นพบเส้นทางเดินเรือนี้เพียง 13 ปี ชาวโปรตุเกสกลุ่มแรกก็เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาใน ค.ศ. 1511 ซึ่งตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ชาวโปรตุเกสก็ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยา โดยมิชชันนารีคณะแรกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาใน ค.ศ. 1567 จากช่วงเวลาดังกล่าว ชาวโปรตุเกสเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก จนในศตวรรษที่ 17 บาทหลวงตาชาร์ด (Tachard) บันทึกไว้ว่า ที่กรุงศรีอยุธยามีชาวโปรตุเกสอยู่กันมากกว่า 2,000 คน 

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของชาวโปรตุเกสในกรุงสยามเวลานั้น เป็นการเข้ามาในนามของกษัตริย์แห่งโปรตุเกส ซึ่งได้รับอภิสิทธิ์ปาโดรอาโด (Padroado) รับผิดชอบการเผยแผ่พระวรสารในดินแดนใหม่ ซึ่งการถืออภิสิทธิ์นี้ก็มักทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายระหว่างชาวโปรตุเกสกับบรรดามิชชันนารีชนชาติอื่น

ต่อมาสันตะสำนักที่กรุงโรมทราบถึงปัญหาของการปกครองกลุ่มคนและบรรดาคริสตชนในดินแดนต่างๆ จึงได้ก่อตั้งสมณกระทรวงว่าด้วยการเผยแผ่ความเชื่อ (Propaganda Fide) ขึ้น เพื่อให้สันตะสำนักที่กรุงโรมได้รับอำนาจการเผยแผ่ศาสนากลับคืนมา

โดยสมณกระทรวงใหม่นี้ทำหน้าที่ในการแพร่ธรรมโดยตรง คำว่า มิสซัง (Mission) จึงถูกนำมาใช้ มีความหมายว่า การส่งออกไป อันได้แก่การส่งผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาออกไปทำงานในนามของพระสันตะปาปา โดยพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับโปรตุเกสและสเปน

ภายหลังการตั้งสมณกระทรวงเผยแผ่ความเชื่อขึ้น บาทหลวงคณะเยซูอิตองค์หนึ่งคือ คุณพ่ออเล็กซองดร์ เดอ โรดส์ (Alexandre de Rhodes) ผู้เคยทำงานในดินแดนตะวันออกไกล ได้เดินทางกลับไปยังกรุงปารีสเพื่อหามิชชันนารีไปทำงานเผยแผ่ศาสนาในดินแดนตะวันออกไกล ในที่สุดด้วยความร่วมมือและความช่วยเหลือของหลายๆ คน คณะมิสซังต่างประเทศประจำกรุงปารีส จึงได้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1659 

อาจารย์พุฒิพงศ์ ขณะบรรยายการเดินทางของบรรดามิชชันนารีในยุคแรกซึ่งต้องเดินทางทางบก เพื่อไม่ทับเส้นทางการเดินเรือของชาวโปรตุเกส

02

มิสซังสยาม

ภายหลังการก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศประจำกรุงปารีส หนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะนี้คือ พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลา มอตต์ (Mgr. Lambert de la Motte) เป็นพระสังฆราชองค์แรกที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1662

ในเวลาต่อมากรุงศรีอยุธยามีการจัดสัมมนาที่เรียกว่า ประชุมพระสังฆราช (Synod) โดยผลการประชุมเห็นว่า การทำงานในสยามประสบผลอย่างดีด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการสยาม ประกอบกับสยามอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ความเจริญทางด้านศาสนาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกท่านจึงขออำนาจจากกรุงโรมให้มีอำนาจการปกครองทางศาสนาในเขตนี้ หลังจากกรุงโรมใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ จึงได้ตั้งมิสซังสยามด้วยเอกสารทางการที่ชื่อว่า ‘Cum sicut accepimus’ ลงวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1669 โดยข้อความตอนหนึ่งในเอกสารนี้กล่าวว่า 

“เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาตามที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘สยาม’ เป็นศูนย์กลางการค้าของทั่วราชอาณาจักรสยาม และชนชาติต่างๆ ทั้งที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งที่อยู่ห่างไกลออกไป เต็มใจกันมาชุมนุมกัน พระมหากษัตริย์ของราชอาณาจักรที่กล่าวนี้ทรงอนุญาตให้ประชาชนเหล่านี้เข้ามารวมกันอยู่ที่นี่อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติศาสนกิจและลัทธิของตนได้อย่างอิสระ

“และตามที่ท่านภราดาพระสังฆราชผู้แทนพระสันตะปาปา (Vicarii Apostolici) ซึ่งได้รับแต่งตั้งมาสำหรับอาณาจักรในจีน ตังเกี๋ย และโคชินจีน ได้แจ้งให้เราทราบว่า เนื่องจากความยากลำบากอย่างยิ่งที่จะเข้าไปประจำอยู่ในเขตปกครองของตนได้ ในระหว่างนั้นท่านจึงไปตั้งสำนักงานของตนในกรุงศรีอยุธยา ทั้งยังสร้างวัดใหญ่น้อยที่นั่น

“และเพื่อจะทำงานให้ผู้ที่ยังไม่มีความเชื่อทั้งในเทียบสังฆมณฑลของตน และประชาชนชาติอื่นได้กลับใจ จึงได้จัดตั้งสามเณราลัยขึ้นด้วย และเพราะเหตุนี้ยังปรารถนาให้เรากรุณามอบหมายให้พระสังฆราชแห่งเมแตลโลโปลิสผู้แทนพระสันตะปาปา ซึ่งได้รับการบวชแล้วหรือจะได้รับการบวชในเร็วๆ นี้ ได้ขยายขอบเขตการปกครองเทียบสังฆมณฑลของตนเข้าไปในราชอาณาจักรสยามและกรุงศรีอยุธยาด้วย…” เคลเมนต์ที่ 9 พระสันตะปาปา

มิสซังสยาม พื้นที่ทำงานแรกอย่างเป็นทางการของมิชชันนารีในฐานะผู้แทนพระสันตะปาปาในดินแดนตะวันออกไกล

03

โบสถ์นักบุญยอแซฟ

ในสมัยอยุธยา โบสถ์นักบุญยอแซฟสร้างขึ้นบนผืนดินพระราชทานจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งในสมัยนั้นเรียกผืนดินบริเวณนี้ว่าบ้านปลาเห็ด ในช่วงแรกพวกเขาสร้างอาคาร 2 ชั้นขึ้นหลังหนึ่ง ชั้นล่างก่ออิฐแบ่งเป็นหลายห้อง ชั้นสองเป็นไม้ ใช้เป็นโบสถ์น้อย อันเป็นที่ไว้ศีลมหาสนิท ต่อมาใน ค.ศ. 1682 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีพระบัญชาให้สร้างตามแผนผังที่บรรดามิชชันนารีได้เสนอ ซึ่งคุณพ่อดือแชนได้บรรยายถึงสภาพโบสถ์นักบุญโยแซฟไว้ว่า 

“โบสถ์นี้ยาวประมาณ 23 วา และกว้างประมาณ 11 วา มีตอนที่เป็นที่นั่งสัตบุรุษสามตอน (กลาง ซ้าย ขวา) กับหอสี่เหลี่ยมใหญ่โตสองหออยู่ข้างหน้า มีห้องสักการภัณฑ์ (Sacristie) ที่มีความสูงเท่ากันและโครงสร้างเดียวกัน

“ตัวโบสถ์ทำเป็นรูปไม้กางเขน ตอนที่เป็นส่วนขวางจากปีกขวาถึงปีกซ้ายนั้น กว้าง 4 วา และยาว 12 วา 2 ศอก ตัวโบสถ์เองกว้าง 10 วา กำแพงสูง 6 วา 2 ศอก เสาทำด้วยอิฐแปดเหลี่ยม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 ศอก แต่ละต้นห่างกัน 2 วา กั้นตอนเป็นที่นั่งสัตบุรุษจากกัน

“รอบๆ หลังคาโบสถ์ มีลูกกรงและรางน้ำ ทำด้วยตะกั่ว สำหรับรองน้ำ แล้วน้ำก็จะไหลออกไปข้างนอก ผ่านทางท่อตะกั่วที่ยื่นออกไป ภายในโบสถ์บุด้วยไม้กระดานและลงทองเหมือนกับต้นเสา เมื่อโบสถ์นี้สร้างเสร็จแล้ว จะดึงดูดชาวสยามหลายๆ คนให้มาถือศาสนาตามที่เราหวัง…” 

แต่หลังจากการสร้างโบสถ์นักบุญยอแซฟสำเร็จ โบสถ์หลังนี้ก็มีอายุไม่นานและพังทลายไปพร้อมๆ กับการเสียกรุงศรีอยุธยาใน ค.ศ. 1767 หลังเหตุการณ์นั้นทำให้กลุ่มคริสตังกระจัดกระจายไป และส่วนหนึ่งอพยพไปตั้งชุมชนที่บางกอก

แผนที่นี้ถูกพิมพ์ขึ้น ณ กรุงปารีสใน ค.ศ. 1889 หรือเมื่อ 130 ปีที่แล้ว บนแผนที่มีการระบุตำแหน่งโบสถ์และชุมชนคาทอลิก รวมถึงเขตพื้นที่ของมิสซังสยาม จากตอนเหนือสุด จรดถึงตรังกานู – ที่มา : อาจารย์พุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี

04

ฟื้นฟูหมู่บ้านคริสตังที่อยุธยา

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาใน ค.ศ. 1767 วัดนักบุญยอแซฟก็ไม่ได้รับการฟื้นฟู เนื่องจากกลุ่มคริสตังส่วนใหญ่อพยพไปตั้งชุมชนใหม่ที่บางกอก จนกระทั่ง ค.ศ. 1830 จึงเริ่มมีการฟื้นฟูพื้นที่บริเวณนี้ขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญต่อการก่อตั้งมิสซังสยามรวมถึงสำคัญต่อประวัติศาสตร์ ที่บรรดามิชชันนารีได้ถูกส่งมาทำงานมานานหลายร้อยปีแล้ว ในเวลาต่อมาจึงเริ่มมีการรวมกลุ่มคริสตชนตั้งชุมชนขึ้นใหม่ และส่งมิชชันนารีมาดูแล รวมทั้งมีดำริที่จะสร้างวัดใหม่ขึ้นอีกครั้งในที่ดินผืนนี้เอง ดังที่มีบันทึกไว้ว่า

“ที่อยุธยา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของมิสซังสยาม มีวัดเล็กๆ อยู่แห่งหนึ่งสร้างด้วยอิฐ โดยพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ วัดนี้สร้างบนรากฐานของวัดเก่าขนาดใหญ่ คือวัดนักบุญยอแซฟ กำแพงวัดเก่าที่ล้อมรอบวัดเล็กหลังใหม่นั้นพังไปมากแล้ว จนแทบไม่สามารถป้องกันการบุกรุกของสัตว์เดรัจฉาน ที่แผ่นหินสลักชื่อผู้ตายเหนือหลุมศพยังมีอยู่ แม้เวลาได้ล่วงเลยไปนานแล้วก็ตาม พระสงฆ์มิชชันนารีที่ทำงานที่อยุธยาได้ตัดสินใจสร้างวัดใหม่บนวัดเดิมซึ่งยังมีรากฐานมั่นคงดีอยู่ และเพื่อเก็บรักษากระดูกที่มีค่าของบรรดามิชชันนารีรุ่นก่อนๆ ที่ฝังไว้ ณ ที่นี้ด้วย คุณพ่อแปร์โร จึงได้จัดการซื้อที่ดินอีกหลายแปลงซึ่งเคยเป็นของมิสซังมาก่อนในอดีตกลับคืนมา และให้คริสตังกลับมาอยู่อีกครั้งหนึ่ง…”

05

การก่อสร้างวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา

กระจกสีภายในวัดนักบุญยอแซฟอยุธยาหลังปัจจุบัน ซึ่งพระสังฆราชเวย์ ได้เดินทางไปที่โรงงานกระจกสีที่เมือง Le Mans ประเทศฝรั่งเศส เพื่อสั่งผลิตกระจกสีด้วยตนเอง

เริ่มต้นจากที่ดินพระราชทานจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาจนถึงการก่อสร้างโบสถ์นักบุญยอแซฟใน ค.ศ. 1682 และถูกพม่าทำลายใน ค.ศ. 1767 และการเริ่มก่อตั้งชุมชนอีกครั้งใน ค.ศ. 1830 มาจนถึง ค.ศ. 1883 ก็ถึงคราวสถาปนิกชาวคริสต์อย่าง นายโยอาคิม กราสซี ได้เข้ามาช่วยดำเนินการออกแบบก่อสร้างโบสถ์หลังนี้

การไปร่วมฟังเสวนาประวัติศาสตร์ ณ โบสถ์นักบุญยอแซฟ อยุธยา ในวันนั้น ทำให้ผมนึกถึงจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งนายโยอาคิม กราสซี เขียนถึงคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ใน ค.ศ. 1890 ซึ่งกล่าวว่า ตนอยู่ที่อยุธยา และเมื่อกลับไปที่กรุงเทพฯ จะส่งผังฐานรากให้คุณพ่อแดซาลส์ซึ่งในขณะนั้นกำลังเตรียมการก่อสร้างโบสถ์กาลหว่าร์อยู่

จดหมายลายมือนายโยอาคิม กราสซี เขียนถึงคุณพ่อแดซาลส์เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 1890 (ด้านหน้า)
จดหมายลายมือนายโยอาคิม กราสซี เขียนถึงคุณพ่อแดซาลส์เจ้าอาวาสวัดกาลหว่าร์ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 1890 (ด้านหลัง)

จากข้อความในจดหมาย นายโยอาคิม กราสซี ในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบและก่อสร้างโบสถ์นักบุญยอแซฟที่อยุธยา ไปทำอะไรที่อยุธยาในวันดังกล่าวผมก็ไม่ทราบแน่ชัด แต่แผ่นศิลาเหนือซุ้มประตูทางเข้าภายในโบสถ์จารึกไว้เป็นภาษาละตินว่า “วัดหลังนี้สร้างขึ้นเป็นเกียรติแด่นักบุญยอแซฟแทนวัดหลังเดิมที่คณะมิชชันนารีต่างประเทศสร้างขึ้นโดยพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ ค.ศ. 1685 และถูกชาวพม่าทำลายลงใน ค.ศ. 1767 ต่อมานายโยอาคิม กราสซี สถาปนิกได้ออกแบบสร้างขึ้น พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ พระสังฆราชเกียรตินามแห่งเกราซา ประกอบพิธีเสกวัดใหม่หลังนี้เมื่อ 13 วันก่อนเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1891  

ศิลาบริเวณเหนือซุ้มทางเข้าภายในวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา จารึกถ้อยคำภาษาละตินระบุเรื่องราวการก่อสร้างอาคาร
พระสังฆราชเวย์ ประมุขมิสซังสยาม บุคคลสำคัญที่ได้ขอเงินจากคณะมิสซังต่างประเทศประจำกรุงปารีส เพื่อก่อสร้างโบสถ์หลังนี้

06

กลับสู่จุดกำเนิด

ในวันนี้ นับจากช่วงเวลาที่มีการก่อตั้งมิสซังสยามเมื่อ ค.ศ. 1669 ก็นับเป็นเวลากว่า 350 ปี พอดิบพอดีที่มีการวางรากฐานคริสต์ศาสนาในประเทศไทย เป็นเรื่องน่ายินดีที่มรดกตกทอดจากอดีตเหล่านั้นยังคงอยู่ และปรากฏให้เห็นเป็นประจักษ์พยานถึงความมุ่งมั่นและทุ่มเทของบรรดามิชชันนารีในอดีต

โบสถ์นักบุญยอแซฟ อยุธยา ในวันนี้ ภายในยังบรรจุร่างของมิชชันนารีที่สำคัญที่สุดคนหนึ่ง เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และอีกคนหนึ่งคือพระสังฆราชองค์แรกที่ปกครองมิสซังสยาม สองเสาหลักแห่งความเชื่อของชาวคริสต์ในประเทศไทย ได้นอนหลับอย่างสงบอยู่ ณ ที่แห่งนี้ ที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 350 ปี และก็ถือเป็นโชคดีที่ในปีนี้หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพร่วมกับสื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดนิทรรศการชั่วคราวในโอกาสฉลองครบรอบ 350 ปี และได้นำวัตถุโบราณและเอกสารสำคัญที่ไม่สามารถหาชมได้ทั่วไปมาจัดแสดงในสถานที่ที่ประวัติศาสตร์หน้าแรกได้ถูกบันทึกขึ้น 

นิทรรศการนี้เปิดให้เข้าชมจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2020 ซึ่งไม่เพียงแต่พิพิธภัณฑ์เท่านั้นที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ตลอด 350 ปีของการสถาปนามิสซังสยาม แต่ตัวโบสถ์นักบุญยอแซฟเองยังมีเรื่องราวที่ปรากฏบนบานกระจกสี คำจารึกต่างๆ และร่างของบรรดามิชชันนารีในยุคแรกเริ่มที่นอนหลับเป็นประจักษ์พยานถึงความเชื่ออยู่ ณ สถานที่แห่งนี้

โลงศพของพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ซึ่งประดิษฐานภายในพระแท่นด้านทิศตะวันตกของวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา พระสังฆราชลาโน เป็นพระสังฆราชองค์แรกของมิสซังสยาม ซึ่งปกครองมิสซังฯ ระหว่าง ค.ศ. 1674 – 1696

07

Legacy of Mission Étrangère de Paris

ส่วนหนึ่งของวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เป็นเอกสารโบราณและศาสนภัณฑ์ล้ำค่าซึ่งไม่สามารถหาชมได้ในโอกาสทั่วไป

พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง ฯพณฯ เวย์
พระราชหัตถเลขาสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึง ฯพณฯ เวย์
สมุดบันทึกของคุณพ่อกอลมเบต์ ค.ศ. 1887 เล่าถึงเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร เพื่อทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนอัสสัมชัญ
เชิงเทียนพระราชทานแก่โบสถ์คาทอลิกเนื่องในโอกาสเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระธาตุนักบุญเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู
แหวนประจำตำแหน่งพระสังฆราชในอดีต
ส่วนหนึ่งของนิทรรศการเล่าเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน
ด้านหน้าวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา อาคารพิพิธภัณฑ์ และเรือซึ่งจำลองการเดินทางของมิชชันนารีในอดีต ปรากฏตราคณะมิสซังต่างประเทศประจำกรุงปารีส (MEP) และธงสีเหลืองของวาติกัน เพื่อบ่งบอกว่ามิชชันนารีเหล่านี้เดินทางมาในนามของพระสันตะปาปา เพื่อมุ่งหน้ามายังดินแดนสยาม

Writer & Photographer

Avatar

อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์

โตมากับวัดกาลหว่าร์ หลงใหลในประวัติศาสตร์ คริสตศาสนา และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม