28 มิถุนายน 2019
72 K

The Cloud x  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

  สาคูเม็ดจิ๋วขนาดเท่ากันในขนมสาคูเปียกมะพร้าวอ่อนหรือสาคูสอดสารพัดไส้ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง ไม่ได้ทำมาจากแป้งสาคูของจริง แล้วแป้งสาคูแท้ 100% มาจากไหน กว่าจะได้แป้งต้องทำอย่างไร แป้งสาคูทำอะไรได้บ้าง

ตามหาต้นกำเนิด แป้งสาคู และเรียนทำขนมปักษ์ใต้จากแป้งสาคูแท้ 100% ที่ตรัง

  เราอาสาไขข้อสงสัยพานักอ่านเดินทางไปยังอำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เพื่อลงพื้นที่ตามหาต้นกำเนิดของแป้งสาคู โดยมีแม่ครูชำนาญการสาคู ป้าเมียด-ละเมียด รัตนะ ประธานกลุ่มผู้หญิงสาคูร่วมใจ ประจำศูนย์การเรียนรู้การจัดการและการใช้ประโยชน์ป่าสาคูอย่างยั่งยืน มาเป็นครูพิเศษสอนวิชาสาคู 101 หลักสูตรสั้นกระชับ เรียนจบได้ภายใน 1 วัน การันตีผลลัพธ์ แถมสอนจากหัวใจไม่คิดสตางค์แม้แต่บาทเดียว เพื่อหวังอนุรักษ์และต่อยอดสาคูให้เลื่องชื่อลือชาไปไกลกว่าจังหวัดตรัง ตลอดจนสร้างการรับรู้ให้หนุ่มสาวว่าบ้านเกิดของพวกเขายังมีต้นไม้กินได้ (อร่อยด้วย) ชื่อ ‘สาคู’ 

01

 สาคู ต้นไม้แสนอร่อย

  ช่วงสายวันพฤหัสฯ เราเดินทางถึงบ้านป้าเมียด เธอออกมาต้อนรับด้วยความเป็นกันเอง ก่อนจะชวนกันไปดูต้นสาคู เราเกือบจะท้าทายระยะทางด้วยการเดินออกกำลังขา แต่ป้าเมียดก็ยั้งไว้ก่อนว่านั่งรถไปจะดีกว่า 

ตามหาต้นกำเนิด แป้งสาคู และเรียนทำขนมปักษ์ใต้จากแป้งสาคูแท้ 100% ที่ตรัง

  ไม่ไกลกำลังรถจากบ้านป้าเมียดก็ถึงแนวต้นสาคูขึ้นเรียงยาวต่อกันเป็นแถว มีทั้งสาคูยืนต้นตายและต้นสูงใหญ่พร้อมใช้งาน ซึ่งสังเกตไม่ยาก ต้นนั้นจะมีเขากวางยื่นออกมา เป็นสัญญาณว่า ‘พร้อมแล้ว! มาตัดฉันได้เลย’ ต้นที่มีเขากวางยื่นออกมา ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานถึง 15 ปี ต้นจึงจะสมบูรณ์มากที่สุด ถ้าตีเป็นมูลค่าหลังแปรรูป ต้นสาคู 1 ต้น รายได้หลักหมื่นบาท โดยชาวบ้านแทบไม่ต้องออกแรงปลูก เพราะสาคูเป็นพืชชุ่มน้ำท้องถิ่นของภาคใต้ ขึ้นเองตามธรรมชาติ 

  ขออวยสรรพคุณของต้นสาคูสักนิด นอกจากจะเป็นพืชอเนกประสงค์ ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่ปลายยอดสุดโคนราก ป้าเมียดกระซิบว่า ยอดสาคูทำแกงอร่อยเหาะ รากก็เป็นยา ลำต้นเอามาทำแป้ง บางครั้งก็ใช้เลี้ยงด้วง ใบทำจากมุงหลังคา ก้านสาคูเอาไปทำไม้กวาด แต่อีกประโยชน์คือการซับน้ำ สาคูจึงเปรียบเสมือนฝายจากธรรมชาติ

“ถ้าตรงไหนมีต้นสาคู น้ำไม่เคยแห้ง” ป้าเมียดเสริมด้วยความภูมิใจ

ตามหาต้นกำเนิด แป้งสาคู และเรียนทำขนมปักษ์ใต้จากแป้งสาคูแท้ 100% ที่ตรัง
ตามหาต้นกำเนิด แป้งสาคู และเรียนทำขนมปักษ์ใต้จากแป้งสาคูแท้ 100% ที่ตรัง

เราเดินไปคุยไปกับป้าเมียดเสมือนยายเล่าเรื่องสนุกสมัยเป็นเด็กให้หลานตัวน้อยฟัง จนเดินมาหยุดบริเวณบึงบัวขนาดกว้างมาก ยิ่งเดินลึกเข้าไปเจอแต่ธรรมชาติสีเขียว อากาศเย็นลงตามจำนวนต้นไม้หลากหลายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น สุดปลายทางเป็นป่าสาคู มองเห็นบรรยากาศรอบทิศทาง สวยเกินบรรยาย นึกอิจฉาวัยเด็กของป้าเมียดเป็นที่สุด 

  ระหว่างเดินออกจากบึงบัว เลียบบึงจะมีผักทานได้ขึ้นตลอดระยะทาง ป้าเมียดเลือกเด็ดใบลำเพ็งสีน้ำตาลอมแดง ยอดอ่อนกำลังทานอร่อย ต้มผัดแกงทอดได้ทุกเมนู 

“ตอนกลางวันฉันทำแกงเลียงให้กินนะ” ป้าเมียดว่าอย่างนั้น 

ต้นสาคู
ต้นสาคู

02

เปลี่ยนต้นไม้ให้เป็นแป้ง

เอาล่ะ! เราขึ้นรถเตรียมเปลี่ยนฐานไปอีกบ้านเพื่อดูกระบวนการทำแป้งสาคูจากต้นสาคู

ป้าเมียดเปรียบเสมือนครูใหญ่คอยสังเกตการณ์ แต่ให้ครูถนัดวิชาแปลงต้นเป็นแป้ง สอนเดี่ยวให้ความรู้แทน (กระซิบเลยว่าพ่อครูแม่ครูอายุมากกว่า 60 ปี แต่พลังกายและพลังใจเต็มเหนี่ยวมาก) แม้เราจะไม่ได้ดูกระบวนการแรกสุดอย่างการโค่นต้นสาคู เพราะต้องใช้เวลานาน แถมต้องเลือกสาคูหนุ่มอายุ 15 ปีเต็มมาใช้งานเท่านั้น

ขั้นตอนแรกหลังจากโค่นต้นสาคู จะต้องเอามาตัดเป็นท่อน ความยาวแล้วแต่คนถนัดแบก พอได้ท่อนสาคูมาแล้วต้องฝนเอาเนื้อไม้ออกมาด้วย ‘เล็บแมว’ ไม้ขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ มีด้ามจับ ตอกด้วยตะปูเรียงแถวต่อกัน ปัจจุบันชาวบ้านหันมาใช้เครื่องขูดมะพร้าวด้วยไฟฟ้าแทนเล็บแมว เพราะทันใจและสะดวกรวดเร็วกว่ามาก

แป้งสาคู

  เมื่อฝนเนื้อไม้ออกจากเปลือกสาคูจนหมด ก็เอามาทิ่ม (ตำ) ด้วยสากและครกไม้ทำเอง ทิ่มจนเนื้อไม้ละเอียด จากนั้นเตรียมกะละมังขึงผ้าขาวบางไว้ 3 ใบ สำหรับปั้น (คั้น) เนื้อไม้ด้วยน้ำสะอาด ในการปั้นแต่ละครั้ง แป้งสาคูจะลอดผ่านผ้าขาวบางลงไปอยู่ในกะละมัง ยิ่งทำครบ 3 น้ำ จะได้จำนวนแป้งมากกว่าการปั้นเพียงน้ำเดียว 

  หากสังเกตผ้าขาวบางจะกลายเป็นสีน้ำตาล ไม่ใช่ว่าใช้มานานมาก แต่เพราะยางของสาคูทำให้ผ้าเปลี่ยนสี ป้าเมียดคิดเล่นแต่น่าทำจริงว่า ถ้าลองเอาไปทำสีมัดย้อมคงเข้าท่า แปลกใหม่ แถมเพิ่มมูลค่าสาคูและรายได้ให้กับชุมชนด้วย

  พอปั้นเนื้อไม้จนครบ 3 น้ำ ลองเปิดผ้าขาวบางออกดูจะเห็นเนื้อแป้งสาคูสด สีขาวปนน้ำตาลเนื้อนวลเนียน 

แป้งสาคู

  ป้าเมียดเสริมว่า “ทางนครศรีธรรมราชเขาจะใช้แป้งสด เก็บได้นานหลายเดือนแต่ต้องแช่น้ำและเปลี่ยนน้ำทุกวัน แต่จังหวัดตรังนิยมใช้แป้งแห้งมากกว่า” กระบวนการจะได้แป้งแห้งง่ายมาก เพียงนำแป้งสาคูสดห่อผ้าขาวบาง ใช้ไม้ทุบพอละเอียดแล้วนำไปตากแดด ถ้าแดดจัด สองแดดก็พร้อมใช้งาน หรือเอาแป้งสาคูสดกำลังหมาดมาร่อนด้วยถาดจะได้แป้งสาคูเม็ดกลมสวย ตากแดดจนแห้งแล้วเอาไปทำขนมหวานได้อีกหนึ่งเมนู บอกเลยช่วงนี้ฮิตกันจนต้องต่อแถวยาวเหยียด

03

ปั้นแป้งเป็นขนม

ขออภัยล่วงหน้าหากภาพและข้อความด้านล่างจะทำให้นักอ่านต้องกลืนน้ำลายอึกใหญ่

สมัยเป็นนักเรียนประถม เรารอคอยวิชา กพอ. (การงานพื้นฐานอาชีพ) เพราะการได้ลงมือทำอาหารมันสนุกสุดๆ แต่วันนี้ช่วงที่เรารอคอยมาตลอดทั้งวันมาถึงแล้ว นักอ่านพร้อม เตรียมจดสูตรได้เลย ป้าเมียดไม่หวง พร้อมจัดเต็ม 3 เมนู

  ก่อนจะเริ่ม ขอลีลาด้วยการซดน้ำมะพร้าวสดจากลูกให้ชื่นใจ ส่วนเนื้อมะพร้าวลูกชายป้าเมียดอาสาขูดให้เพื่อทำน้ำกะทิ หนึ่งในส่วนประกอบหลักของเมนูขนมหวานทั้ง 3 เมนู 

ขนมขี้มัน 

ขนมขี้มันเป็นขนมดั้งเดิมของปักษ์ใต้ ส่วนประกอบมีไม่มากก็อร่อยได้ การทำแป้งขนมประกอบด้วย แป้งสาคู น้ำกะทิ น้ำตาลทรายแดง และเกลือ ผสมให้เข้ากันแล้วกรองด้วยตะแกรง จากนั้นเคี่ยวให้งวดบนเตาถ่าน ระหว่างเคี่ยวต้องกวนด้วยไม้พายตลอดเวลาจนแป้งจับตัวกันเหนียวเด้งดึ๋ง จากนั้นเทใส่ถาดสี่หลี่ยมจัตุรัสพร้อมตัดแบ่งขนาดพอดีคำ

ถ้าแป้งสาคูเป็นพระเอก นางเอกต้องยกให้ขี้มัน น้ำกะทิเคี่ยวนาน 3 ชั่วโมง จนตกตะกอนเป็นก้อนกรวดสีน้ำตาล เวลาทานต้องทานพร้อมกัน รสสัมผัสในปากทั้งความเหนียวนุ่ม เจอกับความกรอบและหอมมะพร้าวของขี้มัน ลงตัวจนอยากกินแล้วก็กินอีก รู้แจ้งก็วันนี้ว่าสวรรค์บนดินหมายถึงอะไรหลังจากกินขนมขี้มันเข้าไปจนหมดถ้วย!

ลอดช่องน้ำตาลจาก

  เคยเห็นก็แต่ลอดช่องสีเขียว ป้าเมียดเลยจัดทีเด็ดโชว์ลอดช่องสีน้ำตาลทำจากแป้งสาคูผสมแป้งถั่วเขียวจนกลายเป็นแป้งลอดช่อง นำไปผสมน้ำสะอาด จากนั้นใส่หม้อตั้งไฟกวนด้วยไม้พายจนเป็นเนื้อเดียวกัน 

  ลูกชายป้าเมียดเตรียมอุปกรณ์ทำลอดช่องไว้พร้อม เป็นหม้อมีหูเจาะรูหลายรูบริเวณก้นหม้อ ต้องมีกะละมังบรรจุน้ำสะอาดวางไว้ใต้ตัวทำลอดช่องเพื่อให้แป้งไหลลงกะละมังพอดี จากนั้นเทแป้งลงหม้อแล้วใช้ฝาหม้อกดเพื่อให้แป้งไหลลงช่อง ลอดช่องของแท้แน่นอน ขอการันตีด้วยภาพ! หลังจากได้ลอดช่องตัวใสสีน้ำตาล ก็ทานกับน้ำหวาน ทำจากกะทิผสมน้ำตาลจาก ใส่ใบเตยสดนิดเพิ่มความหอม พอ 2 อย่างรวมร่างกันใน 1 ถ้วย ตักน้ำแข็งใส่เพิ่มความสดชื่น  หลังจากลิ้มรสไปหลายถ้วย บอกเลยว่าลอดช่องจากแป้งสาคูแทบจะไม่ต้องเคี้ยว ลอดช่องนุ่มและลื่นมาก แถมตัวน้ำหวานก็หอมและหวานกำลังพอดีจากน้ำตาลจาก เมื่อธรรมชาติเจอกับธรรมชาติความสวยงามทานได้ก็บังเกิด

ไข่มุก

  ใช่! เราหมายถึงไข่มุกที่อยู่ในชาไข่มุก ทำจากแป้งสาคู คนตรังเขากินกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ไม่ได้แอดเพิ่มเป็นท็อปปิ้งเคี้ยวหนุบหนับลงในสารพัดชา แต่นิยมทานกับน้ำผึ้งแท้ ใส่น้ำแข็งได้ด้วยแล้วแต่ความชอบ 

  หากเป็นนักอ่านความจำดีจะต้องจำได้ว่า หลังจากได้แป้งสาคูสด ถ้าเอาไปร่อนกับถาดจะได้แป้งสาคูเม็ดกลมสวย นั่นเท่ากับว่าได้ไข่มุกแล้ว แต่วันนั้นเราไปร่อนแป้งสาคูแห้ง เจ้าเม็ดไข่มุกเลยไม่กลมดิ๊กสักเท่าไหร่ จากนั้นนำแป้งสาคูเม็ดเกือบกลมไปต้มในน้ำเดือด ใช้ไม้พายกวนตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เม็ดแป้งติดกัน กวนจนได้เม็ดสาคูใสแจ๋วก็ตักมาพักในน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง จะเห็นสีของเม็ดสาคูสวยมากออกสีส้ม สีน้ำตาล แม้เม็ดจะไม่กลมสวยแต่ความน่ารักกลับเป็นความไม่เท่ากัน เหมือนก้อนเพชรพลอยเล็กจิ๋วก่อนถูกเจียระไน ทานคู่กับน้ำหวาน ทำจากกะทิผสมน้ำตาลจาก บอกเลยว่าเหมือนไข่มุกในชาไต้หวันมาก (แม้จะไม่ได้แอบพกชาไปชงด้วย) ทดแทนกันได้สบาย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักอ่านที่เปิดกิจการชาพ่วงไข่มุก สนใจอยากลองไข่มุกจากแป้งสาคู ป้าเมียดและกลุ่มผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจพร้อมจัดจำหน่ายให้คุณถึงบ้าน หรือจะทดลองมาทำไข่มุกด้วยตนเองก็ขอเพียงกระซิบบอกกันล่วงหน้า

04

เปลี่ยนขนมจากแป้งสาคูเป็นการทำความรู้จักกลุ่มผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจ

  “เมื่อปี 2543 ช่วงนั้นแล้งมาก เพราะมีการขุดลอกคูคลอง ต้นสาคูหายไปเยอะ พอดีกับสมาคมหยอดฝนเขามาพาฉันไปดูงานที่เชียงใหม่ ฉันก็ว่าบ้านเรามีสาคูแต่ไม่ค่อยมีคนสนใจ สมาคมหยอดฝนเลยคิดรวมกลุ่ม ‘ผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจ’ เพื่อให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของต้นสาคู ช่วยกันฟื้นฟูสาคูขึ้นมาใหม่ กลุ่มของฉันเน้นแปรรูปอาหารและขนมจากแป้งสาคู ฉันและกลุ่มก็เคยไปเป็นคุณครูสอนเด็กทำขนมขี้มัน ลอดช่องในหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียน”

ต้นสาคู
ต้นสาคู

  เราไม่อยากเรียกว่าบทสุดท้ายของวิชาสาคู 101 แต่การได้นั่งล้อมวงคุยกับป้าเมียดและเพื่อนป้าเมียดวัยใกล้เคียงกันถึงความเป็นมาของกลุ่มผู้หญิงสาคูร่วมใจ ทำให้เราเข้าใจต้นสาคูมากขึ้น การมีอยู่ของกลุ่มไม่ได้เป็นการรวมตัวกันของคนสูงอายุเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์เพียงเท่านั้น แต่กลุ่มเกิดจากความเข้มแข็งของชุมชนและความรักในต้นสาคูอย่างแท้จริง พวกเขาหวังว่าต้นสาคูจะยังคงอยู่คู่กับชุมชน คู่กับจังหวัดตรัง และออกดอกออกผลส่งต่อให้จังหวัดเพื่อนบ้านทั่วประเทศ พวกเขาไม่หวง ไม่หวงต้นสาคู ไม่หวงสูตรขนมอร่อย พวกเขายินดีมอบให้ด้วยความเต็มใจ 

  แต่ป้าเมียดและชุมชนอำเภอนาโยงหวงแหน ‘สาคู’ พืชท้องถิ่นที่โตมาพร้อมกับพวกเขาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ 

  ฉันซื้อนาไว้แล้ว บอกลูกไว้ว่าถ้าไม่เอาไว้ปลูกสาคูฉันก็ไม่ซื้อ” ประโยคขนาดสั้นแต่ซ่อนความหมายว่า ‘รัก’

ต้นสาคู

กลุ่มผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจ

(ศูนย์การเรียนรู้การจัดการและการใช้ประโยชน์ป่าสาคูอย่างยั่งยืน)

ที่อยู่ : 5 หมู่ 7 บ้านทุ่งแกเจ้ย ตำบลนาข้าวเสีย อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

ติดต่อ 08 6008 0953 (หากสนใจผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสาคูและกิจกรรมเรียนรู้วิชาสาคู กรุณาติดต่อป้าเมียดล่วงหน้า)

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล