เรียน นักช้อปที่รัก

เนื่องจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT จัดโครงการ SACICT Concept คัดเลือกผู้ผลิตงานหัตถกรรม 40 แบรนด์จากทุกภาค มาร่วมกันพัฒนาชิ้นงานหัตถกรรมต้นแบบให้ร่วมสมัย และตอบโจทย์การใช้งานกับวิถีชีวิตยุคใหม่ โดยร่วมมือกับดีไซเนอร์ 5 กลุ่ม ได้แก่ Salt and Pepper Design Studio, Ease Studio, Atelier2+, PHTAA Living Design และ Mobella จัดทำของใช้สุดคราฟต์ที่สวยเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด เห็นแล้วรักภูมิปัญญาไทยและดีไซน์แสนวิไล 

ของเหล่านี้บางชิ้นต้องสั่งพรีออเดอร์ บางชิ้นทำมาไม่มาก หมดแล้วต้องรออีกนาน เราคัดเลือก 7 แบรนด์ที่เห็นแล้วหัวใจสั่นไหวมาให้ยลเรียกน้ำย่อย สนใจไปเรียนรู้และกระจายรายได้ให้แบรนด์ไทย เชิญที่นิทรรศการ SACICT Concept 2020 ที่สามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างวันที่ 26 – 30 สิงหาคมนี้

1. จานเซรามิก เตาหลวงสตูดิโอ

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

เตาหลวงสตูดิโอ เป็นสตูดิโอเซรามิกในอำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่ ซึ่งเป็นทั้งสถานที่สร้างผลงาน ร้านค้า และแหล่งทำเวิร์กช็อปปั้นดิน มีเทคนิคพิเศษคือทำงานสแลปดินแผ่นหรือขึ้นรูปจากดินแผ่นด้วยมือ โดยไม่ได้ใช้แค่ดินดำทั่วไป แต่นำดินแดงจากดอยสะเก็ดมาใช้สร้างสรรค์ของใช้บนโต๊ะอาหาร ถ้วยโถโอชามต่างๆ และปั๊มลวดลายธรรมชาติ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่น

อัญชลี แก้วดวงทิพย์ เล่าว่า คอลเลกชัน Textures of Clay ที่ร่วมมือกับ Atelier2+ ดึงเอาเอกลักษณ์ของเตาหลวงสตูดิโอ เช่น ลายผ้า ลายใบไม้ ลายดินท้องถิ่น และกากกาแฟเชียงใหม่ มาปั๊มลายบนเนื้อดิน แสดงถึงสัจจะของเทคนิค แต่เปลี่ยนจากของถ้วยชามเป็นของแต่งบ้านชิ้นเล็กๆ ประเภทจานและถาดที่ใส่ของได้หลากหลาย เติมสีขาว น้ำเงิน และดำ เพิ่มความเก๋และร่วมสมัย เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารุ่นเยาว์มากขึ้น

โทร : 08 4041 9770

Facebook : Taoluang Studio

2. Personal Spa ดลมณี

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

กระเป๋าใส่น้ำมันหอมระเหยของดลมณี เกิดจากไอเดียแก้ปัญหาท้องถิ่นของ อนุภา มณีจันทร์ ที่ต้องการสืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนของราชบุรี คือผู้หญิงต้องมีทักษะทอผ้าซิ่นตีนจกได้ และกลายเป็นรายได้เสริมของครอบครัว แต่เจ้าของแบรนด์พบว่าผ้าบางส่วนขายไม่ได้ เพราะช่างฝีมือดวงตาพิการข้างหนึ่งบ้าง หรือบางคนมีปัญหาเรื่องการทอ เพราะผ้าตีนจกซับซ้อนและต้องใช้สายตาเยอะมาก เธอเลยรับเอาผ้าที่ทอไม่ตรงตามแบบแผนเหล่านี้มาทำเป็นสินค้า 

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

นอกจากนี้ ยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ ใช้เส้นใยธรรมชาติอย่างใยกล้วยและใยผักตบชวามาถักทอเป็นเส้นด้ายทางเลือก เป็นการนำของเหลือจากการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะราชบุรีเป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดที่ปลูกกล้วยมากที่สุดในไทย มีตลาดเกษตรกรขนาดใหญ่ แต่คนนิยมปลูกกล้วยเพื่อใช้ใบตองกับผลกล้วยเท่านั้น แบรนด์ดลมณีจึงนำลำต้นที่เหลือทิ้งมาตีเอาเส้นใย น้ำที่ได้จากต้นกล้วยอวบน้ำจะถูกนำมากลั่นกับดอกไม้ต่างๆ และผสมรวมกับน้ำมันมะกอก กลายเป็นน้ำมันสมุนไพรหอมระเหยที่มีฤทธิ์แก้อาการปวดหัวไมเกรน และช่วยให้หลับสบาย 

ในกระเป๋าดลมณีมี Eye Pillow จากผ้าทอเส้นใยผักตบชวา สอดไส้ข้าวไทย ยี่หร่า หินภูเขาไฟ ดอกคาโมมายล์ แค่หยดน้ำมันหอมไปเบาๆ ใช้แล้วนอนหลับสบายเหมือนทำสปาส่วนตัวแบบไทยๆ ได้ทุกเมื่อ

โทร : 09 4564 1962 

Facebook : DonManeeShop

3. ผ้ากันเปื้อนครามมิ่งมุก

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

ครามมิ่งมุกโดย อนงค์ บุระวงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ. 2554 มาจากชุมชนบ้านนายาง มุกดาหาร ซึ่งแต่เดิมนิยมทอผ้าสั้น ซิ่นเหี่ยน ด้วยฟืมแคบๆ สำหรับทำเครื่องแต่งกายใช้ในครัวเรือน และนิยมย้อมสีครามเข้มเกือบดำ 

ต่อมาครูอนงค์ได้พัฒนาการทอผ้าให้ผืนยาวขึ้น เพื่อนำไปตัดเย็บเสื้อผ้าได้โดยไม่ต้องต่อผ้า และย้อมสีผ้าให้หลากหลาย ทั้งการย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ เช่น เปลือกมะม่วง เปลือกประดู่ รวมถึงผ้ามัดหมี่ลายโบราณ เป็นลวดลายที่สื่อถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นซึ่งติดแม่น้ำโขง เช่น ลายรอยพญานาค ลายคลื่นแม่น้ำโขง ลายดอกฝ้ายบาน ทั้งหมดเป็นเทคนิคโบราณในผ้าผืนบ้าง ผ้าคลุมไหล่บ้าง เป็นที่นิยมในหมู่คนไทยและชาวต่างชาติ

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

สำหรับ SKY คอลเลกชันล่าสุดที่ร่วมมือกับ Mobella ฉีกแนวมาทำของใช้ในครัว อย่างผ้ากันเปื้อนไล่เฉดสีท้องฟ้า ถุงมือและที่จับของร้อน ด้วยผ้าย้อมสีธรรมชาติ จึงมั่นใจว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยในการใช้งาน 

โทร : 08 3144 4198 

Facebook : ครามมิ่งมุก

4. หมวกและกระเป๋าผ้าบาติก คีรี

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

อำเภอคีรีวง นครศรีธรรมราช ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทย ด้วยภูมิประเทศล้อมด้วยภูเขาและน้ำตก ถึงอย่างนั้นเองชุมชนก็ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย จนเรือกสวนขาดผลผลิต ชุมชนขาดอาชีพ เมื่อราว 24 ปีก่อน ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มสร้างงานผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม และผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ เพื่อหารายได้เสริม โดยมีอารีย์ ขุนทน เป็นประธานกลุ่ม ชุมชนนำพืชพรรณและวัตถุดิบรอบตัวในหมู่บ้านมาสกัดสีสัน ฝักสะตอให้สีเทา เปลือกลูกเนียงมอบสีน้ำตาล ใบมังคุดให้สีส้มและสีชมพู ส่วนแก่นขนุนและใบหูกวางปล่อยสีเขียวเหลือง 

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

“แต่ก่อนแม่ย้อม กับทำงานเขียนเทียน เราเรียนจบออกแบบผลิตภัณฑ์ เลยเข้ามาต่อยอดเรื่องงานเพนต์ผ้า และเพิ่งลองมาจับเครื่องนอน เพราะสนใจงานของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ อยากขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นค่ะ”

ฉัตรกนก ขุนทน ลูกสาวประธานกลุ่มอธิบายแนวคิดการสานต่อกิจการท้องถิ่นให้ทันสมัยขึ้น ผ้าบาติกของคีรีมีเอกลักษณ์อยู่แล้ว ก็ผสมผสานทั้งเทคนิคมัดย้อมสีธรรมชาติ เขียนเทียน และเพนต์ลงไปในผืนผ้าเส้นใยธรรมชาติ โดยคอลเลกชัน Backyard Story ไม่ได้แปรรูปเป็นแค่กระเป๋าใบสวยกับหมวกน่ารัก แต่ยังมีชุดเครื่องนอน หมอน ผ้าปู ผ้าห่มพร้อมสรรพ พร้อมให้นอนหลับฝันหวานถึงสวนหลังบ้านอันร่มรื่นของชุมชนในหุบเขา

โทร : 08 6946 7786, 09 8073 0566 

Facebook : KireecraftNaturalColors

5. ชุดตั่งและหมอนบ้านเฮาเสาไห้

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

ชุดตั่งและหมอนคอลเลกชัน Stitch ปรับรูปแบบจากเฟอร์นิเจอร์โบราณ ทั้งหมอนสามเหลี่ยมปรับมุมแหลมให้มนเท่ากันทุกด้าน และหมอนทรงกลมเข้ากับตั่งไม้สีขาว ใช้ลายเย็บตะเข็บสีขาวบนผ้าสีขาว ซ่อนเอกลักษณ์เด่นของไทยวนผ่านลวดลายบนตะเข็บการต่อชิ้นผ้าฝ้ายกี่ทอมือ ซึ่งปรากฏในถุงย่ามโบราณ เช่น ลายจ่องแอ่วเขียด ลายปีกผีเสื้อ

สุพัตรา ชูชม รื้อฟื้นองค์ความรู้การทอผ้าโบราณของชาวไทยวนในอำเภอเสาไห้ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สระบุรีมานานนับ 200 ปี ทั้งผ้าซิ่นตีนจกที่มีการทอลวดลายอย่างวิจิตรและถุงย่ามรูปแบบโบราณ ต่างเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นสากล เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น

โทร : 09 0972 0520

Facebook : บ้านเฮาเสาไห้ 

6. เก้าอี้ Ethnica

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

Ethnica เเป็นแบรนด์กิจการเพื่อสังคม ที่นำผ้าทอชนเผ่ามาผลิตเป็นสินค้าแฟชั่นอย่างกระเป๋า จากการเข้าไปทำงานร่วมกับกลุ่มทอผ้าชาวเขาแถบภาคเหนือ เช่น เผ่าลัวะ กะเหรี่ยง อาข่า ไม่ใช่งานคลาสสิกเนี้ยบ แต่มีเสน่ห์ตรงความเป็นพื้นบ้าน การกระจายรายได้ให้ช่างเหล่านี้เป็นการปกป้องธรรมชาติทางอ้อม เพราะภูมิปัญญาผ้าทอมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ชาวบ้านลดการทำงานหารายได้ อย่างการทำไร่ข้าวโพดเชิงเดี่ยว ซึ่งทำลายป่าและใช้สารเคมี

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

ขอบเขตของแบรนด์ขยายไปแตะสินค้าแต่งบ้านที่ทางแบรนด์ยังไม่เคยทำมาก่อน คอลเลกชัน A Sense of Tribe นำเทคนิคที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์อย่างการเย็บต่อผ้าลายกระดูกงูของชาวเขามาใช้เป็นผ้าหุ้มบุเฟอร์นิเจอร์ จับคู่กับช่างไม้สักจากแพร่ กลายเป็นเก้าอี้เก๋ที่เหมาะกับนั่งพักผ่อนหย่อนขาริมสระน้ำในรีสอร์ต

ชัยวัฒน์ เดชเกิด เล่าว่า ลวดลายที่เห็นอยู่เป็นลายผ้าที่ชนเผ่านิยมใช้ โดยในอนาคตสั่งซื้อและพัฒนารูปแบบผ้าให้สนุกสนานกว่านี้ได้ เหมือนถอดเสื้อผ้าวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์มาเป็นส่วนหนึ่งในบ้านและชีวิตประจำวัน

โทร : 08 1952 2544

Facebook : ETHNICA

7. อุปกรณ์ใส่เครื่องเขียน ศิลาทิพย์

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

“ครกไม่จำเป็นต้องอยู่ในครัวเพียงอย่างเดียว” 

ความเชื่อของ ธารา ธาราศักดิ์ ทายาทรุ่นสามของกิจการศิลาทิพย์ ครอบครัวที่ผลิตและจำหน่ายครกหินที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี มาหลายสิบปี และย้ายการผลิตไปที่จังหวัดตาก ทำให้เขาหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากหินแกรนิตให้หลากหลายและทันสมัยอย่างจริงจัง

จากสมัยก่อนที่ทำครกมีหูแบบสกัดมือ ก็หันมาใช้เครื่องจักรเป็นตัวช่วย และผลิตครกสารพัดรูปทรง เช่น ครกทรงสี่เหลี่ยม ทรงกระบอก มีสายหิ้ว มีที่วางพักสากในตัว ไปจนถึงครกหินขี้เมา ที่ใช้ตำของเล็กๆ น้อยๆ ด้านล่างเป็นถ้วยน้ำจิ้ม ด้านบนเป็นที่เปิดขวด สากรูปไข่ใช้เคาะน้ำแข็งและก้ามปูได้ แถมยังเติมลูกเล่นใหม่ๆ เช่น การเพนต์ลาย การเคลือบเงาเป็นลวดลาย การแกะสลัก โดยสร้างผลิตภัณฑ์อื่นจากหิน เช่น ใบเสมาหิน ลูกนิมิต กระถางต้นไม้ แก้วน้ำ จานชาม ฯลฯ

7 แบรนด์ไทยในงาน SACICT Concept 2020 ที่ขโมยหัวใจคนรักงานคราฟต์

เศษหินเหลือใช้จากการทำครก ธารานำมาแปรรูปต่อหินแบบใหม่ เป็นสินค้าหมวดของใช้ของตกแต่งบ้านเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า คอลเลกชัน LAYER ได้แรงบันดาลใจจากภูมิประเทศจังหวัดตาก ซึ่งมีน้ำตกและชั้นหินซ้อนกัน แกนในครกก็กลายเป็นภาชนะใส่ปากกาหรือของจุกจิก แต่งด้วยเหล็กพ่นสี ขับดีไซน์ให้ร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันคนใช้ครกน้อยลง แต่คนอยู่บ้านมากขึ้น เราอยากให้ครกอยู่ในชีวิตประจำวันได้ จะใส่เครื่องเขียน แจกันดอกไม้ ใส่เครื่องครัว ได้หมด” ทายาทกิจการครกเก่าแก่ตบท้าย 

โทร : 08 1441 4099, 08 9159 6602

เว็บไซต์ : www.silathip.com

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู