ปี 2020 นี้ วงการงานคราฟต์เมืองไทยสั่นสะเทือนไม่ใช่น้อยจากภาวะโรคระบาด แต่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT หน่วยงานที่ดูแลงานศิลปหัตถกรรมทั่วไทยยังคงจัดงานแสดงสินค้าและเสวนาอย่างคึกคักต่อเนื่อง ล่าสุดก็เพิ่งจัด SACICT Arts & Crafts Forum 2020 งานเสวนาที่รวมความรู้เรื่องศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมไว้อย่างเข้มข้น เราจึงขอนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง

SACICT Arts & Crafts Forum 2020

ปีนี้การเสวนาทางวิชาการด้านงานศิลปหัตถกรรมพูดเรื่อง From Root to Route in ASEAN เป็นเรื่องการส่งต่อทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นรากทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อกัน จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง จากวัฒนธรรมหนึ่งไปสู่อีกวัฒนธรรมหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดงานศิลปหัตถกรรม อันทรงคุณค่าจากอดีตสู่ปัจจุบันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภายในงานมีวิทยากรมากมายมาเล่าประเด็นต่างๆ เมื่อพูดคุยกันถึงเรื่องรากแห่งวัฒนธรรมอาเซียน มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้ามาเสวนาอย่างออกรส ไม่ว่าจะเป็น อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม เล่าที่มาของความสัมพันธ์และการผสมผสานศิลปวัฒนธรรมในหัวข้อ ‘พหุวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การหลอมประสานระหว่างวัฒนธรรมอินเดีย-วัฒนธรรมจีน’ เพื่อสร้างความเข้าใจในชั้นต้น และเห็นภาพรวมของศิลปวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อด้วย อาจารย์แพทริเชีย ชีสแมน นักวิชาการด้านผ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับหัวข้อ ‘ความเชื่อบนผืนผ้าของคนไตก่อนอิทธิพลพุทธศาสนาจะเผยแผ่ในแถบดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ เพื่อแสดงความเชื่อมโยงลวดลายในผืนผ้าและความเชื่อที่สื่อออกมาจากคนอดีตสู่คนในปัจจุบัน

SACICT, หัตถกรรมไทย

อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดินที่เชี่ยวชาญเรื่องผ้ายกทอง เล่าที่มาของ ‘เส้นไหมทองและลายกรวยเชิง : ความงดงามที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ซึ่งเป็นวัสดุและลวดลายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาค ปิดท้ายการเสวนาครึ่งเช้ากับ คุณปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาเล่าเรื่อง ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับการพัฒนาคติความเชื่อและจารีตในการใช้ผ้าไทย’ ซึ่งแสดงการพัฒนาการของผืนผ้า จากความเชื่อแบบดั้งเดิมพัฒนาสู่การใช้งานในปัจจุบัน ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงอนุรักษ์สิ่งเก่าที่มีคุณค่าและสิ่งใหม่ที่ต้องพัฒนา รวมกันไว้ได้อย่างลงตัว เพื่อให้มรดกสิ่งทอของคนไทยได้อยู่คู่แผ่นดินตลอดไป

ส่วนเสวนาช่วงบ่ายเมื่อเจาะลึกเรื่องความเชื่อและศรัทธา รวมถึงจักรวาลวิทยาตามคติพุทธศาสนาในงานศิลปหัตถกรรมอาเซียน รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เล่าเรื่อง ‘จักรวาลวิทยาในจินตนาการของพุทธศาสนา’ เพื่อเปิดมุมมองความเชื่อ ลักษณะการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในอดีต ต่อด้วยการแลกเปลี่ยนเกร็ดวัฒนธรรมและศาสนาที่อยู่เบื้องหลังงานหัตถศิลป์ที่เราคุ้นเคยแต่อาจไม่รู้ว่ามีที่มาจากอะไร กับ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พิชิต นะงอลา ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมด้านดุนโลหะ และ อาจารย์ทวีป ฤทธินภากร นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เรารู้ได้ว่าจักรวาลวิทยามีความสำคัญ เป็นจินตนาการที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ในงานหัตถศิลป์ทั่วภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

นอกจากเรื่องราวประวัติศาสตร์ งานนี้ยังพูดถึงการต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมอย่างสร้างสรรค์ในโลกปัจจุบัน ซึ่งวิทยากรก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเล่าเรื่อง Beyond Limitations การต่อยอดไปสู่ความร่วมสมัย ก้าวข้ามผ่านพ้นข้อจำกัดในการสร้างสรรค์พัฒนาผลิตภัณฑ์ กับเส้นทางการสร้างสรรค์งานระหว่างศิลปินพื้นบ้านกับนักออกแบบร่วมสมัย คุณหัสยา ปรีชารัตน์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมที่สืบสานเบญจรงค์แบบดั้งเดิม พัฒนาความคิดด้วยการกระโจนออกนอกกรอบเพื่อสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับเบญจรงค์ และ คุณรชต ชาญเชี่ยว ครูช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ. 2563 สาขากระจกเกรียบ ผู้ทดลองการหุงกระจกแบบโบราณที่สูญหายไปกว่า 150 ปีด้วยตนเอง ด้วยความรักและความศรัทธาในพุทธศาสนา

ประสบการณ์ Crafting Passion แรงผลักดันอันแรงกล้าที่จะทำในสิ่งที่รักชอบ นำไปสู่ความสำเร็จในท้ายที่สุดได้อย่างไร อาจารย์นุสรา เตียงเกตุ เล่าเรื่อง ‘ชีวิตเลือกด้าย’ ผู้หว่านเมล็ดพันธุ์งานศิลปะ หัตถศิลป์สิ่งทอ ให้กับช่างทอและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล สู่การพัฒนาสินค้าหัตถกรรมทางวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์คนในกระแสปัจจุบัน และ คุณพิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ ผู้นำเทรนด์แฟชั่นไทยสู่สากล กว่า 40 ปีของแฟชั่นดีไซเนอร์หญิงระดับชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่ทำงานด้วยหัวใจ ด้วยความประณีตอย่างไทย กับการสร้างสรรค์แฟชั่นจากผ้าและสิ่งทอไทย บนเวทีระดับสากล และ คุณแพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ กับความงามอย่างไทยในสายตาชาวโลก ที่ผ้าไทยสร้างความภาคภูมิใจกับตนเองและสายตาชาวโลก

ปิดท้ายด้วย Crafting Vision ‘วิสัยทัศน์อันทรงพลัง’ เพื่อเป็นการจุดประกายความคิด ในการสร้างสรรค์งานคราฟต์ จากประสบการณ์ชีวิต ของ อาจารย์อนุชา สาขาเรือน ครูศิลปาชีพด้านการแกะสลักไม้ เล่าถึงการสืบสานคุณค่าแห่งงานศิลปาชีพและพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ คุณปัญญา พูลศิลป์ วิศวกรต่างถิ่นที่มีความรักในผืนผ้าเมืองใต้ จนสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าชุมชนเพื่อส่งต่อความรู้และสมบัติทางวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายให้กลับคืนสู่สังคม และ คุณสมภพ ยี่จอหอ เจ้าของแบรนด์ DoiSter ผู้อุทิศตนพัฒนาสินค้าผ้าชาวเขาให้เกิดมูลค่าและสอดรับกับความต้องการของคนในปัจจุบัน เป็นประสบการณ์ที่อาจจะสร้างความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำและสร้างความศรัทธาในวิสัยทัศน์อันทรงพลังร่วมกัน

SACICT, งานคราฟต์, SACICT Arts & Crafts Forum 2020
SACICT, หัตถกรรมไทย

ส่วนทิศทางของวงการงานคราฟต์ไทยเป็นอย่างไร พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ยินดีสนทนาแบ่งปันเรื่องราวให้เราฟัง

โรคระบาดกับงานคราฟต์

“โรคระบาดทำให้สภาวะเศรษฐกิจตึงขึ้น งานคราฟต์กลายเป็นสินค้าแถวสองที่คนจะซื้อ แถวแรกคือพวกอาหารการกิน แล้วก็ของใช้จำเป็น ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายงานคราฟต์และผู้ผลิตงานคราฟต์โดยตรง” 

พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ

ผอ. SACICT เล่าว่า องค์กรจัดโครงการหน้ากากจากหัวใจชุมชน ปรับปรุงงานคราฟต์บางประเภทเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ COVID-19 ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์รอเอาไว้อีกส่วน เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายจะได้เกิดตลาดใหม่ พร้อมกับการจัดนิทรรศการการจำหน่ายสินค้า เช่น งานศิลปาชีพทอใจ วิถีใหม่ใต้ร่มพระบารมี และงาน Craft Bangkok 2020 ซึ่งยังคงได้เสียงตอบรับดีจากผู้บริโภคในประเทศ 

“ของใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องโควิดอย่างเดียว โลกหมุนเดินหน้าไปทุกวัน ฉะนั้น การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ก็เดินหน้าตามโลก เพื่อให้ตอบรับกับคนรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมต่อไป” 

SACICT, หัตถกรรมไทย
SACICT, หัตถกรรมไทย

เมืองนอกถูกใจ เมืองไทยต้องรักก่อน

“ถ้าเราวางงานให้เป็น หรือวางงานให้ถูกงาน เราไปตลาดต่างประเทศได้ทั้งนั้น งานหัตถกรรมกับวิถีธรรมชาติไม่ได้หนีจากกัน เพียงแต่ว่าเราจะเอาความโดดเด่นเหล่านี้ไปสู่สายตาของชาวต่างชาติอย่างไร และปรับให้เข้ากับรสนิยมของเขาได้อย่างไร” 

ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศมองว่า สินค้าหัตถกรรมไทยโดดเด่นเรื่องความละเอียดประณีต เช่น งานผ้า งานจักสาน งานไม้ งานโลหะ ในโลกอุตสาหกรรมที่เต็มไปด้วยของสำเร็จรูปและปัญหาสิ่งแวดล้อม งานแฮนด์เมดเป็นของโดดเด่นน่าสนใจในสายตาตลาดต่างชาติเสมอ 

“แต่ตอนนี้การเดินทางไปต่างประเทศยากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่ทำให้คนหันกลับมามองประเทศของตัวเอง เราก็อยากให้คนไทยเห็นคุณค่าของงานในบ้านเราด้วยนะครับ”

สนทนากับ พรพล เอกอรรถพร ฟผอ. SACICT ว่าตลาดงานคราฟต์ไทยในอนาคตหลังโรคระบาดจะเป็นอย่างไร
SACICT, หัตถกรรมไทย

Thainess in Craft Product 

ผู้นำ SACICT เชื่อว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ในงานหัตถกรรมไทยคือคุณค่าความเป็นไทย คนที่ซื้องานแฮนด์คราฟต์ทั้งหลายไม่ได้แค่ของสวยงามไปใช้ไปตกแต่ง แต่เพราะยังได้รู้จักและชื่นชอบความเป็นไทย 

“เวลาเห็นคนใส่ผ้าไทย ถามว่าเขาซื้ออะไร เขาไม่ได้มาซื้อแค่ผ้าไทยครับ แต่เขารู้สึกเห็นคุณค่าของความเป็นไทยขึ้นมา เลยอยากซื้อผ้าไทยมาสวมใส่ มันลึกไปกว่าการซื้อของทั่วไป มันคือการซื้อเพื่อจะมีความเป็นไทย เราอยากสร้างค่านิยมนี้ให้เกิดกับคนไทยทุกวัยทุกระดับ หลังจากนั้นก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดรับกับคนแต่ละเจเนอเรชัน

“คนไทยรู้สึกรักประเทศตัวเองนะครับ แต่ว่าคนที่ลืมหรือไม่สนใจสินค้าในประเทศก็เยอะ บางคนเกิดมาไม่เคยใส่ผ้าไทย ไม่เคยรู้จัก เราเลยพยายามทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าของไทยดี สวยนะ มีคุณค่า ฝีมือหัตถกรรมไทยดีไม่แพ้ใครในโลก แล้วเราควรต้องหันกลับมารัก มาภูมิใจกับของในบ้านเรา ผมเคยเจอนักศึกษาที่ลงชุมชนเพื่อทำเว็บไซต์จำหน่ายผ้าไทย จนสุดท้ายหลงรักผ้าไทยไปเลย คุณค่าความเป็นไทยมันส่งไปถึงเขา” 

พรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ

สื่อสารกับคนรุ่นใหม่

“เรายอมรับว่างานหัตถกรรมไทยในปัจจุบันมีช่องว่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับงานรุ่นเก่า งานรุ่นเก่ามีกลุ่มคนวัยหนึ่งที่นิยมชมชอบอยู่ แล้วก็คงไม่เปลี่ยนความชอบ แต่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่อาจมองงานรุ่นเก่าเชย มีอะไรหลายๆ อย่างไม่ตรงกับเขา ฉะนั้น เราต้องพยายามเชื่อมคนรุ่นใหม่เข้าไปสู่โลกของอัตลักษณ์แห่งงานหัตถกรรมให้ได้ครับ ถ้าเกิดเขาได้รู้จักจนเริ่มรัก ในที่สุดความภูมิใจในงานหัตถกรรมชิ้นเหล่านั้น จะช่วยให้เกิดการพัฒนา”

เพื่อให้งานฝีมือไทยครองใจคนแต่ละกลุ่ม SACICT จึงจัดโครงการหลากหลาย เช่น จัดโครงการพาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ด้านดีไซน์เข้าไปสัมผัสกระบวนการการผลิตงานหัตถกรรมดั้งเดิมกับชุมชนเป็นระยะเวลานาน เพื่อให้นักออกแบบรุ่นใหม่ทราบขั้นตอนและกระบวนการการผลิตอย่างแท้จริง และได้ลงมือทำด้วยตัวเอง จากนั้นก็ให้ช่วยกันดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากพื้นฐานความรู้ที่มาจากวัฒนธรรมดั้งเดิม ซึ่งสอดรับกับความรู้และความเป็นอยู่ของตัวเอง 

นอกจากนี้ ยังจัดการประกวดเรื่องผ้าไทยใส่ได้ทุกเจนถ้าเป็น Gen Z ก็ให้นักออกแบบอายุน้อยดีไซน์กันเอง โดยสอดแทรกคุณค่าความเป็นไทยอยู่ในเบื้องหลัง ทำให้คนแต่ละรุ่นมีของใช้ที่ต้องรสนิยมตัวเอง ตลาดงานคราฟต์จึงเติบโตไปตามโอกาสการค้าใหม่ได้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ของไทยอย่างดั้งเดิม บวกกับแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ที่ผสมผสานไปด้วยกันได้ ไม่เกาะกลุ่มเป็นที่นิยมแค่คนบางช่วงวัย 

SACICT, งานคราฟต์, SACICT Arts & Crafts Forum 2020

อนุรักษ์ของดั้งเดิม

แม้พัฒนางานคราฟต์ใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่จุดเด่นของ SACICT ไม่ใช่แค่งานดีไซน์ของคนรุ่นใหม่ งานรุ่นเก่าก็ยังอนุรักษ์สืบสานรักษาเอาไว้ เมื่อเทียบคุณภาพแง่มุมต่างๆ กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ผอ. SACICT มองว่างานหัตถกรรมมีความคล้ายคลึงกัน เพราะมีรากเหง้าเดียวกัน แต่จุดแข็งของคนไทยคือความประณีต ความละเอียดลออ และการรักษาคุณค่าเดิมได้ดี และที่สำคัญยังรู้จักวิธีการพลิกแพลงให้งานหลากหลาย ทันสมัยด้วย

“คนที่ชอบงานหัตถกรรมไทยมีหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอาจจะชอบซื้อสินค้าที่ถูกกับเซนส์ของตัวเอง แต่อีกกลุ่มเขามาเพื่ออนุรักษ์สินค้า อนุรักษ์หัตถกรรมไทยในรูปแบบดั้งเดิม หรือภูมิใจอยู่กับหัตถกรรมที่นับวันค่อยๆ สูญหายไป การจัดเสวนาอย่าง SACICT Arts & Crafts Forum 2020 ทำให้กลุ่มคนที่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ได้ถ่ายทอดความรู้ในสิ่งที่อีกฝั่งไม่รู้ ทำให้ช่วยกันสืบสานและรักษาหัตถกรรมซึ่งนับวันจะค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ให้คงอยู่ได้”

SACICT, งานคราฟต์

ภาพ : ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ