“เป็นความโชคดีมาตลอดที่เราไม่ได้ต้องการทำอะไรที่ฉาบฉวย เราให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เราอยากทำงานกับศิลปินไปนาน ๆ และเติบโตไปพร้อม ๆ กัน”

ในวันที่เราพบกัน คุณจงสุวัฒน์ อังคสุวรรณศิริ หรือ คุณเอิง เดินออกมาต้อนรับด้วยท่าทีสบาย ๆ เขาต้อนรับเราด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัยที่ถ่อมตัว จนไม่น่าเชื่อว่าหนุ่มหน้าใสคนนี้คือผู้กุมทิศทางของหอศิลป์ SAC Gallery หอศิลป์เอกชนชื่อดังย่านสุขุมวิทมาเป็นระยะเวลา 8 ปีเต็ม

SAC Gallery หอศิลป์ที่ไม่ได้เพียงจัดนิทรรศการ แต่สร้างโครงการเพื่อศิลปินไทยสู่สากล

ที่ผ่านมาเราได้เห็นทิศทางการเติบโตที่ไปไกลกว่าแค่จัดแสดงงานศิลปะ ก้าวข้ามไปถึงการทำโครงการศิลปินในพำนัก (Artist Residency) โครงการบ่มเพาะภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ อีกทั้งต่อยอดวงการศิลปะไทยสู่สากลด้วยการร่วมมือระหว่างประเทศมากมาย

ในวาระย่างเข้าปีที่ 9 ทีมงานของเราจึงได้โอกาสเข้ามาขอถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของคุณเอิง และพูดคุยถึงวิสัยทัศน์และบทบาทของ ‘แกลเลอรี่’ ในวงการศิลปะของบ้านเราที่กำลังเติบโตอย่างน่าตื่นเต้น

ว่าแล้วบทสนทนาจึงเริ่มต้นขึ้น ซึ่งสำหรับเรา มันมีสีสันสวยงามไม่แพ้ศิลปะที่แขวนอยู่บนผนังเลยทีเดียว

SAC Gallery หอศิลป์ที่ไม่ได้เพียงจัดนิทรรศการ แต่สร้างโครงการเพื่อศิลปินไทยสู่สากล

Art in memories ความทรงจำในวัยเด็ก

หากจะพูดถึงจุดเริ่มต้นของ SAC Gallery ก็คงต้องเล่าถึง ศุภโชค อังคสุวรรณศิริ คุณพ่อของคุณเอิงผู้ก่อตั้งสถานที่แห่งนี้นั่นเอง คุณเอิงเล่าว่าท่านเป็นนักสะสมผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะ และมีวิสัยทัศน์ที่จะสนับสนุนศิลปินไทยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร คุณพ่อมักจะพาเขาไปบ้านเหล่าศิลปินตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ เพราะในช่วงเวลานั้นพี่ชายทั้งสองคน (คุณอ๋องและคุณเอก) กำลังศึกษาต่อในต่างประเทศ คุณเอิงจึงได้มีโอกาสใกล้ชิดคุณพ่อในการทำความรู้จักกับศิลปินและศิลปะมากเป็นพิเศษ ความทรงจำอีกอย่างที่น่าจดจำที่คุณเอิงเล่าให้ฟังคือ หลังเลิกเรียนเขามักจะเจอรถกระบะคันใหญ่จอดอยู่หน้าบ้าน และเมื่อเดินเข้าไปในบ้าน ก็จะพบกับภาพเพนต์วางเรียงรายกันอยู่หลากหลายชิ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

“ศิลปินขนงานมาให้คุณพ่อเลือกที่บ้านและขอฝากวางเอาไว้ให้ชื่นชมกันก่อน ให้ท่านค่อย ๆ เลือกว่าอยากเป็นเจ้าของชิ้นไหน บางทีคุณพ่อก็ถามความเห็นว่าเราชอบชิ้นไหน ตอนนั้นเป็นเด็กเราก็ไม่รู้อะไรมาก (หัวเราะ) แต่รู้ตัวว่าชอบศิลปะแต่เด็ก แต่ไม่เคยคิดเลยว่า ศิลปะจะสามารถเป็นอาชีพได้”

แทบจะไม่ทันรู้ตัวศิลปะก็ซึมซับเข้าไปในชีวิตของเขาทีละน้อย คุณเอิงเล่าว่าชอบศิลปะมาโดยตลอด เขาเลือกเรียนทางด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ในระดับปริญญาตรีที่ UAL (University of the Arts London) สหราชอาณาจักร พ่วงด้วยปริญญาโทด้านการตลาดและโฆษณาใน London School of Business and Finance

“ตอนนั้นที่เรียน เราเรียนในฐานะเป็นคนสร้างสรรค์ แต่ไม่ได้มองไปที่การทำธุรกิจในภาพกว้าง ยังไม่เคยได้ลงสนามจริง จนกระทั่งได้กลับมาทำธุรกิจที่บ้าน และบังเอิญมากที่มีอยู่วันหนึ่งได้รับหน้าที่ดูแล Visitors จากแกลเลอรี่ฝรั่งเศส เพราะตอนนั้นพี่ชายติดธุระ กลายเป็นว่าเราเป็นคนกลาง คอยประสานงานและดูแลโปรเจกต์ตั้งแต่ต้น มาจนถึงจุดที่ว่าถ้าเราจะทำงานด้านแกลเลอรี่ต่อไป เราควรไปเทคคอร์สอย่างจริงจัง จากนั้นเลยตัดสินใจกลับไปเรียนต่อที่อังกฤษ ถึงแม้ว่าตอนแรกคุณพ่อจะคัดค้าน แต่ในที่สุดก็คุ้มค่ามากที่ได้ไป”

SAC Gallery หอศิลป์ที่ไม่ได้เพียงจัดนิทรรศการ แต่สร้างโครงการเพื่อศิลปินไทยสู่สากล
SAC Gallery หอศิลป์ที่ไม่ได้เพียงจัดนิทรรศการ แต่สร้างโครงการเพื่อศิลปินไทยสู่สากล

Connection and Opportunity

“สิบเดือนจากนี้ เวลาเริ่มนับถอยหลัง เราต้องเก็บเกี่ยวโอกาสให้ได้มากที่สุด”  

คุณเอิงยกถ้วยชาอุ่น ๆ ขึ้นจิบอีกครั้ง ก่อนที่จะเล่าว่า “ตอนนั้นปลายปี 2015 ที่ลอนดอน เราเข้าห้องสมุด อ่านหนังสือ ดาวน์โหลดข้อมูลต่าง ๆ ทำอะไรก็ตามที่เป็นการค้นคว้าหาความรู้ เราทำหมด การได้ทำงานสักพักที่ไทยและกลับไปเรียนต่อทำให้เราขวนขวายมาก ๆ มันกระตุ้นให้เราสร้างคอนเนกชัน ออกไปดูงานที่แกลเลอรี่ หอศิลป์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ บางครั้งเป็นทริปที่อาจารย์พาไป บางทีก็เป็นทริปที่เพื่อน ๆ ในห้องจัดขึ้นมากันเอง! เราพาตัวเองออกไปเจอผู้คน สถานที่ และคนที่เป็น Key Players ในธุรกิจศิลปะ ไปเรียนรู้ว่าแกลเลอรี่ที่นั่นเขาทำงานหลังบ้านกันยังไง ไปดูแม้กระทั่งแกลเลอรี่น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ที่เอามาใช้ได้” 

“ตอนนี้ผ่านมาห้าปีแล้ว เพื่อน ๆ ในคลาสปริญญาโท Art Business ของ Sotheby’s institute of Art ที่เรียนมาด้วยกัน ได้ขึ้นเป็นระดับซีเนียร์ ทำงานในมิวเซียม หรือไม่ก็ทำงานในแกลเลอรี่ อยู่ในพื้นที่ของวงการศิลปะทั่วโลก บางคนเราได้มีโอกาสกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง ผมเลยได้เห็นว่าศิลปะมีโอกาสในทุกที่และการบริหารจัดการเวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ๆ ครับ”

หลังจากวางรากฐานในการศึกษาและเครือข่ายในโลกศิลปะแล้ว เขาได้กลับมาพร้อมกับการวางแผนโครงสร้างของแกลเลอรี่ให้เป็นระบบมากขึ้น จากแรกเริ่มในปีที่ก่อตั้ง 2012 ที่ใช้ชื่อว่า ‘ศุภโชค ดิ อาร์ต เซนเตอร์ Subhashok The Arts Centre (S.A.C.)’ ต่อมาในปี 2013 ใช้ชื่อว่า ‘Adler Subhashok Gallery’ เนื่องจากได้ร่วมทุนกับแกลเลอรี่ฝรั่งเศส จนในที่สุดได้ทำการ Rebranding เปลี่ยนชื่อมาเป็น SAC GALLERY มาจนถึงปัจจุบันโดยแยกออกเป็นหกขา ได้แก่ 1) SAC GALLERY 2) SAC Academy 3) SAC Conservation Lab 4) SAC Art Lab 5) SAC Design Lab 6) SAC Residency

คุณเอิงวางทิศทางให้ SAC Gallery เป็นพื้นที่ศิลปะที่ทำงานกับศิลปินรุ่นใหม่ พร้อมที่จะสนับสนุนบุคลากรทางด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภัณฑารักษ์รุ่นใหม่ ผ่านโครงการ Start! Art Curator ที่ในปีนี้จัดเป็นปีที่ 2 และการฟอร์มทีมฝ่ายขาย โดยจัดโปรแกรม Art Cart แสดงผลงานศิลปะหมุนเวียนเพื่อการซื้อขาย แนะนำให้ผู้บริโภครู้จักกับตลาดงานศิลปะ และฝึกฝนทีมงานให้เรียนรู้การทำการตลาด รวมไปถึงงานด้านอนุรักษ์ที่เริ่มสร้างชื่อเสียง จนได้รับความไว้วางใจจากนักสะสมทั้งจากชาวไทยและต่างชาติ

SAC Gallery หอศิลป์ที่ไม่ได้เพียงจัดนิทรรศการ แต่สร้างโครงการเพื่อศิลปินไทยสู่สากล
เยี่ยมหอศิลป์ชื่อดังแห่งย่านสุขุมวิท พูดคุยเรื่องอนาคตของวงการศิลปะไทย และการสร้างพันธมิตรศิลปะเพื่อความยั่งยืน

Virtual or Digital Residency?

เมื่อพูดถึงวงการศิลปะในปัจจุบัน สิ่งที่เราไม่พูดไม่ได้คือการเปลี่ยนแปลงจากกายภาพสู่ดิจิทัล บทสนทนาเราจึงไหลไปสู่เหตุการณ์ล่าสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา กับการที่ SAC ได้เป็นเจ้าภาพในงาน Conference ของ ResArtis ซึ่งได้รับไม้ต่อจากประเทศญี่ปุ่นในปี 2019 แต่กลับต้องพลิกแผนการจัดงานทั้งหมด เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด เป็นการจัดกิจกรรม Residency ผ่านทางออนไลน์ นับเป็นความท้าทายและเป็นก้าวสำคัญของแกลเลอรี่ที่ได้ปักหมุดในฐานะเจ้าภาพ ResArtis แห่งแรกในภูมิภาค South East Asia ในงานนี้คุณเอิงบอกว่าเขาต้องงัดทุกกลเม็ด เพื่อให้งานเสวนายังมีประสิทธิผลและน่าสนในมากที่สุดในรูปแบบออนไลน์

“ResArtis เป็นงานสัมมนาที่เข้มข้นมากภายในเวลาสองสัปดาห์ ในบริบทของออนไลน์ เราก็ต้องหาทางออกที่แตกต่าง คือถ้าจัดงานเชิงกายภาพ เราจะต้องจัดการเรื่องโลจิสติกส์ นอกจากสัมมนาแล้ว ก็จะต้องพาไปสัมผัสวัฒนธรรมเรื่องต่าง ๆ พอมาจัดออนไลน์ เราก็จะแทรกเข้ามาเป็นการสอนทำอาหารไทย เชิญศิลปินสาย Performance Art รวบรวมส่งผลงานมาเป็นวิดีโอมาเพื่อเอามาเปิดโชว์ มีวงดนตรีท้องถิ่นมาเล่นให้เขาฟัง เราได้เชิญนักเขียน พี่แหม่ม-วีรพร นิติประภา มาอ่านงานเขียนเป็นสองภาษาทั้งไทยและอังกฤษ เราพยายามรวมศิลปะหลายแขนงมาไว้ด้วยกัน ทดแทนกิจกรรมทางกายภาพที่เราทำไม่ได้ แล้วเราก็มีทำ Speed Date กับผู้เข้าร่วมด้วย คือจับพวกเขาเป็นกลุ่มแบ่งเป็นห้อง ๆ จากนั้นพอครบเวลาที่กำหนด เราก็จะเปลี่ยนห้องแชตของผู้เข้าร่วม คล้าย ๆ กับว่าเรากำลังอยู่ในงานปาร์ตี้ที่ทุกคนจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ทำความรู้จักกัน ที่สำคัญของงานนี้คือการสร้าง Network”

“จริง ๆ แล้วจุดประสงค์ของ Conference นอกจากคุยกันเรื่องแนวทางต่อไปข้างหน้า มันเป็นเรื่องการนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศเราให้เขาได้เห็น เป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของศิลปินได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ได้สร้างเครือข่ายให้ประเทศไทยและต่างชาติ ได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม มันสำคัญจริง ๆ เหมือนเราชวนเพื่อนมาบ้านเรา และต่อไปเพื่อนก็จะชวนเราไปที่บ้านของเขา เป็นการที่เราได้แสดงตัวตนให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ แต่เรากลับไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากภาครัฐ พยายามขอทุนอยู่สองปีแต่ไม่ได้ เราก็เลยทำกันเองเท่าที่ทำได้ งานในครั้งนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอย่าง ASEAN Foundation, Japan Foundation, EUNIC และ Goethe-Institut นอกจากนี้เรายังมีพันธมิตรอย่าง BACC และ Jim Thompson ที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือเรื่องการจัดกิจกรรมต่าง ๆ หากงานนี้จัดขึ้นได้จริงในเชิงกายภาพ”

เยี่ยมหอศิลป์ชื่อดังแห่งย่านสุขุมวิท พูดคุยเรื่องอนาคตของวงการศิลปะไทย และการสร้างพันธมิตรศิลปะเพื่อความยั่งยืน
เยี่ยมหอศิลป์ชื่อดังแห่งย่านสุขุมวิท พูดคุยเรื่องอนาคตของวงการศิลปะไทย และการสร้างพันธมิตรศิลปะเพื่อความยั่งยืน

Honoring the artists’ voices

กลับมาที่พื้นที่จริงของแกลเลอรี่กันบ้าง ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากการเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาและศิลปินหน้าใหม่ ๆ ได้จัดแสดงแล้ว เรายังสังเกตเห็นว่าหลาย ๆ โชว์ ณ SAC Gallery นั้นมีการนำเสนอความคิดที่ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็น ‘นิ/ราษฎร์: The L/Royal Monument’ ของ วิทวัส ทองเขียว ศิลปินผู้มีทักษะระดับสูงในการวาดภาพเหมือนจริง กับการนำเสนอภาษาของการวาดภาพที่ยังเต็มไปด้วยนัยยะของการวิจารณ์สถานการณ์ทางสังคมและการเมือง เสนอมุมมองของศิลปินที่มีต่อสภาวะเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยภายใต้ชั้นสีที่ซ้อนทับกันอย่างแยบยล, รวมไปถึง

‘A Disproportionate Burden’ นิทรรศการของ พิชัย พงศาเสาวภาคย์ ผู้สร้างสรรค์ผลงานแนว Abstract และ Conceptual ที่ใช้วัสดุต่าง ๆ จากผลผลิตทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรมในการสร้างสรรค์ผลงาน ชวนให้ผู้ชมตระหนักถึงความอันตรายของสารพิษที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมและชีวิตประจำวันของเรา นิทรรศการเหล่านี้ชวนเราตั้งคำถามถึงบทบาทและความเป็นกลางในการนำเสนอผลงานต่อสาธารณะของหอศิลป์

“ผมว่ามันเป็นธรรมชาติของศิลปินอยู่แล้ว ที่จะต้องวิพากษ์ วิเคราะห์ วิจารณ์ สิ่งรอบตัวเขา แล้วก็ไม่แปลกที่เขาจะมี ความคิดเห็นด้านใดด้านหนึ่ง…ถามว่าเราเป็นกลางไหม? เราก็ไม่กลางนะ ตัวผมเองและองค์กรเองก็มีจุดยืนของเรา ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามีหน้าที่ในการนำเสนอความคิดของศิลปินออกมาอย่างซื่อตรงที่สุด และไม่บิดเบือน Message ของเขา สิ่งสำคัญของเราคือการดำรงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ต่อเสียงของศิลปิน ดังนั้น แม้มีศิลปินที่มีความคิดไม่ตรงกับเรา เราก็ยังต้องนำเสนองานของเขาให้ดีที่สุดอยู่ดี ตามอุดมการณ์และภาระกิจของเราในฐานะหอศิลป์ตรงนี้”

เยี่ยมหอศิลป์ชื่อดังแห่งย่านสุขุมวิท พูดคุยเรื่องอนาคตของวงการศิลปะไทย และการสร้างพันธมิตรศิลปะเพื่อความยั่งยืน

As a collector

ในเมื่อแกลเลอรี่แก่งนี้ริเริ่มด้วยการสะสม เราจึงปิดบทสนทนาของเราด้วยความเห็นของคุณเอิงต่อวงการศิลปะในฐานะนักสะสม โดยเขาบอกก่อนว่า ตัวเองมีรสนิยมต่างไปจากคุณพ่อที่เน้นไปทาง Old Master 

“จุดร่วมของเราทั้งสองคนในการสะสมงานศิลปะคือ เรากำลังเก็บเรื่องราวที่สะท้อนช่วงเวลาในชีวิต ผมเองก็อยู่ในช่วงเริ่มต้น จริง ๆ แล้วนอกเหนือจากเรื่องงาน ก็มีเรื่องศิลปะที่ผมกับคุณพ่อเราจะแชร์กัน แล้วพอกลับมาดูอีกทีก็พบว่างานร่วมสมัยที่เราชื่นชอบ เมื่อมาปะทะกับงานสะสมของคุณพ่อมันเกิดบทสนทนากัน ไป ๆ มา ๆ ตอนจบ รู้ตัวอีกที ผมอาจจะมีรสนิยมเหมือนคุณพ่อก็ได้ครับ (หัวเราะ) เพียงแค่ต่างยุคสมัยกันเท่านั้นเอง”

อย่างไรก็ดี นอกจากกำลังซื้อของนักสะสมแล้ว สิ่งที่จะขับเคลื่อนวงการศิลปะและสามารถทำให้ศิลปินอยู่รอดได้ต่อไปในระยะยาวและต่อยอดไปถึงการขยายขอบเขตของนักสะสมออกเป็นวงกว้าง คือการให้ความสำคัญกับ ‘การจัดงานประมูลศิลปะ’ ซึ่งเป็นกลไกตลาดมือสอง ที่จะช่วยผ่องถ่ายงานศิลปะเปลี่ยนมือไปสู่นักสะสมหน้าใหม่ หรือนักลงทุนที่ต้องการก้าวเข้าสู่การสะสมเพื่อเก็งกำไรในอนาคต

“นอกจาก Auction แล้วเรายังขาด Art Lawyer เรายังไม่มีที่ปรึกษาทางด้าน Art Insurance หรือแม้กระทั่ง Art Critic หรือ Art Writer สังคมของเรายังมีไม่พอ แม้จะมีบทความออกมา แต่ก็ไม่มีบทความภาษาอังกฤษมากพอที่จะทำให้นักวิชาการหรือคิวเรเตอร์ในต่างประเทศ ที่สนใจศิลปะไทยร่วมสมัย หรือสนใจศิลปินไทยเข้าถึงข้อมูลได้ หลายครั้งที่เขาเลือกศิลปินจากประเทศอื่น เพราะหาข้อมูลศิลปินไทยเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ ซึ่งน่าเสียดายโอกาส”

คุณเอิงได้ทิ้งท้ายว่าสิ่งที่เขาอยากเห็นมากที่สุด คือพิพิธภัณฑ์จากภาครัฐที่นำเสนอผลงานศิลปะในสะสม ซึ่งจะสะท้อนว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับงานศิลปะร่วมสมัยไปในทิศทางใด “ถ้าให้เปรียบเทียบกับประเทศที่ให้ความสำคัญกับการสะสมผลงาน จะเห็นได้ว่างานศิลปะที่ได้รับการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หรือถูกซื้อเก็บเป็นคอลเลกชันของ National Museum การันตีได้ว่าศิลปินคนนั้นเป็นที่ยอมรับของประชาชน ผู้ยินดีที่จะสละเงินภาษีของตนเอง ในการเก็บงานศิลปะที่มีคุณค่าต่อสังคมโดยรวม” และนั่นคือความหวังต่อวงการศิลปะไทยในอนาคตที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแบ่งปันความช่วยเหลือและผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

เยี่ยมหอศิลป์ชื่อดังแห่งย่านสุขุมวิท พูดคุยเรื่องอนาคตของวงการศิลปะไทย และการสร้างพันธมิตรศิลปะเพื่อความยั่งยืน

SAC Gallery

ซอยสุขุมวิท 39, ถนนสุขุมวิท ใกล้กับ Raveevan Suite, 39 Boulevard (แผนที่)

เวลาเปิดทำการ

วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 11.00 – 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์, วันจันทร์, วันนักขัตฤกษ์)

ติดต่อขอเข้าชมได้ที่ 092-455-6294 (Natruja)

ติอตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : SAC Gallery / Instagram : @sacbangkok

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน